ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 18 : ผู้ชายจากสายธาร (2)

ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 18 : ผู้ชายจากสายธาร (2)

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

ซ่อนรักในรอยกาล โดย พิมพ์อักษรา กับผลงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อ่านง่าย ว่าด้วยทฤษฎีหนึ่งในตำนานประวัติพระนางจามเทวีกับพระสวามีที่แทบไร้หลักฐาน ผ่านเกมการเมืองในอาณาจักรทวารวดี อันมีชายปริศนาแฝงตัวเข้ามาอยู่เบื้องหลังเกมชิงบัลลังก์ครั้งใหญ่นี้ ติดตามได้ในเพจ อ่านเอา และ anowl.co

 

ครั้นพ้นจากเขตลำน้ำวัง เข้าสู่ปากวังซึ่งเป็นจุดรวมของแม่น้ำวังและแม่น้ำระมิงค์ ขบวนเสด็จก็ถึงคราวต้องเปลี่ยนเรือหลวงทั้งหมดเป็นเรือแม่ปะ (1) ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ ขุดจากไม้ซุงทั้งต้น มีที่ให้ลูกเรือขึ้นไปยืนถ่อเรือได้ หากก็นับว่าเล็กปราดเปรียวกว่าเรือประทับเดิม ส่วนแพบริวารยังใช้แพเดิมแต่มุงใบตองตึงเสริมหลังคาไม้ไผ่ให้แข็งแรงทนแดดทนฝนมากขึ้น

“จักได้หมดปัญหาน้ำรั่วเข้าเรือเสียที” ขุนเจ้าขันติมองเรือหลวงแม่ปะลำใหม่ด้วยสายตาพึงพอใจ “มิเช่นนั้นก็ต้องร้อนถึงพระนางเจ้าเหมือนครานั้น ที่ต้องทรงนำข้าวของเครื่องใช้ที่เปียกชุ่มน้ำขึ้นมาตากด้วยองค์เอง ทรงว่องไวกว่าข้าหลวงนางในเสียอีก พวกนางเห็นดังนั้นถึงรีบวิ่งมาช่วยตากกันจ้าละหวั่น”

นายม้าสารพัดช่างพยักหน้าเล็กน้อยเป็นเชิงเห็นด้วย ในใจนึกถึงเรือหางแมงป่องซึ่งเป็นเรือโบราณที่นิยมใช้กันในเจ้านายฝ่ายเหนือแต่ไม่เคยเห็นของจริงมาก่อน

และหวนนึกถึงเหตุการณ์น้ำรั่วในเรือประทับเมื่อสิบวันก่อน ที่ต้องรีบนำเรือขึ้นหาดแล้ววิดน้ำออกเป็นการใหญ่ ชาวบ้านที่พากันมาช่วยลากเรือ วิดน้ำไปจนถึงซ่อมแซมจึงขนานนามสถานที่แห่งนั้นว่าหาดเชียงเรือ ส่วนหมู่บ้านที่พระนางและข้าราชบริพารนำข้าวของเปียกน้ำไปตาก ก็ถูกเรียกว่าบ้านตากในภายหลัง

“ดีไม่ดี เอ็งอาจจักต้องกลายเป็นคนถ่อเรือประทับอีกแรง” ขุนศึกเย้าชายผู้มีปานสีน้ำตาลครึ่งหน้า พลางจับสังเกต “และเอ็งยังรู้หนังสือด้วยใช่หรือไม่ ข้าได้ยินว่าเอ็งคอยบันทึกเหตุการณ์เรื่องราวลงบนแผ่นเยื่อไม้อยู่เรื่อย หากเอ็งประสงค์อยากก้าวหน้า ข้าจักทูลพระนางเจ้าให้เอ็งได้รับราชการในนครแห่งใหม่”

“หามิได้…ท่านขุนเจ้าช่างมีน้ำใจยิ่งนัก แต่ให้เป็นเรื่องของกาลข้างหน้าหรือพระประสงค์ของพระนางเจ้าจักดีกว่าเจ้าข้า”

“วาจาของเจ้าฟังประหลาดเสมอ คล้ายถ่อมตนแต่ก็คล้ายปฏิเสธ” แม่ทัพเอกหรี่ตา “จักว่ามิน่าไว้ใจก็มิใช่ แต่จักให้วางใจก็ยังดูมีลับลมคมใน”

รัญชน์จึงพยายามไม่บันทึกอะไรให้อีกฝ่ายเห็น เพราะครั้นจะให้ไม่บันทึกไว้เลยก็น่าเสียดาย เนื่องจากสถานที่ต่างๆ ในเส้นทางเสด็จล้วนมีเรื่องราวความทรงจำของการเดินทางครั้งนี้ทั้งสิ้น

