ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก

ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

‘ชอบสะสมผลงานศิลปะของศิลปินท่านไหนมากที่สุด?’ คำถามยอดฮิตที่ถูกถามแทบทุกทีเวลาไปคุยเจ๊าะแจ๊ะกับใครเกี่ยวกับเรื่องการสะสมอาร์ต คำถามอื่นๆ ไม่ว่าจะลึกล้ำแค่ไหนเราก็มักถูไถตอบกลับไปได้อย่างเร็วไว แต่พอเจอคำถามนี้ทีไรก็ได้แต่นั่งจังงังไม่รู้จะตอบยังไง เพราะผลงานศิลปินที่คัดๆ เก็บไว้ ดูๆ ไปก็รักพี่เสียดายน้อง มองไปทางไหนก็ถูกใจไปเสียหมด คอลเลกชันศิลปะที่หวงนักหวงหนาทุกวันนี้เลยดูเหมือนไลน์บุฟเฟต์ ที่มีทั้งข้าว ทั้งแกงจืด แกงเผ็ด ของผัด สลัดบาร์ ผลไม้ ของหวาน อย่างละนิดอย่างละหน่อย ถึงลิสต์รายชื่อศิลปินในคอลเลกชันจะยาวเฟื้อยเป็นหางว่าว แต่ด้วยทรัพย์ศฤงคารที่มีจำกัดจำเขี่ยจึงเลือกเก็บได้เฉพาะแค่ผลงานชิ้นที่ถูกใจจริงๆ ศิลปินละไม่กี่ชิ้น ซึ่งข้อดีของการเก็บแบบนี้คือเวลาหิวอะไรก็มีให้เสพครบครันไม่ตกหล่น

คิดมาตลอดว่ารักทุกศิลปินอย่างเที่ยงธรรมไม่ลำเอียงเรื่อยมา เวลาจะหาอะไรเข้ามาเติมก็พยายามเกลี่ยๆ ไม่ให้ซ้ำกับรายชื่อคนเดิมๆ ที่มีอยู่ แต่เมื่อผลงานศิลปะที่โชว์บ้างหมกบ้างชักจะเยอะขึ้นทุกวัน จึงจำเป็นต้องเริ่มจดบันทึกทำบัญชีให้เป็นระเบียบกันลืม คราวนี้ถึงได้รู้ตัวว่า ในกรุของเราผลงานของศิลปินคนไหนมีจำนวนชิ้นมากที่สุด และหมดสตางค์ไปกับใครมากที่สุด ซึ่งก็ไม่ผิดปกติที่ชื่อออกมาปรากฏว่าเป็นศิลปินคนเดียวกัน แต่ที่แปลกคือผลงานศิลปะชิ้นแรกในชีวิตที่เราเริ่มเก็บแบบจริงจัง หรือแม้กระทั่งชิ้นล่าสุดที่เราเพิ่งได้มาแบบสดๆ ร้อนๆ ก็ยังดันเป็นผลงานของศิลปินคนเดิมอีก เลยได้ข้อสรุปตามหลักสถิติว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาสุดยอดศิลปินที่เรานิยมสะสมผลงานมากที่สุดคือใคร ไว้คราวหน้าถ้าเจอคำถามอะไรทำนองนี้อีกทีจะตอบขวับอย่างทันควันว่า ‘ชอบ ถวัลย์ ดัชนี’

ถวัลย์ ดัชนี (ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ถวัลย์ ดัชนี)

ถึงจะหาคำตอบที่คาใจได้สำเร็จ แต่เชื่อเถอะยังไงซักวันก็ต้องโดนตั้งคำถามต่อไปอีกอยู่ดีว่า ‘ชอบเพราะอะไร’ เพื่อไม่ให้มะงุมมะงาหราทำหน้าเด๋อด๋าหาคำตอบเอาหน้างาน เราน่าจะมาลองบรรจงจัดลำดับความคิดเอาไว้ก่อนดีกว่าว่าถูกใจ ถวัลย์ ดัชนี เรื่องอะไรบ้าง งั้นขอไม่รอช้ามาไล่เรียงเหตุผลเท่าที่นึกออกเลยละกัน

