มายาแอซเต็ก บทที่ 3 : สงครามดอกไม้

มายาแอซเต็ก บทที่ 3 : สงครามดอกไม้

โดย :

Loading

หลังจากพาผู้อ่านได้ท่องไปในดินแดนลึกลับและเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ กับ ‘มนอินคา’ ในนิตยสารพลอยแกมเพชรมาแล้ว ครั้งนี้ ‘จิตราภรณ์’ จะพาผู้อ่านชาวอ่านเอาร่วมเดินทางย้อนเวลาไปในดินแดนของอารยธรรมแอซเต็กใน “มายาแอซเต็ก” กับนิยายออนไลน์ที่เล่าเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ของนักเขียนผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนละตินอเมริกามายาวนาน

***********************

แอร์นัน คอร์เต็สนำกำลังราวหกร้อยคน  และพันธมิตรจากรัฐทลัสคาลาและรัฐเท็กสโคโค  เดินทางเข้าสู่เมืองอิสตาปาลาปา  เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงเธโนธิทลันนครหลวงของฝ่ายแอซเต็ก  ซึ่งอยู่อีกไม่ไกลนัก  พวกเขาไม่มีวันถอยได้อีกแล้ว  นับตั้งแต่เดินทางขึ้นบก  ในวันที่  22  เมษายน  ค.ศ. 1519  นอกจากจะตั้งเมืองเวรา ครูซขึ้นที่ชายฝั่งทะเลแล้ว  แอร์นัน คอร์เต็สยังสั่งให้จัดการทำลายเรือที่พวกตนใช้เดินทางมาสี่ลำ  เหลือเพียงลำเดียวสำหรับใช้เดินทางกลับสเปน  เพื่อนำสมบัติอันพึงจะได้ไปถวายพระนางอิซาเบญา  พระมหากษัตริย์คาทอลิกแห่งสเปน

การตัดสินใจอันแน่วแน่ของแอร์นัน คอร์เต็สในอันที่จะเดินหน้าต่อไปช่วยหนุนความกล้าของพวกนักรบในกลุ่มไปในตัว  พวกเขาจะมีโอกาสเห็นมหาปิรามิด  ปราสาทราชวัง  และความงดงามอื่นๆ  ซึ่งเคยได้ยินได้ฟังมาเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของนครอันยิ่งใหญ่แห่งนี้

ครั้นวันที่  8  พฤศจิกายน  ค.ศ. 1519  สเปนก็เดินทัพมาถึงกรุงเธโนธิทลัน  พวกเขาเดินทางเข้ามาทางตอนใต้  ข้ามสะพานทางทิศใต้ที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นดินกับเกาะกลางน้ำซึ่งมหานครแห่งนี้ตั้งอยู่  เข้ามาถึงบริเวณโฮโลโค  [ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของถนนซัน อันโตนิโอ อาบัด]  ในที่สุด  พวกนักรบสเปนก็มาถึงจุดหมายปลายทาง!

ขบวนของกษัตริย์ม็อคเตซูมา

ข่าวการเดินทัพของสเปนครั้งนี้เข้ามาถึงพระกรรณของกษัตริย์ม็อคเตซูมาในเวลาอันรวดเร็ว  พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปพบแอร์นัน คอร์เต็ส  และจะทรงต้อนรับพวกเขาอย่างสันติ  ด้วยทรงหวังว่าพวกสเปนจะถอยกลับไปอย่างสันติเช่นเดียวกัน  โดยมิได้ทรงล่วงรู้ว่าจุดมุ่งหมายของฝ่ายสเปนมีมากกว่านั้น  และจะนำความล่มสลายมาสู่อาณาจักรของพระองค์

ในวันนั้น  กษัตริย์ม็อคเตซูมาทรงฉลองพระองค์อย่างเต็มยศ  บรรดาเจ้าชาย  เสนาบดี  และข้าราชบริพารอื่นๆ ก็เช่นกัน  พระองค์เสด็จออกมาต้อนรับกองทัพสเปนประหนึ่งเทพเจ้า  ด้วยทรงเชื่อแล้วว่าพวกผิวขาวคือ  เคว็ตซัลโคอัลท์  เทพเจ้าแห่งสันติ  กับเทพเจ้าองค์อื่นๆ  ที่เสด็จกลับมายังราชอาณาจักรของพระองค์ดังที่ทรงเคยสัญญาเอาไว้ในบรรพกาล

