หัวใจอเวจี บทที่ 4 : ต้นกล้าแม่ยม

หัวใจอเวจี บทที่ 4 : ต้นกล้าแม่ยม

โดย : แสงสูรย์

Loading

หัวใจอเวจี หนึ่งในนวนิยายจากโครงการช่องวันอ่านเอาปีที่ 2 โดย แสงสูรย์ กับการต่อสู้ของ ‘ตองนวล’ หญิงสาวที่ลุกขึ้นสู้กับอิทธิพลมืดเพื่อชุมชนที่เธอรัก โดยมีเขาคนนั้นเคียงข้าง ตองนวลก็จะฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายไปได้ไหม มาลุ้นกันในนวนิยายออนไลน์เรื่องนี้ ที่อ่านเอาอยากให้คุณได้เพลิดเพลินในเรื่องราวผ่านทุกตัวอักษร

ผมอยากเห็นโครงการระยะยาวมากว่าระยะสั้น การพัฒนาต้องใช้เวลา ดูจากโครงการพระราชดำริสิ พระองค์ท่านใช้เวลาชั่วข้ามคืนเสียทีไหน’ กรวิกยังจำคำพูดของสนธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนก่อนได้อย่างแม่นยำ เป็นคำปรารภซึ่งเป็นที่มาของโครงการต้นกล้าแม่ยมนั่นเอง

ในสายตาคนอื่นอาจมองว่าอดีตผู้ตรวจการกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและความยั่งยืนที่มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนี้ เป็นชายวัยใกล้เกษียณที่ไม่มีความสามารถโดดเด่น ไม่มีโครงการใหญ่เข้ามาสร้างเม็ดเงิน แต่ในมุมมองของกรวิก สนธิเป็นคนซื่อตรง มีสายตายาวไกล มองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนหรือประโยชน์ของสถาบันเอง ความสุขุม รอบคอบของผู้อำนวยการสถาบันสูงอายุไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนโยบายรัดเข็มขัด ลดต้นทุน

‘งานของเราเป็นงานซ่อม สร้างสังคมให้เข้มแข็ง งบประมาณที่ได้มาแต่ละปีต้องใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ผมไม่เห็นด้วยที่เราจะทำงานกันแบบขอไปที แต่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้คุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย’ ผอก.สนธิอธิบายความคิดให้คนในสถาบันฟัง ซึ่งมีไม่กี่คนที่เข้าใจและตอบรับ เพราะเคยชินกับการทำงานให้ผ่านไปวันๆ มากกว่า

สนธิเรียกกรวิกกับเกริกเกียรติมาพบในวันหนึ่ง แล้วกล่าวว่า

‘ผมได้ข่าววงในมาว่ากำลังมีนโยบายดึงคนหนุ่มสาวกลับมาพัฒนาบ้านเกิดภายใน 2-3 ปีนี่แหละ โครงการนำร่องที่เห็นก็คือ โครงการคนกล้าคืนถิ่น’ ผู้บริหารสูงวัยหันมาทางกรวิก

‘เวก ผมอยากให้คุณเขียนโครงการด้วยแนวคิดนี้เป็นโครงการระยะยาวอย่างน้อย 5 ขึ้นไป คุณลองไปศึกษาโครงการคนกล้าคืนถิ่นดูก่อนก็ได้ ผมจะพยายามหางบประมาณมาสนับสนุน และเกลี่ยงบที่มีอยู่จากการลดต้นทุนของเรา’

สนธิหันมาทางเกริกเกียรติ สั่งว่า ‘ผมต้องการให้งานวิจัยนำทางเรื่องข้อมูลก่อนดำเนินโครงการให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณต้องทำงานวิจัยชุมชนเป็นฐานข้อมูลให้เวก เลือกชุมชนเป้าหมายมาสัก 4-5 ชุมชนแล้วดูว่ามีปัญหาอะไร สภาพชุมชน สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร และความเป็นไปได้ที่จะดึงคนหนุ่มสาวกลับมา แล้วช่วยกันเลือกชุมชนต้นแบบขึ้นมา เวกจะได้มีแนวทางพัฒนาโครงการ’

