รู้หรือไม่ เสพข่าวการเมืองมากไป อาจทำให้เป็น POLITICAL STRESS SYNDROME!

รู้หรือไม่ เสพข่าวการเมืองมากไป อาจทำให้เป็น POLITICAL STRESS SYNDROME!

โดย :

Loading

พี่หมอโอ๊ต-นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ ชวนแฟนๆ อ่านเอามาอัปเดทสุขภาพ ผ่านเรื่องใกล้ตัวและไกลตัว รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและกำลังเกิดขึ้นในสังคม ในคอลัมน์ Healthy Happy Hour by Dr. OAT เพราะสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี

ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกนะ ถ้าเราจะให้ความสนใจกับข่าวการเมือง โดยเฉพาะช่วงที่การเมืองกำลังเข้มข้นมากๆ ซึ่งคนไทยไม่ใช่กลุ่มคนเพียงประเทศเดียวที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ แต่เรื่องของการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่รู้หรือไม่ว่าถ้าเราติดตามข่าวการเมืองมากเกินไปจนเกินพอดี สิ่งที่จะตามมาคืออาจทำให้เรากลายเป็น Political Stress Syndrome หรือ PSS ซึ่งเป็นอาการเครียดที่เกิดจากการติดตามข่าวการเมืองมากจนเกินพอดีได้ โดยโรคนี้สามารถพบได้กับทุกเพศ วัย อายุแต่จะพบมากในกลุ่มที่แอคทีฟในการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน วัยเกษียณ เพราะบางท่านติดตามข่าวการเมืองตลอดเวลา

เพราะอะไรถึงเป็น Political Stress Syndrome

อย่างแรก Political Stress Syndrome เกิดจากการที่ให้เวลากับเรื่องนี้มากเกินไป อย่างที่สองคือสภาวะจิตใจ สภาวะอารมณ์เดิมที่มีอยู่ เช่น ถ้าเป็นกลุ่มที่มีสภาวะทางสุขภาพจิต เช่น เป็นคนซึมเศร้าอยู่แล้ว เป็นคนขี้โมโห ควบคุมอาการโกรธของตัวเองไม่ได้ หรือเป็นคนที่มีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ไม่ค่อยแข็งแรง พอมาใช้เวลาบวกกับสิ่งเหล่านี้เข้าไปอาจส่งผลให้อาการเดิมของตัวเองเป็นมากขึ้น เช่น อาจซึมเศร้ามากกว่าเดิม โมโหเกรี้ยวกราดมากกว่าเดิม ดังนั้นทั้งในเรื่องของเวลาและพื้นฐานทางอารมณ์เดิมนั้นสามารถส่งผลให้เกิด PSS ได้มากหรือน้อยเช่นกัน

ควรจัดเวลาในการเสพข่าวอย่างไร

มักจะมีคำถามว่า ‘ควรดูข่าววันละกี่ชั่วโมง’ ‘เท่าไหร่ถึงจะพอดี’ มาให้ได้ยินอยู่เสมอ แต่เรื่องนี้บอกเลยว่าเป็นนามธรรมเพราะคำว่ามากหรือน้อยของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันจึงอยากจะแนะนำว่าตัวเราจะเป็นผู้ที่บอกได้ดีที่สุด เช่น เมื่อไหร่ที่ดูแล้วรู้สึกเครียด ปวดหัว หายใจไม่อิ่ม โกรธ มือสั่น ตัวสั่น แบบนี้หมายถึงเยอะไปแล้ว อาจต้องลดลง แต่อย่างไรก็ดีได้มีวิจัยของสถาบันทางสุขภาพจิตของทางอเมริกา รวมถึงกรมสุขภาพจิต ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญของเราบอกมาว่า เวลาที่เหมาะสมคือ 40 นาทีแต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง หรือบางท่านบอกว่า วันละ 3 ครั้ง แต่ครั้งละไม่เกิน 20 นาที  ซึ่งเราควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยดูร่างกายตัวเองเป็นสำคัญ

อาการของ Political Stress Syndrome มีอะไรบ้าง

กลุ่มอาการ PSS แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มที่หนึ่งคือเกิดขึ้นกับจิตใจของเรา เช่น มีความกังวลมากเป็นพิเศษ กังวลว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป สถานการณ์ทางการเมืองจะเดินไปทางทิศไหน ซึ่งความกังวลเป็นเรื่องที่เกิดได้กับทุกคน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่แต่กับเรื่องนี้จนนึกอะไรไม่ออก กระทบกับชีวิตประจำวันในการทำงาน แสดงว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับเราแล้ว ซึ่งในต่างประเทศมีงานวิจัยหลายฉบับแสดงให้เห็นว่าในช่วงที่มีปัญหาทางการเมืองอย่างเข้มข้นจะมีสถิติของคนที่เกิดอาการซึมเศร้าในช่วงเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

