เด็กชายชาวดง บทที่ 5 : ผีทักผีทอ

เด็กชายชาวดง บทที่ 5 : ผีทักผีทอ

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

“เด็กชายชาวดง” นวนิยายเรื่องล่าสุด จากปลายปากกาของ มาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ที่อ่านเอา อยากให้คุณได้อ่านออนไลน์จบลงแล้วนะคะ แต่ผู้อ่านใจดี ขอฝากไว้ให้ผู้อ่านได้กัน 5 บท ซึ่งหากอยากซื้อแบบรวมเล่มเก็บไว้อ่าน “เด็กชายชาวดง” จะตีพิมพ์โดย GROOVE PUBLISHING สามารถโปรดติดตามกำหนดวางจำหน่ายอีกครั้ง ที่ Facebook Fanpage : GROOVE PUBLISHING 

****************************

– 5 –

ยายชื่อว่าแสงคำ คนเรียกว่าแสงคำหน้ามอดเพราะหน้าปรุพรุนเหมือนโดนมอดกัดแทะ ยายป่วยเป็นไข้ทรพิษเมื่อยังอยู่บ้านเก่าที่ย้ายหนีห่ากันมา ไข้ทรพิษคำบ้านเราเรียกว่าออกสุก มันเป็นโรติดต่อร้ายแรงสมัยนั้น เป็นแล้วตายมากกว่าหาย หากรอดมาได้ เนื้อตัวหน้าตาจะไม่ราบเรียบเป็นปกติดังเดิม ผิวหนังจะตะปุ่มตะป่ำเป็นหลุมเป็นรูขรุขระเพราะฝีกัดเนื้อ หากฝีขึ้นที่ตา ตาจะบอด

ยายเล่าว่ามันปวดแสบปวดร้อนมาก ร้อนเหมือนไฟนาบ ใส่เสื้อใส่ผ้าไม่ได้ หนองฝีจะติดเสื้อผ้า มันจะถลกเอาเนื้อหนังติดออกไปกับผ้า เวลานอนก็ต้องนอนบนใบตองกล้วยได้อย่างเดียว นอนฟูกไม่ได้ นอนเสื่อก็ไม่ได้เพราะน้ำหนองจะติดฟูกติดเสื่อ มันจะถลกเอาเนื้อเอาหนังติดออกไปอีก แต่นอนตองกล้วยมันมีนวลตอง หนองออกไปจึงไม่ติดตองกล้วย เนื้อหนังไม่หลุดลอกถลอกออกไป

“มันเจ็บ มันปวด ทุกข์ทรมานมากนัก เป็นแล้วก็อยากตายอย่างเดียว” ยายสรุป

ยายอายุราวเจ็ดสิบแล้ว เกิดที่บ้านเวียงแม โยกย้ายติดตามทวดมาเมื่อห่าลงเมือง ไม่ได้ลงแต่บ้านเรา ยายเล่า ลงหลายบ้าน บางบ้านร่วงรายหายสูญ บางบ้านร่อยหรอเหลือคนติดบ้านไม่กี่ครัวเรือน คนบ้านเวียงแม ย้ายหนีกันเป็นระลอก ไม่ใช่ย้ายพร้อมกัน บางกลุ่มไปทางใต้ บางกลุ่มไปทางเหนือ กลุ่มของยายย้ายขึ้นทางตะวันตกมีตุ๊ลุงอินถากับพ่อหนานทองเป็นผู้นำ ตุ๊ลุงอินถาเคยธุดงค์ซอกซอนมาถึงดอยดงหงหลวง ท่านว่าเป็นป่าราบเพียงกว้างใหญ่พอจะตั้งบ้านได้ ผู้ใดจะไปกับท่านบ้าง คนสิบครัวติดตามท่านมา คนอื่นอาจไม่เชื่อมั่นท่านหรือเชื่อมั่นผู้นำคนอื่นก็สุดแท้แต่ใจเขา ท่านพาบุกป่าฝ่าดงขึ้นมา ผ่านบ้านคน ผ่านป่าเสือป่าหมี ป่าผีป่าสางสารพัด ตายไหนก็ฝังนั่น ต่อภายหลังเมื่อตั้งบ้านได้แล้วจึงค่อยกลับไปขุดกระดูกมาทำบุญ

“ตายหลายไหม ยาย”

“บ่หลาย สี่ห้าคน”

“สี่ห้าคนยังบ่หลายเทื่อกา?”

“หากอยู่ที่เก่า อาจตายหลายกว่านี้ ห่าลงเมือง มันล้างได้ทั้งเมือง”

คำว่าห่าลงเมือง คนรุ่นแสงเมืองไม่รู้จักพิษสงมัน คนรุ่นตากับยายรู้จักลึกซึ้งถึงความรุนแรงร้ายกาจของมัน ท้องรุท้องร่วงเหมือนโดนยาเบื่อ ตายทุกวัน บางวันตายทั้งกลางวันกลางคืน หยูกยาใดๆ เอาไม่อยู่ ขี้พุ่งออกก้น รากพุ่งออกปาก ผู้หนึ่งตายลงไม่ทันเอาศพไปฝัง  ผู้สองทั้งรากทั้งขี้อีกคน เสียงโหยเสียงไห้อาลัยหาผู้ตายดังอยู่ไม่ขาดหู บางวันสองสามศพ บางวันสี่ห้าศพ ยายว่าอย่างนั้น

“อยู่บ่ได้แล้ว” ยายบอก “ตกขึดตกขวง เป็นภัยพยาธิอุบาทว์อันร้าย ไม่โยกย้ายหนีก็อาจตายกันเกลี้ยงบ้าน ก็พากันหนีมา ค่ำไหนนอนนั่น  สามวันห้าวันก็ค่อยคุ้นเคย เลยสิบคืนก็มาถึงดอยดงหล่งลึกที่อยู่ในอำนาจของแสนคันธา  มันเป็นป่าดงหล่งหลวงสมคำบอกเล่าตุ๊ลุงอินถา ค่อยปลูกแปลงแต่งสร้าง ค่อยอยู่สุขสวัสดีทีฆาเที่ยงมั่นสืบมาวันนี้”

 

ตามคำคนแก่คนเฒ่าเล่าบอก เมื่อแรกตั้งบ้าน มีอุปสรรคขัดขวางนานา ผืนนาที่เรียกกันว่านาทุ่งหลวงในวันนี้ยังเป็นป่าใหญ่ไม้สูงยูงยางย่างฟ้อน พ่อหนานถาเป็นผู้มีความรู้ดูที่ดูทางตามตำราพญาพิสสนู ดูที่ดูแดนแล้วเห็นว่าถูกต้องก็พากันไปหาแสนคันธาผู้เป็นเจ้าแคว้นแดนดินตามอาชญาเจ้าหลวง ย้อนหลังไปเมื่อราวปีพ.ศ.๒๔๔๐ที่คนรุ่นแรกหนีห่ากันมา ล้านนาไทยเชียงใหม่แก้วกว้างยังมีเจ้าหลวงปกครองชื่อว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ แสนคันธาได้รับอำนาจอาชญาจากเจ้าหลวงองค์นี้ให้มาปลูกแปลงแต่งสร้างบ้านคนเมืองคนในตำบลห่างไกลทางทิศตะวันตกของนครเชียงใหม่ แสนคันธารู้ว่าชาวหนีห่าอยากมาอยู่ในเขตแดนที่ท่านได้รับอำนาจอาชญาจากเจ้าหลวงก็อนุญาตไม่ขัดขวาง  สมัยนั้น ป่าดงหงหลวงกว้างใหญ่ บ้านคนมีน้อย ผู้คนพลเมืองไม่มาก การที่มีคนต่างถิ่นขอเข้ามาอยู่ในอำนาจเป็นเรื่องน่ายินดี มีคนหลายๆ มีคนมากๆ บ้านเมืองจะคับคั่งขึ้น เวลาถูกเกณฑ์เข้าทัพ จะได้คนไปเข้าทัพมากขึ้น ส่วนชาวน้ำลัด หนองพระเจ้าผดและโป่งหมี เขาอยู่มาก่อน อยู่มาวันนี้ห้วยโท้งเจริญก้าวหน้ามีตลาดมีโรงเรียน ห้วยโท้งเป็นทั้งชื่อตำบล  ชื่อหมู่บ้าน และชื่อลำห้วย แต่นาบ้านเราไม่ได้กินน้ำห้วยโท้ง ยังมีห้วยอีกสายไหลมาทางเหนือ ผ่านดอยปู่เฒ่าย่าเฒ่าก่อนเข้านาบ้านเรา ส่วนนาใหม่พ่อเบิกได้ยังเป็นนาน้ำฟ้าคืออาศัยน้ำฝนเป็นหลัก พ่อใช้เวลาสามปีถึงได้นาสี่ไร่เศษ เป็นนาโดดเดี่ยวยังไม่มีเพื่อน พ่อเป็นคนแรกที่มาบุกเบิกผืนป่าด้านนี้เป็นที่ทำกิน

“มันเป็นผีตัวใดหือ อี่พ่อ”

“อาจเป็นผีป่า”

พ่อสังหรณ์ใจ พ่อกลับเข้าห้างไม่เห็นลูกชายคนกลางจึงถามพี่ชาย ส่วนไอ่อ้ายก็นึกว่าน้องอยู่กับพ่อ สองคนออกตามหา ไปพบแสงเมืองนอนคว่ำหน้าใกล้หมากผาก้อนใหญ่ พ่อว่าใจหาย รวบหอบได้ก็อุ้มสู่ห้าง แสงเมืองรู้สึกตัวตอนนั้น

“มันบังคับข้าไป มันกุมแขนข้าไว้ ข้าร้องไห้หาอี่พ่ออี่แม่สุดทาง”

“พ่อเอาเอ็งคืนมาได้แล้วไอ่เมืองเอ๋ย มาเทอะมา ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว”

คืนนั้นแสงเมืองไข้ขึ้น เพ้อออกมาแต่สิ่งที่น่ากลัว รุ่งแจ้งแสงใส พ่อเอาลูกชายขี่หลังคืนเรือน ตายายร้อนใจใช้ให้ไอ่อ้ายไปสู่เรือนปู่ ปู่มาฮ้องขวัญคือเรียกเอาขวัญคืนเมือสู่เนื้อสู่ตัว คำเรียกขวัญอันนี้จดอยู่ในพับหรือสมุดบันทึกแบบโบราณของปู่ ภายหลังมา เมื่อเติบโตขึ้นได้เข้าผ้าเหลืองบวชเรียน แสงเมืองได้สืบพับเล่มนี้ คำร้องขวัญที่ปู่จดไว้มีดังนี้

อัชชะ ในวันนี้ก็เป็นวันดี ศรีสุภะ ชยมังคลาอันประเสริฐ ส่วนวันเม็งก็หมดใส วันไทก็หมดปลอด ก็มาเป็นยอดพญาวัน ในวันนี้ก็เป็นวันดี ศรีวันหม้า เป็นวันปราบแพ้ชนะข้าเศิกศัตรู เป็นวันอุสสาชัยโชคฟ้า ข้าจักเรียกขวัญเจ้าว่ามาๆ อยู่เป็นมงคล ขวัญเจ้าอย่าไปหลงอยู่ยังอกันนิถาฟากฟ้า ทุกแหล่งหล้าเมืองสวรรค์ ขวัญเจ้าอย่าไปอยู่ยังชั้นฟ้า ขวัญเจ้าอย่าไปสังเวชอยู่ในดง ขวัญเจ้าอย่าไปหลงอยู่ยังห้อง ประเทศท้องที่เมืองผี ขวัญเจ้าอย่าหนีไปอยู่ที่เมืองท่าน ขวัญเจ้าอย่าไปอยู่ย่านน้ำวังปลา ขวัญเจ้าอย่าไปอยู่ยังดอยดงหนาหาดห้วย เหวหลิ่งช้วยที่ผาชัน ที่กลางดงตันเถื่อนกว้าง ประเทศท้างป่าไม้หิมพานต์ ขวัญเจ้าอย่าไปสนุกอยู่ในวิมานคำแลปราสาทแก้ว คำปรารถนาเจ้าบ่แล้วหื้อไปรอดหั้นคืนมา

