วิมานใยบัว ภาคต้น “วาดวิมาน” ๔ : ต้นตะวัน รัชฎาสรรพกิจ

วิมานใยบัว ภาคต้น “วาดวิมาน” ๔ : ต้นตะวัน รัชฎาสรรพกิจ

โดย : เนียรปาตี

Loading

วิมานใยบัว โดย เนียรปาตี นิยายออนไลน์ที่อ่านเอาอยากให้คุณได้อ่านออนไลน์ เรื่องราวของบัวเกี๋ยงจากกลิ่นกาสะลอง บัดนี้เธอเติบใหญ่และต้องเผชิญกับชะตาชีวิตที่ยากลำบาก ในวันเวลาที่หมอส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย บัวเกี๋ยงจะสามารถทำความฝันของเธอให้เป็นจริงได้หรือไม่ ไหนจะเรื่องเรียนและเรื่องหัวใจ วิมานของเธอจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร

สุพลแยกจากเจ้าคุณพ่อมาแล้วจึงเดินมาทางเรือนครัว ตั้งใจว่าจะผ่านมาดูครู่เดียวเท่านั้นแล้วก็จะไปคุมบ่าวชายที่กำลังจัดสถานที่ ขนโต๊ะเก้าอี้มาตั้งไว้เป็นหมู่ที่สนาม ทันได้ยินการประคารมของสองสาว เขาเห็นใจบัวเกี๋ยงที่คุณหญิงต่วนซักไซ้และบี้หล่อนแทบว่าจะให้จนมุมอยู่ตรงนั้น ครั้นจะปลอบใจ เจ้าคุณพ่อก็กันตัวเขาออกไปเสียก่อน กะว่าถ้าบัวเกี๋ยงอยู่แถวนี้ จะได้ปลอบใจกัน

“ว่ายังไงล่ะ เธอพูดเองนะ ว่าถ้าฉันขอ เธอถึงจะทำ”

สุพลถามย้ำ มองตรงไปยังดวงตางามที่บัดนี้ลุกวาว เขารู้ว่าบัวเกี๋ยงจะไม่ยอมเสียคำพูด

“ฉันจะรอชิมฝีมือเธอ อยากได้อะไรก็บอกยายเต่า แล้วอย่าบ่ายเบี่ยง เธอเป็นคนพูดออกมาเอง หวังว่าคงไม่ได้แค่พูดสนุกปากเท่านั้นหรอกนะ ฉันรู้ว่าเธอเป็นคนพูดจริงทำจริง”

“ก็ทำจริง ๆ นะสิคะ” ศุภางค์ตอบแทนเพื่อน จูงแขนบัวเกี๋ยงไปทางที่นางเต่านั่งอยู่ “ไหนดูซิ มิอะไรให้ทำได้บ้าง”

บรรยากาศในครัวเปลี่ยนเป็นการประชันฝีมืออยู่กลาย ๆ นางบ่าวที่เตรียมข้าวของไว้แล้วก็ยกหม้อขึ้นตั้งบนเตา ไม่เหลือที่ว่างอีก

“คุณจะทำอะไร อยากได้อะไรบ้าง บอกอิฉันมา”

บัวเกี๋ยงยังจนด้วยความคิด แม้ไม่ตั้งใจให้เป็นการแข่งขัน แต่หล่อนก็ไม่อยากทำอย่างขอไปที เพราะผลลัพธ์ของสิ่งนั้นคือ หล่อนจะยิ่งถูกดูหมิ่นถิ่นแคลนว่าเป็นพวกบ้านป่าเมืองเถื่อน นึกถึงอาหารที่เคยทำกับอี่นาย มันไม่ยากหรอกแต่ถ้าเครื่องปรุงไม่ครบมันก็ไม่อร่อย ดูแต่ฝ่ายนั้นสิ แค่สองอย่างเครื่องครัวยังเต็มไปหมด

“ยายเต่า มีไอ้นี่หรือเปล่า” บัวเกี๋ยงกระซิบถามเบา ๆ เพราะไม่แน่ใจว่าแม้แต่ยายเต่าเองจะรู้จัก

“อุ๊ย! มีสิเจ้าคะ ไม่เคยใช้เลยเจ้าค่ะ อิฉันใช้ไม่เป็น”

“ดีเลย ฉันจะทำไอ้นี่ละ” ว่าแล้วก็หันไปมองรอบด้าน “แล้วเราจะใช้เตาไหนล่ะ”

