พระนคร 2410 แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิศ บทที่ 1 : หลานสาวคนสวย
โดย : ตฤณภัทร
พระนคร 2410 แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิศ โดย ตฤณภัทร นวนิยายพีเรียดรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก ปีที่ 2 ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอา และหากติดใจอยากอ่านต่อ พระนคร 2410 แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิศ รวมเล่มกับสำนักพิมพ์กรู๊ฟพับลิชชิ่ง สามารถสั่งซื้อได้ที่ www.groovebooks.com และ ติดตามข่าวได้ทางแฟนเพจของสำนักพิมพ์ @Groove publishing
****************************
– 1 –
“ไอ้เคอะ อ้ายตัวหัว อีแดกแห้ง!” ยามบ่ายที่ลมผัดเอื่อยๆ และเงียบสงบ คำด่าที่เรียงแถวมาแบบต่อเนื่องเรียกความสนใจของโนรีได้ดีทีเดียว ลงแบบนี้อีกสักพักคงได้เห็นคนตีกันเป็นแน่
หญิงสาววางตะกร้าหวายของยายแถมลง มองขึ้นไปบนเรือนก็พบว่ายายของตนกำลังเจรจาอยู่กับลูกค้า จึงคิดหลบไปส่องดูเหตุการณ์เสียหน่อย หากต้องประหลาดใจที่ผู้ถูกด่านั้นยืนถือสมุดเล่มหนาและดินสออีกทั้งกำลังจดอย่างขะมักเขม้น
หลังจดเสร็จชายหนุ่มผู้อ่อนวัยกว่าคนด่าชนิดเป็นแม่ลูกกันได้ก็ทำหน้ายุ่งพลางบอกเสียงอ่อย
“ป้าจ๊ะ ฉันแค่อยากรู้ว่าป้ารู้จักคำด่าอะไรบ้าง ป้าเพียงเอ่ย ไม่ต้องใส่อารมณ์ราวกับด่าฉันจริงๆ ก็ได้จ้ะ ฉันรู้สึกแปลกๆ อย่างไรก็ไม่รู้” ชายหนุ่มที่หันหลังให้กับโนรีว่า
ทว่าทั้งสุ้มเสียงและท่าทางอันคุ้นตาทำให้โนรีจำได้จึงทักออกไป
“นั่นลมรึ” และเมื่อเห็นหน้าคู่สนทนาของชายหนุ่มชัดเจนหญิงสาวจึงกระพุ่มมือไหว้ “ป้าใจนั่นเอง ฉันไหว้จ้ะ แล้วเป็นยังไงมายังไง ถึงได้มาด่ากันหน้าเรือนผู้อื่นเช่นนี้” หญิงสาวทักอย่างแปลกใจ
ด้วยคนด่ากันคู่นี้มีสีหน้าแช่มชื่น ดูไม่คล้ายคนที่จะมีเรื่องกันเท่าใดนัก
“เพ้ย แม่โนรี ฉันไม่ได้ด่าเจ้าลมมันหนา” นางใจเอ่ยค้าน พร้อมเล่าอย่างอารมณ์ดี
“อ้ายนี่นะสิเกิดพิกลอะไรไม่รู้ อยู่ดีๆ ก็มาถามข้าว่ารู้จักคำด่าอันใดบ้าง ข้าเลยให้ความรู้แก่มันเสียหน่อย เอ้า เอ็งมาก็ดี ด่ามันต่อจากข้าทีเถิดเพราะเห็นทีข้าต้องรีบกลับบ้านไปเลี้ยงหลานแล้ว”
เมื่อมองผู้สูงวัยที่เดินไปอย่างรวดเร็วแล้วโนรีก็หันไปเลิกคิ้วกับชายหนุ่มเป็นเชิงถาม
ชายหนุ่มตรงหน้าโนรีมีรูปร่างสูงโปร่ง หน้าตาของเขานั้นหมดจด ผิวขาวละเอียดกว่าชายหนุ่มชาวสยามทั่วไป ดวงตารีเล็กใต้แนวคิ้วเข้มรับกันกับจมูกโด่งเป็นสันนั้นฉายแววเบื่อหน่าย
“ก็หมอแบรดลี่ย์นะสิ นึกครึ้มอะไรไม่รู้เกิดอยากพิมพ์ อักขราภิธานศรับท์” เขาบอกด้วยประโยคตะกุกตะกักด้วยไม่คุ้นชินกับถ้อยคำชื่อหนังสือที่เอ่ยออกมานัก
หมอแบรดลี่ย์ที่เขาเอ่ยถึงนั้นคือหมอฝรั่งชาวอเมริกาที่เข้ามาในสยามกับกลุ่มมิชชันนารี นอกจากเป็นหมอรักษาคนแล้วยังเปิดสำนักพิมพ์ที่คัดลอกหนังสือโดยไม่ต้องเขียน ทำให้หนังสือทำได้เยอะขึ้นและใช้เวลาลดลง ซึ่งลมเองก็เป็นหนึ่งในเสมียนที่ทำงานให้แก่เขา
ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกเขาว่าหมอปลัดเลย์ซึ่งเพี้ยนมาจากนามสกุลของเขา
