มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
………………………………………………..
‘ชีวิตผมเหมือนไม้กระดานหกในสนามเด็กเล่นที่ขึ้นๆ ลงๆ
แต่เวลาลงก็ไม่ต่ำลงทะลุพื้น ขึ้นก็ไม่ถึงดวงดาว
และภูมิใจที่ได้เป็นแค่รอยข่วนเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน’
ไม่รู้มีใครคิดเหมือนกันหรือเปล่า สมัยก่อนเราเคยเชื่อว่าการวาดภาพด้วยสีน้ำเป็นของเล่นๆ ทำง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้ จึงมองศิลปินสีน้ำเป็นแค่ศิลปินสมัครเล่น นึกเหมาเอาเองไปก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลองเลิงอะไรทั้งนั้น จนวันดีคืนดีอีท่าไหนก็ไม่รู้หลวมตัวไปเข้าคลาสเรียนระบายสีน้ำตามคำชักชวนของบุพการี ถึงได้รู้ว่าการวาดภาพสีน้ำให้ออกมาดี จนมีคนเอ่ยปากชมแบบไม่เสแสร้งได้นั้นมันยากเย็นแสนเข็ญแค่ไหน เพราะน้ำเป็นสสารที่คอนโทรลลำบาก ทุกหยดเมื่อพ้นจากปลายพู่กันที่จรดลงไปบนกระดาษแล้ว น้ำจะพาสีกระจาย ปนเป ซึมซาบ ไปทางไหนบ่อยครั้งคนวาดเองยังคาดคะเนไม่ได้ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติว่าจะเกื้อหนุนหรือกลั่นแกล้ง วาดภาพด้วยสีน้ำถ้าพลาดแต่ละทีมีแต่ต้องจำใจขยำกระดาษทิ้ง ไม่สามารถแก้ไขได้โดยการระบายทับไปทับมาเหมือนสีประเภทอื่น ถ้าริจะใช้สีน้ำเลยต้องมีทั้งฝีมือ และมีดวงเป็นส่วนประกอบ
เราพยายามจะนึกๆ ว่าบ้านเมืองเราในอดีตมีศิลปินรุ่นใหญ่ท่านไหนไหมที่โด่งดังจากการสร้างสรรค์ผลงานด้วยสีน้ำเพียงอย่างเดียว น่าแปลกใจมากที่นึกๆ ดูแล้วแทบจะไม่มีใครเลยซักกะคน เราเคยเห็นผลงานสีน้ำจำนวนมากมายของยอดฝีมืออย่าง เฉลิม นาคีรักษ์, สวัสดิ์ ตันติสุข, ประเทือง เอมเจริญ, จักรพันธุ์ โปษยกฤต และอีกหลายต่อหลายท่าน ต้องยอมรับว่าเจ๋งเป้งแต่ก็ไม่ใช่ที่สุด เพราะท่านๆ เหล่านี้ล้วนมีชื่อเสียงจากผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคอื่นๆ อย่างสีน้ำมัน และสีอะคริลิกซะมากกว่า เป็นที่น่าน้อยใจนักสำหรับสีน้ำที่เป็นเมียหลวงไม่ได้ ต้องกลายเป็นเมียน้อยคอยหลบอยู่แต่ในเงา
แต่ช้าก่อน น้องสีน้ำจ๋า อย่าเพิ่งเขียนจดหมายลาไปโดดน้ำตาย ถ้ายังไม่ได้รู้จัก หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ปูชนียบุคคลของวงการศิลปะไทย ผู้ซึ่งรักการวาดภาพสีน้ำเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ปันใจไปไหนตราบชั่วอายุขัย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวจะแถลงไขไล่เรียงให้ ณ บัดนาว
เหตุที่มีศักดิ์เป็นถึงหม่อมเจ้า เพราะหม่อมเจ้าการวิกเป็นโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสรฐวงศ์วราวัตร กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกที สรุปง่ายๆ ว่าหม่อมเจ้าการวิกทรงเป็นเหลนของในหลวง รัชกาลที่ 4
ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2460 เสด็จก็พ่อประทานชื่อให้กับโอรสน้อยว่า ‘การวิก’ ซึ่งเป็นชื่อนกชนิดหนึ่ง และประทานชื่อเล่นว่า ‘หวาน’ ในวัยเด็กหม่อมเจ้าการวิกเติบโตขึ้นมา ณ ตำหนักริมน้ำในอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดนิเวศธรรมประวัติ
และแล้วชีวิตของท่านก็เปลี่ยนไปจนห่างไกลความธรรมดา เมื่อวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทอดพระเนตรเห็นหม่อมเจ้าการวิกขณะมารอรับเสด็จกับเสด็จพ่อ พระเจ้าอยู่หัวทรงถูกชะตาจึงมีพระราชดำรัสขอไปเลี้ยง หม่อมเจ้าการวิกเลยได้ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ในพระราชวังสวนดุสิต ที่นั่นท่านได้ทรงเข้าเรียนกิริยามารยาทที่โรงเรียนสตรีจุลนาค และทรงเรียนต่อที่โรงเรียนราชกุมาร แหล่งรวมเด็กๆ ในวัง โดยมีครูเก่งๆ จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยภายนอกมาสอนวิชาต่างๆ ทั้งศาสตร์และศิลป์ ตัวอย่างคุณครูที่มีชื่อเสียงเช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ บรมครูด้านดนตรีไทย จึงทำให้หม่อมเจ้าการวิกทรงมีความสามารถในการเล่นดนตรีไทยเช่น ขลุ่ย ระนาดเอก ฆ้องวง ตั้งแต่ในวัยเยาว์
ในวัย 12 หม่อมเจ้าการวิกทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียน Lycee Perier ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงที่ทรงเรียนอยู่ต่างประเทศนี้เองที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์สำคัญ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ. 2475 และหลังจากนั้นอีก 2 ปีรัชกาลที่ 7 ก็ทรงสละราชสมบัติขณะที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ เมือเรียนจบชั้นมัธยมหม่อมเจ้าการวิกจึงทรงตัดสินใจตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณโดยอาสามาเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 7 และพระบรมราชินี ซึ่งตัดสินพระราชหฤทัยประทับอยู่ต่อในประเทศอังกฤษเพื่อความปลอดภัยจากกลุ่มอำนาจใหม่ และเพื่อรักษาพระอาการประชวรจากโรคพระหทัย
หน้าที่หลักของหม่อมเจ้าการวิกในพระตำหนักคือทรงเป็นราชเลขาติดต่องานต่างๆ แทบจะทุกเรื่อง และขับรถพระที่นั่งให้ในหลวงและพระราชินีประทับ ในขณะที่หม่อมเจ้าการวิกทรงงานอยู่นั้นก็ได้ขวนขวายสมัครเข้าเรียนวิชาบัญชีและสื่อสารธุรกิจ ที่ Chartered Institute of Secretaries of Joint Stock Companies ไปด้วย โดยวิธีเรียนทางไกลผ่านไปรษณีย์ ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือ และนัดไปสอบประเมินความรู้
เพื่อให้มีความสามารถรอบด้าน รัชกาลที่ 7 ยังทรงส่งหม่อมเจ้าการวิกไปเรียนวิชาช่างกับบริษัทโรลสรอยซ์ ในหลักสูตร Owner Drivers’ Course เรียนประกอบและซ่อมชิ้นส่วนรถ จนหม่อมเจ้าการวิกทรงเชี่ยวชาญขนาดที่สามารถรื้อรถออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วประกอบขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิมได้ทั้งคัน
