ปารีส : เพราะชะตากรรมหรือทำตัวเอง

ปารีส : เพราะชะตากรรมหรือทำตัวเอง

โดย : นกอัญชันหางดำ

Loading

กลั่นเกลาเล่าเพลิน โดย นกอัญชันหางดำ คอลัมน์ที่ได้แรงบันดาลใจจากโลกวรรณกรรมที่มีตัวละครมากมายโลดแล่นอยู่ในใจนักอ่าน และมีเรื่องราวให้กล่าวถึงได้เสมอ คอลัมน์นี้จึงขอชวนทุกท่านมาเพลิดเพลินกับการรีวิวตัวละคร ทั้งตัวเอก ตัวร้าย และตัวประกอบ ในมุมมองเชิงเปรียบเทียบกับโลกปัจจุบัน พร้อมสอดแทรกข้อชวนคิดไว้เบาๆ

ตำนานโบราณกรีก-โรมันที่เล่าขานผ่านกาลเวลามาจนถึงคนรุ่นเรา รวมถึงวัตถุสิ่งของหรือสถานที่ที่หลงเหลืออยู่ ทำให้พอจะนึกจินตนาการเห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความรู้สึกนึกคิดและความเชื่อของคนยุคนั้น หลายเรื่องราวเป็นการเล่าถึงวีรกรรมผจญภัย ผจญคนหลากหลายประเภท (ที่มีเล่ห์เหลี่ยมไม่ต่างจากคนยุคนี้) แม้บางเรื่องไม่อาจยืนยันได้ว่ามาจากเค้าโครงเรื่องจริงมากน้อยเพียงใด ตอนเด็ก ๆ อ่านแล้วก็สนุกตื่นเต้นดี และเมื่อมาอ่านอีกทีตอนโตก็อดนึกไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะผ่านไปกี่พันปี คนเราก็วนเวียนอยู่กับกิเลสตัวเดิม ๆ นี่ล่ะ รัก-โลภ-โกรธ-หลง ไม่เปลี่ยนเลย ผลัดกันเป็นผู้กระทำและถูกกระทำอยู่ร่ำไป

ดูตัวอย่างจากตำนานเรื่องสงครามกรุงทรอยก็ได้ ต้นเหตุหลักมาจากปารีสไปลักพาตัวเฮเลน ชายาของเมนีเลียสแห่งสปาร์ตา มาอยู่ด้วยกันที่กรุงทรอย เมนีเลียสจึงไปหารือแผนการทำศึกกับพี่ชายคือ อะกาเมมนอน และเรียกระดมพลแม่ทัพนายกองมาจากหลายเมืองเพื่อยกทัพไปชิงนางกลับคืน ก่อให้เกิดศึกที่รบราฆ่าฟันผลัดกันแพ้ชนะอยู่นานร่วมสิบปี สุดท้ายพวกทรอยก็ถูกทำลายสิ้นบ้านสิ้นเมือง ส่วนพวกกรีกก็เผชิญภัยล้มตายระหว่างทาง เหลือรอดกลับไปจนถึงบ้านเกิดได้น้อยนัก

