ปฐมบท “มายาแอซเต็ก”
โดย :
หลังจากพาผู้อ่านได้ท่องไปในดินแดนลึกลับและเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ กับ ‘มนอินคา’ ในนิตยสารพลอยแกมเพชรมาแล้ว ครั้งนี้ ‘จิตราภรณ์’ จะพาผู้อ่านชาวอ่านเอาร่วมเดินทางย้อนเวลาไปในดินแดนของอารยธรรมแอซเต็กใน “มายาแอซเต็ก” กับนิยายออนไลน์ที่เล่าเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ของนักเขียนผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนละตินอเมริกามายาวนาน
***********************
ขอเล่าขานถึงอดีตกาลอันไกลโพ้น บนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณที่ราบสูงตอนกลางของเม็กซิโก ดินแดนแถบนี้เป็นแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่เหนือดินแดนทั้งปวงที่อยู่รายล้อม บรรพชนในอดีตสร้างอาณาจักรอันเกรียงไกรขึ้นหลายแห่ง และได้ทิ้งมรดกอันสูงส่งไว้ให้ชนรุ่นหลังรับสืบต่อมา จนไม่มีผู้ใดสามารถสร้างจินตนาการได้เลยว่ามรดกอันล้ำค่าเหล่านี้บังเกิดขึ้นได้ด้วยฝีมือของปุถุชน หรือด้วยการดลบันดาลจากฟากฟ้าเบื้องบน
ประมาณ 2,500 ปีที่ผ่านมา เกิดอาณาจักรแห่งหนึ่งที่แผ่แสนยานุภาพออกไปจนครอบคลุมบริเวณที่เป็นทวีปอเมริกากลางในปัจจุบันนี้ ในครั้งนั้นเริ่มมีการพัฒนาสังคมแบบซับซ้อน โดยมีชนชั้นนักบวชเป็นผู้นำของสังคม ดินแดนใต้หล้าทั้งหมดรวมกันเข้าเป็นจักรวรรดิเดียวภายใต้อำนาจของอาณาจักรโอลเม็กส์
อำนาจของชนเผ่าโอลเม็กส์ดำเนินมาหลายร้อยปี สั่งสมวิทยาการอันสูงส่งนานัปการ เช่นปฏิทินเก่าแก่ที่สุดของแถบนี้ซึ่งบอกเวลาได้ใกล้เคียงกับปฏิทินในปัจจุบัน อันหมายถึงความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และศิลปวิทยาการด้านอื่นๆ จึงจะเกิดปฏิทินที่แม่นยำเช่นนี้ได้
บรรดานครรัฐที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของอาณาจักรโอลเม็กส์ต่างก็รับเอาศิลปวิทยาการต่างๆ เหล่านี้มาเป็นของตน และยังได้พัฒนาให้สูงส่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งประมาณ 2,000 ปีที่ผ่านมา นครรัฐเหล่านี้ค่อยๆ ขยายอิทธิพลของตนทีละเล็กทีละน้อยจนบดบังรัศมีของอาณาจักรโอลเม็กส์ไปได้อย่างสิ้นเชิง สิ่งที่หลงเหลือให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ก็คือ โอลเม็กส์คือต้นแบบของศิลปวิทยาการที่สืบทอดกันลงมาอีกนับพันปีภายใต้การพัฒนาวิทยาการของอาณาจักรมายาในบริเวณคาบสมุทรยูกาตัน และอาณาจักรเธโอธิฮัวกันในบริเวณที่ราบสูงตอนกลางของเม็กซิโก
ในช่วงเวลาเกือบหนึ่งพันปีที่อาณาจักรอันยิ่งใหญ่สองแห่งนี้แผ่รัศมีของตนออกไปรอบด้าน พัฒนาการทางด้านอารยธรรมก้าวหน้าไปยิ่งกว่าสมัยใดๆ จนได้ชื่อว่า เป็นสมัยคลาสสิก หรือยุคทองโดยแท้จริง ศิลปวิทยาการต่างๆ เจริญถึงขีดสุด ความซับซ้อนของลักษณะการปกครองภายใต้ชนชั้นนักบวชแต่ดั้งเดิมมีขอบข่ายของอำนาจที่แผ่กว้างขึ้น
