กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี

กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้ได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

 

“เห็นดังนั้นเลยพลันพนมมือและนึกในใจว่า

ถึงอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี จะไม่อยู่แล้ว

แต่ท่านคงจะรู้สึกถึงความสงสัยของเราจากอีกภพ

ท่านเลยเมตตาช่วยเติมเต็ม 0.01 เปอร์เซ็นต์ที่คาใจเราด้วยภาพถ่ายนี้”

 

ค่ำวันหนึ่ง เพื่อนคอเดียวกันที่ชื่นชอบของโบราณได้โทรมาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบตามปกติ คุยไปสักพักเขาก็บอกว่าเพิ่งได้รูปของถวัลย์ ดัชนี มาชิ้นหนึ่ง ดูพิลึกกึกกือดีไม่มีในสารบบ ไม่แน่ใจว่าเป็นของจริงหรือของเก๊ เลยชวนเรามาช่วยดูด้วยกันสนุกๆ ไอ้เราก็ไม่รอช้า ตรงดิ่งไปหาเพื่อนเลยไม่ให้เสียความตั้งใจ พอไปถึงเขาก็ยกภาพเขียนที่เพิ่งได้มาใหม่ให้ดูอย่างภูมิใจ 5-6 ภาพ มีภาพสีน้ำมันบ้าง สีน้ำบ้าง ภาพพิมพ์บ้าง มีภาพนกฮูก ภาพผู้หญิงถือร่ม ภาพม้า ภาพคนใส่หัวโขน ภาพวิวทะเล เล็งๆ ดูแล้วภาพทั้งหมดถึงจะเป็นภาพเขียนรูปแบบสมัยใหม่ แต่จากสภาพสีที่แห้งแตก สภาพเทปกาวด้านหลังที่เหลืองอ๋อย และสไตล์ของกรอบรูปแล้ว ภาพแต่ละภาพน่าจะมีอายุอานามหลายสิบปีแก่กว่าเราเป็นแน่แท้ ภาพเหล่านี้เขียนโดยศิลปินชาวไทยที่ถึงแม้เราจะอ่านลายเซ็นออก หากแต่ละท่านก็ไม่คุ้นชื่อเลย

ไล่เรียงมาจนมาถึงไฮไลต์ของค่ำคืน ภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มถูกวางพิงหันหน้าเข้าผนังอยู่ตรงมุมห้อง เมื่อมองดูจากด้านหลัง กรอบไม้สักสีน้ำตาลทองของภาพช่างดูกลมกลืนกับพื้นไม้ปาร์เกต์ของห้องเสียเหลือเกิน คราวนี้พอพลิกดูด้านหน้าก็ได้จ๊ะเอ๋กับภาพเขียนสีน้ำมันบนกระดานไม้อัดแนวนอนขนาดประมาณ 4 คูณ 2 ฟุต เป็นภาพกิ้งก่าสีเขียวแกมส้มตัวเขื่องขนาดเท่าน้องๆ ไอ้เข้ ทั้งหัวทั้งหางแทบจะล้นกรอบ นอนอล่างฉ่างแสยะยิ้มเห็นฟันขาวจั๊วะอยู่บนฉากหลังสีเหลืองมัสตาร์ด กิ้งก่าตัวนี้ถูกวาดขึ้นด้วยเกรียงแบบฉวัดเฉวียนทิ้งสีไว้เป็นก้อนๆ หนาๆ บีบสีหมดไปไม่รู้กี่หลอด ทุกรอยเกรียงถ้าพิจารณาดูดีๆ จะรู้สึกถึงความเมามันของศิลปินในขณะสร้างสรรค์งาน สีแต่ละปื้นผสมผสานรวมกันกลายเป็นมัดกล้าม เกล็ด หนาม ฟัน และ เล็บที่แหลมคมของกิ้งก่าได้อย่างน่าประหลาด มิหนำซ้ำด้วยปื้นสีหนาๆ ที่ถูกปาดอย่างรวดเร็วทิ้งรอยเกรียงไว้ยังทำให้เรารู้สึกว่ากิ้งก่าตัวนี้มีชีวิตและสามารถเคลื่อนไหวอ้าปาก ผงกคอ สะบัดหาง ได้อย่างน่าพิสดาร สีที่ถูกเลือกมาใช้ก็แสนจะแพรวพราวสดใสจนแทบจะเรืองแสงได้

 