‘ประวัติดีสตอรีได้’ ชีวิตของถวัลย์นั้นห่างไกลจากคำว่าธรรมดา ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายไม่ต่างอะไรกับมหากาพย์เรื่องยาวที่ใครเอาไปสร้างเป็นหนังคงจะมันพิลึก ปฐมบทของท้องเรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อ นายศรี ดัชนี จ่านายสิบทหารผู้ร่วมหัวจมท้ายกบฏบวรเดช หลังจากที่พลาดท่าพ่ายแพ้แก่ฝ่ายรัฐบาลในปี พ.ศ. 2476 ก็ตุปัดตุเป๋หลบลี้หนีภัยไปอยู่พม่าก่อนจะตัดสินใจกลับมารับราชการกรมสรรพสามิตและตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเชียงราย ที่นั่นจ่าศรีในวัยใกล้ 50 กะรัตแต่ยังเตะปี๊บดังได้ปิ๊งปั๊งกับสาวเหนืออายุอานามรุ่นลูกนามว่า บัวคำ พรมสา ทั้งสองได้ครองรักกันและได้ให้กำเนิดบุตรชายล้วนมา 3 หน่อจนมาถึงคนที่ 4 ก็ยังคงเส้นคงวาได้บุตรชายมาอีก และทารกคนสุดท้องที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 นี่เองที่พ่อแม่ตั้งชื่อให้ว่า ถวัลย์ ดัชนี

ในวัยเด็กถวัลย์เป็นเด็กโคตรซนต่างกับพี่ๆ ที่ว่านอนสอนง่าย แม่บัวคำจะไปไหนเลยต้องกระเตงเอาถวัลย์ไปด้วยทุกที่ เพราะถ้าเอาไปฝากใครเลี้ยงลูกชายจอมแสบก็จะไปปั่นป่วนเขาหมด กิจกรรมที่ถวัลย์ในวัยเยาว์นิยมเป็นพิเศษคือการเก็บเอาก้อนถ่านมาละเลงกำแพงเป็นรูปต่างๆ หรือไม่ก็พกหนังสติ๊กออกไปยิงนก เวลาจะยิงถวัลย์จะไล่นกให้รู้ตัว และออกบินก่อนเพื่อเป็นการไม่เอาเปรียบทีเผลอ หลังจากนั้นจึงค่อยยิงนกที่บินอยู่กลางอากาศ ฝีมือการใช้หนังสติ๊กของถวัลย์นี้เข้าขั้นโอลิมปิก ถึงเป้าจะเคลื่อนไหว แต่ก็ยิงโดนแทบทุกทีไม่มีพลาด

เมื่อโตขึ้นหน่อยถวัลย์เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ถวัลย์ฉายแววด้านศิลปะตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ในวิชาวาดภาพถวัลย์เก่งเกินเด็ก ไม่ได้วาดได้แค่หมูหมากาไก่ แต่สามารถจดจำลักษณะและวาดรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตัวที่มีรายละเอียดเยอะแยะออกมาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน งานโรงเรียนงานไหนก็แล้วแต่ที่ต้องใช้ฝีมือด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเขียนฉาก ออกแบบซุ้ม ครูๆ ก็มักจะวางใจเลือกถวัลย์ให้มาช่วยงานอยู่ตลอด เมื่อถวัลย์เรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ก็ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นนักเรียนทุนของจังหวัดให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างในกรุงเทพฯ

ถวัลย์ในวัย 14 เดินทางรอนแรมโดยลำพังจากบ้านเกิดด้วยรถขนหมูเพื่อมาต่อรถไฟเข้าเมืองกรุง ที่กรุงเทพฯ ถวัลย์เรียนเพาะช่างอยู่ 3 ปีโดยไม่ได้เช่าห้องพัก ใช้อาศัยซุกหัวนอนอยู่ตามซอกหลืบของตึกเรียนแบบตามมีตามเกิด พอเวลาจะนอนก็เอามุ้งที่ม้วนติดกับเอวไว้มากางออก หมอนก็ไม่ต้องมี ใช้รองเท้าเกี๊ยะหนุนหัวเอา ที่เพาะช่างถวัลย์ได้ขัดเกลาฝีมือทางช่างแทบจะทุกแขนง ทั้งวาดภาพ เลื่อยไม้ เย็บหนัง ฉลุลาย และงานประดิดประดอยอีกร้อยแปด พอเรียนจบหลักสูตรได้วุฒิครูประถมการช่างแล้วแทนที่ถวัลย์จะกลับไปเป็นครูสอนศิลปะที่บ้านเกิดเหมือนกับนักเรียนส่วนใหญ่ที่ได้ทุนของจังหวัดมา ถวัลย์กลับยิ่งอยากจะเข้าใจอาร์ตให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิมเลยไปสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โชคดีทันได้เรียนกับอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถวัลย์เลยได้เป็นศิษย์สายตรงรุ่นท้ายๆ ก่อนอาจารย์ศิลป์จะบ๊ายบายไปอยู่บนสวรรค์

