‘Ode to the Onion’ นิทานภาพของ Alexandria Giardino
โดย : ศุภสวัสดิ์
ฉันวางหนังสือนิทานระหว่างเรา คอลัมน์เกี่ยวกับ “นิทาน” ในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนทั้งที่เคยได้อ่านในวัยเด็กและวัยนี้ ที่ ‘ศุภสวัสดิ์’ คัดเลือกมาเล่าให้อ่านกันที่ อ่านเอา เว็บไซต์ที่ไม่ได้มีดีแค่นวนิยายออนไลน์ แต่เรายังมีคอลัมน์ต่างๆ รอให้คนรักการอ่านได้อ่านออนไลน์
**********************************
Alexandria Giardino เป็นนักเขียนนิทานและอาจารย์ในโรงเรียนแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอมีงานอดิเรกที่น่าสนใจนั่นคือการขี่จักรยานและเดินป่าบนภูเขา Tamalpais ร่วมกับครอบครัวและสุนัขตัวโปรดของเธอ Alexandria เรียนคาราเต้จนถึงขั้นสายดำ และชอบการสอนศิลปะการต่อสู้ให้กับเด็กๆ เธอรับงานแปลภาษาสเปนมาตั้งแต่ที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ผลงานแปลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเรื่องหนึ่งของเธอนั่นคือหนังสือเรื่อง My Life with Pablo Neruda ซึ่งเป็นบันทึกประจำวันของภรรยาคนที่สาม (คนสุดท้าย) ของ Pablo Neruda ที่ชื่อ Matilde Urrutia ส่วนนิทานภาพเรื่อง ‘Ode to the Onion’ นั้นถือเป็นงานเปิดตัวหนังสือนิทานเรื่องแรกที่เธอเขียนขึ้นมาเอง โดยจินตนาการถึงวันที่ Pablo Neruda ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนบทกวีที่เกี่ยวกับ ‘หัวหอม’ ขึ้นมา
สำหรับ Felicita Sala เธอเป็นนักวาดภาพประกอบที่เรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเองมาโดยตลอด เธอเกิดที่โรม และสำเร็จการศึกษาระดับเกียรตินิยมด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ประเทศออสเตรเลีย เธอเคยทำงายแอนิเมชันหลายเรื่องร่วมกับ Gianluca Maruotti ผู้เป็นสามีและผู้สร้างภาพยนตร์แอนิเมชันหลายเรื่อง ปัจจุบันเธอทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบอย่างเต็มตัว หนังสือภาพของเธอเรื่อง ‘She Made a Monster’ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 10 หนังสือภาพที่ดีที่สุดในปี 2018 โดย New York Times และนิทานภาพที่เธอแต่งและวาดขึ้นเองอย่าง ‘Lunch at 10 Pomegranate Street’ ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 10 ภาษา จนในปี 2020 ที่ผ่านมา Felicita ก็ได้รับรางวัล Premio Andersen ในฐานะนักวาดภาพประกอบที่ดีที่สุดในอิตาลีอีกด้วย ภาพประกอบของ Felicita ส่วนใหญ่มักจะดูมีสีสัน มีชีวิตชีวา และมีความสนุกสนานซุกซ่อนอยู่เสมอ
งานวาดของ Felicita ในหนังสือนิทานเรื่องนี้พยายามแสดงให้เห็นความขมขื่นของ Pablo โดยการผสมสีเขียวมะกอกใส่ลงไปในสีผิวของเขา ขัดแย้งกับ Matilde มีผมสีแดงสดใส ถือเครื่องดนตรีไว้ และยิ้มแย้มตลอดเวลา ภาพวาดของเธอใช้เทคนิคของ Matte Painting เข้ามาร่วมด้วย นั่นคือการเขียนภาพกระจกหน้าต่างใส่เข้าไปในภาพ เพื่อโชว์ให้เห็นถึงภูมิทัศน์ที่กว้างออกไปมากยิ่งขึ้น ทำให้เห็นว่าข้างนอกมีอะไรมากกว่าที่เราเห็นอยู่อีก นอกจากนี้ Felicita ยังแอบวาดรูปและของประดับตกแต่งมากมายในบ้านของ Pablo ที่บอกกล่าวถึงบทกวีอีกหลายร้อยบทที่ Pablo เคยเขียนเอาไว้เป็นนัยๆ เช่น รูปอาร์ติโชก (Ode To an Artichoke) รูปกรรไกร (Ode To a Pair of Scissors) รูปปลาทูน่า (Ode To a Large Tuna in the Market) รูปนก (Ode To Bird Watching) และรูปข้าวของแตกหัก (Ode To Broken Things) เป็นต้น
หนังสือนิทานภาพเรื่อง ‘Ode to the Onion’ นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโคลงกวี (Ode) ของ Pablo Neruda ที่ต้นฉบับประพันธ์ไว้เป็นภาษาสเปน (Oda a la cebolla) ในช่วงปี 1950 เรื่องราวนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย เป็นเพียงการนัดรับประทานอาหารกลางวันของ Pablo กับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง ในนิทานไม่ได้เล่าหรือกล่าวถึงชีวประวัติของ Pablo แต่อย่างใด มีแค่เพียงการบอกกล่าวถึงนิสัยโศกเศร้า เอาแต่ใจ และค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายเกินไปนิดหน่อยของเขาเท่านั้นเอง หนังสือนิทานเล่มนี้ชนะรางวัลวรรณกรรมเยาวชน NCBR ในปี 2018 และเข้าชิงรางวัล NCIBA Golden Poppy Award และ New York Times Children’s Books Special ในปีเดียวกัน
นิทานเรื่องนี้เริ่มขึ้นจากชายคนหนึ่ง… เขาคือ Pablo Neruda ที่กำลังเขียนบทกวีอันแสนยาวและเศร้าสร้อยอยู่ที่โต๊ะทำงาน บทกวีที่พร่ำพรรณาถึงความทรมานของคนงานในเหมืองที่ถูกกดขี่ข่มเหงและต้องทำงานอย่างหนัก จนทำให้ความเศร้าโศก มืดมน และหมองหม่นแทรกซึมเข้าไปในจิตใจของเขาอยู่ตลอดเวลา แต่โชคดีที่วันนั้น Matilde Urrutia หญิงสาวผมแดงคนสนิท (ที่ภายหลังจะกลายมาเป็นภรรยาของเขาในอนาคต) ได้ชวนให้เขาเข้าไปเพื่อเก็บพืชผักภายในสวนเพื่อนำมาทำอาหารสำหรับมื้อกลางวัน ในขณะที่มุมมองเกี่ยวกับดอกไม้และผักในสวนของ Pablo ผู้อ่อนไหวเต็มด้วยความคิดที่หดหู่แสนเศร้า ทัศนคติและการแสดงออกของ Matilde กลับเต็มไปด้วยความสุขสนุกสนานและร่าเริง… มุมมองของ Pablo มองเห็นว่าต้นยี่หร่ากับต้นมะเขือเทศต่อสู้กันเพื่อแย่งแสงแดด ในขณะที่ Matilde แย้งว่าต้นไม้ทั้งสองชนิดกำลังเต้นแทงโก้กันอยู่มากกว่า
และเมื่อทั้งคู่กลับไปในห้องครัว… และเมื่อ Pablo หั่นหัวหอม… สิ่งที่เขามองเห็นคือน้ำตาของผักที่ต่ำต้อยที่จมอยู่ใต้พื้นดินเป็นระยะเวลานาน แล้วสักพักเขาก็เริ่มประหลาดใจกับผักทรงกลมสีขาวที่สวยงาม ผิวบางใสที่สะท้อนแสงแดดเป็นเงาระยับคล้ายกลับดวงจันทร์ในอวกาศ ผักที่มาจากความมืดมิดกลับเรืองรองเมื่อต้องแสงแดด… ความงามและความซับซ้อนของผิวที่บอบบางของหัวหอมแต่ละชั้นทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป ผักที่เคยดูอ่อนน้อมถ่อมตนและมีชีวิตที่มืดมนกลับส่องสว่างอย่างยินดี ความเศร้าโศกกลายไปเป็นความสุขได้ คล้ายกับชีวิตคนเรา… Pablo ขอบคุณ Matilde ที่คอยเตือนเขาว่ายังมีความสุขอยู่บนโลกใบนี้อีกด้วย… และเหตุนี้เองเขาจึงได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทกวีที่กล่าวสดุดีหัวหอมขึ้นมา
Pablo Neruda แต่งบทกวีที่ทำให้คนอ่านเห็นว่าสิ่งของต่างๆ การกระทำ หรือสถานการณ์ประจำวันแม้เพียงจะเล็กน้อยก็สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของโคลงที่สวยงามได้ อย่างหัวหอมที่ปกติจะพบเห็นกันได้ทุกวัน เป็นอาหารพื้นฐานบนจานของคนทุกชนชั้นทั้งรวยและจน เราอาจจะแค่มองผ่านมันไปอย่างเฉยชาถ้าเรามองด้วยตาเปล่าปราศจากการสนใจใยดีใดๆ แต่ Pablo กลับบอกให้เราลองสังเกตถึงของสิ่งนั้นดีๆ มองลึกลงไปในรายละเอียดที่แท้จริงของมันอย่างถี่ถ้วน สุดท้ายเราอาจจะได้เห็นและชื่นชมกับความงามตามธรรมชาติที่ซุกซ่อนอยู่ก็เป็นได้… Pablo ยังได้เขียนบทกวีอีกหลายบทที่นำเอาสิ่งของต่างๆ ที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันและดูแสนจะเรียบง่ายมาเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ จนถึงบั้นปลายของเขา Pablo ชีวิตมีบทกวีตีพิมพ์รวมแล้วมากกว่า 35,000 หน้า
Pablo Neruda มีชื่อเดิมว่า Neftali Ricardo Reyes Bassaoalto ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘กวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 สำหรับทุกภาษา’ (The Greatest Poet of the 20th Century in any language) เขาเริ่มเขียนบทกวีได้ตั้งแต่ที่เขาอายุ 10 ขวบ และเริ่มมีผลงานลงพิมพ์ในนิตยสาร ‘La Manana’ เกือบทุกวันตั้งแต่ที่เขามีอายุเพียง 13 ปี จนในปี ค.ศ.1920 เขาได้เปลี่ยนไปใช้นามปากกาว่า Pablo Neruda โดยหยิบยืมนามสกุลเนรูด้ามาจาก Jan Neruda นักกวีชาวเช็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับครอบครัวและตัดปัญหากับทางบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการเป็นนักเขียนของเขา
Pablo เชื่อว่าบทกวีควรกล่าวถึงสภาพที่แท้จริงของมนุษย์ ความไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ ความเปรอะเปื้อน ความเกลียดชัง และความรักแบบอุดมคติ Pablo เคยบอกว่า “เราควรแสวงหากวีนิพนธ์ประเภทที่อบอวลไปด้วยกลิ่นเหงื่อ ควัน กลิ่นของดอกลิลลี่ และปัสสาวะ” ในชั่วชีวิตของเขา เขาได้รับรางวัลสำคัญๆ มามากมายเช่น รางวัลสันติภาพระหว่างประเทศ (1950) รางวัลสันติภาพสตาลิน (1953) รางวัลสันติภาพเลนิน (1954) และรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม (1971) ถือเป็นบุคคลทางประวัติศาตตร์อีกคนหนึ่งที่มีประวัติน่าสนใจและน่าติดตามตลอดทุกช่วงชีวิตของเขา… Pablo Neruda
- READ ‘Ode to the Onion’ นิทานภาพของ Alexandria Giardino
- READ ぼくがラーメンたべてるとき : ตอนที่ผมกินราเม็ง (2007)
- READ Lawrence in the Fall (April, 2019)
- READ Big Boys Cry
- READ Hey, Little Ant
- READ Du Iz Tak?
- READ The Pilot and the Little Prince
- READ What Happens Next?
- READ The Remember Balloons
- READ The Rock From The Sky