ในช่วงเวลานี้มีศูนย์กลางความเจริญเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลายแห่ง เช่น บนคาบสมุทรยูกาตันภายใต้การปกครองของอาณาจักรมายา เช่น ที่เมืองชิเชน-อิตซา, ทิคัล, โคปัน, ปาเลนเก ฯลฯ หรือในเขตที่ราบสูงตอนกลางของเม็กซิโกที่เธโอธิฮัวกัน หรือ “นครแห่งเทพ” หรือแม้แต่ที่มอนเต อัลบัน ในเขตอัวฮากา ค่อนมาทางตอนใต้ของอาณาจักรเธโอธิฮัวกัน
ดินแดนเหล่านี้เจริญถึงขีดสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 4 และที่ 5 วิทยาการทางด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ได้รับการพัฒนาขึ้นจนนำไปสู่การสร้างปิรามิด ปราสาทราชวัง หรือแม้แต่ปฏิทินมายาอันเลื่องชื่อก็ถือกำเนิดขึ้นมาในยุคนี้ทั้งสิ้น
อำนาจของอาณาจักรมายาและเธโอธิฮัวกันค่อยๆ เสื่อมสลายลงในราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 และที่ 9 จนกระทั่งหายสาบสูญไป ทิ้งไว้แต่วิทยาการด้านต่างๆ ให้แก่ชนรุ่นหลัง ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรเหล่านี้ถูกทอดทิ้ง รกร้าง ป่าทึบค่อยๆ คืบคลานเข้ามาปกคลุมดินแดนซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ จนสูญหายไปจากสายตาของมวลมนุษย์
การล่มสลายของอาณาจักรมายาและเธโอธิฮัวกันมาพร้อมกับการขยายตัวของชนเผ่าโทลเท็กส์ ซึ่งอพยพลงมาเป็นระลอกจากทางทิศเหนือ ลงมารับอารยธรรมของเธโอธิฮัวกัน
พวกโทลเท็กส์ตั้งศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครตูลา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเธโอธิฮัวกันมากนัก อาณาจักรนี้อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำทางวัฒนธรรมผู้ยิ่งใหญ่ เคว็ตซัลโคอัลท์ จนพระองค์ทรงได้รับพระนามว่า “เทพเจ้าแห่งสันติ” อาณาจักรโทลเท็กส์ภายใต้การปกครองของพระองค์ประสบสันติสุขอย่างที่ไม่มีอาณาจักรใดเทียบได้
มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับอาณาจักรของเทพเจ้าแห่งสันติอยู่มากมายว่า เป็นดินแดนแห่งความสงบอย่างแท้จริง พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ และเลื่องระบือไปไกล จนกระทั่งคำว่า “โทลเท็กส์” มีความหมายว่า “ศิลปิน”
นอกจากนี้สันติสุขยังนำไปสู่การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม ผลิตผลจากพื้นดินอุดมสมบูรณ์และให้ผลดี จนกระทั่งแม้แต่ผลไม้ก็มีขนาดใหญ่โต ไม้ดอกมีขนาดใหญ่ ต้นฝ้ายมีสีสันต่างๆ ตามธรรมชาติ ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า เทพเจ้าแห่งสันติยังเป็นผู้ที่เคร่งครัดในการดำรงชีวิตอันดีงาม ประพฤติปฏิบัติอยู่ในครรลองคลองธรรม จนกระทั่งทรงมีอิทธิพลแผ่ขยายไปกว้างไกล
แต่จะมีผู้ใดรู้ว่าสันติสุขจะยืนยงไปอีกนานสักเพียงใด ตำนานที่เล่าขานสืบกันมาเอ่ยถึงความพ่ายแพ้ของเทพเจ้าแห่งสันติ และชัยชนะของเทพเจ้าแห่งสงคราม เท็กสคัลทลีโปคา จนกระทั่งในที่สุดนครตูลาก็ถูกทิ้งร้าง
เทพเจ้าแห่งสันติเดินทางจากไปทางทิศตะวันออก โดยทรงให้คำมั่นสัญญาว่าวันหนึ่งพระองค์จะเสด็จกลับมายังแผ่นดินนี้อีกครั้งหนึ่งในปีหนึ่งกก ตามปฏิทินโทลเท็กส์ ซึ่งเมื่อเทียบกับปฏิทินตะวันตกแล้ว ก็คือ ค.ศ. 1519 ปีเดียวกับที่แอร์นัน คอร์เต็ส เดินทางจากสเปนมาถึงชายฝั่งทะเลในเม็กซิโกตอนกลาง พร้อมกับนักรบและนักล่าสมบัติชาวสเปน ตำนานนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหวังของปวงประชาเกี่ยวกับการหวนกลับคืนมาของเทพเจ้าแห่งสันติอีกครั้งหนึ่ง