“ตั้งเตาข้างนอกก็ได้เจ้าค่ะ” นางเต่าว่าแล้วก็จัดแจงตั้งเตาถ่านอยู่ข้างครัว ขณะบัวเกี๋ยงกับศุภางค์เข้าสวนสมุนไพรไปเก็บผักหลายชนิด นางเต่าก็ตั้งกระทะคั่วพริกแห้ง กลิ่นฉุนไปทั่วบริเวณจนจามไปตาม ๆ กัน สองสาวกลับมาเมื่อนางเต่าคั่วพริกเสร็จพอดี

บัวเกี๋ยงมองแผ่นบางกลมสีน้ำตาลอย่างพอใจว่านี่ละ เคล็ดลับของหล่อน

นางเต่าเอาตะแกรงมาให้ บัวเกี๋ยงก็เผาแผ่นสีน้ำตาลนั้นผิงไฟจนสุกกรอบ กลิ่นหอมโชย

“เขาเรียกว่าถั่วเน่า” บัวเกี๋ยงบอกเพื่อน “เอาถั่วเหลืองมาหมักแล้วทำเป็นแผ่น ตากแห้งเก็บไว้กินได้นาน ๆ อาหารเหนือใส่ถั่วเน่าหลายอย่าง ผักกาดจอ น้ำเงี้ยว น้ำพริกอ่อง ใส่ถั่วเน่าทั้งนั้น”

บัวเกี๋ยงโขลกถั่วเน่าที่ผิงไฟจนสุกกรอบแล้วกับเครื่องปรุงอื่น ๆ เพื่อทำเครื่องแกง ผัดกับหมูสับและกระดูกอ่อนพอเข้ากันแล้วจึงใส่น้ำตั้งไฟให้เดือด ใส่เลือดไก่ เกสรดอกงิ้วตากแห้ง และมะเขือเทศลงไป ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำน้ำเงี้ยวอย่างทางเหนือ

 

ใกล้เที่ยง สำรับเคียงขนมจีนก็จัดขึ้นโต๊ะเรียบร้อย

ขนมจีนเส้นขาวนุ่มเหนียวจัดเป็นจับเรียงไว้ในถาดเงินขอบดุนลายงดงาม โถใบใหญ่บรรจุน้ำยาปลาช่อน ที่คุณหญิงพลับขึ้นชื่อว่ามีรสมือดีสำหรับอาหารชนิดนี้ เครื่องเคียงมีไข่ต้มจักเป็นดอก ถั่วงอกเด็ดหาง มะระ และถั่วฝักยาวลวกพอสะดุ้งน้ำร้อน ใบแมงลักแนมสดเด็ดไว้เป็นช่อเล็ก ๆ

ที่สวยงามและน่ากินไม่แพ้กันคือ น้ำพริกสีน้ำตาลข้น ผักเหมือดซอยเป็นเส้นขาวดูสดกรอบทั้งมะละกอและหัวปลี เครื่องแนม อันมีทั้งแจงลอน ผัดชุบแป้งทอด ทอดมันปลากราย ทอดมันกุ้งกรอบ ล้วนชวนให้ตื่นตา เลือกไม่ถูกว่าจะชิมอย่างใดก่อน ในขณะที่เครื่องซาวน้ำชวนให้น้ำลายสอ เมื่อเห็นสับประรดเนื้อฉ่ำหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ วางเคียงกระเทียมซอย ขิงซอย พริกดองน้ำปลา และกุ้งแห้งโลกละเอียดจนเนื้อฟู

สุดท้ายคือน้ำเงี้ยวสีแดงจัดผิวหน้าเป็นมันย่อง มะเขือเทศ เลือดไก่ และดอกงิ้วดูเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับพระยาบริรักษ์เวชการและบุตรชาย

“ไม่เห็นเสียนาน ตั้งแต่เจ้าดาราเสด็จกลับเชียงใหม่กระมัง”

พระยาบริรักษ์ฯ เปรยขึ้นมา นึกถึงว่าเคยกินเมื่อครั้งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประทับที่ตำหนักในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ครั้นผลัดแผ่นดินก็ยังอยู่ที่พระราชวังดุสิต เพิ่งทูลลาเสด็จกลับเชียงใหม่เมื่อสองสามปีก่อนนี้เอง

 

