รู้จัก IMPOSTER SYNDROME ทำไมเรายังไม่ดีพอสักที

รู้จัก IMPOSTER SYNDROME ทำไมเรายังไม่ดีพอสักที

โดย :

Loading

พี่หมอโอ๊ต-นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ ชวนแฟนๆ อ่านเอามาอัปเดทสุขภาพ ผ่านเรื่องใกล้ตัวและไกลตัว รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและกำลังเกิดขึ้นในสังคม ในคอลัมน์ Healthy Happy Hour by Dr. OAT เพราะสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี

นักร้องสาวชื่อดังระดับโลกอย่างเจโล หรือ เจนิเฟอร์โลเปซ เคยพูดว่า “Even though I had sold 70 million albums, there I was feeling like I’m no good at this.” เกิดอะไรขึ้นกับสาวสวยสุดสตรองคนนี้ เพราะการที่ขายเพลงไปได้ถึง 70 ล้านอัลบั้มนั้นเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก แต่ทำไมเธอถึงยังมีความรู้สึกว่า ‘ตัวเองร้องเพลงไม่เก่ง’ นี่เป็นเคสคลาสสิกของโรคที่เรียกว่า Imposter Syndrome หรือ ‘โรคที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง’ ทั้งๆ ที่ในสายตาคนอื่นนั้น ‘ประสบความสำเร็จมาก’

ดร. พอลลีน โรส แคลนซ์

Imposter Syndrome เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สภาพแวดล้อม การทำงาน สภาพชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงชื่อ ดร. พอลลีน โรส แคลนซ์ (Pauline Rose Clance) และ ดร.ซูซาน เอเมนท์ อิมีส (Suzanne Ament Imes) สังเกตว่ามีผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จมากๆ หลายคนที่ยังมีความรู้สึก ทำอะไรก็ไม่ดี ล้มเหลว สู้คนอื่นไม่ได้ เลยเริ่มทำการศึกษาผู้หญิงที่เป็น CEO เป็นผู้จัดการหญิง รวมถึงผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพและการงานสูงมากๆ จำนวนร้อยคน และพบว่าประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงเหล่านี้รู้สึกด้อยค่า ไม่ใช่ตัวจริง เลยจัดเป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่เรียกว่า Imposter Syndrome ซึ่ง ‘Imposter’ แปลว่า ‘ตัวปลอมม

ใครกันบ้างที่มักเป็นโรคนี้

Imposter Syndrome เป็นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่สถิติมักจะพบในผู้หญิงเยอะกว่า อาจด้วยสภาพสังคม เพราะเรามักจะเห็น CEO ทั้งหลายเป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงก็ต้องทำงานหนักมากเพื่อที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูง อีกทั้งยังเจอได้ตั้งแต่เด็ก เพราะโรคนี้จะเกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในสังคมโซเชียลที่มีการแข่งขัน ประกวดประชันกันอยู่ตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเรียนเก่งแล้วเปรียบเทียบ เช่น ‘ทำไมสู้ลูกบ้านโน้นไม่ได้’ ‘ไปเรียนพิเศษสิ ลูกบ้านโน้นยังเรียนเลย’ ซึ่งในครอบครัวที่มีการดูแลลูกหลานแบบนี้จะหล่อหลอมให้เขาอยู่ในบรรยากาศของการแข่งขันตลอดเวลา ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อไรที่ทำอะไรประสบความสำเร็จแล้วคุณพ่อคุณแม่ชื่นชม ให้รางวัล แต่ถ้าทำอะไรล้มเหลวก็จะโดนลงโทษก็จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ตอนที่เราเติบโตได้เป็นอย่างมาก

ส่วนในวัยทำงานมีการแบ่งคนเป็น Imposter Syndrome ด้วยกันสองกลุ่ม หนึ่งคือสาเหตุที่เกิดจากตัวเราเอง บุคลิกภาพที่เราจะพบบ่อยว่าเขาเป็น Imposter Syndrome คือเป็นเพอร์เฟ็กชันนิสต์ ทำอะไรต้องเป๊ะ ต้องไม่มีผิดพลาด ทำให้เวลาทำงานหรือทำอะไรจะทำหนักกว่าคนอื่น เช็คแล้วเช็คอีก และถ้าเมื่อไรที่ผิดพลาดเพียงนิดเดียวก็จะรู้สึกผิดและลงโทษตัวเองอย่างมาก สองสาเหตุจากปัจจัยแวดล้อม เช่น บรรยากาศในที่ทำงาน สิ่งแวดล้อมของสังคมที่เราอยู่ โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ใช้ชีวิตกับออนไลน์ค่อนข้างเยอะ ไปเห็นโพสต์ของคนที่ประสบความสำเร็จ ได้เงินโบนัสจำนวนมาก ทำโปรเจ็กต์แล้วได้รับความชื่นชม พอเราเสพแบบนี้บ่อยๆ ก็จะรู้สึกว่าสู้พวกเขาไม่ได้ ไม่ดีพอ