ทว่ามิสซิสเฮาส์ครูของเธอสอนว่าแท้จริงแล้วชื่อของหมอผู้นี้อ่านว่า แดน บีช แบรดลีย์ ต่างหาก แต่ด้วยความที่ภาษาอังกฤษออกเสียงแตกต่างจากภาษาสยาม ชาวบ้านที่ไม่ได้ร่ำเรียนภาษา หรือคลุกคลีกับชาวต่างด้าวจึงย่อมออกเสียงตามคำที่ตนคุ้นเคย
“ไอ้อักขรา…อะไรนั่นของเอ็งคืออะไร เหตุใดข้าไม่เคยได้ยินมาก่อน” โนรีถามอย่างใคร่รู้
หญิงสาวคิดว่าตนได้นิสัยนี้จากยายมาไม่ผิดแน่ นิสัยอยากรู้อยากเห็น และที่ทำอะไรไม่เหมือนกับหญิงสยามคนอื่น และด้วยความที่ยายไม่เคยตั้งกฎเกณฑ์ใด เพียงสอนว่าอย่าสร้างความเดือดร้อนแก่ตนและผู้อื่นเป็นพอทำให้โนรีปฏิบัติตนแตกต่างจากหญิงสาวสยามทั่วไป ซึ่งข้อนี้ต่างเลื่องลือกันไปทั่วคุ้งน้ำ
ลมเองก็เคยเล่าให้ฟังว่ามีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าถึงสาเหตุที่หญิงสาวประหลาดได้ถึงเพียงนี้ประการหนึ่ง คือ โดนยายแถมที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นคนไม่ทำอย่างผู้อื่นเลี้ยงดูมา อีกประการคือการส่งหญิงสาวไปเรียนหนังสือ
‘ไม่มีใครในพระนครทำเยี่ยงเอ็ง’ นี่คือตัวอย่างคำพูดที่หญิงสาวได้ยินจนเบื่อ
ดูอย่างการยืนคุยกับผู้ชายแบบนี้เป็นต้น ลูกสาวเรือนอื่นหากยังไม่ออกเรือนแล้วมายืนคุยกับผู้ชายกลางถนนแบบนี้กลับบ้านไปคงมีหวังโดนตีจนหลังแตกทีเดียว ทว่าโนรีคร้านจะใส่ใจ
“ฉันเองก็ไม่เข้าใจท่านนัก ท่านว่าจะพิมพ์หนังสือรวบรวมคำ แลความหมาย” เขาเล่า โนรีตาโตด้วยความสนใจ
“ฟังคลับคล้ายคลับคลากับดิกชันแนรี ในห้องสมุดของครู” เธอเอ่ยพร้อมอธิบาย “มันเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่อธิบายความหมายของคำ แลประโยคต่างๆ แต่ที่เอ็งเล่ามาดูคล้ายที่เป็นดิกชันแนรีภาษาสยาม ฟังดูน่าสนใจยิ่ง”
“ก่อนหน้านี้ก็รวบรวมมาอยู่หลายปี แต่เป็นบ่าวคนอื่นทำ เพิ่งเป็นข้าที่ได้ทำเพราะเพิ่งเขียนอ่านคล่องนี่แหละ”
“เห็นจะเยอะมาก ตั้งแต่เกิดฉันได้ยินคำมากมาย ภาษาอังกฤษที่เรียนกับแหม่มเฮาส์ก็อีกโข นี่เอ็งไม่ต้องเดินหาคำไปทั่วพระนครรึ แล้วนี่คงจะรวบรวมคำด่าอยู่สินะ” โนรีพูดพลางมองไปที่หน้ากระดาษ เจ้าลมรวบรวมคำได้มากทีเดียว
“เจ้าเดาถูก เอาเถิด แม่โนรีรู้จักคำด่าอะไรบ้างไหมล่ะ” ลมถามอย่างมีความหวัง
“อีหน้าสด!” เสียงชัดถ้อยชัดคำนั้นทำเอาลมต้องเงยหน้าจากสมุดจด
ทว่าถ้อยคำเหล่านั้นไม่ได้ออกมาจากปากของโนรี
“ฉันไหว้จ๊ะป้าสา” โนรีเอ่ยทักอย่างมีมารยาท นางสาถ่มน้ำหมากที่เคี้ยวอยู่ก่อนกางพัดแล้วเริ่มพัดไปมาราวกับอากาศร้อนอบอ้าวทั้งที่อากาศรอบๆ นั้นก็เย็นสบายดี
โนรีได้ยินเสียงนางแค่นเสียงดังฮึ ก่อนเบ้ปากจนโค้งคล้ายกระลาคว่ำ
“ป้าสาก็จะช่วยฉันใช่ไหมจ๊ะ” ลมพูดด้วยน้ำเสียงประจบ การที่เขาเดินถามคนไปทั่วมาหลายวัน เรื่องนี้จะเข้าหูนางสาผู้ชอบสนทนากับคนไปทั่วก็คงไม่แปลก ทว่าเขารู้ชัดว่านางสาต้องการด่ากระทบโนรีเพื่อนของตนต่างหาก
จริงๆ แล้วเรื่องมันก็ผ่านมานานปีแล้วตั้งแต่โนรียังไม่มีระดูด้วยซ้ำ มันเริ่มจากการที่ยายแถมผู้ทำอาชีพชักผัวชักเมียได้จับคู่ชายหญิงคู่หนึ่งจนทั้งคู่ได้ออกเรือนครองคู่กันอย่างมีความสุข
