พยับฟ้าโพยมดิน บทที่ 2.1 : มีเมฆบ้างเป็นบางวัน

พยับฟ้าโพยมดิน บทที่ 2.1 : มีเมฆบ้างเป็นบางวัน

โดย : พงศกร

Loading

พยับฟ้าพโยมดิน นวนิยายจากอ่านเอา โดย พงศกร เมื่อน้องชายฝาแฝดหายตัวไปอย่างลึกลับในหมู่บ้านกลางหุบเขาของภูฏาน เขาจำเป็นต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อตามหาก่อนที่จะสายเกินไป เขาต้องยอมรับความช่วยเหลือจากนารีญาหญิงสาวที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับเขาตั้งแต่แรกเจอพ่วงไปด้วย เธอคนนี้อาจเป็นคนเดียวที่ไขปริศนาต่างๆ และพาเขาไปพบกับน้องชายได้

“เซอโรสเตรตัส” เสียงใสๆ ของนารีญาเรียกให้ลิ่วลมละสายตาจากอาคารผู้โดยสารตรงหน้า หันมามองหลานสาวของอาจารย์อัญญาวีร์ด้วยความประหลาดใจ

“อีกประเดี๋ยวพระอาทิตย์จะทรงกลด นั่นไง…เห็นไหม”

นิ้วเรียวยาวชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า ยังไม่ทันสิ้นสุดคำพูดประโยคนั้นของหญิงสาว ลิ่วลมก็เห็นรัศมีเรืองรองรายอยู่รอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม เกิดพระอาทิตย์ทรงกลดจริงๆ อย่างที่นารีญาว่า

“ไม่ตื่นเต้นเลยเหรอคุณ” หล่อนเห็นท่าทางของอีกฝ่ายแล้วก็อดไม่ได้ที่จะชะโงกหน้ามาถาม

ลิ่วลมไม่ตอบ เขายักไหล่นิดหนึ่ง และท่าทางการยักไหล่นั้นก็คือคำตอบที่ดีกว่าคำพูด

นั่นทำให้นารีญานึกเสียความมั่นใจไปนิดหนึ่ง เพราะปกติเวลาเธอชี้แผ่นเมฆสีขาวที่ก่อตัวในระดับสูง แล้วบอกให้คอยดูปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด ใครต่อใครจะพากันตื่นเต้น เพราะหลังจากนั้นจะเกิดพระอาทิตย์ทรงกลดจริงๆ อย่างที่เธอพยากรณ์

ไม่ใช่ไสยศาสตร์ ไม่ใช่เพราะมีญาณหยั่งรู้ แต่เพราะวิทยาศาสตร์ล้วนๆ

การพยากรณ์อากาศใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และความช่างสังเกต เซอโรสเตรตัสที่เธอเอ่ยถึงเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา แท้จริงแล้วคือผลึกน้ำแข็งที่จับตัวกันเป็นเมฆสีขาวโปร่งแสง จับกันเป็นแผ่นสีขาวปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง และเพราะมันคือผลึกน้ำแข็งที่โปร่งใสนั่นละ แสงจากดวงอาทิตย์จึงสามารถส่องผ่านและสะท้อนจนเกิดเป็นรัศมีที่เรียกกันว่า ‘ทรงกลด’

“ไม่สนุกเลย” นารีญาพึมพำ “จะแกล้งดีใจสักหน่อยก็ไม่ได้”

“ผมไม่ชอบเสแสร้ง” ลิ่วลมว่า ขณะที่อาจารย์ของเขาได้แต่โคลงศีรษะด้วยความขบขัน ที่หลานสาวกับลูกศิษย์เถียงกันราวกับเด็กเล็กๆ

ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองอย่างรวดเร็ว อากาศวันนี้เย็นสบาย ติดจะหนาวด้วยซ้ำ

ตัวสนามบินตั้งอยู่ที่เมืองพาโร คณะของลิ่วลมจะต้องเดินทางต่อไปยังทิมพู เมืองหลวงซึ่งอยู่ห่างไปราว 47 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราวๆ หนึ่งชั่วโมงครึ่ง

ท้องฟ้าสีฟ้าเข้มแกมน้ำเงิน มีเมฆสีขาวลอยปกคลุมบางๆ อันที่จริงก่อนหน้าการเดินทางเขาเช็กสภาพอากาศแล้ว เมืองหลวงอย่างทิมพูตั้งอยู่ที่สองพันสามร้อยเมตรเหนือระดับน้ำทะเล อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีจึงอยู่ระหว่าง 5 ถึง 12 องศาเซลเซียสในฤดูกาลปกติ และจะหนาวจัดในช่วงปลายปี

คนขับรถและไกด์ที่อาจารย์อัญญาวีร์จ้างมารออยู่แล้ว ภูฏานยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเอง แต่จะต้องมีไกด์ท้องถิ่นช่วยดูแล

คินซา ซังโม เป็นไกด์ผู้หญิงวัยสามสิบ รูปร่างสันทัด ผิวสีน้ำตาลเข้มอย่างคนสุขภาพดี ดวงตาของคินซาแจ่มใส เธอพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก

เธอสวมชุดประจำชาติภูฏานหรือที่เรียกว่ากีร่า – Kira

อาจารย์อัญญาวีร์ผู้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมภูฏานเล่าให้เขาฟังตอนอยู่ด้วยกันบนเครื่องว่า กีร่าเป็นผ้าทอรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณผ้าปูที่นอน ใช้ห่มพันรอบตัวคล้ายๆ กับที่ผู้หญิงอินเดียห่มส่าหรี

สตรีภูฏานจะตรึงผ้าให้ติดกับบริเวณไหล่ด้วยเข็มกลัดเงินที่เรียกว่าโกมา – Koma รัดอย่างแน่นหนาบริเวณเอวด้วยเข็มขัดผ้าหรือเกระ – Keyra พวกเธอจะสวมเสื้อตัวในที่มีแขนยาว เรียกกันว่าวนจู – Wonju และสวมเตียโกะ – Tyoko หรือเสื้อคลุมตัวนอก เป็นอันครบชุด

เพราะมาจากเมืองร้อนชื้นอย่างกรุงเทพฯ ในตอนแรกลิ่วลมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าเหตุใดพวกเธอจึงสวมเสื้อผ้าหนาหลายชั้นแบบนี้ ครั้นพอได้สัมผัสกับสภาพอากาศหนาวเย็นรอบกายแล้ว ชายหนุ่มจึงรู้ว่าเสื้อแบบนี้ละ ให้ความอบอุ่นกับร่างกายได้ดีในทุกสภาพอากาศ

หลังจากต่างฝ่ายต่างแนะนำตัวเป็นที่เรียบร้อย คินซาเล่าว่ายามปกติที่ไม่ได้รับงานนำเที่ยว ครอบครัวของเธอทำฟาร์มเห็ดและส่งขายไปต่างประเทศ ลูกค้าส่วนใหญ่ของเธอมาจากไทย อินเดีย และจีน เห็ดจากภูฏานปลอดสารเคมีและมีรสชาติอร่อย

โรงแรมที่จองมาเป็นโรงแรมขนาดใหญ่อยู่ใจกลางเมือง อาจารย์อัญญาวีร์แนะนำว่าคณะควรพักอยู่ที่นี่ เพราะอาหารการกินและการเดินทางสะดวกกว่าจะไปพักที่โรงแรมนอกเมือง

“พักสักวันสองวัน เตรียมตัวให้พร้อมแล้วค่อยออกเดินทาง” อัญญาวีร์บอกทุกคน “เพราะที่ซัมเซแทบไม่มีอะไรเลย เราต้องเตรียมอาหารแห้ง หยูกยา ไฟฉาย ข้าวของที่จำเป็นให้ครบ”

“ทุรกันดารขนาดนั้นเลยหรือคะอา” นารีญานิ่วหน้า

“เดี๋ยวก็รู้” อัญญาวีร์ยิ้มให้หลานสาว และหันมาทางลูกศิษย์หนุ่ม “ที่นั่น เทคโนโลยีต่างๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย…เมืองที่เราจะไปตามหาน้องชายของลม ต้องออกเดินทางจากซัมเซไปอีกหลายกิโล ไม่มีไฟ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์”

“แต่อากาศดี ธรรมชาติสวยงาม” คินซาเสริม “ที่นั่นอยู่ในหุบเขาลึกมีพืชพรรณไม้แปลกตามากมาย พวกคุณจะต้องชอบแน่นอน”

หลังจากเช็กอินเข้าห้องพักเรียบร้อย คินซาให้เวลาทุกคนล้างหน้าล้างตา เปลี่ยนเสื้อผ้าสิบห้านาที ก่อนจะพาแขกของเธอนั่งรถชมรอบเมือง

อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ในทิมพูไม่ใช่อาคารสูง อาคารสูงมากสุดที่ลิ่วลมเห็นก็คือโรงแรมที่เขาพักนั่นเอง บ้านที่อยู่อาศัยทั้งหมดปลูกสร้างกลมกลืนไปกับแมกไม้และขุนเขา

“อุ๊ย” นารีญาส่งเสียงร้องตื่นเต้น ชี้มือไปยังสถูปสีขาวขนาดใหญ่ที่อยู่กลางเมือง “นั่นเจดีย์อะไรคะ”

“Memorial Chorten สถูปที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงกษัตริย์จิกมี ดอร์จิ วังชุก กษัตริย์พระองค์ที่สามของภูฏาน” คินซาอธิบาย เธอดูนาฬิกาข้อมือและเอ่ยเชิญชวนว่า “ยังพอมีเวลา…อยากเข้าไปชมกันไหมคะ”

“ค่ะ” หลานสาวอาจารย์อัญญาวีร์รับคำเสียงใส คินซาหันไปบอกคนขับรถและเขาก็เลี้ยวเข้าไปจอดรวดเร็ว

ภายในสถูปน้อมรำลึก มีรูปสลักและแท่นบูชาแบบพุทธศาสนามหายานหลายจุด คนภูฏานมากมายหลั่งไหลกันเข้ามากราบไหว้ขอพร

ลิ่วลมเห็นวิธีการกราบของคนภูฏานแล้วรู้สึกทึ่ง เพราะแตกต่างไปจากวิธีการของคนไทย

คนไทยกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ แต่การกราบของที่นี่เรียกกันว่า ‘อัษฎางคประดิษฐ์’ คือ การกราบโดยแนบลำตัวไปกับพื้น เพื่อให้อวัยวะทั้งแปดส่วนของร่างกาย อันได้แก่หน้าผาก หน้าอก ฝ่ามือ ๒ ข้าง เข่า ๒ ข้าง และปลายเท้าทั้ง ๒ ข้าง สัมผัสกับผืนธรณี

“คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าวิธีกราบแบบนี้เป็นการกราบแบบทิเบต” คินซาทำหน้าที่ไกด์อธิบาย “แต่ที่จริงอัษฎางคประดิษฐ์เป็นท่ากราบนมัสการ ที่แพร่หลายทั่วไปอยู่แล้วในกลุ่มคนที่นับถือพุทธศาสนา ลัทธิตันตรยานหรือวัชรยาน…เรามาลองกราบวิธีนี้กันดูไหมคะ”

“ดีค่ะ นารีญารับคำอย่างร่าเริง และลองกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์เป็นคนแรก

ลิ่วลมลองดูบ้าง และพบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด หลังจากเก้ๆ กังๆ อยู่ในตอนแรก เขาก็เริ่มกราบคล่องขึ้น พร้อมกันนั้นก็รู้สึกเมื่อยไปทั้งตัว

หลังจากเดินชมรอบบริเวณ ลิ่วลมก็ออกมายืนเงียบๆ ในสนามหญ้าเขียวขจี เขาหลับตานิ่งพยายามส่ง ‘จิต’ ถึงล่องเมฆ

เขาหวังว่าเดินทางมาถึงภูฏานแล้ว กระแสจิตของน้องน่าจะแรงพอที่เขาจะจับตำแหน่งได้ว่าตอนนี้ล่องเมฆอยู่ที่ไหน หากจิตใจยังไม่ทันจะสงบนิ่ง ลิ่วลมก็ต้องสะดุ้งเมื่อมือเย็นๆ ของใครคนหนึ่งเอื้อมมาสะกิดที่ต้นแขน

 



Don`t copy text!