น่าเศร้าสลดใจที่ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต หลังจากนั้นหม่อมเจ้าการวิกก็ยังคงทรงอยู่รับใช้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีต่อ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเข้มข้นขึ้นส่งผลกระทบไปทั่วโลก รัฐบาลไทยในสมัยนั้นดันหันไปฝักไฝ่ฝ่ายญี่ปุ่น สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวไทยในประเทศและที่อาศัยอยู่ในต่างแดนอีกเป็นจำนวนมาก กลุ่มผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลจึงก่อตั้ง ‘ขบวนการเสรีไทย’ ขึ้นมาต่อต้านญี่ปุ่น และหม่อมเจ้าการวิกก็ทรงเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน ด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าที่อยากจะร่วมรบในแนวหน้า ท่านจึงทูลลาพระนางเจ้ารำไพพรรณีไปประจำการในกองทัพอังกฤษเพื่อจะฝึกยุทธวิธีก่อนจะไปสู้กับทหารญี่ปุ่นในเมืองไทย หม่อมเจ้าการวิกและเสรีไทยท่านอื่นๆ ถูกส่งไปฝึกในค่ายทหารที่อังกฤษ แอฟริกาใต้ และอินเดีย จนพร้อมรบ ก่อนจะแฝงตัวกระโดดร่มเข้ามาในประเทศไทยที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย และเดินทางต่อไปยังจังหวัดตากเพื่อเตรียมไพร่พลประจัญบาน แต่ก็พอดิบพอดีไม่รู้เป็นโชคดีหรือโชคร้ายญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามก่อนหม่อมเจ้าการวิกและพวกพ้องจะได้บุกซะงั้น เหตุมาจากที่ญี่ปุ่นโดนอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มซะเละตุ้มเป๊ะ
หลังสงครามโลก หม่อมเจ้าการวิกทรงตัดสินใจกลับเมืองไทยเพื่อมารับตำแหน่งผู้จัดการของบริษัทเซอร์วิสการาจอยู่ 10 ปี ก่อนจะย้ายไปบริหารบริษัทประชายนต์ ตัวแทนจำหน่ายรถโฟล์คสวาเกน ในช่วงที่กลับมาเมืองไทยนี่เองที่ท่านเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะสมัยใหม่ของบ้านเราซึ่งอยู่ในช่วงกำลังตั้งไข่ หม่อมเจ้าการวิกทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิลปสมาคมระหว่างชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งมีภารกิจในการโปรโมตให้วงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีนานาชาติ โดยการสนับสนุนศิลปินไทยให้ได้เข้าร่วมการประชุม แสดงศิลปะ และศึกษาต่อในต่างประเทศ นอกจากนี้ท่านยังได้รับการเชื้อเชิญให้ทรงเป็นประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดผลงานศิลปะในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งยังทรงเป็นประธานคณะกรรมการในการประกวดศิลปะที่จัดขึ้นโดยเอกชนหลายเจ้าจนยกตัวอย่างกันไม่หวาดไม่ไหว ถ้างานใหญ่ๆ ก็มีที่จัดโดย ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, โตชิบา, พานาโซนิก, ปตท.
เพราะหม่อมเจ้าการวิกท่านทรงสนใจ และมีความสามารถในการถ่ายภาพไม่แพ้การวาดภาพ กล้องของท่านนั้นได้รับพระราชทานมาจากในหลวงรัชกาลที่ 7 ตั้งแต่หม่อมเจ้าการวิกอายุแค่ 15 แถมท่านยังได้รับการถ่ายทอดความรู้โดยตรงจากรัชกาลที่ 7 ซึ่งโปรดการถ่ายภาพมาก ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในด้านนี้ หม่อมเจ้าการวิกจึงทรงได้รับเกียรติให้เป็นนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย พ่วงไปอีกตำแหน่งด้วย
