‘แสนแก้ว’ เจ้าของนวนิยายเรื่อง ‘รักหวานน้ำตาลน้อย’ นักเขียนที่วาดหวังให้คนอ่านอิ่มกาย อิ่มใจ และมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง

‘แสนแก้ว’ เจ้าของนวนิยายเรื่อง ‘รักหวานน้ำตาลน้อย’ นักเขียนที่วาดหวังให้คนอ่านอิ่มกาย อิ่มใจ และมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

นอกจากจะชวนคุณผู้อ่านมาร่วมเปิดไพ่ในเรื่อง ‘พลิกรักทำนายใจ’ ล่าสุด ‘แสนแก้ว’ ยังได้เขียนผลงานเรื่องใหม่ ‘รักหวานน้ำตาลน้อย’ ให้กับ เพจ Panomrungrice ชักชวนคนอ่านผ่านตัวหนังสือให้เพลิดเพลินไปกับชีวิตรักของพระนางโดยมีการออกกำลังกายและการรับประทานเมนูต่างๆ ที่ชวนให้ท้องร้องจ๊อกๆ ร่วมวงด้วย ว่าแต่ผลงานเรื่องรักหวานน้ำตาลน้อยมีที่มาที่ไปอย่างไร และแสนแก้วอยากนำเสนออะไรให้แก่ผู้อ่านบ้าง มาคุยกับเธอกันค่ะ

ฟิตเนสเซ็นเตอร์ & ร้านอาหาร

รักหวานน้ำตาลน้อยว่าด้วยเรื่องของคนสองกลุ่ม คือสาวๆ เทรนเนอร์และทีมเชฟหนุ่มที่ต้องมาใช้ชีวิตใกล้กันและมีเรื่องราวชวนหยุมหัวกันตลอด “ที่มาของการเขียนเรื่องรักหวานน้ำตาลน้อย มาจากความร่วมมือของเว็บไซต์อ่านเอากับข้าวพนมรุ้งที่ต้องการนำเสนอนิยายเกี่ยวกับอาหารให้ลูกเพจได้อ่านกันค่ะ ซึ่งครั้งนี้พี่หมอโอ๊ต (นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ) เปิดโอกาสและชวนให้ทิพย์เขียน ทิพย์จึงถ่ายทอดเป็นเรื่องราวในคอมมูนิตี้มอลล์แห่งหนึ่งซึ่งมีฟิตเนสติดกับร้านอาหาร โดยตัวละครฝั่งฟิตเนสที่เป็นกลุ่มผู้หญิงกับฝั่งร้านอาหารที่เป็นผู้ชายนั้น บางคู่ไม่ถูกกัน บางคู่แอบชอบกัน บางคู่ก็จีบๆ กัน และยังมีเรื่องของพวกลูกค้าร้านอาหารกับฟิตเนสมาเกี่ยวข้องด้วย มีอาหารเข้ามาเป็นส่วนเชื่อมเพื่อเพิ่มรสชาติให้เรื่องราวมีความหมายและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารเพื่อลูก เมนูอาหารเพื่อคุณแม่ เมนูที่ใช้เป็นสื่อไปบอกรักอีกฝ่ายหนึ่งฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีการเล่าถึงในนิยายค่ะ

ถ้าจะให้นิยามสั้นๆ ถึงนิยายเรื่องนี้ รักหวานน้ำตาลน้อยเป็นเรื่องราวของสุวิมล เทรนเนอร์สาวที่วันหนึ่งก็มีเรื่องป่วนขึ้นมาเนื่องจากมีเชฟหนุ่มมาเปิดร้านอาหารติดกับฟิตเนสด้วยจุดประสงค์บางอย่าง นำพาให้เรื่องรอบๆ ตัวของสุวิมลวุ่นวายไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันความผูกพันระหว่างแก๊งเชฟหนุ่มกับกลุ่มเทรนเนอร์สาวก็ค่อยๆ ถักทอขึ้นมา ตัวละครฝั่งเทรนเนอร์ได้แก่ ปวริศา สุวิมล ติณณา ส่วนฝั่งเชฟมี ต้น ธิติ เซเลบริตี้เชฟหนุ่ม ออกรายการโทรทัศน์ อารมณ์เชฟกระทะเหล็ก มีเชฟแสงเหนือและเชฟแลมโบ ธนดล เป็นผู้ช่วย