พร้อมกันนี้  พระองค์ยังทรงมีพระบัญชาให้นำถาดจำนวนมากมายออกมาประดับด้วยมวลบุปผาชาติที่งดงามที่สุด  มีกลิ่นหอมออกไปรอบด้าน  บางถาดจัดเป็นรูปหัวใจดอกไม้อยู่กลางถาด  อีกหลายถาดมีพวงมาลัยดอกไม้  ใส่เครื่องประดับอันล้ำค่า  เช่น เครื่องประดับพระอุระ  สร้อยสังวาลทองคำประกอบด้วยรัตนชาติอันงดงามประดับอยู่  ทุกสิ่งทุกอย่างบนถาดเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีไว้ถวายแด่เทพเจ้าทั้งสิ้น

กษัตริย์ม็อคเตซูมาได้เสด็จมาพบ แอร์นัน คอร์เต็ส บนเส้นทางเดียวกับที่นำกลุ่มทหารสเปนเข้ามายังกรุงเธโนธิทลัน  นับว่าเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ยุคโบราณมาพบผู้คนจากยุโรปซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา  กษัตริย์ม็อคเตซูมาประทานของกำนัลแก่คอร์เต็สและทหารสเปนคนอื่นๆ  แล้วทรงสวมพวงมาลัยดอกไม้และเครื่องประดับให้แก่ผู้นำสเปน

เมื่อเจรจากันอย่างสั้นๆ  โดยผ่านล่ามที่คอร์เต็สนำมาจากคาบสมุทรยูกาตันแล้ว  กษัตริย์ม็อคเตซูมาจึงได้ตรัสกับคอร์เต็สประหนึ่ง  “เทพเจ้า”  ว่า

“พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายจากการเดินทางมามากแล้ว  การเดินทางทำให้พระองค์เหนื่อยล้า….  บัดนี้ พระองค์ได้เสด็จมายังโลกมนุษย์แล้ว  และมาถึงมหานครอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์  ขอได้โปรดเสด็จมาประทับบนราชบัลลังก์อันสูงส่งนี้ด้วยเถิดพระยะค่ะ

บรรดากษัตราธิราชทั้งหลายนับตั้งแต่บรรพกาลเป็นต้นมา  ต่างก็ทำหน้าที่เก็บรักษาราชบัลลังก์เอาไว้

กระหม่อมมิได้มองเห็นพระองค์ในความฝันต่อไปอีกแล้ว  แต่มองเห็นองค์จริงในที่สุด!  มองเห็นพระพักตร์อันแท้จริงของพระองค์!  กระหม่อมตกอยู่ในความคลุมเครือมาช้านาน….  บัดนี้  พระองค์ได้เสด็จออกมาจากเมฆหมอก  ลงมาสู่ราชบัลลังก์ของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง!

พระองค์ได้เสด็จกลับจากสวรรค์เบื้องบนมาหาปวงประชา   ขอได้โปรดพักผ่อนพระอิริยาบถก่อนเถิด  โปรดรับเอาอาณาจักรของพระองค์กลับคืนไป  ขอถวายการต้อนรับพระยะค่ะ!”

แอร์นัน คอร์เต็สกล่าวกับล่ามว่า :

“จงบอกแก่กษัตริย์ม็อคเตซูมาว่า  เรามาอย่างมิตร  อย่าได้เกรงกลัวเราเลย”

 

แม้ฝ่ายสเปนจะมีจำนวนประมาณหกร้อยคนเท่านั้น  แต่ก็ตรวจตราทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าอย่างพินิจพิจารณา  มิให้สิ่งใดคลาดไปจากสายตาแม้แต่ชิ้นเดียว  ดวงตาของแต่ละคนเต้นระริกเป็นประกายวาววับเมื่อได้เห็นสิ่งของอันมีค่า  นี่คือสิ่งที่พวกเขาปรารถนา  หลังจากเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นเวลานาน  อย่างไรก็ดีจำนวนทหารเพียงน้อยนิดมิอาจสู้กับฝ่ายแอซเต็กและรัฐพันธมิตรได้เลย  แอร์นัน คอร์เต็สเฝ้าตรึกตรองอยู่ว่าควรจะทำประการใด  การที่ฝ่ายแอซเต็กหลงคิดว่า  ตนเองกับผู้ติดตามคือ  “เทพเจ้า”  ก็เท่ากับได้เปรียบไปเปลาะหนึ่งแล้ว  ดังนั้นการเดินทัพเข้ากรุงเธโนธิทลันในฐานะ  “เทพเจ้า”  จึงไม่ประสบกับอุปสรรค์ใดๆ  เขาเกิดความคิดอันแยบยลขึ้นมาทันที

เมื่อกองทัพสเปนเดินทางมาถึงพระราชวังของกษัตริย์ม็อคเตซูมา  ซึ่งตั้งอยู่กลางกรุงเธโนธิทลัน   แอร์นัน คอร์เต็สก็สั่งผู้ติดตามให้จับตัวกษัตริย์เป็นเชลยทันที  บรรดาคณะผู้ตามเสด็จต่างก็ตื่นตระหนก  ละล้าละลังมิรู้ว่าควรจะทำประการใด  จึงพากันหนี  ละทิ้งกษัตริย์ของตนเอาไว้แต่เพียงลำพัง