ตำนานดังกล่าวเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็คือความปราชัยของระบบการปกครองโดยชนชั้นนักบวชและชัยชนะของชนชั้นนักรบ นครตูลาถูกทิ้งร้าง อาณาจักรโทลเท็กส์ล่มสลายสืบเนื่องมาจากการขยายอำนาจของชนเผ่าชิชิเม็กกะทางทิศเหนือ ผู้ที่อพยพลงมามีกำลังทางทหารและอาวุธสูงกว่า พวกนี้รับเอาอารยธรรมของพวกโทลเท็กส์มาเป็นของตน และจัดตั้งนครรัฐขึ้นหลายแห่งรอบทะเลสาบห้าแห่งในหุบเขาตอนกลาง เพื่อรองรับการอพยพของชนเผ่าของตนที่ลงมาเป็นระลอกๆ ชนเผ่ากลุ่มสุดท้ายที่เคลื่อนย้ายลงมาคือ พวกแอซเต็กหรือพวกเม็กซิกา
การที่ผู้อพยพลงมาใหม่รุกคืบเข้ามายึดอำนาจจากอาณาจักรโทลเท็กส์ของเทพเจ้าแห่งสันติได้นั้นนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่งคือวัฒนธรรมแห่งสงคราม
ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีนครรัฐขนาดใหญ่เกิดขึ้นสองแห่ง ซึ่งมีอำนาจทัดเทียมกัน นครรัฐแห่งหนึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลสาบเท็กสโคโค ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาทะเลสาบทั้งห้าแห่ง คือ คูลฮัวกัน [ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเม็กซิโก] ส่วนนครรัฐอีกแห่งหนึ่งคือ อัสคาโปตซัลโค อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบเท็กสโคโค นครรัฐแห่งนี้มีความสามารถทางด้านการรบ การค้า และการปกครอง จึงแผ่อิทธิพลไปได้กว้างขวางกว่านครรัฐอื่นๆ
ส่วนพวกแอซเต็กไปตั้งรกรากอยู่ที่ใดก็ถูกขับไล่ ถึงแม้จะพูดภาษานาฮัวท์ เช่นเดียวกัน แต่ก็ได้รับการดูถูกจากชนเผ่าอื่นๆ ที่อยู่ในเขตทะเลสาบมาก่อนว่าเป็นคนไร้วัฒนธรรม อย่างไรก็ดี พวกแอซเต็กมีความมุ่งมั่นสูงที่จะตั้งรกรากอยู่ที่นี่ให้จงได้ พวกเขาจึงถอยไปตั้งบ้านเรือนอยู่บนเกาะกลางทะเลสาบเท็กสโคโค บริเวณซึ่งไม่มีผู้ใดยอมตั้งบ้านเรือนอยู่ และตั้งกรุงเธโนธิทลันขึ้นใน ค.ศ. 1325
อีกเพียงร้อยปีต่อมา พวกแอซเต็กสามารถซึมซับเอาวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีมาก่อนหน้านั้น จนกระทั่งประกาศตนเป็นอิสระจากนครรัฐอื่นๆ โดยรอบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างไกลจนถึงกัวเตมาลา และคาบสมุทรยูกาตันซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรมายาในอดีตกาลอันไกลโพ้น
สำหรับนครเธโนธิทลันนั้น ถึงแม้ชนเผ่าแอซเต็กจะเริ่มสร้างเมืองของตนเองจากกระต๊อบเพียงไม่กี่หลัง กับแท่นบูชาเทพเจ้าสูงสุดของตน คือ เทพเจ้าแห่งสงครามซึ่งพวกแอซเต็กถวายพระนามว่า ฮุยต์ซิโลโพทลี