ในปี พ.ศ. 2505 หลังจากที่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรม หม่อมเจ้าการวิกยังทรงเป็นหนึ่งในโต้โผใหญ่ร่วมกับ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์ บริพัตร และ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในการก่อตั้งมูลนิธิหอศิลป์ พีระศรี ขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ที่จะจัดสร้างหอศิลป์ที่มีมาตรฐานทัดเทียมอารยประเทศขึ้นมาในประเทศไทย มูลนิธิได้จัดกิจกรรมระดมทุน จนมีสตางค์ในการออกแบบและสร้างอาคารเรียบร้อย ที่ยังไม่ลงตัวคือโลเคชันว่าจะไปสร้างกันตรงไหน เดิมทีเกือบจะได้พื้นที่ในสนามเสือป่าอยู่รอมร่อ แต่สุดท้ายก็ชวด ในที่สุดคณะกรรมการเลยตกลงปลงใจกันให้มาสร้างหอศิลป์อยู่ในซอยอรรถการประสิทธิ์ ถนนสาธร สมัยเปิดตัวใหม่ๆ หอศิลป์ พีระศรี นี่คึกคักมากมีทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศสลับสับเปลี่ยนกันมาจัดแสดงผลงานชนิดที่เรียกว่าหัวกระไดไม่แห้ง แต่น่าเสียดายที่หลังจากนั้นก็เงียบๆ จนต้องปิดตัวไป
ในบั้นปลายชีวิต หม่อมเจ้าการวิกทรงได้รับพระราชกรุณาโปรดเกล้าจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เป็นที่ปรึกษาสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ แม้จะชราภาพแต่หม่อมเจ้าการวิกก็ยังทรงสนับสนุนกิจการสมาคม งานประกวด และกิจกรรมในแวดวงศิลปะ และการถ่ายภาพ อย่างขยันขันแข็งอยู่ไม่ขาดจวบจนวาระสุดท้ายในชีวิตของท่าน เมื่อหม่อมเจ้าการวิกสิ้นพระชนม์ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
เล่ามาซะเยอะแยะ แต่ไม่เห็นจะเกี่ยวกับสีน้ำตรงไหน เลยคงยังสงสัยว่าตอนไหนที่หม่อมเจ้าการวิกท่านทรงสร้างสรรค์ภาพวาดทำนองนี้ คำตอบคือท่านวาดของท่านมาตลอดในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิต ตอนเล็กๆหม่อมเจ้าการวิกโปรดการเขียนภาพลายเส้นเป็นภาพการ์ตูนล้อเลียนดูฮาๆ จนท่านได้เรียนรู้เทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำแบบจริงๆ จังๆ ตอนที่ถูกส่งไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ทำเป็นแล้วก็ติดใจ ฝึกฝน ลองผิดลองถูกด้วยตนเองต่อมาเรื่อยๆ หม่อมเจ้าการวิกท่านโปรดการวาดวิวทิวทัศน์เป็นชีวิตจิตใจ ภาพที่ท่านวาดส่วนใหญ่เลยจะออกไปในแนวนั้น ตั้งแต่ท่านทรงติดตามรัชกาลที่ 7 ไปยังสถานที่ต่างๆ ท่านก็วาดภาพสีน้ำของสถานที่นั้นๆ ขึ้นมามากมายซึ่งล้วนแต่เป็นวิวในต่างประเทศ แม้แต่ช่วงที่ทรงเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ไปฝึกการสู้รบที่ใดก็แล้วแต่ เมื่อมีเวลาว่างท่านก็ยังคงวาดภาพ ยิ่งภายหลังกลับมาเมืองไทยไม่ต้องย้ายที่ไปไหนมาไหนบ่อยๆ ก็ยิ่งวาดเอาวาดเอา และภาพในยุคนี้ก็มักเป็นภาพที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ภาพงานประเพณีร่าเริง วิถีชีวิตความเป็นอยู่
ผลงานศิลปะทั้งหมดทั้งปวงนี้หม่อมเจ้าการวิกทรงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความสุนทรีย์ส่วนตัว ท่านเคยเล่าว่าท่านวาดเพราะรัก และต้องการที่จะวาด วาดแล้วอิ่ม ฟูลฟิลอารมณ์เดี๋ยวนั้น จะให้วาดซ้ำอีกทีด้วยอารมณ์เดิมก็วาดไม่ได้อีกแล้วแม้จะอีกกี่ร้อยกี่ล้านปี ภาพที่วาดเสร็จก็เก็บไว้ดูเอง ไม่ก็เที่ยวแจกฟรีให้ญาติสนิทมิตรสหาย ไม่ได้ตั้งใจจะเอาไปค้าขาย เอาไปประกวด หรือไปโชว์ที่ไหน ผลงานของท่านจึงเป็นงานอาร์ตแบบเพียวๆที่สร้างขึ้นตามอารมณ์สุนทรีย์ของคนวาดล้วนๆ