‘กิ้งก่า’ พ.ศ​. 2507 เทคนิคสีน้ำมันบนกระดานไม้ ขนาด 121 x 65 เซนติเมตร

 

เมื่อมองภาพนี้ไม่ว่าจากมุมไหนก็อดไม่ได้ที่จะสะดุดตากับลายเซ็นสีดำตัดกับพื้นเหลืองตัวเบ้อเร่อขนาดเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของหัวกิ้งก่า จารึกไว้บริเวณมุมซ้ายล่างของภาพว่า ‘Thawan 64’ เห็นแค่นี้ก็พอจะเดาได้รางๆ ว่าภาพนี้น่าจะถูกวาดโดยศิลปินชื่อ ‘ถวัลย์’ แต่ไม่รู้ว่าถวัลย์ไหน และเขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1964

ผลงานภาพสีน้ำมันของถวัลย์ ดัชนี ที่คนส่วนใหญ่คุ้นตาและเห็นกันบ่อยๆ นั้นมักจะเป็นภาพหน้าพระ คนหัวเป็นสัตว์ เสือกัดควาย อินทรีโฉบ หรือเนื้อหาอะไรเทือกนั้น และส่วนใหญ่จะไม่ใช้เกรียง แต่จะวาดด้วยพู่กันหรือแปรงใหญ่ๆ โดยใช้สีดำสีเดียววาดบางๆ บนฉากสีขาว บ้างก็ใช้สีดำวาดบนฉากสีแดง หรือไม่ก็ใช้สีขาววาดบนฉากสีดำ แต่จะแบบไหนก็เถอะ เพราะดูยังไงงานของถวัลย์รุ่นพิมพ์นิยมก็ช่างแตกต่างกับภาพกิ้งก่าเรืองแสงสีหนาๆ นี้อย่างลิบลับ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมแม้แต่เพื่อนเราที่ว่าเซียนยังงงๆ ว่าได้รูปถวัลย์ผิดคนมาหรือเปล่า ตอนนั้นก็คิดอยู่ในใจว่าถ้าดูยากนักก็ว่าจะยกไปให้ถวัลย์ฟันธงเองเลยเพราะตอนนั้นท่านก็ยังมีชีวิตอยู่

ก่อนกลับเลยขอข้อมูลเพิ่มเติมจากเพื่อนถึงที่มา จนได้ใจความว่าเขาประมูลทางออนไลน์ได้มาจากบริษัทประมูลเล็กๆ ในอเมริกา แต่ไม่ได้บอกว่าได้มาในราคาเท่าไร ด้วยมารยาทเราเองก็ไม่กล้าถาม คืนนั้นพอแยกย้ายกลับมาถึงบ้าน ต่อมเผือกเรื่องชาวบ้านก็เริ่มทำงานอย่างหนักเลยลองกดถามกูเกิ้ลดูเพราะรู้ว่าถ้าประมูลมาจากเมืองนอกต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับราคาและที่มาแน่ๆ เพราะข้อมูลพวกนี้ฝรั่งเขาให้ความสำคัญมากๆ และก็เป็นอย่างที่คิด คลิกไปคลิกมา ใช้เวลาไม่กี่อึดใจ ก็พบว่าภาพนี้ถูกจัดประมูลรวมกับของอื่นๆ ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2013 โดยบริษัทประมูลท้องถิ่นชื่อว่า สโลน แอนด์ เคนยอน มีที่ตั้งอยู่ในรัฐแมริแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ขอสารภาพตามตรงว่าตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งจะเคยได้ยินชื่อบริษัทประมูลนี้  ในการประมูลครั้งนั้นมีของมาประมูลกันพันกว่าชิ้น และแทบทั้งหมดเป็นของโบราณและงานศิลปะจากเมืองไทย ประเทศเพื่อนบ้าน มีมาขายหมดทั้งพระพุทธรูป ถ้วยชามรามไห ตู้ โต๊ะ เตียง ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ มีครบ

