แก่แล้วไปไหน?

แก่แล้วไปไหน?

โดย : เด็กหญิงเจ้าสำราญ

Loading

When We Met โดย เด็กหญิงเจ้าสำราญ คอลัมน์ที่บอกเล่าเรื่องราวหลากรส ของผู้คนอันหลากหลาย ที่เราได้มีโอกาสพบปะเจอะเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นความเปรี้ยวนิดๆ  หวานหน่อยๆ  หรืออาจขมบ้างเป็นบางเวลา ที่พร้อมแบ่งปันให้ผู้อ่านได้จดจำนึกถึงและสุขสำราญไปด้วยกัน

เวลาพูดถึงคำว่า “แก่”  หลายคนบอกว่าแค่พูดเบาๆ ก็เจ็บ  และหากไม่วัดคำว่า “แก่”  จากช่วงเวลาที่เราผ่านวันเกิด หรือผ่านพ้นปีใหม่  ตอนที่เราจะสึกว่า “แก่” ก็คงเป็นเหตุการณ์ที่สรรพนามเรียกขานตัวตนของเราเปลี่ยนไป เช่น จากที่เคยเป็นน้อง เจอะเจอแต่เพื่อนวัยเดียวกัน พอเติบโตได้ออกไปใช้ชีวิตเจอผู้คนมากขึ้น เราก็กลายไปเป็นพี่ของทุกคน และจากพี่ก็ค่อยๆ ขยับไปเป็นคุณน้า คุณอา คุณลุง คุณป้า หรือ คุณตา คุณยาย ตามแต่กาลเวลาและประสบการณ์จะพาไป

“สุขใจ” เป็นหญิงวัย 60 ค่อนไปทางปลายๆ   ที่เคยผ่านประสบการณ์ของการเป็นน้องมาก่อน ก่อนที่กายหยาบภายนอกจะค่อยๆ เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างไปเพราะสายลมแสงแดด และการใช้ชีวิตที่ต้องเผชิญเรื่องราวร้อนหนาวมาหลายฤดู  จนตอนนี้เธอสะสมสรรพนามเรียกขานได้แทบจะครบทุกอย่าง ยังเหลือก็แต่เป็นทวดนี่ละ ที่ยังไม่ได้เป็นกับใครเขา แต่มันก็กลายเป็นเป้าหมายเล็กๆ ให้เธออยากใช้ชีวิตอยู่ให้ถึงวันนั้น

สุขใจเป็นลูกคนกลางที่โตมากับพี่น้อง 5 คน ในบริเวณที่เรียกว่าเป็นทั้งบ้าน และเป็นทั้งร้านขายของชำของพ่อแม่ ที่มีสินค้ามากมาย ทั้งห้อย ทั้งแขวน ทั้งวางเรียงรายอยู่บนชั้นข้างกำแพงซ้ายขวา รวมทั้งกองอยู่หน้าบ้าน จนแทบมองไม่เห็นทางเดิน ทุกวันหลังเลือกเรียนหรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เธอและพี่น้องๆ จะต้องรีบจัดการธุระส่วนตัวของตัวเองให้เสร็จ แล้วลงมาช่วยพ่อแม่เปิดร้าน จากนั้นก็กระจายตัวกันไปช่วยพ่อแม่หยิบจับ ทำโน่นนี่นั่น หรือติดรถไปช่วยส่งของ ไม่ก็ต้องไปเป็นลูกมือช่วยย่าต้มสารพัดน้ำหวานใส่แก้วไว้ขายในตู้แช่หน้าบ้าน

เด็กๆ สุขใจเคยฝันอยากเป็นครู แต่ด้วยความขี้เกียจ และรู้สึกว่าตัวเองหัวไม่ดี สุขใจเลยจบแค่ ป.6 แล้วมาช่วยพ่อแม่ขายของอยู่ที่ร้าน ขณะที่พี่ๆ น้องๆ คนอื่นต่างเรียนจบปริญญากันคนละใบสองใบ ไปมีอาชีพการงานที่ดี   แต่สุขใจก็เคยนึกน้อยใจ ตรงข้ามเธอกลับรู้สึกพอใจกับชีวิตในร้านขายของชำของพ่อแม่ ที่ได้หยิบจับเห็นเงินทุกวัน  พออายุ 22 เธอก็แต่งงานกับคนที่ญาติผู้ใหญ่ฝั่งพ่อแนะนำให้รู้จัก  แล้วก็ย้ายเข้าบ้านสามีไปช่วยเขาดูแลพนักงาน และทำเงินเดือนในโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ ควบคู่ไปกับการดูแลลูกอีก  3 คน