สังเกตอย่างไรว่าใช่ IMPOSTER SYNDROME

อย่างแรกเลย Imposter Syndrome คือความรู้สึกด้อยค่า สู้คนอื่นไม่ได้ ทำดีไม่พอ สำหรับเด็กถ้าอยากรู้ว่าเขาเป็น Imposter Syndrome หรือไม่ ลองสังเกตพฤติกรรมหรือความคิดดู เช่น ถ้าเด็กคนนั้นเคยสอบได้ที่ดีๆ แต่พอครั้งต่อไปตกลงมาอาจจะนิดหน่อยแต่ว่าเด็กเศร้ามาก หดหู่ สิ้นหวัง ก็ลองคุยกันและชวนให้เขาเห็นมุมมองใหม่ว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือเด็กที่เรียนเก่งอยู่แล้วแต่ขอเรียนพิเศษตลอดเวลาเพราะรู้สึกว่ายังไม่เก่งพอ อยากเก่งกว่านี้อีก ตรงนั้นอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเรียนอย่างเดียว แต่อาจมีในกลุ่มที่เล่นกีฬาด้วย เช่น เคยว่ายน้ำได้ที่หนึ่งแต่ครั้งต่อมาได้ที่สองโดยแพ้คนที่ได้ที่หนึ่งไปแค่ไม่กี่วินาที แล้วเครียดมาก เลยขอซ้อมเพิ่มจากสองชั่วโมงเป็นสี่ชั่วโมง ซึ่งแบบนี้ไม่โอเค ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตและจับตาดู สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองต้องให้กำลังใจถ้าเด็กถ้าเขาทำอะไรที่ดี แต่อย่างไรก็ตามถ้าเกิดเขาทำดีแล้วอาจเกิดผิดพลาดได้บ้างก็เป็นธรรมดาของโลกใบนี้ที่คนเราอาจมีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เก่งบางเรื่องไม่เก่งบางเรื่อง ควรสอนให้เขายอมรับ เข้าใจ รับมือกับสภาวะแบบนี้ได้ แล้วจะทำให้บุตรหลานท่านห่างไกลจากโรคนี้ หลักการสำคัญคือ ‘อย่าไปเปรียบเทียบลูกเรากับลูกคนอื่น หรือไปเปรียบเทียบลูกเรากับความสำเร็จของคนอื่น’

ทำอย่างไรเมื่อพบว่าใช่! เราเป็น Imposter Syndrome

โรคนี้ปรับได้ด้วยพฤติกรรม ทัศนคติ และวิธีคิด ถ้าเช็คแล้วว่าเราเป็น Imposter Syndrome สิ่งที่ควรต้องทำคือคุยกับตัวเอง ปรับทัศนคติของตัวเองเสียใหม่ สิ่งที่เราทำถ้าทำอย่างเต็มที่นั่นคือดีที่สุดแล้ว คนรอบข้างก็ต้องคอยให้กำลังใจว่าสิ่งที่เขาทำมันดีมาก ซึ่งก็ดีมากจริงๆ เพียงแต่เจ้าตัวรู้สึกว่ายังไม่เพียงพอ แต่ถ้าฝังลึกมาก เป็นมานานจนพัฒนาไปเป็นซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ หดหู่ เก็บตัว ตรงนั้นคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องพบผู้เชี่ยวชาญ อาจต้องปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ถ้าจำเป็นอาจต้องทานยาเพื่อช่วยปรับอารมณ์ความซึมเศร้าให้อยู่ในสภาวะที่ปกติขึ้น แล้วเราจะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดี

Imposter Syndrome นั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นปัจจัยที่เกิดจากตัวเราเอง วิธีคิดของเรา การเลี้ยงดูและเติบโตในครอบครัว เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มต้นที่ตัวเราก็สามารถแก้ได้จากตัวเราก่อนเช่นกัน ลองมองหาสิ่งที่ดีในตัวเอง ศักยภาพและความสามารถในตัวเองให้เจอ บอกตัวเองว่าเราทำอะไรได้ดีหลายๆ อย่างไม่แพ้คนอื่น ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทุกคนมีความเก่งในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ความเก่งอาจคนละด้านกัน เริ่มต้นง่ายๆ ก่อน แล้วชีวิตจะมีความสุขขึ้น อีกอย่างโซเชียลก็สำคัญ บางทีเราไปเสพ ไปเห็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จของคนอื่นเยอะๆ จนรู้สึกว่าทำไมฉันไม่มีรถ ไม่มีคฤหาสน์ใหญ่ๆ เหมือนคนอื่น ถ้าเป็นอย่างนั้นอาจต้องลดการเสพโซเชียลลงบ้าง จำกัดเวลาในแต่ละวัน อย่าอยู่กับสิ่งนี้นานเกินไป เหล่านี้ก็จะช่วยให้เราจูนชีวิตตัวเองกลับมาอยู่ในวิถีชีวิตที่เป็นปกติ

‘ทุกคนมีความเก่งและมีความดีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว อย่าลืมค้นหาให้พบและชื่นชมกับมัน’
ถอดความและสรุปจากรายการ อาการน่าเป็นห่วง #HealthyHappyHourbyDrOAT #Anhour

 

Don`t copy text!