ที่ผ่านมาสถาบันมีการทำงานแบบหว่านแห โครงการที่ทำเป็นโครงการระยะสั้น จบในแต่ละปี ซึ่งไม่ได้เกิดผลอะไรที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชน แต่ก็ทำให้มีข้อมูลในการเลือกชุมชนเป้าหมายสำหรับโครงการระยะยาวไม่ยากนัก

หลังจากช่วยกันดูข้อมูลพื้นที่ต่างๆ อย่างละเอียด กรวิกกับเกริกเกรียรติก็นำเสนอผู้บริหารว่าจะทำโครงการนำร่องที่บ้านหนองกระทิง อำเภอสวรรคโลก สุโขทัย

‘ความน่าสนใจของที่นี่คือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงเหมาะกับการพัฒนาด้านการเกษตรตามแนวคิดโคก หนอง นา ชุมชนมีอายุเกือบ 200 ปี แสดงถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่น มีความเป็นเครือญาติ ผู้ใหญ่บ้านมีคุณธรรม มีความเป็นผู้นำ แต่ปัญหาหนี้สิน สิ่งแวดล้อมก็กำลังทำลายความเป็นชุมชนลงไปทุกวัน’ กรวิกรายงานให้สนธิฟัง

‘ผมตั้งชื่อโครงการว่าต้นกล้าแม่ยม ตามชื่อแม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่นี้ครับ ถ้า ผอก.เห็นด้วย เกริกจะลงไปทำงานวิจัยลงลึกในพื้นที่ ผมเขียนรายละเอียดโครงการและแนบข้อมูลเบื้องต้นมาให้พิจารณาแล้วครับ’ กรวิกส่งเอกสารปึกใหญ่ให้ผู้อาวุโส

โครงการต้นกล้าแม่ยมได้รับการอนุมัติในเวลาไม่นาน เกริกเกียรติกับทีมงานลงพื้นที่ทำงานวิจัยทันที กรวิกลงไปร่วมด้วยบ้างเพื่อศึกษาชุมชนเบื้องต้น ภายใต้การสนับสนุนจากสนธิที่จัดสรรงบประมาณให้ทีมวิจัยอย่างเต็มที่ ทำให้งานเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

‘ทิพย์ว่าระหว่างลงไปศึกษาวิจัยพื้นที่น่าจะมีโครงการฝึกอบรมลงไปด้วยนะคะ’ ทิพย์วารินเคยนำเสนอในการประชุมผู้บริหาร เพราะโครงการนี้ฝ่ายฝึกอบรมแทบจะไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณเลย

‘คุณจะไปฝึกอบรมอะไรล่ะ เรายังไม่รู้ถึงความต้องการหรือปัญหาของชุมชนชัดเจนเลย’ สนธิถามผู้บริหารสาวสวย

‘ก็แหม ผอก.คะ เรามีหลักสูตรให้ชุมชนเยอะมากนะคะ โดยเฉพาะการฝึกอาชีพ’ ทิพย์วารินพยายามอธิบาย

‘ในช่วงเวลาที่ผมทำหน้าที่ผู้ตรวจราชการก่อนที่จะมาอยู่ที่นี่ บอกตรงๆ นะ ผมเห็นความสูญเปล่าของการจัดฝึกอบรมมามาก หลักสูตรอาจจะดีนะ แต่ผมคิดว่าจะดียิ่งกว่าถ้าตอบโจทย์ความต้องการได้จริง คนที่มาเข้าอบรมเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง’ สนธิยืนกราน

อีกหนึ่งปีหลังจากนั้นกลายเป็นปีสุดท้ายของวาระในการดำรงตำแหน่งของสนธิ ที่ผ่านมาผู้อำนวยการสถาบันจะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี 2 วาระ รวมเป็น 8 ปี สนธิเป็นผู้อำนวยการสถาบันคนที่ 3 และดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว วันสุดท้ายของการทำงานผู้อาวุโสเรียกกรวิกกับเกริกเกียรติเข้าไปพบ แล้วกล่าวว่า

