กี่ทศวรรษที่เดียวดายของ “ประตูช้างม่อย

กี่ทศวรรษที่เดียวดายของ “ประตูช้างม่อย

โดย : ต้องแต้ม

Loading

“อ่านเอาเล่าเรื่อง” คอลัมน์ที่รวมบทความจากผู้เข้าอบรมในโครงการ อ่านเอาเล่าเรื่อง ที่จัดโดยเว็บไซต์อ่านเอา โดยโครงการนี้ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเรื่องราวที่ประทับใจของตัวเองมาถ่ายทอดในรูปแบบเรื่องเล่า และสานฝันสำหรับทุกคนที่อยากเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นนักเขียน

ช้างม่อย เป็นชื่อของตำบลหนึ่งในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ปัจจุบันนี้ความเจริญได้เข้ามายังตำบลแห่งนี้ ตำบลช้างม่อยมี 3 ชุมชนหลักๆ ได้แก่ ชุมชนช้างม่อย ชุมชนป่าแพ่ง และชุมชนเชตะวัน นอกจากนี้ ช้างม่อย ยังเป็นชื่อถนนที่ทอดยาวมาจากคูเมืองด้านนอก (ถนนชัยภูมิ) ยาวไปถึงแยกศรีนครพิงค์ (ถนนวิชยานนท์) ทางไปตลาดวโรรส (กาดหลวง) ที่โด่งดัง แต่ในช่วงต้นถนนช้างม่อยนั้น ด้านซ้ายจะมีถนนเล็กๆ ตัดแยกไปเรียกว่า “ถนนช้างม่อยเก่า” ปัจจุบันเป็นจุดเช็คอินของบรรดานักท่องเที่ยว แต่ใครจะรู้ว่าหากวิ่งตรงไปยังถนนช้างม่อยเก่านั้น ทะลุไปบรรจบกับถนนสิทธิวงศ์ จะเป็นที่ตั้งของ ประตูช้างม่อย ที่นับได้ว่าเป็นประตูเมืองชั้นนอกแต่โบราณของเวียงเชียงใหม่ กำแพงเวียงชั้นนอกจะเป็นกำแพงดินล้อมรอบ

ประตูช้างม่อยในปัจจุบัน คงเหลือแค่ข้อความที่ป้ายที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าเป็นประตูช้างม่อยเก่าที่รื้อออกไปแล้ว คงไว้แค่สิ่งยืนยันว่าตรงนี้เคยเป็นประตูเมืองชั้นนอกของเชียงใหม่

บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของประตูช้างม่อย ซึ่งเป็นประตูเมืองชั้นนอกเมื่อประมาณ พ.ศ.2453-2458 กำแพงดินและประตูนี้ได้ถูกรื้อ และต่อมาเมื่อมีการเจาะช่องกำแพงเมืองชั้นในได้มีการนำชื่อประตูเดิมไปใช้กับช่องทางใหม่ว่า “ถนนช้างม่อย” และในที่สุดกำแพงเมืองชั้นในส่วนนี้พร้อมกับประตูได้ถูกรื้อลงจนหมดคงเหลือแต่ถนนช้างม่อยเพียงอย่างเดียวที่ยังคงสืบคำว่า “ช้างม่อย” มาจนถึงทุกวันนี้

ถนนช้างม่อยเก่าครั้งอดีตเป็นเส้นทางผ่านหมู่บ้านเชียงเรือก (ท่าแพ) ไปวัดหนองหล่ม แล้วไปสิ้นสุดที่ประตูช้างม่อย จากหนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับโบราณดาราศาสตร์ สร้างตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่แน่ชัด แต่ได้พบข้อความในตำนานฯ ที่กล่าวถึงประตูช้างม่อยไว้ว่า

มาถึงศักราช 1187 (ระกา สัปตศก) เดือน 7 ข้างแรม หลังปีใหม่สงกรานต์ (ตรงกับแรม 11 ค่ำ พุธ 13 (1) เมษายน 2368) เสร็จสิ้น เกิดเหตุอุบาทว์ กบเขียด คางคก พากันเข้าประตูช้างม่อยเต็มไปหมดจนแทบไม่เห็นพื้นดิน นกกระยางก็สู้กันกลางอากาศบริเวณหนองแจ่งศรีภูมิ นอกจากนั้น นกกระทุง แร้ง กา ยังบินร่อนกลางอากาศตรงกลางเวียงหลวง ไม่อาจจักนับได้หมดจนเกิดเป็นเงากว้าง (หนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับโบราณดาราศาสตร์ ผูก 8 หน้า 257)

นับเป็นการพูดถึงประตูช้างม่อยเป็นครั้งแรกในตำนาน หากเทียบยุคสมัยแล้วจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ของสยามในสมัยนั้น

