หิมพาลัย บทที่ 3 : อุมาวสี
โดย : ตรี อภิรุม
น้ำในลำธารเย็นจัด ความไม่เคยชินทำให้พิชญ์รู้สึกหนาว เขาแหวกว่าย กระทุ่ม ตีกรรเชียง เท่ากับออกกำลังกายในตัว สร้างความเคยชิน
พยายามว่ายแข่งกับพวกหนุ่มชาวพื้นเมือง แต่ไม่ชนะสักที พวกนั้นแข็งแรงกว่าแยะ ทั้งที่ร่างกายมิได้กำยำล่ำสัน
สิ่งที่น่าสังเกต ฝูงปลาเขียวใสคล้ายปลาซิวอออยู่ตามแอ่งน้ำระหว่างโขดหิน เมื่อเขาจุ้มมือลงทำท่าจะช้อนจับ มันก็พุ่งแผล็วหายไปหมดรวดเร็ว
แปลก…ชาวหิมพาลัยเอาสบู่มาด้วย แต่ไม่มีฟอกตัว เขาเกรงใจไม่ขอยืม
“ขึ้นเถอะเรา”
พิชญ์บอกตัวเอง ก้าวขึ้นจากลำธาร ร่างกายเปียกโชก ชุดเสื้อยืดแขนกุดกางเกงขาสั้นแนบเนื้อ สวมรองเท้าแตะที่คล้ายเกี๊ยะยืนผึ่งแดดให้สะเด็ดน้ำ
“ทำยังไงหว่า เราไม่ได้เอามาผลัดเปลี่ยน”
ลมเย็นพัดโชย เกือบจะทำให้การผึ่งแดดปราศจากความหมาย ชายหนุ่มตัดสินใจสวมชุดเดิมชั้นนอกที่หนาเทอะ เดินเลาะลัดลงจากเนินเขา เส้นทางระนาบเอียงผ่านเงาพุ่มพฤกษ์เป็นระยะ
แว่วเสียงวิหคร้อง คละเคล้าน้ำเซาะลำธารริ้งๆ ผีเสื้อหลากสี แมลงปอบินว่อน เหนือแปลงไม้ดอกที่ขึ้นตามธรรมชาติ งดงามประหนึ่งดินแดนเนรมิต หาชมได้ยากในโลกมนุษย์
เปรียบได้ว่าเป็นการทัศนาจรระยะยาว หมดโอกาสกลับกรุงเทพฯ พลัดพรากจากครอบครัว ญาติ มิตรสหายตลอดชีวิต
“ป่านนี้ครอบครัวคงประสบความวิปโยค คิดว่าเราถูกผู้ก่อการร้ายอุ้ม ฆ่าทิ้ง ทำลายศพ”
หนุ่มชาวกรุงตั้งคำถามในใจ หรือว่าเขาควรจะโกหก จะได้ถูกขับไล่ออกจากหิมพาลัยนคร มีโอกาสคืนสู่ภูมิลำเนา
น่าจะลองปรึกษาหารืออุมาวสี ไม่ทราบว่าหล่อนจะให้ความร่วมมือหรือไม่
ชายหาดลาดต่ำวิวสวย พิชญ์เกิดความคิดอย่างหนึ่ง ยอบกายลงเอื้อมมือลงไปในลำธาร กำขยุ้มดินทราย แบขึ้นพิสูจน์ ปนเม็ดแร่ทองคำบริสุทธิ์และพลอยหลากสี เตรียมหาใบไม้ห่อจะเอากลับกระท่อม
“ป่วยการ ไอ้เหลน ไร้คุณค่าสำหรับเจ้า ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น”
เสียงเครืออาวุโสดังเบื้องหลัง ชายหนุ่มเหลียวขวับ
แม่เฒ่าจันจูยืนยิ้มละไม นัยน์ตาฉายแววอ่อนโยนเอื้ออารี เขาชักกระดากที่นางจับได้ว่าละโมบ รีบปล่อยทรายจ๋อมลงไปในลำธาร ล้างมือ ยืนขึ้นเต็มตัว