ขวัญตาก็หื้อมาอยู่ตาทังคู่ แก้วขวัญหัวก็หื้อคืนมาอยู่กับผม ขวัญดังก็หื้อมาอยู่ดังดมดอก ขวัญหูก็หื้อคืนมาอยู่หู ทือท่อต้างแลลานคำ หื้อมาฟังธรรมดังเก่าไว้เล่ากับตน ขวัญแขนลำปล้องแก้วก็หื้อคืนมาสุบสอดแล้วด้วยแหวนคำ  ข้าจักเรียกเอาขวัญแอวแค้วแลอกกลม  ข้าจักเรียกเอาขวัญถานานมทังคู่ ขวัญท้องก็หื้อมาอยู่ท้องเจ้า กินข้าวน้ำโภชนะอาหาร หลายประการเลิศแล้ว หื้อจอมเจ้ามีแรง ขวัญแข้งเจ้าหื้อมาอยู่กับขา ขวัญปาทาอย่าไปเทียวท่องผ้าย ขวัญมือก็หื้อคืนมาอยู่มือดังเก่า ขวัญหัวเข่าอย่าหื้อคลอน ขวัญตนตัวเจ้าก็หื้อได้มานอนสาดบาง ทังขวัญปากช่างเสียงหวาน ข้าจักปะทังขวัญนิ้วนางแลนิ้วก้อยและแม่มือ ข้าจักปะทังขวัญสายดือแลท้องน้อย ทังขวัญคู่แก้มแลตงคาง กับทังขวัญคอกลมตกปล้อง เต็มว่าบ่หย้องก็หากดูเพิง ข้าจักปะทังขวัญตาแลขวัญคิ้ว ขวัญสิบนิ้วก็หื้อคืนมา ขวัญหัวเจ้าอย่าหนีไปที่ป่าลิไลยช้างแก้ว พ่อเรียกแล้วจุ่งมาๆ พ่อแม่พี่น้องก็ยังคองหาทุกค่ำเช้า หื้อมาพร้อมหมู่เขาญาติกา ขวัญเจ้าอย่ามีคำโกรธาเคืองเคียด ส้มเสียดใจหมอง หื้อมานอนเสื่อสาดเครื่องลาดเคยสบาย ขวัญเจ้าอย่าผายตนไปเดินป่าล่าเล่นเรรน จักเป็นทุกข์แก่ตนแสนส่ำ ขวัญเจ้าอย่าไปร้องร่ำไห้อยู่กลางทาง เสือสิงห์สางร้องอาดอ้าง ทังแรดช้างเขาก็จักยียำกันไป ขวัญเจ้าอย่าเดินไปตกไกลโขงเขตหล้า ขวัญแก้วกำพร้าพ่อมาๆ ขวัญบุตราธิดาลูกรักพ่อ จงจักมีใจม่อมาๆ พ่อแม่เจ้าก็ยังมาแปลงสะดาไว้ท่า ไว้หื้อลูกหล้าพ่อมาเสวย ชิ้นปลาเลยปุนใฝ่ มีทังไก่ต้มแลปลามัน มีทังกล้วยจันแลกล้วยตีบ ลูกบ่ลีบกินหวาน มีทังน้ำตาลแลน้ำอ้อย มีทังข้าวต้มแลข้าวหนมชื่นช้อยหวานดี มีทังเสื้อผ้าแลเครื่องหย้อง จุ่งจักรอเรียกร้องกันมาๆ อยู่กายาจิ่มเนื้อ อย่าหื้อได้ต้องทุกข์โศกโรคา สัพพะทุกขเวทนาอย่าได้มาใกล้ อย่าหื้อได้ไข้เป็นฉันใดเทอะเนอ หื้อมาอยู่เย็นใจชะล่ำ  หื้อมาอยู่กับด้วยผีด้ำเรือนรา มาๆ เทอะนาขวัญเหย

 

ไข้ทรงในเนื้อ เป็นๆ หายๆ พ่อหมอยามาตกยาให้ต้มกินขมปากขมลิ้น สมัยนั้น ยาเม็ดยาหมอสมัยใหม่คนบ้านเราแทบไม่มีใครรู้จัก  การเยียวยารักษาเป็นไปตามความรู้พื้นบ้านพื้นเมือง บางอย่างได้ผล บางอย่างก็ไม่ได้ผล ต่อมาแสงเมืองก็กระเสาะกระแสะทรงๆ ทรุดๆ มันอ่อนม่อยสะลาบเนื้อสะลาบตัว คือตะครั่นตะครอปวดเมื่อยไปทั้งตัว ไม่อยากกินอะไร อยากนอนอย่างเดียว