ดังเช่นเหตุการณ์หลังจากซ่อมแซมเรือรั่วและออกเดินทางต่อได้ไม่นานก็ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ขณะนั้นเกิดลมฟ้าอากาศแปรปรวน พายุฝนกระหน่ำจนต้องจอดรออยู่ถึงสามวันสามคืน ข้าราชบริพารต่างพากันหมดอาลัยตายอยาก พระนางชวาลาจึงทรงกังวลและได้เสี่ยงสัจจาธิษฐานให้พายุสงบ หลังจากนั้นได้เกิดนิมิตอัศจรรย์ แสงอาทิตย์ส่องสว่างปะทะหน้าผา บังเกิดเป็นเงาพระพุทธรูปสามองค์ พระนางจึงทรงให้ช่างทำพะองพาดขึ้นไปเจาะช่องคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองไว้สามองค์ ข้าราชบริพารและชาวบ้านแถบนั้นจึงพากันเรียกสถานที่แห่งนี้ต่อมาว่าสามเงา

ทว่า รัญชน์ที่เป็นคนเตรียมพะองพาดไปยังช่องผา กลับได้ยินถ้อยสนทนาของพระนางกับคุณท้าวพี่เลี้ยงเข้าโดยบังเอิญว่าแท้จริงแล้วพระนางหาได้ทำสัจจาธิษฐานให้พายุสงบไม่ แต่ทรงเกิดปริวิตกต่อสวัสดิภาพของทารกในพระครรภ์ เมื่อทรงพระดำริดังนั้น ก็ได้เกิดแสงอาทิตย์ส่องต้องพระวรกายแล้วปรากฏเป็นรัศมีรูปคนสามคนคือพระนางและเด็กในพระครรภ์

‘ชะรอยเราจักได้กุมารแฝดเป็นแน่’ สุรเสียงพระนางปีติอย่างยิ่ง ‘แต่ที่ต้องทำอุบายเรื่องเงาพระพุทธรูปก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ไพร่ฟ้าข้าหลวงทั้งหลาย มิให้หมดอาลัยตรอมใจไปเสียก่อนนะพี่’

ชายหนุ่มจึงเลือกบันทึกตามสิ่งที่พระนางปรารถนาให้คนทั้งหลายเชื่อต่อไป ด้วยพระนางนั้นเป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจเพียงผู้เดียวของข้าราชบริพาร ย่อมต้องสร้างขวัญกำลังใจให้ทรงพลังอยู่เสมอ

หลายครั้งหลายคราที่เรือในขบวนต้องประสบอุบัติเหตุ ชนหินชำรุดเสียหลายหลายลำเพราะน้ำเชี่ยวและมีโขดหินมากมาย พระนางชวาลาก็ทรงอดทนต่ออุปสรรคยากลำบากทั้งกายใจได้อย่างเข้มแข็งเพื่อให้คนในปกครองที่เลือกฝากชีวิตไว้กับพระนางยืนหยัดต่อไปได้ อีกทั้งยังทรงเห็นคุณค่าของทุกชีวิตที่ร่วมเป็นร่วมตายด้วยกัน เพราะตลอดเส้นทางทุรกันดารนี้ ได้มีข้าราชบริพาร ผู้เชี่ยวชาญ ทหาร ขุนนางบาดเจ็บล้มตายรายทางไปมิน้อย พระนางก็ทรงแวะจัดพิธีฌาปนกิจให้ทุกชีวิตอย่างสมเกียรติโดยมิเลือกว่าเป็นเจ้านายหรือไพร่ทาส ครั้นถึงแดนสามเงาจึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นบรรจุอัฐิของคนเหล่านั้น

เขาสังเกตว่ายิ่งล่องขึ้นเหนือไป ไม่ว่าขบวนเสด็จจะแวะพักที่ใด ไพร่ฟ้าประชาชนทั้งระดับหมู่บ้านเล็กๆ ไปจนถึงแคว้นใหญ่โตก็มักให้การต้อนรับอย่างดีเสมอ ชื่อเสียงเกียรติคุณบุญญาธิการของจอมนางแห่งละโว้ขจรขจายขึ้นเหนือมาไกลเกินกว่าที่เขาคาดคิดมากนัก

อีกประการคือเสียงแซ่ซ้องชื่นชมพระสิริโฉมมิขาด ด้วยเหตุว่าความงามของพระนางนั้นออกจะแปลกตาคนแถบนั้น ไม่มีใครเคยเห็นรูปลักษณ์เข้มคมคายแบบชาวทะเลใต้มาก่อน เมื่อกอปรกับความอ่อนช้อยแบบชาวลุ่มน้ำพระแดงจึงยิ่งเฉิดฉายโดดเด่นเป็นที่จดจำ