กลุ่มที่สองคืออาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น พอเสพข่าวนานๆ ไปจะทำให้เกิดความเครียด มีอาการปวดศีรษะ ตึงที่ คอ บ่า ไหล่ บางคนส่งผลถึงพฤติกรรมการนอน เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนไปได้แป๊บหนึ่งตื่นมาเช็กข่าวแล้ว รวมถึงส่งผลเกี่ยวกับระบบสภาวะอื่นๆ เช่น ใจสั่น มือสั่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นโรคจริงๆ แต่เกิดมาจากการที่จิตใจของเราเต็มไปด้วยความกังวล ความเครียดที่ส่งผลให้ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายของรวน

กลุ่มที่สามคือเรื่องของพฤติกรรมของการอยู่ร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง โดยเฉพะต่อคนที่มีความคิดเห็นทางการเมือง หรือข่าวสารนั้นๆ ในมุมที่ต่างกันก็อาจเกิดความร้าวฉานได้ ในครอบครัวถ้ามองการเมืองไม่เหมือนกันแล้วไม่สามารถบริหารจัดการได้ก็ทะเลาะเบาะแว้งให้เห็นกันเยอะ

วิธีการจัดการกับ Political Stress Syndrome

  1. ลดการเสพข่าว ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เลิกดูเพราะอยู่ในความสนใจ แต่ควรเลือกดูแหล่งข่าวที่เป็นมาตรฐานเชื่อถือได้สัก 1-2 แห่ง ซึ่งเพียงพอแล้ว
  2. บริหารเวลาให้เหมาะสมเหมือนกับที่ได้เขียนไปแล้วข้างต้นว่าใน 24 ชั่วโมง เราควรจัดสรรค์เวลาพักผ่อนของเราให้พอ นอนให้ครบ 6-8 ชั่วโมง เวลาทำงานก็จัดสรรค์กับเวลาเสพข่าวให้ดี
  3. ต้องจัดการความเครียดของตัวเอง สำหรับเรื่องนี้แต่ละคนมีวิธีที่ไม่เหมือนกัน บางคนดูซีรีส์ บางคนนอน บางคนหาของอร่อยๆ กิน บางคนใช้วิธีออกกำลังกาย ฯลฯ
  4. สื่อสารความเห็นต่างอย่างระมัดระวัง ไม่แปลกที่เวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาแล้วจะมีความเห็นต่าง แต่การที่เราใช้อารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้งก็สามารถสร้างความขัดแย้งได้

 

ควรเตือนไหม ถ้าพบว่าคนใกล้ตัวมีอาการ Political Stress Syndrome

บอกไว้เลยว่าการที่จะเตือนคนใกล้ตัวว่าเขาหรือเธอมีอาการ PSS นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องดูว่าความสัมพันธ์ของเรากับคนใกล้ตัวคนนั้นว่าสนิทกันขนาดไหน อย่างแรกเลยคนที่เป็น PSS จะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเยอะ ถ้าทำได้ก็ควรจะชวนให้ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะไม่ชอบให้ไปชี้ว่า ‘นี่สงสัยเธอเป็น PSS แน่เลย’ ถ้าอยากช่วยเขา อาจแค่ชวนว่า ‘เดี๋ยวออกไปหาอะไรกินกันไหม’ แต่ถ้าชวนเขาออกมาแล้ว เจ้าตัวก็ยังกินไปด้วยดูหน้าจอไปด้วย เราอาจบอกว่า ‘เดี๋ยวก่อน แป๊บหนึ่ง เราอยากคุยด้วย มาคุยกันก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาติดตามก็ได้’ เรื่องเหล่านี้เป็นเทคนิกที่จะหาวิธีดึงเขาออกมา ไม่ให้อยู่กับสภาวะแบบนั้นนานเกินไป แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ยังมีนักจิตวิทยาที่จะคอยซัพพอร์ตและให้คำแนะนำได้ว่าจะหลุดออกจากภาวะแบบนี้ออกมาได้อย่างไร

อย่าลืมว่าอะไรที่มากเกินไป มักจะไม่ค่อยดี ดังนั้นเราต้องคอยเช็กตัวเองด้วยว่า ตอนนี้เราเสพข่าวการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ มากเกินไปหรือยัง

 

ถอดความและสรุปจากรายการ อาการน่าเป็นห่วง #HealthyHappyHourbyDrOAT #Anhour

 

Don`t copy text!