‘หมดเวลาของผมแล้ว พวกคุณคงคิดว่าคนแก่ๆ อย่างผมมาอยู่ที่นี่เพื่อเอาตำแหน่งประดับเกียรติก่อนตาย แต่ผมมีความตั้งใจจริงที่จะร่วมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามภารกิจของที่นี่ ซึ่งอาจไม่ตอบสนองผู้มีอำนาจบางคน เขาเตรียมคนมาแทนผมแล้ว’ สนธิตบบ่าชายหนุ่มทั้งสอง

‘ผมจะคอยเฝ้าดูโครงการต้นกล้าแม่ยมนะ มีเวลาเล่าความคืบหน้าให้ผมฟังบ้าง คิดว่าอะไรที่คนแก่วัยเกษียณคนนี้จะช่วยได้ บอกมาเลย’

กรวิกเปิดไฟล์ข้อมูลนั่งทบทวนงานวิจัยพลางคิดถึงสนธิที่สนับสนุนให้โครงการต้นกล้าแม่ยมมีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นใจ เสียงเคาะประตูห้องเบาๆ เมื่อเงยหน้าขึ้นมอง ดวงหน้าผ่องแผ้วสะอาดตาที่เยี่ยมหน้าเข้ามาเหมือนดวงตะวันฉายส่องกลางใจ

“พี่เวก ยุ่งอยู่หรือเปล่าคะ” น้ำเสียงสดใสมาพร้อมกับรอยยิ้มกว้าง ดวงตาเป็นประกาย

“ไม่ยุ่งอะไรหรอก ตองนั่งก่อนสิ มีอะไรให้พี่ช่วย” ชายหนุ่มตอบอย่างสุภาพเช่นเคย

“ต้นเดือนหน้าพี่เวกกับพี่เกริกจะลงพื้นที่หนองกระทิงแล้วใช่มั้ยคะ” ตองนวลนั่งลง มองสบตาชายหนุ่มอย่างประจบประแจง “ตองอยากไปด้วย จะทำสกูปปูพรมก่อนที่เราจะจัดแถลงข่าวเปิดโครงการค่ะ ไปคราวนี้จะได้พบกลุ่มต้นกล้า ได้คุยกับพวกเขา จะได้ดึงเนื้อหามาเขียนให้น่าสนใจ” เจ้าของคำขอนั้นไม่รู้ตัวเลยว่าทำให้หนุ่มตรงหน้าใจเต้นแรงได้ขนาดไหน

“พี่จิตรอนุญาตแล้วเหรอ” ชายหนุ่มถามถึงข้อกังวล

“อนุญาตแล้วค่ะ ตองบอกว่าจะไปเตรียมพื้นที่ให้ ผอก.แถลงข่าวด้วย” หญิงสาวตอบอย่างมั่นใจ

แล้วบอกชายหนุ่มว่า “แต่ตองจะตามพี่ไปทีหลังนะคะ ขอเคลียร์งานก่อน จะลงไปสักสองสามวัน เอาดาวไปด้วย”

“ได้เลย เดี๋ยวพี่ให้คนในชุมชนช่วยเตรียมที่พักไว้ให้” ความยินดีฉายชัดในน้ำเสียงจนเก็บอาการเกือบไม่อยู่ เขาอยากจะพูดออกไปเหลือเกินว่า ‘พี่ดีใจที่สุดที่ตองจะไปด้วย’

“ตองนอนบ้านชาวบ้านได้มั้ย หรือถ้าไม่สะดวกนอนโรงแรมในอำเภอก็ได้นะ” กรวิกเสนอ

“แหม ตองไม่ใช่คุณหนูขนาดนั้น บ้านตองก็ธรรมดา ทำไมจะนอนบ้านชาวบ้านไม่ได้ จริงๆ แล้วตองคิดว่าน่าสนุกออก ได้เห็นชีวิตในชุมชนใกล้ชิด” หญิงสาวตอบอย่างกระตือรือร้น

