เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชมอีกวังก่อนบอกลาเตหะราน
โดย : สองตา
อ่านสองตา คอลัมน์ที่ ‘สองตา’ เจ้าของเพจ “บันทึกของสองตา” จะพาคุณผู้อ่านเดินทางสู่โลกกว้างด้วยงบประมาณอันน้อยนิด เพราะเพียงแค่คลิกเดียวคุณก็จะได้ขึ้นเครื่องออนทัวร์อย่างเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวต่างแดนที่เธอคนนี้ได้นำมาแบ่งปันให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์
คณะพักกินอาหารกลางวันที่ Mestooran Restaurant ร้านอาหารสวย เสิร์ฟอาหารเปอร์เชียนอร่อย ในสไตล์โมเดิร์น บริการเยี่ยมด้วยหนุ่มหล่อ
ใครไปเตหะราน แนะนำที่นี่ค่ะ ชื่อร้านมาจากคำว่า Mes ที่แปลว่า Copper หรือทองแดง การตกแต่งร้าน ภาชนะที่ใช้จึงเป็นทองแดง อันเป็นเอกลักษณ์ของอิหร่าน ร้านมีอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ไปส่องการแต่งร้านและอาหารเพิ่มเติมกันได้
อิ่มหนำสำราญใจกับสิ่งที่ดีต่อท้องและต่อใจแล้ว ไกด์พาเราเดินข้ามถนนไปชมพระราชวังเนียวารัน (Niavaran Palace) ที่อยู่ใกล้ๆ ปัจจุบัน เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เช่นกัน
พระราชวังเนียวารานสร้างมาตั้งแต่ราชวงศ์กาจาร์ (อาจารย์ต้นเปรียบเทียบว่าราชวงศ์นี้เป็นช่วงร่วมสมัยกับรัตนโกสินทร์) เป็นที่ประทับของชาห์มาจนถึงราชวงศ์ปาห์เลวี และพระเจ้าชาห์ ปาห์เลวี จักรพรรดินีฟาร่าห์ และพระโอรส พระธิดาแห่งราชวงศ์ปาห์เลวี ทรงใช้เวลาวันสุดท้ายบนแผ่นดินเกิดที่นี่ ก่อนเสด็จฯ ลี้ภัยออกจากอิหร่าน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐอิสลาม ใน ค.ศ.1979 และไม่มีพระองค์ใดได้กลับมาอีกเลย
พระราชวังอยู่ทางเหนือของกรุงเตหะราน ติดถนนใหญ่ มีรถราพลุกพล่าน อาณาบริเวณมีต้นไม้สูง มีสวนที่ร่มรื่นน่าอยู่ แม้ดูไม่ใหญ่เท่าพระราชวังซาดาอาบัด แต่มีหมู่อาคารหลายหลังที่ถูกเก็บรักษาไว้ในฐานะพิพิธภัณฑ์ เช่น Niavaran Palace Museum, Ahmad Shahi Pavilion, Sahebqaraniyeh Palace, Jahan Nama museum และ Private library
พิพิธภัณฑ์หลังที่อาจารย์ต้นนำเราเข้าชม คือตำหนักที่ประทับของครอบครัวชาห์ ปาห์เลวี (The Niavaran Mansion)
ด้านนอกเป็นอาคารสูงดูทันสมัย เป็นตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันตกและอิหร่านได้อย่างลงตัว เห็นแล้วคิดถึงงานของ แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ สถาปนิกอเมริกันที่โด่งดังในยุคนั้น
เมื่อเดินผ่านเสาหินสูงสองต้นด้านหน้าเข้าไป เป็นห้องโถงเพดานสูงจรดหลังคาที่เปิดรับแสงได้ ภาพที่เห็นเป็นความสูงตระหง่านรับกับขนาดที่เรามองเห็นจากภายนอกเลย
ชั้น 1 ใช้เป็นที่รับราชอาคันตุกะ มีห้องเสวย โรงภาพยนตร์ส่วนพระองค์
ชั้น 2 เป็นพื้นที่ส่วนพระองค์ มีห้องบรรทมของทุกพระองค์ อยู่บนระเบียงสามด้าน ที่โอบล้อมโถงชั้น 1 ไว้
สมเด็จพระจักรพรรดินีฟาห์ร่า ทรงสำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม จึงทรงตกแต่งหลายอย่างในพระตำหนักหลังนี้ด้วยพระองค์เอง สิ่งที่น่าสนใจคือ ภาพจิตรกรรมของศิลปินที่มีชื่อเสียงที่ประดับบนผนังด้วยกรอบธรรมดา ซึ่งถ้าไม่บอกว่าเป็นที่ประทับ ที่นี่คือบ้านของผู้มีฐานะคนหนึ่งที่มีรสนิยมดี ชอบศิลปะ ความอลังการต่างๆ ถูกลดทอนลง ข้าวของเครื่องใช้ในห้องต่าง ๆ ถูกจัดแสดงไว้ในแบบที่เจ้าของเคยอยู่จนถึงวันสุดท้าย
ฉันชอบงานกระเบื้องประดับหน้าทางเข้าพระตำหนัก ชอบลายช่องๆ ที่นำมาทำเป็นลวดลายภายใน ชอบสีเขียวที่ใช้ตกแต่ง ทุกอย่างดูลงตัวมาก
อีกจุดหมายก่อนเดินทางออกจากเตหะรานในตอนค่ำ คือสะพานทาเบียต (Tablet Bridge) หรือ Nature Bridge ที่แฮงเอาต์ของหนุ่มสาวอิหร่าน เป็นสะพานลอยข้ามถนนไฮเวย์กลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเตหะราน สูง 270 มตร (890 ฟุต) เชื่อมต่อสวนสาธารณะสองแห่ง คือ ตาเลกานี และสวนอาโบ-อาทาช เพราะเมื่อมีการตัดถนน ทำให้สวนแยกออกจากกัน
