ตุงเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน
โดย : ต้องแต้ม
ซะป๊ะเรื่องเล่าหมู่เฮาคนเมือง คอลัมน์โดย ต้องแต้ม ชาวเชียงใหม่ ผู้หลงใหลในเรื่องราวของล้านนา เกิดในครอบครัวที่สืบสานงานวัฒนธรรมพื้นเมืองที่มีมาแต่โบราณ แต่ไปเติบโตในเมืองกรุง พอกลับมาอยู่บ้านถึงได้รู้ว่า “มีเรื่องเล่าดีๆ ของบ้านเราที่อยากเล่าให้ฟัง”
มักจะมีเรื่องเข้าใจผิดบ่อยๆ เรื่องตุงของล้านนา บางคนก็จะซื้อตุงสามหางไปประดับบ้าน ไปตานวัดคือซื้อไปถวายทำบุญให้วัด ซึ่งถ้าซื้อไปถวายวัดเพื่อเป็นพุทธบูชาอันนี้ผิดแน่นอน แต่ถ้าซื้อไปเพื่อทำบุญส่งต่อให้คนที่ไม่มีเงิน หรือศพไม่มีญาติ อันนี้น่าจะพอได้ แต่ยังไม่เคยมีใครทำกัน ยุคเปลี่ยนไป ความคิดก็เปลี่ยนไป ไม่นานนี้ฉันก็เจอกับตัว มีคนมาขอซื้อตุงสามหางเพื่อไปถวายเป็นทาน มอบไว้ให้ที่วัดไปดำเนินการต่อ ถ้าแนวคิดใหม่ เพื่อทำบุญให้เขาได้นำไปใช้ ฉันก็คิดว่าไม่น่าจะผิดหรือจะขึด (ไม่ดีกับตัวเรา) แต่อย่างใด และเจ้าตัวยืนยันจะทำแบบนี้ ฉันว่าก็เป็นการทำทานอีกรูปแบบหนึ่ง
ตุงล้านนา มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
ประเภทแรก ตุงมงคล ความหมายก็ตามชื่อ คือ ตุงที่ใช้ในงานมงคลต่างๆ เช่น งานปอย งานบุญ งานประเพณีต่างๆ ตามความเชื่อแต่โบราณว่า ถวายตุงเป็นพุทธบูชาเพื่อความความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ ความสงบร่มเย็นของบ้านเมือง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพแข็งแรง เป็นมงคลชีวิต
แต่มาระยะหลังๆ เริ่มมีคนเอาตุงมงคลมาประดับบ้าน ยกเว้นบางชนิด ที่ฉันคิดว่าถึงแม้จะเป็นตุงมงคลแต่ก็ไม่เหมาะที่จะนำไปประดับบ้าน หรือร้านค้า แต่ก็มักเห็นหรือมีคนมาสอบถามหากับฉันเพื่อจะซื้อไปประดับร้านค้าที่เปิดใหม่ หรือตกแต่งเป็นสไตล์ล้านนา สำหรับยุคสมัยนี้เริ่มมีการทำตุงสีสันลวดลายสวยงามเพื่อใช้เป็นตุงประดับ ตกแต่งร้านค้า หรืองานอีเว้นท์ต่างๆ มากขึ้นเพื่อให้เห็นถึงศิลปะในงานล้านนา
ตุงมงคลเท่าที่เห็นบ่อยๆ ก็มี ตุงไจย หรือ ตุงไชย เป็นตุงผ้าทอยาว ในงานเฉลิมฉลองตามวัดต่างๆ มักปักเรียงยาวเป็นทางเข้าวัดสลับกับตุงช้าง ไม่ว่าจะเป็นงานปอย งานเฉลิมฉลองต่างๆ มักจะมีให้พบเห็น
จากตำนานมูลศาสนา ได้กล่าวถึงการนำตุงมาใช้ในพิธีกรรม
… ในสมัยพระญาธรรมมิกราช ได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งสูง 18 ศอก เรียกว่า พระอัฎฐารส และได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองความว่า
“… ครั้นเสร็จบริบูรณ์แล้ว พญาก็ให้แต่งเครื่องบูชาฉลองเป็นอันมาก มีต้นว่า ธงผ้า ธงไชย พวงดอกไม้ห้อยย้อย มีวรรณะต่างๆ แลมีลมกวัดแกว่งสักการะบูชาถ้วน 7 วัน 7 คืน..” (1)
นอกจากนั้นก็ยังมี ตุงปีใหม่จะทำช่วงสงกรานต์ ทำจากกระดาษว่าวสีต่างๆ นำมาปักบนกองทราย จะมีตุง 12 ราศี ตุงไส้หมูปักรวมอยู่ด้วย แต่จำพวกตุงผ้าที่ทอหรือผ้าสีสดใสนักท่องเที่ยวมักนิยมซื้อไปใช้ในการประดับตกแต่งด้วย
ส่วนประเภทที่สอง คือ ตุงอวมงคล ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าตุงที่ไม่ใช้ในงานมงคล งานที่ถือว่าเป็นงานอวมงคล ก็มักจะหมายถึง งานที่เกี่ยวกับความตาย ซึ่งตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ตุงอวมงคลมักจะมี “ความแรง” ในตัว ไม่ใช่ของที่จะนำมาใช้ผิดประเภทได้ง่ายๆ คนโบราณ เขาว่า “มันจะขึด” หมายถึงมันจะไม่ดีกับตัวเรา ครอบครัวเรา หรือการประกอบอาชีพของเรา ยิ่งถ้าทำงานเกี่ยวกับศิลปะนั้น ก็จะยิ่งถือว่าไม่ดีไม่ควร
ตุงอวมงคลจึงมักเห็นใช้ในงานศพ หรือเกี่ยวกับคนตาย เช่นตุงเหล็ก ตุงตอง ฉันไปงานสวดศพ มักจะเห็นตั้งบนโลงศพหรือใกล้เคียง พ่อจะคอยสะกิดให้ดูว่ามีตุงเหล็กตุงตองวางอยู่ไหม แต่ระยะหลังๆ คิดว่าไม่น่าจะมีทุกวัด
แต่มีตุงอีกแบบที่เป็นสุดยอดของความแรงในสายตุงอวมงคล ไม่ค่อยมีคนรับทำนัก นั่นก็คือ “ตุงแดง” หรือ “ตุงผีตายโหง” ทำจากผ้าหรือกระดาษสีแดง ใช้สำหรับทำพิธีสูตรถอนศพที่ตายผิดปกติหรือภาษาชาวบ้านเรียก “ตายโหง” ตายเพราะประสบอุบัติเหตุ ผูกคอตาย คลอดลูกตาย ชาวล้านนาเชื่อว่าวิญญาณจะไม่ไปไหนจะอยู่ตรงนั้น ต้องทำพิธีสวดถอนภายใน 3 วัน 7 วัน มีคนเคยเล่าให้ฟังว่า เคยมีคนมาถามซื้อตุงแดงจะเอาไปประดับตกแต่งเพราะสวยดี ฉันถึงกับร้องด้วยความตกใจเลยทีเดียว โอยน่อ ถึงได้อยากเขียนเล่าให้รู้ถึงเรื่องราวของตุงต่างๆ บ้าง
จากการที่คนมักเข้าใจผิดเรื่องตุงทางล้านนา ฉันนำเรื่องราวของตุงล้านนา ทั้งตุงมงคลและตุงอวมงคลให้ได้รู้จักกันเพิ่มมากขึ้น ใช้ผิดวัตถุประสงค์มันดูไม่สวยงามนัก อย่างน้อยเราได้รู้จักตุงในล้านนา เข้าใจว่าใช้ในการทำอะไรจะทำให้เรานำไปใช้ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
ตุงเหมือนกันแต่ไม่ได้นำไปใช้แทนกันได้ โดยเฉพาะความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป รู้จักวันละเล็กละน้อย ก็ช่วยให้เราได้รู้จักความเชื่อที่แตกต่าง เต็มไปด้วยความหมายแฝงได้อย่างเข้าใจ
แต่ไม่ว่าจะเป็นตุงประเภทไหน ตั้งแต่โบราณมาก็มักเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต พิธีกรรมต่างๆ โยงใยไปถึงเรื่องความเชื่อของผู้คนชาวล้านนา ภายใต้กรอบความคิดความเชื่อของพุทธกับผี แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้ความเชื่อเหล่านั้นอ่อนแอลงไปบ้าง แต่สิ่งที่บรรพชนได้สร้างไว้ก็ยังคงดำเนินต่อมาได้ในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ทั้งยังเป็นการรักษาคุณค่า และมูลค่าให้กับท้องถิ่นนั้นๆ ต่อไป
เชิงอรรถ :
จากตำนานมูลศาสนา. มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ (2544) หน้า 180)
- READ ล้านนากับประเพณีสิบสองเดือนตามความเชื่อ
- READ เดือนหนึ่งของเราไม่เท่ากัน กับประเพณีสิบสองเดือนในเดือนเกี๋ยง
- READ เมื่อน้ำท่วมบ้านครั้งแรกในรอบร้อยปี
- READ วัดแวดบ้าน
- READ หาบเปี้ยดใส่ผักไปก๊าตี้กาดหลวง กาดเก๊าลำไย
- READ มาแอ่วเจียงใหม่กับเรื่องง่ายๆ ตี้ควรฮู้
- READ กี่ทศวรรษที่เดียวดายของประตูช้างม่อย
- READ มาละเหวย มาละวา คณะกลองยาวของเราก็มา
- READ ค่าวอะหยัง เจี้ยจะได ซอม่วนๆ เจ้า
- READ เสน่ห์ตั๋วเมือง
- READ ตุงเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน
- READ เดือน 9 เหนือ กับพิธีกรรมไหว้ผีครู