ชายหนุ่มพลิกข้อมือดูนาฬิกา พลางกล่าวว่า “ห้าโมงแล้ว วันศุกร์อย่างนี้ตองต้องขับรถกลับอัมพวาไม่ใช่เหรอ”

หญิงสาวทำตาโตอย่างแปลกใจ “ค่ะ เอ๊ พี่เวกมีนัดหรือเปล่า รีบไล่ตองเลย” เสียงล้อเลียนนั้นทำให้ชายหนุ่มต้องรีบออกตัว “ไม่ใช่อย่างนั้น กลัวรถติดน่ะ ไม่อยากให้ถึงบ้านค่ำมืด”

“วันนี้ตองกลับรถตู้ค่ะ รถเข้าอู่ไว้ที่โน่นตั้งแต่วันอาทิตย์” หญิงสาวตอบ “นั่งรถตู้ไปลงที่ตลาดแล้วโทรให้พ่อมารับ”

ชายหนุ่มรวมรวมความกล้าเอ่ยว่า “งั้นพี่ขับไปส่ง”

หญิงสาวมองอย่างไม่เชื่อสายตา “อุ๊ย อัมพวานะคะ ไม่ใช่สีลม กว่าพี่จะกลับมาถึงอาจจะดึกเลย แถวพระรามสองรถติดมาก”

“ไม่เป็นไร พี่อยากขับรถเล่นนอกเส้นทางบ้าง อัมพวาแค่นี้ ไม่ใช่เพชรบุรีซะหน่อย ไปกันเถอะ” ชายหนุ่มรวบรวมเอกสารบนโต๊ะพลางบอกว่า “ตองไปเก็บของแล้วรอพี่หน้าตึกนะ อีกสิบนาทีเจอกัน”

บ้านของตองนวลอยู่ห่างจากตลาดแม่กลองไปอีก 10 กิโลเมตร เข้าไปในถนนสายเล็ก ซึ่งเป็นสวนผลไม้ตลอดเส้นทาง บ้านเรือนไม้ทรงไทยใต้ถุนสูงของหญิงสาวอยู่ติดริมแม่น้ำ บริเวณบ้านไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม รั้วบ้านเพาดพันด้วยต้นเล็บมือนางที่ออกดอกสีชมพูสะพรั่ง

โชคดีที่วันนี้รถไม่ติดมาก ตลอดเส้นทางชายหนุ่มเพลิดเพลินกับเสียงเจื้อยแจ้วของหญิงสาวที่ชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ ทำให้เขาไม่เก้อเขิน กรวิกไต่ถามถึงครอบครัวของเธออย่างเอาใจใส่ ตองนวลเล่าถึงพ่อแม่และคุณยายอย่างเพลิดเพลิน ทั้งยังไม่ลืมเล่าถึงสร้อยทอง แมวสีส้มตัวอ้วนกลมที่เฝ้าอยู่ในครัวกับคุณยาย ก่อนกลับมาคุยเรื่องงาน

“โครงการต้นกล้าแม่ยมเป็นโครงการระยะยาวโครงการแรกของเราเลยนะคะ ตองสงสัยเสมอว่าเราทำงานพัฒนาแบบโครงการปีต่อปีมาได้ยังไง การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาทั้งนั้น” ตองนวลรู้ว่ากรวิกเป็นคนจริงจัง เรื่องงานทำให้เขาพูดได้ยืดยาวมากกว่าเรื่องเล่น สนุกสนาน

“ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายนั่นแหละ” กรวิกตอบ “การทำงานผูกพันอยู่กับการใช้งบประมาณปีต่อปี ซึ่งไม่น่าจะใช่ในการทำงานของสถาบันเรา พี่ก็อึดอัดใจมานานแล้ว เหมือนทำงานสูญเปล่า นี่ก็ยังมีโครงการแนวนี้เหลืออยู่นะ ถ้าต้นกล้าแม่ยมประสบความสำเร็จ ต่อไปจะได้ปรับโครงการอื่นให้เป็นระยะยาวมากขึ้น”

