รู้ได้ยังไงว่าเรากำลังเป็น Shopaholic

รู้ได้ยังไงว่าเรากำลังเป็น Shopaholic

โดย :

Loading

พี่หมอโอ๊ต-นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ ชวนแฟนๆ อ่านเอามาอัปเดทสุขภาพ ผ่านเรื่องใกล้ตัวและไกลตัว รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและกำลังเกิดขึ้นในสังคม ในคอลัมน์ Healthy Happy Hour by Dr. OAT เพราะสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี

รู้ไหมว่าการสนุกกับการชอปปิงมากเกินไปอาจทำให้คุณเป็นโรค Shopaholic ได้!

โรคนี้เป็นเส้นบางๆ ของการชอบซื้อและการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งในโลกของการซื้อสินค้าอยู่ที่ปลายนิ้วของเรา อยากได้อะไรเพียงกดที่ปลายนิ้วนั้นทำให้การซื้อของเป็นไปได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก แล้วเมื่อไหร่จึงกลายเป็นความผิดปกติจนเราต้องใส่ใจ รักษา ดูแล บำบัดพฤติกรรมล่ะ เรื่องนี้ คุณหมอโอ๊ต นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ เล่าให้ฟังว่า จุดแยกกันอยู่ที่ตรงที่พฤติกรรมการซื้อได้สร้างความเดือดร้อน ส่งผลเสียกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกาย สุขภาพเงิน การเสียหายต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือเปล่า? เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดสองสามอย่างนี้ขึ้นมาจากการซื้อแล้ว หมายความว่าเราจะต้องจัดการอะไรบางอย่างแล้วละ

โรคเสพติดการชอปปิง Shopaholic นั้นมีการพูดกันมากว่าร้อยปีแล้วเห็นจะได้ โดยนักจิตวิทยาและแพทย์เยอรมันได้ให้คำนิยามของคนที่ใช้เงินในการซื้อของโดยที่ของเหล่านั้นทั้งๆ ที่ไม่ได้จำเป็นกับการดำรงชีวิต แต่มีแล้วอยากมีอีก เช่น กระเป๋าใบนี้มีแล้วแต่อยากมีทุกสี ทุกรุ่น ทุกใบ ทั้งๆ ที่ถือกันใบเดียวว่า Compulsive Buying Disorder (CBD) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งเรียกกันเล่นๆ ว่า Shopaholic และกลุ่มคนที่สามารถเป็นได้เยอะที่สุดเห็นจะไม่พ้นกลุ่มคนทำงานเพราะมีกำลังในการซื้อ มีรายได้เป็นของตัวเองแถมโซเชียลเองก็ขยันกระตุ้นต่อมชอปให้เต้นแรงอยู่ตลอด และถ้าคิดว่าผู้หญิงจะชอปเก่งกว่าผู้ชายบอกเลยว่าไม่ใช่ เพราะจากสถิติพบว่าไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรการชอปกระจายก็สามารถเข้าถึงได้ทั้งนั้น

แต่ก่อนจะเป็น Shopaholic แนะนำให้สำรวจตัวเองดีๆ ก่อนว่าแท้จริงแล้วอะไรที่ทำให้เราก้าวมาสู้โรคนี้ นั่นเพราะ Shopaholic เป็นการแสดงอาการของโรคอื่น เหมือนกับเราไอเพราะเป็นหวัด การที่เรามีพฤติกรรม Shopaholic ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับโรคที่เกี่ยวกับความแปรปรวนทางอารมณ์ สัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องของความซึมเศร้า สัมพันธ์กับเรื่องความรู้สึกด้อยค่าของตัวเอง สามเรื่องนี้จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างเกี่ยวพันกับ Shopaholic สูง โดยพฤติกรรมของการซื้อของมักทำให้เรารู้สึกดี เวลาเรารู้สึกด้อยค่า โกรธ หม่นเศร้า บางคนก็เลือกที่จะใช้การจับจ่ายใช้สอยเป็นการบำบัดความรู้สึกเหล่านั้นของตัวเอง แต่เมื่อซื้อจนเกินไปพอก็เริ่มส่งผลกับการเงิน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เกิดปัญหาบัตรเครดิตเต็มวงเงินแล้วไปเปิดบัตรใหม่ ทั้งๆ ที่ยังมีปัญหานี้อยู่ แต่ก็ห้ามความรู้สึกในการซื้อของเราไม่ได้

