ฉัตรกนก บทที่ 1 : ความเปลี่ยนแปลง

ฉัตรกนก บทที่ 1 : ความเปลี่ยนแปลง

โดย : พงศกร

Loading

‘ฉัตรกนก’ โดย พงศกร เรื่องราวของโรงพิมพ์ผ้าตราฉัตรกนกของ มรว. ฉัตรกนก ที่กำลังเป็นที่นิยม เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น โดยมี ตวงฤทธิ์ ชายลึกลับเข้ามาเกี่ยวข้อง…ชายผู้ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นฆาตกรหรือโจรขโมยหัวใจกัน ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอา

หากติดใจอยากอ่านต่อ สามารถหาซื้อ #ฉัตรกนก ฉบับรวมเล่มได้แล้ววันนี้ ในรูปแบบหนังสือที่ร้านนายอินทร์ และร้านหนังสือชั้นน้ำทั่วไป หรือสั่งซื้อกับสำนักพิมพ์ กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง ได้โดยตรงที่ www.groovebooks.com  และในรูปแบบอีบุ๊ก สามารถดาวนโหลดได้ที่ Meb > https://bit.ly/2SS52RK

……………………………………………………………….

-1-

 

พุทธศักราช 2473

ปีที่ 6 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

“อะไรนะ” เสียงร้องด้วยความตระหนกของหม่อมอุ่นอรุณ ทำให้คุณหญิงฉัตรกนกต้องละสายตาจากสมุดวาดเขียนตรงหน้า วางดินสอร่างแบบในมือลง ผุดลุกจากเก้าอี้หวายสีขาวสะอาด และก้าวเท้าเดินไปหาผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว

“หม่อมย่าคะ…เกิดอะไรขึ้น”

มือที่ถือโทรศัพท์สั่นระริก ก่อนจะปล่อยให้โทรศัพท์ตกลงพื้น ร่างผอมบางของหม่อมอุ่นอรุณทรุดนั่งลงบนเก้าอี้ตัวยาวอย่างหมดเรี่ยวหมดแรง

“หญิงฉัตร…” หม่อมอุ่นอรุณหันมาทางหลานสาวคนโปรดด้วยท่าทางอ่อนระโหยโรยแรง “เกิดเรื่องแล้ว”

คุณหญิงฉัตรกนกใจหายวาบ นึกไปถึงเรื่องร้ายต่างๆ นานา พี่หญิงเปลว…ท่านพ่อ…หม่อมแม่…หญิงเชิญ…

“ใครเป็นอะไรคะหม่อมย่า”

“คุณหญิงมโนปกรณนิติธาดา” หม่อมอุ่นอรุณเสียงสั่น

นามนั้นทำให้คุณหญิงฉัตรกนกค่อยผ่อนลมหายใจออกมาได้ หากประโยคต่อมา กลับทำให้เธอถึงกับใจหายวาบ

“คุณหญิงสิ้นแล้ว”

“อะไรนะคะ” คุณหญิงฉัตรกนกยกมือขึ้นแตะริมฝีปาก อุทานเสียงแผ่ว “คุณหญิงมโนปกรณนิติธาดา…เธอตามเสด็จในหลวงและสมเด็จพระราชินีไปญวนไม่ใช่หรือคะ”

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.2468 พระองค์ก็มีพระราชภารกิจมากมาย การเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ เพื่อพบปะกับบรรดาผู้นำและประมุขของประเทศต่างๆ เป็นพระราชกรณียกิจที่จำเป็นของพระมหากษัตริย์ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ใหม่

เมื่อปีที่ผ่านมาในหลวงและสมเด็จพระราชินีจึงเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี รวมถึงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคราเต็มดวงที่สายบุรี มณฑลปัตตานี ส่วนปีนี้พระองค์เสด็จประพาสญวนและเขมรตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน มีกำหนดจะเสด็จนิวัตพระนครวันที่ 11 พฤษภาคม หรืออีกสามวันข้างหน้า

คุณหญิงมโนปกรณนิติธาดาเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงมีหน้าที่ตามเสด็จไปถวายการรับใช้ด้วย

“รถของคุณหญิงเกิดอุบัติเหตุ”

หม่อมอุ่นอรุณหลับตานิ่งด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ เธอสนิทกับคุณหญิงมโนปกรณนิติธาดา หรือนามเดิมนิตย์ สาณะเสน ผู้เป็นธิดาของพระยาวิสูตรโกษาเป็นอย่างมาก

คุณนิตย์พบรักกับคุณก้อน หุตะสิงห์ ที่ประเทศอังกฤษ และสมรสกันหลังจากเดินทางกลับมาถึงสยาม ต่อมาคุณก้อนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยามโนปกรณนิติธาดา คุณนิตย์จึงได้เป็นคุณหญิงมโนปกรณนิติธาดาตามสามี

“ชายปุษาณโทรศัพท์มาบอก”

โทรศัพท์เป็นสิ่งใหม่ในสยาม บรรดาชนชั้นสูงและข้าราชการผู้ใหญ่นิยมติดตั้งประจำอยู่ที่วังหรือที่บ้าน เพื่อใช้ติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว มีชุมสายอยู่สองแห่ง ที่วัดเลียบและที่ไปรษณีย์กลางบางรัก เวลาต้องการโทร.หาใคร ผู้โทร.จะต้องโทร.ไปที่ชุมสาย แจ้งให้เจ้าหน้าที่ต่อสายไปยังปลายทาง หม่อมเจ้าเปรมปุษาณติดตั้งโทรศัพท์ที่วังของหม่อมมารดาและวังของตน เพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกัน

“อีกประมาณ 7 กิโลเมตรจะถึงกัมปงจาม รถยนต์คันที่พระยาสุรวงศ์ฯ คุณหญิงมโนปกรณ์ฯ และคุณวรันดับนั่งมาเกิดอุบัติเหตุ” หม่อมอุ่นอรุณเล่าต่อ “คนขับที่เป็นญวนประมาทเลินเล่อ ขับรถแล่นขึ้นไปบนกองหินที่เจ้าหน้าที่กองไว้ริมถนนเพื่อจะซ่อมแซม แล้วรถเลยเสียหลักพุ่งชนเสาโทรเลข ก่อนจะคว่ำลงในท้องนาริมถนน”

“ตายจริง” คุณหญิงฉัตรกนกพึมพำ

“แม่นิตย์ได้รับบาดเจ็บ กะโหลกศีรษะแตก…ทนพิษบาดแผลไม่ไหว สิ้นใจระหว่างนำส่งโรงพยาบาล” หม่อมอุ่นอรุณเสียงสั่น

“หม่อมย่าใจเย็นๆ ก่อนนะคะ” คุณหญิงฉัตรกนกหันไปเรียกเด็กรับใช้ที่อยู่แถวนั้น ให้หยิบเอายาดมและรินน้ำชาร้อนๆ มาให้หม่อมอุ่นอรุณ

“ชายปุษาณบอกว่า ตอนนี้ท่านเจ้าคุณกำลังเดินทางไปรับศพคุณหญิงที่เขมร…ในหลวงทรงเปลี่ยนหมายกำหนดการ และจะเสด็จพระราชดำเนินกลับทันที…หญิงฉัตรช่วยติดตามรายละเอียดให้ย่าด้วย ทราบกำหนดพิธีศพว่าจะเริ่มเมื่อไร จัดที่วัดไหน ช่วยบอกย่าอีกที…”

“ได้ค่ะ” คุณหญิงฉัตรกนกรับปากเสียงแผ่ว ยังรู้สึกใจหาย ด้วยมีโอกาสได้พบกับคุณหญิงมโนปกรณนิติธาดาไม่กี่วันก่อนที่เธอจะเดินทางตามเสด็จไปอินโดจีน

“แต่ตอนนี้หม่อมย่าต้องทำใจดีๆ ไว้…นอนพักผ่อนก่อนนะคะ”