ถวัลย์ ดัชนี สมัยที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรและอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ภาพจากหนังสือ ถวัลย์ ดัชนี ไตรสูรย์)

ที่ศิลปากร ถวัลย์ได้รับการบ่มเพาะจนแตกฉานทั้งในด้านเทคนิคและทฤษฎีศิลปะ มีผลงานเป็นที่โจษขานของทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง และไม่ใช่แค่ฝีมือการวาดภาพที่วิเศษเกินมนุษย์มนา เรื่องอื่นๆ ก็เก่งไม่หยอก เพราะถวัลย์เป็นคนขยัน ถ้าไม่ฝึกวาดภาพ ก็จะอ่านหนังสือหาความรู้อยู่ตลอด เลยพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันได้คล่องปรื๋อ จำและร่ายบทกวีทั้งของไทยและต่างชาติได้เป็นเรื่องๆ อย่างขึ้นใจ ด้วยความสามารถที่มี ถวัลย์จึงได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการศึกษาของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ และผังเมือง และเพื่อให้เข้าใจความงามของศิลปะอย่างลึกซึ้งถวัลย์เลยเลือกเรียนต่อปริญญาเอกด้านอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ที่ราชวิทยาลัยศิลปะ Rijks Akademic van Beeldende Kunsten อ่านว่าอย่างไรอย่าถาม ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ช่วงเวลาที่เรียนอยู่ในยุโรป ถวัลย์ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ในบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยลัทธิศิลปะแบบตะวันตก ได้เห็นผลงานศิลปะชิ้นสำคัญของจริงในพิพิธภัณฑ์ แต่ยังคงไม่ลืมรากเหง้าของความเป็นไทย ตลอดเวลาที่อยู่ในต่างประเทศถวัลย์จึงพยายามเสาะแสวงหาวิธีการที่จะสร้างผลงานอันสามารถผสมผสานรูปแบบศิลปะ ทั้งของแบบตะวันตกและแบบตะวันออกอย่างกลมกลืนออกมาให้ได้

ถวัลย์ ดัชนี ขณะเรียนอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ภาพจากหนังสือ ถวัลย์ ดัชนี ไตรสูรย์)

เมื่อถวัลย์กลับมายังบ้านเกิด ก็ยิ่งฟิตจัดหมั่นพัฒนาผลงานให้ลึกล้ำยิ่งขึ้น อีกทั้งยังตระเวนแสดงงานไปทั่วโลก จนเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้เป็นกรรมการงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ลูกหาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับรางวัลทางศิลปะทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติอีกร้อยแปด เช่นรางวัลศิลปวัฒนธรรมแห่งเอเชีย รวมถึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อปี พ.ศ. 2544

เงินทองมากมายที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงและชื่อเสียงถวัลย์ยังหมั่นแจกจ่ายเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนศิลปะ สมาคม ชมรมต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์จรรโลงโลกเป็นประจำทุกๆ ปีผ่านทางมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539

ถวัลย์สร้างผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบอย่างสม่ำเสมอมาตลอดชีวิตด้วยความรัก มีเวลาว่างเป็นไม่ได้จะต้องวาดนู่นร่างนี่อยู่ตลอด แม้ในวาระสุดท้ายขณะที่นอนป่วยหนักอยู่ในโรงพยาบาลก็ยังขอกระดาษกับปากกามาเขียนภาพม้าซะสวยเช้ง และแล้วถวัลย์ก็ถึงแก่กรรมในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557 สิริอายุได้ 74 ปี ปิดตำนานจักรพรรดิแห่งผืนผ้าใบจากดอยสูง หนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่ประเทศไทยของเราเคยมีมา

