เดือน 9 เหนือ กับพิธีกรรมไหว้ผีครู

เดือน 9 เหนือ กับพิธีกรรมไหว้ผีครู

โดย : ต้องแต้ม

Loading

ซะป๊ะเรื่องเล่าหมู่เฮาคนเมือง คอลัมน์โดย ต้องแต้ม ชาวเชียงใหม่ ผู้หลงใหลในเรื่องราวของล้านนา เกิดในครอบครัวที่สืบสานงานวัฒนธรรมพื้นเมืองที่มีมาแต่โบราณ แต่ไปเติบโตในเมืองกรุง พอกลับมาอยู่บ้านถึงได้รู้ว่า “มีเรื่องเล่าดีๆ ของบ้านเราที่อยากเล่าให้ฟัง”

เดือน 9 เหนือ หรือเดือนมิถุนายน ตั้งแต่โบราณนานมา ทางล้านนามักจะเป็นเดือนไหว้ผี ตั้งแต่ผีอารักษ์เมือง การบูชาเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง ผีต้นน้ำที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ ผีครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้สืบต่อกันมา ผีบรรพบุรุษ หรือผีปู่ย่าที่ดูแลปกปักษ์บ้านเรือน ถ้าเป็นวัดจะเรียกว่า ‘เสื้อวัด’

แต่เรื่องที่ฉันอยากจะเล่าให้ฟัง คือ พิธีไหว้ครูของบรรดา “สล่า” หรือ “ช่าง” ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ งานฝีมือ งานช่าง ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างจากพิธีไหว้ครูของทางภาคกลาง

เดือน 9 เหนือตั้งแต่โบราณนานมาจะเป็นเดือนที่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการไหว้ผี ตั้งแต่การบูชาอารักษ์เมือง การบูชาเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง การเลี้ยงผี ไม่ว่าจะเป็นผีต้นนำ เสื้อวัด หรือผีปู่ย่าสำหรับชาวบ้านทั่วไป และผีครู ที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณสืบมาจนถึงปัจจุบัน

    

ที่บ้านฉันเป็นสายทางงานฝีมือโดยใช้ศิลปะ งานฝีมือ ดังนั้นจึงมีการไหว้ครูเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่เด็ก ฉันก็จะเห็นคุณตาเตรียมงานโดยมีแม่คอยช่วยเป็นลูกมือ สมัยก่อนจะมีชาวบ้านมาช่วยเตรียมของ เจ้าของบ้านก็จะเตรียมอาหาร เครื่องดื่มไว้เลี้ยงคนที่มาช่วยงานด้วย

สะตวงไหว้ 4 มุมบ้าน

พอถึงวันงานก็วุ่นวายแต่เช้า หัวหมูต้ม 2 หัว ไก่ต้ม 1 คู่ อาหารคาวหวาน ผลไม้ ชาวบ้านก็จะมาช่วยกันหั่นผัก ทำกับข้าวเตรียมของไหว้ ที่บ้านมักจะไหว้ด้วยยำใหญ่ พี่แถวบ้านทำน้ำยำอร่อยมาก มีลาบเหนือ สมัยคุณตายังมีชีวิตอยู่ มักจะทำเอง เสียงมีด 2 เล่ม สับหมูบนเขียง ฟังแล้วรู้สึกว่าต้องได้กินของอร่อยๆ ในงานนี้แน่ คุณตาปรุงรสเอง อร่อยมากเช่นกัน มียำจิ๊นไก่อีกอย่าง ยำจิ๊นไก่ คือ ต้มยำไก่ที่ฉีกเป็นชิ้นๆ ใส่น้ำพริกลาบทางเหนือ ปรุงรส น้ำปลา พริก มะนาว อร่อยมากเช่นกัน จะเข้าร่วมพิธีไหว้ครูของที่บ้าน โดยมีการเตรียมงานแต่เช้า แต่ก่อนนั้นจะมีชาวบ้านมาช่วยเตรียมข้าวของที่ใช้ประกอบพิธีไหว้ มาช่วยกันทำสวยดอกเล็กๆ 13 สวยเล็กๆ ใส่ในขันครู ทำกระทงด้วยใบตองเพื่อเตรียมใส่ผลไม้หมากพลูของไหว้ท้าวทั้งสี่ (1)

ไหว้ท้าวทั้งสี่

ท้าวทั้งสี่ หลายคนอาจจะสงสัยว่าคืออะไร ฟังดูเหมือนท่านท้าวน่ายำเกรง ท้าวทั้งสี่ คือ ชื่อเทพที่ดูแลรักษาประจำทิศต่างๆ สี่ทิศ ตามความเชื่อของชาวล้านนาโบราณ ท้าวจตุโลกบาล ผู้รักษาทิศทั้ง 4

มหาราชธตรฐ  พระราชาแห่งคนธรรพ์ มีหน้าที่ดูแลทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ

ท้าววิรุฬหก เป็นใหญ่ในหมู่กุมภัณฑ์ มีหน้าที่ดูแลทิศใต้

ท้าววิรูปักข์  เป็นใหญ่ในหมู่นาค มีหน้าที่ดูแลทิศตะวันตก

ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร เป็นพระราชาธิบดีของยักษ์ มีหน้าที่ดูแลทิศเหนือ

ท้าวทั้งสี่ชื่อก็ดูเหมือนควรจะทำแค่สี่สะตวง หรือกระทง ที่นำเอาใบตองมาประดิษฐ์เป็นกระทงสี่เหลี่ยม แรกๆ ฉันก็สงสัยเหมือนกัน ก็จะได้คำตอบว่า ท้าวทั้งสี่ แล้วก็เพิ่มพระอินทร์ กับพระแม่ธรณีด้วย เขาถึงทำ 6 สะตวง ที่บ้านจะใส่กล้วย ส้ม เมี่ยง ถั่ว งา อ้อย หมากพลู บุหรี่ ข้าวนึ่ง แคบหมู น้ำเปล่าจะใส่ถุงเล็กๆ มัดไว้ อย่างละสี่

ขันตั้ง (ขันครู)
ขันตั้ง (ขันครู)

สิ่งสำคัญของพิธีไหว้ครูที่ต้องจัดเตรียม คือ ขันครู หรือ ขันตั้ง เป็นเครื่องสักการะบูชาครู ที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์สายงานช่าง งานฝีมือ งานศิลปะ เคารพบูชา มักจะต้องมี “ขันครู” นี้ จะประกอบไปด้วยผ้าขาวแดง เหล้าขาว หมากเส้น 13 สาย พลู 1 มัดใหญ่ เบี้ยหอย 13 ตัว ข้าวสาร ข้าวเปลือก ข้าวตอก จัดใส่ในภาชนะ ดอกไม้ ธูป เทียนเล่มบาทเล่มเฟื้อง 2 คู่ เงินใส่ซอง 36 บาท เครื่องบูชาครูเหล่านี้เปลี่ยนทุกปี จนกว่าจะไม่ทำต่อไป ถึงจะมีการคว่ำขันครู นั่นหมายถึงเลิกทำอีกต่อไป

เมื่อเตรียมของสำคัญทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย เช้าวันงานก็จะมีการดาคัว หรือการเตรียมของวางจัดเรียง ฉันขอพูดเรื่องราวที่บ้านฉันทำก็แล้วกันนะ แต่ละที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ที่บ้านฉันเตรียมสถานที่จัดพิธีคือ เติ๋น หรือลานบ้านชั้นบน ภาษากลางอาจจะเรียกห้องโถง แต่ลักษณะเติ๋นของทางเหนือคือ จะยกพื้นเหนือพื้นเดิมเล็กน้อยที่ที่กว้าง ง่ายๆ ก็คือห้องโถงของบ้านนั่นแหละ

เช้าวันนั้นที่บ้านก็จะปูเสื่อ จัดเบาะเป็นที่นั่งสองที่ เตรียมอาหาร คาว หวาน อย่างละคู่ หัวหมูคู่ ไก่ต้มคู่ ขาดไม่ได้คือ ขนมต้มขาว ต้มแดง ที่ดูจะเป็นของคู่กันกับพิธีต่างๆ แต่ที่บ้านฉันนิยมจัดอาหารคาวเป็นลาบดิบ ลาบคั่ว ยำใหญ่ ยำจิ๊นไก่ ตามที่ได้เอ่ยถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว น่าจะครูที่บ้านชอบ เรื่องนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันแต่ฉันเห็นจัดแบบนี้มาตั้งแต่รุ่นคุณตาแล้ว

เริ่มพิธีอาจารย์ก็จะไปกล่าวอัญเชิญ ไหว้ท้าวทั้งสี่ก่อน พอถึงเวลาประมาณสิบโมงกว่า ก็จะเริ่มพิธีบนบ้าน กล่าวอัญเชิญเทวดา ครูอาจารย์มารับของไหว้ ของบูชา ปักธูปบนอาหารตามความเชื่อว่าท่านจะได้รับได้ รอจนกว่าธูปดับหมดถึงจะมายกอาหารไปแบ่งกันรับประทานได้

มักมีเรื่องประหลาดๆ บ้างเป็นบางปีที่มีเด็กมาร่วมงาน น้องๆ มักบอกว่า เห็นคนแก่อยู่บนบ้านระหว่างที่รอธูปหมด หรือบางทีฉันก็จะได้กลิ่นดอกไม้หอมฟุ้ง ในยามค่ำของวันไหว้ครู ซึ่งฉันเคยเดินตามหากลิ่นหอมนั้น ก็ไม่ใช่กลิ่นมะลิหรือดอกดาวเรือง ฉันถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ครูอาจารย์มาอวยพร

เดือน 9 นับเป็นเดือนแห่งการปกปักรักษา เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ก่อนเข้าพรรษา ก่อนเพาะปลูก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบ้าน ของเมือง ของลูกศิษย์ ในเดือนแห่งการเลี้ยงผี ความเชื่อที่ฝังแน่นในดินแดนแห่งล้านนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ในเดือน 9 เหนือนี้

 

เชิงอรรถ :

  • ท้าวทั้งสี่ จากหนังสือประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย โดย ศ.มณี พยอมยงค์, น.84-86

 

Don`t copy text!