ความสำคัญถ้าไม่ใช่นักวิชาการ หรือนักประวัติศาสตร์ที่สนใจก็จะไม่รู้ บริเวณนั้นจะมีประตูช้างม่อยที่ตอนนี้รื้อไปนานมากแล้ว คงเหลือแต่หลักที่แสดงว่าที่นี่เคยเป็นประตูช้างม่อย ประตูเมืองชั้นนอกของเชียงใหม่ในยุคโบราณ คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้ หรืออาจจะไม่สนใจ ฉันก็เพิ่งมาสังเกตไม่นาน ทั้งๆ ที่จุดที่ตั้งสัญลักษณ์ ป้ายประตูช้างม่อย ประตูเมืองชั้นนอก เป็นที่ฉันเดินผ่านบ่อยมากจากที่เคยคิด บ้านฉันอยู่นอกคูเมือง ก็ถือว่าอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ในยุคก่อนๆ มีเจดีย์ร้างที่ไม่ทราบว่าเป็นวัดร้างชื่ออะไรอยู่สองแห่ง ไม่ไกลกันนัก น่าจะเป็นเรื่องที่คุ้นชินของคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นไปแล้ว กับการอยู่กับโบราณสถานที่ไม่ทราบว่าวัดร้างชื่ออะไร หรือทำไมเจดีย์ถึงอยู่ตรงนั้นได้ แต่หนึ่งในนั้นชาวบ้านละแวกบอกว่าหนึ่งในสองนั้นเป็นเจดีย์หนองหล่ม ฉันดูประวัติศาสตร์เก่า เคยมีวัดร้างชื่อวัดหนองหล่มอยู่ละแวกนั้น ก็เป็นไปได้ว่าหนึ่งในเจดีย์นั้นคือเจดีย์ของวัดหนองหล่มที่ตอนนี้กลายเป็นย่านหนองหล่ม ในเขตชุมชนช้างม่อย

ช้างม่อยในความทรงจำของฉัน บ้านฉันตั้งอยู่บนถนนสิทธิวงศ์ ถนนเล็กๆ แยกมาจากถนนช้างม่อย และไปบรรจบกับเส้นช้างม่อยเก่า เหมือนจุดเชื่อมเส้นทางของยุคเก่าที่ขยายออกไปเมื่อมีคนอาศัยเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้กลับกลายเป็นจุดถ่ายรูปของคนมาเที่ยวเชียงใหม่จุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาถ่ายรูปที่ถนนช้างม่อยกับป้ายถนนช้างม่อยเก่า ตรงร้านหวายยอดฮิตนั่นแหละ

ปัจจุบันนี้ความเจริญเข้ามาสู่ตำบลช้างม่อยมากขึ้น หลังจากเกิดโควิดระบาดหนักในปี 2019 – 2021 ทำให้โรงแรม ร้านอาหาร เกสต์เฮ้าส์ปิดไปหลายแห่ง และถนนการค้าอย่างถนนนิมมาน ที่ก่อนหน้าที่เกิดโควิดนั้นเป็นย่านที่โด่งดังมีร้านกาแฟ สถานบันเทิง ร้านอาหารที่นักท่องเที่ยวนิยมไป แต่พอเกิดโควิดร้านต่างๆ ก็เงียบหายปิดกิจการไปก็หลายแห่ง ทีนี้เมื่อโควิดบรรเทาลงกลายเป็นโรคประจำถิ่น คนก็จะนิยมเปิดร้านเล็กๆ กันมากขึ้น

เจดีย์วัดร้างหนองหล่ม

ช้างม่อยปัจจุบันนี้ร้านค้าเริ่มคึกคัก เปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ เพิ่มมากขึ้น สวนกระแสเศรษฐกิจที่แลดูจะเงียบๆ มีร้านนั่งดื่มเปิดเพลงเสียงดัง ช้างม่อยเริ่มเปลี่ยนไป คนต่างถิ่นเข้ามาอยู่ทำธุรกิจมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนเก่าแก่ยังอยู่บ้าง แม้จะลดน้อยถอยลง แต่ยังพอมีให้ถามข้อมูลได้บ้าง

ผู้คนผ่านมาและผ่านไป ผ่านการเรียนรู้เรื่องราว สักวันหนึ่งฉันเชื่อว่า ประตูช้างม่อย ที่ไม่มีใครรู้จัก จะยังคงเรื่องราวให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า เป็นอีกหนึ่งประตูเวียงเชียงใหม่ชั้นนอกในยุคอดีต

ประตูช้างม่อย ที่คนแทบไม่รู้จัก เหลือไว้แค่ข้อความที่บันทึกไว้บนป้าย แต่อย่างน้อยตอนนี้ ประตูช้างม่อย ก็ไม่โดดเดี่ยวแล้วนะ มีหลายคนที่ได้อ่านเรื่องเล่านี้และได้รับรู้ว่า ยังมีอีกประตูหนึ่งที่มีความสำคัญของเชียงใหม่แต่โบราณนานมา

 

หมายเหตุ : รูปแผนที่โบราณเมืองนครเชียงใหม่ เป็นฝีมือภาพวาดของอาจารย์วรชาติมีชูบทที่ได้ทำการศึกษาแผนที่และสรุปว่า การจัดทำแผนที่ได้ถูกสำรวจและรังวัดในราวปีพ.ศ. 2428-2429 (ข้อมูลจากเพจหอสมุทรแห่งชาติรัชมังคลาภิเษกเชียงใหม่ : แผนที่เมืองนครเชียงใหม่

 

Don`t copy text!