เรื่องคงจบไปแล้วถ้าไม่ใช่บังเอิญว่าชายที่ยายแถมชักให้ไปเจอเนื้อคู่เป็นคนที่นางสาหวังใจไว้ให้แต่งงาน กับลูกสาวด้วยเป็นชายฐานะดี มีเรือนหลังใหญ่ ซึ่งจนป่านนี้แม้ว่าลูกสาวนางแต่งงานออกเรือนจนมีหลานให้นางถึงสองคน ก็ยังไม่วายเดียดฉันท์คู่ยายหลานอยู่ดี
ข่าวสารด้านความประหลาดเลวร้ายของสองยายหลานก็ได้นางสานี่แหละเป็นผู้แพร่กระจาย พร้อมใส่สีตีใข่ให้เรื่องราวเพี้ยนไปโขจนเมื่อเรื่องวนกลับมาถึงต้นตออีกครั้งโนรีก็แทบจำไม่ได้ว่าตนเคยพูดหรือทำสิ่งที่ผู้คนนินทาลงไปจริงๆ หรือไม่
“ใช่สิจ๊ะพ่อลม คำว่า อีหน้าสด” นางสาเน้นคำอีกคำรบ “คือ หญิงที่หน้าไม่แห้ง หน้าระรื่นระริกกับผู้ชาย แบบนี้สิหนา อายุมากถึงเพียงนี้ถึงไม่มีใครขอไปเป็นแม่เรือน อีกทั้ง…” หญิงวัยกลางคนหยิบพัดมาปิดปาก หัวเราะคิกคัก ส่งสายตาเหยียดหยามจ้องตรงมาทางโนรี
“พิลึกพิกลนัก มีหน้าตาอย่างแหม่ม ไว้ผมเผ้ารุงรัง แต่กลับนุ่งโจมห่มสไบ ฝาหรั่งก็ไม่ใช่ คนสยามก็ไม่เชิง”
อันที่จริงหญิงสาวตรงหน้าจัดว่างามแปลกตาอยู่หรอก แม้นจะตัวสูงกว่าหญิงสาวทั่วไปแต่ก็ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนยักษ์ปักหลั่นอย่างพวกมิชชันนารีผู้หญิง ถึงแม้ว่าโนรีจะไม่ได้ไว้ผมปีกเหมือนอย่างหญิงสาวสยามทั่วไปแต่เรือนผมอันหยักคล้ายคลื่นนั้นก็แลนุ่มสลวย แขนกลมกลึงที่โผล่พ้นสะไบสีเขียวสดนั้นก็ขาวเนียนราวเครื่องกระเบื้องเคลือบ นั่นยังไม่รวมถึงวงหน้าคมคายทว่ายังมีความอ่อนโยน อีกทั้งฟันขาวเป็นประกายที่จะเห็นได้ยามที่เอื้อนเอ่ยจำนรรจา แม้จะแปลกจากหญิงอื่นในพระนครแต่กลับส่งให้โนรีดูโดดเด่น
นางสาพินิจพิจารณาแล้วก็เบ้ปากอีกครั้ง แต่อย่างไรกันเล่า นางเกลียดก็อุบาทว์ในสายตานางอยู่ดี
คำถากนั้นไม่ทำให้รอยยิ้มของโนรีหายไปจากใบหน้า หญิงสาวยังคงความ ‘หน้าสด’ เอาไว้ก่อนเอ่ยด้วยน้ำเสียงอ่อนหวาน
“คำนี้ฉันเพิ่งรู้จัก ต้องขอบใจป้าสา” หญิงสาวทอดเสียง ระบายยิ้มหวานยิ่งกว่าเดิม ราวกับว่าคำถากถาง ก่อนหน้าเป็นคำชมก็มิปา “แต่หากป้าอยากให้ฉันช่วยชักเมียน้อยให้ผัวป้าสักคนสองคน อย่าลืมมาหาฉันกับยายนะจ๊ะ”
สิ้นคำของโนรี ดวงตาของนางสาก็ลุกโพลงคล้ายมีผู้ราดน้ำมันแล้วจุดไฟให้โชติช่วง
เจ้าลมปิดตา…และได้คำด่าไว้บันทึกลงสมุดอีกอักโข
“เอ็งนี่ก็ ไปยั่วป้าแก หูข้าจักหนวกไหมเนี่ย” ลมบ่นเพื่อนอย่างไม่จริงจังนัก “พระท่านสอนไว้ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร จำได้หรือไม่”
อย่างไรโนรีก็อ่อนวัยกว่าการยั่วโมโหผู้ใหญ่ก็ดูไม่ดีนัก
“แล้วพระท่านก็สอนสั่งว่าคนเรา กายกรรม มโนกรรม วจีกรรม ต้องดีหนา” โนรีย้อนจนลมไม่อาจแย้งได้ด้วยกิตติศัพท์ของนางสาล้วนรู้กันทั้งแขวงวัดมหรรณพาราม
‘นางสารู้ เลื่องระบือทั่วพระนคร’
ด้วยความที่เป็นคนที่ชอบไปร่วมงานบุญ งานศพ งานรื่นเริง เดินตลาดอยู่เป็นนิตย์ และพูดคุยกับคนโน้นคนนี้ หญิงวัยกลางคนผู้นี้จึงเป็นดังพิราบส่งข่าวจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งอย่างขยันขันแข็งโดยไม่ได้เบี้ยอัฐแต่ประการใด ทว่าผู้คนต่างรู้ว่าเรื่องจากปากของนางหญิงผู้นี้ในสิบส่วนก็เชื่อได้เพียงสองเท่านั้น
“เอาเถิดแม่หญิง” เมื่อคร้่านจะโต้เถียงกับสหาย ลมจึงยอมแพ้อย่างที่เขามักทำเสมอเวลาที่มีข้อคิดเห็นไม่ตรงกัน ไม่มีสักครั้งที่เขาดึงดันจะเอาชนะโนรี “เห็นทีข้าจักต้องไปจัดการงานของข้าต่อแล้วล่ะหนา”