“กลุ่มต้นกล้าที่ทิ้งงานในเมืองกลับไปบ้านเกิดนี่น่านับถือน้ำใจมากเลยนะคะ” ตองนวลชวนคุยต่อไป

กรวิกยิ้ม แล้วตอบว่า “ใช่ พี่จะไม่มีวันปล่อยให้เขาล้มเหลว”

ตองนวลหันมามองหน้าชายหนุ่มแล้วแซวว่า “เอ สำนวนนี้คุ้นๆ นะ”

กรวิกหัวเราะ “สำนวนปักจุงฮี ตอนพี่ไปดูงานพัฒนาชนบทที่เกาหลีใต้ ชอบประโยคนี้มาก ทำใมตองจำได้ล่ะ”

ตองนวลหันมามองเขาเต็มตา ก่อนจะตอบให้ชื่นใจว่า “ตอนพี่นำเสนอในที่ประชุมหลังจากกลับมาจากเกาหลีใต้ ตองชอบคำนี้มาก จำได้ขึ้นใจเลย”

กรวิกมาถึงบ้านหญิงสาวประมาณหกโมงครึ่ง ชายหนุ่มเอารถเข้าไปจอดภายในรั้วบ้านแล้วลงไปทำความเคารพบิดามารดาและคุณยายของหญิงสาว แม้เป็นครั้งแรกที่มาบ้านหลังนี้ ชายหนุ่มก็สัมผัสได้ถึงความเรียบง่าย อบอุ่น

พ่อของหญิงสาวเป็นข้าราชการบำนาญ เคยเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดเหมือนแม่ของเขา ชาวบ้านแถวนั้นจึงเรียกติดปากว่าอาจารย์เต ย่อมาจากชื่อเต็มว่าเตชินท์ ส่วนแม่หลังจากจบวิทยาลัยการช่างสตรี ก็มาทำขนมหวานและอาหารโบราณกับคุณยายที่มีฝีมือเป็นที่เลื่องลืออยู่แล้ว ส่งขายให้ร้านในตลาด มีหลานๆ ที่อยู่บ้านใกล้กันเป็นลูกมือ ขนมหวานของคุณยายหนูกับแม่อนงค์นั้นทำเท่าไรก็ขายหมด

“ทานข้าวด้วยกันก่อนนะค่อยกลับ” อาจารย์เตชินท์เอ่ยชวน พลางเพ่งพินิจท่าทางสุภาพ นอบน้อมอย่างเป็นธรรมชาติของชายหนุ่มอย่างพึงใจ

“ไม่เป็นไรครับ ขอบพระคุณ” กรวิกปฏิเสธด้วยความเกรงใจ

“ทานข้าวก่อนเถอะพ่อ จะหิ้วท้องไปทำไมกว่าจะขับรถถึงบ้านก็สองทุ่ม หิวตาลายพอดี” คุณยายมาร่วมคะยั้นคะยออีกคน วัย 80 ที่ยังกระฉับกระเฉงมีเค้าความงามละม้ายหลานสาวอย่างเห็นได้ชัด

วงสนทนาบนโต๊ะอาหารเป็นไปอย่างกันเอง จนทำให้ชายหนุ่มหายเก้อเขิน อาจารย์เตชินท์ผูกขาดการสนทนาเป็นส่วนใหญ่ด้วยการซักถามชายหนุ่มอย่างฉลาด ทั้งเรื่องการงานและครอบครัว

กรวิกสังเกตว่าบรรยากาศบนโต๊ะอาหารเรียบง่าย ไม่ต่างไปจากบ้านของเขา อาหารบนโต๊ะมีเพียงสามอย่าง น้ำพริกปลาทู มีทั้งผักสดพวกมะเขือ แตงกว่า และผักลวกราดกะทิ คือดอกโสน ผักกูด ดอกขจร แนมปลาทูแม่กลองเนื้อนิ่มมันอร่อย แกงจืดตำลึงหมูสับ และผัดเผ็ดปลาดุก