เป็นที่น่าตกใจเพราะของทั้งหมดที่นำมาประมูลขายนี้มาจากเจ้าของเจ้าเดียวกันหมด คือเป็นของสะสมของคอนราด เบคเคอร์ ผู้เป็นสามี และซาร่า เบคเคอร์ ผู้เป็นภรรยา ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ในรัฐเวอร์จิเนีย ใกล้ๆ กับบริษัทประมูลชื่อไม่คุ้นนี้ รู้อย่างนี้ยิ่งสงสัยไปใหญ่ว่าทำไมสามีภรรยาชาวอเมริกัน จึงมีข้าวของโบราณดีๆ ของบ้านเราเยอะเหลือเกิน และที่สำคัญ แกจะขายของแบบโละทั้งหมดทำไม กูเกิลต่อไปจึงได้ถึงบางอ้อ เพราะเจอข้อมูลว่าสามีภรรยาคู่นี้เคยมาทำงานอยู่สถานทูตสหรัฐฯ ในเมืองไทย อยู่ในช่วงราวๆ ปี ค.ศ. 1960-1970 ระหว่างนั้นทั้งคู่คงจะช้อปปิ้งของเก่าและงานศิลปะเอาไว้เพียบ พอหมดหน้าที่ในเมืองไทยก็เลยขนของรักของหวงทั้งหมดกลับอเมริกาไปด้วย ส่วนสาเหตุที่มีการประมูลนั้นก็เพราะว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตลง ลูกหลานคงไม่สนใจเก็บสมบัติก็เลยถูกผลัดกันชม

กลับมาที่ภาพกิ้งก่า ภาพนี้ไม่ใช่ภาพเดียวที่ถูกประมูล ในรายการของที่ถูกขายยังมีภาพเขียนอีกหลายสิบชิ้นและทั้งหมดเขียนขึ้นในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1960-1970 ที่คุ้นชื่อก็เห็นจะมีภาพเขียนโดยสวัสดิ์ ตันติสุข, สุจริต หิรัญกุล, และถวัลย์ ดัชนี ไล่เรียงดูผลการประมูล แต่ละภาพจบราคาไปแบบแทบจะได้เปล่า ศิลปินที่ไม่คุ้นชื่อประมูลกันไปหลักพันบาท แค่ค่ากรอบก็ไม่คุ้มแล้ว ที่มีชื่ออย่าง สวัสดิ์ ตันติสุข ก็ประมูลจบกันไปไม่กี่หมื่นบาท ในขณะที่บ้านเราซื้อขายกันอยู่ภาพละสองแสนถึงสามแสนบาท ที่ได้ราคาหน่อยแต่ก็ถูกสุดๆ อยู่ดี ถ้าเทียบกับมูลค่าที่ควรจะเป็นก็มีภาพที่ว่าเป็นฝีมือถวัลย์ ดัชนี ภาพกิ้งก่า ภาพนี้ กับภาพพระเยซูถูกตรึงไม้กางเขนอีกภาพ ที่จบการประมูลไปภาพละไม่กี่แสนบาท ที่ราคาแต่ละชิ้นถูกเกินจริงก็น่าจะเป็นเพราะดันเอาของไปประมูลผิดที่ผิดทาง แฟนคลับของศิลปินเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่เมืองไทยและประเทศแถบเอเซีย น่าจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีการประมูลนี้เกิดขึ้น เลยไม่มีใครเข้าประมูลแข่ง ไอ้เพื่อนเราก็ช่างเสาะแสวงหาเสียเหลือเกิน ไปเจอเข้าได้อย่างไรก็ไม่รู้

ส่วนเรื่องภาพกิ้งก่าจะเก๊หรือไม่เก๊ หลังจากดูที่ความเก่าของตัวงาน กรอบ สิ่งประกอบอื่นๆ ปะติดปะต่อรวมกับเรื่องราว ที่มา และประวัติของเจ้าของเก่าแล้ว ก็ดูเหมือนไม่มีอะไรให้น่าสงสัย และเมื่อลองไปเปรียบเทียบกับสไตล์การเขียนและลายเซ็นของถวัลย์ ดัชนี ในยุค 60s ยุคที่อาจารย์เพิ่งเรียนจบจากศิลปากรมาใหม่ๆ ซึ่งหาดูยากและแตกต่างจากยุคหลังๆ ก็ดูจะสอดคล้องกัน

แผ่นพับนำชม พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย

 

เพื่อให้ยิ่งชัวร์ขึ้นไปอีก ดึกดื่นคืนนั้นหลังจากกูเกิลดู เลยลองไปค้นหนังสืออาร์ตที่รวบรวมเอาไว้เป็นกองพะเนินเทินทึก พลิกดูไม่กี่เล่มก็ไปจ๊ะเอ๋กับภาพพระเยซูถูกตรึงไม้กางเขน เป็นภาพประกอบอยู่ในหนังสือจิตรกรรมแนวเซอเรียลิสม์ในประเทศไทย ภาพเดียวกับที่ถูกประมูลไปพร้อมๆ กับภาพกิ้งก่าเป๊ะ เพราะฉะนั้น โดยเหตุโดยผลแล้ว ถ้าพระเยซูเป็นงานถวัลย์ ดัชนี ของแท้ กิ้งก่าก็น่าจะแท้เช่นเดียวกัน เพราะเราเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ ได้ข้อมูลมาแค่นี้ยังไม่พอ วันถัดมาก็เที่ยวโทรถามผู้รู้อีกหลายคน ทุกคนก็ลงความเห็นว่าใช่ รู้อย่างนี้ก็เลยบอกเพื่อนไปว่าเรามั่นใจว่ารูปนี้ของแท้ พร้อมทิ้งท้ายกับคำถามสุดคลาสสิกว่า “พอจะแบ่งได้หรือเปล่าครับ?”

และก็ไม่ลืมที่จะถามเพื่อนคนเดิมถึงรูปพระเยซูถูกตรึงไม้กางเขนว่าได้มาด้วยหรือเปล่า? ได้คำตอบว่าตอนนั้นเขาเองก็ไม่แน่ใจก็เลยใส่ราคาประมูลไปไม่สูง คนอื่นก็เลยได้ไปในราคาแสนต้นๆ เป็นอันว่าเพื่อนเราเลยอด เรื่องราวไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะในปีถัดมา บริษัทประมูลคริสตี้ส์ ได้นำเอาภาพเขียนสีน้ำมัน ภาพชาวนากำลังเกี่ยวข้าว ฝีมือถวัลย์ ดัชนี จากยุค 60s ที่ใช้เกรียงวาดด้วยลีลาฉวัดเฉวียนและสีสันสดใสแบบเดียวกับกับภาพกิ้งก่าและภาพพระเยซูมาประมูลขายที่ฮ่องกง ต้องถือว่าขายถูกที่ถูกทาง ภาพนี้เลยประมูลจบไปในราคา 20 ล้านบาทหน่อยๆ เท่านั้นเอง รู้ดังนั้นแล้วจึงรีบโทรไปบอกข่าวกับเพื่อนด้วยความหวังดี ไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายจิตใจ แต่สำหรับเพื่อนเราแล้ว ข่าวนี้กลับเป็นข่าวที่น่าสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง

 

ถวัลย์ ดัชนี สมัยหนุ่ม และ ภาพ ‘กิ้งก่า’

ตอนนั้นเรามั่นใจว่าภาพกิ้งก่าเรืองแสงภาพนี้เป็นของแท้ 99.99% หลังจากถวัลย์ ดัชนี เสียชีวิต เราก็มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบ้านดำของท่านที่เชียงราย พอซื้อตั๋ว เจ้าหน้าที่ก็แจกแผ่นพับข้อมูลนำเที่ยวสถานที่ให้คนละแผ่น ในแผ่นพับนั้นมีภาพถ่ายขาวดำ เป็นภาพ ถวัลย์ ดัชนี สมัยเป็นวัยรุ่นหุ่นผอมเพรียว ผมดกหนา แต่งตัวบูติกยืนเต๊ะท่า จิกตา เม้มปาก มองเผินๆ นึกว่า เจมส์ ดีน ฉากหลังเป็นภาพเขียนหลายภาพที่ท่านเพิ่งเขียนเสร็จวางพิงๆ กันไว้ ถึงจะเห็นเลือนๆ แต่ก็ดูออกทันทีว่าในนั้นมีภาพกิ้งก่าของเราชิ้นนี้อยู่ด้วยนี่นา เห็นดังนั้นเลยพลันพนมมือและนึกในใจว่า ถึงถวัลย์ ดัชนี จะไม่อยู่แล้ว แต่ท่านคงจะรู้สึกถึงความสงสัยของเราจากอีกภพ ท่านเลยเมตตาช่วยเติมเต็ม 0.01 เปอร์เซ็นต์ที่คาใจเราด้วยภาพถ่ายนี้

ในวันนั้นสิ่งเล็กๆ ที่ได้รับ ผนวกกับการที่เราได้อยู่ท่ามกลางงานศิลปะและสถานที่ที่ ถวัลย์ ดัชนี รัก ก็ยิ่งทำให้เรามีความสุขมากขึ้นอีกร้อยเท่าพันทวี

——————————————-

 

Don`t copy text!