พยับฟ้าโพยมดิน บทที่ 7.1  : เบาะแสของดอกไม้ทิพย์

พยับฟ้าโพยมดิน บทที่ 7.1 : เบาะแสของดอกไม้ทิพย์

โดย : พงศกร

Loading

พยับฟ้าพโยมดิน นวนิยายจากอ่านเอา โดย พงศกร เมื่อน้องชายฝาแฝดหายตัวไปอย่างลึกลับในหมู่บ้านกลางหุบเขาของภูฏาน เขาจำเป็นต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อตามหาก่อนที่จะสายเกินไป เขาต้องยอมรับความช่วยเหลือจากนารีญาหญิงสาวที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับเขาตั้งแต่แรกเจอพ่วงไปด้วย เธอคนนี้อาจเป็นคนเดียวที่ไขปริศนาต่างๆ และพาเขาไปพบกับน้องชายได้

“มีครับ มีอยู่สองสามผืน แต่ส่วนมากจะชำรุด เพราะแต่ละผืนอายุนับร้อยปี” เคซัง ลุนดรัปพยักหน้า และคำตอบของเขาทำให้แขกชาวไทยทั้งสามตื่นเต้น ลิ่วลมนั้นรู้สึกราวหัวใจกำลังจะโลดออกจากอก

“ผมขอดูหน่อยได้ไหมครับ” ชายหนุ่มเอ่ยปากด้วยความเกรงใจ

“ได้สิ ตามผมมา” เคซังพยักหน้าให้ทุกคนตามเขาไปยังห้องที่อยู่ทางด้านหลังอาคาร

“นี่เขาต้องถูกชะตากับพวกคุณมากเลยนะ ถึงยอมพามาดูข้าวของส่วนตัวที่สะสมเอาไว้ในห้องลับ” คินซาหันมากระซิบกับลิ่วลม

“ใช่” เยชิพยักหน้าเห็นด้วย “ดูเอาเถอะ…ขนาดผมเป็นลูกพี่ลูกน้องกับเคซังแท้ๆ ยังไม่เคยเห็นผ้าที่เขาเก็บอยู่ในห้องนี้เลย อย่าว่าแต่ผ้าเลย…แค่จะได้เข้ามาเหยียบยังไม่มีโอกาสด้วยซ้ำ เคซังหวงห้องนี้มาก เพราะของแต่ละชิ้นล้วนเป็นของหายาก มีประวัติความเป็นมายาวนาน”

ห้องเก็บผ้าผืนพิเศษนั้น เป็นห้องพิเศษจริงๆ เพราะถึงจะเป็นแค่ห้องเล็กๆ แต่ก็มีประตูถึงสองชั้น อุณหภูมิภายในอุ่นสบาย เพราะมีเครื่องปรับอากาศติดตั้งอยู่หลายตัว

“อุณหภูมิสำคัญกับผ้าเก่ามาก” เคซังอธิบายเมื่อเห็นสายตาสงสัยของลิ่วลม “ร้อนเกินไปก็ไม่ดี เย็นเกินไปก็ไม่ดี ผมเลยต้องติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อปรับอุณหภูมิภายในห้องนี้ให้คงที่ตลอดเวลา”

ลิ่วลมแอบมองนารีญา พอเห็นอีกฝ่ายเก็บโทรศัพท์มือถือใส่กระเป๋าก็อมยิ้มอย่างพอใจ

“นึกว่าจะถ่ายทุกสิ่งทุกอย่าง” เขาแกล้งว่า

“ฉันรู้หรอกน่ะว่าอะไรควรอะไรไม่ควร” นารีญาหันมาทำปากขมุบขมิบกับเขา

ตรงกลางของผนังห้องด้านหนึ่งมีภาพเขียนสีน้ำมันสตรีวัยกลางคน สวมชุดประจำชาติของภูฏาน ดวงหน้าของเธอมีรอยยิ้มอ่อนโยน ดวงตาใสกระจ่างราวมีชีวิต เคซังบอกว่านั่นคือภาพมารดาของเขา ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาหันมาสนใจเรื่องผ้าทอ

มีกลิ่นหอมอ่อนๆ จากดอกไม้ป่าที่ปักอยู่ในแจกัน ลิ่วลมกวาดไปรอบๆ ด้วยความตื่นตาตื่นใจ ที่รายเรียงอยู่โดยรอบเป็นตู้กระจกติดผนัง ภายในตู้กระจกแต่ละใบมีผ้าทอปักลายขนาดใหญ่ขึงกางเอาไว้ แต่ละผืนมีสีสันและรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน

“ผ้าพวกนี้ปักด้วยไหม” เคซังเห็นสายตาสงสัยของชายหนุ่มแล้วเลยอธิบายต่อ “ผมต้องเก็บด้วยการกางผ้าออก ขึงเต็มความยาวของมัน เพราะถ้าพับเก็บเส้นไหมอาจจะหัก ลวดลายอาจจะเสียหายได้”

“ผืนไหนที่มาจากซัมเซครับ” ลิ่วลมรีบถาม

“เดี๋ยวสิ อย่าใจร้อน” เคซังหัวเราะเบาะๆ เขาเห็นร่องรอยร้อนใจในดวงตาของอีกฝ่าย “ตอบผมมาก่อน ทำไมถึงอยากดูผ้าจากซัมเซนัก…ถ้าบอกว่าอยากดูแผนที่เส้นทางของซัมเซ เดี๋ยวนี้ดูจากแผนที่กูเกิ้ลเอาก็ได้ หรือไม่ก็ถามเยชิ เขาชำนาญเส้นทางในซัมเซมาก สามารถหลับตาเดินเลยก็ว่าได้”

“ผมไม่ได้อยากดูแผนที่ แต่ผมอยากดูว่ามีผ้าผืนไหนของซัมเซ ปักภาพดอกอุทุมพรอยู่หรือเปล่าน่ะครับ” เมื่ออีกฝ่ายถามตรง ลิ่วลมจึงตอบตามตรง

“อือม…Udumbara…ดอกอุทุมพร” เคซังครางเสียงแผ่ว ดวงตาของเขามีร่องรอยครุ่นคิด

“คือว่า…น้องชายผมเป็นนักวิจัยพรรณพืชครับ” ลิ่วลมอธิบายต่อ “เขามาที่ภูฏานเพื่อทำวิจัยพืชสมุนไพร แต่บังเอิญมาได้เบาะแสของดอกอุทุมพร ล่องเมฆเลยอยากเห็นของจริง เขาตัดสินใจเดินทางไปค้นหาถึงที่ซัมเซ แต่แล้วพอถึงที่นั่น…เขาก็หายตัวไป ผมกับอาจารย์อัญญาวีร์ก็เลยมาตามหาล่องเมฆ เรื่องก็เป็นแบบนี้ละครับ”

“ซัมเซกว้างใหญ่ พวกเราคิดว่า ถ้ารู้เบาะแสว่าดอกอุทุมพรขึ้นอยู่แถวไหน ก็จะจำกัดวงให้ตามหาตัวล่องเมฆได้ง่ายขึ้นน่ะค่ะ” อัญญาวีร์ช่วยลูกศิษย์อธิบาย

“ผืนนั้น…ผ้าจากซัมเซ” เคซังชี้ไปที่ตู้กระจกใบหนึ่ง “อายุเกือบร้อยปี มาจากหมู่บ้านหนึ่งในซัมเซ…เราลองไปดูด้วยกัน”

เขาเดินนำทุกคนไปที่ตู้ใบนั้น แสงไฟสปอร์ตไลต์ดวงเล็กส่องลงมาต้องผ้าผืนใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง ลิ่วลมประมาณด้วยสายตาน่าจะมีความยาวไม่ต่ำกว่าสองเมตร ดูเผินๆ ตอนแรกเขานึกว่าเป็นพรม

ครั้นพอเดินเข้าไปจนใกล้ ลิ่วลมถึงเพิ่งเห็นว่าเป็นผ้าทอมือขนาดใหญ่ ลวดลายบนผ้าผืนนั้นปักด้วยไหมเส้นละเอียด เป็นภูเขา ต้นไม้ บ้านเรือน ถนนเส้นเล็กที่ทอดคดเคี้ยวไปมา วัดและวิหารขนาดน้อยใหญ่ที่ตั้งอยู่บนหน้าผา หมู่บ้าน ขบวนม้า นักรบ ชาวบ้านหญิงชาย

“มหัศจรรย์จริงๆ” อัญญาวีร์พึมพำ เคยเดินทางไปในหลายพื้นที่แต่ไม่เคยเห็นผืนผ้าที่ปักลวดลายละเอียดเป็นเรื่องราวแบบผืนที่อยู่ตรงหน้ามาก่อน “นี่เป็นบันทึกทางมานุษยวิทยาที่สมบูรณ์มากเลยนะคะ มีเรื่องราวชีวิตความเป็นผู้ของผู้คน สภาพแวดล้อม เส้นทาง อาชีพการงาน ยังเป็นแผนที่อีกด้วย เพราะมีถนนหนทางและจุดสังเกตต่างๆ”

“มนุษย์สมัยก่อนใกล้ชิดกับธรรมชาติ คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รอบตัว เพื่อจะรู้ว่าเวลาใดควรเพาะปลูก เวลาใดควรเก็บเกี่ยว ปีนี้น้ำมากหรือน้อย ปีนี้ควรปลูกอะไร” เยชิ คินซา อดีตเจ้าหน้าที่ป่าไม้เอ่ยขึ้นหลังจากนิ่งฟังทุกคนมาพักใหญ่ “ลองดูตรงนี้สิครับ”

เขาชี้ไปที่มุมหนึ่งของภาพ ลิ่วลมสังเหตุเห็นลวดลายปักเป็นภาพพระจันทร์และหมู่ดาว ต่ำลงมาเป็นชาวนากำลังปลูกข้าวและข้าวโพด

