I Did It My Way…เปิดโลกนิยายของ ‘โสภี พรรณราย’

I Did It My Way…เปิดโลกนิยายของ ‘โสภี พรรณราย’

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

ถ้าพูดถึงนักเขียนที่มีผลงานที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครอันดับต้นๆ ของบ้านเรา จะต้องมีผลงานของนักเขียนชื่อดังอย่าง ‘โสภี พรรณราย’ หรือ พี่นก-สุรภี โพธิสมภรณ์ อยู่ในลิสต์นั้นด้วยอย่างแน่นอน

เพราะไม่ว่าจะเป็น ขิงก็รา ข่าก็แรง, ตุ๊กตาเริงระบำ, สาวน้อยในตะเกียงแก้ว, แม่มดน้อยตัวป่วน, อสูรน้อยในตะเกียงแก้ว, มนตราตะเกียงแก้ว, พ่อมดเจ้าเสน่ห์, วังวารี, ลูกไม้ไกลต้น, ไฟลวง ฯลฯ ต่างก็เป็นผลงานที่สามารถจับใจผู้ชมทางบ้านมาอย่างยาวนาน และเรียกได้ว่ากว่า ๔๖ ปีที่ผ่านมา พี่นกยังคงมุ่งมั่น สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากผลงานเรื่อง ‘ซ่อนรัก’ ที่กำลังมีให้อ่านกันเป็นตอนๆ ในเพจอ่านเอาจบลง เธอก็ไม่รอช้าที่จะส่งผลงานเรื่อง ‘ฉันเป็นเลขาของผู้หญิงเจ้าอารมณ์’ ให้ได้ติดตามต่อทันที

ครั้งนี้นอกจากจะเป็นการอัปเดตผลงานเรื่องล่าสุด เรายังได้พูดคุยกับพี่นกอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความน่าสนใจของนิยายเรื่องล่าสุด วิธีการทำงาน การอัปเดตเรื่องราวต่างๆ รอบตัวที่ยึดโยงกับการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงการรับมือความคิดเห็นที่หลากหลาย ฯลฯ เชื่อว่านอกจากจะเอ็นจอยไปกับบทสัมภาษณ์ที่กระฉับกระเฉงตามสไตล์ ‘โสภี พรรณราย’ แฟนๆ ยังได้มุมมองความคิดที่ตกผลึกแล้วจากนักเขียนท่านนี้มาเป็นแนวทางในการทำงานและใช้ชีวิตอีกด้วยค่ะ

จาก ‘ซ่อนรัก’ สู่ ‘ฉันเป็นเลขาของสาวเจ้าอารมณ์’

ใกล้จบแบบเต็มทีแล้วกับนวนิยายเรื่อง ‘ซ่อนรัก’ ที่ถึงแม้นักอ่านหลายท่านอยากแอบหยุมหัวปารีส นางเอกของเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่วายที่จะแอบลุ้นตามไปด้วยว่าสุดท้ายแล้ว ปารีสกับวิศร์จะลงเอยอย่างไร ซึ่งเราขอการันตีเลยว่า ถ้าเป็นโสภี  พรรณราย แล้ว นักอ่านไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

“เรื่องนี้ถูกตำหนิจากนักอ่านค่อนข้างเยอะค่ะ เพราะเขาหมั่นไส้นางเอก ซึ่งเราก็พยายามให้เหตุผลไว้แล้วว่านางเอกเคยผิดหวังกับความรักมาก่อน ดังนั้นพอจะมีรักครั้งใหม่ก็เลยเกิดความกลัว ทำให้ต้องเก็บซ่อนความรักไว้ และอาจเป็นเพราะนางเอกเก็บซ่อนมากไป คนอ่านก็เลยเบื่อกับความงี่เง่าของนางเอก และเชียร์ให้พระเอกไปมีภรรยาคนใหม่ได้แล้ว ตอนท้ายก็เลยให้นางเอกได้รับบทเรียนบ้าง เพราะพระเอกหมดความอดทน ครั้งนี้นางเอกก็ต้องง้อพระเอกบ้างแล้วค่ะ (หัวเราะ)” แล้วถ้าใครอยากรู้ว่าซ่อนรักจบอย่างไร นอกจากจะติดตามกันได้ในอ่านเอา นิยายเรื่องนี้ยังรวมเล่ม พิมพ์โดย สำนักพิมพ์บิวตี้บุ๊ค มีจำหน่ายที่ร้านนายอินทร์บางสาขาอีกด้วย