บางคนอาจซื้อเยอะจริงแต่ไม่ได้กระทบอะไรมากก็ไม่เข้าขั้นที่จะต้องบำบัด หรือในบางกรณีถึงมีเงินที่จะซื้อได้แต่อาจกระทบความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เช่น ซื้อเยอะมากจนบ้านไม่มีที่เก็บ ต้องเอามาวางระเกะระกะทำให้ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเริ่มมีปัญหา เริ่มทะเลาะกัน เช่น แฟนบอกว่าห้ามซื้อแต่อีกคนห้ามตัวเองไม่ได้ เลยซื้อแล้วเอาไปซ่อนไว้ในรถ ในตู้ หรือเอาไปไว้ที่อื่นก่อน พอแฟนรู้ จับได้ ที่บ้านรู้ จับได้ ก็มีปัญหากัน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องบำบัดและแก้ไขเช่นกัน

อีกอย่างของ Shopaholic คือ เวลาซื้อมาจะฟิน มีความสุข ดีใจที่ได้ครอบครอง แต่ได้มาแล้วไม่ได้ใช้ แล้วหลังจากนั้นจะรู้สึกผิดว่าไม่น่าซื้อเลย ไม่น่าใช้เงินขนาดนี้เลย แต่เดี๋ยวพอมีอีกก็ซื้ออีก แล้วจะวนกลับมารู้สึกผิดอีกเป็นวัฏจักร ซึ่งนอกจากการวนลูปของความรู้สึกที่เล่ามา

Shopaholic ยังส่งผลให้เราเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้อีก เช่น สมมติเป็นหนี้ มีปัญหาเรื่องจับจ่ายใช้สอยก็จะส่งผลเกิดความเครียด มีเรื่องของความซึมเศร้าเข้ามาได้ เพราะเล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกัน หรืออาจเป็นซึมเศร้า เครียด เลยใช้การซื้อของเป็นการแก้ปัญหา เป็นต้น

หนึ่งในวิธีแก้ไขของเรื่องนี้ได้คือการทำรายการสิ่งของที่จะต้องซื้อ ของที่จำเป็นต้องใช้ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายว่าอาทิตย์นี้ใช้ไปเท่าไหร่ และยังใช้ได้อีกเท่าไหร่ อาจดูยุ่งยากกับชีวิตแต่พอนำระบบเข้ามาจับจะทำให้คนที่เป็น Shopaholic เริ่มเห็นทุกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่าของที่เราซื้อมาไม่ได้จำเป็น เพราะตอนชอปเราไม่ได้นึกถึงสิ่งเหล่านี้ นี่จะเป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยได้ หรือตั้งกรอบของรายจ่ายเอาไว้ เช่น ล็อกวงเงินบัตรเครดิต ลิมิตตัวเองว่าเดือนนี้จะใช้เงินเท่านี้ เท่านี้ แต่ก็เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแต่เราควรจะมีหลักการเอาไว้ให้เราได้ยึดจับ

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งคำแนะนำที่มองว่าดีมากๆ คือของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขาบอกว่า Shopaholic คือการซื้อของให้ตัวเอง ถ้าอย่างนั้นเราปรับมาเป็นผู้บริจาค ให้ของที่เราซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้กับพวกเขา หรือลองไปเยี่ยมสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ผู้สูงอายุที่เขามีความขาดแคลนแล้วเราจะเห็นว่าการซื้อของเรานั้นเกินจำเป็น ยังมีคนที่ขาดและต้องการเหล่านี้อยู่ก็จะเป็นการช่วยสังคมได้อย่างหนึ่ง ทั้งยังทำให้เราหันมามองตัวเองด้วยว่าเรากินดี อยู่ดี หรือซื้อมากไปแล้วหรือเปล่า…

อ่านถึงตรงนี้แล้ว อ่านเอาขอชวนทุกคน มาสำรวจตัวเองกันค่ะว่า ตอนนี้ คุณเข้าข่าย Shopaholic แล้วหรือเปล่า?

ถอดความและสรุปจากรายการ อาการน่าเป็นห่วง #HealthyHappyHourbyDrOAT #Anhour

 

Don`t copy text!