“ปกติกลุ่มดาวนายพรานจะขึ้นให้เห็นในช่วงเช้ามืดของเดินกรกฎาคม ถึงพฤศจิกายน แต่ถ้ากลุ่มดาวนายพรานเปลี่ยนเวลามาขึ้นในช่วงหัวค่ำเมื่อไร แปลว่าฤดูแล้งปีนั้นมาเร็วกว่าปกติ หากปลูกข้าวในช่วงนั้นก็จะไม่ได้ผลผลิตที่ดี ชาวบ้านก็จะเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดแทน”

“Farmer’s almanac” ลิ่วลมพึมพำ “ปูมบันทึกของชาวนา ที่จะบอกว่าช่วงเวลาใดควรปลูกอะไร โดยใช้หลักสังเกตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว…ที่อเมริกาใต้ก็มีบันทึกในลักษณะแบบเดียวกันนี้เลยครับ”

“ของภูฏานเรา จดบันทึกอยู่ในลวดลายบนผืนผ้าพวกนี้อย่างไรล่ะ” เคซังยิ้มกว้าง

“ไม่ใช่แต่ Farmer’s almanac เท่านั้น แต่ลายผ้านี้ยังเป็นบันทึกทางอุตุนิยมวิทยาด้วยนะคะน้าอัญร์” นารีญาหันไปทางน้าของเธอ ลิ่วลมเห็นดวงตาของหญิงสาวเปล่งประกายตื่นเต้น นิ้วเรียวยาวของนารีญาชี้ไปที่ผืนผ้าในตู้กระจกตรงหน้า “ดูเมฆพวกนี้สิคะ…”

ลิ่วลมมองตามที่นารีญาชี้

บนท้องฟ้าในผ้าผืนนั้นมีเมฆรูปร่างและสีแตกต่างกันกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

เมฆที่เป็นก้อนกลม เมฆที่เป็นแผ่นหนา เมฆที่เป็นริ้วระรอกคล้ายกับคลื่น เมฆฝนปักด้วยไหมสีเทาดำและไหมสีเหลืองทองปักรูปสายฟ้าที่แทรกอยู่ในก้อนเมฆเหล่านั้น

“นี่เป็นก้อนเมฆที่เกิดขึ้นในสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ในแต่ละฤดูกาลที่แตกต่างกัน…ผ้าผืนนี้บันทึกองค์ความรู้ต่างๆ เอาไว้เยอะมาก”

“ยังไม่เห็นดอกอุทุมพรเลยครับ”

ลิ่วลมพยายามมองหาดอกไม้สีขาวดอกเล็ก รูปร่างคล้ายระฆังที่โผล่ขึ้นมาจากดิน

“ผมก็ไม่เคยสังเกตละเอียดขนาดนั้น ส่วนมากจะดูภาพรวมกว้างๆ และแกะเรื่องราวจากลายผ้ามากกว่า” คินซาสารภาพ

“เหมือนเล่นเกมส์ปริศนารูปภาพเลยนะคะ” นารีญาชักสนุก

“สุดท้ายที่เราหาไม่เจอ เพราะศิลปินอาจจะไม่ได้ปักลายเอาไว้ก็ได้” อัญญาวีร์ว่า

“ลองช่วยกันดูหลายๆคน หลายๆตาครับ” ลิ่วลมยังไม่ยอมแพ้

มีต้นไม้และดอกไม้มากมายปรากฏอยู่บนผ้าผืนนั้น แตะแต้มอยู่ตรงนั้นตรงนี้ มีรูปร่างและสีสันที่แตกต่างกัน หลายชนิดลิ่วลมเคยเห็น หลายชนิดก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน ลวดลายดอกไม้บนผ้าปักโบราณมีรายละเอียดมากกว่าภาพดอกไม้บนกล่องไม้ที่วิหารฟ้าคะนองหลายเท่า

แต่พยายามมองหาเท่าไรก็ยังไม่พบร่องรอยของดอกไม้ทิพย์

“ยืนจ้องผ้าแบบนั้น ตาลายเปล่าๆ ตามผมมาทางนี้ดีกว่า”

เคซังหัวเราะ แล้วเชื้อเชิญให้ทุกคนไปนั่งรายล้อมอยู่รอบโต๊ะทานตัวใหญ่ เขาเดินไปหยิบม้วนกระดาษมาจากตู้ทางด้านหลัง เมื่อคลี่ออกวางบนโต๊ะ ทุกคนก็ส่งเสียงฮือฮาด้วยความตื่นเต้น เพราะกระดาษแผนนั้นก็คือกระดาษที่เคซังคัดลอกลายผ้าโบราณจากซัมเซเอาไว้นั่นเอง

“ทีนี้จะดูมุมไหน อย่างไร ก็ไม่ยากแล้วละครับ”

เขาส่งแว่นขยายให้ห้าอัน ลิ่วลมรับมาเก็บไว้อันหนึ่ง ก่อนจะส่งให้อัญญาวีร์ นารีญา คินซาและเยชิคนละอัน จากนั้นทุกคนก็นั่งลงคนละมุมของโต๊ะ แล้วเริ่มส่องหาเบาะแสของดอกไม่ทิพย์อย่างเอาเป็นเอาตาย…



Don`t copy text!