“ไปดีมาดีหนาลม” โนรีอวยพร
ลมยักคิ้วเข้มรับคำอวยพรก่อนหันหลังมุ่งหน้าไปทางตลาด เพราะที่แห่งนั้นย่อมมีคนมากสะดวกแต่การทำงานของเขา
เมื่อสหายเดินลับตาไป โนรีก็เดินกลับเข้ามาในเขตเรือนของนายมั่นอีกครั้ง เรือนของเขาเป็นเรือนไม้ยกไต้ถุนสูงอย่างที่พบเห็นได้ทั่วไปในพระนคร ด้วยความที่เป็นพ่อค้าในบริเวณที่อยู่อาศัยของเขาจึงมียุ้งฉาง และห้องเก็บสินค้า เขาเป็นชายหนุ่มวัยยี่สิบหกปีที่ถือว่าเป็นชายที่มีฐานะมั่นคง ความจริงด้วยคุณสมบัติเพียงนี้ก็คงหาเมียได้ไม่ยาก
หากแต่ยายของโนรีเล่าว่าชายหนุ่มผู้นี้ต้องดูแลหลานสาวซึ่งเป็นลูกสาวของพี่ชาย นอกจากนี้ภาระการบริหารและค้าขายเพื่อเลี้ยงบ่าวไพร่ในเรือนทำให้จนแล้วจนรอดเขาก็ยังไม่มีแม่ศรีเรือนเสียที แต่ธรรมชาติของชายย่อมหมายจะมีหญิงมาชิดใกล้คลอเคลียเมื่อเห็นว่าเพื่อนของตนเคยได้เมียจากการชักนำจากแม่สื่อจากแขวงวัดมหรรณพารามเขาจึงสนใจที่จะใช้บริการ
หญิงสาวมองเห็นยายและลูกค้าหนุ่มยังคงสนทนากันอยู่และเมื่อมองดูจากสีหน้าของลูกค้าเธอคิดว่าในอีกวันสองวันต้องมีการดูตัวและหลังจากนั้นยายแถมก็จะได้ค่านายหน้ากินอีกครั้งตามคาด
หากจะถามว่ายายแถมทำมาหากินอะไร โนรีก็ต้องหยุดคิดเสียก่อนเพราะอาชีพในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้นคงเป็นอาชีพอย่าง ทำราชการ ทำนา ทำไร่ ค้าขาย ทว่าสิ่งที่ยายแถมทำมาตลอดนั้นคือการเป็นแม่สื่อ ซึ่งโนรีก็เคยเห็นมาบ้างที่ผู้ใหญ่ในบ้าน โดยเฉพาะบ้านคนจีนมักจะคอยเที่ยวแนะนำบุตรหลานให้รู้จักกัน ไปจนถึงนำพาให้มีการออกเรือนแต่งงาน แต่ก็ไม่เห็นใครจะทำเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียวเช่นยาย
นางแถมนั้นได้ชักผัวชักเมียให้ผู้คนมากมายได้รักและแต่งงานกัน ไม่เฉพาะหนุ่มสาวที่ยังไม่ออกเรือนเท่านั้น หากบ้านใดมีแม่หม้ายพ่อหม้าย นางก็จะจัดแจงเสาะหาคู่ตุนาหงันมาให้ได้ครองคู่จนได้ และค่านายหน้าจากงานนี่แหละที่นางใช้เลี้ยงดูโนรีมาตั้งแต่เด็กจนโต รวมถึงปลูกเรือนหลังไม่เล็กอยู่กันอย่างสุขสบายสองยายหลาน และมีอัฐว่าจ้างบริวารมาทำการต่างๆ ให้อย่างไม่เดือดร้อน
‘คนมีปากก็ย่อมพูดไป แต่จะกระไรเล่า เราหาเลี้ยงตัวได้เสียอย่าง ไม่ใด้ขอใครกินใยต้องกริ่งเกรงคำพูดเหล่านั้นด้วยเล่า’
เมื่อยายสอนมาเช่นนั้น โนรีเองก็ยึดคตินั้นเป็นหลัก
“แหม่มจ๊ะ” เสียงเรียกเล็กๆ รวมทั้งแรงกระตุกเบาๆ ที่ปลายโจงกระเบนทำให้โนรีต้องก้มหน้ามองลงไปก็พบกับเด็กหญิงตัวน้อยที่ไว้ผมจุกที่ล้อมด้วยพวงมะลิหอม ดวงตาแวววาวจ้องมองเธออย่างสนใจ และยิ้มอวดฟันหลออย่างน่าเอ็นดู โนรีจึงย่อตัวลงไปเพื่อให้ตนได้คุยกับเด็กน้อยได้อย่างสะดวก
“ฉันชื่อโนรีจ้ะ แล้วเจ้าล่ะชื่ออะไร” หญิงสาวถามชื่อเด็กหญิงทอดน้ำเสียงอ่อนโยนอย่างเอ็นดู
“ฉันชื่อโสนจ้ะ” เด็กหญิงตอบ ยิ้มอายๆ ด้วยความขัดเขิน แต่ก็พูดต่อได้อย่างชัดเจน “ชื่อพี่เป็นชื่ออย่างสยาม อีกทั้งยังพูดได้ชัดเจนยิ่ง” เสียงเล็กๆ นั้นเอ่ยอย่างอารมณ์ดี “ฉันเคยไปเที่ยวกับอามั่นที่ท่าเรือ เห็นแหม่มแต่งตัวประหลาด พูดจาฟังไม่รู้ความ แต่พี่โนรีดีกว่า งามกว่าด้วยจ้ะ”