เพราะไม่ได้ตั้งใจจะเผยแพร่ ผลงานของหม่อมเจ้าการวิกเลยไม่ได้เป็นที่รู้จัก จนมาวันหนึ่ง นายมูเนท์ ซาโตมิ (Mounet Satomi) ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานที่กรมศิลปากร ได้ไปจิบน้ำชาที่บ้านหม่อมเจ้าการวิก และระหว่างที่คุยกันถูกคอตามประสานักเรียนเก่าฝรั่งเศสเหมือนกัน ซาโตมิก็เหลือบไปเห็นภาพวาดสีน้ำภาพหนึ่งแขวนอยู่บนฝาบ้าน ภาพนั้นเป็นภาพภูเขาสิงห์ที่อินเดีย ทั้งการจัดวางองค์ประกอบ และสีสันก็ดูวิเศษลงตัว เป็นผลงานที่มีคุณภาพมาก ซาโตมิจึงทูลถามหม่อมเจ้าการวิกว่าไปซื้อหามาจากที่ใด และใครเป็นคนวาด พอรู้ว่าหม่อมเจ้าการวิกเป็นคนวาดเอง ซาโตมิก็ถึงกับต๊กกะใจ และคะยั้นคะยอให้หม่อมเจ้าการวิกส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2493 ที่จัดขึ้นโดย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี แรกๆ ก็ลังเลใจแต่พอโดนซาโตมิรบเร้าหนักเข้าก็เลยยอมใจ ลองส่งไปแข่งขันกับเขาดู ผลปรากฏว่าภาพภูเขาสิงห์ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญบรอนซ์จากงานใหญ่ระดับชาตินี้ ในปีถัดๆ มาหม่อมเจ้าการวิกก็ทรงส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอีกและก็กวาดมาอีกหลายรางวัลทั้งเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน และอันดับ 3 เหรียญบรอนซ์ แต่เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองสาขาจิตรกรรมยังไม่เคยได้ซักกะทีเพราะกรรมการเขามักจะมอบรางวัลนี้ให้กับภาพที่วาดด้วยสีน้ำมันซะส่วนใหญ่ น่าน้อยใจไหมล่ะ
แล้วภาพสีน้ำฝีมือหม่อมเจ้าการวิกนี้มีความพิเศษเด็ดสะระตี่ยังไง ทำไมถึงได้รางวัลเยอะแยะ เอาเป็นว่าในสูจิบัตรงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 11 เมื่อ พ.ศ. 2503 ขนาด อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังเขียนเล่าไว้อย่างชื่นชมว่า ‘ม.จ. การวิก จักรพันธุ์ เป็นผู้มีชื่อทางด้านงานจิตรกรรมสีน้ำอันวิจิตร มีอุปนิสัยพิเศษในศิลปะประเภทนี้ ภาพทิวทัศน์ต่างๆ นั้นใช้พู่กันป้ายสองสามครั้งก็สำเร็จ ภาพงานวัดนั้นจะเห็นได้ว่า ม.จ. การวิก เขียนรูปคนขนาดเล็กโดยใช้สีแต้มเป็นจุดๆ อย่างฉลาด’
หม่อมเจ้าการวิกทรงยึดถือหลักการที่ท่านเรียกว่า Economy of Strokes ถ้าให้ตีความหมายก็ประมาณว่า ปาดป้ายอย่างมัธยัสถ์ แต่ผลสัมฤทธิ์ต้องชัดเจน ท่านเปรียบการวาดภาพว่าต้องมีคุณภาพเหมือนการส่งโทรเลข คือเลือกใช้ถ้อยคำให้น้อย แต่สื่อความหมายได้ตรงประเด็นไม่อ้อมค้อม สำหรับท่านภาพวาดไม่จำเป็นต้องละเอียดยิบ ไม่ต้องเหมือนเป๊ะทุกกระเบียด ศิลปินแค่แนะแต่พอประมาณ ที่เหลือปล่อยให้ผู้ชมเอาไปจินตนาการต่อเอาเอง