ตอนนั่งรถไปเรามองเห็นสะพานนี้อยู่ตรงหน้า และอยู่อย่างนั้นมาพักใหญ่ๆ แต่กลับไปไม่ถึงสักที เพราะการจราจรที่ติดขัด จนสุดท้าย เมื่อรถมาติดอยู่ฝั่งตรงข้ามทางเข้าสวนคณะจึงต้องกระโดดลงจากรถ เดินข้ามสะพานลอยไปสวนเอง ปล่อยให้รถค่อยตามมา (ซึ่งกว่าจะวนกลับมา ก็พอดีกับที่เราออกมาจากสวน)
พื้นที่ด้านบนของสวนมีลานอเนกประสงค์สำหรับกิจกรรมต่างๆ มีร้านอาหาร งานประติมากรรมสมัยใหม่ ตัวสะพานออกแบบให้มีหลายระดับตอนเดินข้ามรถที่วิ่งไปมาอยู่ข้างล่าง ภาพที่เรามองเห็นจากบนสะพานคือรถที่ติดอยู่ตลอดเวลา ยังคิดว่าโชคดีแล้วที่เราไม่ไปอยู่ตรงนั้นโดยไม่รู้ว่า เมื่อรถบัสที่ใช้เวลากว่า 40 นาทีวนรถมารับเราที่หน้าทางขึ้นนั้น จะพาเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการจราจรที่ยาวเป็นงูกินหางนั้น เรียกว่ารถติดในกรุงเทพฯ นี่เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลย
การเสียเวลาบนถนนมากกว่าที่คิด ทำให้โปรแกรมสุดท้ายที่จะแวะชม Azadi Tower ซุ้มประตูแลนด์มาร์กของเตหะรานระหว่างทางไปสนามบิน เพื่อขึ้นเครื่องบินภายในประเทศไปยังเมืองชิราซ (Shiraz) จุดหมายต่อไปของเรา ต้องเป็นการชมจากบนรถ
Azadi แปลว่า Freedom เป็นชื่อใหม่ที่ใช้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชื่อเดิมคือ Shahyad Tower หรืออนุสรณ์สถานแห่งชาห์ เปรียบได้กับประตูเมืองทางฝั่งตะวันตก สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวจากเมืองอิสฟาฮาน (Isfahan) แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1971 ในสมัยพระเจ้าชาห์ ปาห์เลวี ที่ต้องการสร้างเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 2,500 ปีของอาณาจักรเปอร์เซียที่ยิ่งใหญ่ โดยในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ มีการจัดฉลองอย่างอลังการงานสร้าง ว่าจ้างร้านอาหารดังจากฝรั่งเศสมาทำอาหารเลี้ยงแขกที่เชิญมาจากทั่วโลก ใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก
อนุสาวรีย์อะซาดี เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมได้ในปีต่อมา บางคนบอกว่าการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นหนึ่งชนวนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และต่อมาที่นี่คือที่ใช้ชุมนุมทางการเมือง ตามชื่อที่สื่อถึงอิสรภาพ
วันนี้การท่องเที่ยวของคณะมากไปด้วยเรื่องที่ไม่คาดคิด เพราะสุดท้ายแม้แต่เครื่องบินยังดีเลย์ ไปเป็นชั่วโมง อาจารย์ต้นพยายามปลอบใจพวกเราว่า เมื่อไปถึงชิราซแล้วเราจะได้รับการชดเชย และเยียวยาจิตใจแน่นอน เตรียมพร้อมได้เลย
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ยินดีที่ได้รู้จักอิหร่าน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : อิสฟาฮาน (Esfahan) จุดครึ่งหนึ่งของโลก
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : เยือนเปอร์เซโพลิส (Persepolis) นครที่ร่ำรวยที่สุดใต้ดวงตะวัน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชิราซยังมีสวน-ป้อม-ตลาด-สุสาน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชิราซ (Shiraz) ไม่ได้มีแต่องุ่น
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : พลาดบางสิ่งก็ทำให้ไปเจอกับบางอย่าง
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : สวัสดีอิหร่าน
- READ บันทึกญี่ปุ่นของสองตา : นั่งรถไฟไป Chihiro Art Museum Tokyo
- READ บันทึกญี่ปุ่นของสองตา : ไปเดินเที่ยวนิงเงียวโจ
- READ บันทึกญี่ปุ่นของสองตา : ท่องถนนหนังสือ
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชมอีกวังก่อนบอกลาเตหะราน