โนรียิ้มรับคำชมที่ไร้เดียงสานั้น
…งามรึ
ตั้งแต่เล็กจนโตโนรีต้องเผชิญอะไรหลายอย่าง ตั้งแต่รู้ความหญิงสาวก็พบว่าตนเป็นเด็กกำพร้าด้วยลำดวนแม่ผู้ให้กำเนิดนั้นสิ้นใจด้วยโรคห่าสองเดือนหลังจากที่คลอด หลังจากนั้นมายายแถมก็เป็นผู้เดียวที่คอยฟูมฟัก อุ้มชูดูแลโนรีมาด้วยความรักจนเด็กหญิงไม่เคยสงสัยเลยว่าตนเองจะไม่ใช้หลานแท้ๆ ของยาย
ทว่ายิ่งโนรีโตขึ้นเท่าไหร่ความจริงก็ยิ่งแย้มพรายมาในรูปของคำเยาะเย้ย และการกลั่นแกล้งของเด็กวัยเดียวกัน
‘อีเผือก อีกุลาเผือกกำพร้า’ ถ้อยคำถากถางของเด็กในละแวกบ้านเดียวกันมักจะดังขึ้นเมื่อโนรีพยายามจะขอเข้าไปเล่นกับทุกคน นับวันโนรีก็พบว่าตนเองไม่เหมือนเด็กคนไหนเลยในละแวกนั้น แม้ว่าเด็กหญิงจะมีทรงผมและการแต่งตัวที่ไม่ผิดเพี้ยนจากเด็กสยามคนอื่นๆ ทว่าสีผิวขาวจัด สีผมและนัยตาที่มีสีน้ำตาลอ่อนที่มักแปล่งกระกายทองแซมเมื่อออกแดด บ่งบอกว่าเผ่าพันธ์ุของเธอนั้นแตกต่างออกไป
อีกทั้งยังโดดเดี่ยว ผิดแปลก ไม่มีใครเหมือน
‘กูไม่ได้กำพร้า กูมียาย’ โนรีเถียง มือน้อยกำแน่นด้วยความโกรธ
‘ยายมึงไม่มีผัวจะมีลูกมีหลานได้อย่างไร แม่กูบอก มึงเป็นกำพร้า อีเผือก’ โนรีจำได้ว่านอกจากเถียงแล้ว ยังมีการตะลุมบอนยกใหญ่ ทำเอาเธอกลายเป็นคนที่ไม่มีใครเล่นด้วยยิ่งกว่าเดิม จะมีก็เพียงลมเด็กชายเชื้อสายจีนที่มักจะโดนล้อเรื่องตารีเล็ก และผิวขาวจัดเช่นกัน ที่คอยเล่นเป็นเพื่อนกับโนรี อันที่จริงเด็กชายก็ไม่ได้ถูกตั้งแง่รังเกียจเท่าไหร่เพราะชาวจีนโพพ้นทะเลมีมากในสยาม และแต่งงานอยู่กินกับชาวสยามมากมาย แต่เขาก็เลือกที่จะเป็นสหายสนิทของเด็กหญิงที่คล้ายฝรั่งคนนี้
โนรีเคยพร่ำถามกับยายถึงเรื่องพ่อแม่ของตนและสาเหตุอันใดที่ทำให้ตนแตกต่างกับคนอื่นเช่นนี้ เด็กหญิงถึงกับเคยเอาขี้เถ้าทาตัวเพื่อให้ผิวขาวจัดนั้นมีสีเข้มขึ้นเหมือนเด็กคนอื่นบ้าง
ยายแถมเช็ดคราบเปื้อนออกจากดวงหน้าน้อยที่ชุ่มไปด้วยน้ำตา
‘เอ็งยังมีข้า แลข้าก็รักถนอมเอ็งดุจดั่งแก้วตาดวงใจ’
นางแถมยืนยันหนักแน่น พร่ำบอกว่าเธอยังมียาย ไม่จำเป็นต้องไปสนใจคำพูดของใคร ให้ดูเช่นนางที่แม้จะมีคำคนที่ถากถางในความแปลกประหลาดของตนนางก็อยู่ได้ ไม่ต้องไปขอข้าวใครกิน
‘ข้าเป็นยายเอ็ง ใครๆ ล้วนว่าข้านิสัยประหลาดนัก เอ็งก็หน้าตาไม่เหมือนผู้ใด นี่จึงสมเป็นหลานสาวคนเดียวของข้า’
‘แม่ฉันเป็นใครหรือยาย แม่มิใช่ลูกยายหรือ’ เสียงเล็กนั้นถามไปสะอึกสะอื้นไปจนแทบขาดห้วง
‘ลำดวนมิเคยบอกเล่าอันใด’ ยายแถมไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องปิดบังเด็กน้อย เดิมทีนางเพียงรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อจะได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของมารดาให้โนรีได้ทราบ แต่เมื่อเด็กหญิงรู้แล้วเช่นนี้ นางก็ควรจะเล่าความจริง เพราะแม้ว่าอาจทำให้เสียใจไปบ้าง แต่ความจริงย่อมเป็นสิ่งไม่ตาย
เมื่อหลายปีก่อนยายแถมพบหญิงท้องแก่นอนสลบไสลไม่ได้สติ จึงได้ช่วยเหลือและพาตัวกลับมาพักที่เรือน ด้วยความที่นางเองก็อยู่ตัวคนเดียวจึงอาสาดูแลหญิงนางนั้น ทราบชื่อภายหลังว่าลำดวน