บัวเกี๋ยงชิมน้ำพริกเป็นอย่างแรกเพราะอยากรู้ว่ารสชาติน้ำพริกที่ไม่ใส่พริกนั้นจะเป็นอย่างไร สังเกตการตักจากศุภางค์แล้วทำตาม พอส่งเข้าปากคำแรกก็นิ่วหน้าให้กับรสชาติมันข้นของถั่วต้มกะทิโขลกกับมันกุ้ง ซ้ำยังหวาน รสชาติกลมกล่อมก็จริงแต่ไม่ถูกปากหล่อน สีหน้าที่แสดงออกมาจึงทำให้วันสัสสาน์และคุณหญิงต่วนผู้เป็นมารดาไม่สบอารมณ์ ครั้นหันมาลองชิมซาวน้ำ คลุกทุกอย่างเข้ากันแล้วกินในคำเดียว ก็ยิ่งรู้สึกแปลกเข้าไปอีก เพราะทั้งเค็ม เปรี้ยว หวาน

คุณหญิงต่วนมองอยู่นาน ทนไม่ไหวจึงถามว่า

“รสชาติเป็นยังไงบ้างล่ะ เหมือนทางลาวนู่นไหม?”

“หวานอย่างนี้นะหรือคะ เรียกว่าน้ำพริก น้ำพริกผันต้องเผ็ด ๆ นี่อะไร ทั้งหวานทั้งมัน ตักเข้าปากคิดว่าขนม”

“คนทางนี้เขาก็กินรสชาติแบบนี้แหละ ใช่ไหมสุพล อร่อยถูกปากใช่ไหมจ้ะ” คุณหญิงต่วนหันไปทางชายหนุ่มที่กำลังตักน้ำเงี้ยวเข้าปาก

สุพลไม่ทันตั้งตัวก็พยักหน้ารับไปตามน้ำ

“ถ้าคิดว่าจะมาชุบตัวลอกคราบอยู่ที่นี่ ก็หัดไว้ให้ชินเถอะ ทั้งการอยู่การกิน คนที่นี่กินอาหารรสชาติกลมกล่อม ไอ้ที่รสจัดไปทางเดียว เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ต้องให้ชัดน่ะ มันอาหารชาวบ้าน”

คุณหญิงพลับเห็นบัวเกี๋ยงมีท่าทีไม่ลดละ จึงส่งสายตามาทางบุตรสาว ให้สะกิดปรามเพื่อน ไม่ให้โต้เถียงอีก

ขนมจีนพร่องลงไปมาก น้ำเงี้ยวฝีมือบัวเกี๋ยงหมดก่อนอย่างอื่น เพราะพระยาบริรักษ์เวชการและสุพลตักแล้วเติมอีก รู้ตัวว่าอิ่มก็เมื่อแกงหมดถ้วย

“เห็นชัดแล้วนะคะ ว่าใครเป็นฝ่ายชนะ” ศุภางค์เอ่อออกมา มองไปที่วันวัสสาน์ที่ยังคงนั่งนิ่ง

“ชนะอะไรกัน ยายพัด พูดราวกับว่าใครแข่งอะไรกัน” คุณหญิงพลับเอ็ดบุตรสาว

“หนูพัดก็คิดไปเสียไป แค่แกงหมดชามก่อนก็ถือว่าอร่อยกว่าอย่างนั้นหรือจ้ะ เจ้าคุณกับสุพลอยู่ที่ที่มานาน คุ้นเคยกับอาหารพวกนี้เป็นอย่างดี นาน ๆ ทีเจอของแปลกก็กินเสียให้หายตื่นเต้น”

วันวัสสาน์เลื่อนถ้วยใบหนึ่งมีฝาปิดส่งให้คุณหญิงพลับ

“หนูลองทำให้คุณป้าชิมดูก่อน ถ้าถูกปากจะได้ทำเลี้ยงแขกตอนค่ำเจ้าค่ะ”

ศุภางค์ชะโงกมองเห็นแกงในถ้วยแล้วก็ร้องเป็นกาพย์ขึ้นมาว่า

“มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา (1)...คุณเล็กคงตั้งใจทำให้พี่ชายชิมมากกว่ามังคะ เผื่อว่าพี่ชายจะได้ใฝ่ฝันหา”

วันวัสสาน์ก้มหน้าเอียงอาย ไม่คิดว่าศุภางค์จะตลบในตอนท้ายด้วยการเลื่อนแกงอีกถ้วยหนึ่งส่งให้พี่ชาย