“จบจากซ่อนรัก ก็มีเรื่อง ฉันเป็นเลขาของสาวเจ้าอารมณ์ ต่อเลย และยังคงลงให้อ่านเป็นตอนๆ ที่อ่านเอาเหมือนเดิม เรื่องนี้ต้องบอกว่าใช้เวลาเริ่มบทที่ ๑ นานถึงสี่เดือน ปกติส่วนตัวแล้วจะเขียนบทที่ ๑ ยากมาก ต้องใช้เวลานานมาก แต่เรื่องนี้นานที่สุด ตอนแรกคิดไว้สองชื่อ แต่พอให้ บ.ก., ลูกสาว, หรือให้น้องๆ ช่วยเลือก เขาก็เลือกชื่อ ‘ฉันเป็นเลขาของสาวเจ้าอารมณ์’ กัน ในเรื่องเป็นการเล่าถึงตัวเอกสองคน คนหนึ่งคือเลขา อีกคนคือสาวเจ้าอารมณ์ และทั้งสองตัวละครนี้ต่างเป็นคนที่แรงด้วยกันทั้งคู่ นางเอกที่เป็นเลขาเป็นคนเก่งมาก เพียบพร้อมทั้งการศึกษาและฐานะ แต่เพราะเกิดเหตุการณ์พลิกผันในครอบครัวเลยทำให้ต้องกลายมาเป็นเลขาของสาวเจ้าอารมณ์คนนี้ ส่วนพระเอกเป็นพี่ชายของสาวเจ้าอารมณ์ ทำให้ได้มีโอกาสได้เจอนางเอกและปะทะคารมกันบ่อยๆ ตอนแรกตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้ออกมาแนวโรแมนติก คอเมดี้ แต่เขียนไปเขียนมากลายเป็นแนวโรแมนติก ดรามา เสียอย่างนั้น (หัวเราะ) เลยพยายามเขียนให้เรื่องเบาลงค่ะ

ด้วยสไตล์งานเราจะต้องสร้างสถานการณ์ให้พระเอก นางเอก ได้เจอกันตั้งแต่บทแรก เพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจจากคนอ่าน เลยต้องคิด วางแผนนาน เรื่องการเริ่มบทที่ ๑ นี้ได้รับการสอนมาจากคุณชิต กันภัย บรรณาธิการและเจ้าของนิตยสารดรุณี ที่เป็นคนเปิดสนามให้เขียนค่ะ ท่านบอกว่า ‘บทที่ ๑ สำคัญที่สุด ต้องเอาคนอ่านให้อยู่’ จึงทำให้อินกับบทที่ ๑ ของทุกเรื่องที่เขียนค่ะ”

โสภี พรรณราย สไตล์  

พี่นกได้เล่าถึงกระบวนการทำงานของตัวเองให้ฟังอย่างออกรสว่า “วิธีการเขียนงานของพี่มาจากการมองว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรก่อน พอรู้แล้วก็สร้างตัวละคร จากนั้นคือการสร้างบทที่ ๑ ซึ่งเป็นบทที่เกร็งที่สุด แต่ถ้าเขียนได้ พระเอกกับนางเอกเจอกันแล้วเราจะโล่ง จากนั้น บทที่ ๒, ๓, ๔ จะตามมาโดยที่ไม่เกร็งเลยค่ะ เพราะจะค่อยๆ เรียงลำดับเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ได้เอง ใส่รายละเอียดเพิ่มลงไปได้ว่ามีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นในแต่ละบท แต่ละตอนบ้าง ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรเลย เรื่องทั้งเรื่องจะจืด (สังเกตว่านางเอกของพี่นกมักจะเป็นนางเอกที่สู้คนด้วยนะคะ) ใช่ค่ะ พี่ชอบเขียนนางเอกแนวสู้คนมากกว่า เพราะมีอะไรให้เล่นเยอะ ในสถานการณ์ที่สร้างจะพยายามไม่ให้นางเอกเสียเปรียบมากเกินไป มีเกือบทุกเรื่องว่านางเอกต้องมีเสียเปรียบก่อนแต่ตอนท้ายก็ชนะค่ะ และเกือบ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ พระเอกนางเอกของพี่ต้องทะเลาะกัน แล้วค่อยลงเอยกัน คงจะมีแต่เรื่องซ่อนรักนี่แหละที่ทั้งคู่แต่งงานกันตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งเป็นความตั้งใจอยู่แล้ว เพื่อที่จะซ่อนรักกันค่ะ”

‘ทุกเรื่องราวที่เขียนจะเริ่มต้นจากจุดๆ เดียว’

