น่ารักแบบเต็มคาราเบล! คุยกับ ชาร์เลท-วาศิตา แฮเมเนา กับบทแม่สื่อวัยใสที่แฟนๆ เทหัวใจให้ทั้งพระนคร

น่ารักแบบเต็มคาราเบล! คุยกับ ชาร์เลท-วาศิตา แฮเมเนา กับบทแม่สื่อวัยใสที่แฟนๆ เทหัวใจให้ทั้งพระนคร

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

ถึงแม้จะมีผลงานการแสดงมาแล้วหลายเรื่อง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่นักแสดงสาววัยทีน ชาร์เลท-วาศิตา แฮเมเนา รับบทนางเอกแบบเต็มตัวกับละครเรื่อง ‘พระนคร ๒๔๑๐’ ที่สร้างจากบทประพันธ์เรื่อง ‘พระนคร ๒๔๑๐ แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิศ’ ผลงานของนักเขียนคนเก่ง ‘ตฤณภัทร’ ซึ่งเป็นนวนิยายรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการ ‘อ่านเอาก้าวแรกปี 2’

นิยายที่ว่าสนุกแล้ว พอมาสร้างเป็นละครก็ยิ่งสนุกปอดโยกขึ้นไปอีก นั่นเพราะเหล่านักแสดงทำงานกันอย่างเข้าขา มีลูกรับลูกส่งที่เหมาะเจาะ แถมเรื่องนี้ ทั้ง ฉาก เสื้อผ้า หน้าผม รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ทีมงานต่างก็ทำการบ้านกันมาอย่างดี ทำให้การถ่ายทอดตัวหนังสือสู่ภาพเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ได้อรรถรสจนผู้ชมต้องยกนิ้วให้ เรียกว่าออกอากาศไปเพียงไม่เท่าไหร่ เรื่องราวก็โดนใจจนได้รับเสียงชื่นชมกันไปทั่วพระนคร

อ่านเอาได้มีโอกาสมานั่งพูดคุยกับนางเอกของเรื่องที่อาสาเป็นตัวแทนของทีมละครมาเล่าถึงผลงานล่าสุดกันอย่างออกรส แม่โนรีของเราแจกความสดใสกันตั้งแต่เริ่มคุยกันจนจบบทสนทนา ความน่ารัก อารมณ์ดีแบบเต็มคาราเบลทำให้มั่นใจว่าแฟนละครหลายคนต้องโดนเธอตกจาก พระนคร ๒๔๑๐ กันอย่างแน่นอน

การโคจรมาเจอกันระหว่างชาร์เลทและโนรี

ทันทีที่ได้รับการติดต่อว่าจะให้รับบทโนรีในเรื่องนี้ ชาร์เลทบอกว่าเธอตอบตกลงแทบจะในทันที เพราะรู้สึกเลยว่าตัวละครโนรีมีเสน่ห์ น่ารัก มีสีสัน แถมละครเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องราวย้อนยุคที่เธอชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว “โนรีเป็นคนน่ารัก ขี้เล่น ชาร์เลยต้องทำการบ้านว่าจะขี้เล่นยังไงไม่ให้น่ารำคาญ และฉายเสน่ห์ของตัวละครตัวนี้ออกมาได้จริงๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะเฉลี่ยจังหวะไปให้ตัวละครอื่นๆ ให้พอดีด้วย แล้วละครเรื่องนี้ยังมีทั้งดรามา คอมเมดีอยู่ในนั้น การทำทุกอย่างให้สมดุลเลยเป็นเรื่องสำคัญ” นางเอกสาวเล่าถึงบทบาทล่าสุดให้เราฟังอย่างอารมณ์ดี

“หลายคนมักจะบอกว่าชาร์กับโนรีเหมือนกัน โดยเฉพาะความขี้เล่น ความสดใส (หัวเราะ) แต่ชาร์ว่าโนรีเป็นเหมือนซับเซ็ตของชาร์มากกว่า เพราะเราเองก็ยังมีมุมอื่นๆ อีก แล้วโนรีก็มีความสดใสมากกว่าชาร์ เขากล้าคิด กล้าทำ ในขณะที่บางเรื่องเรายังเพลย์เซฟ ชาร์ชอบนิสัยโนรีหลายอย่าง เช่น ไม่เอาตัวเองไปครอบงำคนอื่น และภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นคนยังไม่ค่อยโอเคกับเด็กลูกครึ่งเท่าไหร่  แต่โนรีก็มีความสุขได้ ชาร์เองก็เป็นลูกครึ่งเหมือนกัน แล้วเราเองก็มองลูกครึ่งว่าเท่ แฮปปี้กับความเป็นตัวเองเหมือนกับที่โนรีเป็น ระหว่างชาร์และโนรีเลยมีอะไรที่ยึดโยงกันได้หลายเรื่อง”