“ถ้วยนี้บัวเกี๋ยงก็ทำให้พี่ชายโดยเฉพาะค่ะ เนื้อย่างต้มรวมกับผักหลายอย่าง ทางเหนือเรียก แกงแค แต่ถ้วยนี้ต้องเรียก ‘แกงแคร์’”

ศุภางค์ออกเสียง แคร์ ตามสำเนียงอังกฤษ care แปลว่า ห่วงใย

คุณหญิงพลับตวัดสายตามาทางบุตรสาว ในขณะที่คุณหญิงต่วนจ้องเขม็งมาที่บัวเกี๋ยง เช่นเดียวกับวันวัสสาน์ที่นั่งนิ่ง หากในแววตาของหล่อนมีริ้วสะเทือนใจฉายอยู่ไม่น้อย

พระยาบริรักษ์เวชการเห็นท่าไม่ดี จึงตัดชิมแกงทั้งสองถ้วยแล้วแสร้งถามเรื่องนั้น ต่อเรื่องนี้ ค่อย ๆ หันเหหัวข้อสนทนาออกไป ก่อนที่โต๊ะอาหารจะกลายเป็นสนามวิวาทของสาว ๆ

 

งานเลี้ยงบ้านพระยาบริรักษ์เวชการที่คุณหญิงพลับออกปากกับใครต่อใครว่า เป็นงานเลี้ยงเล็ก ๆ นั้น คงเป็นการพูดถ่อมตัวตามมารยาทมิให้คนหมั่นไส้ เพราะในสายตาของบัวเกี๋ยง งานเลี้ยงในวันนี้ดูเอิกเกริกกว่างานที่จวนข้างหลวงที่มันเคยเกาะรั้วหรือปีนต้นลำไยดูเสียอีก

บ่าวชายขนโต๊ะเก้าอี้มาจัดวางไว้เป็นหมู่กระจายทั่วบริเวณสนาม ประดับด้วยไม้กระถางทั้งไม้ดอกไม้ใบ โดยเฉพาะหน้าวัวที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ วงดนตรีทั้งไทยและฝรั่งมาตั้งเครื่องตั้งเสียงที่ศาลานั่งเล่น เต็นท์สีขาวหลายหลังตั้งไว้เป็นระยะทั้งเพื่อกันแดดและกันฝน หากเผอิญมีฝนตกลงมา กุ๊กจีนจากร้านดังที่จ้างมาก็ลำเลียงของลงจากรถ เตรียมตั้งโต๊ะปรุงอาหารสดใหม่ให้แขกกิน

ที่คิดว่าจะเป็นงานเลี้ยงตอนค่ำ แค่บ่ายแก่ ๆ แขกชุดแรกก็มาถึง เป็นแขกคนสำคัญเสียด้วย ไม่ใช่ใครอื่น พระยารัชฎาสรรพกิจและบุตรชายทั้งสองนั่นเอง

คุณหญิงพลับคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำว่าต้องเป็นเช่นนี้แน่ เมื่อเรียบร้อยจากมื้อเที่ยงจึงเกณฑ์ให้เจ้าคุณสามีและลูกชายลูกสาวอาบน้ำแต่งตัวเสียใหม่เตรียมรับแขก เช่นเดียวกับวันวัสสาน์ ที่คุณหญิงพลับบอกว่าไม่ต้องเหนื่อยทำกับข้าวร้อนอยู่หน้าเตา อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าออกมานั่งคุยกันเพลิน ๆ จะดีกว่า วันวัสสาน์จึงสั่งการบ่าวไพร่ให้จัดแจงอาหารที่เตรียมมาให้เรียบร้อยโดยที่หล่อนวางใจไม่ควบคุม แล้วเข้าไปแปลงโฉมในห้องบนตึกใหญ่ที่คุณหญิงเจ้าของบ้านจัดเตรียมไว้ให้ วันวัสสาน์เปลี่ยนชุดใหม่ที่คุณหญิงมารดาคัดเลือกไว้อย่างดี เพื่อให้ดูเป็น ‘เจ้าภาพร่วม’ ในงานเลี้ยงวันนี้