ก่อนอื่นพนมมือทำความเคารพ โดยฐานะที่นางนำเขาเข้ามาพำนัก เปรียบได้ว่า มิตรรายแรกแห่งหิมพาลัยนคร
“แม่เฒ่าไปไหนครับ”
“ข้าเตร็ดเตร่ไปเรื่อยๆ ดูแลความสงบเรียบร้อยของพวกหลาน เหลน ลื่อ ลีบ”
พิชญ์ย่นหัวคิ้วดกดำ ฉงนสนเท่ห์ พอจะรู้หลักภาษาไทย ลื่อแปลว่าลูกของเหลน และลีบคือลูกของลื่อ
เกิดข้อกังขาในอก แม่เฒ่าจันจูมีลื่อ-ลีบแล้วหรือ อยากจะรู้อายุของนาง
หากการถามอายุผู้อาวุโส เป็นมารยาททางสังคม ไม่สมควรประพฤติ ช่างเถิด วันหลังเขาจะถามจากอุมาวสีหรือเคียะง่วน
“เดินก็เมื่อยแย่ แม่เฒ่าน่าจะขี่ล่อ”
เงียบกริบ หรือว่าหูนางตึง หนุ่มผู้พลัดถิ่นหันมอง
อ้าว…ว่างเปล่า แม่เฒ่าจันจูหายไปไหนรวดเร็วชั่วพริบตา บริเวณใกล้เคียงปราศจากสุมทุมพุ่มพฤกษ์พอที่ใครจะแอบซ่อน
เนื่องจากเคยเผชิญอุมาวสีสำแดงปาฏิหาริย์ครั้งแรก ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะเจอปาฏิหาริย์ครั้งที่สอง
การหายแวบของแม่เฒ่าจันจู เท่ากับเป็นคำตอบโดยปริยายว่า
“อย่างข้า ไม่จำเป็นต้องขี่ล่อ”
ชายหนุ่มสาวเท้าเอื่อยๆ ชมทิวทัศน์สองฟากทางในตัว เลิกคิดถึงเทคโนโลยีทั้งปวง เพราะหมดโอกาสจะสัมผัสมัน
แม้ว่าจะพ้นจากเนินเขา ชัยภูมิก็ยังไม่ราบเรียบเฉกเช่นถนน รับกับโครงสร้างของหิมพาลัยที่ปลอดมลพิษ
ร่างสะคราญพิลาสพิไลโฉมยืนพิงต้นมะพร้าว ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ใช่อุมาวสี
จิตใจของเขาปีติแช่มชื่น ก้าวฉับๆ ตรงไปหาดรุณีแรกรุ่น ได้กลิ่นน้ำหอมสมุนไพรซ่านจากเรือนร่าง ชวนให้เคลิบเคลิ้มใหลหลง ดุจต้องมนตร์เสน่หา
“คอยข้านานไหม แม่หญิง”
“แป๊บเดียว”
พิชญ์เล่าเรื่องแม่เฒ่าจันจูล่องหน อุมาวสีคลี่ยิ้มหวานแฉล้ม
“หิมพาลัยเป็นโลกทิพย์ แตกต่างกับโลกมนุษย์ ตราบเท่าที่เจ้ายังอยู่ที่นี่ จะพบสิ่งลี้ลับ มหัศจรรย์ ศักดิ์สิทธิ์เยอะแยะ ข้าพรรณนาไม่ถูก”
“สถานที่อาบน้ำอีกแห่ง อยู่ไกลมั้ย”
แม่หญิงชี้มือที่ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์รูปเก๋งจีนประยุกต์อยู่บนตีนเขา แวดล้อมด้วยพรรณพฤกษ์ร่มรื่น
“ใกล้มาก ประมาณหนึ่งกิโลเมตร ด้านหลังวัด ที่นั่นเป็นห้องอาบน้ำมิดชิด เคียะง่วนคอยเจ้า พร้อมทั้งสบู่ และชุดชั้นในสับเปลี่ยน”