“ม้า” ก่อน พ.ศ. 2517 เทคนิคสีน้ำมันบนกระดาษ ขนาด 109 x 79 เซนติเมตร

‘ผลงานวาไรตี้ มีคุณภาพ’ คนทั่วๆ ไปมักจะคุ้นตากับผลงานโมโนโทนที่ใช้สีดำสีเดียวกระซวกด้วยฝีแปรงเร็วๆ ออกมาเป็นภาพสัตว์หน้าตาน่าเกรงขาม แต่รู้หรือไม่ว่าผลงานศิลปะของถวัลย์นั้นมีรูปแบบที่หลากหลายมากจนแทบจะนับไม่ถ้วน เราเคยเห็นงานเรียนยุคแรกๆ สมัยที่ถวัลย์เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยเป็นภาพวิว ภาพวัด ปาดด้วยสีน้ำมันเป็นปื้นหนาๆ แบบอิมเพรสชันนิสม์ สมัยนั้นจะให้วาดให้เหมือนโมเนต์ แวนโก๊ะ โกแกง ปีกัสโซ หรือใครก็แล้วแต่ ถวัลย์สามารถก๊อบปี้ออกมาได้เนียนกริบ เพราะเหตุนี้ตอนเรียนปี 1 ที่ศิลปากรถวัลย์จึงได้คะแนนวิชาวาดภาพร้อยเต็มบวกๆๆ แต่ไฉนได้พอขึ้นปี 2 กลับทำคะแนนวิชาวาดภาพได้แค่ 15 คะแนน สร้างความงงเต้กให้กับถวัลย์มากทั้งๆ ที่ฝีมือก็ไม่ได้ตกไปจากปีหนึ่ง ถวัลย์จึงไปถามอาจารย์ศิลป์ให้ช่วยกรุณาแถลงไข ในครั้งนั้นอาจารย์ศิลป์ได้แนะนำว่า ‘นายคนภูเขา (ชื่อที่อาจารย์ศิลป์ใช้เรียกถวัลย์จนติดปาก เพราะถวัลย์มาจากดอยในเชียงราย) งานของนายมีแต่ถูกต้อง มันเป็นงานเรียน เป็นอคาเดมิกนะนาย ไม่มีชีวิต ปลาของนายว่ายน้ำไม่ได้ ไม่มีกลิ่นคาว ม้าของนายตายแล้ว ยืนตาย วิ่งไม่ได้ ร้องไม่ได้ วัดของนายเหมือนฉากลิเก ฟ้าของนายไม่มีอากาศ หายใจไม่ได้’

หลังจากโดนอาจารย์ศิลป์สวดซะเสียฟอร์ม ถวัลย์ไม่ท้อใจ กลับยิ่งตั้งใจปรับปรุงผลงานให้มีชีวิต มีพลัง ไม่ได้ใช้แค่ฝีมือเลียนแบบผลงานให้เหมือนของคนนู้นคนนี้ จนมีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ผลงานของถวัลย์สมัยวัยสะรุ่นนั้นมีที่เป็นภาพเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบและบนกระดานไม้อัด โดยสีที่ใช้ก็สุดจะฉูดฉาดมีหมดทั้งน้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ปาดด้วยเกรียงเป็นปื้นๆ ดูสนุกสนาน ผลงานบางชิ้นก็เกิดขึ้นจากการเอากระดานไม้อัดมาขูดๆ เป็นเส้นให้กลายเป็นภาพ ส่วนประเภทที่ทำบนกระดาษก็มีที่ใช้ปากกาลูกลื่นวาดและแรเงาให้เกิดน้ำหนัก ในสมัยวัยรุ่นถวัลย์เองก็ริเริ่มสร้างผลงานที่ใช้แปรงใหญ่ๆ ปาดสีลงบนกระดาษแบบเร็วๆแล้วเหมือนกัน เนื้อหาของภาพก็มักจะหนีไม่พ้นภาพคนและสรรพสัตว์นานาชนิดที่รวมถึงตัวแปลกๆ ที่ไม่น่าจะมีลูกค้าอย่างแมลงสาบ แมลงวัน กิ้งก่า จิ้งจก ตุ๊กแก ส่วนผลงานอีกประเภทที่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าถวัลย์ก็เคยทำด้วยคือผลงานประติมากรรม เช่นรูปปั้นหล่อบรอนซ์ขนาดใหญ่บิ๊กเบิ้มแบบอนุสาวรีย์ ถวัลย์ก็เคยทำมาแล้ว

เมื่อถวัลย์เริ่มอินจัดกับปรัชญาทางพุทธศาสนาทั้งแบบหินยาน มหายาน และศาสนาพราหมณ์ตามความเชื่อของโลกตะวันออก ผลงานของถวัลย์ในยุคถัดมาจึงมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราว เช่น ทศชาติ มารผจญ รามเกียรติ์ จักรวาล ซึ่งก็ไม่ได้สื่อออกมาแบบโต้งๆ ชนิดที่ชาวบ้านเห็นแล้วร้องอ๋อ แต่แฝงไปด้วยนัยยะที่สื่อสารผ่านทางภาพท่วงท่าของมนุษย์ สัตว์ และสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งคนที่มาดูบางทีก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง พอตัวศิลปินไม่ได้มานั่งอธิบายก็ตีความกันไปเอง จนครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2514 ภาพของถวัลย์ที่จัดแสดงอยู่ ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนกลายเป็นข่าวใหญ่โตตามหน้าหนังสือพิมพ์ หาว่าถวัลย์ลบหลู่ศาสนา ทั้งๆที่ถวัลย์ไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น และในช่วงเวลาใกล้ๆ กันก็มีนักเรียนอาชีวะแห่กันมาเอาคัตเตอร์กรีดทำลายภาพวาดจนขาดวิ่นเสียหาย ทำเอาถวัลย์เซ็งเป็ดเข็ดขยาดตัดขาดจากการแสดงในประเทศไทยไปหลายปี

ต่อมาหน้าตาผลงานของถวัลย์ในยุคหลังนั้นก็มีพัฒนาการจนดูแตกต่างกับที่ริเริ่มสร้างในยุคแรกอยู่พอสมควร สีที่ใช้ในงานจิตรกรรมนั้นค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือสีหลักๆ เพียงสีดำ ขาว แดง และทอง ผลงานในยุคนี้ที่เราเห็นกันบ่อยๆ มักเป็นภาพสัตว์ดุร้ายมีเขี้ยวมีเล็บแหลมคมน่าเกรงขามอย่างเสือ สิงห์ กระทิง ควายป่า พญาอินทรี มีผลงานหลายชิ้นที่ถวัลย์ผสมผสานภาพความเป็นไทยด้วยใบหน้าพระพุทธเจ้าที่งดงามไร้ที่ติแบบสุโขทัย หรือเส้นสายลายกระหนกที่อ่อนช้อยพลิ้วไหว เข้าไปอยู่ท่ามกลางความขึงขังของเนื้อหาภายในภาพ ผลงานในยุคหลังนอกจากถวัลย์จะเลิกใช้เฉดสีที่แพรวพราวแล้ว ยังเลิกใช้เกรียงในการปาดสีหนาๆ ลงบนภาพด้วย เทคนิคที่ใช้ในยุคนี้มีทั้งการค่อยๆ เกลี่ยสีบางๆ ด้วยพู่กันเพื่อให้เกิดเป็นรูปร่างที่มีมวล มีปริมาตร และการตวัด สาด สะบัดสีแบบฉับไวให้เกิดเป็นภาพฝีแปรงที่มีความลื่นไหล มีพลัง ส่วนผลงานบนกระดาษที่ถวัลย์ใช้ปากกาลูกลื่นวาดก็มีการจัดวางรายละเอียดจนซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่าภาพแบบเดียวกันที่วาดในสมัยวัยรุ่นมาก เช่น ภายในตัวละครแต่ละตัวนั้นมีตัวละครอื่นๆ ขนาดเล็กจิ๋วซ้อนทับกันยุบยิบไปหมดจนเวลาจะดูต้องใช้แว่นขยาย ยิ่งดูยิ่งนึกไม่ออกเลยว่าจะมีมนุษย์คนใดสามารถวาดภาพออกมาได้อย่างละเอียดลออขนาดนี้

นอกจากเรื่องจิตรกรรมที่ว่าเด็ด ถวัลย์ยังมีฝีไม้ลายมือในเชิงวรรณกรรมชนิดที่หาตัวจับยาก เวลาถวัลย์เขียนบทกลอนหรือข้อความพรรณนาอะไร ทั้งลายมือตัวหนังสือแบบยืดๆ ยาวๆ ตามสไตล์ถวัลย์ ภาษาที่เลือกใช้ รวมถึงเนื้อหา ล้วนแล้วแต่วิเศษวิโสไม่ต่างอะไรกับผลงานของกวีระดับมืออาชีพ ถ้ายังนึกไม่ออกจะขอยกตัวอย่างซักบทที่ถวัลย์แต่งพอเป็นกระษัย