“เขาว่ากันว่าทรงเป็นแขกจามมิใช่หรือ เพิ่งรู้ว่าชาวใต้ (2) จักงามพิลาสเช่นนี้ ทรวดทรงองค์เอวประหนึ่งเทพปั้น บุรุษใดหนอจักมีบุญได้เป็นคู่ครองนางพญาแสนงามผู้นี้”

มิใช่ครั้งแรกที่ชายหนุ่มได้ยินคนเรียกพระนางชวาลาว่าแขกจาม ในลวปุระ พวกฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์เรียกพระนางว่าแขกจามด้วยอคติเหยียดหยาม แต่กลุ่มคนในบ้านเมืองแว่นแคว้นรายทางที่ได้พบ เรียกคนจากภูมิภาคที่อยู่ต่ำกว่าพวกเขาว่าเป็น ‘คนใต้’ แทบทั้งนั้น และจากที่ลองเลียบเคียงชวนคุย คนแดนเหนือรับรู้เพียงว่า ‘ชาวใต้’ อย่างชาวลุ่มน้ำพระแดงมีเชื้อแขก และแขกในความเข้าใจของเขาก็คือชนชาติจาม

รัญชน์เริ่มปะติดปะต่อเข้าใจทีละน้อยเท่าที่เขาจะเชื่อมโยงความรู้ประวัติศาสตร์อันน้อยนิดได้ เขาข้ามเวลามาอยู่ในสมัยอาณาจักรทวารวดีอันรุ่งเรือง โดยมีเมืองละโว้เรืองอำนาจอยู่และยังมิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพวกขอม ส่วนชาวจามแห่งอาณาจักรจามปาในบริเวณที่เป็นเวียดนามในยุคปัจจุบันก็มิใช่แขกจามที่คนเหล่านั้นหมายถึง ทว่ากลับหมายถึงชาวจามบางกลุ่มที่อพยพไปอยู่หมู่เกาะทะเลใต้แถบรัฐทางชวาและมลายูต่างหาก ด้วยคนพวกนั้นนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานที่รับอิทธิพลคำสอนจากศาสนาพราหมณ์เข้าไปปะปน จึงถูกเรียกเหมารวมว่าแขกจาม

“แขกจามหาได้ป่าเถื่อน ไร้สกุลอย่างคำลือไม่ ดูจริยาวัตรพระนางเจ้านั้นเล่า เป็นนางพญาสกุลสูงอย่างมิต้องสงสัย”

ฟังบ่อยครั้งเข้ารัญชน์ก็นึกเฉลียวใจขึ้นมา หากก็นึกไม่ออกว่าเรื่องใดที่สะกิดใจ แค่รู้สึกคล้ายตนกำลังเข้าใกล้ความจริงบางอย่าง กระนั้นกลับดูราวกับยังไม่ถึงเวลาที่ควรได้รู้

 

เชิงอรรถ : 

(1) เรือแม่ปะ หรือเรือหางแมงป่อง เป็นเรือพื้นถิ่นของทางภาคเหนือ มีลักษณะเด่นคือเป็นเรือขนาดใหญ่ที่ขุดจากไม้ซุงทั้งต้น ความยาวประมาณ 16-18 เมตร ส่วนท้ายของเรืองอนเชิดคล้ายหางแมงป่อง ส่วนหัวเรือต่อให้ยาวยืดออกไปสำหรับให้ลูกเรือขึ้นไปยืนถ่อเรือได้ หลังคาโค้งสานด้วยไม้ไผ่ ด้านบนมีหลังคาเสริมอีกชั้น เรือหางแมงป่องเป็นเรือที่แข็งแรง ทนทาน ลอยน้ำได้ดี ไม่บิดงอเมื่อปะทะเกาะแก่ง เนื่องจากแม่น้ำปิงมีกระแสน้ำเชี่ยวและมีเกาะแก่งมาก

(2) ชาวใต้ ในที่นี้หมายถึงอาณาจักรทางภาคกลาง (ซึ่งถือว่าอยู่ทิศใต้ลงไปของลำพูน ไม่ได้หมายถึงภาคใต้ในปัจจุบัน) คือลวปุระหรือละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งอยู่ในยุคทวารวดีอันได้รับอิทธิพลด้านความคิด ความเชื่อและศิลปะศาสตร์ต่างๆ จากอินเดีย ชาวใต้นี้รวมถึงชาวมอญซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง โดยกระจายมาจากทางหงสาวดี



Don`t copy text!