Strawberry Field และ John Lennon Forever ใน Central Park
โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม
ใกล้ห้าทุ่มของคืนวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1980 มีเสียงปืนดังขึ้นห้านัดที่หน้าอพาร์ตเมนต์ดาโกตา บนถนนสายที่ 72 แห่งมหานครนิวยอร์ก
ชายผู้ถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโม่ขนาด .38 จำนวนห้านัดในระยะประชิดห่างเพียงสิบฟุต ตะเกียกตะกายได้เพียงห้าก้าวไปยังเจ้าหน้าที่ของอพาร์ตเมนต์… เขาร้องว่า “ผมถูกยิง ผมถูกยิง” ก่อนล้มลง
นั่นคือ จอห์น เลนนอน อัจฉริยะทางดนตรี หนึ่งในสมาชิกวงเดอะบีเทิลส์ ซึ่งเป็นวงดนตรีที่สร้างปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ นับตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 1960 จนถึงปัจจุบัน
อันที่จริงอพาร์ตเมนต์ดาโกตามีทางเข้าออกอีกด้านหนึ่งซึ่งมิดชิดและเป็นส่วนตัวกว่า แต่จอห์นถือเป็นภารกิจที่จะแจกลายเซ็นให้กับแฟนๆ …เขาบอกว่า “พวกเขาแค่มาทักทายและขอลายเซ็นเท่านั้น ไม่ได้รบกวนอะไรเลย”
เย็นวันนั้นก่อนออกจากอพาร์ตเมนต์ในเวลาห้าโมงครึ่งไปยัง Record Plant Studio เพื่อไปมิกซ์เสียงเพลง Walking on Thin Ice ของ โยโกะ โอโนะ ภรรยา ซึ่งเพลงนี้เขาเป็นผู้เล่นดนตรีในตำแหน่งลีดกีตาร์… จอห์นก็หยุดทักทายแฟนเพลงเหมือนทุกครั้ง ซ้ำยังได้เซ็นชื่อบนปกอัลบั้ม Double Fantasy ผลงานของเขาให้กับมือปืนซึ่งอยู่ในกลุ่มแฟนๆ ขณะส่งคืนจอห์นก็ทักทายว่า “แค่นี้ใช่ไหม” (Is This all you want?)
เมื่อกลับจากสตูดิโอในเวลาสี่ทุ่มห้าสิบนาที จอห์น เลนนอน และ โยโกะ โอโนะ ยังไม่ได้รับประทานอาหารเย็น ทั้งคู่เตรียมจะไปรับประทานอาหารมื้อดึกกันที่ภัตตาคาร Stage Deli แต่ก็ตัดสินใจกลับมายังอพาร์ตเมนต์เพื่อส่งฌอน ลูกชายในวัยห้าขวบ เข้านอนก่อน
…ที่ประตูทางเข้าอพาร์ตเมนต์ ฆาตกรซึ่งรออยู่เรียกเขาว่า “มิสเตอร์เลนนอน” ก่อนเหนี่ยวไกปืนห้านัดเมื่อจอห์นเหลียวมอง กระสุนพลาดเป้าหนึ่งนัด เข้าที่ไหล่ซ้ายหนึ่งนัด และเข้าที่ด้านหลังซีกซ้ายของลำตัวอีกสามนัด
จอห์น เลนนอน ถึงแก่ความตายในคืนวันนั้น
ฆาตกรถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแม้ว่าทนายจะยกกรณีผิดปกติทางจิตมาเป็นข้อต่อสู้คดี และปัจจุบันฆาตกรก็ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ความพยายามขอประกันตัวถึง 9 ครั้ง ไม่เคยสำเร็จ
อีกห้าปีต่อจากนั้น ในวันที่ 9 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1985 โยโกะ โอโนะ ภรรยาของจอห์น ร่วมกับนายกเทศมนตรีแห่งมหานครนิวยอร์ก เอ็ด โกช ประกอบพิธีเปิดอนุสรณ์สถาน Strawberry Field ภายในสวนสาธารณะเซ็นทรัลปาร์ก สถานที่ซึ่งสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับจอห์นเนื่องในวันครบรอบวันเกิดปีที่สี่สิบห้าของเขา… หากเขายังมีชีวิตอยู่… โดยโยโกะเป็นผู้บริจาคเงินตั้งต้นไว้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สตรอเบอรีฟิลด์ในสวนสาธารณะเซ็นทรัลมีเนื้อที่ 2.5 เอเคอร์ มีจุดเด่นอยู่ที่พื้นที่ปูกระเบื้องโมเสค ตรงกลางมีคำว่า Imagine ซึ่งเป็นชื่อเพลงที่มีชื่อเสียงก้องโลกของ จอห์น เลนนอน บริเวณโดยรอบออกแบบโดยหัวหน้าหน่วยนักภูมิสถาปัตย์ชื่อ บรูซ เคลลี
กระเบื้องโมเสคที่ใช้นี้เป็นของขวัญจากนครเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี จัดสร้างโดยทีมนักออกแบบจากเมืองเนเปิลส์ กระเบื้องถูกจัดเรียงในสไตล์พื้นแบบโปรตุกีส นอกจากนี้ที่ทางเดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณนี้ มีแผ่นทองเหลืองตรึงอยู่บนก้อนศิลาขนาดใหญ่ จารึกชื่อประเทศมากกว่า 120 ประเทศที่มีส่วนร่วมในการสร้างอนุสรณ์สถาน หนึ่งในรายชื่อประเทศเหล่านั้นมีประเทศไทยด้วย
