ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
“ชลูด นิ่มเสมอ เจ้าแห่งเทคนิคทุกแขนงเพราะทำเป็นหมด
ท่านผู้นี้ชอบลองนู่นลองนี่จนมีผลงานศิลปะเกือบจะครบทุกรูปแบบ
ที่พอจะสรรหาได้ในโลกนี้ออกมาให้ชาวประชาได้ชื่นชม”
หลายครั้งหลายคราเวลาที่เราได้รับรู้ประวัติของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และบรรดาลูกศิษย์ ก็มักจะนึกฟุ้งซ่านเปรียบเทียบไปกับหนังยอดมนุษย์ ‘เอ็กซ์เมน’ เรื่องราวเกี่ยวกับศาสตราจารย์หัวล้านอ่านใจคนได้ที่มีนามว่า ชาร์ลส์ เซเวียร์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนยอดมนุษย์และรวบรวมเหล่าลูกศิษย์ที่มีพลังวิเศษแตกต่างกันอย่าง วูลฟ์เวอรีน, สตอร์ม, ไซคลอปส์ และอีกโขยงใหญ่ มาฝึกสอนให้รู้จักควบคุมพลังในตัวเพื่อที่จะใช้ช่วยกันพิทักษ์โลก สำหรับอาจารย์ศิลป์ถึงแม้จะไม่ได้ปล่อยแสงแปลงร่าง แต่ท่านก็ได้สร้างคุณูปการเอาไว้ไม่แพ้กัน คือช่วยพัฒนาวงการศิลปะไทยให้เฟื่องฟูยั่งยืนร่วมกับเหล่าลูกศิษย์ที่มีความสามารถพิเศษดั่งยอดมนุษย์ ที่บ้างก็เป็นเซียนปั้น บ้างก็เป็นเซียนวาด บ้างก็เป็นเซียนแกะสลัก แต่มีอยู่ท่านหนึ่งซึ่งต้องยกให้เป็นเจ้าแห่งเทคนิคทุกแขนงเพราะทำเป็นหมด ท่านผู้นี้ชอบลองนู่นลองนี่จนมีผลงานศิลปะเกือบจะครบทุกรูปแบบที่พอจะสรรหาได้ในโลกนี้ออกมาให้ชาวประชาได้ชื่นชม ครั้งนี้เลยจะขอเล่าถึงหนึ่งในเหล่าเอ็กซ์เมนศิษย์เอกของอาจารย์ศิลป์ที่มีนามว่า ชลูด นิ่มเสมอ
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เด็กชายหน้าแฉล้มชื่อชลูดได้ถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวชาวสวน ท่ามกลางพี่น้องอีก 7 คน ณ บ้านในตำบลบางแวก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ในวัยเด็กชลูดเป็นเด็กมือบอน ชอบเอาถ่าน เอาชอล์ก เอาสีมาละเลงลงบนสมุด หนังสือ หรือแม้แต่กำแพงบ้านซะเละตุ้มเป๊ะ ส่วนโต๊ะ ตู้ ก็ไม่รอด เด็กชายชลูดจัดการเอามีดมาบากมาแกะเป็นรอยยั้วเยี้ยดูไม่จืด เป็นเหตุให้ต้องโดนบุพการีจัดการด้วยไม้เรียวอยู่เนืองๆ
ชลูดเข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ พอเรียนจบช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกที่ข้าวยากหมากแพงพอดี ชลูดจึงช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านโดยเริ่มทำงานเป็นครูประชาบาลที่โรงเรียนวัดโตนด รับเงินเดือน 40 บาทอยู่สักพักก่อนจะไปสมัครเป็นนักเรียนจ่าทหารเรือ ชลูดไม่ได้กะจะไปสู้รบอะไรกับใครเขาหรอก ที่ไปเรียนเป็นทหารเพราะที่นั่นเขาแจกข้าวฟรี และมีเสื้อผ้าให้ใส่ ด้วยความเกเรเข้าเรียนบ้างไม่เรียนบ้างสุดท้ายจึงโดนไล่ออก หลังจากนั้นชลูดเลยไปอาศัยวัดอยู่ กลับกลายเป็นเด็กวัดตัวเขื่องเดินตามพระต้อยๆ เวลาว่างก็นั่งวาดรูป จนวันหนึ่งมีกลุ่มนักเรียนเพาะช่างมาเห็นฝีมือการวาดขั้นเทพของชลูดเข้า เลยชวนให้ไปเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างจะได้ยิ่งเก่งๆขึ้นไปอีก ชลูดสอบเข้าโรงเรียนเพาะช่างได้อย่างง่ายดาย แถมยังสอบได้คะแนนสูงสุดอีกต่างหาก ทางโรงเรียนเขาเลยมอบทุนให้เรียนฟรีสบายใจเฉิบ จากเด็กเกกมะเหรกเกเร เมื่อได้เรียนศิลปะที่ตัวเองชอบ ชลูดก็กลายเป็นนักเรียนยอดขยันที่มีผลการเรียนดีไปโดยอัตโนมัติ
ชลูดเรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างได้ 2 ปี ก็สอบเทียบโอนย้ายหน่วยกิตมาเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ๆ และที่ศิลปากรแห่งนี้เอง ชลูดได้รับการบ่มเพาะความรู้ทางด้านศิลปะโดยตรงจาก อาจารย์ศิลป์ พีระศรี จนมีฝีมือแก่กล้า ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษา ชลูดลองส่งผลงานศิลปะเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 เมื่อ ปี พ.ศ. 2496 และได้รับเหรียญทองแดงจากภาพทุ่งนาที่วาดด้วยสีน้ำ นับเป็นรางวัลระดับชาติรางวัลแรกในชีวิต ปีถัดมาชลูดก็เรียนจบแบบชิลๆ ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 และเป็นบัณฑิตคนแรกสุดของคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังได้ปริญญา ชลูดก็ไม่หนีไปไหน ท่านเข้ารับราชการช่วยอาจารย์ศิลป์สอนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2498 เมื่อมีการจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 6 ท่านก็ไม่พลาดที่จะส่งผลงานเข้าประกวดอีก ในขณะที่ศิลปินคนอื่นๆ เขาส่งผลงานเข้าประกวดทีละประเภท เลือกเอาแต่ที่ตัวเองถนัด แต่ชลูดเก่งจัดถนัดหมดเลย ส่งผลงานเข้าประกวดแทบจะครบทุกประเภท ทั้งวาดเส้น ทั้งวาดภาพสีน้ำมัน ทั้งปั้นดิน ในปีนั้นท่านเลยซัดไปคนเดียวเลย 3 รางวัล โดยได้เหรียญทองประเภทเอกรงค์ จากผลงานวาดเส้น ภาพป่ามรสุม, เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม จากภาพวาดสีน้ำมัน ภาพครอบครัวชาวนาไทย, และเหรียญเงินประเภทประติมากรรม จากรูปปั้นเด็กผู้หญิงนั่งเท้าคางที่ตั้งชื่อว่า ‘คิด’
และในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งถัดมา ชลูดก็ยังส่งผลงานหลากหลายประเภทเข้าประกวดตามเคย และก็ไม่ผิดหวัง ได้รับรางวัลเหรียญทองจากผลงานภาพพิมพ์ที่มีชื่อว่า ‘มื้อค่ำ’ และเหรียญเงินจากผลงานประติมากรรมแกะสลักไม้รูปผู้หญิงนอนตะแคงชื่อว่า ‘ความบริสุทธิ์แห่งธรรมชาติ’ ร่วมประกวดแค่ไม่กี่ปีได้รางวัลการันตีมาเป็นเข่ง
ด้วยแววความสามารถที่เจิดจรัสเฉิดฉาย ในปี พ.ศ. 2499 ชลูดได้รับทุนให้ไปเรียนต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์ ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นเวลา 2 ปี ที่นั้นท่านได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ มากมายโดยเฉพาะการทำภาพพิมพ์และการทำเซรามิก ชลูดได้จัดแสดงผลงานศิลปะ แบบเดี่ยวโชว์คนเดียวไม่รวมกับของใครเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยขนเอาไปโชว์ทั้งผลงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ หรือแม้แต่ถ้วยชามรามไหที่ชลูดออกแบบปั้นขึ้นมาเองก็มี