ฝ่ายสเปนได้โอกาสแสดงแสนยานุภาพของตนเอง  เพราะรู้ดีว่ามีจำนวนน้อยกว่าหลายเท่า  พลังของเสียงปืนที่ยิงขึ้นเพียงนัดเดียวก็ได้สร้างความโกลาหลตื่นตระหนกให้แก่ปวงประชา  ซึ่งวิ่งหนีกันอย่างอลหม่านด้วยคิดว่าท้องฟ้ากำลังจะถล่มทลาย  สวรรค์กำลังจะลงทัณฑ์

วันรุ่งขึ้น  แอร์นัน คอร์เต็สก็ทูลกษัตริย์ม็อคเตซูมาซึ่งแม้จะทรงถูกจองจำอยู่  ถึงสิ่งที่ทางฝ่ายสเปนต้องการ  เป็นต้นว่า  อาหาร  ภาชนะต่างๆ  พระองค์ก็ยังทรงมีอำนาจจัดการได้ตามพระประสงค์  แต่…สเปนก็ยังแสดงความละโมบของตนให้ปรากฏ  พวกเขาเฝ้าถามกษัตริย์ม็อคเตซูมาถึงทรัพย์สมบัติที่มีอยู่  แม้จะถูกข่มขู่ด้วยอาวุธ  พระองค์ก็ยังไม่ยอมบอกถึงสถานที่ซ่อนสมบัติแอซเต็ก  ความคลางแคลงใจใน  “เทพเจ้า”  ค่อยๆ ผุดขึ้นมาทีละน้อย  และทรงบ่ายเบี่ยงเรื่องที่ซ่อนสมบัติ

แต่ในที่สุดเมื่อทรงถูก  เปโดร เด อัลวาราโด  ซึ่งเป็นผู้ช่วยของแอร์นัน คอร์เต็สบีบบังคับด้วยการทารุณพระวรกายจนแน่นิ่งไป  ห้องเก็บสมบัติจึงถูกเปิดเผยในที่สุด

เมื่อได้สมบัติมาแล้ว  ทหารสเปนก็นำมาหลอมเป็นก้อนๆ เพื่อแบ่งสรรกันได้สะดวกขึ้น  พวกเขาเป็นทาสของความละโมภโดยแท้  บรรดาคนแอซเต็กต่างก็งุงงงกับสิ่งที่เห็น  และพากันหลีกลี้ไปไม่กล้ามาเข้าใกล้  ความกลัว  “เทพเจ้า”  ทำให้ความนึกคิดของพวกเขามืดมิดราวกับรัตติกาลอันดำสนิท  ดวงตาหวาดหวั่นด้วยความกลัว  ด้วยคิดว่าพวกสเปนคือ  “เทพเจ้า”  ที่กำลังจะลงโทษพวกเขาที่ได้กระทำผิดมาช้านานแล้ว

ยิ่งนานวันเข้า  ความละโมบของพวกสเปนก็ยิ่งเด่นชัดจนทำให้พวกเขากังขา  ในความเป็น “เทพเจ้า” ของคนแปลกหน้าเหล่านี้   ยิ่งเมื่อเห็นการกินการอยู่เยี่ยงปุถุชนโดยทั่วไป  ก็ยิ่งไม่แน่ใจมากขึ้น   นอกจานี้ อาวุธที่ส่งเสียงกัมปนาทก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด  เพราะถ้าหากหลบหลีกได้ทันก็ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างไร  พวกนี้คงมิใช่  “เทพเจ้า”  ดังที่เคยเชื่อกัน  แต่เป็นคนแปลกหน้าที่มุ่งแสวงหาประโยชน์และเต็มไปด้วยความละโมบเท่านั้น  เมื่อฝ่ายสเปนแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาให้เห็น  ไม่ว่าจะเป็นการฉกฉวยทรัพย์สมบัติหรือของมีค่าอื่นๆ  การทะเลาะเบาะแว้งกันเพื่อแย่งสมบัติ  ความตะกละตะกราม  การข่มเหงชาวเมือง  กับความประพฤติอันเลวร้ายอื่นๆ ของสเปน  ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยของมนุษย์มากกว่า  “เทพเจ้า”