‘เพรียกเพลงพราน ฝนแก้วห่ารุ้ง แถนเมงแมกเมฆ

สามตะวัน ไตรสูรย์ จากงานรังสรรค์ความรักปรากฎรูป

ดอกหญ้าป่า ธุลีดิน ขอถวายอภิวาทอัญชุลี แด่เบื้องยุคลบาท

พระแม่มิ่งเมืองของแผ่นดิน ผู้ทรงประทานดอกไม้ทั้งสวนในอุทยานชีพแด่ปวงข้า

ดุจเคียวกับดวงดาว กล่นรายในทางช้างเผือก วันนี้ได้วอมประกายในวิหารแห่งดาริกา

แข่งแสงหิ่งห้อยในพุ่มพฤกษ์

อย่างไรก็ตาม ผลงานชิ้นโบว์แดงของถวัลย์หาใช่ภาพวาด งานประติมากรรม วรรณกรรม หรือเครื่องใช้ไม้สอยชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่คือ ‘บ้านดำ’ สถานที่ที่รวบรวมความรู้ความสามารถในศาสตร์ทุกแขนงเอาไว้ในที่เดียว เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ตอนที่เพิ่งเรียนจบกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ ทุนรอนอะไรก็ยังไม่มี ถวัลย์เริ่มสร้างบ้านโดยการตัดไม้ไผ่ผูกกันเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมสูงๆ แขวนเขาควายไว้เหนือจั่วเป็นกาแล พายุมาทีบ้านก็พังทีจนต้องคอยซ่อมอยู่เรื่อยๆ หลังจากนั้นอีกหลายปีเมื่อถวัลย์เริ่มมีตังค์ถึงได้รื้อบ้านเดิมและสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยไม้จริงทั้งหลังในรูปแบบไทยล้านนาประยุกต์ ทุกอย่างที่นี่ถวัลย์ออกแบบด้วยตนเองทั้งหมดในสไตล์ที่คิดเองจึงผิดแผกแหวกแนวไม่เหมือนใคร ทั้งเส้นสายของหลังคา เชิงชาย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประตู หน้าบัน ป้านลม คันทวย หรือแม้แต่ของตกแต่งภายในทั้ง เก้าอี้ โต๊ะ ตู้ ตั่ง เตียง หอก มีด ดาบ ล้วนแล้วแต่บรรจงดีไซน์มาอย่างวิลิศมาหราและน่าเกรงขามตามแบบของถวัลย์ไม่มีผิดเพี้ยน ถวัลย์ทยอยสร้างบ้านทีละหลังไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันบ้านดำมีอาคารหน้าตาแตกต่างกันราว 40 หลัง แต่ละหลังก็มีชื่อตั้งตามลักษณะไว้อย่างเพราะพริ้ง เช่น บ้านดำกาแลเกี่ยวฟ้า อูปเปลวปล่องฟ้า อูปหยาดน้ำตาบนแก้มกาลเวลา อูปนอแรดในรุ้งดาว ส่วนอาคารที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า ‘มหาวิหาร’ มีขนาดบะเริ่มเทิ่มพอๆ กับอินดอร์สเตเดียม ทั้งหมดตั้งอยู่ ณ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตประจำจังหวัดที่ดึงดูดทั้งชาวไทยและชาวโลกให้มาเยี่ยมเยียนนับพันๆ คนในแต่ละวัน สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับท้องถิ่นอย่างมหาศาล

ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี ในปราสาทคอร์ททอร์ฟ (ภาพจากหนังสือ ถวัลย์ ดัชนี ไตรสูรย์)