เพื่อบ้านรู้ข่าวว่าลูกหนานดวงแสงพี่บัวเกี๋ยงไม่สบายก็แวะเวียนกันมาเยี่ยมยามถามไถ่ มาสู่ข้าวเอาขวัญผูกข้อทอแขนให้พลันห่อมพลันหายอยู่ดีสบาย ข้อแขนเด็กชายมีฝ้ายไหมมือหรือด้ายผูกขวัญผูกลามขึ้นมาเกือบถึงข้อศอก เป็นความรัก ความห่วงใย ความปรารถนาดีของพ่อแม่พี่น้องชาวป่าชาวดงที่ไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้มีแรงใจ ทำให้รู้ว่าเรามีค่า เราเป็นที่รักของเขา เป็นความอบอุ่นคุ้นเคย แม้ในภายหลังเมื่อเติบโตมากแล้ว เรียนหนังสือจบแล้วได้ไปเป็นครูอยู่ต่างบ้านต่างเมือง กลับคืนบ้านเกิดคราวไรก็อบอุ่นหัวใจ พ่อแก่แม่เฒ่ายังแวะมาเยี่ยมยามถามไถ่ เอาฝ้ายไหมมือมาสู่ข้าวเอาขวัญตามประเพณีเดิม

“ผีตัวนั้น…”

พ่อน้อยอุ่นทักขึ้นในคืนวันหนึ่งที่ยังผอมลีบตัวเหลือง พูดแค่นั้นก็ทิ้งไว้ ตาพูดต่อให้ว่า

“มันทักทอรอกิน ไปเลี้ยงมันเสีย บ่เลี้ยงบ่หาย”

“เมื่อแรกเอาดิน” แม่อุ๊ยแก้วพูด “เอ็งได้บักบนหนกล่าวไว้ไหม ผัวอี่เกี๋ยง”

“ข้าก็ได้ขอเอานะ อุ๊ยแก้ว บ่ได้จ้วงจาบหยาบหยามถือว่าตัวเป็นใหญ่ เสร็จสิ้นวันใดก็จะเลี้ยงใหญ่ด้วยเหล้าไหไก่คู่ หมากเมี่ยงพลูยา”

“อาจไม่ใช่ผีเจ้าที่เจ้าแดน  อาจเป็นผีร่อนเร่อดอยากปากหมอง อาจเป็นผีตกค้างไม่ได้ไปเกิด อย่าได้เสียดายเลย ไก่สักตัว เหล้าสักขวด”

วันรุ่งขึ้น พ่อก็ต้มไก่ตัวหนึ่ง พอตะวันรอนอ่อนแสง ปู่กับพ่อก็ไปสู่ผืนนาที่เบิกทิ้งไว้ยังไม่แล้วเสร็จ ผีเผาซากตัวนั้นอาจเป็นผีตายโหงตายห่า ผีป่าผีดงตกค้างมาแต่เมื่อใดแล้วไม่รู้  อาจเป็นผีม่านผีเม็งที่รบกับผีไทยในฮ่อมผีฮบออกมาหากิน ผีพวกนี้เป็นผีร้ายปองกระทำแก่คนผู้ยังอ่อนในคุณความดี อาจเป็นผีไร้ญาติไม่มีใครทานขันข้าว คือถวายข้าวปลาอาหารแล้วอุทิศไปหา

“มันอดอยากปากไหม้”ตาบอกหลาน “ปันให้มันกิน มันได้กินก็ปล่อยก็วาง”

“มันบังคับข้าไป มันว่าจะเอาไปฆ่าไปแกงสู่กันกิน”

“มันไม่มีหม้อข้าวหม้อแกง จะฆ่าแกงสู่กันกินได้อย่างใด”

“ข้าร้องไห้ไปสุดทาง นึกว่าไม่ได้กลับมาเห็นหน้าตาอีกแล้ว”

“ปากหวานนะมึง”

ตาเอาสองนิ้วหนีบแก้มหลานแล้วดึงเบาๆ

 

หวนนึกไปถึงครั้งนั้น วันเวลาที่ยังอ่อนวัยไม่ค่อยรู้เรื่องราวอะไรมากนัก  แม้ว่าทางอยู่ทางกินจะขลุกขลักลำบาก ฐานะเงินทองจะจนยากแต่กลับมากมีด้วยความอบอุ่นมั่นคงหัวใจ บ้านใหม่เวียงแมแม้ยังแร้นแค้นกันดาร แต่กลับเต็มไปด้วยความสงบสุขสวัสดี บ้านเราเมื่อเก่าก่อนเป็นที่คิดถึงคะนึงหายิ่งนักในวัยปลายของชีวิต

 



Don`t copy text!