อนึ่ง  ความเหี้ยมโหดของสเปนมีผลกระทบต่อชีวิตของชาวเมืองจนสถานการณ์ระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง  พวกเขาถูกฝ่ายสเปนลากออกมาทำร้าย  ขู่เข็นบีบบังคับให้นำสมบัติ  อาหาร  และสิ่งอื่นๆ มาให้  ความมีชีวิตชีวาของกรุงเธโนธิทลันค่อยๆ ถดถอยจนถึงจุดที่ชาวเมืองไม่อาจทนได้อีกต่อไป  ถนนหนทางที่เคยคลาคล่ำไปด้วยผู้คนดูอ้างว้างว่างเปล่า  ผู้ใดหลบหนีไปได้ก็รอดตัวไป  บ้างก็ซ่อนตัวอยู่ในบ้านเรือนของตน  แต่ก็ยังไม่พ้นภัยเพราะนักรบสเปนก็จะบุกเข้าไปในบ้านหลังใดก็ได้ตามที่ตนต้องการ

“เทพเจ้าแห่งสันติ”  ไฉนจึงโหดร้ายเช่นนี้หนอ

บรรดาผู้พลีชีพเพื่อบูชายัญที่ยังติดอยู่ในกรุงเธโนธิทลันต่างก็ตกอยู่ในครรลองของความระส่ำระสายนี้ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ทั้งๆ ที่ตนเองมาจากรัฐอื่นๆ  แต่ก็ไม่รอดพ้นจากความเดือดร้อนที่ค่อยๆ ระอุขึ้นทีละน้อย

เอเฮคัลต์ กับบิดา  และพวกพ้องที่ติดตามมาจากอัสคาโปตซัลโค  มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่นักรบสเปนยาตราทัพเข้ามายังกรุงเธโนธิทลัน  แต่ก็ยังมิได้ตัดสินใจว่าควรจะทำประการใด  อำนาจของแอซเต็กถูกลิดรอนลงอย่างเห็นได้ชัด  แล้วจะให้พวกเขาคงคำสัญญาของ  “สงครามดอกไม้”  ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาอีกหรือ?  แม้จะถามตนเองอยู่ในใจ  แต่สัญญาที่มีให้ไว้ต่อกันก็ยังไม่หักสะบั้นลงด้วยเกียรติยศที่เคยมีต่อกันมาแต่ครั้งอดีต  พวกเขาจึงสงวนท่าทีเอาไว้  และเฝ้ามองดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนกว่าจะตัดสินใจเป็นอย่างอื่นเพื่อรักษาชีวิตให้รอดพ้นจากน้ำมือของนักรบสเปน

ประจวบเหมาะกับเวลาเดียวกันนั้น  เทศกาลเฉลิมฉลองเทพเจ้าแห่งสงครามได้มาถึงพอดี   บรรดาพระภายในเมืองจำต้องขออนุมัติจากฝ่ายสเปนก่อนที่จะจัดพิธีเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่  ซึ่งถือกันว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดในบรรดางานฉลองเทพเจ้าทั้งปวงของอาณาจักรแอซเต็ก  เมื่อได้รับอนุมัติจากคอร์เต็สแล้ว  การจัดเตรียมก็เริ่มขึ้นหลายวันก่อนวันงานจริงๆ

ในช่วงเวลานั้น แอร์นัน คอร์เต็ส  มีความจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังเมืองท่าเวรา ครูซ  กับผู้ติดตามอีกกลุ่มหนึ่ง  เพื่อรับขบวนเรือสเปนอีกจำนวนหนึ่งที่มาจากเกาะคิวบา  เขาจึงให้  เปโดร เด อัลวาราโด  ผู้ช่วยคนสำคัญทำหน้าที่คุมกำลังที่เหลืออยู่ในกรุงเธโนธิทลัน   อัลวาราโดได้ชื่อว่าเป็นหนุ่มรูปงามแต่มีจิตใจเหี้ยมโหด  และเป็นที่หวาดกลัวของชาวเมืองโดยทั่วๆ ไป  ความเหี้ยมโหดของเขาถึงกับถูกจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

ฝ่ายสเปนซึ่งใช้พระราชวังของกษัตริย์ม็อคเตซูมาเป็นที่พำนักพากันออกมาดูการเตรียมงานฉลอง  แต่พวกเขากลับแต่งตัวราวกับจะออกศึก  สวมใส่เสื้อเกราะและถืออาวุธอย่างครบครัน  พวกเขาเดินพินิจพิจารณารายละเอียดด้วยสีหน้าเคร่งเครียด  แล้วก็กลับพระราชวังไป