นางเอกสาวเล่าต่อไปว่า “ตอนแรกที่ชาร์ยังไม่รู้ว่า แม่สื่อเป็นอาชีพที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์จริงๆ ก็คิดว่าเจ๋งดีนะ แต่พอรู้ว่าสมัยนั้นมีอาชีพนี้จริงๆ ยิ่งรู้สึกเซอร์ไพรส์มากว่า โอ้ว…เกิดก่อนแอปหาคู่!  (หัวเราะ) แม้แต่กัปตันเอมส์เอง ป้าจิ๊ (อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ) ก็บอกว่าเป็นญาติห่างๆ เกี่ยวดองกัน หรือแม้แต่หมอบรัดเลย์ท่านก็มีตัวตนจริงๆ เหมือนกัน ชาร์ว่านี่แหละที่ทำให้เรื่องราวมีเสน่ห์มากขึ้นท่ามกลางความโรแมนติก คอมเมดี ส่วนตัวเองก็เป็นคนชอบประวัติศาสตร์ อย่างเรื่องราวของอยุธยา รัตนโกสินทร์ อยู่แล้ว เวลาที่ไปเที่ยวโบราณสถานต่างๆ ชาร์จะชอบคิดว่าในยุคสมัยนั้นสถานที่เหล่านี้คงสวยมากๆ หรืออย่างเวลาเข้าฉากตลาดน้ำในเรื่องนี้ก็เอ็นจอยมากๆ ค่ะ เพราะพอเราแอ็กชั่นจริงๆ จะไม่มีคนอื่นที่แต่งตัวยุคปัจจุบันอยู่ในนั้นเลย ทำให้เราเหมือนหลุดเขาไปอยู่ในอีกโลกที่เสมือนจริงมาก”

โมเมนต์สุดสนุกและเรื่องราวสุดเซอร์ไพรส์

ตลอดการทำงานที่กินระยะเวลาประมาณหกเดือน ชาร์เลทเล่าว่ามีเรื่องราวสุดประทับใจเกิดขึ้นมากมาย “ทำงานได้ ๒-๓ คิวแรก ชาร์ก็เข้ากับทุกคนได้แล้ว พี่ๆ ทีมงานทุกคนก็น่ารักมากค่ะ ชาร์รู้สึกชื่นชมวิธีการทำงานของทุกคน ทุกฝ่าย เพราะเขาจริงจังกับหน้าที่ที่เขารับผิดชอบ อย่างเสื้อผ้า เวลาใส่เข้าฉากถ้าจะปรับจากกระดุมให้เป็นซิปหลังแทนก็ได้ แต่พี่เขาบอกว่างานของเขาต้องจริง ต่อให้คนดูไม่เห็นแต่เขาเห็น ทุกคนมีคำตอบกับงานทุกชิ้นที่ทำและทุ่มเท นอกจากนี้เขายังไม่ได้มองแค่งานของตัวเอง แต่ยังเผื่อแผ่ความห่วงใยถึงคนอื่นๆ คอยถามชาร์ว่าโอเคไหม อย่างเรื่องเสื้อผ้าก็จะคอยถามว่ามั่นใจหรือเปล่า หรือทุกครั้งที่ชาร์ถามอะไรไป จะได้รับคำตอบเสมอ เช่น ทำไมต้องแต่งตัวแบบนี้ เขาก็จะมีเรเฟอร์เรนซ์ให้ดู