‘ต่างชาติเข้าใจ คนไทยเก็ต’ ถวัลย์ ดัชนี ชื่อนี้ไม่ต้องอธิบายเยอะให้เจ็บคอ คนไทยครึ่งค่อนประเทศน่าจะต้องเคยได้ยินชื่อ หลักฐานไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล แค่ย้อนไปดูตัวเองสมัยที่ยังไม่อินกับอาร์ตเท่าไหร่ และมีความรู้เกี่ยวกับศิลปะน้อยนิดยิ่งกว่าหางอึ่ง ขนาดเราในสมัยนั้นยังรู้จัก ถวัลย์ ดัชนี เลย นอกจากในบ้านเราผลงานของถวัลย์นั้นเคยถูกจัดแสดงมาแล้วแทบจะทั่วโลกทั้งในอเมริกา อาร์เจนตินา เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี โปรตุเกส ออสเตรีย ฝรั่งเศส สเปน อิสราเอล ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย จนมีแฟนคลับทั่วบ้านทั่วเมืองรวมถึงเจ้าชายเยอรมันนามว่า เฮอร์มัน กราฟ ฟัน ฮาร์ดเฟลด์ ที่ไปเห็นตู้พระธรรมที่ถวัลย์วาดด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ที่บ้าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้วเกิดถูกอกถูกใจ เลยเชิญถวัลย์ให้ไปวาดภาพประดับปราสาทกอร์ตทอร์ฟ (Gottorf Castle) ของพระองค์ ในช่วงปี พ.ศ. 2519-2520 ถวัลย์ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปหมกตัวอยู่ในปราสาทอายุ 700 ปีแห่งนี้ แต่ละวันเอาแต่วาดๆๆๆ หม่ำอาหารมื้อเดียว ไม่พบไม่เจอผู้คน จนเมื่อผลงานเสร็จสิ้นก็เป็นที่ถูกอกถูกใจเจ้าชายมากจนถึงกับมอบเช็คเปล่าให้ถวัลย์ไปเขียนตัวเลขจำนวนเงินเอาเองเพื่อเป็นค่าตอบแทน

ลวดลายบนตู้พระธรรม ฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี (ภาพจากหนังสือ Die buddhistische Kunst)
ตู้พระธรรม ฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี (ภาพจาก Christie’s)

สมัยที่ถวัลย์มีชีวิตอยู่ ผลงานประเภทที่ปาดฉุบฉับไม่กี่นาทีนั้นขายได้สบายๆ รูปละหลายๆ แสน ส่วนประเภทอื่นๆ ที่ค่อยๆ วาดนั้นมีราคาสูงกว่านี้มาก ถ้าคำนวณกันเป็นนาทีถวัลย์น่าจะเป็นศิลปินไทยที่ค่าตัวแพงที่สุด และไม่ใช่ว่าใครอยากได้ก็กำตังค์ไปหาซื้อเอาง่ายๆ ภาพผลงานของถวัลย์ไม่ได้มีวางขายกันเกร่อตามแกลเลอรี ไปหาถวัลย์ถึงที่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เจอ หรือถึงเจอตัวถ้าคุยๆ กันแล้วไม่ผ่านสัมภาษณ์ถวัลย์ก็ไม่ขายให้ ยิ่งเมื่อหลังจากถวัลย์ลาโลกไป ใครมีผลงานของถวัลย์เก็บเอาไว้ต่างก็หวงแหนซะยิ่งกว่าไข่ในหิน จะเปลี่ยนมือแต่ละทีถ้าราคาไม่สูงจริงๆ ก็ไม่มีใครเขาอยากจะปล่อยกัน ทุกวันนี้ถวัลย์เลยยังครองอันดับ 1 อย่างเหนียวแน่นในรายชื่อศิลปินไทยที่ทำสถิติราคาสูงที่สุดในงานประมูลทั้งในเมืองไทยและเมืองนอก นึกซะว่าผลงานของ ถวัลย์ ดัชนี มีค่าดั่งทอง เก็บรักษาไว้ดีๆ ชาตินี้ไม่มีขาดทุน

‘คาแรกเตอร์เก๋ไก๋ ไม่มีใครเหมือน’ เราว่าสิ่งที่ทำให้ใครๆ ก็จำถวัลย์ได้ขึ้นใจแม้เห็นแค่เพียงแวบเดียว เพราะรูปแบบผลงาน และคาแรกเตอร์ส่วนตัวดูโดดเด่นไม่ธรรมดา เรื่องผลงานนั้นเล่าไปแล้ว ส่วนเรื่องลุกส์นี่ถวัลย์ก็นำเทรนด์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร สมัยเอ๊าะๆ นั้นถวัลย์ถือว่าหล่อเหลาเอาการ หุ่นนายแบบไว้ผมทรงเดียวกับ เอลวิส เพรสลีย์ ชอบใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์แบบ เจมส์ ดีน พอไปเรียนเมืองนอกก็เริ่มแต่งตัวจัดเนี้ยบไปทุกกระเบียดราวกับหลุดออกมาจากแมกกาซีน

ถวัลย์เคยเล่าว่า ในสมัยวัยรุ่นเคยมีความเชื่อว่ายิ่งทำตัวฝรั่งเท่าไหร่ก็ยิ่งโก้เก๋ จนเมื่อมีวุฒิภาวะทางความคิดสูงขึ้นถึงรู้สึกตัวว่าการเอาแต่จะลอกฝรั่งนั้นเหมือนเป็นการลืมตัวตน จะหาเครื่องแต่งกายอย่างฝรั่งยี่ห้อที่วิเศษวิโสเท่าไหร่มาห่มกายก็เป็นได้แค่กากเดนของตะวันตก เหมือนทาสที่ไม่ยอมเป็นอิสระ หลังๆ ถวัลย์จึงเลิกแต่งตัวตามฝรั่ง และเริ่มลดความสำคัญของเปลือกนอก เน้นใส่แต่เสื้อผ้าสีดำ ประดับประดาร่างกายด้วยสร้อย กำไล แหวน ที่ทำจากเขี้ยว งา กรงเล็บ เอาไว้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจในการเขียนภาพ ลุกส์ที่ออกมาเลยดูดุเดือดคล้ายคลึงกับงานศิลปะที่ถวัลย์สร้างสรรค์ จนยิ่งเข้าวัยดึกก็ยิ่งกลับคืนสู่สามัญขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นถวัลย์ที่เราคุ้นตา ชายร่างท้วมท่าทางใจดีที่มีผมและเคราสีขาวยาวเหมือนซานตาคลอส ใส่ชุดหม้อฮ่อม คีบรองเท้าแตะยางไปแทบจะทุกที่จนกลายเป็นซิกเนเจอร์ที่ใครๆ ก็จำได้

ถวัลย์ ดัชนี ขณะที่วาดภาพด้วยฝีแปรงแบบฉับพลัน (ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ถวัลย์ ดัชนี)

นอกจากเรื่องเครื่องนุ่งห่ม บุคลิกท่าทางการพูดการจาถวัลย์ก็มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง ถวัลย์ชอบร่ายบทกลอน  และมีความรู้รอบตัวมากพอๆ กับกูเกิล ใครถามอะไรเรื่องไหนถวัลย์ตอบได้หมด ถึงผลงานศิลปะที่ถวัลย์สร้างสรรค์จะดูกราดเกรี้ยวแต่จริงๆ แล้วถวัลย์เป็นคนอารมณ์ดี มีคารมคมคาย แนะให้ลองหาคลิปถวัลย์ปล่อยมุกในอินเทอร์เน็ตดู รับประกันว่าฮามากๆ

เฮ้ย! อะไรเนี่ย เผลอแป๊บเดียวร่ายเหตุผลมาซะยาวเหยียด นี่ถ้าไม่รักไม่ชอบกันจริงคงไม่อวยรวดเดียวมาซะสามหน้าห้าหน้าอย่างนี้แน่ๆ แต่ยังไม่พอขอแถมอีกเหตุผลที่ทำให้เราชอบนักชอบหนาที่จะหาผลงานของถวัลย์มาสะสม เพราะถ้าว่ากันถึงสรรพสิ่งใดๆ ในจักรวาลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานอันพลุ่งพล่าน ชนิดที่ไม่มีทางเสื่อม ไม่มีวันหมด ไม่กินไฟ ไม่ต้องเสียบปลั๊ก ไม่ต้องชาร์จแบต เราว่ามีแค่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ อินฟินีตี้สโตน สุดยอดปราถนาของธานอส กับอย่างที่สองคือผลงาน ถวัลย์ ดัชนี สุดยอดปราถนาของเรานี่แหละ มีพลังเหมือนกันยังไม่พอ ทั้ง 2 อย่างนี้ยังมีสรรพคุณคล้ายๆ กันอีก หินของธานอสดีดนิ้วปุ๊บชีวิตหายไปครึ่งจักรวาลปั๊บ ส่วนงานของถวัลย์พอได้มาทีไรดีดนิ้วปุ๊บตังค์หายไปครึ่งบัญชีปั๊บ วิเศษจริงๆ

Don`t copy text!