ตอนที่ 4
โดย : สำสา
เรื่องหลังโรงพยาบาล เรื่องสั้นโดย สำสา คุณหมอผู้ชื่นชอบการสื่อสารเเละถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตเเละธรรมชาติออกมาเป็นงานศิลปะ และครั้งแรกของเขากับงานเขียนในรูปแบบเรื่องสั้นที่อ่านเอานำมาให้ได้อ่านกัน เรื่องราวของ ‘หมอบุญเสก’ เพื่อนที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับและการตายที่อาจมีเงื่อนงำ
เมื่อเรียนจบแล้ว แพทย์ส่วนมากจะเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะจะมีภาระในการชดใช้ทุนอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปีคืนให้แก่รัฐบาล โรงพยาบาลที่แพทย์จบใหม่จะต้องไปปฏิบัติงานนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง เรื่องน่าตื่นเต้นที่สุดก็เกิดขึ้นเมื่อเราจำเป็นจะต้องจับฉลากว่าใครจะต้องไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลใด เพื่อนบางคนก็มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะไปทำงานในชนบท อำเภอห่างไกล ในขณะที่เพื่อนบางคนก็ลุ้นที่จะให้จับฉลากได้อยู่ในเมือง ในอำเภอ หรือจังหวัดที่มีความเจริญ หรือได้กลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิมของตัวเอง โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งมีความทุรกันดารสูง บางที่มีแพทย์เพียงคนเดียว ซึ่งนั่นก็หมายความว่าแพทย์จบใหม่ที่จับฉลากได้ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเหล่านั้นจำเป็นต้องรับภาระทั้งเรื่องของการรักษาพยาบาลและการบริหารโรงพยาบาลไปด้วย
แพทย์จบใหม่วัย 20 ต้นๆ ต้องกลายไปเป็นผู้บังคับบัญชาของพยาบาล เจ้าหน้าที่ แม่บ้าน คนขับรถ จนกระทั่งถึงภารโรง ในพื้นที่บางแห่งที่แสนจะกันดารและห่างไกลจากถิ่นที่ตัวเองเคยอยู่หรือคุ้นเคย บางคนต้องไปอยู่ในอำเภอที่เกิดมาไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ต้องซื้อแผนที่มากางดูว่าอำเภอนั้นตั้งอยู่ที่ไหนในประเทศไทย
“หมอเซ็นตรวจรับไปตามที่เสนอมาก็เเล้วกัน ผอออคนก่อนๆ ก็ทำกันเเบบนี้เเหละครับ” พ่อบ้านพูดเสียงดัง
พ่อบ้านของโรงพยาบาล คือนักบริหารจัดการงานทั่วไปของโรงพยาบาล ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทในเรื่องของงานบริหารต่างๆ เป็นคนที่คอยช่วยจัดการให้กิจการต่างๆ ของโรงพยาบาลดำเนินไปได้ ซึ่งในบางโรงพยาบาลพ่อบ้านก็จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญหรือจะเรียกได้ว่ามีอำนาจมากพอสมควร สำหรับสังคมในที่ทำงานเล็กๆ ที่อาจจะมีบุคลากรในโรงพยาบาลไม่ถึง 20 คน แพทย์จบใหม่ที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่วนมากมักจะต้องให้ความเกรงใจและรับฟังพ่อบ้านของโรงพยาบาล ซึ่งจำนวนไม่น้อยมักจะเป็นคนท้องถิ่น ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอนั้นหรือใกล้เคียง
“หมอจะไม่เซ็นได้ยังไง กรรมการคนอื่นเขาก็เซ็นมาหมดแล้ว เหลือหมออยู่คนเดียวแหละ” พ่อบ้านสรุปสั้นให้ ผอ.รีบตัดสินใจ
“แล้วเรื่องรายการยาที่มีเปอร์เซ็นต์ 15% -20% อะไรนั่นผมไม่เข้าใจนะพี่ ทำไมเงินมันต้องเข้าบัญชีผมก่อน แล้วผมต้องถอนออกมาเข้าบัญชีสวัสดิการโรงพยาบาลอีกรอบ ผมว่ามันดูแปลกๆ” หมอหนุ่มเริ่มหงุดหงิดเสียงดังกลับใส่พ่อบ้าน
“อันนี้ก็แล้วแต่หมอ ถ้าหมอไม่เอาหมอก็โอนออกมาทั้งหมดแล้วกัน ผอออที่ผ่านๆ มาเขาก็ทำกันแบบนี้นะครับ” พ่อบ้านหน้านิ่ง พูดเสียงปกติ พยายามควบคุมอารมณ์ของการสนทนา
หลังแต่งงานเมื่อสามเดือนก่อน บุญเสกกับน้อยหน่าก็ยังทำงานอยู่กันคนละจังหวัด แต่ก็ไม่ไกลเกินที่จะไปมาหาสู่กันในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ในบางสัปดาห์ที่เขาพอจะมีเวลาปลีกตัวจากการดูแลคนไข้ที่โรงพยาบาลนั้น โดยมอบหมายภาระการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินไว้กับพยาบาล
ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่บุญเสกจะนำรถของโรงพยาบาลไปใช้เป็นการส่วนตัว อย่างมากก็จะให้พนักงานขับรถไปส่งที่คิวรถ บขส. ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากตัวอำเภอไปยังโรงพยาบาลอีกจังหวัดซึ่งน้อยหน่าทำงานอยู่เพียงไม่เกิน 2 ชั่วโมง เขาทำแบบนี้เป็นประจำทุกเดือนโดยไม่เคยรู้สึกว่าเป็นความลำบากและไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีรถยนต์ส่วนตัวแต่อย่างใด
“พี่ต้องไปพบสาธารณสุขจังหวัดพรุ่งนี้ ต้องเอาเรื่องนี้ไปปรึกษา เราจะปล่อยเรื่องแบบนี้ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ได้”
เขาบอกกับน้อยหน่า ซึ่งขี่รถมอเตอร์ไซค์มาส่งเขาที่สถานีขนส่งในบ่ายวันอาทิตย์ หลังจากที่ได้เจอกันเมื่อตอนเช้า
วันนั้นเป็นวันฝนตก ฟ้าหลัว น้อยหน่าถือร่ม กางร่มมาส่งเขาขึ้นรถ บขส. ตรงประตูด้านท้ายพร้อมกับกล่องอาหารสองสามอย่างที่เธอจะเตรียมมาจากที่บ้านให้เขาทุกครั้งที่พบกัน โดยหวังให้เอาไปกินได้สักวันสองวัน
บุญเสกกระโดดขึ้นรถไปโดยไม่ได้สังเกตใบหน้าของน้อยหน่า แต่หากแม้นเขาจะหันมองมาก็คงแยกไม่ออกว่าสิ่งที่เปื้อนอยู่บนใบหน้าของเธอนั้นเป็นเป็นน้ำฝนที่เปรอะหรือเป็นคราบน้ำตาที่เปื้อนกันแน่
รถ บขส. เคลื่อนตัวออกแล้ว บุญเสกไม่ได้หันมองกลับมาอีกเลย น้อยหน่าเดินหันหลัง สวนทางออกไปหารถมอเตอร์ไซค์
ใครที่เดินผ่านมาในตอนนี้คงมองออกชัดว่าเธอกำลังร้องไห้ น้อยหน่ากำลังนึกเสียใจว่าตัดสินใจถูกต้องหรือเปล่าที่ใส่จดหมายในซองสีขาวไปในถุงผ้าใส่กล่องอาหารที่บุญเสกถืออยู่
เธออยากจะย้อนเวลากลับไป 3 นาทีเอาจดหมายฉบับนั้นออกมาจากถุงผ้า แล้วทำลายมันเสีย