สาเหตุที่เล่าเรื่องเทรนเนอร์กับเชฟก็เพราะว่า ในการดูแลสุขภาพนั้น อาหารดีมีประโยชน์กับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมต้องมาควบคู่กัน ทิพย์จึงแทนสองปัจจัยสำคัญนี้ด้วยตัวละครเชฟกับเทรนเนอร์  ประกอบกับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากชีวิตจริงด้วย เพราะปีนี้ได้ไปออกกำลังกายที่ฟิตเนสและมีเทรนเนอร์ส่วนตัว ซึ่งตัวละครที่ชื่อจอย หรือสุวิมล ทิพย์ก็หยิบยกมาจากเทรนเนอร์ของตัวเอง เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็กแต่แข็งแรงมาก จิตใจเข้มแข็ง และยังมีทัศนคติดีด้วย ทำให้เรามองว่าผู้หญิงที่ยกลูกเหล็กได้ยี่สิบ สามสิบกิโล แขนขาเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ  อึดถึกทน กระฉับกระเฉง ไม่จำเป็นต้องเป็น LGBTQ+ เสมอไป แต่สามารถเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่พอออกจากยิมแล้วก็แต่งหน้าสวย รักสวยรักงาม เป็นกูรูสกินแคร์ได้เหมือนกัน คาแร็กเตอร์เขาน่าสนใจดีเลยหยิบมาเป็นนางเอกซึ่งเขาก็รู้ตัวค่ะ (หัวเราะ)”

สำหรับโลเกชั่น ทิพย์ได้ไอเดียมาจากสถานที่จริงเช่นกัน “ฟิตเนสที่ทิพย์ไปออกกำลังกายอยู่ในคอมมูนิตี้มอลแห่งหนึ่ง โดยตัวฟิตเนสตั้งอยู่ติดกับคาเฟ่ที่มีเจ้าของเดียวกัน ตรงนี้แหละที่ทำให้ทิพย์คิดและตั้งคำถามขึ้นมาเล่นๆ ว่า ถ้าคาเฟ่นี้ไม่ได้มีเจ้าของเดียวกันกับฟิตเนส  แต่เป็นร้านอาหารของคู่อริล่ะ จะเป็นอย่างไร  แล้วถ้าเชฟคือฝั่งผู้ชาย เทรนเนอร์คือฝั่งผู้หญิง ซึ่งดูตรงข้ามก็น่าจะสนุกดี และถ้ามีสถานการณ์ต่างๆ เข้ามาทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องเข้ามาหยุมหัวหรือร่วมกันแก้ปัญหาก็คงเป็นเรื่องราวที่มีรสชาติค่ะ”

แฟนตัวยงรายการแข่งขันทำอาหาร

โชคชะตาหรือฟ้ากำหนดก็ไม่รู้เหมือนกันที่ทำให้นักเขียนสาวของเราคนนี้ชื่นชอบรายการแข่งขันทำอาหารแบบติดหนึบ ดังนั้นเมื่อได้รับโจทย์ว่า ให้เขียนนิยายที่มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับอาหาร แสนแก้วจึงตื่นเต้นมากที่จะได้นำสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบออกมาถ่ายทอดในรูปแบบงานที่เธอถนัด

“ทิพย์ชอบดูรายการแข่งขันทำอาหารมาก ดูทุกรายการ ทุกเทป เลยรู้จักเชฟในทีวีเยอะ และได้รู้ว่ากว่าจะออกมาเป็นอาหารอร่อยๆ สักจาน คนในครัวต้องทำงานกันอย่างพิถีพิถัน มีกระบวนการออกแบบเยอะมาก อีกทั้งบรรยากาศในนั้นยังเต็มไปด้วยความเครียดและความกดดันด้วย

แล้วพอถึงช่วงที่ผู้เข้าแข่งขันนำจานอาหารไปเสิร์ฟให้คณะกรรมการชิม ทั้งเขาและเราต่างก็ลุ้นกันว่ากรรมการกินแล้วจะชอบไหม ว้าวไหม เอ๊ะไหม ซึ่งทิพย์ได้หยิบโมเมนต์ตรงนี้มาใส่ไว้ในเรื่องด้วย ดังนั้นหลายๆ ครั้งคนอ่านจะได้เห็นช่วงเวลาน่าตื่นเต้นแบบนี้ เช่น ตอนที่เชฟต้นทำอาหารให้ลูกซึ่งก็คือต้นข้าว แต่ต้นข้าวไม่ชอบกินผัก เขาก็หาทางออกโดยการทำซูชิที่โรลใส่ผักไว้ด้านในแต่โปะเนื้อสัตว์ไว้ด้านบน พอเอาไปเสิร์ฟก็ลุ้นว่าต้นข้าวจะจับได้ไหมว่าข้างในมีผัก ผลคือต้นข้าวไม่รู้และกินได้อย่างอร่อยมากด้วย โมเมนต์แบบนี้เป็นอะไรที่ประทับใจดี เลยอยากนำมาเล่าไว้ค่ะ”

จะดีแค่ไหนถ้าเทรนเนอร์กับเชฟได้ดูแลกัน

การมีเทรนเนอร์ส่วนตัวทำให้ทิพย์มีโอกาสสังเกตชีวิตของคนกลุ่มนี้และพบว่ามีอีกหลายด้านที่เรานึกไม่ถึง “ภาพลักษณ์ของเทรนเนอร์คือคนที่มีร่างกายแข็งแรงมาก แต่ทิพย์พบว่าพวกเขาก็มีอาการเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง เพราะเขามีหน้าที่ดูแลคนอื่นให้มีสุขภาพดี แต่กลับยุ่งจนไม่มีเวลาให้ตัวเอง พวกเขาเทรนลูกค้าวันละหลายชั่วโมง เลิกงานดึก ทำงานหกวันต่อสัปดาห์ จึงมักเจ็บขาหรือเป็นรองช้ำเนื่องจากต้องยืนเยอะ ติดหวัดลูกค้าก็มี ในทำนองเดียวกัน คนเป็นเชฟมีหน้าที่ทำอาหารให้คนอื่นอิ่ม แต่ตัวเองก็ไม่แคล้วต้องกินอาหารไม่ตรงเวลา เพราะว่าเวลาที่คนอื่นกินข้าวคือเวลาที่งานยุ่ง ทิพย์เลยคิดว่า ถ้าคนสองอาชีพนี้ที่มีหน้าที่ดูแลคนอื่นได้หันมาดูแลกันและกัน จะเป็นอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องน่ารักที่ได้เติมเต็มให้กันนั่นเอง”

นอกจากนี้ แสนแก้วยังพบว่าความท้าทายในการเขียนนิยายเรื่องนี้หลักๆ คือ ไทม์ไลน์ หรือการลำดับเวลา “เนื่องจากมีตัวละครหลายตัว แล้วแต่ละตัว แต่ละคู่ก็มีเรื่องราวของตัวเอง การบ้านคือ ทิพย์จะเล่ายังไงให้ไม่สลับไปสลับมาจนอาจทำให้คนอ่านสับสนได้ ในที่สุดก็มาลงตัวว่า จะเล่าตามเทศกาลในหนึ่งปี เริ่มตั้งแต่วันเด็ก วันวาเลนไทน์ สงกรานต์ วันแม่… ว่าแต่ละอีเวนต์จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เลยกลายเป็นที่มาของชื่อร้านพระเอกว่า ‘ฤดูกาล’  ส่วนชื่อเรื่องรักหวานน้ำตาลน้อยนั้นหมายถึง ความรักที่มาพร้อมกับความห่วงใยสุขภาพ เพราะรักเธอนะ เราถึงทำเมนูที่ใส่น้ำตาลน้อยให้กิน ทำนองนี้ค่ะ”

 อ่านไปก็หิวไป

ใครที่ได้อ่านเรื่องนี้ไปบ้าง แล้วถ้าคุณรู้สึกว่าอ่านไปหิวไป ความจริงเราคือเพื่อนกัน และนั่นยังเป็นความตั้งใจของนักเขียนด้วยที่อยากให้นักอ่านอย่างเราๆ ท้องร้องขณะอ่าน

“ในเนื้อเรื่องจะเล่าถึงเมนูอาหารค่อนข้างเยอะ โดยที่อาหารจะไม่ได้มีดีแค่รสชาติและหน้าตาเท่านั้น แต่ยังมีความหมายในตัวเองด้วยว่า ทำไมถึงต้องเป็นเมนูนี้ ณ จังหวะนั้น เช่นว่า เป็นอาหารที่เต็มไปด้วยความห่วงใย เป็นอาหารที่มาจากความทรงจำ เป็นอาหารที่จะไปถ่ายทอดความรู้สึกของคนปรุงให้คนกินรู้ กิมมิกต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เวลากินอะไรเราจะนึกไปถึงคนทำด้วย แล้วก็ตั้งใจจะสอดแทรกเทคนิกการทำอาหารเล็กๆ น้อยๆ ด้วยค่ะ

ตอนแรกทิพย์ก็คิดนะว่า เชฟดังระดับเชฟต้นเปิดร้านอาหารแล้วทำเมนูง่ายๆ อย่าง ข้าวขาหมู ซูชิ ปลาแซลมอนทอด ไอศกรีมข้าวไรซ์เบอร์รี่ จะดูไม่สมฝีมือเชฟใหญ่หรือเปล่า แต่มาคิดอีกทีว่า ร้านฤดูกาลอยู่ที่ต่างจังหวัด ก็ต้องขายอาหารที่คนต่างจังหวัดกินและเข้าถึงได้ง่าย อีกอย่างทิพย์อยากให้เมนูสามารถเชื่อมโยงกับคนอ่านได้ด้วย คืออ่านแล้วรู้จัก หรือเห็นด้วยว่า ใช่ เมนูนี้อร่อย ถ้าเป็นเมนูที่ดัดแปลงซะเลิศหรูวิลิศมาหราจนคนอ่านนึกภาพกับรสชาติไม่ออก ก็อาจอ่านไม่สนุกได้ ทิพย์อยากให้ผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วมซึ่งฟีดแบคก็ดีนะคะ มีคนเข้ามาคอมเมนต์ว่า สนุก หรืออ่านเมนูในตอนนั้นๆ แล้วรู้สึกหิว (หัวเราะ) จริงๆ ก็มีบางเมนูเหมือนกันที่เขียนแล้วนักเขียนเองก็มาร์กไว้ในใจว่าเดี๋ยวต้องไปหากินบ้าง เช่น ข้าวขาหมู เพราะมีตอนหนึ่งที่ฝั่งพระเอกอยากจะกวนโทสะฝั่งนางเอก เลยทำโปรโมชั่นข้าวขาหมูคากิจักรพรรดิ์ลดราคาพิเศษ 50% เฉพาะลูกค้าฟิตเนส เราเองบรรยายเซ็ตขาหมูคากิไว้อลังการมาก จนอยากกินเองด้วย (หัวเราะ) และล่าสุดได้เขียนไอศกรีมข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งทิพย์เคยกินที่ตลาดนัดสมัยทำงานประจำ แต่ตอนนี้หากินไม่ได้แล้ว เลยนำมาเล่าในเรื่องด้วย เพราะอยากบอกคนอ่านว่าเมนูนี้อร่อยนะ ตอนนี้ก็อยากให้มีขายแถวบ้านจัง อยากกินอีกค่ะ

นิยายเรื่องนี้เขียนด้วยความบันเทิงใจค่ะ เป็นความสนุกบนรายละเอียดเล็กๆ แบบแสนแก้วเช่นเคย  ประสบการณ์ดีๆ ที่ทิพย์ได้จากเรื่องนี้คือ การเขียนนิยายรายตอนแบบที่ทยอยเขียน ทยอยลงเผยแพร่ เราได้เห็นฟีดแบคคนอ่านในแต่ละตอน จึงรู้ว่าคนอ่านคาดหวังจะดูเมนูอาหาร ดังนั้นตอนต่อไปเราต้องขยายเมนูอาหารให้ชัดเจนขึ้น เรียกว่าฟีดแบคจากคนอ่านมีส่วนในการปรับเนื้อเรื่อง ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของพระ-นางก็ยังแข็งแรงอยู่ เพียงแต่ว่าพอถึงช่วงเล่าเมนูอาหารก็จะลงรายละเอียดมากขึ้น

นิยายเรื่องนี้ นอกจากสะท้อนความเป็นทิพย์ในด้านการเล่าเรื่องน่าสนุกในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสอดแทรกมุมมอง ทัศนคติด้านความสัมพันธ์ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ทิพย์สนใจและคิดว่าคนอ่านก็น่าจะได้ประโยชน์ เช่นว่า มีเหตุการณ์ที่สาวใหญ่คนหนึ่งมาสมัครฟิตเนสเพราะต้องการเอาชนะเมียน้อย ฝั่งยิมจึงช่วยเธอลดหุ่น ส่วนฝั่งอาหารก็ช่วยดูแลเรื่องโภชนาการ เป็นการทำภารกิจร่วมกัน และมีการให้คำปรึกษาด้วยว่าเธอควรวางตัววางใจอย่างไร รวมถึงดูแลความรักอย่างไร ปวริศาผู้เป็นเจ้าของยิมเลยได้สะท้อนดูปัญหาของตัวเองด้วย ว่าจะจัดการเรื่องค้างคาใจของเธอกับเชฟต้นอย่างไร

รักหวานน้ำตาลน้อย เป็นนิยายโรแมนติก คอเมดี้ที่ทิพย์ตั้งใจเขียนให้คนอ่านมีรอยยิ้มและความสุข นำเสนอเมนูน่าอร่อยพร้อมเทคนิคการทำอาหาร  แทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเลือกกิน เลือกดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับการมีสุขภาพดี แล้วยังมีเรื่องการออกกำลังกายสอดแทรกไว้ด้วย เพื่อที่คนอ่านจะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ยังไงฝากติดตามกันด้วยนะคะ”

 

Don`t copy text!