บางคนอาจจะมองว่าสงครามกรุงทรอยเริ่มมาจากน้ำผึ้งหยดเดียวหรือแอปเปิลผลเดียว แอปเปิลที่จารึกถ้อยคำหวานลวงดุจเคลือบยาพิษไว้ว่า “ของขวัญแด่เทพีผู้งามเลิศ” ทำให้สามเทพีผู้มีอำนาจสูง คือ จูโน มิเนอร์วา และวีนัส (หรือเฮรา อะธีนา และอะโฟรไดต์ ตามชื่อกรีก) ต่างอยากเป็นเจ้าของ ถกเถียงกันแบบไม่มีใครยอมใคร จึงมาให้ปารีสเป็นคนตัดสิน ตามคำแนะนำของมหาเทพจูปิเตอร์ (หรือซีอุส ตามชื่อกรีก) ปารีสผู้ซึ่งไม่ได้หยั่งรู้เหมือนกระจกวิเศษของแม่เลี้ยงสโนว์ไวต์แต่ก็ยอมรับบทเป็นกรรมการ มหาเทพีจูโนเสนอให้อำนาจที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรเป็นจอมจักรพรรดิ เทพีมิเนอร์วาเสนอมอบสติปัญญาและความเก่งกาจเชี่ยวชาญการศึกเป็นจอมทัพที่จะรบไม่แพ้ใคร ส่วนเทพีวีนัสเสนอให้เขาได้ครอบครองผู้หญิงที่สวยที่สุดซึ่งก็คือเฮเลน หลังจากฟังข้อเสนอผลตอบแทนจากเทพีทั้งสามแล้ว ปารีสก็ตัดสินใจล็อกมงฯ ลงให้เทพีวีนัสได้เป็นเจ้าของแอปเปิลนั้น เป็นเหตุให้มหาเทพีจูโนและเทพีมิเนอร์วาไม่พอใจและเลือกถือหางฝ่ายกรีกในระหว่างการรบกับทรอยในภายหลัง

แอปเปิลผลนั้นมาจากดิสคอร์เดีย (หรือเอริส ตามชื่อกรีก) เทพีแห่งความขัดแย้ง ซึ่งโกรธที่ไม่ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงแต่งงานเหมือนเทพีอื่น ๆ จึงส่ง “ของขวัญ” นั้นมากลางวงเทพีแล้วปล่อยให้ความต้องการของแต่ละนางดำเนินเรื่องต่อเอง แน่นอนว่าเทพีทุกนางต่างอยากได้เป็นเจ้าของ แต่ท้ายที่สุดก็เกรงใจจนยอมถอยกันหมด เหลือเพียงสามเทพีดังกล่าวที่ไปหาปารีส

ที่จริงปารีสน่าจะเอะใจเสียหน่อย ขนาดมหาเทพยังไม่ยอมเป็นผู้ชี้ขาดเองเลย นี่ไปเอาความมั่นใจมาจากไหนจนยอมให้ตัวเองไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้หญิง มิหนำซ้ำยังเป็นผู้มีอำนาจเต็มมือเสียด้วย แถมยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสวยความงามอีก คนที่รู้ดีเขาก็เลี่ยงกันทั้งนั้น

ประวัติความเป็นมาของปารีสนั้นแม้จะมีบุญได้เกิดในตระกูลสูงเป็นถึงลูกเจ้าเมือง หากเพราะมีคำทำนายว่าเด็กคนนี้โตขึ้นมาจะเป็นต้นเหตุของความวิบัติแก่วงศ์สกุลและบ้านเมือง ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของส่วนรวมจึงถูกนำไปทิ้งตั้งแต่แรกเกิด แต่โชคยังดีที่มีคนเลี้ยงแกะแถวนั้นมาพบเข้าและพาไปอยู่ด้วย จนเติบโตขึ้นมาและได้นางไม้ชื่ออีโนนีเป็นชายา หลังจากการตัดสินเรื่องแอปเปิลก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ปารีสได้กลับมาเจอกับครอบครัวเดิม ซึ่งเมื่อได้พบหน้าลูกที่พลัดพรากกันมาหลายปี บัดนี้กลายเป็นชายหนุ่มรูปงามแข็งแรงกล้าหาญและมีฝีมือจนชนะการประลองในงานฉลองใหญ่ประจำเมือง พ่อแม่พี่น้องก็ดีใจจนดูเหมือนจะเลิกเกรงกลัวคำทำนายเก่าแก่นั้นแล้วพร้อมต้อนรับปารีสกลับสู่ครอบครัว