คุณหญิงฉัตรกนกกล่าวเสร็จก็หันไปทางเด็กรับใช้คนสนิท และสั่งว่า

“เรขา เธอดูแลหม่อมย่าให้ดี เดี๋ยวฉันมา”

“อ้าว” หม่อมอุ่นอรุณนิ่วหน้า “หญิงจะออกไปไหน”

“ไปโรงงานค่ะ” คุณหญิงฉัตรกนกบอก ก่อนหน้าหม่อมอุ่นอรุณจะได้รับข่าวร้ายทางโทรศัพท์นั้น เธอนั่งเตรียมแบบร่างลายผ้าและกำลังจะออกไปที่โรงงานพอดี

โรงงานพิมพ์ผ้ายี่ห้อ ‘ฉัตรกนก’ เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา เจ้าของคือหม่อมอุ่นอรุณ และมีหม่อมราชวงศ์หญิงฉัตรกนก เกษกนก เป็นผู้จัดการ!

 

หลายปีมานี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย

เป็นการเปลี่ยนแปลงของทั้งสังคมและภายในครอบครัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2468 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี

หลังจากขึ้นครองราชย์ได้เพียงหนึ่งปี ก็เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง อันเป็นผลมาจากสงครามโลก ทำให้ในหลวงพระองค์ใหม่ต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการลดค่าใช้จ่ายลง เกิดการดุลข้าราชการครั้งใหญ่ มีการปรับลดเบี้ยหวัดเงินเดือน ยุบกรม กอง กระทรวง และปลดข้าราชการออกบางตำแหน่ง

นอกจากนี้ในหลวงยังทรงตัดเงินปีของพระองค์เองลง จากปีละ 9 ล้านบาท เหลือปีละ 6 ล้านบาท และยุบกรมหาดเล็กหลวงที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ลงอีกด้วย

ท่านชายดำรงชาติ พี่เขยของคุณหญิงฉัตรกนกตัดสินใจลาออกจากราชการในคราวนั้น

ท่านชายย้ายไปประทับอยู่ที่บางเบิดเป็นการถาวร พระองค์ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร ด้วยกิจการฟาร์มเปรมปุษาณที่ทรงทำร่วมกับคุณหญิงเปลวกนกเป็นไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้หม่อมราชวงศ์ชาติกนก โอรสองค์โตของท่านชายดำรงชาติและคุณหญิงเปลวกนกก็กำลังน่ารักน่าชัง ท่านชายและคุณหญิงอยากให้ลูกเติบโตกับธรรมชาติ คุณชายจึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บางเบิด จนกว่าจะถึงวัยเล่าเรียนเขียนอ่านนั่นละ คุณหญิงเปลวกนกจึงค่อยส่งเข้ามาเรียนในพระนคร

ตอนแรกหม่อมอุ่นอรุณก็ทำท่าจะคัดค้าน หากไม่สามารถเอาชนะความต้องการของคุณหญิงเปลวกนกได้

ถึงจะไม่ชอบใจ หากหม่อมอุ่นอรุณก็ไม่มีเวลาจะไปรบรากับหลานสาวคนโตมากนัก ด้วยสภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองกำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ และส่งผลกระทบถึงความเป็นอยู่ของทุกคนในวังอย่างมากมาย

แต่เดิมหม่อมอุ่นอรุณมีรายได้จากค่าเช่าที่ดิน และตึกแถวที่พระสวามีทิ้งไว้ให้ หากเมื่อเศรษฐกิจถดถอย ข้าวของเริ่มขึ้นราคา เงินทองเริ่มขาดมือ ที่เคยพอใช้ก็เริ่มไม่พอใช้

สุดท้ายหม่อมอุ่นอรุณต้องแก้ปัญหาด้วยการลดรายจ่าย โดยการลดคนในวังลง ส่งตัวบางคนกลับบ้าน เลิกจ้างเด็กรับใช้ในตำแหน่งที่ไม่จำเป็น