“ผักหญ้าเก็บเอาในสวนข้างบ้านนี่แหละ ทานได้นะ” บิดาตองนวลออกตัว

“อร่อยมากครับ” กรวิกตอบตามจริง “อาหารเหมือนที่บ้านผมเลย แม่ของผมก็ทำอาหารง่ายๆ แบบนี้แหละครับ พ่อทำสวนครัวไว้หลังบ้าน เก็บผักมาทำกันได้ทุกวัน”

“อร่อยก็ทานเยอะ ๆ นะ ไม่ต้องเกรงใจ” คุณยายรู้สึกเอ็นดูชายหนุ่มมากขึ้น แม่ของตองนวลยิ้มไม่พูดอะไร

เมื่อรถของชายหนุ่มลับตาไปแล้ว หญิงสาวกลับขึ้นเรือน เห็นพ่อนั่งเก้าอี้โยกที่หวายอยู่บนระเบียงบ้าน จิบน้ำชาร้อนๆ อย่างเคย หญิงสาวนั่งลงกับพื้น เอาท่อนแขนวางพาดที่พักแขนของเก้าอี้โยกบิดา เอาคางเกยท่อนแขน เงยหน้ามองอย่างล้อเลียน

“พี่เวกเค้าคงไม่กล้ามาส่งหนูอีกแล้วแหละ พ่อซักยังกะเค้าจะมาขอลูกสาว” หญิงสาวหัวเราะชอบใจ

ผู้สูงวัยมองลูกสาวด้วยความรัก วางแก้วชาลงที่โต๊ะข้างตัว แล้วเอื้อมมือมาเขย่าหัวอย่างมันเขี้ยว

“อย่าทำเป็นไก๋ ยายตอง พ่อมองตาก็รู้ ว่าไอ้หนุ่มคนนี้คิดอะไรอยู่”

“คิดอะไรเหรอพ่อ นี่เป็นครั้งแรกเลยนะที่พี่เค้ามาส่ง ชวนไปกินข้าวยังไม่เคยเล้ย” ตองนวลเบ้ปาก ตามองบน

“คนจริงใจไม่เจ๊าะแจ๊ะหรอกลูก หนูจะเอาไปเปรียบกับพวกเจ้าชู้ประตูดินไม่ได้หรอก” บิดาบอกกับลูกสาว แล้วถามต่อว่า “แล้วหนูคิดยังไงกับเขาล่ะ”

“แหม พ่อ ไปไกลแล้ว หนูไปอาบน้ำดีกว่า” หญิงสาวตัดบท หน้าร้อนผ่าวเมื่อได้ยินเสียงหัวเราะเบาๆ จากผู้เป็นพ่อ

ตองนวลเติบโตมาด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมกับบิดามากกว่ามารดา ซึ่งเป็นคนพูดน้อย มีแต่ความรัก เอาใจใส่ลูกสาวคนเดียว และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน ทำขนมส่งขาย

อาจารย์เตชินท์มักจะพาลูกสาวไปเที่ยวในที่ต่างๆ สองคนพ่อลูกตั้งแต่ตองนวลยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อย จนเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อให้ตองนวลมีมุมมองที่กว้างไกล

พ่อลูกมักจะพูดคุย ถกถียง วิเคราะห์ วิพากษ์ในเรื่องต่างๆ ด้วยกัน แม้แต่เรื่องของบรรดาหนุ่มๆ ที่เข้ามาใกล้ชิดลูกสาวคนสวย ก็ถูกวิเคราะห์เจาะลึกจนหมดสิ้น ตองนวลรู้ดีว่าพ่อไม่ได้ปิดกั้นอะไร แต่การมองทะลุทะลวงของพ่อทำให้เธอเองก็มองชายหนุ่มแต่ละคนที่เข้ามาเหมือนตัวละครที่ผ่านฉากชีวิตแต่ละฉาก ไม่เคยรู้สึกพิเศษกับใครมาก่อน

จนกระทั่งได้ทำงานร่วมกับกรวิก ระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา หญิงสาวรู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้งที่ได้พูดคุยกับชายหนุ่ม มีความนับถือ ไว้วางใจอย่างที่ไม่เคยรู้สึกกับใครมาก่อน

