What Happens Next?
โดย :
ฉันวางหนังสือนิทานระหว่างเรา คอลัมน์เกี่ยวกับ “นิทาน” ในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนทั้งที่เคยได้อ่านในวัยเด็กและวัยนี้ ที่ ‘ศุภสวัสดิ์’ คัดเลือกมาเล่าให้อ่านกันที่ อ่านเอา เว็บไซต์ที่ไม่ได้มีดีแค่นวนิยายออนไลน์ แต่เรายังมีคอลัมน์ต่างๆ รอให้คนรักการอ่านได้อ่านออนไลน์
**********************************
พวกเราไม่ทันได้สนใจจดหมายที่คุณตาซ่อนไว้ในหนังสือนิทาน ความดีใจพาลเข้ามาแทนที่ เพราะอยู่ดีๆ คุณตาก็ลุกขึ้นจากเตียงแล้วเดินตรงมาหาพวกเราสามคน แววตาฉงนบนสีหน้าของคุณตาปรากฏขึ้นมาทันที... แต่หลังจากนี้ความโกลาหลยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้นภายในบ้าน คุณตาจำหลานตัวเองไม่ได้ เสียงท่านโวยว่าใครจะมาขโมยนิทาน เสียงดังกังวานเอะอะ จนแม่กับคุณยายต้องรีบผละออกมาจากห้องนอน ก่อนที่ต่างคนต่างโยนความผิดให้ตัวเองที่ปล่อยลูกปล่อยหลานไว้กับตาตามลำพัง จนเกือบสิบนาทีให้หลังสถานการณ์ถึงค่อยคลี่คลาย แล้วคุณตาก็คล้ายๆ จะกลับมาจำพวกเราได้เหมือนเดิม…
“ตกลงชินสุเกะจะกลับมาเมื่อไหร่ล่ะ” คุณตาไม่ลืมที่จะถามถึงพ่อของพวกเรา ผมคงยังไม่ได้เล่าว่าพ่อของเราเป็นคนญี่ปุ่น คนที่มีแววตาอบอุ่นแต่มุ่งมั่นอยู่ในที แม่บอกไว้ตั้งแต่วันที่เจอพ่อเป็นครั้งแรก… แววตาของพ่อในความคิดแม่ตอนนี้จะยังเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่าผมเดาไม่ออก พ่อเคยบอกกับพวกเราว่าจะรีบกลับมา แค่ขอเวลาบินไปจัดการธุระสำคัญก่อน แต่ตอนนี้ห้าปีกว่าแล้ว… ผมว่าความทรงจำของคุณตาก็คงเหมือนกับพ่อที่พอถึงเวลามันก็หายไป ไม่มีอะไรมาเตือนล่วงหน้า คนข้างหลังคงต้องไขว่คว้าหาเหตุผลกันเอาเอง… พ่อตั้งชื่อเล่นให้ผมว่า เรียวตะ แปลว่า “ผู้มอบความช่วยเหลือ” บางทีพ่ออาจจะอยากบอกเป็นนัยๆ เผื่อจะทิ้งผมไว้ให้คอยช่วยเหลือแม่ดูแล เคนจิ กับ ริว ตั้งแต่แรกก็เป็นได้…
“ก็ชินสุเกะไปเป็นนักเขียนอยู่ที่ญี่ปุ่นไง ไม่ใช่เหรอ นี่เขายังส่งนิทานมาให้ฉันอ่านอยู่เลย” ยายบอกให้ตาอยู่เฉยๆ แม่บอกเลยว่าตาชักจะไปกันใหญ่ “นิทานอะไร ก็พ่อเสียตังค์สั่งซื้อมาเองทั้งนั้น” ตาค้อนขวับไม่อยากเถียง แล้วเลี่ยงไปขนตั้งนิทานมาเป็นพยานให้เราดู
หนังสือนิทานภาพภาษาอังกฤษ 6-7 เล่ม ของ ชินสุเกะ โยชิทาเกะ วางเรียงอยู่ตรงหน้า ผมดูก็รู้ว่าไม่ใช่ผลงานของพ่อเรา “ก็ชื่อเขาเขียนอยู่ตรงนี้” “แล้วมันมีชินสุเกะเดียวหรือไงล่ะ” “ถ้างั้นใครจะส่งมา” “ฉันต้องถามว่าแกไปซื้อมาจากไหน” “ไว้ไปถามไปรษณีย์ตอนมาส่ง มันมีที่ลงทะเบียนจากญี่ปุ่นด้วย…” ตายังคงเถียงข้างๆ คูๆ ต้องใช้เวลานานอยู่กว่าจะกล่อมตาให้ยอมหลับลงได้อีกครั้ง..