หม่อมเจ้าเปรมปุษาณเองก็ไม่สามารถช่วยเหลือหม่อมมารดาได้มากนัก ด้วยพระองค์เองก็ประสบกับสภาวะเงินทองฝืดเคือง เงินเดือนข้าราชการถูกปรับลดลงจนแทบไม่พอใช้ ต้องลดคนในวังของพระองค์เช่นกัน อีกทั้งคุณหญิงเชิญกนก ธิดาคนสุดท้องก็กำลังเติบใหญ่ มีเรื่องให้ต้องใช้เงินอยู่ตลอดเวลา

เมื่อลดรายจ่ายแล้ว เงินยังไม่พอใช้ หม่อมก็ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้

หม่อมอุ่นอรุณเป็นคนที่ออกจะทันสมัยกว่าคนรุ่นเดียวกัน หลังจากศึกษาข้อมูลต่างๆ พูดคุยกับบรรดาผู้รู้ เธอก็ตัดสินใจนำเงินเก็บทั้งหมดที่มีมาลงทุนทำโรงพิมพ์ผ้า และมอบหมายให้คุณหญิงฉัตรกนกเป็นผู้จัดการคอยดูแล

โรงพิมพ์ผ้าตราฉัตรกนก เป็นโรงพิมพ์ผ้าลายที่ทันสมัย ใช้เครื่องจักรที่สั่งมาจากประเทศเยอรมนี

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณหญิงฉัตรกนก หากไม่ใช่เรื่องยากที่คนฉลาดอย่างเธอจะเรียนรู้ธุรกิจพิมพ์ผ้า

คุณหญิงชอบงานศิลปะอยู่แล้ว หลังจากมีครูมาสอน ได้รับคำแนะนำ รวมถึงอ่านตำราต่างประเทศหลายๆ เล่ม คุณหญิงฉัตรกนกจึงสามารถออกแบบลวดลายผ้าได้ด้วยตัวเอง ลวดลายที่สวยงาม ผ้าที่ใช้พิมพ์เป็นผ้าฝ้ายเนื้อดี ทำให้ผ้าพิมพ์ตราฉัตรกนกเป็นที่นิยมในท้องตลาด แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าผ้าพิมพ์ลายที่นำเข้ามาจากประเทศอินเดียก็ตาม

เมื่อกิจการดีขึ้น โรงงานก็เริ่มขยาย และรับคนงานมากขึ้น จากชีวิตเรียบง่ายอยู่แต่ในวัง คุณหญิงฉัตรกนกต้องออกไปทำงานที่โรงงานแทบทุกวัน โดยเฉพาะสองวันมานี้ที่โรงงานกำลังมีปัญหาวุ่นวาย เพราะเครื่องจักรที่สั่งมาใหม่จากเยอรมนีเกิดมีปัญหา เดินเครื่องไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถผลิตผ้าได้ทันตามออร์เดอร์ของลูกค้า

“ยังไม่ได้เรื่องเลยขอรับคุณหญิง”

ทันทีที่คุณหญิงฉัตรกนกมาถึงโรงงาน นายเศวตซึ่งเป็นหัวหน้าช่างก็รีบรายงานด้วยน้ำเสียงหนักใจ

“ผมทำตามที่คู่มือบอกเอาไว้ทุกอย่าง แต่ก็ยังเดินเครื่องไม่ได้”

นายเศวตเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในกรมที่หม่อมเจ้าเปรมปุษาณเป็นอธิบดี หากหลังจากมีการดุลข้าราชการครั้งใหญ่ นายเศวตก็ถูกให้ออกจากราชการมาในช่วงเดียวกับที่หม่อมอุ่นอรุณกำลังจะเปิดโรงงานพิมพ์ผ้าพอดี หม่อมเจ้าเปรมปุษาณทรงเห็นว่าลูกน้องคนนี้เป็นคนซื่อสัตย์ไว้ใจได้ จึงจ้างให้นายเศวตมาทำงานที่โรงงานผ้าพิมพ์ฉัตรกนก

“อีกห้าวันเราต้องส่งผ้าให้ร้านกระทรวงมหาดไทยสามร้อยผืน…เห็นทีจะไม่ทันแน่” คุณหญิงฉัตรกนกถอนใจ

งานฤดูหนาวกำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วัน กระทรวงมหาดไทยสั่งผ้าพิมพ์ลายไทยจำนวนสามร้อยผืน เพื่อไปออกร้านจำหน่าย งานนี้ถ้าส่งของไม่ทัน นอกจากจะต้องถูกปรับแล้ว ยังจะเป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงของโรงงานอีกด้วย

“ช่างฝรั่งจะมาถึงเมื่อไรคะคุณเศวต”

“ทางเยอรมนีเพิ่งโทรเลขมาเมื่อเช้าว่า กำลังจะส่งช่างลงเรือมาดูเครื่องให้เรา…กว่าจะเดินทางมาถึง…อย่างเร็วสุดคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองเดือน”

“ไม่ทันการณ์” คุณหญิงฉัตรกนกส่ายหน้า และถอนใจออกมายืดยาว

“หนูผิดเอง…”

เสียงเด็กสาวรูปร่างโปร่งบางดังมาจากโต๊ะทำงานที่อยู่มุมห้อง มะลิวัลย์เป็นเลขานุการของคุณหญิงฉัตรกนก เธอเป็นคนรับออร์เดอร์ของกระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุนี้เด็กสาวจึงมีความกังวลใจมากกว่าใคร

“หนูไม่น่ารับออร์เดอร์นี้มาเลย”

“ไม่เป็นไร” คุณหญิงฉัตรกนกปลอบใจลูกน้อง ทั้งที่ตนเองก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร “เธอทำดีที่สุดแล้ว เครื่องจักรใหม่สามารถพิมพ์ผ้าได้วันละหนึ่งร้อยผืน…ถ้าเครื่องไม่มีปัญหา อย่างไรเสียก็ผลิตทันส่งให้ลูกค้า…ใครจะคิดว่าจะเป็นแบบนี้”

“เดินเครื่องที่เรามีอยู่นอกเวลาก็ได้นะคะคุณหญิง” มะลิวัลย์เสนอ “หนูอยู่เฝ้าเครื่องให้เอง”

“ไม่มีประโยชน์” คุณหญิงส่ายหน้า “ยังไงก็ไม่ครบจำนวนอยู่ดี”

เครื่องจักรเครื่องแรกและเครื่องเดียวที่โรงงานมีอยู่ เป็นเครื่องรุ่นเก่า กำลังการผลิตจำกัดได้แค่วันละสามสิบผืนเท่านั้น แถมระยะเดือนสองเดือนมานี้ เครื่องทำงานหนัก เริ่มรวน ทำให้บางครั้งเกิดการติดขัด ต้องซ่อมแซมแก้ไขเป็นระยะ ทำให้ผลิตผ้าได้น้อยลงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

“อีกอย่าง…เรายังมีออร์เดอร์ผ้าเจ้าอื่นอีก ถ้าจะเสียชื่อ ก็ให้เสียชื่อกับกระทรวงมหาดไทยทางเดียวดีกว่า อย่าให้เสียชื่อไปกับลูกค้าเจ้าอื่นด้วยเลย”

“อาจจะพอมีทางอยู่นะขอรับคุณหญิง” นายเศวตอ้อมแอ้ม ท่าทางเหมือนลังเล ไม่แน่ใจว่าควรจะเอ่ยเรื่องต่อไปนี้หรือไม่

“มีทาง” คุณหญิงฉัตรกนกโคลงศีรษะ “อย่างไรคะ”

“เมื่อเช้ามีคนมาสมัครเป็นช่างคุมเครื่องจักรที่โรงพิมพ์ผ้าของเรา” นายเศวตว่า

คุณหญิงฉัตรกนกให้ประกาศรับสมัครช่างคุมเครื่องเพิ่มอีกหนึ่งคนตั้งแต่เดือนที่แล้ว หากยังไม่ได้คนที่เหมาะใจ บางคนคุยโวว่ารู้สารพัด หากเอาเข้าจริงกลับทำไม่ได้ตามที่คุยอวดเอาไว้ บางคนก็แก่เกินไป หลายคนอ่านหนังสือไม่ออก สรุปแล้วยังไม่มีใครเหมาะสม ตำแหน่งช่างคุมเครื่องจักรจึงยังว่างอยู่จนถึงวันนี้

“เขาบอกว่าเรียนจบช่างมา ให้ซ่อมอะไรก็ซ่อมได้ทุกอย่าง”

“แล้วคุณเศวตว่าอย่างไร” คุณหญิงฉัตรกนกถามอย่างให้เกียรติ เพราะอย่างไรเสียเรื่องช่างเรื่องเครื่องยนต์ เธอก็ไม่มีความรู้เท่ากับลูกน้องคนเก่าแก่ของท่านบิดาแน่ๆ

“ผมก็ไม่แน่ใจขอรับคุณหญิง” เศวตพึมพำ “ท่าทางของมันพูดจาฉะฉานดีอยู่หรอก เสียแต่ผิวขาวหน้าตาดี ดูจับจดอย่างไรก็ไม่รู้…ท่าทางไม่น่าได้เรื่อง”

“งั้นก็ไม่ต้องรับเข้ามาหรอก จะได้ไม่ต้องเสียเวลา” คุณหญิงฉัตรกนกตัดสินใจรวดเร็ว

“ผมก็บอกไปแบบนั้น” ท่าทางของนายเศวตดูหนักใจ “แต่เขาขอพิสูจน์”

“พิสูจน์” คราวนี้คุณหญิงฉัตรกนกถึงกับชะโงกไปข้างหน้าอย่างลืมตัว ”พิสูจน์อย่างไร”

“เขาบอกกับผมว่า ก่อนจะปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน ขอเขาพิสูจน์ตัวเองดูก่อน” ชายวัยกลางคนอธิบาย “พิสูจน์ด้วยการให้ทดลองซ่อมอะไรก็ได้…เขารับรองว่าสามารถซ่อมเครื่องยนต์กลไกได้ทุกอย่าง”

“คุณเศวตจะให้เขาลองซ่อมเครื่องจักรเครื่องใหม่ของเราดูหรือคะ” คุณหญิงฉัตรกนกเริ่มจะเดาได้

“ดีไหมขอรับ” เศวตย้อนถาม “เพราะเราก็ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว”

“แต่เครื่องจักรใหม่ราคาสูงมาก เราไม่พร้อมจะเสี่ยงหรอกนะคะ” คุณหญิงส่ายหน้า “เกิดพลาดพลั้งเสียหายใหญ่โต เราจะยิ่งแก้ปัญหาไม่ไหว”

เงินหมุนเวียนในโรงงานตอนนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะคล่องตัวมากนัก หากเครื่องจักรใหม่เสียหายต้องซ่อมใหญ่โต อาจจะเกิดปัญหาหมุนเงินไม่ทันได้

“แต่เขามั่นใจว่าซ่อมได้…” เศวตถอนใจ หน่วยก้านของชายหนุ่มผู้นั้นก็ดูไม่เลว เสียอย่างเดียวที่หน้าอ่อนไปหน่อย

“ไม่ละ…” คุณหญิงปฏิเสธ “ฉันไม่อยากเสี่ยง”

“ทำไมไม่ลองให้โอกาสผมดูสักหน่อยล่ะครับ”

เสียงทุ้มๆ นุ่มหูของใครบางคนดังมาจากด้านหน้าของประตูสำนักงาน และเมื่อคุณหญิงฉัตรกนกหันกลับไป ก็พบว่าเจ้าของเสียงผู้นั้นก็คือชายหนุ่มผิวขาวจัด รูปร่างสูงใหญ่ ในชุดเสื้อกางเกงติดกันสีเข้มเหมือนที่ช่างส่วนใหญ่นิยมใส่กัน

“ถ้าผมทำอะไรเสียหาย คุณก็ปรับเงินผม…แต่ถ้าผมซ่อมได้…คุณก็รับผมเข้าทำงานด้วย…แบบนี้ยุติธรรมดีไหมครับ”

 



Don`t copy text!