‘ลำดวนนั้นกิริยาเรียบร้อย มารยาทงดงาม ข้าเองอดคิดมิได้ว่าลางทีโชคชะตาอาจส่งมันมาเป็นลูกข้าก็เป็นได้’ นางแถมเล่าด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน มือนางก็ลูบศีรษะน้อยๆ ที่หนุนตักตนไปพลางเล่าต่อ
ลำดวนแม่ของโนรีไม่ใช่คนละแวกนี้แน่นอน เพราะไม่มีใครเลยที่เคยเห็นหน้าค่าตา ทว่านางแถมรู้สึกได้ว่าลำดวนนั้นกำลังหนีใครอยู่ ด้วยนางมักเก็บตัวในบ้านคอยจัดการงานบ้าน ทำความสะอาด ทำกับข้าวไว้รอท่า แต่ไม่ใคร่จะออกไปไหนราวกับกลัวว่าจะมีใครตามมาเจอ
หลายครั้งที่ยายแถมได้ถามถึงครอบครัวและความเป็นมาของหญิงสาว แต่นอกจากไม่มีคำตอบกลับมาแล้วยังได้น้ำตาที่ไหลรินอีกมากโข ยายแถมจึงคร้านที่จะเอาคำตอบอันใดอีก ด้วยตั้งใจไว้ว่าจะดูแลทั้งแม่และลูกในท้อง นางจึงไม่ได้วุ่นวายในเรื่องนี้อีก
ทว่าหนึ่งเดือนถัดมาเมื่อลำดวนคลอดทารกตัวอ้วนพีออกมา กลับมีเรื่องให้นางแถมต้องประหลาดใจเพราะเด็กที่คลอดจากครรภ์ของลำดวนนั้นแม้จะอวบอ้วนแข็งแรงดี ทว่าผิวพรรณและหน้าตานั้นฟ้องถึงเลือดผสมที่มีอยู่ในตัว หลังคลอดได้ไม่นานลำดวนได้ฝากสิ่งของสองสิ่งเพื่อให้ยายแถมเป็นผู้เก็บไว้เพื่อมอบให้บุตรสาวของตนราวกับเป็นลาง และสองเดือนถัดมาหญิงเพิ่งคลอดที่ร่างกายอ่อนแอก็สิ้นชีวิตด้วยโรคห่าที่ระบาดคร่าชีวิตผู้คนมากมายในพระนครเวลานั้น
‘ข้าให้เอ็งเก็บไว้เลยแล้วกันนะโนรี’ นางแถมส่งห่อผ้าให้ โนรีรับมาเปิดดู
…จากวันนั้นของทั้งสองชิ้นนั้นก็อยู่ติดตัวเธอไม่เคยห่าง
หลังจากวันที่เล่าความจริงนางแถมก็ตัดสินใจส่งเธอไปอยู่กับมิสซิสฮาเรียต เอ็ม เฮาส์ มิสชันนารีชาวอเมริกาผู้ซึ่งมีความคิดอยากจะตั้งโรงเรียนสอนเด็กผู้หญิง มิสชันนารีสาวจึงเริ่มเสาะหาเด็กหญิงที่จะมาเรียน ทว่าการที่ให้เด็กหญิงเรียนหนังสือนั้นเป็นสิ่งที่ชาวสยามไม่ทำกัน เด็กผู้ชายมักจะได้เรียนหนังสือที่วัด ส่วนเด็กผู้หญิงนั้นไม่จำเป็นต้องเรียน หรือหากเป็นลูกสาวของบ้านผู้มีชาติตระกูล พ่อแม่อาจส่งไปอยู่ในวังกับเจ้านายสักพระองค์เพื่อฝึกฝนให้เติบโตเป็นกุลสตรีที่ดีงาม
‘สวัสดีจ้ะสาวน้อย’ โนรียังจำวันแรกที่ยายพาเธอมาที่ตึกฝรั่งรูปร่างแปลกตาที่อยู่ติดริมน้ำเจ้าพระยา เด็กน้อยประหลาดใจกับบ้านตึกที่แตกต่างจากเรือนของชาวสยามทั่วไป และเธอก็ได้พบว่าหน้าตาของตนนั้นละม้ายครูแหม่ม มารู้ภายหลังว่าตนคงจะมีสายเลือดฝรั่งอยู่ในตัวครึ่งหนึ่งเพียงแต่ไม่รู้ว่าเป็นชนชาติใด
มิสซิสเฮาส์เป็นหญิงวัยกลางคนท่าทางใจดี ทว่าก็เข้มงวดมีระเบียบในขณะเดียวกัน แหม่มสาวมีผมสีอ่อนกว่าของโนรีโดยผมของนางนั้นหยิกเป็นลอนเล็กและรวบเก็บตามอย่างมิชชันนารีหญิงคนอื่นมักทำกัน
นางสวมชุดกระโปรงแตกต่างจากชาวสยามที่มักจะแต่งตัวด้วยผ้านุ่งและสไบ อาจจะสวมเสื้อแขนกระบอกทับด้วยสไบบ้าง แต่โนรีก็ไม่พบว่าหญิงสาวสยามคนไหนจะสวมชุดกระโปรงที่โป่งพอง ซึ่งเกิดจากการใส่สุ่มไม้เย็บกับผ้าไว้ด้านในแล้วสวมทับด้วยชุดกระโปรงอย่างพวกหญิงฝรั่งเลย
มีหลายครั้งที่มิสซิสเฮาส์ลองให้โนรีแต่งตัวอย่างพวกฝรั่งซึ่งมันทำให้เด็กหญิงกลมกลืนกับเหล่าลูกๆ ของมิสชันนารีมากทีเดียว แรกๆ เด็กหญิงก็ชื่นชอบเพราะในที่สุดตนเองก็รู้สึกว่ามีพรรคพวกเสียที ทว่าความลำบากของการสวมใส่ทำให้สุดท้ายโนรีจึงได้แต่ยอมแพ้ เธอเพียงแต่ไว้ผมยาวที่บ้างก็ถักเป็นเปีย หรือรวบขึ้นไป ไม่ได้ทำเป็นทรงปีกห้อยจอนอย่างที่สาวสยามนิยมกัน ส่วนการแต่งกายนั้นก็เป็นแบบหญิงสาวชาวสยามทั่วไป
เพื่อนที่เรียนร่วมกับโนรีส่วนมากเป็นลูกคนจีน หรือลูกคนงาน โนรีเป็นเด็กเพียงคนเดียวในจำนวนทั้งหมดที่สมัครใจมาร่ำเรียนโดยที่แหม่มเฮาส์ไม่ต้องจ่ายเงินให้พ่อแม่เด็กแลกกับการมาเรียน และในขณะที่เด็กหญิงส่วนมากสนใจเรื่องเย็บผ้า ซักรีด โนรีกลับใส่ใจเรื่องการเขียนอ่านทั้งภาษาไทย และอังกฤษ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หญิงสาวมักอ่านหนังสือต่างๆ และพบว่านอกจากสยามนั้นยังมีดินแดนอีกมากมาย มีศิลปะวิทยาการที่หลากหลายน่าเรียนรู้ยิ่งนัก
เพื่อนนักเรียนของเธอส่วนมากที่มีโอกาสเรียนร่วมกันก็เรียนได้ไม่นาน ก็มีเหตุให้ลาออกไปออกเรือนเสมอ ทว่าโนรีเองไม่ได้สนใจเพราะเธอชอบร่ำเรียนและทำงานกับยายมากกว่า แม้จะมีขุนนางที่ติดใจในความงามที่แตกต่างเคยมาทาบทามหญิงสาวไปเป็นเมียเล็กเมียรอง หรือคนธรรมดาที่มาขอกับยายก็มี แต่เมื่อโนรีไม่ได้สนใจยายแถมก็ไม่ได้บังคับสุดท้ายโนรีก็ก้าวสู่วัย 18 ปีพร้อมกับคำนินทาจากคนละแวกบ้านว่าเป็นสาวเทื้อที่รอวันขึ้นคาน โดยนางสา ขานินทาประจำหมู่บ้านได้บอกกับทุกคนไว้ราวกับการเตือนภัย
‘ใครไม่อยากให้ลูกหลานเป็นคนประหลาดและขึ้นคาน อย่าได้ส่งไปเรียนกับพวกฝาหรั่งเทียว’
ทว่าหญิงสาวก็ไม่ได้ใส่ใจ หาสนคำครหาใดไม่
สิ่งเดียวที่หญิงสาวสนใจคือที่มาของตน แม่เป็นใคร พ่อเป็นใคร นั่นแหละที่ยังเป็นปริศนา
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
“อ้าว ละนั่นเอ็งคุยกับใครรึโนรี” ยายแถมทักขึ้น หญิงชราเดินลงเรือนอย่างคล่องแคล่วและกวาดสายตาจนเจอเด็กน้อยท่าทางน่าเอ็นดู และหลานสาวที่ทรุดตัวนั่งสนทนากันอย่างถูกคอ
“นั่นแม่โสน หลานสาวฉันเองจ้ะป้า เป็นลูกพี่ชายฉันที่ตายไปอย่างที่เล่าให้ฟังนั่นแหละ” นายมั่นแนะนำ ด้วยน้ำเสียงเอ็นดู โนรีเห็นจริงอย่างยายว่าว่าชายหนุ่มคงทุ่มเทดูแลหลานสาวเป็นอย่างดี “ฉันต้องขอบใจยายมากเลยหนาไว้เดี๋ยววันมะรืนฉันจะไปรับยายที่เรือนนะจ๊ะ”
โนรียิ้ม เห็นทีว่ายายคงทำงานสำเร็จอีกตามเคย
วันมะรืนที่ว่าเป็นวันที่ยายจะพานายมั่นไปเจอสาวเจ้าเพราะเป็นวันพระ วันนี้ชาวบ้านก็จะไปรวมตัวกันที่วัดเป็นโอกาสที่ทำให้หนุ่มสาวพบปะกันได้อย่างไม่น่าเกลียด
“น่าชังนักหนา” ยายแถมเอ่ยอย่างเอ็นดู นางหยิบขนมข้าวตังในห่อผ้าแบ่งให้เด็กหญิง
“ขอบใจจ้ะ” โสนเอ่ยอย่างชอบใจ
นางแถมหัวเราะกับกิริยาแสนซนนั่นก่อนเอ่ยขอตัวกลับเรือน
เมื่อยายหลานลงเรือและพายออกมาได้สักครู่ โนรีจึงตัดสินใจถามข้อข้องใจกับผู้เป็นยาย
“เพราะพ่อมั่นมีหลานสาวที่ต้องดูแล ยายจึงคิดว่าแม่ปั้นเหมาะสมใช่หรือไม่จ๊ะ”
“เอ็งคิดว่าอย่างไรล่ะ”
“แม่ปั้นแม้เป็นหม้ายก็จริง แต่เป็นคนรักเด็กนัก ทั้งยังไม่มีลูก ด้วยนิสัยที่ดีกับทุกคนเช่นนี้คงมาเป็นแม่เรือนของพ่อมั่นได้ไม่ยาก” โนรีวิเคราะห์ อดยิ้มไม่ได้เมื่อนึกถึงเด็กน้อยที่เพิ่งพบเจอกัน “อีกทั้งเจ้าโสนนั้นน่ารักน่าชัง ครอบครัวนี้คงมีความสุขทีเดียว”
“ข้าเคยมองพลาดด้วยรึ” ยายแถมโอ่
“ยายนี่แม่นอย่างกับตาเห็น” โนรีชม ยายแถมหัวเราะชอบใจกับคำชมของหลานสาว
