ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 18 : ผู้ชายจากสายธาร (1)

ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 18 : ผู้ชายจากสายธาร (1)

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

ซ่อนรักในรอยกาล โดย พิมพ์อักษรา กับผลงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อ่านง่าย ว่าด้วยทฤษฎีหนึ่งในตำนานประวัติพระนางจามเทวีกับพระสวามีที่แทบไร้หลักฐาน ผ่านเกมการเมืองในอาณาจักรทวารวดี อันมีชายปริศนาแฝงตัวเข้ามาอยู่เบื้องหลังเกมชิงบัลลังก์ครั้งใหญ่นี้ ติดตามได้ในเพจ อ่านเอา และ anowl.co

ณ ราชธานีละโว้แห่งทวารวดี เมื่อไร้ปิ่นธานีอย่างพระนางชวาลาแล้วก็พลันตึงเครียด ด้วยไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ต่างไม่พอใจที่ราชสำนักเนรเทศเจ้าหญิงที่พวกเขารักจากแคว้นไป แม้รับทราบว่ามีสาส์นทูลเชิญอย่างเป็นทางการก็ตาม กระนั้นพวกเขาก็ได้ยินข่าวลือเล็ดลอดมาว่าเป็นฝีมือของพวกเจ้านายฝ่ายอื่นที่ริษยาอำนาจบารมีของเจ้าหญิงชวาลา จึงเริ่มต่อต้านบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่เดิมทีก็มิได้เป็นที่รักของประชาชนเท่าไรนัก

ทางการจึงอาศัยจังหวะที่อุปราชรามราชออกผนวชก่อนขึ้นครองราชย์ สร้างความชอบธรรมให้เรื่องพระนางชวาลาไปครองแดนเหนือ โดยอ้างว่าเมื่อภัสดาออกผนวช ชายาก็จะตกอยู่ในสถานะม่าย อันเป็นสถานภาพที่ไม่สู้เจริญนัก การส่งพระนางไปเป็นนางพญาเมืองอื่นย่อมเป็นการถวายเกียรติยศและเสริมฐานันดรของพระนางให้สูงส่งยิ่งขึ้นต่างหาก (1)

และแม้เมื่อกำจัดเจ้าหญิงชวาลาผู้เป็นเสี้ยนหนามตำใจชาววงศ์เวหะไปได้สำเร็จแล้วก็ตาม ปัญหากลับมิได้ถูกขจัดหมดจดตามไปด้วย เนื่องจากองค์รัชทายาทที่จักสืบบัลลังก์ได้ออกผนวชเป็นเวลาสามเดือนแลยังมิเผยพระนามเจ้าหญิงที่จักทรงเลือกเป็นอัครชายา ทั้งสามฝ่ายจึงยังมิอาจวางใจได้สนิทและยังคงระแวงกันอยู่เสมอ ในเมื่อมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายอู่ทองหรือศรีเทพอาจคิดล้มล้างระบอบการสืบสันตติวงศ์ดั้งเดิม โดยกำจัดเจ้าชายกัษษกรแล้วปราบดาภิเษกเจ้าชายฝ่ายตนอย่างเจ้าชายชนุดรหรือเจ้าชายวิรามรขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

ศรีเทพกับอู่ทองก็เริ่มระแวงกันเองเช่นกัน จึงยังคานอำนาจกันได้

ทว่าฝ่ายที่เป็นเดือดเป็นร้อนที่สุดย่อมเป็นพวกจันเสนที่ไม่มีเจ้าชายสูงศักดิ์อย่างคู่แข่งทั้งสอง อีกทั้งพวกเขายังถือว่าเจ้าหญิงบุณฑราทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขสายตรงของพระเจ้าจักวัติ ย่อมมีสิทธิ์สืบอำนาจผ่านการเป็นอัครเทวีมากกว่าเจ้าหญิงวิมุทราและเจ้าหญิงทิพกฤตา ผู้มีลำดับสืบสายห่างชั้นกว่า

ทั้งสามฝ่ายจึงยังขับเคี่ยวทำสงครามเย็นกันในราชสำนักจนกว่ารามราชจะสละสมณเพศวิถีนั้นแล

“ถึงอย่างนั้น สู้กันเองก็ยังรู้จักกันดีว่าผู้ใดเป็นอย่างไร หากมีมฤติกาอีกคนจักต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากว่านี้นัก” พระนางพันธิสาตรัสต่อพระนางทวีติยาเมื่อพบกันโดยบังเอิญที่วัดร่มสวรรค์

“มฤติกาที่ไร้ชวาลาและคุณท้าวทั้งสองก็มิต่างอันใดกับมดปลวก เป็นดุจงูไร้พิษ” เจ้าหญิงทวีติยาทำสุรเสียงหมิ่นแคลน “ฝ่าบาทสู้อุตส่าห์อภิเษกนางขึ้นเป็นอัครเทวีก่อนสละราชย์เพื่อให้นางมีพระยศเป็นพระราชชนนีในภายหน้า เป็นเครื่องรับประกันความปลอดภัย…โถ ช่างมิเรียนรู้เอาเสียเลยว่าขนาดมัณฑนาเทวีพวกเรายังจับใส่ตรุมาแล้ว นับประสาอันใดกับมฤติกาเทวีเล่า แต่พวกเราจักมิเสียเวลากับพยัคฆ์ที่ปราศจากเขี้ยวเล็บเช่นนั้นหรอก”

“มฤติกาเทวี” พันธิสาสรวล “ถูกของเจ้า…ให้นางกอดตำแหน่งพระราชเทวีชั่วคราวนั้นไว้เถิด และต่อให้เป็นพระราชชนนีในภายหน้าก็หาได้มีอำนาจใดแท้จริงไม่ นางใคร่เป็นก็ให้เป็นไปเถิด”

 

เชิงอรรถ : 

(1) คติความคิดคนไทยโบราณถือกันว่าภิกษุเมื่อบวชแล้วเป็นผู้ตัดขาดจากทางโลก รวมทั้งครอบครัวอันเป็นเครื่องร้อยรัดต่างๆ ดังนั้นเมื่อสามีออกบวช ภรรยาก็เท่ากับตกพุ่มม่าย แต่ในทางสังคมก็เป็นม่ายที่มีเกียรติกว่าหญิงที่สูญเสียสามีด้วยเหตุอื่น



Don`t copy text!