แล้วคืนนั้นยายก็ให้พวกเราย้ายไปนอนห้องนอนเล็ก ห้องที่มีลูกกรงเหล็กมองลอดออกไปเห็นพระจันทร์ ห้องที่เคยมีเรื่องราวร้อยพันของวันวาน.. “พี่ยังจำตำนานเรื่องดาวลูกไก่ที่ตาเคยเล่าให้ฟังได้หรือเปล่า” อยู่ดีๆ ริวก็เปรยเรื่องนี้ขึ้นมา “ถ้าลูกไก่ทั้ง 7 ตัวกระโดดเข้ากองไฟตายตามแม่ไก่ไป จนทำให้เทวดาซาบซึ้งใจเสกลูกไก่ให้กลายเป็นดาวบนท้องฟ้า แล้วทำไมท่านเทวดาถึงไม่เสกแม่ไก่มาให้อยู่คู่กัน..” ฝ่ายเคนจิผู้ไม่ชอบความเพ้อฝันก็กล่าวว่า ถ้าจะเล่าตามตำนานนิทานกรีก กลุ่มดาวนี้จะกลายเป็นพี่น้องผู้หญิงทั้ง 7 คนแห่งพลีอาดีสที่กำลังวิ่งหนีนายพรานโอไรออน ดาวลูกไก่ไม่ได้มีอยู่ตั้งแต่แรก บางคนก็แปลกเรียกดาวกฤติกา* หรือว่าดาวธงสามเหลี่ยม แต่ถ้าเป็นนักดาราศาสตร์ นี่คือวัตถุเมสสิเยร์ M45 ที่ในความเป็นจริงมีดาวกระจุกอยู่รวมกันมากกว่าพันดวง…
ริวไม่ค่อยชอบใจในคำตอบ จึงมอบคำถามใหม่ที่ตรงไปและตรงมา สรุปว่าพอตายแล้วไปไหน หายไป เกิดใหม่ หรือขึ้นสวรรค์ อย่างเรื่องนั้น… เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ** เด็กสาวที่นอนหนาวจนแข็งตายในคืนสุดท้ายก่อนปีใหม่ สุดท้ายเธอไปได้พบกับคุณยายบนสวรรค์ หรือนั่นเป็นเพียงแค่ภาพความฝันที่ลวงตา…
“ไม่มีใครรู้หรอกมั้งว่าหลังความตายเป็นยังไง… ขึ้นสวรรค์ เกิดใหม่ หรือหายไป สุดแล้วแต่ใจเราจะเชื่ออะไร” แม้เคนจิผู้รอบรู้ก็สรุปให้ฟังอย่างลังเล “อย่างเรื่องพ่อ… เคนคิดว่าพ่อเราอาจจะตายไปแล้ว แต่ยังไม่มีใครกล้าบอกความจริงกับเรา” สมมติฐานข้อนี้ของเขาสร้างความตะลึงงันกับเราในทันที.. “แต่ริวเชื่อที่ตาเล่า ว่าพ่อของเราเป็นคนเขียนนิทานอยู่ที่ญี่ปุ่น!” ริวเถียงด้วยเสียงดัง
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ตอนที่ 3 : What Happens Next? (March, 2017)***
โดย Shinsuke Yoshitake, ヨシタケ シンスケ
ชินสุเกะ โยชิทาเกะ (吉竹伸介) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1973 ปัจจุบันอายุ 48 ปี จบการศึกษาทางด้านศิลปะพลาสติกและสื่อผสม (Plastic arts and Mixed media) จากมหาวิทยาลัยทสึคุบะ (University of Tsukuba) ประเทศญี่ปุ่น ผ่านการทำงานมาหลายหลาก ทั้งเป็นนักวาดภาพประกอบ ออกแบบสิ่งพิมพ์ กราฟิกโฆษณา และประติมากร จนในปี 2013 จึงได้มีผลงานเป็นนิทานเรื่องแรกของตัวเองอย่างเต็มตัวจากเรื่อง It Might Be An Apple (りんごかもしれない) หนังสือที่พูดถึงเรื่องปรัชญา ความคิดสร้างสรรค์ การเชื่อมโยง และลูกแอปเปิ้ล ซึ่งก็ได้ความนิยมเป็นอย่างดี มีรางวัลต่างๆ การันตีมากมาย จนได้รับการตีพิมพ์ไปหลายภาษาทั้ง จีน เกาหลี สวีเดน ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน และอังกฤษ เขามักจะใช้นามปากกาว่า ヨシタケ シンスケ ที่เป็นชื่อและนามสกุลของเขาในแบบที่สะกดด้วยอักษรคาตาคานะ อ่านว่า โยชิทาเกะชินสุเกะ
หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากนิทานเรื่องแรก โยชิทาเกะชินสุเกะก็สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณปีละ 1 เรื่องเป็นอย่างต่ำ นิทานของเขาได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น Can I Build Another Me? (ぼくのニセモノをつくるには ; 2014), There Must Be More Than That! (それしか ないわけ ないでしょう ; 2018), Why Do I Feel Like This? (ころべばいいのに ; 2019) และอีกเล่มที่แฟนคลับร้านหนังสือน่าจะรู้จักเป็นอย่างดีนั่นก็คือ The I Wonder Bookstore (あるかしら書店 ; 2017)
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหนังสือนิทานของโยชิทาเกะชินสุเกะก็คือ เราจะค่อยไม่เห็นรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าของตัวการ์ตูนที่เขาวาดสักเท่าไหร่ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการวาดรอยยิ้มลงบนใบหน้า เพราะเขาเชื่อว่าไม่ใช่คนอ่านทุกคนจะอยู่ในอารมณ์ที่อยากจะเห็นรอยยิ้มดังกล่าว และเขารู้สึกว่ามันง่ายเกินไปที่จะวาดรอยยิ้มเพียงเพื่อที่จะสร้างอารมณ์ที่มีความสุข “รอยยิ้มที่ เฝือ เกินไปในนิทานก็คล้ายกับการใช้เครื่องหมายตกใจมากเกินความจำเป็นแต่ไม่ได้ทำให้ความตื่นเต้นเพิ่มขึ้นมา” ดังนั้น เขาจึงพยายามสร้างตัวละครอย่างเป็นกลางและอยากให้ทุกคนรู้สึกร่วมไปกับหนังสือของเขามากที่สุดโดยไม่มีการชี้นำใดๆ เขามักจะดีใจถ้าจะเรียกผลงานของเขาว่าเป็น “หนังสือภาพเชิงแนวคิด” (Conceptual Picture Book) มากกว่าจะเป็นหนังสือนิทานทั่วไป
สำหรับหนังสือนิทานเรื่อง What Happens Next? (このあとどうしちゃおう; 2016) นั้น ชื่อเรื่องในภาษาญี่ปุ่นจะมีความหมายในทำนองว่า “แล้วหลังจากนี้ฉันจะทำยังไง” ในขณะที่ฉบับแปลภาษาเกาหลี (이게 정말 천국일까?) จะแปลว่า “ที่นี่คือสวรรค์จริงหรือ” และฉบับภาษาจีน (爺爺的天堂筆記本) จะหมายถึง “สมุดบันทึกสวรรค์ของคุณปู่” หนังสือภาพเชิงแนวคิดเล่มนี้พูดถึงสมุดบันทึกของคุณปู่ที่หลานชายบังเอิญไปเจอเข้าหลังจากที่คุณปู่เสียชีวิตไปแล้วไม่นาน เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นแผนการใช้ชีวิตหลังความตายของคุณปู่ พร้อมด้วยคู่มือการผจญภัยนรกสวรรค์ของคนที่มองโลกด้วยอารมณ์ขัน คู่มือการพูดคุยและเข้าพบพระเจ้า การออกแบบหินสลักหน้าหลุมฝังศพและของที่ระลึกต่างๆ
ความสงสัยเรื่องชีวิตหลังความตายน่าจะเกิดขึ้นภายในใจของคุณปู่เรื่อยมา คำถามที่ว่า ‘เมื่อตายไปฉันจะเป็นอะไร’ ‘ฉันควรทำอย่างไร’ และ ‘ฉันคาดหวังให้เป็นอย่างไร’ ทั้งหมดถูกรวบรวมไว้และถ่ายทอดออกมาผ่านจินตนาการอันแสนน่ารักและอบอุ่น บนสวรรค์อาจจะมีคุณย่าอยู่ มีห้องน้ำที่มองเห็นทิวทัศน์สวยงาม หรือสามารถมีทรงผมได้ไม่จำกัด ฯลฯ ส่วนในนรกอาจจะถูกบังคับให้ออกกำลังกายทุกวัน ของขวัญวันเกิดอาจเป็นการฉีดยา หรือว่าจะต้องฟังเรื่องเศร้าก่อนเข้านอน เป็นต้น จนท้ายที่สุดหลานชายก็มาสงสัยว่าทำไมคุณปู่ถึงเขียนสมุดบันทึกเล่มนี้ขึ้นมา คุณปู่รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ไปสวรรค์ หรือว่าตอนนั้นคุณปู่รู้สึกกลัวและกังวลมากกว่า… คงจะมีแต่ท่านเท่านั้นที่รู้ แต่สุดท้ายสิ่งที่หลานชายได้ก็คือเขาหายเศร้าลงไปเยอะ และเริ่มรู้สึกว่าความตายไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไร อย่างน้อยคุณปู่ก็น่าจะสนุกกับการได้เขียนสมุดบันทึกเล่มนี้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ จนหลานชายนึกอยากเขียนบันทึกแบบนี้ขึ้นมาบ้าง แต่พอมานั่งคิดว่าจะเริ่มต้นเขียนยังไงก็รู้สึกว่า จริงๆ แล้วตอนนี้เรายังมีสิ่งที่อยากทำตั้งมากมายอยู่นี่นา… งั้นขอมาเขียนบันทึก “What I Want to Do Now” ก่อนแล้วกัน
What Happens Next? ย้ำเตือนกับผมว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราต้องหวาดกลัวเท่าไหร่นักเมื่อต้องเผชิญ ถึงแม้ความโศกเศร้าจะเป็นด้านหนึ่งของความตาย แต่การพยายามเก็บรักษาเศษเสี้ยวหนึ่งในความทรงจำที่ดีของกันและกันไว้ตราบนานเท่านานก็น่าจะเป็นความสวยงามสำหรับคนที่กำลังมีชีวิตอยู่เช่นกัน ถ้าทุกการพบกันคือลิขิตจากฟ้าและไม่ใช่ความบังเอิญที่ไร้เหตุผลจนเกินไปนัก การจากลาก็คงมีจุดประสงค์แอบแฝงอยู่ในนั้นเช่นกัน จากนี้ไปผมคงมาคิดทบทวนว่าจะใช้เวลาที่ยังเหลืออยู่อย่างไรให้คุ้มค่ามากขึ้นทั้งกับชีวิตตัวเราเองและกับคนที่เรารักเหมือนอย่างที่หลานชายในเรื่องนี้ทำในท้ายที่สุด
ป.ล. “Everyone dies someday, and no one knows exactly when. But if you think about what you would want to happen and why, and tell others in a book like this, then when you do die, the notebook is probably a good thing to leave behind, don’t you think?”
Shinsuke Yoshitake
* ดาวลูกไก่มีอีกชื่อว่า กฤติกา, กฤตติกา หรือ กัตติกา ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pleiades
** เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ (เดนมาร์ก: Den Lille Pige med Svovlstikkerne; อังกฤษ: The Little Match Girl) เป็นนิทานเรื่องสั้นของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1845 เป็นภาษาเดนมาร์ก โดยดัดแปลงมาจากผลงานภาพพิมพ์ของ Johan Thomas Lundbye และนิทานเรื่อง Die Sterntaler ของพี่น้องตระกูลกริมม์
*** ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นคือ このあと どうしちゃおう [Kono Ato Doshichao] ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2016
- READ ‘Ode to the Onion’ นิทานภาพของ Alexandria Giardino
- READ ぼくがラーメンたべてるとき : ตอนที่ผมกินราเม็ง (2007)
- READ Lawrence in the Fall (April, 2019)
- READ Big Boys Cry
- READ Hey, Little Ant
- READ Du Iz Tak?
- READ The Pilot and the Little Prince
- READ What Happens Next?
- READ The Remember Balloons
- READ The Rock From The Sky