“ยายจ๋า มีแขกมา” จิบที่มีหน้าที่ดูแลบ้านมารอแจ้งข่าวกับยายหลานที่เพิ่งขึ้นจากเรือ เธอเป็นหญิงสาวอายุยี่สิบปลายที่มีกิริยาชดช้อยซึ่งมาอยู่เรือนนี้พร้อมกับจั่นผู้เป็นลูกชายได้หลายปีแล้ว
“งั้นหรือ” นางแถมรับรู้ด้วยที่ทีไม่แปลกใจเพราะแม้ว่านางจะไม่ได้นัดใครเป็นพิเศษ แต่ลูกค้าหลายคนก็มาหานางถึงที่ด้วยเสียงลือเสียงเล่าอ้างไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่ประการใด
กระทาชายวัยหนุ่มท่าทางสะอาดสะอ้านลุกขึ้นรับยายหลานที่เดินขึ้นเรือนมา
“ข้าว่าคงไม่ค่อยแม่น ไม่ยักรู้เลยว่าจะมีใครมาหา” ยายแถมเอ่ยติดตลกก่อนเอ่ยทักทายผู้ที่ดูคล้ายมารอพบ “มีอะไรล่ะพ่อ มาจากไหนกัน”
“ยายแถมใช่ไหมขอรับ” เขาถาม ยิ้มเล็กน้อย ความสุภาพนอบน้อมและท่าทางดูคล้ายกับคนที่ทำงานให้กับผู้สูงศักดิ์
“ข้าเอง แต่เอ็งเป็นใครเล่า ข้าไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน” นางแถมถามเพิ่มเติม พร้อมเพ่งพิศคู่สนทนา เขาเป็นชายหนุ่มร่างสันทัด ท่าทางแข็งแรง ทว่าท่วงที่ที่แสดงออกกลับไม่แข็งกระด้าง
…แหม่ ถ้าโสดนี่ต้องมีแม่หญิงอยากได้แน่นอน
ยายแถมมองเก็บรายละเอียดพร้อมปรารภกับตนเองในใจ
“ผมชื่อขอนขอรับ ไม่ทราบว่ายายทำงานตามนี้จริงใช่หรือไม่” ขอนถาม เมื่อเห็นยายหลานพร้อมใจกันเลิกคิ้วเป็นเชิงสงสัยจึงหยิบพับกระดาษส่งให้ ยายแถมรับมาก่อนคลี่ออกอ่าน
“เอ๊ะ นี่มันบางกอกรีคอเดอนี่ ฉันเคยอ่านฉบับแรก พิมพ์เมื่อหลายปีก่อน ออกฉบับที่สองแล้วรึ” โนรีพูดอย่างตื่นเต้น สิ่งนี้เรียกว่าหนังสือพิมพ์จัดพิมพ์โดยหมอแบรดลีย์เจ้านายของลมนั่นเอง เนื้อหามักเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพระนคร มีหลากหลายเรื่องอ่านได้เพลิดเพลินยิ่ง
“อย่าเพิ่งตื่นเต้น โนรีเอ็งอ่านนี่สิ” ยายแถมที่ไม่คุ้นกับตัวพิมพ์สั่งหลานสาว
โนรีกวาดตาไปในหน้าหนังสือพิมพ์ ก่อนจะขมวดคิ้วด้วยความแปลกใจ
จดหมายเหตุคือบางกอกรีคอเดอ
๐ อนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินข่าวลือกันว่ายังมีคนๆ หนึ่ง.
ชื่อยายแถมบ้านอยู่แขวงถนนวัดมหรรณพาราม, คือถนน
บ้านตะนาว, แลยายแถมคนนี้เป็นคนเที่ยวชักเมียชักผัว
อยู่ทุกวัน, แลเที่ยวสื่อไปทุกบ้านทุกเรือน, ถ้าแม้นบ้าน
ไหน ผัวตายเป็นแม่หม้าย, ก็ไปภาเอาผู้ชายมาให้เป็นผัว
แล้วก็ได้นายน่ากินทุกครั้ง, แล้วยายแถมคนนี้เป็นคน
กว้างด้วย, และคนรู้จักมากด้วยแลยายแถมคนนี้หา
กินด้วยแม่สื่อทั้งตาปี, ไม่ได้หากินด้วยสิ่งอื่นเลย
- READ พระนคร 2410 แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิส บทที่ 4 : แม่สื่อมือหนึ่ง ต้องลงทุนขนาดนี้
- READ พระนคร 2410 แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิส บทที่ 3 : การได้พบกันนั้นเป็นวาสนา...จริงอ้ะ?
- READ พระนคร 2410 แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิศ บทที่ 2 : สี่สิบแล้ว...ทำไมไม่มีเมีย
- READ พระนคร 2410 แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิศ บทที่ 1 : หลานสาวคนสวย
- READ พระนคร 2410 แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิศ : บทนำ