“แรงบันดาลใจในการเขียนงานของพี่มักมาจากสิ่งรอบตัวค่ะ ยกตัวอย่างเรื่อง ‘ตุ๊กตาเริงระบำ’ ตอนนั้นไปเดินที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แล้วได้เห็นตุ๊กตาไขลานกำลังเล่นอยู่ จู่ๆ ก็คิดขึ้นมาได้ว่า ‘ถ้าพินัยกรรมอยู่ในนี้คงสนุกดีนะ’ แค่จุดนั้นจุดเดียวทำให้มานั่งเขียนนิยายเรื่องนี้ วิธีการคือหลังจากจุดประกายแล้วก็จะมาตีตารางตัวละคร ซึ่งนิยายของพี่จะมีตัวละครไม่ต่ำกว่ายี่สิบตัว และมีประมาณห้าครอบครัว ไม่ต่ำไปกว่านี้ จากนั้นก็ดึงมาโยงกันให้ได้ว่าทำไมถึงมาเกี่ยวพันกัน เช่น เป็นญาติกัน เป็นคนรักเก่าหรือศัตรูเก่า มาสร้างเสริมเติมเข้าไป

สาเหตุที่สร้างให้มีไม่ต่ำกว่าห้าครอบครัวเพราะถ้าน้อยกว่านี้เรื่องจะแคบมาก เรื่องนี้พี่คิดของพี่เองนะคะ เคยมีเหมือนกันที่สร้างตัวละครเยอะไปแล้วเขาไม่ได้ออก สุดท้ายพี่ต้องลบตัวละครตัวนั้นออกเลย และมองว่ามีตัวละครประมาณยี่สิบตัวนี่เหมาะกับเรา แต่เด่นจริงๆ มีแค่สิบถึงสิบห้าตัวก็พอแล้ว ตัวละครอื่นๆ คือเสริมเข้ามา เช่น แม่บ้าน เด็กรับใช้ ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งบางทีเราเสริมเข้ามาเพื่ออะไรบางอย่างเท่านั้นเอง เป็นตัวละครที่นานๆ ออกที แต่เราก็ต้องสร้างไว้ค่ะ”

กว่า ๔๖ ปีกับผลงาน ๑๓๙ เรื่อง

พี่นกเล่าว่า ถึงแม้จะเขียนนิยายมานาน แต่ถ้านับผลงานเรื่อง ‘ฉันเป็นเลขาของสาวเจ้าอารมณ์’ ก็เพิ่งเป็นผลงานลำดับที่ ๑๓๙ เท่านั้น

“ผลงานที่เป็นลูกรักของพี่ ถ้าเป็นแบบเบาๆ จะชอบ ‘ขิงก็รา ข่าก็แรง’ แต่ถ้าดรามาไปเลยคือเรื่อง ‘กิเลสมาร’ ค่ะ ถ้าเป็นไฮไลต์เลยคงเป็นชุด ‘ตะเกียงแก้ว’ ชุดนี้เป็นชุดที่ภูมิใจ และพอนักอ่านมาถามว่าจะมีเล่มที่หกไหม พี่จะยืนยันเสมอว่าตราบใดที่คิดให้สนุกกว่าเดิมไม่ได้จะไม่เขียน ทุกครั้งที่เขียนขึ้นมาเพราะมีความรู้สึกว่าตอนนี้สนุกกว่าตอนที่แล้ว แต่ปีสองปีนี้คงยังไม่เขียนค่ะ ตอนนี้อยากให้อ่าน ฉันเป็นเลขาของสาวเจ้าอารมณ์ก่อน (หัวเราะ) เป็นเรื่องสบายๆ ซึ่งเป็นแนวถนัดของตัวเอง แต่ถ้าจะถามว่านิยายที่เขียนสะท้อนความเป็นพี่อย่างไร เรื่องนี้ตอบไม่ได้ แต่นักอ่านที่เป็นแฟนๆ ผลงานมักพูดเสมอว่าแค่เห็นชื่อเรื่องก็รู้แล้วว่าของโสภี พรรณราย งานของพี่มักจะเป็นงานสนุกๆ เบาๆ อย่างเรื่องบอดี้การ์ดสาว ลูกตาลลอยแก้ว เจ้าสัวน้อย ผักบุ้งกับกุ้งนาง ก็สไตล์นี้ มีงานที่หนักๆ บ้างเหมือนกันค่ะแต่จะไม่มาก บางคนบอกเหมือนกันว่าเป็นแนวน้ำเน่า แต่ไม่ได้ซีเรียสอะไร ขอให้ตอนเขียนเราสนุก และคนอ่านอ่านแล้วมีความสุขก็พอแล้ว”