ชายหนุ่มเผลอย่นจมูก นี่หรือระยะทางใกล้มาก หากเดินกึ่งวิ่งก็คงเล่นเอาเหงื่อตก
จริงทีเดียว ชาวเขาย่อมประเมินระยะทางใกล้-ไกลแตกต่างกับชาวกรุง
“แม่หญิงจะนำทางข้าเรอะ”
“บังเอิญข้าติดธุระ เจ้ากล้าขี่ล่อหรือเปล่า”
เขาแสดงสีหน้าชอบกล จะยิ้มก็ไม่ใช่ จะแหยก็ไม่เชิง พูดเรื่องล่อกับแม่เฒ่าเมื่อสักครู่ ไม่คิดว่ามันจะวกเข้ามาหาตัวเอง เอาวะ, ลูกผู้ชายต้องเรียนรู้
“กล้า” เหลียวมองรอบตัว “มันอยู่ไหนล่ะ แม่หญิง”
อุมาวสีผิวปากเสียงแหลม แค่ครึ่งนาทีก็หยุด การแสดงออกนั้นเหมือนตลก พิชญ์เชื่อว่าผลลัพธ์ก็คือ ความล้มเหลว
โอ…โน่นอะไรกันเล่า
เจ้าสัตว์ลูกผสมระหว่างลากับม้าที่โผล่แนวพฤกษ์ระยะสองร้อยเมตร วิ่งเหยาะๆ ตรงมาตามสัญญาณเรียก ตัวมันเล็กกว่าม้าธรรมดาสีน้ำตาลดำ พ่วงพีแข็งแรง
นี่คือ สิ่งอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับตา คนละแง่มุมของโลกเทคโนโลยี
ในที่สุด เจ้าล่อแสนรู้ก็หยุดที่บุคคลทั้งสอง อุมาวสีลูบแผงคอสัตว์เลี้ยง ส่งภาษาพื้นเมืองที่เขาฟังไม่รู้เรื่อง
“พ่อหนุ่มขี่หลังได้แล้ว ข้าจะเอาใจตามไปส่งเจ้าตลอดเส้นทาง”
อาศัยไหวพริบ พิชญ์ก้าวขึ้นไปยืนบนโขดหินริมถนน เด็กสาวส่งมือให้จับยึด บนหลังล่อติดอานที่ทำด้วยผ้าเนื้อนุ่ม หนุ่มชาวไทยดีดตัวขึ้นคร่อม
“เมื่อไหร่เราจะพบกันอีก อุมาวสี”
“ตอนเย็นที่กระท่อม”
ล่อเหยาะย่างค่อนข้างเร็ว แต่จะช้าลงหน่อยเมื่อปีนเนินเขา ชายหนุ่มไม่ได้สำรวจทิวทัศน์ข้างทางสักเท่าใด เนื่องจากคอยระมัดระวังจนตัวเกร็ง
เคราะห์ดี เจ้าล่อพาหนะไม่วิ่งควบ มิฉะนั้น คนพลัดถิ่นอาจจะกระดอนตก
ถนนแนวโค้งค่อนข้างจะวกวน แลเห็นกระท่อม และตึกดินรูปถ้วยกาแฟคว่ำประปรายระหว่างแนวพฤกษ์
ใช้เวลาไม่นานนัก ก็ถึงจุดหมายปลายทาง
ที่นั่น ห้องน้ำคอนกรีตขนาดใหญ่หลังคามุงใบไม้จำพวกปาล์มหลายห้อง แยกเป็นสัดส่วนระหว่างชายกับหญิง แนวไม้บางๆ กั้นเขต
ชาวหิมพาลัยทั้งสองเพศร่วมยี่สิบคนเตร่อยู่ในอิริยาบถต่างกัน รวมทั้งล่อห้าตัวเล็มหญ้า ท่าทางเซื่องและเซ่อ
เคียะง่วนรออยู่ข้างโขดหิน ยื่นมือให้พิชญ์จับยึด เขาดีดตัวกระโดดตุ้บ หวุดหวิดจะหน้าคะมำ
