เสน่ห์บางกอก 4 : ย้อนอดีตวังเก่า รอบพระนคร

เสน่ห์บางกอก 4 : ย้อนอดีตวังเก่า รอบพระนคร

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

–  เสน่ห์บางกอก 4 : ย้อนอดีตวังเก่า รอบพระนคร 

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

วัง ปราสาท และโบสถ์ คือ 3 จุดที่ต้องไปแวะเข้าชม แต่ละเมืองทุกทริปท่องเที่ยว ไม่ว่าจะไปฝั่งตะวันตก ยุโรป หรือทวีปเอเชีย ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม เพียงแต่จะไปวัด ศาลเจ้าแทนโบสถ์ เมื่อปีที่แล้วลองนั่งค้นหาวังและตำหนักในบ้านเราที่อนุญาตให้เข้าชมได้ ก็สะดุดตาที่วังปารุสกวันกับวังพญาไท ซึ่งคุ้นหูกันบ่อยๆ แต่ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกภาพไม่ออกและไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เลยจุดประกายให้เป็นวันเดย์ทริปของซีรีส์ ‘วังเก่าในกรุงเทพฯ’ เริ่มจากพระตำหนักของรัชกาลที่ 4 > วังปารุสกวัน และตำหนักสวนจิตรลดา (ในความดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) วังพญาไท (ในความดูแลของกรมการแพทย์ทหารบกโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า)

เริ่มต้นเบรกฟาสต์เช้า 8.00 น. นัดกันที่ร้านข้าวแกงใต้ในซอยวัดราชาธิวาส ตรงข้ามประตูวัด ห้องแถวมอซอ คูหาเดียว ดูรกรุงรัง พื้นร้านเปียกแฉะมอมแมม เดินหลับหูหลับตาจ้องมองแต่ถาดใส่กับข้าวและหม้อแกงต้มตุ๋น ควันร้อนระอุจากหม้อข้าวพอให้เห็นแล้วชื่นใจ ข้าวร้อนๆ อย่างไรซะก็น่าจะอร่อย แม้อาจไม่ถูกสุขอนามัยนัก… สั่งผัดสะตอกุ้งกับปลาทอดขมิ้นราดข้าวปุ๊บ เสิร์ฟทันที อร่อยครับ ไม่เผ็ดร้อนมาก ไม่เค็มจัดไม่ออกหวานจัด รสชาติดีเยี่ยม เสียดายบรรยากาศร้านไม่น่านั่งเท่าไหร่นัก ซึ่งเป็นปกติของร้านอาหารไทยระดับชาวบ้าน ที่มีฝีมือแต่ไม่ประณีตบรรจงใส่ใจเรื่องจัดร้านจัดสถานที่กันเลย ไม่รู้จะแก้ไขนิสัย ปรับทัศนคติคนไทยเราอย่างไรดี เพียงแค่เน้นให้ลูกค้านั่งสบาย วางของขายของใช้ เก็บจัดตู้โต๊ะเรียบร้อย ห้องน้ำสะอาดเป็นสากลก็พอแล้วครับ ส่วนใหญ่คุณพี่ป้าน้าอาเขาจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตรูสะดวก ทำครัวได้ ล้างได้ ตักขายได้ จบ…

อิ่มแล้วเดินข้ามถนนซอยเข้าไปไหว้พระประธานในอุโบสถ แล้วออกมาสำรวจพระตำหนักและศาลาเรือนไม้ ริมน้ำเจ้าพระยา ได้เพื่อนกูรูช่วยอธิบายขยายความว่า วัดราชาธิวาสสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสมอราย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชได้เคยเสด็จประทับวัดนี้ เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชาธิวาสวิหาร ซึ่งแปลว่าวัดที่ประทับของพระราชา ยังหลงเหลือตำหนักพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารทรงไทยประดับช่อฟ้าที่เคยเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวช ติดๆกันเป็น ตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถฯ รัชกาลที่ 7 โปรดให้ย้ายมาจากพระราชวังพญาไททั้งหลัง (ที่เราจะไปเดินเที่ยวในช่วงบ่าย) มาปลูกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2475 และยังมีตำหนัก 4 ฤดู เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ สร้างขึ้นใหม่ โดยจำลองพระตำหนัก 4 ฤดู ในวังสุโขทัยที่รื้อออกไป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระอุโบสถ

ศาลาการเปรียญ  เป็นอาคารขนาดใหญ่ไม้สักทั้งหลัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้สร้างเลียนแบบศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี (ซึ่งเป็นท้องพระโรงเก่าสมัยพระเจ้าเสือ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา) เสาไม้ขนาดใหญ่มาก หน้าบันทั้ง 2 ด้าน มีตราเครื่องหมายเป็นสำคัญ คือด้านหน้า (ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา) มีตราจุลมงกุฎ (หรือพระเกี้ยว) พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 5 ด้านหลัง (ด้านตะวันออก) มีตราวชิราวุธ พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 6 ใครชอบดูรูปทรงงานสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ผิดหวังเลยสำหรับกลุ่มอาคาร 4 หลังนี้ที่วัดราชาธิวาส ที่น้อยคนนักจะรู้เรื่อง เสียดายไม่มีป้ายชื่อกำกับหน้าตำหนักเหล่านี้

ใช้เวลาเตร่หนึ่งชั่วโมงเศษๆ ก็รีบออกไปตามนัด 10.00 น ที่วังปารุสกวัน ลองค้นหาความหมายก่อนไป จึงทราบว่าปารุสกวันเป็นชื่อสวนหนึ่งใน 4 แห่งของพระอินทร์ คือ นันทวัน ปารุสกวัน จิตรลดาวัน และมิสกวัน ค่อยเข้าใจที่มาของชื่อวังแล้วล่ะครับ ตัวอาคารสีเหลืองเข้มสวยงามตั้งอยู่บนถนนศรีอยุธยา มุมสี่แยกใกล้ลานพระบรมรูปรูปทรงม้า นายตำรวจยศพันตำรวจเอก โทรศัพท์แจ้งมอบหมายให้นายตำรวจหญิงนำบรรยาย และพาเข้าออกทั้ง 2 ตำหนัก เริ่มที่ด้านซ้ายของกองบัญชาการตำรวจนครบาลด้านถนนศรีอยุธยา จากวังปารุสกวัน บันทึกจากประวัติศาสตร์ว่า เมื่อ พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้ากรมโยธาธิการ ดำเนินการก่อสร้างตำหนักขึ้น 2 หลัง ในเขตวังปารุสกวัน เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ขณะดำรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร) และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ คราวเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2449 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถได้ทรงประทับอยู่ที่วังปารุสกวัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้อยู่ชั่วคราว  ส่วนรัชกาลที่ 6 ทรงประทับอยู่ตำหนักจิตรลดา ซึ่งอยู่ติดกับวังปารุสกวัน ทั้ง 2 ตำหนักสร้างโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิก นายเปโรเลวี สถาปนิกชาวอิตาเลียน เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง รูปทรงภายนอกคลาสสิก แปลกตาไม่ล้าสมัย หลังคา ประตูหน้าต่าง มีช่องระบายลมบานเกล็ด ทุกทิศทางที่สามารถรับและถ่ายเทลมในแต่ละฤดูกาล ระเบียงกว้าง พร้อมชายคาบังแดดบังฝนได้ดีทั้งช่วงเช้าและบ่าย พื้นไม้ยังมีสภาพที่ดีมากๆ เช่นเดียวกับบันไดทั้ง 2 อาคาร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ขึ้นบริเวณทุ่งส้มป่อย (เพิ่งทราบว่าเขตดุสิต เดิมชื่อนี้) แล้วย้ายไปประทับที่นั่น ต่อมาพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำหนักสวนจิตรลดา แลกเปลี่ยนกับที่ดินบริเวณท่าวาสุกรี ของสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ปัจจุบันนี้เมื่อพูดถึงตำหนักสวนจิตรลดา เรามักไปสับสนกับสวนจิตรลดาหรือพระตำหนักสวนจิตรลดา ซึ่งหมายถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ชื่อเหมือนกันเลย ส่วนวังปารุสกวันปัจจุบันเป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล

นายตำรวจหญิง ไกด์กิตติมศักดิ์ เธอพาเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ตำรวจต่อทันที อธิบายอย่างแคล่วคล่อง ฉะฉานด้วยข้อมูลแน่นปึ้ก ไล่เรียงจากของใช้ อาวุธ เครื่องมือสื่อสาร รูปภาพ ป้ายต่างๆ และเครื่องแบบตำรวจในอดีตที่ใช้การลอกเลียนจากต่างชาติ จากอังกฤษ ฝรั่งเศส มลายู ผสมทั้งฝรั่งและแขกมาปรับใช้  ออกมาแล้ว นึกชมเชยสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากๆ ที่ยังเก็บรักษาสมบัติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ขอปรบมือให้ดังๆ เลยครับ

มื้อเที่ยง ย้อนกลับมาหาของกินแถวตลาดเทเวศร์ ถนนสามเสน ไม่ยากเลยเพราะมีทั้งข้าวมันไก่ร้านมงคลชัย ก๋วยเตี๋ยวปลาฝั่งริมคลอง ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำ ข้าวหมกไก่ เดินถึงกันได้ ใช้เวลาไม่ถึงชม ก็นั่งแท็กซี่กลับไปตามนัด

จองคิวไว้ 13.00 น เข้าไปในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้านติดถนนราชวิถี ประตูที่ 2 จากสี่แยกตึกชัย เห็นหลังคาจั่วสีแดงสูงๆ คล้ายโดม นั่นแหละครับ วังพญาไท รีบแจ้นไปนั่งจิบกาแฟที่ร้านนรสิงห์ที่ไม่ต้องตกแต่งภายในเลย รูปลักษณ์อาคารเดิม ยังสวยงามหรูหราอยู่แล้ว คอกาแฟเลยได้ฟิลไปกับพื้นเก่า ฝ้าผนังเก่า สีทึมๆ ที่ดูดีเหลือเกิน เห็นผู้คนมาเที่ยววังพญาไทวันเสาร์จะคึกคักกว่าวันธรรมดา อ้อยอิ่งได้ไม่ถึง 15 นาที ก็เริ่มเดินตามไกด์อิสระ (ต้องว่าจ้าง) คำบรรยายฟังสรุปได้สังเขปคือ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เสด็จทอดพระเนตรการทำนา การปลูกผักและการเลี้ยงสัตว์ ให้สร้างตำหนักเป็นที่ประทับ ส่วนพื้นที่ด้านตรงข้ามกับพระตำหนัก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ทำนารวมทั้งโรงนา เพื่อประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญหลายครั้ง แต่เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 เพียงเวลาอันสั้น เพราะเมื่อมีการขึ้นเรือนใหม่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็เสด็จสวรรคต ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชมารดา มาประทับที่พระราชวังแห่งนี้ด้วย จนกระทั่งสวรรคตเมื่อปี 2463 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียงพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่อีกหลายพระองค์ด้วยกัน และสถาปนาวังเป็นพระราชวังพญาไท รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ มาประทับที่พระราชวังนี้เป็นประจำ และเริ่มมีพระอาการประชวรในปี 2468 จนเดือนสุดท้ายแห่งรัชกาลจึงเสด็จฯ จากพระราชวังพญาไทไปประทับในพระบรมมหาราชวัง จนสวรรคต

ภายในวังถูกออกแบบจัดสรรแบ่งเป็นห้องบรรทม ห้องทรงอักษร ห้องประชุม ห้องโถงจัดเลี้ยงรับรอง มีเรือนหลังเล็กฤดูร้อน ส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้ ประตูหน้าต่างก็มีรูปลักษณ์เฉพาะตัวที่ดูโบราณคลาสสิก สง่างามแข็งแรง แต่ยังใช้งานได้จริงๆ ไม่ว่าอุปกรณ์บานพับ มือจับ กลอน ปลั๊กไฟ สวิตช์ มองออกไปด้านนอกเห็นสวนจัดแต่งตามสไตล์ยุโรปแบบฝรั่งเศส ออสเตรีย วันนี้ได้เจอแนวคลองพญาไท ไม่แน่ใจชื่อถูกต้องหรือเปล่า ยังเป็นรูปคลองแต่ช่วงสั้นๆ แห้งไม่มีน้ำและไม่เชื่อมต่อทั้งต้นและปลายคลอง เพราะแนวต่อจากนั้นถูกถมกลบฝังไปเรียบร้อย ตอนนี้เหลือเพียงเสี้ยวเดียวในวังพญาไท เห็นด้วยตาตัวเองเลยพูดไม่ออกบอกไม่ถูก ถ้าไม่เรียกว่าด้วยมือของข้าราชการ ก็ด้วยนโยบายจากหน่วยงานรัฐบาลนี่เอง ที่ไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ไม่รักษาสภาพธรรมชาติ เหมือนตั้งใจลบคำว่าเวนิสตะวันออกไปจากกรุงเทพมหานครของเรา สะท้อนใจ เศร้าจริงๆ ครับ

ไกด์บรรยายเพิ่มเติมว่า รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งให้ชาวต่างประเทศพัก เปิดเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2468 ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 6 ต่อมาเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงวิทยุแห่งแรกของไทยด้วย ออกอากาศเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2473 แต่ดำเนินการโรงแรมวังพญาไทไปได้เพียงอีก  6-7 ปี ก็เลิกกิจการในที่สุด ปัจจุบันวังพญาไทมีการบูรณะใหม่ เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมฟรีทุกวัน และวันเสาร์ก็เปิด ควรติดต่อล่วงหน้าครับ แต่ข่าวสารไม่ค่อยถึงนัก ทำให้ได้รับความสนใจน้อยมาก

แนะนำผู้สนใจงานสถาปัตยกรรมกับประวัติศาสตร์ของแต่ละวังและตำหนัก ควรจัดเวลา 1 วันเต็ม มาลองเดินตามเส้นทางที่ไปวังทั้ง 3 แห่ง อยู่ไม่ไกลกันมาก แต่ละวังใช้เวลาสักสองชั่วโมงเศษๆ สบายๆ ไม่ถึงกับเร่งรีบมากนัก กำลังอิ่มตา เพลิดเพลินไม่น่าเบื่อ ไม่ตึงเกินไป ควรเดินทางด้วยแท็กซี่ อย่าขับรถส่วนตัวมานะ จะได้ไม่เสียเวลาและเสียอารมณ์ เรื่องที่จอดรถ สามารถถ่ายรูปได้ทุกมุมทุกจุด ยกเว้นเพียงบางห้องภายในวังพญาไทเท่านั้น กรุณาแต่งตัวสุภาพเพื่อให้ความเคารพต่อสถานที่และได้ภาพถ่ายที่เหมาะสมเมื่อนำไปเผยแพร่ต่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทุกวังที่ได้สัมผัสเหมือนย้อนเวลา ย้อนรอยประวัติศาสตร์หน้านี้ ที่ถูกจัดเก็บรักษาไว้ให้พวกเราได้รู้จัก ได้เรียนรู้และเข้าใจประเทศไทยของเรามากขึ้น จากอดีตถึงทุกวันนี้และคงจำวลีนี้กันได้นะครับ

“อดีต… ลบแก้ไขไม่ได้ อนาคต… เริ่มต้นจากปัจจุบัน”

Don`t copy text!