หลังแต่งงานสุขใจก็วุ่นวายอยู่กับการช่วยงานในโรงงานของสามี  และการเลี้ยงลูก พอลูกเริ่มโต พ่อแม่เริ่มแก่ตัว ในจังหวัดมีห้างสรรพสินค้าขนาดย่อม มีการแบ่งแยกสินค้าเป็นแผนกๆ  ติดเครื่องปรับอากาศเย็นๆ เข้ามาเป็นทางเลือก ไม่กี่ปีจากนั้นเริ่มมีร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชม.  คราวนี้ร้านขายของชำที่เคยหนาตาไปด้วยผู้คนมายืนรอซื้อของก็เงียบเหงาอย่างน่าใจหาย   เธอก็ไปๆ มาๆ ระหว่างโรงงานและการกลับไปดูแลพ่อแม่ ดูแลร้าน กระทั่งพ่อแม่ทยอยจากไป

ในวันลูกๆ เริ่มจบมหาวิทยาลัย มีการมีงานที่ดีทำ สามียกโรงงานให้ลูกชายคนเล็กดูแลต่อ ตอนนี้เองที่เธอเริ่มรู้สึกตัวว่า เธอกลายเป็นคนแก่ที่มีเวลา แต่ไม่มีอะไรทำ  ถึงจะมีหลานให้เลี้ยง แต่หลานๆ ก็ไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านเธอกับบ้านปู่ย่า-ตายาย และนั่นเป็นครั้งแรกที่เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะใช้ชีวิตที่เหลือตอนแก่ทำอะไร?  แต่ประโยคหนึ่งของสามีที่เธอคิดว่าเขาพูดปลอบใจแบบขอไปที  กลายเป็นคำพูดที่สะกิดใจให้เธอได้คิด คือ  “..จะทำอะไรให้เหนื่อยอีกทำไม ในเมื่อเหนื่อยดูแลคนอื่นมาทั้งชีวิต ตอนนี้ก็อยู่นิ่งๆ ดูแลตัวเองให้ดี จะได้อยู่กับลูกๆ หลานๆ มันไปนานๆ ก็พอแล้วมั้ง..” 

หลังจากวันนั้นสุขใจก็เริ่มลากสามีไปเดินออกกำลังกายด้วยกันทุกเช้า โดยบอกเขาว่าจะได้แข็งแรงอยู่เป็นเพื่อนทะเลาะกันไปนานๆ และก็โชคดีที่ลูกๆ สอนให้เธอเล่นโซเชียล มันเลยเหมือนเปิดโลกให้เธอได้เห็นชีวิตคนอื่นๆ  เธอเห็นพ่อแม่ดาราหลายคนที่อายุมากกว่าเธอออกไปเที่ยว, ไปเรียนทำอาหารกับเด็กๆ รุ่นลูก ถ้าเขาทำได้เธอก็ต้องทำได้  เธอเห็นหน่วยงานราชการบางแห่งมีเปิดคอร์ส อบรมเบเกอร์รี่, ตัดผม, เป็นบาริสต้า, จัดดอกไม้  เธอก็เลือกอันที่รู้สึกว่าน่าสนใจแล้วไปสมัครเรียน ไม่ได้คิดอยากจะเอาไปเป็นอาชีพ หรือเปิดร้านแบบใครเขา แค่อยากลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ สามีก็เชียร์ให้ไป แต่ขอแค่ไปส่งไม่ไปเรียนเป็นเพื่อนเพราะอาย  แรกๆ เธอก็ลังเล กล้าๆ กลัวๆ ว่าคนอื่นจะมองว่าเธอแก่ปูนนี้จะมาเรียนทำไม  แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เธอได้กลับมาไม่ใช่แค่ความรู้ แต่เป็นเพื่อนต่างวัยที่ทำให้เธอรู้สึกสนุกไปกับการได้พูดคุยเรื่องใหม่ๆ และได้เป็น  “พี่สุข”  ของน้องๆ

วันดีคืนดีเธอก็ชวนสามีซื้อทัวร์ไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกัน นอกจากจะได้เปิดหูเปิดตา ได้ซื้อของมาฝากลูกๆ หลานๆ ทุกทริปเธอยังได้เพื่อนใหม่และมีไลน์กลุ่มใหม่ๆ ติดไม้ติดมือกลับมาเสมอ ตอนนี้ถ้าถามพี่สุขว่า  “แก่แล้วไปไหน?” พี่สุขจะรีบตอบทันทีว่า “ออกไปใช้ชีวิตที่เหลือให้คุ้ม” แล้วปล่อยให้อายุเป็นเพียงตัวเลข เหมือนที่ใครๆ เขาพูดกัน 

 

Don`t copy text!