Du Iz Tak?

Du Iz Tak?

โดย :

Loading

ฉันวางหนังสือนิทานระหว่างเรา คอลัมน์เกี่ยวกับ “นิทาน” ในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนทั้งที่เคยได้อ่านในวัยเด็กและวัยนี้ ที่ ‘ศุภสวัสดิ์’ คัดเลือกมาเล่าให้อ่านกันที่ อ่านเอา เว็บไซต์ที่ไม่ได้มีดีแค่นวนิยายออนไลน์ แต่เรายังมีคอลัมน์ต่างๆ รอให้คนรักการอ่านได้อ่านออนไลน์

**********************************

พวกเราอยู่บ้านที่กาญจนบุรีมาเกือบสัปดาห์ แม่บอกอาการคุณตาเหมือนจะดีขึ้น อาจจะมีมึนๆ ในช่วงเย็นๆ แต่หมอว่าน่าจะเป็นผลข้างเคียงของยา “หรือว่าพรุ่งนี้เราจะกลับกรุงเทพฯ กันดี แม่ก็มีงานสำคัญจะที่ต้องกลับไปทำต่อ” “แต่… ถ้าผมจะขออยู่ที่บ้านตา… แม่จะว่าไหมครับ” ริวค่อยๆ ขยับปากไม่กล้าถาม “เอ้า! ก็ตามใจนายสิ” เคนจิบอกน้องแล้วหันมามองหน้าผม “ถ้าอยากอยู่ก็อยู่ไปคนเดียว จริงไหมพี่เรียวตะ… อ๊ะ! หรือว่าพี่ก็จะอยู่ที่นี่เหมือนกัน” ผมแอบหันไปทางคุณยาย เห็นแววตาคล้ายๆ ไม่อยากให้ใครกลับ “ถ้างั้นผมอยู่กับริวเองครับ แล้วแม่ค่อยมารับเราสองคนอีกที” ผมไม่รู้ว่าคำตอบนี้จะทำให้ผมเสียใจไปอีกนาน…

หนึ่งทุ่มกว่าๆ ช่วงเวลาหลังกินข้าว อากาศยังคงร้อนอบอ้าวจนพวกเราต้องแอบย่องมาอยู่ในห้องตา ห้องที่มีเครื่องปรับอากาศเปิดอยู่เกือบตลอดเวลา ห้องที่มีคุณตานอนอยู่เป็นประจำ แต่ตอนนี้เพิ่งจะหัวค่ำแต่ทำไมคุณตาถึงยังไม่ยอมตื่น เราสามคนเลี่ยงมานั่งลงบนพื้น แล้วเคนจิก็ยืนขึ้นประกาศออกมาเบาๆ ว่าเหตุผลที่เขาไม่อยากอยู่ที่นี่ต่อเพราะอะไร.. “ข้อหนึ่งคือ Wi-Fi บ้านนี้สัญญาณไม่ดี เคนเล่นได้ไม่กี่นาทีก็หลุด ข้อสองคือผมเบื่อแบบสุดๆ วันๆ เอาแต่อุดอู้อยู่ในบ้าน ข้อสามคืออาการคุณตา เคนว่าน่าประหลาด บางทีตาก็หลับ บางทีตาอาละวาด ถ้าเกิดอยู่ๆ คุณตาลุกขึ้นมาชาร์จ เดินมาหักคอ…” “อ๋อ… แบบนี้ใช่ไหม !” ตากระโจนเข้าใส่ เอามือมาจับคอเคนจิไว้โดยที่พวกเราก็คาดไม่ถึง แต่อีกเสี้ยววินาทีนึงคุณตาก็หัวเราะออกมาที่แกล้งพวกเราได้สำเร็จ