เพียงแต่ว่าชายหนุ่มไม่ได้แสดงความรู้สึกอะไรมากไปว่าความเอื้ออาทรในฐานะเพื่อนร่วมงาน แต่หญิงสาวก็รู้สึกได้ว่าสายตาของชายหนุ่มจับจ้องอยู่ที่เธอเสมอ ยามเผลอไผลในแววตานั้นมีบางสิ่งที่ตองนวลบอกกับตัวเองว่าเธอไม่ได้รู้สึกแต่ฝ่ายเดียว

วันนี้เธอจึงแอบดีใจที่ชายหนุ่มก้าวเข้ามาหาอีกหนึ่งก้าว ตองนวลรู้ดีว่าผู้ชายอย่างกรวิกคงต้องรวบรวมความกล้าพอสมควรทีเดียว

แล้วเธอก็อดขำไม่ได้ที่คุณยายเรียกชายหนุ่มอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ‘พ่อการะเวก’ ทำเอาเจ้าของชื่อขวยเขินไปพักใหญ่ เมื่อคุณยายกล่าวว่า ‘ถ้าเป็นสมัยยายยังสาวๆ นะ ชื่อพ่อการะเวกส่วนใหญ่จะเป็นพระเอกลิเก รูปสวย เสียงหวาน แม่เค้าเข้าใจตั้งชื่อเนอะ โกกิลา กาเหว่า กรวิก การะเวก ไม่มีใครซ้ำเลย’

แล้วคุณยายยังอธิบายที่มาของชื่อตองนวล ซึ่งเล่าให้ใครต่อใครฟังอย่างไม่เบื่อหน่าย ‘บ้านเราทำขนมไง พ่อเค้าชื่อเตชินท์ แม่ชื่ออนงค์ ยายเลยบอกว่าชื่อตองนวลแล้วกัน หมายถึงความนวลใยของใบตองที่เราใช้ทำขนมกัน ตอนเกิดใหม่ๆ หน้าเค้าก็นวลใยสมชื่อ’

หญิงสาวคิดถึงการไปลงพื้นที่ที่หนองกระทิงของโครงการต้นกล้าแม่ยมอย่างตื่นเต้น การได้ลงไปสัมผัสชีวิตผู้คน เรื่องราวใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้งานสื่อสารของเธอน่าหลงใหล และโดยเฉพาะทุกครั้งที่ได้ลงไปกับชายหนุ่ม ความรอบรู้อย่างลึกซึ้งในงาน ความมุ่งมั่นของเขาเป็นเสน่ห์ที่จับใจหญิงสาวโดยที่เขาไม่รู้ตัว

ตองนวลอยากให้วันที่จะได้ไปหนองกระทิงมาถึงในเร็ววัน เพราะเธอเริ่มเบื่องานที่ต้องติดตามธนเทพไปออกสื่อที่ไม่มีสาระน่าสนใจ และธนเทพยังชอบพูดจาหยอกล้อเหมือนแสดงความเอ็นดู แต่หญิงสาวรู้สึกอึดอัดกับแววตากรุ้มกริ่ม การหยอกเย้าที่ถึงเนื้อถึงตัวบ่อยๆ

การได้หลบไปทำงานที่หนองกระทิงสักพักนับว่าเป็นโอกาสดี โดยเฉพาะได้ไปกับกรวิก ผู้ชายที่ก้าวเข้ามากลางใจเธอช้าๆ แต่ทว่ามั่นคง ตองนวลอดขำไม่ได้เมื่อนึกถึงกล้วยไม้แสนสวยที่ละอองดาวเอามาให้เกือบทุกเช้าวันจันทร์

‘พี่เวกเอามาฝากค่ะ แหม แหม จะให้เองก็ไม่ได้’ ทั้งหัวหน้าและลูกน้องหัวเราะกันคิกคัก ตองนวลเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่กล้าแสดงความรู้สึก เธอจึงรับดอกกล้วยไม้ทุกครั้งด้วยความอิ่มเอมใจอย่างไม่ปิดบัง

 



Don`t copy text!