วันที่ดอกไม้บาน

วันที่ดอกไม้บาน

โดย : เด็กหญิงเจ้าสำราญ

Loading

“อ่านเอาเล่าเรื่อง” คอลัมน์ที่รวมบทความจากผู้เข้าอบรมในโครงการ อ่านเอาเล่าเรื่อง ที่จัดโดยเว็บไซต์อ่านเอา โดยโครงการนี้ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเรื่องราวที่ประทับใจของตัวเองมาถ่ายทอดในรูปแบบเรื่องเล่า และสานฝันสำหรับทุกคนที่อยากเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นนักเขียน

มีคนเคยบอกไว้ว่าอาชีพ “ครู”  เหมือนเรือจ้างที่ทำหน้าที่รับส่งเด็กๆ ให้ถึงฝั่ง ถึงจะเป็นคำเปรียบเปรยที่ได้ยินมาเนิ่นนาน แต่มันก็ยังเป็นจริงในทุกกาลเวลา เพราะในวันที่ครูและลูกศิษย์ลงเรือลำเดียวกันมาแล้ว คนเป็นครูก็ต้องคอยกำกับ ให้ความรู้ ไปตลอดทางจนถึงฝั่ง  จะปล่อยให้เด็กคนใดคนหนึ่งตกน้ำ หรือถอดใจกระโดดน้ำหนีหายไประหว่างทางคงไม่ได้  การได้เห็นลูกศิษย์ที่พร่ำบ่น พร่ำสอนให้ตั้งใจเรียนให้จบ แล้วขึ้นฝั่งออกไปเติบโตมีเส้นทางชีวิตที่ดี  ต่อให้พายซ้ำๆ อีกกี่รอบมันก็ยังเป็นความภาคภูมิใจ

ครูทิพย์เป็นครูสายอาชีพ ที่สอนการจัดดอกไม้ อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่อายุ 22 จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ชีวิตการเป็นครูไม่เคยมีวันไหนที่ง่าย เพราะนอกจากวิชาการเรียนการสอนในห้อง ที่ต้องสู้รบปรบมือกับความแสบของเด็กๆ ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อตลอด 3 ปีของการเรียนแล้ว ครูทิพย์ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนแม่อีกคนของเด็กๆ ที่คอยตามฉุดตามดึงให้เด็กๆ  กลับมาเข้าห้องเรียน

40 กว่าปีที่แล้ว เด็กๆ ที่มาเรียนสายอาชีพจำนวนไม่น้อยต้องตื่นเช้า ต่อรถจากต่างอำเภอไกลๆ เพื่อเข้ามาเรียนในตัวจังหวัด  บางคนพ่อแม่มีทุนทรัพย์เพียงพอแค่เล่าเรียนแต่ไม่มากพอสำหรับใช้ชิวิต ก็ต้องกัดฟันอดออม อดข้าวมาเรียนเพราะอยากให้ตัวเองได้มีทักษะอาชีพติดตัว จะได้กลับไปสร้างรายเลี้ยงครอบครัว  บ่อยครั้งที่ครูทิพย์ต้องนั่งรถข้ามอำเภอ เข้าไปในหมู่บ้านลึกๆ เพื่อตามเด็กที่หยุดเรียนไปนานๆ ให้กลับมาพยายามเรียนให้จบ  เพราะเธอรู้ดีว่าวิชาชีพและการศึกษาคืออาวุธเดียวที่เด็กๆ ต้องมีติดตัว

แม้เงินเดือนครูจะไม่มาก แต่ทุกเดือนครูทิพย์จะพยายามแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้ช่วยเหลือลูกศิษย์ที่ยากจนให้ได้มีอาหารกลางวันกิน   เพราะสมัยเป็นนักเรียนเธอเองก็เคยลำบากและรู้รสชาติของความหิวมาก่อน ถ้าไม่มีคุณครูประจำชั้นของเธอในวันนั้น ก็คงไม่มีเธอในวันนี้  ครั้งหนึ่งบ้านพักครูที่เป็นอาคารไม้หลังเล็กๆ ของครูทิพย์ เคยมีลูกศิษย์ทั้งไทยพุทธและมุสลิมมากินนอนอยู่ด้วยกันมากถึง  6 คน  และทุกครั้งที่ครูทิพย์ได้รับเชิญหรือได้รับการว่าจ้างนอกเวลาราชการให้ไปช่วยจัดดอกไม้ตามงาน หรือตามวาระโอกาสต่างๆ   ครูทิพย์มักจะชวนนักเรียนของเธอไปด้วยเสมอ เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกฝีมือ แล้วยกรายได้จากการทำงานให้เด็กๆ ไปแบ่งปันกัน

แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ครูทิพย์ไม่หยุดที่จะเป็นครู ก็คือ ครั้งที่ครูทิพย์มีโอกาสถวายงานจัดดอกไม้ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วท่านมีรับสั่งว่า  “ครู..เวลาจัดดอกไม้ อยากให้ครูใช้ดอกไม้ท้องถิ่น แล้วถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ และคนรุ่นหลังให้ได้เยอะๆ นะ”  กระแสรับสั่งในวันนั้นกลายเป็นเหมือนคำปฏิญาณในใจ ที่วันหนึ่งเธอจะต้องเป็นครูที่มีหลักสูตรการจัดดอกไม้ท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้ที่มีของตัวเองออกไปให้ได้มากที่สุด

ไม่กี่ปีหลังจากวันนั้นเธอกลายเป็นครูในห้องเรียนสำหรับเด็กๆ  และกลายเป็นครูสอนอาชีพให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ในเขตพื้นที่สีแดง  ที่สอนวิชาชีพการจัดดอกไม้โดยประยุกต์ใช้ดอกไม้และวัสดุจากท้องถิ่นให้เกิดเป็นความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการจัดบายศรี, ขันหมาก หรือดอกไม้ในงานพิธีกรรมต่างๆ  และที่สำคัญเธอมีหลักสูตรการจัดดอกไม้ตามสภาพท้องถิ่น ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้นำมาใช้สอนนักเรียนในขั้นพื้นฐาน เพื่อที่ว่านักเรียนบางคนที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์มากพอในการซื้อดอกไม้แพงๆ จะยังสามารถหาดอกไม้ใกล้ตัวมาจัดได้

ในแต่ละปีการศึกษาที่ผ่านไป  ครูทิพย์เฝ้ามองเด็กๆ ที่เรียนจบ แล้วไปจากเธอไปด้วยความยินดี เธอไม่รู้หรอกว่าหลังจากนี้ เด็กแต่ละคนจะมีใครคอยเคี่ยวเข็น หรือเลือกเดินไปบนเส้นทางเดินชีวิตแบบไหน แต่อย่างน้อยๆ วิชาชีพที่เธอให้ไป ถ้าเด็กๆ ไม่ได้เรียนต่อ เพราะเงื่อนไขบางอย่างในชีวิต เขาจะสามารถนำความรู้นั้นไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้   คำพูดสุดท้ายซ้ำๆ ที่เธอบอกลูกศิษย์ก่อนการจากลาทุกครั้งที่จบการศึกษา ก็คือ “ ถ้าลำบากก็กลับมาหาครูได้เสมอ

ทุกๆ ปีของครูทิพย์ไม่เคยเงียบเหงา เพราะเด็กๆ แต่ละคนที่จบไปต่างก็กลับมาหาครู  ทุกคนไม่ได้กลับมาเพราะลำบาก แต่กลับมาด้วยความคิดถึงและของฝากเต็มไม้เต็มมือ พร้อมเรื่องราวในชีวิตที่อยากอวดให้ครูได้รู้ว่าเขาและเธอไปได้ดีแค่ไหนกับชีวิตตอนไม่มีครูคอยประคับคอง  ลูกศิษย์บางคนได้รางวัลมีชื่อเสียงในการจัดดอกไม้ระดับประเทศ บางคนไปเป็นครูแบบครูทิพย์ บางคนเปิดร้านดอกไม้หลายสาขา วิชาชีพที่ครูให้ ให้ชีวิตที่ดีกับทุกคน และไม่ว่าครูทิพย์จะย้ายไปสอนหนังสืออยู่ในจังหวัดไหน หรือแม้กระทั่งตอนเจ็บป่วยอยู่ในกรุงเทพฯ เด็กๆ ก็มักจะได้ข่าว และตามไปหาครูทิพย์ของพวกเขาเจอเสมอ เหมือนเมื่อครั้งที่ครูทิพย์เคยตามหาพวกเขาถึงบ้านในวัยเด็ก

ในวันไหว้ครู บ้านของครูทิพย์จะเต็มไปด้วยมาลัยดอกไม้ที่ลูกศิษย์แต่ละรุ่นลงมือร้อยกันเอง หรือไม่ก็เป็นพานไหว้ครูที่ทุกคนช่วยกันประดับตกแต่งจากดอกไม้ที่ครูเคยสอน เพื่อนำมันมามอบให้ครูด้วยความรัก   ถ้าเด็กๆ แต่ละคนเหมือนดอกไม้ที่รอวันผลิบาน ในฐานะครูที่คอยช่วยตัดแต่ง รดน้ำด้วยวิชาความรู้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้วจากไปโดยไม่เคยลืมเธอ  วันนี้เธอภูมิใจกับดอกไม้ทุกดอกที่เบ่งบานอย่างสวยงามกว่าดอกไม้ช่อใดๆ ที่เคยได้จัดมา 

 

Don`t copy text!