อีกเรื่องที่พูดแล้วอาจไม่เชื่อคือ ตัวจริงของพี่ฌอห์ณ (ฌอห์ณ จินดาโชติ) ที่เห็นว่าดูขรึมๆ เนี่ย จริงๆ เขาเป็นคนตลกมาก แล้วตลกหน้าตายด้วย เวลาชาร์อยู่กับพี่ฌอห์ณจะรู้สึกสบายใจ ยิ่งตอนทำงานกันจะยิ่งรู้สึกว่าเราเป็นบัดดี้ที่มาช่วยกันทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ เลยทำให้คุณพระกับโนรีดูน่ารักมากในความรู้สึกของชาร์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะร่วมงานกับพี่ฌอห์ณ ก็มีแอบคิดเหมือนกันว่ายากแล้วละ (หัวเราะ) คงต้องปรับตัวเยอะ เพราะพี่ฌอห์ณกับเราอายุห่างกันถึง ๑๗ ปี! แล้วเห็นชาร์คุยเก่งอย่างนี้ จริงๆ เป็นคนเริ่มบทสนทนายาก เต็มที่เราอาจคุยกับเขาแค่ว่า ‘พี่ฌอห์ณสบายดีไหมคะ’ แล้วจบ แต่ด้วยตัวเนื้อเรื่องที่เราต้องไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ๒ คนตลอดเวลา มีหลายซีนที่เราต้องทำงานด้วยกัน และต้องไว้ใจกัน เช่น ฉากดำน้ำ ฉากบู๊ เลยทำให้ชาร์ปลดล็อกกับพี่ฌอห์ณได้ง่าย ทุกวันนี้ชาร์ทักทายพี่ฌอห์ณได้เป็นกันเองมาก เช่น ‘โย่ว พี่ฌอห์ณหวัดดีค่า’ อะไรแบบนี้” (หัวเราะ)

อะไรคือเรื่องสุดท้าทายของพระเอก-นางเอก?

ในขณะที่การแสดงก็ต้องเคี่ยวกรำ เรื่องภาษาย้อนยุคที่มีเสน่ห์ก็แสนจะท้าทาย “ชาร์เข้าใจภาษาไทยในระดับหนึ่ง แต่พอต้องพูดภาษาที่ใช้กันในสมัยก่อน ซึ่งมีคำที่เราไม่คุ้นเยอะ เช่น คำว่า ‘ล้อเล่น’ สมัยนั้นจะใช้คำว่า ‘ฉันเย้าจ้ะ’ ‘ฉันเย้าหนา’ หรืออย่างคำว่า ‘หนา’ สมัยนี้เราก็ไม่พูดกัน ก็ต้องตั้งสมาธิมาก อย่างพี่ฌอห์ณเองก็พูดคำว่าหนาไม่ได้ ทุกครั้งที่มีคำนี้ ต้องคัตและมานั่งไล่วรรณยุกต์กันใหม่ หรือถ้าเราจะพูดว่า ‘กองโปลิศไม่ได้มีคุณพระคนเดียว’ ในยุคนั้นก็จะพูดว่า ‘กองโปลิศหามีคุณพระคนเดียวเสียเมื่อไหร่’ ตรงนี้เลยทำให้เราต้องอ่านบทเยอะขึ้น ฝึกการพูด เว้นวรรคให้ดี จับจังหวะให้เป็น ร ล ควบกล้ำ ต้องพูดให้ถูก เรื่องภาษานี่เลยเป็นอีกเรื่องที่ต้องทำการบ้านเป็นพิเศษ”

ประสบการณ์และคำสอนคือเข็มทิศชีวิต

ถึงจะเข้าวงการมานาน แต่ชาร์เลทเล่าว่าเธอยังไม่เคยเทคคอร์สเรียนการแสดงจริงจัง ส่วนมากจะเป็นเวิร์กช็อปเรื่องแต่ละเรื่องมากกว่า แต่ที่เห็นเธอทำงานทุกชิ้นออกมาได้เยี่ยมนั้นก็เพราะได้เก็บเกี่ยวจากนักแสดงมากฝีมือที่ร่วมงาน  รวมถึงยังนำคำแนะนำจากทุกท่านมาปรับใช้ในชีวิตจริงด้วย “ชาร์ว่าตัวเองโชคดีที่เวลาทำงานก็จะได้ทำงานกับนักแสดงที่มีคุณภาพ เลยได้รับประสบการณ์ดีๆ และได้รับคำสอนดีๆ ให้เราได้พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ อย่างคุณยายมี้ (พิศมัย วิไลศักดิ์) จะสอนในเรื่องวินัยและมารยาท ท่านสอนว่าเราต้องทำงานร่วมกับคนอื่น และโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา ดังนั้นต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทุกวันนี้เป็นยังไง พอโตขึ้นอย่าเปลี่ยน ให้รู้ว่าเรามาเริ่มจากไหน ส่วนป้าจิ๊ก็จะสอนในเรื่องความรับผิดชอบ เพราะป้าจิ๊รู้ว่าชาร์เรียนด้วย ทำงานด้วย เลยบอกว่าชาร์เฉลี่ยการเรียนกับการทำงานแบบนี้ดีแล้ว ให้ทำแบบนี้ไปตลอด อย่าทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับพี่ฌอห์ณ ก็สอนชาร์ว่าถ้าทำงานกับใคร ให้เราเทใจให้เขาร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะทำอะไร ทำด้วยใจ เราไม่รู้หรอกว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร แต่เราเองจะไม่เสียใจเพราะเต็มที่กับสิ่งนั้นไปแล้ว ซึ่งชาร์ได้นำคำแนะนำเหล่านี้มาใช้กับชีวิตประจำวันค่ะ”

ได้หลายอย่างและแทบไม่เสียอะไร

หลายคนอาจมองว่าชาร์ทำงานตั้งแต่เด็ก เลยทำให้เราเสียโอกาสในการใช้ชีวิตเด็กหรือชีวิตวัยรุ่นไป แต่ชาร์กลับไม่คิดอย่างนั้น ชาร์มีเพื่อนที่น่ารักทุกคน คอยเขียนงานไว้ให้ว่าทำอะไรไว้บ้าง คอยถามว่าวันนี้ทำงานหรือเปล่า เพราะจะได้ดูว่าต้องทำอะไรเผื่อชาร์บ้างไหม ถ้าย้อนกลับไปในช่วงมัธยม ด้วยความเป็นเด็กทำให้เรามีอะไรสนุกๆ ให้เล่น ให้ทำหลายอย่างในโรงเรียน แม้จะต้องแบ่งเวลามาทำงานบ้าง แต่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา เต็มที่เลยคือคงคิดว่าเราจะสอบวิชาเลขได้คะแนนเท่าไหร่ เพราะไม่ถนัดเอาเสียเลย (หัวเราะ) พอสอบเทียบออกมาแล้วเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ทุกอย่างยิ่งสนุกขึ้น เพราะชาร์เลือกเรียน ‘สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล’ ที่ มศว. คราวนี้เราแบ่งเวลาได้ ถ้าเรียนเช้า ก็ไปถ่ายละครบ่าย ช่วงที่เรียนก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะได้เรียนเรื่องกล้อง เรียนเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานของเรา ทำให้มีความสุขในการที่จะทำงานทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องมีวินัยพอตัว เพราะต้องรับผิดชอบมากกว่าคนอื่นด้วยค่ะ”

กำลังใจจากต่างแดน

หนึ่งในกำลังใจชั้นดีในการดำเนินชีวิตของชาร์เลท คือความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของคุณพ่อที่อยู่ต่างแดน “พ่อของชาร์เป็นคนเยอรมัน และอยู่ที่เยอรมนี พี่สาวของชาร์ก็เรียนต่ออยู่ที่โน่น ส่วนชาร์ก็อยู่กับแม่ที่ไทย แต่ก็ไปหาพ่อทุกปี พอพ่อรู้ว่าชาร์ได้แสดงเป็นนางเอกเรื่องนี้ก็ถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจ พูดว่า ‘ทำไมลูกพ่อสวยอย่างนี้’ (หัวเราะ) แล้วก็ตั้งใจดูงานของชาร์ทุกเรื่อง แม้ว่าจะฟังภาษาไทยไม่ออก แต่ก็จะคอยถามว่าทำไมต้องแต่งตัวแบบนี้ ซึ่งหมายความว่าเขาตั้งใจดูชาร์จริงๆ ค่ะ พอมาถึงเรื่องพระนคร ๒๔๑๐ พ่อก็ถามว่าออนแอร์หรือยัง แพลตฟอร์มไหน เราก็คอยส่งข่าวค่ะ”

เป็นตัวเองนี่แหละดีที่สุด!

การทำงานเป็นนักแสดงมักตามมาด้วยความคาดหวังจากแฟนๆ ว่าตัวจริงจะต้องเป็นคนแบบที่ตัวเองคิด ซึ่งกลายเป็นความกดดันของพวกเขาที่ต้องทำตัวให้ดูดีในสายตาคนอื่นตลอดเวลา แต่นั่นยิ่งกลับทำให้ชาร์เลทค้นพบว่า เป็นตัวเองเนี่ยดีที่สุดแล้ว “หนูว่านักแสดงบางคนอาจมีความรู้สึกไม่มั่นใจเวลาที่คุยกับคนอื่น เพราะการเป็นคนสาธารณะในระดับหนึ่ง ทำให้สามารถถูกตัดสินได้ง่ายมาก อย่างเช่น แค่เดินแล้วไม่หันมา คนอาจจะมองว่าหยิ่ง พูดเยอะไป คนอาจบอกว่าพูดเยอะ พูดน้อยไปเขาอาจมองว่าไม่มีทักษะทางด้านสังคม เราทำอะไรก็มีจุดแย้งได้ตลอดเวลา ไปๆ มาๆ เลยทำให้ไม่กล้าพูดหรืออะไรเพราะกลัวโดนตัดสิน แต่ชาร์พบว่าบางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นตัวเอง เพราะในการทำงาน เราก็ไม่ได้เป็นตัวเอง ต้องเป็นโนรี ต้องเป็นตัวละครตัวอื่น ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวเองแล้วเดือดร้อนคนอื่นนะคะ เราต้องเฉลี่ยดีๆ ชาร์เองถึงตอนนี้ก็มีกังวลบ้างเหมือนกันในเรื่องมารยาทของเรา ว่าแบบนี้โอเคหรือเปล่า เราทำให้ใครรู้สึกไม่แฮปปี้ไหม เราใช้โทนเสียงที่ไม่เหมาะกับผู้ใหญ่หรือเปล่า แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องคอยดึงตัวเองออกมาจากความคิดเหล่านี้และเป็นตัวเองแบบสบายๆ บ้าง”

 

“การเป็นนักแสดง ทำให้เราเป็นคนสาธารณะในระดับหนึ่ง เลยถูกตัดสินได้ง่ายมาก แค่เดินแล้วไม่หันมา คนอาจจะมองว่าหยิ่ง พูดเยอะไป คนอาจบอกว่าพูดเยอะ ทำอะไรก็มีจุดแย้งได้ตลอดเวลา ไปๆ มาๆ เลยทำให้ไม่กล้าพูดหรืออะไรเพราะกลัวโดนตัดสิน แต่ชาร์คิดว่าบางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดคือ การเป็นตัวเองนะคะ เพราะในการทำงาน เราก็ไม่ได้เป็นตัวเอง ต้องเป็นตัวละครตัวอื่น ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวเองแล้วเดือดร้อนคนอื่น เราต้องเฉลี่ยดีๆ

เป้าหมายคือ ‘มีความสุข’

เราถามว่าเป้าหมายของชาร์เลททั้งในระยะสั้นและระยะยาวคืออะไร สาวน้อยหน้าใสนิ่งคิดไปนิดหนึ่งก่อนตอบว่า “ตอนเด็กๆ เคยคิดว่าโตไปอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอถึงวันที่เราโตขึ้นจริงๆ ก็พบว่า การโตไปอยากเป็นอะไร ไม่ได้จบอยู่ที่อาชีพ แต่มันคือชีวิตค่ะ ซึ่งตั้งแต่ใช้ชีวิตมา ชาร์รู้สึกแค่ว่าอยากมีความสุขแค่นั้น แล้วความสุขของชาร์คืออยากทำอะไร ทำ แล้วทำให้เต็มที่ เพราะเคยมีบางครั้งที่เราทำไม่เต็มที่กับบางอย่างแล้วมารู้สึกเสียดาย เพราะบางเรื่องเกิดขึ้นได้แค่ครั้งเดียว ความรู้สึกนั้นเป็นความรู้สึกที่แย่มาก เลยไม่อยากรู้สึกแบบนั้นอีก จากนั้นเราก็เต็มที่กับทุกอย่าง ที่คิดและทำแบบนี้เพราะไม่อยากใช้คำว่า ‘รู้งี้’ กับชีวิตตัวเองอีกค่ะ”

Don`t copy text!