พลังทางใจอันแก่กล้าและมุ่งมั่นทำให้พวกเขาเอาชนะอุปสรรคทุกด้านได้ ในทางวัฒนธรรมนั้น พวกแอซเต็กก้าวล้ำไปไกลกว่าแม่บททางวัฒนธรรมที่มีมาเก่าก่อน มหาวิหาร ปิรามิด ปราสาทราชวัง ราชอุทยาน และงานฝีมือของช่างด้านต่างๆ ล้วนแล้วแต่งดงามตระการตา จนแม้กระทั่งเมื่อสเปนเดินทัพมาถึงกรุงเธโนธิทลันใน ค.ศ. 1519 นักรบสเปนต่างก็ตะลึงกับความงามที่เห็นอยู่เบื้องหน้า แบร์นัล ดิแอส เดล กัสติโญ ผู้จดบันทึกเกี่ยวกับการขยายตัวของสเปนมายังอาณาจักรแอซเต็กได้บรรยายถึงความงดงามตื่นตาของมหานครเธโนธิทลันว่างดงามดั่งฝัน ในตอนที่พวกนักรบสเปนขึ้นไปบนยอดมหาปิรามิด เพื่อพบกษัตริย์ม็อคเตซูมา กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรแอซเต็กในขณะนั้น แบร์นัล ดิแอสได้พรรณนาเอาไว้ว่า
“พวกเรายืนมองไปได้โดยรอบ เนื่องจากปิรามิดที่เป็นดั่งเทวาลัยนอกรีตมีขนาดใหญ่โตจนสามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างชัดเจน พวกเรามองเห็นสะพานสามแห่งที่ข้ามน้ำมาสู่นครนี้ สะพานอิสตาปาลาปา [อยู่ทางทิศใต้] เป็นสะพานที่พวกเราข้ามมาเมื่อสี่วันก่อน สะพานตาคูบา [หรือทลาโคปัน อยู่ทางทิศตะวันตก] และสะพานเตเพอากีญา [อยู่ทางทิศเหนือ]
พวกเรามองเห็นทะเลสาบน้ำจืดจากชาปูลเตเป็กที่ใช้หล่อเลี้ยงนครแห่งนี้….ในทะเลสาบเต็มไปด้วยเรือนานาชนิด เรือบางลำนำอาหารเข้ามา บ้างก็กลับออกไปพร้อมกับสินค้า….พวกเรามองเห็นเทวาลัยที่สูงลิ่วราวกับหอคอย นอกจากนี้ยังมีป้อมปราการสีขาวกระจ่างดูงดงามน่าพิศวงยิ่งนัก….
พวกเราหันไปมองตลาดขนาดใหญ่และผู้คนมากมายในตลาด….ทหารของพวกเราบางคนเคยเดินทางไปยังแหล่งต่างๆ ทั่วโลก เช่น กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล กรุงโรม พวกเขาบอกว่าไม่เคยเห็นตลาดแห่งใดที่ใหญ่โตมโหฬารและเต็มไปด้วยผู้คน และเป็นตลาดที่จัดระเบียบได้เป็นอย่างดีเช่นนี้มาก่อนเลย”
ตลาดแห่งนี้คือ ตลาดตลัลเตโลลโค ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของมหานครเธโนธิทลัน นครหลวงของอาณาจักรแอซเต็ก ส่วนพระราชวังอะฮาญาคัลต์ของกษัตริย์แอซเต็กตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของมหาปิรามิด อยู่ด้านหน้าของบริเวณลานกว้าง ซึ่งต่อมาในสมัยอาณานิคมสเปนกลายเป็นที่ตั้งของวังผู้สำเร็จราชการ และเมื่อเม็กซิโกได้รับเอกราชก็กลายเป็นที่ทำการของประธานาธิบดีเม็กซิโก ส่วนอาคารอื่นๆ ในนครแห่งนี้ มีทั้ง ปิรามิดขนาดเล็ก โรงเรียน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ กับบ้านเรือนขนาดเล็กอีกมากมาย เพื่อใช้รองรับประชากรถึงกว่า 250,000 คน จึงนับได้ว่ากรุงเธโนธิทลันเป็นมหานครอย่างแท้จริง
แต่ปัจจุบันไม่มีสิ่งใดหลงเหลือให้ชนรุ่นหลังได้เห็นอีกแล้ว
ความมั่งคั่งของอาณาจักรแอซเต็กมาจากนโยบายขยายอำนาจทางทหาร ดังนั้นองค์กษัตริย์ซึ่งเป็นผู้นำทางทหารจึงเป็นผู้ที่ดำเนินนโยบายในทุกๆ ด้าน พวกแอซเต็กยกย่องเทพเจ้าแห่งสงครามเป็นเทพเจ้าสูงสุด และเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ งานเฉลิมฉลองเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งสงครามจึงเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดในบรรดางานเฉลิมฉลองเทพเจ้าทั้งปวงของอาณาจักรแอซเต็ก
พวกแอซเต็กเชื่อว่าต้องถวายโลหิตของมนุษย์แด่เทพเจ้าแห่งสงครามเพื่อให้พระองค์โปรดปราน และดลบันดาลให้ดวงอาทิตย์ส่องสว่างตามปกตินั้น ดังนั้น การขยายอาณาจักรเพื่อจับเชลยศึกซึ่งถือว่าเป็นโลหิตบริสุทธิ์ที่สุดมาบูชายัญจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อความอยู่รอดของอาณาจักรแอซเต็ก นำพาความสว่างของดวงอาทิตย์มาให้โลกมนุษย์ มิฉะนั้นแล้วดวงอาทิตย์ก็จะถึงคราวดับสูญและไม่เปล่งแสงอีกหากมิได้เลี้ยงดูด้วยโลหิตของมนุษย์ อาณาจักรแอซเต็กจึงต้องทำสงครามอยู่ตลอดเวลา
อำนาจทางทหารของอาณาจักรแอซเต็กขยายเข้าไปในบริเวณที่ราบสูงตอนกลางทั้งหมด เข้าไปในคาบสมุทรยูกาตันของชนเผ่ามายา ไปถึงกัวเตมาลาจนถึงคอคอดปานามา อาณาจักรแอซเต็กมีอำนาจครอบคลุมดินแดนทั้งหมดตั้งแต่มหาสมุทรแปซิฟิกจรดมหาสมุทรแอ็ตแลนติกและมีอำนาจเหนือผู้คนในแถบนี้ทั้งหมดหลายล้านคน
สงครามจึงเป็นเสมือนสถาบันทางวัฒนธรรม เป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อวิถีชีวิตของผู้คนในอาณาจักรแอซเต็ก เพราะต้องใช้เชลยศึกบูชายัญเทพเจ้าแห่งสงครามอย่างสม่ำเสมอ สงครามจึงกลายเป็นแนวคิดทางศาสนาของพวกแอซเต็กไปโดยปริยาย เมื่อการขยายอำนาจของอาณาจักรแอซเต็กครอบคลุมดินแดนกว้างไกลจนไม่มีดินแดนใดเหลือให้ทำสงครามอีก พวกแอซเต็กจึงต้องทำ “สงครามดอกไม้” “สงครามดอกไม้” เป็นการทำสงครามที่ไม่จริงจังนัก ฝ่ายแอซเต็กทำกับรัฐอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรกันหรือเป็นรัฐที่ตกอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายแอซเต็กมาก่อนแล้ว เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเชลยศึก เพื่อให้ได้โลหิตอันบริสุทธิ์มาบูชายัญเทพเจ้าแห่งสงคราม
วัฒนธรรมอื่นๆ ของอาณาจักรแอซเต็กล้วนเกี่ยวข้องกับการทำพิธีบูชายัญถวายแด่เทพเจ้าแห่งสงครามแทบทั้งสิ้น แม้แต่ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์อันเป็นเลิศของดินแดนแห่งนี้ ยังเป็นความรู้ที่มีการบูชายัญแด่เทพเจ้าองค์นี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นต้นว่า การทำปฏิทิน ปฏิทินของแอซเต็กซึ่งรับมาจากวัฒนธรรมเก่าแก่ก่อนที่พวกแอซเต็กอพยพลงมายังเม็กซิโกตอนกลาง เป็นปฏิทินที่มี 18 เดือนๆ ละ 20 วัน โดยแต่ละปีจะมีวันเหลืออีก 5 วันซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นปี เป็นวันมืดดับและทุกๆ สี่ ปีจะมีวันเพิ่มขึ้นหนึ่งวัน และทุกๆ 52 ปีจะครบหนึ่งวัฏจักร สำหรับห้าหรือหกวันท้ายปีกับช่วงเวลาของการสิ้นสุดวัฏจักรนั้น พวกแอซเต็กถือว่าหากไม่สวดอ้อนวอนเทพเจ้า และสังเวยพระองค์ด้วยการบูชายัญด้วยชีวิตมนุษย์ พระอาทิตย์จะดับมืดไม่กลับมาส่องแสงให้โลกเห็นอีก อาณาจักรแอซเต็กก็จะล่มสลาย
บรรยากาศเช่นนี้ประจวบเหมาะกับการเดินทางมาถึงชายฝั่งเม็กซิโกใน ค.ศ. 1519 ของแอร์นัน คอร์เต็ส และนักรบนักแสวงหาโชคลาภชาวสเปน ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เทพเจ้าแห่งสันติ เคว็ตซัลโคอัลท์ทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะเสด็จกลับมายังราชอาณาจักรของพระองค์
ขอเชิญผู้อ่านจินตนาการไปกับเรื่องราวที่จะเล่าขานต่อไปนี้เถิด