“ตกใจหมดเลยตา” ริวว่า “นี่คุณตาตัวจริงใช่ไหม” เคนจิสงสัยแต่ไม่กล้าถามไปตรงๆ “อ้าว… ก็ตัวจริงสิ คิดว่าตาเป็นใครกันล่ะ… นี่จะสองทุ่มแล้วนะ มาๆ ใครจะฟังนิทานตาตามมาทางนี้ ตาผิดสัญญาขอโทษที เริ่มก่อนเวลาสักห้านาทีคงไม่เป็นไรเนอะ” คุณตาดูท่าทางเงอะงะผิดกับเมื่อห้าปีที่แล้ว ตาเดินไปเตะแก้วที่วางไว้ใกล้ๆ โดยไม่รู้ตัว ตามัวแต่ไล่หานิทานบนชั้นหนังสืออยู่นาน จนกว่าควานออกมาได้เล่มนึง “เจอแล้วเรื่องนี้ตาพึ่งได้มา หลานน่าจะยังไม่เคยอ่านนะ..” ตากระแอมหนึ่งทีแล้วหรี่เสียงลง “แต่ก่อนอื่น… ตามีความลับจะบอก ต้องพูดซะก่อนเดี๋ยวลืม” พวกเรามองหน้ากันไปมาเหมือนไม่รู้ว่าคุณตาจะมาไม้ไหน เราต่างคนต่างพยายามฟังอย่างตั้งใจ ความลับที่ตาเก็บไว้คืออะไรกัน “นานิกะอัตเตะโมะ ยากุโซกุโดริคาเอตเตะคิมัส โอทาไกกะวาสุเระไนโคโตะโอะเนกัตเตะมัส” ตาพูดออกมาว่าแบบนี้

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ตอนที่ 5 : Du Iz Tak? (October, 2016) โดย Carson Ellis

Carson Ellis เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.1975 ประเทศแคนาดา เธอเป็นนักวาดภาพประกอบ และนักเขียนหนังสือสำหรับเด็กที่มี Roald Dahl และ Florence Parry Heide เป็นแรงบันดาลใจและเป็นนักเขียนคนโปรดของเธอมาตั้งแต่เล็ก ปัจจุบันเธออาศัยอยู่กับสามีและลูกชายอีกสองคนที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา พร้อมๆ กับการทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบบทความ (Editorial Illustrator) ให้กับวารสาร The New Yorker, The New York Times และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ส่วนสามีของเธอนั้น (Colin Meloy) เป็นนักร้องนำและนักแต่งเพลงของวงดนตรีอเมริกันร็อกอินดี้ ‘The Decemberist’ และก็ยังเป็นนักเขียนหนังสือสำหรับเยาวชนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากวรรณกรรมไตรภาคชุด The Wildwood Chronicles อีกด้วย

ภาพวาดของ Carson Eillis ในวารสารต่างๆ และหนังสือนิทานของเธอนั้นมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เธอเคยกล่าวไว้ว่างานของเธอส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะพื้นบ้านเก่าๆ ความลึกลับ และคนบ้าๆ บอๆ เธอสนใจงานศิลปะของเด็กวัยอนุบาลที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนเรื่องการวาดภาพ เรื่อยไปจนถึงงานอาร์ตต่างๆ จากประเทศรัสเซีย ครั้งหนึ่ง Jon Klassen เพื่อนของเธอตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยได้กล่าวชมผลงานของเธอไว้ว่า ‘จริงๆ งานของคาร์สันมีความซับซ้อนแต่เธอทำให้ทุกอย่างดูง่ายขึ้นโดยไม่สูญเสียเสน่ห์ดั้งเดิมในแบบที่เธอต้องการ ผมประทับใจความเรียบง่ายนั้นมาก องค์ประกอบต่างๆ มีความเฉพาะตัว บรรยากาศของโลกที่เธอสร้างขึ้นมาดูแปลกใหม่ สวยงามแต่แฝงความโกรธและทรมานอยู่ในนั้น’

เรายังสามารถเห็นผลงานของ Carson Ellis ได้จากหนังสือวรรณกรรมเยาวชนติดอันดับขายดีหลายเล่มทั้ง The Mysterious Benedict Society ของ Trenton Lee Stewart, The Composer Is Dead ของ Lemony Snicket หรือแม้แต่ The Wildwood Chronicles: Wildwood Imperium หนังสือภาคจบในวรรณกรรมชุดไตรภาคของสามีเธอนั่นเอง ซึ่งเธอก็ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากสมาคมนักวาดภาพประกอบจากผลงานเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้ Carson Ellis ยังเป็นนักวาดภาพประกอบประจำวง The Decemberists และเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ในปี 2016 และ 2018 ในด้านการออกแบบปกอัลบั้มอีกเช่นกัน