ไม่รู้ว่าเพราะความรู้สึกผิดที่เคยทอดทิ้งไปหรือเปล่าจึงทำให้ไม่มีใครขัดขวางปารีสเรื่องเฮเลนได้สำเร็จ ไม่มีใครที่เด็ดขาดมากพอที่จะบังคับปารีสให้เลือกทำสิ่งที่ถูกต้องได้ หนังสือบางเล่มบอกว่าห้ามกันแล้วแต่ไม่ฟัง บางเล่มบอกว่าที่พ่อจัดขบวนเรือให้ปารีสนำกองพลออกเดินทางก็เพื่อให้ไปรับน้องสาวพ่อ (อาของปารีส) ซึ่งถูกส่งไปเป็นบรรณาการที่อีกเมืองในคราวที่เคยรบแพ้ในอดีต แต่ปารีสกลับเปลี่ยนเส้นทางไปหาเฮเลนแทน ในขณะที่บางเล่มบอกว่าเป็นอำนาจจากเทพีวีนัสที่บันดาลให้ปารีสได้สมหวังตามที่ตกลงกันไว้ ขบวนเรือจึงล่องทะเลไปจนถึงสปาร์ตาและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเมนีเลียส ซึ่งเกิดไว้ใจปารีสจนต่อมายังปล่อยให้มีโอกาสได้อยู่ในวังต่อแม้ในขณะที่ตัวเองต้องเดินทางออกนอกเมืองไปยังเกาะครีต

ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร สุดท้ายแล้วคนที่เลือกและกระทำการลักพาตัวคู่ครองของคนอื่นเช่นนั้นก็คือปารีสเอง ทั้งที่ตัวเองก็มีชายาอยู่แล้ว และไปพักอาศัยอยู่บ้านคนอื่นอย่างสุขสบายแต่ก็ยังทำลงไปได้ ถ้าจะโทษว่าเพราะครอบครัวไม่ได้เลี้ยงดูผูกพันกันมา ปารีสจึงไม่เชื่อฟังใครและคิดถึงแต่ความต้องการของตนเองมากกว่าส่วนรวม แต่ก็มีหลายบ้านที่พ่อแม่ดูแลฟูมฟักมาตั้งแต่เกิด พอโตขึ้นมาก็ไม่ได้ทำตามที่ได้รับการสั่งสอนเสมอไป ยิ่งถ้าเป็นเรื่องหน้าที่ต่อบ้านเมือง คนที่ถูกคาดหวังและวางตัวให้สืบทอดตำแหน่งน่าจะเป็นพี่ชายใหญ่อย่างเฮกเตอร์มากกว่า ดังนั้นต่อให้ไม่ถูกทิ้งปารีสก็คงไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวด ดูจากสิ่งที่เขาทำในเวลาต่อมาหรือสิ่งที่เขาเลือกจากสามเทพีก็พอจะเห็นอุปนิสัยได้อยู่บ้าง

ในสามตัวเลือกนั้นสติปัญญาเป็นสิ่งเดียวที่จะเป็นสมบัติติดตัวที่ไม่มีใครสามารถเอาไปจากเราได้ มีอำนาจก็ถูกยึดได้ ความงามก็ไม่จีรัง หญิงงามจึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่มีค่าน้อยที่สุดเพราะถ้าไม่ถูกแย่งชิงก็ต้องแก่ชราเข้าสักวันอยู่ดี แต่ปารีสก็ไม่สนใจเรื่องอื่น หลงใหลใฝ่ฝันถึงแต่เฮเลนเท่านั้น แม้อีโนนีจะขอร้องห้ามปรามก็ไม่ฟัง ในตอนจบเมื่อปารีสบาดเจ็บหนักในการรบจากการถูกลูกศรที่อาบพิษจากไฮดราอสรพิษหลายหัว ก็ต้องซมซานกลับไปขอความช่วยเหลือจากอีโนนีซึ่งรู้วิธีปรุงยาวิเศษที่จะช่วยถอนพิษดังกล่าวได้ … ต้องเป็นคนแบบใดจึงกล้ากลับไปหาคนที่ตัวเองเคยทรยศหักหลัง พอไม่ต้องการนึกจะทิ้งก็ทิ้งไป พออยากจะใช้ประโยชน์ก็กลับไปขอร้องเอาดื้อ ๆ ซึ่งแน่นอนว่าอีโนนีไม่ใจอ่อน