ศุภางค์รู้ว่า ‘ศึก’ ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ในครัว

เมื่อกลับขึ้นห้องกับบัวเกี๋ยง หล่อนจึงค้นเสื้อผ้าหลายชุดในตู้ออกมาวางเรียงไว้บนเตียงขณะที่เพื่อนสาวกำลังอาบน้ำ บัวเกี๋ยงอาบน้ำเสร็จ ศุภางค์ก็เลือกชุดได้พอดี เป็นชุดสีฟ้าอ่อนแบบทันสมัยที่คุณแม่พาหล่อนไปตัดใหม่แต่หล่อนไม่ยอมสวม เพราะลองแล้วดูหมอง แทนที่จะขับผิวหล่อนให้เปล่งปลั่งนวลลออ แต่พอเทียบกับบัวเกี๋ยงแล้ว ก็เห็นว่าชุดนี้เหมาะที่สุด

บัวเกี๋ยงอิดออดในตอนแรก หล่อนเตรียมชุดของหล่อนมาแล้ว แต่ศุภางค์คัดค้าน หล่อนไม่ยอมให้เพื่อนรักน้อยหน้ายายคุณเล็กเด็ดขาด จึงหว่านล้อมแกมบังคับจนบัวเกี๋ยงสวมชุดสีฟ้าที่ตัดจากผ้านุ่มลื่นนั้นจนได้ เพียงแค่เห็นบัวเกี๋ยงก็รู้ว่าแพง ยิ่งได้สัมผัสก็รับรู้ว่าคงแพงยิ่งกว่าที่หล่อนคิด เพราะเนื้อแพรนุ่มเนียนจนหล่อนกลัวว่าจะทำให้เกิดรอย ในขณะที่ศุภางค์ไม่สนใจราคา กดบ่าบัวเกี๋ยงให้นั่งลงหน้าม้าเครื่องแป้ง รวบผมยาวที่เคยถักเปียไว้ในตาข่ายแล้วตลบเก็บไว้ข้างใต้ ตรึงไว้ด้วยเข็มฝอย ดูผาดเผินก็เหมือนตัดผมสั้นแค่คอ

“สมัยนี้ต้องทำทรงซิงเกิ้ล แต่เราไม่มีเวลามาพอจะเผาคีมมาดัดลอน”

เพื่อนสาวพูดมาถึงตรงนี้บัวเกี๋ยงก็นึกถึงซ้องปีบ ครั้งหนึ่งซ้องปีบเคยให้นางเหมยเอาคีบเผาไฟจนร้อนแล้วหนีบผมเป็นลอน ไปเดินอวดในตลาดมีแต่คนล้อว่าซ้องปีบเป็นบ้าเป็นว้อ

ศุภางค์เปิดกล่องกำมะหยี่ หยิบกิ๊บรูปแมลงปอสีเงิน ตรงลำตัวเป็นมุก แต่ปีกเป็นแผ่นเงินฉลุลาย ติดสปริงไว้ให้ขยับได้ คิดลงไปบนผมของบัวเกี๋ยง เป็นอันเสร็จสิ้นสมใจมุ่งหมาย

“พี่ชายซื้อให้ฉันเมื่อวันเกิดปีที่แล้ว แต่ฉันไม่เคยใช้หรอก”

“แล้วตัวเอามาใส่ให้เรา พี่ชายตัวก็ว่าเอาหรอก”

“พี่ชายไม่ว่าหรอก ตัวก็รู้” ศุภางค์บอกอย่างมีนัย “ดีใจเสียอีกที่อยู่บนผมบัวเกี๋ยง”

หญิงสาวมองเงาที่สะท้อนออกมาจากกระจกเหมือนกำลังสบตากับสตรีแปลกหน้า ทว่าว่าเป็นคนแปลกหน้าที่งามผุดผาดไม่ผิดลูกผู้ดีในพระนคร แวบหนึ่งนึกถึงซ้องปีบ นางเคยแต่งตัวอย่างนี้แล้วถูกล้อว่าเป็นบ้า ทั้งที่คนในพระนครก็แต่งกันอย่างนี้

ของอย่างเดียวกัน แต่อยู่ผิดที่ผิดเวลา การยอมรับมันก็เลยผิดกัน

แล้วตัวหล่อนเองเล่า ที่อยู่ตอนนี้ ถูกที่ถูกเวลาหรือเปล่า

 

จากหน้าต่างห้องนอน เห็นว่ารถยนต์โอ่อ่าคันหนึ่งเลี้ยวเข้ามา ไม่นานบ่าวก็ขึ้นมาเรียนว่าท่านเจ้าคุณและคุณหญิงให้ลงไปรับแขก ศุภางค์จึงหนีบเพื่อนสาวติดกายลงไปด้วย ไม่ยอมปล่อยเพื่อนไว้คนเดียวเด็ดขาด

ชุดรับแขกถูกยกไปตั้งไว้ในสวนด้านหนึ่ง ใต้ร่มจามจุรีอายุหลายปีที่คนเดียวโอบไม่รอบ แผ่กิ่งก้านสาขาพรางแสงตะวันยามบ่ายให้ลอดลงมาได้เพียงรำไร รู้สึกโปร่งสบายยามเมื่อลมพัด

สามสาวมาถึงที่รับแขกในเวลาพร้อมกัน หนุ่ม ๆ ทั้งนั้นก็ตะลึงมอง

“กราบเจ้าคุณลุงค่ะ”

ศุภางค์ยกมือไหว้แขกผู้อาวุโสนั้นก่อน แล้วจึงหันไปไหว้ชายหนุ่มอีกสองคนตามลำดับอาวุโส บัวเกี๋ยงก็ทำตาม แล้วจึงไปนั่งด้วยกันที่เก้าอี้ตัวหนึ่ง วันวัสสาน์ไปนั่งข้างมารดาของหล่อน

หนุ่ม ๆ มองสาว ๆ ที่ตนพึงใจไม่วางตา คุณหญิงต่วนจึงหัวเราะร่วน ปรารภขึ้นมาว่า

“อุ๊ย! หนุ่ม ๆ มองสาว ๆ ตาค้างอย่างนี้ น้อง ๆ ก็อายกันหมดสิจ๊ะ” หันไปทางสุพลก็ถามว่า “งามใช่ไหมล่ะ”

“ใช่ครับ งามมาก ไม่เคยเห็นแต่งตัวแบบนี้มาก่อน” สุพลหมายถึงบัวเกี๋ยง แต่วันวัสสาน์ก็หน้าแดง ก้มหน้าซ่อนรอยเขินอาย

คุณหญิงต่วนเข้าใจไปทางเดียวกับบุตรสาวที่สุพลว่าไม่เคยเห็นแต่งตัวแบบนี้มาก่อน เพราะวันวัสสาน์ยังแต่งชุดลูกไม้ปิดถึงคอ นุ่งโจงกระเบน สวมถุงน่อง คาดแถบแพรผูกเป็นชายที่เอวดกลัดไว้ด้วยเข็มกลัดเพชร เพราะในยุคสมัยนี้ แผ่นดินนี้ สุพลคงเห็นสตรีใส่เสื้อนุ่งซิ่นอย่างแหม่มจนชินแล้ว ครั้นวันวัสสาน์แต่งอย่างคุณข้าหลวงลูกผู้ดีในสมัยแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ชายหนุ่มจึงเห็นว่าแปลกตา

“เห็นกันมาแล้วครึ่งวัน ก็ยังชมกันซึ่งหน้า ปากหวานอย่างนี้อิฉันกลัวพ่อสุพลจะไปคว้านางแหม่มมาเป็นสะใภ้คุณหญิงจริง ๆ รึอย่างไรคะ เจ้าคุณ” คุณหญิงต่วนพาเข้าเรื่องจับคู่อย่างแนบเนียน เจ้าคุณบริรักษ์ฯ ก็ได้แต่หัวเราะแทนการตอบคำถาม

บัวเกี๋ยงและศุภางค์จ้องหน้าชายหนุ่มผู้ที่เป็น ‘ฝาแฝด’ ของวันวัสสาน์จนฝ่ายรู้ตัวว่าถูกจ้อง จึงขึงตาใส่ทำให้สองสาวสะดุ้ง รู้ตัวว่าจ้องจนเสียมารยาท

“เอ…ผมคิดว่าเราเคยเจอกันที่ไหนมาก่อนหรือเก่า”

บุตรชายคนโตของพระยารัชฎาสรรพกิจและคุณหญิงต่วนเอ่ยถามหญิงสาวบุตรีเจ้าของบ้าน เขาเป็นพี่ชายคนโตที่ดูเป็นผู้ใหญ่ อายุห่างจากน้องฝาแฝดหลายปี “เราเคยเจอกันมาก่อนไหม น้อง”

“ไม่เคยค่ะ” ศุภางค์ตอบกลับอย่างมั่นใจ หล่อนไม่เคยพบเขามาก่อนจริง ๆ

“พ่อใหญ่จำผิดคนละมั้ง” คุณหญิงต่วนว่า “หนูพัดอยู่ประจำที่คอนแวนต์ พ่อใหญ่เพิ่งกลับมาจากอเมริกาเมื่อสงครามเลิกนี่เอง จะเคยพบเคยเห็นกันที่ไหน”

“แต่ผมคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยพบจริง ๆ นะ คุณแม่ บางทีอาจจะเจอแถวบางลำพู หรือไม่ก็ราชวงศ์” น้ำเสียงในตอนท้ายมีความหมายพิเศษ ส่งออกไปพร้อมแสงตาที่ทำให้ศุภางค์สะดุ้งราวถูกไฟฟ้าช็อต

“ผมอาจจะเข้าใจผิดจริง ๆ ก็ได้ครับ ตอนนั้นมันมืดเสียด้วย”

“ถ้าอย่างนั้นยิ่งไม่มีทาง หนูพัดจะไปอยู่แถวนั้นตอนมืด ๆ ค่ำ ๆ ได้อย่างไร ทั้งบางลำพู ทั้งราชวงศ์” คุณหญิงต่วนหันมาทางหญิงสาว “ใช่ไหมลูก”

“ตอนค่ำ ๆ ไม่ใช่ แต่ถ้าเป็นตอนดึกละก็ไม่แน่ ใช่ไหมครับ คุณแม่” ชายหนุ่มหัวเราหยอกเย้าให้เห็นว่าเขาสนุกที่ได้ไล่ต้อน ‘ใคร’ บางคนอยู่ โดยที่หล่อนไม่อาจโต้เถียงอะไรออกมา

ศุภางค์คิดในใจว่าหล่อนถูกจับได้แล้วเรื่องเมื่อคืนนี้ พลางมองชายหนุ่มอย่างพินิจ

นี่นะหรือ ต้นตะวัน รัชฎาสรรพกิจ

 

“ตอนนี้ทำงานอะไรล่ะจ๊ะ” คุณหญิงพลับเป็นฝ่ายถามบ้าง

ต้นตะวันตอบว่า

“ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยครับ คุณพ่อจะฝากงานให้ที่กระทรวง แต่ผมอยากสมัครเข้าด้วยตัวเอง ไม่อยากให้ใครตราหน้าว่าใช้เส้นสายคุณพ่อ อยากเข้าได้ด้วยความสามารถของตัวเองมากกว่า อีกอย่างหนึ่ง ผมสำเร็จทางด้านเศรษฐศาสตร์มา ก็คิดการหลายอย่างกับเพื่อนฝูง แต่ยังไม่ตกลงใจว่าจะทำอะไรดี” ว่าพลางก็หันไปทางสุพล “ถ้าอยากถามอะไรเกี่ยวกับอเมริกาก็ยินดีนะ พี่แนะนำได้”

สุพลก้อมศีรษะรับช้า ๆ แทนการตอบรับและขอบคุณ

“เพื่อนผมคนหนึ่งวางแผนว่าจะเปิดสถานีบริการน้ำมัน เพราะอีกหน่อยรถยนต์คงเยอะกว่านี้ ผมก็เยเสนอไปว่าให้มีอู่เล็ก ๆ บริการควบคู่ไปด้วย เกิดรถเสียจะได้แก้ไข เพิ่งคุยกันเมื่อเช้านี้เอง ผมแนะนำจากประสบการณ์ตัวเอง เพราะเมื่อคืนโชคร้าย ไปกินข้าวต้มที่ราชวงศ์แล้วก็มีคนมาชนท้ายรถผม ยังจับตัวคนทำไม่ได้จนเดี๋ยวนี้” ต้นตะวันหันไปยิ้มอย่างมีเลศนัยให้ศุภางค์ “แต่รู้แน่ว่าเป็นผู้หญิง เพราะนุ่งกระโปรง”

“ผู้หญิงเดี๋ยวนี้ชักจะก๋ากั๋น” คุณหญิงต่วนวิจารณ์ เพราะถือว่าบุตรสาวของหล่อนอยู่ในกรอบประเพณีที่งดงาม “อะไร ๆ ก็จะเอาให้ได้ ทำให้เหมือนผู้ชายไปเสียหมด”