บริเวณนี้นอกจากจะอุดมไปด้วยต้นไม้ดอกไม้นานาพรรณตั้งแต่แมคโนเลียสีชมพู โรโดเดนดรอน ฮอลลี ลอเรลภูเขา ซึ่งผลัดกันออกดอกผลิใบอย่างงดงามแล้ว ยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แห่งความสงบ (Quiet Zone) ยกเว้นในวันหยุดจะมีนักดนตรีมานั่งเล่นกีตาร์ร้องเพลงของ จอห์น เลนนอน และวงเดอะบีเทิลส์ เพื่อขับกล่อมผู้คนจากทั่วโลกที่มาเยี่ยมชม… เป็นเช่นนี้มานับจากวันที่เปิด Strawberry Field ซึ่งมี โยโกะ โอโนะ มานั่งฟังอยู่ด้วยจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้ชื่อว่า Strawberry Field ตามชื่อเพลง Strawberry Field Forever ของ John Lennon โดยสตรอเบอรีฟีลด์เป็นชื่อของบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าในเมืองลิเวอร์พูลซึ่งจอห์นมักจะไปคลุกคลีและเล่นกับเด็กๆ ที่นี่อยู่เสมอ บางครั้งก็ไปช่วยขายน้ำมะนาวขวดละ 1 เพนนี
เรื่องราวเหล่านี้คือความทรงจำดีๆ ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงให้เขา… น่าเสียดายที่ปัจจุบันบ้านนี้ปิดดำเนินการไปเสียแล้ว เพราะนโยบายเปลี่ยนแปลงไปว่าเด็กกำพร้าควรถูกเลี้ยงดูในครอบครัวอุปถัมภ์เป็นกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่าอยู่ในบ้านใหญ่ๆ แบบแต่ก่อน
ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ จอห์นและโยโกะบริจาคเงินให้กับบ้านสตอเบอรีฟีลด์บ่อยครั้งจนกระทั่งมีอาคารหลังหนึ่งของบ้านถูกตั้งชื่อว่า ‘เลนนอนฮอลล์’
มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลง Strawberry Field อยู่สองเรื่องคือ เรื่องแรกเนื้อเพลงตรงท่อนที่ว่า “…Nothing to get hung about” นั้นไม่ได้มาจากคำว่า hung up ซึ่งเป็นสำนวนอเมริกัน หมายถึงไม่มีอะไรให้ต้องกังวล แต่มาจากคำที่จอห์นพูดกับป้ามิมี่ของเขาทุกครั้งที่ป้ามิมี่ห้ามไม่ให้เขาไปที่บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าสตรอเบอรีฟีลด์เพราะเธอเกรงจะเกิดอันตรายกับหลานชาย จอห์นมักบอกว่า “พวกนั้นไม่จับผมแขวนคอหรอกน่า” (What are they going to do, hung me?)
เรื่องที่สองก็คือเพลง Strawberry Field Forever ถูกบันทึกเสียงไว้เป็นสองแบบด้วยเครื่องดนตรี เสียง และจังหวะที่ต่างกัน แต่จอห์นก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกแบบไหน เขาจึงให้โปรดิวเซอร์ จอร์จ มาร์ติน จัดการต่อเพลงสองแบบเข้าด้วยกัน ซึ่งจอร์จไม่เต็มใจเลยแต่ก็ยอมทำให้ โดยเพิ่มความเร็วของเพลงแบบที่หนึ่งซึ่งทำให้คีย์เสียงสูงขึ้นและลดความเร็วของเพลงแบบที่สองซึ่งทำให้คีย์ต่ำลง เพลงทั้งสองแบบจึงต่อกันได้อย่างแนบเนียนกลายเป็นเพลงเดียว
รอยต่อของทั้งเพลงสองส่วนนี้อยู่ที่วินาทีที่ 59 ระหว่างประโยคที่ว่า “Let me take you down, ‘cause I’m (รอยต่อ) going to Strawberry Field”
ทุกวันที่ 9 ตุลาคมซึ่งเป็นคล้ายวันเกิดของจอห์น และวันที่ 8 ธันวาคมซึ่งเป็นวันเสียชีวิต บริเวณ Strawberry Field แห่งนี้จะถูกประดับด้วยดอกไม้ เทียนในแก้ว และสิ่งของที่ระลึกอื่นๆ จากบรรดาแฟนๆ ของเขา
หากเราเดินเข้าประตูเซ็นทรัลปาร์กด้านถนนเซ็นทรัลปาร์กตะวันตกตัดกับถนนสายที่ 72 สตรอเบอรีฟีลด์ อนุสรณ์สถานของ จอห์น เลนนอน ผู้เป็นที่รักของแฟนเพลงทั่วโลกจะอยู่ตรงหน้าเรานี่เอง และถ้าหันหลังกลับไป อีกฟากหนึ่งของถนนเซ็นทรัลปาร์กตะวันตก ก็คือจุดที่ จอห์น เลนนอน ถูกยิง
ตึกหินสีน้ำตาลแสนสวยที่อยู่ตรงข้ามกับประตูทางเข้าสวนสาธารณะเซ็นทรัล คืออพาร์ตเมนต์ดาโกตา ซึ่งเป็นที่อยู่ของจอห์นก่อนที่เขาจะเสียชีวิต และภรรยาของเขา โยโกะ โอโนะ ยังคงอาศัยอยู่ที่อพาร์ตเมนต์แห่งนี้จนถึงปัจจุบัน