เครื่องแต่งกาย

ในเวลาเย็นก่อนวันงาน  ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ประกอบพิธีได้เตรียมตัวมาช่วยงานฉลอง  พวกเขาชำระร่างกายและอดอาหารก่อนหน้านั้นแล้วเพื่อรับหน้าที่ทำพิธีบดเมล็ดชิคาโลเตซึ่งเป็นสมุนไพรประเภทหนึ่ง  เมื่อบดเสร็จแล้วก็นำไปปั้นเป็นเทวรูปของเทพเจ้าแห่งสงคราม  ตามแบบองค์จริงซึ่งทำด้วยเงิน ทางฝ่ายแอซเต็กอัญเชิญเทวรูปองค์จริงไปซ่อนไว้ในอุโมงค์ลับใต้ฐานเทวรูปที่มหาปิรามิด  เพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือสเปน

เมื่อใช้เมล็ดชิคาโลเตที่บดแล้วมาปั้นเป็นรูปร่างแบบมนุษย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็นำมาตกแต่งด้วยขนนกหลากสีงามตา  แล้วจึงใช้สีวาดเป็นรูปกาบาทเหนือและใต้วงเนตรของเทพเจ้า  ส่วนพระกรรณประดับด้วยตุ้มหูทำจากหินเทอร์ควอซเป็นรูปงูติดเอาไว้  และห้อยด้วยวงแหวนทองคำ  นาสิกของพระองค์เสียบด้วยแท่งทองคำประดับรัตนชาติมีลักษณะคล้ายธนู  พระเศียรประดับมงกุฎทำจากขนนกที่หายากยิ่ง  รอบพระศอมีเครื่องประดับทำจากขนนกแก้วสีเหลืองทอง  พระวรกายมีเข็มขัดทำจากขนนกคาดอยู่บนเสื้อคลุมสีดำ  ตกแต่งด้วยขนนกอินทรีย์เป็นแห่งๆ แล้วจึงคลุมพระวรกายด้วยเสื้อคลุมหลวมๆ  มีลวดลายกะโหลกศีรษะและกระดูกเป็นชิ้นๆ  เข็มขัดที่ใช้รัดมีลวดลายเป็นรูปอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ เช่น  กะโหลกศีรษะ  หู  หัวใจ  แขน  ขา  เป็นต้น ส่วนท่อนล่างของพระวรกาย คือ ผ้าเตี่ยวมีลวดลายเป็นทางยาวสีฟ้าสด  ชายขอบขลิบด้วยกระดาษซึ่งทำจากเปลือกไม้หลายชนิด

บ่าทั้งสองข้างประดับด้วยธงสีแดง  ตรงพระเศียรมีกระดาษสีแดงรูปดาบดูคล้ายๆ หยาดโลหิต  นอกจากนี้ยังมีเกราะทำจากไม้ไผ่  ประดับด้วยขนนกอินทรีย์เป็นหย่อมๆ  ตรงกลางเกราะเป็นสีแดงเหมือนโลหิตเช่นกัน  ข้อพระกรรัดด้วยหนังมีชายครุยทำจากกระดาษ

เมื่อถึงวันเฉลิมฉลอง  ผู้ที่ได้รับเลือกสรรให้เข้ามาร่วมพิธีพากันเดินเรียงเดี่ยวมาอยู่เฉพาะพระพักตร์ของรูปปั้นเทพเจ้าแห่งสงคราม  เพื่อถวายอาหารหรือแม้แต่เนื้อมนุษย์  บรรดาชายหนุ่มที่ได้รับเลือกสรรเหล่านี้ต่างก็กระตือรือร้นที่จะเริ่มงาน  เสียงดนตรีดังกระหึ่มเร้าใจให้พวกเขาเริงระบำไปตามจังหวะดนตรี  พวกเขาขับขานลำนำเพลงถวายเทพเจ้าอย่างเต็มความสามารถ  และเฝ้าหวังว่าพวกสเปนจะรู้สึกอัศจรรย์ใจกับความงดงามของพิธีกรรมครั้งนี้

ผู้ที่เข้ามาร่วมงานพากันเดินเรียงแถวเข้าไปในบริเวณมหาปิรามิดเป็นขบวน  เพื่อเริงระบำที่มีชื่อว่า  “ระบำนาคราช”  ตามจังหวะของดนตรีที่เร้าใจ  การขับขานลำนำเพลงทำไปพร้อมๆ กับระบำนาคราช  เสียงผู้ร่วมงานดังก้องไปไกล  ยิ่งเวลาผ่านไปอารมณ์ของผู้ร่วมงานก็ยิ่งฮึกเหิมสนุกสนาน  ปูลเก เครื่องดื่มมึนเมา ที่ส่งต่อๆ กันไปในงานก็ยิ่งทำให้การเริงระบำเร้าใจมากขึ้นไปอีก

บรรยากาศเช่นนี้ในเวลาปกติก็มิใช่เป็นเรื่องผิดปกติใดๆ  เพราะเมื่องานเฉลิมฉลองสิ้นสุดลง  ทุกคนต่างๆก็แยกย้ายกันกลับไปยังเคหะของตนเอง

แต่…มิใช่ครั้งนี้

ในขณะที่ผู้คนกำลังเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานอยู่นั้น  เปโดร เด อัลวาราโดกับทหารสเปนได้ปิดประตูทางเข้ามหาปิรามิดทุกทางโดยไม่มีสาเหตุ  แล้วก็เริ่มสังหารผู้คนอย่างเหี้ยมโหดด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่า  พวกเขาวิ่งฝ่าเข้าไปในฝูงชนที่กำลังเริงระบำอยู่  มุ่งตรงไปยังคนที่กำลังตีกลอง  แล้วใช้ดาบฟันแขนของชายผู้นั้นจนขาดออกมาจากร่าง  หลังจากนั้นจึงตัดศีรษะจนกระเด็นไปกลิ้งอยู่บนพื้น  ฝ่ายทหารสเปนเข้าเข่นฆ่าฟาดฟันผู้ที่มาร่วมงาน  พวกเขาตัดศีรษะ  ฟันกะโหลกศีรษะจนแบะออก  ร่างกายส่วนใดต้องอาวุธก็หมายถึงส่วนนั้นขาดออกจากกัน

ผู้คนเริ่มตื่นตกใจกับเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน  ไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น  พวกเขาเริ่มวิ่งหนีแต่ไม่ว่าพวกเขาจะหนีไปทางใดก็ไม่อาจพ้นเงื้อมมือสเปนไปได้  โลหิตของผู้คนที่ล้มตายหลั่งไหลราวกับสายน้ำ  กลิ่นโลหิตและซากศพคละคลุ้งไปในอากาศ  พวกสเปนวิ่งไล่ตามผู้คนที่พากันหนี  บ้านหลังใดที่ตั้งอยู่บนทางผ่าน  พวกสเปนก็เข้าไปลากผู้คนออกมาสังหารอย่างทารุณ  การเข่นฆ่าดำเนินไปกว่าสามชั่วโมง  ในขณะที่พวกชาวเมืองไม่อาจสู้รบได้เพราะปราศจากอาวุธ

เมื่อข่าวของการฆ่าหมู่กระจายออกไป  ผู้คนก็พากันกู่ร้องเพื่อกระตุ้นความกล้าหาญของคนแอซเต็ก

“พวกเราทั้งหลาย  เร็วๆ เถิด! นำแหลนหลาวและเกราะของตนมาด้วย!  คนแปลกหน้ากำลังฆ่าฟันคนของเรา!”

การสังหารหมู่

เสียงปลุกระดมได้รับการตอบสนองด้วยความโกรธและความเศร้าที่ต้องสูญเสียผู้คนของตน  ซึ่งมีทั้งญาติมิตรรวมอยู่ด้วย  เสียงตะโกนต่อๆ กันดังไปจนทั่วนคร  แต่ละคนนำอาวุธหรือเครื่องมือที่หาได้วิ่งกันออกมา

การสู้รบก็เริ่มขึ้น  พวกแอซเต็กเข้าโจมตีด้วยแหลนหลาวที่ทำจากไม้  และใช้ธนูยิงซึ่งโดยปกติใช้สำหรับล่านก  พวกเขาเหวี่ยงแหลนหลาวไปสุดแรงเพื่อตอบโต้ฝ่ายสเปน  จำนวนผู้คนที่ทวีมากขึ้นมีผลให้อัลวาราโดกับพรรคพวกพากันล่าถอยและหลบเข้าไปในพระราชวัง  แล้วเริ่มใช้ปืนกับธนูเหล็กยิงออกไป  ส่วนกษัตริย์ม็อคเตซูมาถูกล่ามโซ่และถูกลากออกมายืนบนดาดฟ้าเพื่อให้ชาวเมืองวางอาวุธ  แต่ก็ไร้ผล  แม้จะมีอาวุธที่ด้อยกว่าอาวุธของฝ่ายสเปนแต่พวกเขากลับกรูเข้าสู้รบอย่างกล้าหาญไม่กลัวตาย

เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในมหาปิรามิดสร้างความเศร้าโศกและโกรธแค้นให้แก่บิดามารดาและญาติมิตรเป็นอย่างยิ่ง  พวกเขาเข้าล้อมพระราชวังที่ถูกสเปนยึดไปเป็นที่พักอาศัย  เพื่อเฝ้าดูท่าทีของสเปน  และปฏิเสธที่จะส่งอาหารเข้าไปให้  เพื่อบีบให้พวกสเปนอดอาหาร  หลังจากนั้นพวกเขาก็ยกสะพานสามแห่งที่เชื่อมกรุงเธโนธิทลันซึ่งเป็นเกาะกับแผ่นดินใหญ่ออกจากกัน  เพื่อมิให้สเปนมีโอกาสหลบหนี

ทางฝ่ายสเปนนั้น  ในความพยายามที่จะตอบโต้วงล้อมของชาวเมือง  ประจวบกับแอร์นัน คอร์เต็สเดินทางกลับมา  เขากับพวกที่ติดตามมาตีฝ่าวงล้อมเข้าไปจนถึงพระราชวัง  และเมื่อไปถึงก็รู้สึกถึงความเคร่งเครียดในกรุงเธโนธิทลัน  และต้องการตอบโต้โดยสั่งสำเร็จโทษกษัตริย์ม็อคเตซูมา  และลากพระศพของพระองค์มาโยนทิ้งไว้ที่ริมน้ำ  ด้วยคิดว่าเมื่อปราศจากกษัตริย์แล้ว  ชาวเมืองจะเสียขวัญ ระส่ำระสาย จะยอมวางอาวุธ

แต่….เหตุการณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่

การสู้รบดำเนินต่อไปจนกระทั่งทางฝ่ายสเปนต้องตัดสินใจทิ้งกรุงเธโนธิทลันเพื่อรักษาชีวิตของตนเอาไว้   ในคืนหนึ่ง พวกเขาใช้ความมืดกำบังกายและค่อยๆ เดินเลียบกำแพงวังออกไปจนถึงสะพานข้ามทะเลสาบ  แต่ก็ถูกฝ่ายแอซเต็กโจมตีทั้งทางบกและทางน้ำ  พวกเขาไล่ฝ่ายสเปนที่กำลังพยายามหนี  สมบัติที่ฝ่ายสเปนแบ่งสรรกันทำให้การหลบหนีล่าช้าขึ้นไปอีก  อีกทั้งสะพานที่ชาวเมืองยกขึ้นกลายเป็นอุปสรรคในการหนี  ฝ่ายทหารม้าสเปนพยายามกระโจนข้ามไป  แต่น้ำหนักของสมบัติที่เอาติดตัวมาทำให้พวกเขาจมลงไปในน้ำตายทับถมกัน  ผู้ที่ติดตามมาก็ใช้ซากศพของฝ่ายตนเหยียบข้ามไป  สะพานที่ทำจากซากศพทหารและซากม้าจึงช่วยให้ทหารสเปนข้ามหนีไปได้จำนวนหนึ่ง

ราตรีนั้นคือ  “ราตรีวิปโยค”  (La Noche Triste)  ที่ฝ่ายสเปนไม่ลืมเลือน

พวกแอซเต็ก คิดกันว่าฝ่ายสเปนคงจะไม่กลับมาอีก  จึงจัดการเฉลิมฉลองชัยชนะของตน  พระอนุชากัวเตม็อค  ของอดีตกษัตริย์ม็อคเตซูมาทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐา  ความสงบดำเนินไปได้ไม่นานนัก  โรคระบาด [ฝีดาษ]  ก็เกิดขึ้นในกรุงเธโนธิทลัน  คนแอซเต็กไม่มีภูมิต้านทานโรคที่สเปนนำเข้ามาจึงติดเชื้อได้ง่าย  และลุกลามระบาดไปอย่างรวดเร็ว  ผู้คนในเมืองเล่ากันว่า :

“โรคระบาดเกิดขึ้นทุกหนแห่งในนครหลวง  ผู้คนล้มตายไปมากมาย  ใบหน้า  ทรวงอก  ท้อง  และร่างกายของพวกเรามีตุ่มหนองเต็มไปหมด

พวกเราเจ็บปวดกันแสนสาหัสตั้งแต่หัวจดเท้า  โรคนี้น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก  เพราะไม่มีผู้ใดเดินหรือเคลื่อนไหวได้  ต้องนอนซมอยู่ราวกับซากศพ  ผู้คนล้มตายด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก  บ้างก็ตายเพราะอดอาหาร  เนื่องจากไม่อาจลุกขึ้นไปหาอาหารได้  ผู้อื่นก็ล้มป่วยด้วยโรคเดียวกัน  ผู้ที่มีโอกาสรอดชีวิตมาได้ก็มีแผลเป็นตุ่มไปทั่วร่าง  บ้างก็ตาบอด…”

ม็อคเตซูมาพบกับคอร์เต๊ส

ทางฝ่ายสเปนล่าถอยไปอยู่ที่รัฐทลัสคาลา  เพื่อพักฟื้นจากการรบ  หลังจากนั้นอีกหลายเดือน  พวกเขาก็กลับมากรุงเธโนธิทลันอีก  และตั้งศูนย์บัญชาการที่เมืองทลาโคปัน  แล้วจึงจัดการแบ่งทัพออกเป็นทางบกและทางน้ำ  เรือลำเล็กของพวกพันธมิตรที่นำมาใช้มีปืนใหญ่วางอยู่ด้านหน้า  เมื่อคลี่ใบเรือออกกองทัพก็พร้อมรบ