“ก็เป็นสิทธิของเขานี่ครับคุณแม่” ชายหนุ่มอีกคนแย้งมารดา กลางวสันต์นั่นเอง

“ลูกไม่เข้าใจว่าทำไมเราจะต้องแจกแจงว่าสิ่งนี้ของผู้หญิง สิ่งนี้ของผู้ชาย ทั้งที่เกิดมาเราก็มีเหมือนกันทุกอย่าง เป็นคนเหมือนกัน หิว เจ็บ ป่วย ตาย ได้พอ ๆ กัน มันชวนให้ลูกคิดนะว่า ทำไมผู้หญิงไม่มีสิทธิเรียนหนังสือ ไม่มีสิทธิทำงานในกระทรวงรับใช้บ้านเมืองอย่างผู้ชาย”

“วุ้ย! ลูกคนนี้” คุณหญิงต่วนปรามบุตรชายด้วยเสียงปนรำคาญ “พ่อกลางนี่ละตัวดี พูดจาอะไรเลื่อนเปื้อน ฟังไม่รู้เรื่อง วัน ๆ อ่านแต่หนังสือ แรก ๆ อิฉันก็ปลื้มว่าคงรักเรียนเขียนอ่าน แต่ทำไมยิ่งอ่านมากก็ยิ่งคิดอะไรแปลก ๆ อย่างนี้ก็ไม่รู้”

กลางวสันต์เงียบไปไม่แยงมารดาอีก ไม่ใช่เชื่อฟังอย่างยอมจำนน แต่ทำท่าเบื่อหน่ายให้เห็นว่าเขาก็คร้านที่จะอธิบายให้มารดาฟังและทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาคิด ผิดกับศุภางค์และบัวเกี๋ยงที่มองชายหนุ่มอย่างทึ่ง จึงจ้องไม่วางตาอีก จนกลางวสันต์ต้องหันมาขึงตาใส่อีกครั้ง

 

“สงครามทางโน้นเลิกแน่แล้วใช่ไหมคะ เจ้าคุณ”

คุณหญิงพลับถามเจ้าคุณรัชฎาสรรพกิจด้วยว่ากว้างขวางกว่าสามี

“เลิกแล้วละ คุณหญิงอย่าได้กังวล ขนาดปีที่มีสงคราม นักเรียนทุนก็ยังเดินทางไปเรียนได้”

เจ้าคุณรัชฎาฯ หันมาทางสุพล

“ปีนี้อายุเท่าไรแล้วล่ะ หลานชาย จำได้ว่าเห็นวิ่งเล่นอยู่หน้าตึกเก่า พริบตาเดียวจะจบประกาศนียบัตรแพทย์แล้ว”

สุพลตอบพร้อมทั้งแก้ไขความเข้าใจของเจ้าคุณรัชฎาฯ เสียใหม่ แม้ว่าฝ่ายนั้นจะไม่ได้สนใจจริงจังก็ตาม

“ปีนี้อายุ ๑๙ ปีแล้วครับ จบชั้นมัธยม ๘ บริบูรณ์จากอัสสัมชัญแล้วก็เรียนเตรียมแพทย์ แต่ผมเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตครับ เป็นคณะแพทยศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วครับ ไม่ใช่ราชแพทยาลัย และประกาศนียบัตรแพทย์เลิกไปแล้วเมื่อแผ่นดินก่อน” (2)

“อ้อ อย่างนั้นรึ” เจ้าคุณรัชฎาฯ ตอบอย่างผู้มีมารยาทในการสนทนามากกว่ารับรู้จริง ๆ

แต่กลางวสันต์สนใจ จึงถามขึ้นมา

“เข้าแพทย์นี่ยากไหม ที่เขาว่าเรียนหนักนั้นจริงหรือเปล่า แล้วต้องข้ามฟากไปเรียนที่ศิริราชจริง ๆ หรือ”

“ถามเสียอย่างกับตัวเองจะตามพี่เขาไป” คุณหญิงต่วนค่อนบุตรชาย แต่ก็แสดงกิริยาให้เห็นว่ายังเอ็นดู ผิดกับเมื่อบัวเกี๋ยงทำท่าฟังอย่างตั้งใจ แล้วหล่อนถามต่อจากกลางวสันต์ว่า

“ฉันก็อยากรู้เหมือนกัน”

“บัวเกี๋ยงอยากเรียนแพทย์ค่ะ เขาอยากเป็นนางสาวแพทย์” ศุภางค์บอกกับทุกคน

คุณหญิงต่วนก็สวนขึ้นมาว่า

“ไม่เจียมตัว!”

 

เชิงอรรถ :

(1) กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

(2) หลักสูตรประกาศนัยบัตรแพทย์ พ.ศ.๒๔๖๑ – ๒๔๖๔

 



Don`t copy text!