สำหรับนิทานเรื่อง Du Iz Tak? เล่มนี้ได้รับรางวัลการันตีจาก Caldecott Honour Book Award และ E.B. White Read Aloud ในปี 2017 หลังงานประกาศรางวัลงานหนึ่ง Carson Eillis ให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันอยากจะพาเด็กๆ ไปสู่อีกโลกหนึ่งมากๆ นี่คือสิ่งที่กระตุ้นให้ฉันอยากเป็นนักวาดภาพประกอบมาตั้งแต่เด็ก หนังสือภาพพวกนี้เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักวาดภาพประกอบทุกคนและก็สำหรับฉัน ฉันอยากวาดมันให้ออกมาดีมากๆ ฉันอยากให้ทุกภาพประกอบสร้างแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างแก่เด็กๆ”

แวบแรกที่เห็นหนังสือนิทานเล่มนี้หลายคนคงอดคาดเดาไม่ได้ว่าน่าจะเป็นนิทานภาษาเยอรมัน… หรือเปล่า? และถึงจะให้เดาต่อไปก็คงไม่มีใครคาดคิดหรอกว่าแท้ที่จริงแล้วผู้แต่งตั้งใจจะเขียนออกมาเป็น ‘ภาษาแมลง’ เพราะด้วยศัพท์แสงและไวยากรณ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นให้คุ้นตา แต่ทว่าเมื่อได้ลองอ่านดูเรากลับไม่รู้ความหมายจริงๆ เลยสักตัว ทำได้แค่มั่วๆ ไปพอให้ได้เข้าใจอยู่ ผู้ใหญ่หลายคนรู้สึกไม่สนุกเพราะแปลไม่ออก อาจจะเผลอไปติดกับกรอบความคิดและกฏเกณฑ์ต่างๆ หรือบ้างก็ไปเชื่อมโยงกับความถูกผิดในใจ บางคนก็ใช้สมองประเมินอยู่ตลอดว่าต้องแปลอย่างนั้นหรืออย่างนี้ ต่างกับเด็กๆ ที่ยังไม่รู้ประสาหรือภาษา จินตนาการยังกว้างไกลได้มากกว่า สามารถจับคู่คำซ้ำแล้วถอดรหัสหาความสัมพันธ์กับคำแปลได้เองโดยเกรงกลัวความถูกผิด มักไม่ค่อยหงุดหงิดกับการไม่รู้ความหมาย ความจริงถ้าเราได้ลองปล่อยใจตามสบาย ลองสังเกตแมลงหลากหลายแต่ละตัวในพื้นที่กว้างใหญ่ที่ผู้วาดเว้นว่างไว้ให้จิตนาการ หรือใครจะลองอ่านออกเสียงดังๆ ก็อาจจะพบว่าภาษาแมลงนั้นไพเราะน่าฟังขนาดไหน

ที่น่าสนใจอีกอย่างเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้นั่นคือการถูกนำไปแปลเป็นอีกหลายภาษา ปกติหนังสือทั่วไปที่ได้รับการแปลจากภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาอื่นๆ ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก แต่สำหรับนิทานเล่มนี้ นี่คือการแปลภาษาแมลงที่อาศัยอยู่บริเวณอเมริกาให้กลายเป็นภาษาแมลงในถิ่นประเทศสเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน โปรตุเกส อิตาลี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ รวมถึงฝั่ง จีน และเกาหลีอีกด้วย จากภาษาแมลงในแบบดั้งเดิม Du Iz Tak? จึงกลายเป็น ¿Mau Iz Io? / Koi ke bzzz? / Wazn Teez? / Ké Iz Tuk? / Te to té? / Ma æ dat? / Kek iz tak? และ Hola Holla Chu Chu ในเวอร์ชั่นเกาหลี

