กรุ่นกลิ่นผกาแก้ว : บทนำ

กรุ่นกลิ่นผกาแก้ว : บทนำ

โดย : ชีวาพร

Loading

กรุ่นกลิ่นผกาแก้ว โดย ชีวาพร เรื่องราวของสองพี่น้องที่ชีวิตแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน คนหนึ่งใบหน้างดงามโดดเด่นเป็นที่ปรารถนาของผู้คน อีกคนใบหน้าสามัญและยังมีชะตากาลกิณีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ชีวิตของทั้งคู่จะดำเนินไปในทิศทางใด อ่านเรื่องราวของพวกเธอได้ในเว็บไซต์อ่านเอา anowl.co และเพจ anowldotco

“น้ำคร่ำแตกแล้ว อีช้อยเร่งส่งขันน้ำมนต์มาให้ข้า”

“นี่จ้ะแม่”

หญิงสาววัยสามสิบต้นๆ ส่งขันน้ำมนต์ให้ผู้เป็นแม่ เมื่อรับขันน้ำมนต์มาแล้วชื่นก็เริ่มท่องพระคาถาอังคุลิมาลปริตร ตามหลักความเชื่อที่ยึดถือสืบกันมาว่าบทพระคาถานี้จะช่วยให้หญิงมีครรภ์คลอดลูกได้อย่างปลอดภัย

“ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา…”

“ว้าย! มะ…แม่”

เสียงช้อยร้องอย่างตื่นตระหนกขัดจังหวะการท่องมนต์ ชื่นที่ตื่นตกใจจนไหล่ยกหันมาตวาดดุคนเป็นลูกเสียงดังอย่างหงุดหงิด

“เป็นกระไรของเอ็งอีช้อย! ร้องเสียข้าตกอกตกใจหมด!”

“ตะ…ตะวันจ้ะแม่ ตะวันกำลังจะดับ!”

“ตะวันจะดับได้เยี่ยงไร ปากพล่อยนักนะเอ็งเนี่ย”

ชื่นเอ่ยเสียงก้องก่อนจะเบิกตากว้างเมื่อหันไปมองยังพื้นเรือนแล้วเห็นว่าแสงที่ลอดผ่านทะลุช่องรูรั่วเป็นดวงกลมตามรอยแตกของหลังคาค่อยๆ ถูกความมืดกลืนกินอย่างช้าๆ

“โอ๊ย! ปวด!…ปวดจนทนไม่ไหวแล้ว”

สติของชื่นกลับคืนมายังคนเจ็บท้องตรงหน้า อาการตื่นตกใจกับความเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้าพลันจางหายกลับมาสนใจทารกในครรภ์ที่ผ่านมาร่วมครึ่งวันแล้วก็ยังไม่ยอมออกจากท้องมารดา มือเหี่ยวตามวัยสอดนิ้วเข้าไปสำรวจในช่องทางคลอด เมื่อสัมผัสได้ถึงเส้นผมก็ยิ้มกว้างร้องบอกด้วยเสียงยินดี

“หัวเด็กลงมาแล้วแม่จำปา เบ่งเลย! แม่จำปาเบ่ง!”

มือหยาบกร้านสีคร้ามแดดกำผ้าขาวม้าสีซีดผืนยาวที่โยงลงมาจากขื่อคานเรือน ก่อนจะออกแรงโหนขับลมเบ่งตามคำของชื่นหมอตำแยประจำหมู่บ้าน เพียงแต่มิรู้เพราะเหตุอันใดเด็กในท้องคนนี้จึงคลอดยากนัก จำปาเบ่งจนเหงื่อโชกตัวก็ไม่ยอมเคลื่อนตัวออกจากครรภ์ จวบจนท้องฟ้ามืดมิดกลางวันแปรเปลี่ยนเป็นกลางคืนศีรษะเล็กจึงโผล่พ้นออกมาจากร่างของคนเป็นแม่

“คลอดแล้ว! จำปาลูกเอ็งคลอดแล้ว”

ช้อยเร่งยื่นกาบหอยให้คนเป็นแม่ใช้ตัดสายสะดือพร้อมกับเอ่ยร้องบอกอย่างยินดี ก่อนที่ใบหน้าจะเปลี่ยนเป็นซีดเผือดรอยยิ้มแข็งค้างเมื่อเห็นว่าคนที่กรีดร้องลั่นเรือนเมื่อครู่ยามนี้หมดสิ้นสติไปแล้ว

“จำปา! จำปาเอ็งเป็นอันใดไป แม่! มาดูจำปามันเร็วเข้า”

“เอ็งดูมันไปก่อน เด็กไม่ร้อง!”

ชื่นเร่งผูกมัดสายสะดือ เช็ดเนื้อตัวให้เด็กน้อยอย่างคล่องแคล่ว ก่อนจะห่อด้วยผ้าสะอาดผืนใหม่วางร่างที่แน่นิ่งลงกลางกระด้งแล้วลุกขึ้นยืน ปัง! ปัง! ปัง! เสียงฝ่าเท้าของชื่นที่กระทืบพื้นเรือนดังก้อง เฉกเช่นเดียวกับเสียงตีเกราะเคาะไม้ของผู้คนด้านนอก

ปี พ.ศ.2386 ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ บนน่านฟ้าแดนสยามมีปรากฏการณ์ตะวันดับ ชาวเมืองในพระนครต่างพากันแตกตื่นวุ่นวาย บ้างหยิบหม้อ บ้างหยิบไห แลใช้ด้ามมีดด้ามไม้เคาะส่งเสียงดังลั่นก้องไปทั่วทุกคุ้งน้ำ ตามความเชื่อที่ว่าราหูกลืนตะวันนับเป็นลางร้ายจักต้องใช้เสียงอันดังนี้ขับไล่ให้ราหูยอมคายตะวันออกมาดังเดิม

“เฮ้!” / “อุแว้!”

เสียงร้องยินดีของชาวเมืองดังสอดประสานกับเสียงแรกของเด็กน้อยในเรือนจำปา เช่นเดียวกับผืนฟ้าที่มืดมิด พลันเจิดจ้าเปล่งประกายสว่างไสวดังเดิม

 



Don`t copy text!