เมื่อได้รับอิสรภาพ มันก็เดินเงื่องหงอยไปเล็มหญ้าใกล้พรรคพวกล่อ
เด็กหนุ่มผู้เอื้อเฟื้อมอบสบู่ ผ้าเช็ดตัว และกางเกงชุดชั้นในให้พิชญ์ถือ
“ตามข้ามาเถอะ”
ก่อนอื่น อาคันตุกะนอกระบบแวะเยี่ยมล่อพาหนะ เอื้อมมือลูบแผงต้นคอ กล่าวเสียงอ่อนโยน
“ขอบใจที่เจ้ามาส่งข้า”
แปลก สัตว์สีน้ำตาลดำหยุดเคี้ยวเอื้อง ตาโตซื่อเหลียวมองเขา ใบหูตั้งชันกระดิก คงจะสื่อความหมายไม่รู้เรื่องนั่นเอง
ถึงคราวที่เคียะง่วนจะอธิบายภาษาพื้นเมืองเสียงต่ำเสียงสูงล้งเล้ง สัตว์พาหนะหมดความสนใจพิชญ์ เล็มหญ้าต่อ โบกหางไล่ยุงริ้น
สถานที่อาบน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รองเท้าแตะไม้และหนังเทียมร่วมยี่สิบคู่ถอดวางไว้ที่ลานคอนกรีต ใต้ชายคาปกคลุม สังเกตได้ว่าไอร้อนระเหยออกทางช่องลมเพดาน
ด้านหน้ามีลับแลกั้นกันประเจิดประเจ้อ เคียะง่วนผลักประตูไม้แอ๊ด
หนุ่มผู้ติดตามตื่นเต้นเล็กน้อย ประดาชายเกือบทุกวัยเท่าจำนวนรองเท้าแตะข้างนอกอยู่ในชุดแรกเกิด จ้วงตักน้ำในบ่อคอนกรีตสี่เหลี่ยมที่ฝังตัวติดผนังด้านในสุด บรรจงรดร่าง บางรายฟอกสบู่ ไอร้อนระเหยเหมือนหมวก
“น้ำแร่”
“ใช่แล้ว”
เหลนแม่เฒ่าจันจูผงกศีรษะรับ พลางเปลื้องชุดพาดราวไม้เหลือแต่เนื้อหนังมังสาลุ่นๆ
มันก็ไม่แตกต่างกับห้องอาบน้ำรวมของนักกีฬาชายทุกหนทุกแห่ง ใครขืนทำเหนียมกระมิดกระเมี้ยนจะถูกเพื่อนโห่
“เอาวะ, เราก็นักกีฬาคนหนึ่ง”
พิชญ์ลอกคราบตัวเองพาดราว หุ่นของเขาล่ำเพรียว สูงหกฟุต ผิวสีแทน โดดเด่นกว่าทุกคนในห้องนั้น ส่วนต่างคือ ชาวหิมพาลัยผิวขาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณร่มผ้า
หนุ่มหิมพาลัยยิ้มร่าเริง สายตามิตรภาพ เด็กชายวัยแตกพานหนุ่มที่เคยคุยกับเขาเร่เข้ามายืนเคียง
“เจ้าเดินทางช้าจัง”
“ข้าขี่ล่อ”
“พวกเราปีนเขามาทางลัด”
“จริงรึ เจ้าอายุเกินสามสิบ”
“ทำไมข้าจะต้องโกหก”
“งั้นเจ้าอายุเท่าไร”
ลือเซียงไม่ตอบ
เด็กรุ่นกระทงส่ายหน้าดิก เลี่ยงกลับไปเข้ากลุ่ม เจ๊าะแจ๊ะภาษาพื้นเมือง ไม่ทราบว่านินทาเขาหรือเปล่า
พิชญ์สังเกตบ่อที่กั้นขอบคอนกรีต น้ำแร่ผุดตลอด มีก๊อกท่อจากแท็งก์น้ำพักด้านนอกไหลมาผสม ทำให้เย็นลงระดับหนึ่ง เขาตักน้ำค่อยๆ รด ฟอกสบู่สมุนไพรกลิ่นขมิ้น
“ลองของข้าไหมล่ะ” เคียะง่วนยื่นมือที่กำก้อนสบู่เสนอ “กลิ่นสะระแหน่”
“เอาไว้วันหลังเถอะ สองกลิ่นมันจะตีกันเอง ไม่หอม”
เวลาผ่านไป กลุ่มผู้อาบน้ำชุดแรกต่างสวมชุดรุ่มร่ามคล้ายกิโมโน เก็บสัมภาระทยอยกันออกจากห้อง ลือเซียงมาทางพิชญ์ ฉีกยิ้มยักคิ้วทะเล้น
“พ่อหนุ่มชาวสยาม เจ้าจะอยู่เป็นโสดไปจนแก่ ผู้หญิงหิมพาลัยไม่สนใจผู้ชายต่างเมือง”
เท่านั้นเอง หนุ่มแรกรุ่นก็ผลุนผลันออกประตู สวนกับบุรุษกลุ่มใหม่ที่เข้ามาใช้บริการ ต่างคนต่างปลดเปลื้องชุดเสื้อคลุมพาดราวไม้ วางขันสบู่หอม
เท่าที่สังเกต ไม่มีใครสักคนเดียวที่อ้วนพุงอืด
“ลือเซียงปากเสีย”
เคียะง่วนออกตัว พิชญ์โคลงศีรษะ ยิ้มที่มุมปาก
“ข้าไม่ถือหรอก”
“มันเป็นพวกอุตริ”
“อุตริ”
ชายหนุ่มทวนคำ ฉงนสนเท่ห์
ฝ่ายตรงข้ามไม่ขยายคำพูด สวมชุดหนาเทอะ เก็บของใช้ส่วนตัว พิชญ์ทำตามมัคคุเทศก์
สักครู่ สองบุรุษก็ออกจากห้องน้ำรวม สวมรองเท้าแตะ
ปรากฏว่าฝูงล่ออันตรธาน เดาได้ว่าชาวหิมพาลัยใช้เป็นพาหนะกลับบ้านช่อง
“ถ้าพ่อหนุ่มอยากจะขี่ล่อ ข้าจะเรียก”
เขารู้สึกเจ็บก้นกบนิดหน่อย เกิดจากการเดินโขยกขึ้นเนินของเจ้าสัตว์พาหนะแสนรู้
“ระยะทางคงจะไกลมากกว่าจะถึงกระท่อมที่พัก”
“โฮ้ย ไม่ถึงสองกิโลเมตร แป๊บเดียวก็ถึง”
“แป๊บเดียวของเคียะง่วน” สหายต่างประเทศดักคอ “หมายถึงหายตัวใช่มั้ย”
“ข้าหายตัวไม่เก่งเท่าพี่หญิงอุมาวสี ชอบวิ่งเหยาะๆ บางทีวิ่งรองเท้าขาด เหลือแต่เท้าเปล่าก็ยังไม่หยุด จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง”
“งั้นเราเดินคุยกันไปเรื่อยๆ เถอะ ข้าอยากรู้หลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับหิมพาลัยนคร”
ลูกพี่ลูกน้องของอุมาวสีพยักหน้าเนิบ ทั้งสองสืบเท้าแฝงเงาสุมทุมพุ่มพฤกษ์
“เจ้าว่าลือเซียงอุตริ ข้าอยากรู้สาเหตุ”
คู่สนทนาผ่อนลมหายใจยาวเหยียด สีหน้าครึ่งยิ้มครึ่งแหย
“พิชญ์ต้องสัญญากับข้าก่อน รู้แล้วเหยียบไว้เสีย ห้ามเก็บเอาไปล้อเลียนลือเซียง มันจะหาว่าข้าปากบอน”
“เออ ตกลง”
“ลือเซียงแต่งเมียปีกลายนี้เอง” เคียะง่วนเล่าความสนุกครื้นเครง “เมียเป็นแม่เฒ่ารุ่นทวด อยู่กันได้สักครึ่งปีก็หย่าร้าง ปัจจุบันมันตกพุ่มม่าย สาวๆ ไม่เหลียวแล ก็คงจะครองโสดตลอดชีวิต”
ชายหนุ่มกะพริบตาสองแวบ เกือบจะไม่เชื่อหูตัวเอง มิน่าเล่า เจ้าหนูวัยแตกเนื้อหนุ่มสัพยอกเขาแฝงนัยเหยียดหยาม โดยเปรียบเทียบกับสถานภาพของตนเป็นเกณฑ์
ด้วยสายตาชาวกรุงของพิชญ์ โครงสร้างร่างกายของลือเซียงยังไม่เป็นผู้ใหญ่ น้ำเสียงเพิ่งจะแตกห้าว ประเมินว่าอายุสิบสาม อย่างเก่งก็ย่างยี่สิบ
อเนจอนาถ แต่งงานเมื่อปีก่อน แน่ละ วาดภาพออกว่ายุ่งเหยิงอุตลุด ระส่ำระสาย ไม่เป็นขบวนการ ความคิดของผัวเด็กกับเมียเฒ่าแตกต่างกันคนละขั้ว ระหว่างทิศเหนือกับทิศใต้ทำนองนั้นแหละ
ผลสุดท้าย วิวาห์ล่ม
“เขาน่าจะจีบสาว ตามตื๊อ น่าจะมีรายใหม่ที่ใจอ่อนยอมแต่ง”
“ประเพณีของเรา เมื่อสาวตั้งข้อรังเกียจ เขาก็จะเลิกตอแย ไม่ก่อความวุ่นวาย ไม่มีฉุดคร่าข่มขืน คู่ที่หย่าร้างจะไม่ปริปากถึงสาเหตุ อ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ใครถามเขาโกรธ”
“อายุจริงของลือเซียงสักเท่าไร”
เพื่อนต่างแดนยิ้มแยกเขี้ยว เกาท้ายทอยแกรก
“ข้าไม่อยากบอก เกรงว่ามันจะส่งผลกระทบด้านอื่น”
“เจ้าเล่าประวัติลือเซียง ยังงั้นมันก็ครึ่งๆ กลางๆ ไม่สมบูรณ์แบบ”
เคียะง่วนย่นจมูก เตะหินก้อนหนึ่งกระเด็น เลี้ยวเข้าพุ่มไม้ค่อนข้างจะมิดชิด ยืนขาแยก ปลดปล่อยระบบขับถ่ายไหลจ๊อก
พิชญ์ออกไปรอห่างพอสมควร สักประเดี๋ยวเด็กหนุ่มก็ตามมาสมทบ
“อายุห้าสิบหก อย่าเอาไปล้อลือเซียง มันยังเด๊ก-เด็ก”
“พูดผิด หรือไม่ค่อยจะแน่ใจ พูดใหม่ได้นะเคียะง่วน”
“จริง” ยืนยันหนักแน่น “อะไรที่รู้ว่าเป็นความเท็จ ชาวหิมพาลัยจะไม่ตอบคำถาม”
ผู้ฟังงุนงง แต่ก็เชื่อสนิท นี่หรือคนอายุใกล้หกสิบ เปรียบได้ว่าวัยทอง หากเป็นเมืองไทย ข้าราชการสูงอายุบางราย อาจจะขอเกษียณก่อนกำหนด เพื่อไปประกอบอาชีพส่วนตัว เรามักจะเรียกทับศัพท์ว่าเออร์ลี่รีไทร์
คนวัยห้าสิบหกแต่งงาน ถือว่าอุตริ นอกคอก หรือชิงสุกก่อนห่ามเช่นนั้นหรือ
ปัญหาที่ตามมาต่อเนื่อง อยากรู้อายุของเคียะง่วน อุมาวสี และแม่เฒ่าจันจู
“แต่งงานวัยเท่าไรถึงจะเหมาะ ไม่เป็นที่ครหานินทาของสังคม”
“ตั้งแต่เก้าสิบถึงร้อยห้าสิบ พวกพ่อม่ายแม่ม่ายที่แต่งรอบสอง จะอยู่นอกกฎเกณฑ์”
“ว้า ไม่แก่หงำเหงือกเหรอ”
เด็กหนุ่มส่ายหน้าดิก หัวเราะร่วน ฟันขาว
“อากาศ ภูมิประเทศ อาถรรพณ์ ความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้พวกเราอายุยืนกว่าชาวสยาม พิชญ์อยู่ที่นี่ก็จะได้รับกระแสอิทธิพลด้วยอีกสักเจ็ดสิบปีแปดสิบปี เจ้าก็จะยังดูหนุ่ม”
เขาตั้งสมมติฐาน หากอายุร้อยยี่สิบ บังเอิญโชคดีได้กลับภูมิลำเนา อาจจะเจอพวกรุ่นหลาน เหลน ลื่อ บรรดาญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ พี่น้องกลับบ้านเก่าเรียบวุธ ไม่มีใครรู้จักเขาสักคน
มันเป็นอาถรรพณ์ ศักดิ์สิทธิ์ ประเสริฐยิ่ง แต่สยองจนขนหัวลุก
“เจ้าอายุเท่าไร”
เคียะง่วนทำท่าอายเหนียม อิดๆ เอื้อนๆ บ่ายเบี่ยง
“ไม่อยากบอก เดี๋ยวเจ้าไม่คบข้า”
“คบสิ เจ้าเป็นมิตรรายที่สองของเราในหิมพาลัยนคร รองจากแม่เฒ่าจันจู”
“เจ็ดสิบสี่”
“เหวอ!”
พิชญ์พลั้งปากหวอ เหลียวมองคนที่เดินเคียง ตาไม่กะพริบ เท่าหนุ่มน้อยชาวไทยวัยสิบเจ็ด ทั้งที่อายุจริงควรจะเป็นปู่
“ตามปกติ ชาวหิมพาลัยอายุเท่าไร ถึงจะแก่หง่อมเสียชีวิต”
“สี่ร้อยขึ้น จะดูแก่กว่าแม่ทวดจันจูนิดๆ”
“อายุแม่เฒ่าจันจูล่ะ”
“ประมาณสามร้อยยี่สิบ” เคียะง่วนดักคอ “ข้ารู้นะ เจ้ากำลังจะถามอายุพี่หญิงอุมาวสี ไม่ตอบ เจ้าต้องไปถามกับเจ้าตัวเอง”
จบเห่ เกี่ยวกับอุมาวสี อยากรู้มากที่สุด พิชญ์เปลี่ยนเรื่องสนทนา
“วางรองเท้าแตะไว้นอกห้องน้ำแร่ ไม่ยักถูกขโมย หรือแกล้งสับเปลี่ยน”
“ชาวหิมพาลัยจะไม่ทำยังงั้นเด็ดขาด สมมุติว่าใครเผอเรอสวมผิดคู่ก็จะเอามาคืน”
ชายหนุ่มหวนระลึกถึงอดีต เมื่อเร็วๆ นี้เขาติดตามครอบครัว ไปไหว้หลวงพ่อโสธรที่ฉะเชิงเทรา
ไหว้เสร็จ ออกจากวิหาร ปรากฏว่ารองเท้าแตะแบรนด์เนมราคาแพงลิบ ถูกมือดีขโมย เอารองเท้าคู่เก่ามาวางไว้แทนตำแหน่ง
ไม่กล้าด่าหน้าวิหารศักดิ์สิทธิ์ กลัวจะไม่เป็นสิริมงคล
โอ…โน่นอะไรกันเล่า
พญาเสือโคร่งโผล่จากพุ่มพฤกษ์ เดินวาดหางตรงมาหาเคียะง่วน พิชญ์สยองตัวลีบ บังเบื้องหลังเพื่อน