ทางฝ่ายแอซเต็กนั้นเรียนรู้วิธีหลบหลีกเส้นทางปืน  โดยวิ่งสลับซ้ายสลับขวา  ไม่วิ่งตรงเส้นทางปืน  หากวิ่งไม่ทันก็ล้มตัวลงนอนราบกับพื้นเพื่อให้กระสุนพุ่งข้ามตัวไป  หรือมิฉะนั้นก็หลบอยู่หลังกำแพงเพื่อหลีกเส้นทางปืน

อาวุธกับการวางแผนรบที่เป็นระบบของสเปนทำให้ฝ่ายสเปนรุกคืบได้ทีละน้อย  จนกระทั่งมีชัยชนะเหนือพวกแอซเต็กได้  แม้ว่าฝ่ายหลังจะยอมพลีชีพต่อสู้ฝ่ายรุกรานก็ตาม  ในวินาทีสุดท้ายก่อนปราชัย  กษัตริย์กัวเตม็อคทรงเปล่งพระสุรเสียงดังกึกก้องว่า :

“ปวงประชาทั้งหลาย  เรายังไม่สูญสิ้น!  เรายังสามารถปกป้องเคหะของเรา  อาหารของเรา  ทรัพย์สมบัติของเราได้หากเราพยายามต่อสู้

อย่าได้ท้อถอยเลย!  เราคือแอซเต็ก!  เราต้องยืนหยัดอยู่ให้ได้!”

อาจกล่าวได้ว่า  กษัตริย์กัวเตม็อคเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้ผู้คนรักแผ่นดินเกิด  ลุกขึ้นต่อต้านศัตรูผู้รุกราน  แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้  และตัดสินพระทัยทิ้งกรุงเธโนธิทลัน  แต่พระองค์ก็หนีไปไม่รอด  และถูกนำกลับมามัดติดต้นไม้เอาไว้  อัลวาราโดใช้ไฟเผาพระบาทจนสิ้นพระชนม์อย่างช้าๆ  อาณาจักรแอซเต็กก็ถึงกาลล่มสลาย  เมื่อสเปนยึดกรุงเธโนธิทลันได้ในวันที่  13  สิงหาคม  ค.ศ. 1521

 

Elegy  for  Tenochtitlan (1) 

Broken  spears  lie  in  the roads;

We  have  torn  our  hair  in  our  grief.

The  houses  are  roofless  now,  and  their

Walls  are  red  with  blood.

Worms  are  swarming  in  the  streets  and  plazas,

And  the  walls  are  splattered  with  gore.

The  water  has  turned  red,  as  if  it  were  dyed,

And  when  we  drink  it,

It  has  the  taste  of  brine.

 – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

We  have  chewed  dry  twigs  and  salt  grasses;

We  have  filled  our mouths  with  dust  and  bits  of  adobe,

We  have  eaten  lizards,  rats  and  worms.

 – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

Weep,   my  people.

Know  that  with  these  disasters

We  have  lost  the  Mexican  nation

The  water  has  turned  bitter,

Our  food  is  bitter.

 

อาลัยรักนคราเธโนธิทลัน

แหลนหลาวหักระเนระนาดเกลื่อนกลาดพื้น

น้ำตารื้นทึ้งเผ้าผมอย่างโศกสลด

เคหะพังหลังคาหายดูอัปยศ

กำแพงแดงสดด้วยโลหิตฉาน

หนอนไต่ยั้วเยี้ยเต็มเส้นทางกับลานกว้าง

กำแพงขวางโลหิตกระเซ็นกระสาน

น้ำเปลี่ยนเป็นสีแดงราวกับย้อมก็ไม่ปาน

ไม่หาญกล้าดื่มเข้าไปเพราะเค็มเข้มดั่งเกลือ

 – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

ความลำบากทำให้เราเคี้ยวกิ่งไม้และใบหญ้า

เอาธุลีกับอิฐมาใส่ปากยากหนักหนา

ความอดอยากบีบคั้นแทบมรณา

แม้ไม่เคยกินกิ้งก่า  หนู  และหนอนก็ต้องกิน

 – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

ขอให้เจ้าเจ็บจำร่ำไห้เถิด

ความวิบัติบังเกิดแก่….เธโนธิทลัน

เราสูญเสียอาณาจักรชั่วกัปป์กัลป์

น้ำอาหารพลันเปลี่ยนเป็นขมไป

 

เชิงอรรถ : 

(1) นักประพันธ์นิรนามชาวแอซเต็ก ค.ศ. 1521  แปลจากภาษานาฮัวท์



Don`t copy text!