Carson Ellis ไม่น่าใช่นักเขียนคนแรกที่เริ่มใช้ภาษาประดิษฐ์ในงานเขียนแนวแฟนตาซีหรือวรรณกรรมเยาวชนแน่ๆ แต่น่าจะเป็น John Ronald Reuel Tolkien หรือที่เรารู้จักกันในนามปากกา เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ผู้ประพันธ์นิยายระดับคลาสสิกเรื่อง เดอะฮอบบิท (1937)  และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (1954-1955) ที่เป็นผู้ค้นคิดภาษาประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในงานเขียนมากถึง 12 ภาษา ด้วยความหลงใหลในภาษาที่เขามีมาตั้งแต่เด็ก โทลคีนกับน้องชายเคยสร้างภาษาที่ใช้กันแค่เฉพาะสองคน ถึงแม้ว่าน้องชายเขาจะลืมไปหมดเมื่อโตขึ้นมา แต่โทลคีนกลับยังจำได้ดี จนเมื่อโทลคีนเริ่มสร้างงานเขียนปกรณัมของเขาขึ้น เขาจึงริเริ่มวางโครงสร้างภาษาใหม่และพัฒนาไวยากรณ์ให้สมบูรณ์จนสุดท้ายมีภาษาที่ใช้งานได้จริงถึง 2 ภาษา นั่นก็คือภาษาเควนยา (Quenya) และภาษาซินดาริน (Sindarin) ซึ่งเป็นภาษาของเอลฟ์ 2 ชนเผ่า นอกจากนี้ยังมีภาษาอื่นๆ ที่มีโครงสร้างและรูปแบบที่น่าสนใจอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น ภาษาคุซดุล (Khuzdul) ของเหล่าคนแคระทั้ง 7 ตระกูล ภาษาโรเฮียร์ริค (Rohirric) ของชาวโรฮันนักรบบนหลังม้าในทุ่งหญ้า ภาษามืด (Black Speech) ในมอร์ดอร์ที่ใช้กันในหมู่ออร์คและก็อบลิน เป็นต้น ถือว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้วางพื้นฐานทางวัฒนธรรมภาษาของโลกจินตนาการอย่างมิดเดิลเอิร์ธ (Middle-earth) อย่างแท้จริง

‘Du Iz Tak?’ อาจจะแปลว่า ‘มันคืออะไร’ หรือ ‘นั่นจะอร่อยหรือเปล่า’ ส่วน ‘Ta ta!’ ก็อาจจะแปลว่า ‘สวัสดี’ หรือ ‘ลาก่อน’ ไม่มีถูกและไม่มีผิด ขอนไม้ที่คิดว่าเป็นแค่ฉากจู่ๆ ก็กลายเป็นบ้านของแมลงที่ชื่อ Icky (หรือว่า Icky ไม่ใช่ชื่อมัน?) แมงมุม 8 ตาที่นึกว่าจะเป็นตัวร้ายก็ถูกนกกินหายไปในทันที ดักแด้ที่อยู่มาตั้งแต่ต้นก็มากลายเป็นผีเสื้อแสนสวยในตอนหลังและกลับมาอีกครั้งในสภาพแก่ชรา ฤดูกาลค่อยๆ เปลี่ยนผันจากวันที่ร้อนอบอ้าวมาเป็นหนาวเย็น จากยามเช้าเข้าสู่ยามราตรี จากฤดูใบไม้เปลี่ยนสีกลับมาเป็นใบไม้ผลิอีกหน เติบโต งอกงาม เบ่งบาน เหี่ยวเฉา และตายไป ความเยาว์วัยที่ค่อยๆ ร่วงโรยไปทีละนิด จากโศกนาฏกรรมอำลา ‘Ta ta!’ ครั้งแรก มาสู่สุขนาฏกรรมหรรษา ‘Ta ta!’ อีกครั้ง ถ้อยคำที่เปล่งออกมาด้วยความหวัง ‘Ru daddin doodin unk furt!’

นิทานเรื่องนี้สอนผมให้มองโลกในแง่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเมื่อมีการเริ่มต้นก็ย่อมต้องมีที่สิ้นสุด แต่แล้วหนังสือก็บอกเราว่าอย่าลืมจุดที่จะกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เพราะเมื่อมีปัญหาก็ย่อมมีความหวัง แต่แล้วหนังสือก็บอกว่าพลังที่จะทำให้ก้าวต่อไปนั้นหาได้ที่สิ่งสวยงามรอบตัว เป็นเรื่องธรรมดาที่สุดที่จุดจบของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้นคือความตาย แต่ความท้าทายและโอกาสในชีวิตบางครั้งมันก็ผลิงอกขึ้นมาหลังจากความสูญสลายนั้นนั่นเอง

Don`t copy text!