ภาพวาดของท่าน ถ้าเล็งๆ ดูแล้วจะเห็นว่าปาดสีไม่กี่ปื้ดก็ออกมาเป็นภาพที่เสร็จสมบูรณ์ได้ ความแม่นยำ น้ำหนัก พลัง มาครบ เทคนิคที่ใช้ก็สุดแสนจะแพรวพราว ทั้งสูตรลับในการวาดเส้นแสง การจับคู่สีแก่อ่อน ใช้ของใหญ่ข่มของเล็กเพื่อให้เกิดคอนทราสต์ รวมถึงการปล่อยให้สีเปียกๆ ไหลเข้าหากัน น้ำจะทำให้สีที่ผสมกันลุ้นให้เกิดการแตกตัวแผ่ซ่านไปยังทิศทางต่างๆ
อีกองค์ประกอบที่ทำให้ผลงานออกมาดีก็คือวัสดุอุปกรณ์ หม่อมเจ้าการวิกทรงพิถีพิถันกับการเลือกพู่กัน สี และกระดาษเป็นอย่างมาก ของที่ใช้ไม่ใช่แบบบ้านๆ อะไรก็ได้ ท่านทรงเลือกใช้เกรดสูงที่สุดเท่านั้น เพราะเหตุนี้ล่ะมั้ง ภาพสีน้ำของท่านถึงจะมีอายุอานามกว่าครึ่งศตวรรษ แต่สีก็ยังคงความสดใสไม่ค่อยจะซีด กระดาษก็ไม่คล้ำ ไม่ด่าง ไม่เป็นจุด เจิดจรัสยังกะเพิ่งวาดเมื่อวาน
ว่ากันถึงเรื่องราคาค่างวด สำหรับคนที่เล่นเป็นต่างก็รู้ว่าผลงานจิตรกรรมสีน้ำฝีมือหม่อมเจ้าการวิกนั้นเป็นของมีค่ามาตั้งแต่ไหนแต่ไร สมัยก่อนปี พ.ศ. 2500 ยุคที่ทองยังราคาบาทละไม่กี่ร้อย ภาพของท่านที่โชว์หราอยู่ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็ตั้งราคาภาพละสองพันกว่าแล้ว มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าในสมัยนั้นแม้แต่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ยังอินจัดกับผลงานของหม่อมเจ้าการวิก ถึงกับยอมควักตังค์ครึ่งหมื่นแลกกับภาพวาดสีน้ำวัดอินทรวิหาร แม้กระทั่งทุกวันนี้ถึงจะมีสะสมกันอยู่ในวงแคบๆ เพราะของมีจำนวนสุดแสนจะจำกัด แต่ผลงานของท่านก็ยังมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันเงียบๆ ในราคาภาพละเรือนแสน ส่วนภาพเด็ดๆ ก็ว่ากันเป็นล้าน ทั้งๆ ที่เป็นผลงานสีน้ำบนกระดาษซึ่งเก็บรักษายากแต่ก็มีแฟนคลับผู้รู้คุณค่ายินดีจ่ายในราคาที่สูงลิบจนน่าตกใจ
หม่อมเจ้าการวิกทรงเปรียบชีวิตของท่านว่า ‘ชีวิตผมเหมือนไม้กระดานหกในสนามเด็กเล่นที่ขึ้นๆ ลงๆ แต่เวลาลงก็ไม่ต่ำลงทะลุพื้น ขึ้นก็ไม่ถึงดวงดาว และภูมิใจที่ได้เป็นแค่รอยข่วนเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน’ เขียนๆ เรื่องราวของหม่อมเจ้าการวิกไปเรื่อยๆ ทำไมเราถึงไม่รู้สึกเหมือนกำลังเขียนบทความสไตล์อาร์ตอย่างที่ตั้งใจจะให้เป็น กลับรู้สึกเหมือนกำลังเขียนบทความแนว DIY สอนการใช้ชีวิต โดยการเอาประวัติของบุคคลที่ ครบรส ครบเครื่อง มาเล่าสู่กันฟัง พอยิ่งเขียนยิ่งรู้สึกว่าหม่อมเจ้าการวิกท่านมีหมดทั้งคุณสมบัติเรื่องความไฝ่รู้ ความสามารถที่มีรอบด้าน การถ่อมตน การไม่ปิดกั้นโอกาสที่ผ่านเข้ามา การอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ความกล้าหาญ ความรักที่มีต่อชาติ ฯลฯ จนเรื่องความสามารถในการวาดภาพดูจะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับวีรกรรมอันยิ่งใหญ่กว่าที่ท่านได้เคยทำมามากมาย
ชีวิตของหม่อมเจ้าการวิกอาจจะเป็นเหมือนไม้กระดานหกอย่างที่ท่านว่าไว้ ไม่ลงต่ำทะลุดิน และถึงจะไม่กระเด้งสูงเสียดดาว แต่ก็ไม่เห็นจะต้องแคร์ เพราะไม้กระดานหกชุดนี้มีคุณสมบัติพร้อมสรรพที่จะกระดกอยู่บนดวงดาวให้คนรุ่นหลังได้แหงนมองเป็นแบบอย่างอยู่แล้ว
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี