นครศรีหรรษา ตอน “หรอย…จังฮู้”

นครศรีหรรษา ตอน “หรอย…จังฮู้”

โดย : จันทร์เจ้า

Loading

นับย้อนหลังไปเมื่อ 40 ปีก่อน สมัยที่การสื่อสารยังไม่รวดเร็วเช่นทุกวันนี้

ฉันต้องไปเริ่มต้นชีวิตราชการหลังเรียนจบพยาบาลที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดทางใต้ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘เมืองคอน’ อาจารย์วิทยาลัยที่ติดต่อมาบอกว่าไม่ได้ไปคนเดียว แต่มีเพื่อนๆ ไปด้วยถึง 13 คน พวกเรานักเรียนทุนส่วนตัวที่ไม่ได้ติดต้นสังกัดที่ใดจึงพร้อมใจกัน “ไปก็ไป”

ต้นปี 2528 พวกเราพยาบาลสาวน้อย 13 คน ได้เดินทางโดยรถไฟจากสถานีหัวลำโพง โดยมีอาจารย์ วิทยาลัยพยาบาลเดินทางไปส่งด้วยรถไฟ ทางโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชจัดให้พวกเราพักที่แฟลตซึ่งสร้างใหม่ 4 ชั้น ด้านหลังโรงพยาบาลติดถนนพัฒนาการ มองไปเวิ้งว้างเป็นทุ่งนา เราอยู่กันห้องละสองคน มีห้องน้ำเสร็จสรรพ แต่ส้วมยังเป็นแบบนั่งยองๆ นะ ทันสมัยสุดๆ แล้ว

วันรุ่งขึ้นได้ทำการปฐมนิเทศน์ ชี้แจง และทำการจำหน่ายจ่ายแจกไปยังตึกผู้ป่วยต่างๆ ฉันและเพื่อนอีกหนึ่งคน ได้อยู่ตึกอายุรกรรมหญิง พี่หัวหน้าตึกพาไปตึกใหญ่โตทันสมัย คนไข้ๆๆๆ โอ… ทำไมมันช่างมากมายขนาดนี้ พวกเราเคยฝึกงานตอนเรียนพยาบาลตึกนึง คนไข้แน่นสุดไม่เกิน 25 คน

ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ภาษาพูด สำเนียง อาหารการกิน ศัพท์แสงต่างๆ ทำให้ฉันต้องปรับตัวแทบจะขอย้ายกลับกันเลย แต่ฉันคิดว่าลองดูสักตั้ง คนอื่นอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ ประสบการณ์ต่างๆ สร้างความประทับใจไม่รู้ลืม บางเรื่องขบขัน บางเรื่องหัวเราะไม่ออก

เช้าวันแรก พวกเราตื่นแต่เช้า รีบเดินจากหอพัก ไปจนถึงด้านข้างโรงพยาบาล มีเพิงร้านค้ายาวเป็นแถว ส่วนมากขายข้าวราดแกง บางร้านขายก๋วยเตี๋ยว บางร้านก็ขายพวกของใช้ที่จำเป็นของคนไข้

ด่านแรกมาแล้ว เราต้องผ่านไปให้ได้ ไม่งั้นอด!

พวกเราชวนกันเดินเข้าไปร้านขายข้าวร้านแรก ไปยืนมุงดูตู้กระจกใสที่ใส่กับข้าวไว้เรียงราย ดูน่ากินทั้งนั้น ส่วนมากเป็นแกงกระทิสีส้มอมเหลือง มีปลา มีผัก เอ๊ะ น่าจะกินได้นะ แม่ค้าก็ยิ้มแย้มดี รีบตักข้าวใส่จาน รอพวกเราเลือกแกง

แม่ค้า : เอาไรดีค้า คุณหมอ

พยาบาล 1 : แม่ค้า แกงส้มอะไรจ๊ะ

แม่ค้า : แกงส้มหมูกับหัวมันขี้หนูค่า

พวกเรามองหน้ากัน ในใจคิดเหมือนกันว่า หมูเอามาแกงส้มได้เหรอ และไอ้หัวมันขี้หนูนี่คือมันอะไรว้า….

มันขี้หนู

พยาบาล 2 ชี้มือไปที่แกงกะทิที่สีเหลืองๆ บอกอย่างมั่นใจ

พยาบาล 2 : เอาแกงนี้จ๊ะ

แม่ค้าตักแกงราดบนข้าว ราดไป ตาของนางพยาบาลก็เหลือกไป ไอ้ที่คิดว่าเป็นสะตอ มันกลับเป็นเม็ดอะไรไม่รู้ สีเขียวเหมือนกันแต่มีหางยาวๆ งอกออกมาสัก 1 เซนติเมตร

พยาบาล 2 : แม่ค้า แกงอะไรจ๊ะ

แม่ค้า : แกงกะทิหน่อเหรียงกับหมูสามชั้น

ทำไงได้ สั่งแล้วก็ต้องเอาไปกิน ค่อยเขี่ยทิ้ง ถ้ากินไม่ได้บางทีมันอาจจะอร่อยก็ได้

พยาบาล 3 เห็นตัวอย่างเพื่อนแล้วรีบถามก่อน เห็นละว่าน่าจะเป็นแกงส้ม แต่ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า

ลูกเหรียง

พยาบาล 3 : อันนี้แกงอะไรป้า

แม่ค้า : แกงส้ม ลูกเถาคันกับปลาหมอ

พยาบาล 3 นึกในใจ ‘อะไรวะ ลูกเถาคัน กินเข้าไปแล้วมันจะคันมั้ย ไม่เอาๆ ดีกว่า’

เลือกกันไป ถามกันมา ป้าแม่ค้าชักจะหน้าบูด ต้องรีบสั่งที่พอจะรู้จัก แล้วกลับมานั่งโต๊ะ นั่งปุ๊บ กระจาดพลาสติกใส่ผักสดนานาชนิด มีน้ำพริกถ้วยน้อยวางตรงกลางก็วางปั๊บ พวกเรามองหน้ากัน กระซิบถามว่าใครสั่งน้ำพริก

“เปล่าๆ ฉันไม่ได้สั่งนะ”

“เธอสั่งเหรอ”

“ฉันก็เปล่านะ”

สงสัยส่งผิดโต๊ะ พอเด็กในร้านมาเสิร์ฟ ข้าวที่สั่งไว้ ฉันรีบบอกทันทีกลัวเขาคิดเงิน

น้องๆ น้ำพริกบนโต๊ะพี่ไม่ได้สั่งนะ”

เด็กเสิร์ฟอมยิ้ม ตะโกนเสียงดังลั่นออกมา

แม่… หมอเค้าบอกว่าไม่ได้สั่งน้ำพริก”

ฝั่งแม่ค้าตะโกนตอบมาเสียงดังสนั่น

“อ้าว …พวกคุณหมอไม่กินผักเหนาะกันเหรอ ไม่เก็บเบี้ยจ้า”

แล้วทั้งป้าแม่ค้ากับเด็กเสิร์ฟก็พากันหัวเราะสนุกสนาน

ฮ่าๆ กว่าจะรู้ว่า เป็นธรรมเนียมของร้านข้าวแกงในจังหวัดนครฯ ที่ต้องมีน้ำพริก ผักสด ให้กินกับข้าวทุกโต๊ะ เรียกว่าผักเหนาะ (ผักเคียงน้ำพริก) บางร้านผักมากชนิด บางร้านมีแค่แตงกวากับถั่วฝักยาว แต่ทุกร้านต้องมี ที่อลังการจานผักก็ต้องร้านขนมจีน มีทั้งผักสด ผักดอง ผักกะทิ แกงไตปลา ครบเครื่อง

น้ำพริกผักเหนาะ

กินข้าวเสร็จ คิดเงินกัน กับข้าวหนึ่งอย่าง 5 บาท สองอย่าง 7 บาท น้ำและผักสดฟรี อ่านแล้วอาจจะคิดว่า ถูกจัง อย่างนี้นางพยาบาลรวยตายเลย แต่อย่าลืมนะว่า เงินเดือนข้าราชการ ซี 3 เริ่มต้นรับที่ 2,450 บาท จ่ายเป็นเงินสดใส่ซองขาว ต้องไปเข้าแถวรับที่ห้องการเงิน เก๋ซะไม่มี ไม่ใช่โอนเข้าบัญชีเหมือนปัจจุบัน

อยู่ไปอยู่มา ฉันกลับชอบรสชาติอาหารของจังหวัดนครศรีฯ มาก กินทุกวันๆ จนอร่อย กินแกงภาคกลางแล้วรู้สึกจืดๆ ไปเลย แกงถึงจะเผ็ดแต่รสชาติเข้มข้น ผักที่ไม่รู้จักก็ได้ทำความรู้จักกับมัน บางอย่างเอามาทำให้กินได้หลายแบบ เช่น ลูกเหนียง กินดิบๆ เป็นผักเหนาะ หรือเอาไปดองก่อน บางครั้งก็เอาไปต้มจิ้มมะพร้าว เป็นของกินเล่นที่มีขายตามตลาดทั่วไป

วันหยุดนี้พวกเรานัดกันไปเที่ยววัดพระธาตุ (วัดพระธาตุวรมหาวิหาร) โดยได้สอบถามการเดินทางมาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งง่ายมาก เดินออกไปหน้าโรงพยาบาลมีรถสองแถวเล็กจอดอยู่เรียงราย คนนครศรีฯ เรียกว่ารถมาสด้า ไม่ว่ารถจะยี่ห้ออะไร ค่าโดยสารคนละ 2 บาทตลอดสาย (ถ้าให้ไปส่งในซอยคิด 3 บาท) คนขับภาษาใต้เรียกนายหัว ถ้าเรียกนายอย่างเดียวจะแปลว่าตำรวจ

วัดพระธาตุตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินเลย มีกำแพงวัดแบบโบราณยาวไปจนสุดเขตด้านซ้ายมือ จัดให้เป็นร้านค้าขายของกินของใช้ และสินค้าพื้นเมือง เช่น เครื่องทองเหลือง, สร้อยข้อมือ, ตัวหนังตะลุง และร้านขายของฝาก หลายร้านมีการทำขนมลา ขนมพื้นเมืองของนครศรีฯ กันสดๆเลย แต่ละร้านร้องเรียกให้ชิมกันเสียงขรม พวกเราพากันชิม ช้อป ของแปลกๆ อร่อยๆ กันอย่างสนุกสนาน บางอย่างก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน ฉันสะดุดตากับของในกะละมังเคลือบ มีลักษณะเป็นเส้นสีเหลืองอมน้ำตาล มีน้ำตาลเคลือบดูน่าอร่อย สอบถามได้ว่า มันคือลูกจันทร์ที่เราชอบเอามาดมหอมๆ ตอนเด็กๆ นะแหละ สมัยนี้ไม่ค่อยได้เห็นแล้ว กลายเป็นผลไม้โบราณไป

ยืนดูเขาทำขนมลาก็เพลินดี แม่ค้าตักแป้งใส่ในกระป๋องนมที่เจาะรูไว้ โรยลงบนกระทะใบใหญ่ที่เคลือบน้ำมัน ใช้ไม้พาย ม้วนเป็นแพตาข่ายอย่างชำนาญ รสชาติหวานๆ มันๆ คนใต้นิยมนำไปทำบุญในเทศกาลเดือนสิบ สมมติว่าแทนเสื้อผ้าให้กับบุพการีที่ล่วงลับ กับของกินของใช้อย่างอื่นอีกเยอะแยะ

กว่าจะหลุดออกมาได้ พวกเราทุกคนหอบของกันพะรุงพะรัง ผลักกันเล่าลีลาแม่ค้าแต่ละคน ก่อนจะปรึกษาแล้วชวนกันไปกินขนมจีนชื่อดังซอยพานยม

สมัยก่อนขนมจีนเจ้านี้อยู่ในซอย เดินเข้าไปนิดนึง เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น แต่เค้าจะมีเพิงมุงจาก ตั้งอยู่ริมรั้วประตูด้านในขายขนมจีน พี่ที่ตึกแนะนำมาว่าอร่อยมาก ต้องไปกินให้ได้

เครื่องเคียงขนมจีน ผักและแกงไตปลา

ขนมจีนจานละ 5 บาท อร่อยสมคำร่ำลือ หอมกะทิเข้มข้น เนื้อปลาที่ใส่เยอะมาก กินกับผักสดนานาชนิด ผักใส่มาถาดเบ้อเร่อ เป็นสิบชนิด เมืองนครขึ้นชื่อเรื่องขนมจีนมาก อร่อยแทบทุกเจ้า โดยเฉพาะอำเภอขนอม อาจเป็นเพราะปลาที่ใช้สดจริงๆ

ผักเหนาะ

ขนมจีนพานยม ต่อมาโด่งดังกลายเป็นขนมจีนเมืองคอน เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ใครมาต้องมากิน ร้านก็ปรับปรุงต่อเติมจนใหญ่โต หลังๆ นี่ฉันไม่ได้ไปนานแล้ว ไม่รู้ตอนนี้ขายจานละกี่บาท รสชาติอร่อยอย่างไรต้องลองไปชิมดู

ร้านขนมจีนในเมืองนครฯ อร่อยแทบทุกเจ้า แต่ละคนก็มีร้านประจำที่ชื่นชอบในรสชาติ ทุกร้านจะมีน้ำยากะทิ, น้ำพริก, น้ำยาป่า (ไม่ใส่กะทิ) แกงไตปลา, แกงเขียวหวานไก่ ที่บางร้านก็มี บางร้านก็ไม่มี ของเคียงที่กินกับขนมจีนที่เข้ากันมากก็คือ ไก่ทอด, ไข่ต้ม ถ้าเป็นคนคอนแท้ๆ เค้าจะนิยมกินน้ำปน คือน้ำยากะทิตักผสมกับน้ำพริก ปอกไข่ต้มสักฟอง แถมด้วยไก่ทอดสักชิ้น ผักเหนาะเอามาตั้ง เท่านี้ก็หรอยจังฮู้แล้วพี่น้อง

ยุคสมัยปัจจุบัน ของกินภาคใต้แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันมาก เนื่องจากคนใต้อพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานกัน ไปไหนก็เปิดร้านอาหาร ขายวัฒนธรรมการกิน เป็นที่นิยมของคนถิ่นอื่น อาหารใต้ปัจจุบันเลยหากินง่าย มีแทบทุกถนน แสดงให้เห็นถึงความอร่อย ครบเครื่อง ถึงอกถึงใจคนกิน ไม่ต้องลำบากไปกินถึงถิ่น แต่จะบอกให้นะ กินอาหารใต้ที่ไหนๆ ก็ไม่อร่อยปากถูกลิ้น เท่ากับไปกินที่เมืองนครศรีธรรมราช อยากให้ไปลองดูกันสักครั้ง แล้วจะต้องร้องว่า “หรอย จัง ฮู้”

Don`t copy text!