แอปเปิลแห่งความขัดแย้งนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่คนที่เป็นสาเหตุทำให้เรื่องบานปลายจนสิ้นบ้านสิ้นเมืองก็คือปารีสเอง จะโทษดิสคอร์เดียผู้เดียวคงไม่ได้ ในมุมของนางย่อมไม่พอใจอยู่แล้วที่ถูกละเลยไม่ได้รับเชิญไปงาน ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งเลวร้ายถึงขนาดต้องกำจัดทิ้ง เพียงแต่ต้องจัดการอย่างมืออาชีพ (ถึงจุดนี้หลักการ Conflict Management ต้องมาแล้ว) แต่ในมุมของเจ้าภาพก็เข้าใจได้ว่างานแต่งงานเขาก็ย่อมไม่อยากให้มีความร้าวฉานไม่ลงรอยมาเกี่ยวข้องด้วยจึงไม่เชิญมา ส่วนในมุมของสามเทพีก็เพียงแต่เสนอสิ่งที่สามารถมอบให้ได้ตามอำนาจที่มี ความเป็นเทพทั้งฝ่ายธรรมะและอธรรมต่างมีหน้าที่ของตนต่อมนุษย์ ไม่ว่ายุคสมัยใดคนเราย่อมมีบททดสอบให้ต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางอยู่เสมอ ถ้าเลือกถูกก็ได้อัปเลเวลไปต่อจนกว่าจะถึงจุดสูงสุด ถ้าเลือกผิดก็ร่วงหล่นตกชั้นตกอบายกันไป วนเวียนเช่นนี้จนกว่าจะออกจากเกมกรรมได้

ในตอนต้นปารีสอาจจะมีชีวิตที่น่าเห็นใจ แต่ก็ถือว่ายังดีกว่าอีกหลายเคสเพราะมีคนเมตตาเลี้ยงดูจนเติบโตมาได้มีครอบครัว เด็กที่ถูกทิ้งแต่กลับมามีชีวิตที่ดีในบั้นปลายก็มีไม่น้อย หากได้รับโอกาสและตัวเขามีความใฝ่ดีมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ไม่ได้ใช้ความทุกข์ยากน่าสงสารมาเป็นข้ออ้างให้ตัวเอง แต่ปารีสเองแม้ได้มาใช้ชีวิตแบบลูกเจ้าเมืองแล้วกลับไม่รักษาโอกาสนั้นไว้ หาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวเองแท้ ๆ เมื่อเลือกที่จะพาเฮเลนหนีกลับมาทรอย ไม่มีรายละเอียดที่ยืนยันได้ว่าเฮเลนเต็มใจตามมาหรือถูกบังคับ ถึงอย่างไรเรื่องก็คงไม่ต่างจากเดิมนักเพราะในยุคนั้นผู้หญิงคงมีข้อจำกัดอยู่มาก ถ้าไม่มีคนพาไปก็ยากจะหาทางไปอยู่ที่อื่นเองได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวปารีสเองต่างหาก ถ้ายอมตัดใจแล้วล้มเลิกแผนลักพาตัว ความเสียหายต่าง ๆ ก็คงไม่เกิดขึ้นแม้คลื่นลมแห่งโชคชะตาจะพัดพาไปจนได้เจอกับนางในฝันก็ตาม

สุดท้ายปารีสก็ต้องจบชีวิตจากพิษบาดแผล ไม่สามารถอยู่กับเฮเลนได้ยาวนาน แม้ชั่วขณะหนึ่งได้ครอบครองหญิงงามตามที่หวัง แต่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของที่แท้จริง ไม่คุ้มเลยกับสิ่งที่ต้องแลกมา ความไม่ยับยั้งชั่งใจ ไม่ไตร่ตรองเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ร้อยเรียงให้เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นโดมิโน นำพาให้เกิดความสูญเสียเกินกว่าจะเยียวยาได้ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

 

อ้างอิงจาก :

  • เทวดาฝรั่ง กรีก-โรมัน โดย อ. สายสุวรรณ
  • เหตุแห่งอีเลียด กับตำนานปรัมปรากรีก โดย นายตำรา ณ เมืองใต้
  • เทพนิยายและตำนานกรีกโบราณ โดย ดารณี เมืองมา

 

Don`t copy text!