เมื่อชลูดกลับมาจากยุโรป พอดีมีการจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 10 ในปี พ.ศ. 2502 ท่านก็เลยส่งผลงานเข้าประกวดด้วย คราวนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองประเภทจิตรกรรม จากภาพ ‘แม่ค้าปลา’ นับนิ้วรวมรางวัลที่ชลูดเคยได้รับทั้งหมดดูแล้วพบว่าถึงเกณฑ์ ชลูดจึงได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติอย่างเป็นเอกฉันท์ และตามกฎที่ตั้งไว้ ศิลปินชั้นเยี่ยมห้ามส่งผลงานเข้าประกวดอีก ให้เอามาโชว์ได้เท่านั้น ในงานปีถัดๆ ชลูดจึงเข้าร่วมในฐานะกรรมการตัดสินแทน
นอกจากผลงานที่ชลูดส่งเข้าประกวดในเมืองไทยแล้ว ท่านยังโกอินเตอร์โดยการเข้าร่วมแข่งขันในระดับโลก และได้รับรางวัลจากผลงานภาพพิมพ์ที่ส่งไปประกวดที่ประเทศยูโกสลาเวีย และประเทศญี่ปุ่นอีก
ในปี พ.ศ. 2507 ชลูดได้ทุนไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศอีกครั้ง คราวนี้ได้ไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 เดือน การไปใช้ชีวิต ณ เมืองลุงแซมในครั้งนั้นชลูดเน้นศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์เป็นพิเศษ ไปดูสตูดิโอ ทดลองเครื่องมือ และพบปะขอความรู้จากศิลปินชั้นนำของบ้านเขาจนเข้าใจทะลุปรุโปร่ง พอกลับมาก็ริเริ่มก่อตั้งภาควิชาภาพพิมพ์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เป็นผลสำเร็จ
ในชีวิตการทำงาน ชลูดสร้างสรรค์ผลงานศิลปะควบคู่ไปกับการรับราชการในตำแหน่งต่างๆ เป็นทั้งหัวหน้าภาควิชา เป็นทั้งคณบดี ทั้งสอน ทั้งบริหารในมหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างศิลปินขึ้นมานับหน้าไม่ถ้วนจนกระทั่งเกษียณอายุ ด้วยคุณสมบัติอันพรั่งพร้อม ในปี พ.ศ. 2541 ชลูดจึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประติมากรรม ด้วยความสามารถที่รอบด้านของชลูดเราว่าท่านน่าจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทเหมาหมดด้วยซ้ำไป ในวัยชรา ชลูดยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่สรรค์สร้างผลงานศิลปะ และเขียนตำรับตำราเผยแพร่ความรู้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต รวมสิริอายุได้ 86 ปี
ในเรื่องผลงานศิลปะของชลูด สำหรับใครก็แล้วแต่ไม่ว่าจะสนใจหรือไม่สนใจศิลปะ จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม รับประกันว่าคงเคยเห็นผลงานของท่านอยู่แล้ว ที่เห็นเด่นชัดที่สุดด้วยขนาดและโลเคชันก็น่าจะเป็นประติมากรรมสีทองยอดแหลมๆ คล้ายๆเปลวเพลิง ขนาดสูงพอๆ กับตึกที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือประติมากรรมรูปเงินพดด้วงที่ตั้งอยู่หน้าสำนักงานของธนาคารกสิกรไทย บนถนนพหลโยธิน
ตัวเราเองพอเริ่มบ้าศิลปะก็ไปตามหาดูผลงานของชลูดในรูปแบบต่างๆ ให้คุ้นตาทั้งจากรูปในหนังสือหนังหา และผลงานจริงตามพิพิธภัณฑ์ เราพบว่าผลงานที่ชลูดเคยสร้างไว้นั้น ท่านใช้เทคนิคมากมายหลากหลายเหลือเกิน มีทั้งวาดสีน้ำมัน วาดสีน้ำ วาดเส้น ปั้นดิน แกะสลักไม้ ปั้นถ้วยชามเซรามิก ทำภาพพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือเอาของต่างๆ มารวมๆ กันทำเป็นศิลปะแบบสื่อผสม รูปลักษณ์ของผลงานศิลปะก็มีทั้งแบบเหมือนจริงดูง่ายๆ และแบบนามธรรมให้ไปคิดต่อเอาเอง แต่ที่เห็นบ่อยและคุ้นตาที่สุดจนเรียกได้ว่าเป็นซิกเนเจอร์ของท่านไปแล้วก็ได้คือภาพเด็กผู้หญิงผมม้าเต่อหน้าตาเด๋อด๋าในอิริยาบถต่างๆ ที่แปลกดีคือชลูดทั้งวาดทั้งปั้นเด็กหน้าตาแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเอ๊าะๆ ตอนที่ท่านยังเป็นนักศึกษา พอเรียนจบมามีครอบครัว ท่านก็ได้ลูกสาวน่ารัก ที่มีหน้าตาและทรงผมละม้ายคล้ายกับเด็กผู้หญิงที่ท่านเคยวาดมาโดยตลอด