เสียใจได้ แต่อย่าสูญเสียความเป็นตัวเอง

นอกจากคำชื่นชมที่ได้รับจากแฟนๆ นักอ่าน พี่นกเองก็เจอคำวิจารณ์ การแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายไม่แตกต่างจากนักเขียนท่านอื่นๆ

“บอกตามตรงเลยนะคะว่าบางครั้งที่เจอคำวิจารณ์ที่ไม่ดี พี่ก็จิตตกเหมือนกัน เคยปรึกษากับนักเขียนที่สนิทด้วยเขาก็แนะนำว่าไม่ต้องสนใจ แล้วเขาเองก็โดน เหมือนเป็นเรื่องที่มาคู่กัน แต่ถึงแม้เราจะจิตตกก็ไม่เคยคิดจะไหลไปตามคำพูดของเขา บางคนก็บอกว่างานของพี่เน้นคำพูด ไม่เน้นบรรยาย ซึ่งท่าน บ.ก. ที่เป็นรุ่นพี่ที่เคารพมากท่านหนึ่งก็บอกกับเราอย่างนั้นเช่นกัน เลยพยายามปรับให้มีการบรรยายมากขึ้นเพราะต้องการปรับงานของตัวเองให้ดีขึ้น แต่สไตล์ก็คือสไตล์นะคะ ไม่อาจเปลี่ยนได้ คือยังคงเน้นบทสนทนา เพียงแต่มีการเพิ่มในเรื่องบรรยายเข้าไปเท่านั้น จะเปลี่ยนหมดไม่ได้

คำวิจารณ์กระทบเราก็จริงแต่ก็ยังต้องเป็นตัวเอง มีจุดยืนเหมือนเดิม ซึ่งถ้ามีใครมาปรึกษากับพี่เรื่องนี้ก็จะแนะนำเขาว่า เราเสียใจได้ แต่อย่าสูญเสียความเป็นตัวเอง อย่างงานของพี่จะมีลายเซ็นที่แฟนๆ นักอ่านจะรู้ว่านี่คืองานของโสภี พรรณราย ซึ่งลายเซ็นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และพี่ไม่เคยทิ้งลายเซ็นตัวเอง เราเปลี่ยนไม่ได้จริงๆ อย่าให้คำพูดเหล่านี้กระทบกับงานของตัวเอง เพราะว่ามันเป็นตัวของเราแล้ว มันเป็นชีวิตของเราแล้ว เราทำอย่างนี้มาชั่วชีวิต ยกตัวอย่างคือเคยมีคนเชียร์ให้เขียนบู๊ ก็อยากลองเขียนนะคะ อย่างคทาสิงห์ แต่พอลองเขียนไปแล้วก็พบว่าบู๊ไม่ค่อยออก (หัวเราะ) ส่วนตัวแล้วอยากลองหลายๆ แนวนะคะ ซึ่งลองได้ แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นตัวเอง ไม่ต้องไปคำนึงถึงใคร ให้กลับมายอมรับตัวเอง จะเน้นว่างานเราต้องสนุก ให้คนอ่านได้สนุกไปกับเราด้วยค่ะ”

หัวใจในงานของ โสภี พรรรณราย

เมื่อเราถามว่าอะไรในงานของ โสภี พรรณราย คือสิ่งที่จับใจนักอ่านและผู้จัดฯ จนถูกนำไปสร้างเป็นละครหลายต่อหลายเรื่อง พี่นกก็ตอบมาอย่างชัดเจนว่า “พล็อตค่ะ นี่คือหัวใจของเรื่องและเป็นสิ่งที่พี่ตั้งใจ รู้สึกว่าพล็อตของตัวเองสนุก และในเรื่องจะต้องมีสถานการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นหลายสถานการณ์ แล้วก็ค่อยๆ เคลียร์ไปทีละสถานการณ์ถึงจะสนุก บางสถานการณ์อาจเขียนได้ ๕-๑๐ บท จากนั้นค่อยเริ่มสถานการณ์ต่อไป บางสถานการณ์อาจเป็นเรื่องของพระเอก บางสถานการณ์อาจเป็นเรื่องของนางเอก หรือบางสถานการณ์อาจเกี่ยวข้องกับตัวละครอื่นๆ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ จะต้องเกี่ยวข้องกับพระเอก นางเอกเสมอ

ที่พี่สามารถคิดอะไรได้ขนาดนี้ก็เพราะเราเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ สนุกกับการอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ อ่านเรื่องพล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต รวมถึงอ่านเพชรพระอุมา ของ พนมเทียน ในนิตยสารจักรวาล นอกจากนี้ยังอ่านเรื่อง ไซอิ๋ว ไกรทอง สังข์ทอง ชัยพฤกษ์การ์ตูน มีส่งไปชิงรางวัลด้วย (หัวเราะ) ตอนนั้นหนังสือกองเป็นตั้ง เป็นคนอ่านหนังสือเยอะมากค่ะ แล้วตอนที่พี่เริ่มต้นเขียนใหม่ๆ ก็ตั้งใจจะเขียนให้เหมือน ‘จามรี พรรณชมพู’ ชื่นชอบท่านมาก นิยายของท่านสนุก พอผ่านเวลามาถึงวันนี้ยอมรับว่าเราอ่านหนังสือน้อยลงแต่ก็ยังอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน แล้วถ้ามีอะไรที่น่าสนใจจะตัดเก็บเอาไว้ ตอนนี้มีหลายแฟ้ม…ไม่มีวันไหนไม่อ่านหนังสือพิมพ์ค่ะ เรียกว่าพอตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องจับคือหนังสือพิมพ์ อ่านวันละ ๒-๓ ฉบับ ต้องอ่านให้จบก่อนถึงเริ่มอาหารเช้าได้”

นอกจากนี้พี่นกยังเป็นสายโซเชียลเช่นกัน เพราะเธอเล่าให้ฟังว่า แต่ละวันใช้เวลาอยู่ในเฟซบุ๊กไม่ต่ำกว่าสี่ชั่วโมง “ในนั้นมีเนื้อหาและเรื่องราวที่น่าสนใจเยอะมาก นอกจากนี้ก็ดูโทรทัศน์ แต่ไม่ค่อยได้ดูละคร ถ้าดูก็แป๊บเดียวค่ะ เพราะกลัวว่าจะเผลอดึงเรื่องราวของเขามาอยู่ในงานของเรา เว้นแต่ละครที่สร้างมาจากงานของเรา”

ตราบใดที่ยังมีแรงและยังคิดได้ จะไม่หยุดเขียน

ตั้งแต่เริ่มลงมือเขียนนิยายมาจนถึงวันนี้ พี่นกบอกว่าไม่เคยมีสักครั้งที่คิดว่าอยากจะหยุดเขียนเลย “พี่คิดว่าถ้าหยุดเขียนเมื่อไหร่นามปากกาเราจะตาย เลยพยายามมีผลงานตลอดเวลา แต่มีข้อจำกัดนิดนึงคือเราไม่สามารถที่จะเขียนแบบรวดเดียวจบแล้วตีพิมพ์เลยได้ ต้องมีสนามลง เป็นคนเขียนที่ต้องมีคนทวงต้นฉบับ ต้องถูกบังคับ (หัวเราะ) ถ้าไม่มีจะชิลล์ไป กิน นอน อ่านหนังสือพิมพ์ ดูโทรทัศน์ไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) เคยคิดที่จะเขียนแบบรวดเดียวจบเหมือนกันแต่ยังทำไม่สำเร็จเสียที อีกอย่างที่ทำให้พี่มีผลงานออกมาได้อย่างต่อเนื่องคือกัลยาณมิตรที่ดีค่ะ เพราะไม่ว่าจะคบกันมานานแค่ไหน เขาก็ไม่เคยทอดทิ้ง แล้วพอมาเจอนักเขียนรุ่นน้องอย่าง คุณหมอโอ๊ต ‘พงศกร’ คุณปุ้ย ‘กิ่งฉัตร’ เขาก็ยังเห็นคุณค่าของเรา ชวนให้มาเขียนลงที่อ่านเอา อีกอย่างก็พยายามบอกตัวเองเสมอว่าอย่าให้นามปากกานี้หลุดหายไปจากบรรณพิภพเด็ดขาด เพราะไม่อย่างนั้นเราจะหายไป และโชคดีที่เรายังมีสนามลง นี่คือความตั้งใจว่าจะทำงานออกมาอย่างต่อเนื่องตราบใดที่ยังมีแรงและยังคิด ยังทำงานได้อยู่ ตอนนี้เริ่มมีคนถามหานิยายเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เวทย์มนตร์ ข้ามภพข้ามชาติ บ้างแล้ว อยากให้ติดตามกันต่อๆ ไปเพราะเริ่มจะมีพล็อตขึ้นมาหน่อยๆ แล้วค่ะ”

นี่ละค่ะ โลกนิยายของ โสภี พรรณราย’ โลกที่เติมเต็มความฝัน ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานตลอดชีวิต

 

Don`t copy text!