หลังจากที่เล็งๆ ดูมาทั้งหมด ผลงานที่เราชอบที่สุดเป็นการส่วนตัวคือผลงานภาพวาดสีน้ำมันที่ชลูดวาดไว้เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วตั้งแต่สมัยที่เรียนจบใหม่ๆ ที่เขาว่ากันว่าผลงานศิลปะที่ดียิ่งดูนานๆ ก็ยิ่งจะดูสวยขึ้นตามกาลเวลานั้นเห็นจะจริง เพราะจำได้ว่าตอนที่ได้ชายตามองดูภาพวาดสีน้ำมันยุคเก่าของชลูดเป็นครั้งแรกก็ยังรู้สึกเฉยๆ ภาพที่ว่าเป็นภาพเด็กผู้หญิงใส่จับปิ้งอุ้มลูกหมูตัวแดงก่ำ ท่ามกลางฉากหลังที่รายล้อมไปด้วยช้าง ม้า วัว ควาย มากันเป็นฝูงครบทั้งซาฟารีเวิลด์ ภาพนี้ถูกวาดเป็น 2 มิติด้วยสีน้ำมันบางๆ ใช้สีและลวดลายโทนคล้ายๆ ผ้าขาวม้า แต่ที่ดูแปลกตาไม่เหมือนภาพวาดสีน้ำมันของใครในยุคนั้นคือผลงานชิ้นนี้ชลูดใช้เทคนิคอะไรก็ไม่รู้ขูดๆ ขีดๆ จากสีเรียบๆ ให้เป็นลวดลายเล็กๆ ยุกยิกไปทั่วทุกตารางนิ้ว ถ้าเอาแว่นขยายมาค่อยๆ ส่องดูก็จะมันไปอีกแบบ
เจ้าของเดิมของภาพเด็กอุ้มหมูเป็นนักสะสมรุ่นเดอะ ท่านแนะนำให้เราเอาไปลองเก็บไว้ ถ้าเบื่อก็เอามาคืนได้ แถมยังเมตตาบอกเราว่าถ้าตังค์ไม่พอก็ทยอยจ่ายได้อีกต่างหาก จัดโปรแรงแซงห้างขนาดนี้ถ้าไม่เอาก็บ้า เราเลยต้องยอมตกลงขนกลับบ้านมาแขวนดู ปรากฏว่าอยู่ไปสักพักชักเริ่มจะชอบขึ้นเรื่อยๆ เพราะดูง่าย ดูสบาย สื่อได้ถึงความเป็นไทยโดยไม่ต้องพึ่งลวดลายย้อยย้วย แถมยังแฝงไว้ด้วยเทคนิคอันแพรวพราว ผนวกกับอายุอานามของภาพที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกินกว่าอายุของเราเสียอีก ก็ยิ่งสร้างอารมณ์ความขลังได้อย่างวิเศษ พอเริ่มอินก็เลยริจะไปหาผลงานจากยุคนี้ของชลูดมาเก็บไว้เพิ่มเติม ดั้นด้นตามหาสุดหล้าฟ้าเขียวก็เจออยู่บ้างนิดๆ หน่อยๆ ไม่กี่ชิ้น แถมแต่ละชิ้นเจ้าของก็หวงซะเหลือเกิน ประมาณว่าไปขอลูกสาวดูจะง่ายกว่าไปขอซื้อภาพวาด เราเลยชักเริ่มตะหงิดๆ สงสัยว่าทำไมผลงานของชลูดในยุคหลังๆ ยังพอจะเห็นได้อยู่บ่อยๆ แต่ทำไมผลงานยุคแรกๆ ถึงได้หายากและแพงนักแพงหนา คิดดังนั้นเราจึงไม่รอช้า เที่ยวไปถามชาวประชา อีกทั้งค้นตำรับตำราจนได้ใจความว่า ในวัยหนุ่มชลูดท่านเคยติสท์แตกถึงขนาดเผาผลงานตัวเองที่บรรจงสร้างไว้มากมายให้กลายเป็นเถ้าถ่านซะดื้อๆ เลยถึงบางอ้อว่าเพราะถูกฌาปนกิจไปจนเกือบหมดนี่เอง ผลงานยุคเก่าถึงมีเหลือรอดอยู่ไม่กี่ชิ้น
โชคดีที่หมูแดงของเราไม่ได้กลายเป็นหมูหันในวันนั้น โล่งใจแล้วจึงมานั่งนึกต่อว่าในสมัยนี้ที่ศิลปะจะอยู่ในรูปแบบอะไรก็ได้ ถ้าสมัยนั้นชลูดตั้งกล้องถ่ายหนังตอนย่างสดผลงานราคาเรือนล้านเอาไว้ แล้วส่งเทปไปประกวดชิงรางวัลศิลปะประเภทวิดีโออาร์ต ท่านน่าจะคว้ารางวัลมาได้อีกแหงๆ แต่งานนี้ยังไงเราก็ขอตัวไม่ไปชมละกัน เดี๋ยวดูแล้วจะลมจับล้มตึงไปเสียก่อน
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี