ตื่นรู้เพราะดูหนัง…ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
ตอนที่พระเจ้าตากยกทัพไปตีเมืองจันทบุรี พระองค์ทรงสั่งให้ไพร่พลกินข้าวกินปลาให้อิ่มแปล้ แล้วจัดการทุบหม้อข้าวหม้อแกงให้หมด ถ้าบุกเมืองได้ มื้อต่อไปก็ไปหุงหาอาหารในเมืองกัน แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ให้อดตายไปพร้อมๆ กัน ได้ยินเรื่องนี้ทีไรก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงเรื่องราวของศิลปินไทยท่านหนึ่ง ที่รักศิลปะอย่างกับพระเจ้าตากรักชาติ เลือกใช้ยุทธวิธีไปตายเอาดาบหน้าจนเกือบจะได้ตายไปเลยจริงๆ ทุ่มแบบหมดหน้าตักขนาดนี้คงมีแต่ ประเทือง เอมเจริญ เท่านั้นที่กล้าทำ
ประเทือง เอมเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2478 ณ บ้านริมคลองบางไส้ไก่ จังหวัดธนบุรี ถิ่นพระเจ้าตาก ปัจจุบันจังหวัดนี้ไม่มีในแผนที่เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ไปแล้ว ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 จาก 3 คนของนายชิต และ นางบุญช่วย ที่ฐานะทางครอบครัวไม่สู้จะดีซักเท่าไร ประเทืองเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเทศบาลวัดสุทธาวาสใกล้ๆ บ้าน แต่พอจบ ป.4 บิดาของท่านผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวก็ถึงแก่กรรม ประเทืองจึงจำใจต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยที่บ้านทำงานหารายได้ แทนที่จะได้เรียนหนังสือวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ตามประสาเด็ก ประเทืองต้องกระเสือกกระสนทำงานหนักทั้งทำสวน ขายขนม แบกหาม ตีเหล็ก เสิร์ฟกาแฟ และอาชีพจิปาถะอื่นๆ อีกร้อยแปด
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประเทืองและพี่ชายงอนแม่ที่มีสามีใหม่ เลยพากันหนีออกจากบ้านไปเป็นคนร่อนเร่พเนจร ชำนาญ เอมเจริญ พี่ชายของประเทือง จบจากเพาะช่างจึงมีความรู้ด้านศิลปะ พาประเทืองไปตระเวนรับจ้างออกแบบเขียนป้ายโฆษณา ทาสีศาลพระภูมิ ไม่เกี่ยงแม้กระทั่งล้างรถหรืองานอะไรก็ได้ถ้ามีคนจ้าง วันไหนมีงานก็มีรายได้แค่พอซื้อข้าวซื้อน้ำประทังชีวิต วันไหนไม่มีงานก็ต้องอดข้าวดื่มน้ำคลองไป ไม่มีเงินพอที่จะไปเช่าห้องหับที่ไหนให้ซุกหัวนอน กลางค่ำกลางคืนเลยต้องอาศัยนอนกับคนอนาถา หมา และยุงตามสวนสาธารณะอยู่อย่างนั้นครึ่งปีจนทั้งคู่ซูบผอมใกล้ตาย ถึงได้ตัดสินใจบากหน้ากลับไปหาแม่ที่บ้านตามเดิม
หลังกลับมาอยู่บ้าน พี่ชายของประเทืองได้งานทำที่บริษัททำป้ายชื่อว่า ‘เอสจันโฆษณา’ เลยพาน้องชายซึ่งมีวุฒิแค่ ป.4 ไปฝากงานด้วย ประเทืองเริ่มงานประจำที่บริษัทในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด และเป็นลูกมือเตรียมสีให้ช่างเขียน ได้รับเงินเดือนเดือนแรก 80 บาท ประเทืองทำงานอย่างขยันขันแข็งเคียงคู่ไปกับการเรียนรู้เทคนิคการเขียนป้ายจนได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นช่างใหญ่เงินเดือนนับพันบาทได้อย่างรวดเร็ว บริษัทเอสจันโฆษณามีเจ้าของเป็นคนจีนที่ทุกคนเรียกว่า ‘ซิงแซ’ ซึ่งประเทืองนับถือเป็นครูศิลปะคนแรกในชีวิต เมื่อว่างจากงาน ซิงแซมักจะนั่งวาดภาพเป็นงานอดิเรก ส่วนประเทืองก็ชอบไปยืนดูและคอยรับใช้ล้างพู่กัน เสิร์ฟน้ำ ซิงแซชอบปาดสีเร็วๆ หนาๆ ลงไปบนภาพตามสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ ทั้งๆ ที่ใช้พู่กันป้ายสีออกมาเป็นภาพเหมือนกัน แต่ภาพวาดของซิงแซนั้นช่างให้ความรู้สึกแตกต่างกับป้ายโฆษณาที่ประเทืองเขียนอยู่ทุกวัน สิ่งที่เห็นจึงแปลกใหม่และตื่นตาตื่นใจสำหรับประเทืองผู้ไม่เคยเล่าเรียนศิลปะมาก่อนเลยเป็นอย่างมาก
ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่เอสจันโฆษณา ประเทืองมักใช้เวลาในวันหยุดไปช่วยงานน้องชาย ประเสริฐ เอมเจริญ ที่ทำอาชีพวาดภาพประกอบในโรงหนังและมีงานล้นมือจนทำไม่ทัน หนังเรื่องใหม่ออกฉายแต่ละทีก็ต้องวาดภาพใหม่ยกชุด หนังใหม่เข้าโรงเดือนละหลายๆ เรื่อง แถมโรงหนังใหม่ๆ ก็ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ประเทืองช่วยไปช่วยมาจนเวลาที่มีในวันหยุดไม่พอ ก็เลยตัดสินใจลาออกมาเป็นช่างเขียนภาพประกอบหนังเหมือนน้องชายด้วยอีกคน ประเทืองฝีมือดี งานไว ทำให้ค่อยๆ เป็นที่รู้จักในวงการ ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำถึงเดือนละหลักหมื่น ซึ่งไม่เรียกว่าเยอะแต่ต้องเรียกว่าโคตรเยอะในสมัยเมื่อ 60 ปีที่แล้วที่ทองยังราคาบาทละแค่ 400 บาท
หนุ่มติสท์ มีชื่อเสียง หน้าที่การงานดี ก็ย่อมจะฮ็อตเป็นธรรมดา ท่านพบภรรยาในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 2 ท่าน คือ ‘คำยอด’ กับ ‘นิตยา’ ครอบครัวที่ขยายใหญ่มี 2 ศรีภรรยาบวกกับลูกๆ ที่ทยอยเกิดขึ้นมาถูกจัดสรรให้อยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้อย่างปกติสุขโดยมีประเทืองเป็นที่พึ่งของบ้าน
ในช่วงนั้นประเทืองใช้เวลาว่างจากงานและครอบครัวไปกับการศึกษาศิลปะด้วยตนเองโดยการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้รู้ ดูนิทรรศการ ดูหนังสือจากต่างประเทศ ดูคอนเสิร์ต ดูละคร และดูหนัง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เสียค่าตั๋วเพราะเป็นคนวาดภาพประกอบเอง ประเทืองชอบดูหนังเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะดูฟรีแต่เพราะคิดว่าภาพยนตร์เป็นการนำศิลปะทุกแขนง ทั้งวรรณกรรม จิตรกรรม ดนตรี การแสดง มารวมไว้ในที่เดียว ถ้าตั้งใจดูดีๆ ก็จะช่วยเปิดมุมมองทางศิลปะได้มาก จนวันหนึ่งประเทืองได้ดูหนังฝรั่งเรื่อง Lust for Life ที่จั่วหัวเป็นภาษาไทยว่า ‘แรงปรารถนา เพื่อชีวิต’ นำแสดงโดย เคิร์ก ดักลาส เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวประวัติของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ศิลปินชาวดัตช์ผู้ซึ่งมีชีวิตอันอาภัพแต่กลับมาโด่งดังคับฟ้าเมื่อเจ้าตัวลาโลกไปแล้ว ประเทืองชอบหนังเรื่องนี้มากถึงขั้นคลั่งไคล้ ดูซ้ำไปซ้ำมาจนแทบจะแสดงแทนเคิร์กได้เลยเพราะจำบทได้ครบทุกฉาก
ชีวิตของแวนโก๊ะสะกิดใจให้ประเทืองหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า จุดมุ่งหมายหลักในชีวิตที่แท้จริงคืออะไร? ประเทืองมองว่างานที่ทำอยู่ถึงแม้จะทำให้ชีวิตสุขสบายด้วยเงินเดือนมหาศาล แต่ก็เป็นแค่การรับจ้าง ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่ได้ช่วยยกระดับจิตใจใคร ไม่ได้สร้างสรรค์คุณค่าอะไรทิ้งไว้ให้มวลมนุษย์ เหมือนใช้ชีวิตแค่เกิดมาแล้วตายไปอย่างไร้ความหมาย คิดได้ดังนั้นแล้วเลยกลับบ้านไปกอดแม่กอดเมียเพื่อประกาศว่า ต่อไปนี้จะเลิกอาชีพวาดภาพประกอบหนังอย่างเด็ดขาด และจะเริ่มเป็นศิลปินขนานแท้ที่สร้างสรรค์เฉพาะศิลปะบริสุทธิ์อย่างเต็มตัว ได้ยินได้ฟังดูแล้วที่บ้านก็คงงงๆ อยู่ว่ากินยาผิดซองหรือเปล่าแต่ก็สนับสนุนความตั้งใจอย่างเต็มที่
ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. 2505 ประเทืองมีอายุได้ 27 พอดี การตัดสินใจมุ่งมั่นเป็นศิลปินอย่างปัจจุบันทันด่วนเรียกได้ว่าเป็นการเอาชีวิตไปเดิมพันขนานแท้ ทั้งๆ ที่งานเดิมที่ทำก็ดีอยู่แล้ว ปากท้องลูกเมียและแม่ที่แก่ชราก็ยังต้องเลี้ยงดู อีกทั้งวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยตอนนั้นก็เพิ่งจะเริ่มต้น หอศิลป์สักแห่งก็ไม่มี ศิลปะยังเป็นเรื่องแปลกใหม่ห่างไกลจากชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ ผลงานศิลปะไม่ได้มีราคาไม่เป็นที่นิยมซื้อหากันเหมือนสมัยนี้ จะวาดภาพไปขายใครยังแทบจะนึกไม่ออก
พอประเทืองเริ่มเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์แต่ผลงานศิลปะ อุปสรรคก็ค่อยๆ มีเข้ามาทีละเรื่องสองเรื่องจนมากมายอีรุงตุงนังเกินคาด แรกๆ หวังจะเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ข้างบ้านชื่อ ‘อาร์ต แอนด์ จอย’ ไว้หารายได้พอเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ถึงสตาร์บัคส์ยังไม่มาแต่รอบๆ ก็มีคู่แข่งเยอะเหลือเกิน เปิดได้สักพักก็ทนขาดทุนไม่ไหว เจ๊งไปตามระเบียบ วันหนึ่งลูกชายที่ยังเล็กก็ร้องไห้กระจองอแงไม่หยุดหย่อน พอพาไปหาหมอ ก็พบว่าเป็นมะเร็งและอยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต แม่ของประเทืองพออายุมากขึ้นก็เริ่มมีอาการป่วยทางจิต วันดีคืนดีเอามีดทิ่มคอตัวเองเลือดสาดต้องหามส่งโรงพยาบาล ด้วยปัญหาที่ประดังเข้ามา ผลงานภาพวาดของประเทืองในยุคแรกเริ่มนี้เลยดูดำเมี่ยม มืดตึ๊ดตื๋อ แต่ละฝีแปรงเปรียบประดุจรอยเลือดและน้ำตาของคนวาด เวลาล่วงเลยไปหลายปีผลงานสไตล์แรงๆ ล้ำๆ สะท้อนอารมณ์เศร้าที่ประเทืองสร้างขึ้นมานั้นขายไม่ได้เลยสักชิ้น
พอไม่มีรายได้นานเข้าครอบครัวที่เคยมีกินมีใช้ก็เริ่มอัตคัดเข้าขั้นยากจน ผักบุ้งจิ้มน้ำพริกแทบจะเป็นอาหารหลักในทุกมื้อจนลูกเมียขาดสารอาหาร บ้านช่องก็เริ่มผุพัง ประตูแหว่ง หลังคาโหว่ กลางค่ำกลางคืนก็อยู่กันแบบมืดๆ เพราะโดนตัดไฟ จะออกไปไหนก็ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ เพราะรอบๆ บ้านมีแต่เจ้าหนี้คอยตามทวงเงิน ไม่นานบ้านที่คลองบางไส้ไก่ที่เอาไปค้ำประกันเงินกู้ก็หลุดจำนอง ทั้งครอบครัวต้องพากันย้ายไปอยู่ที่ใหม่แถวๆ บางแค
ประเทืองปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่เนี้ยบเหมือนสมัยทำงานประจำ ผมเผ้าหนวดเครายาวรกรุงรัง ใส่ชุดสีดำซอมซ่อชุดเดิมซ้ำๆ ไปที่ไหนก็ถูกรังเกียจด้วยรูปลักษณ์ มิหนำซ้ำยังถูกเหยียดหยามจากคนในแวดวงศิลปะหลายต่อหลายคนที่มองประเทืองว่าเป็นพวกไม่มีการศึกษา ไม่มีปริญญาศิลปะจากสถาบันไหนติดตัว ดูถูกว่ายังไงชาตินี้ประเทืองคงจะไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากได้ในฐานะศิลปินได้ พอเป็นอย่างนี้เพื่อจะให้เป็นที่ยอมรับ ประเทืองเลยต้องพยายามมากกว่าคนอื่นหลายเท่าเพราะไม่มีก๊กไม่มีเหล่าคอยช่วยผลักดัน
ซวยซ้ำซวยซ้อนเสียขนาดนี้ที่ประเทืองยังไม่เป็นบ้าหรือฆ่าตัวตาย แต่ยังมีความหวังก้มหน้าก้มตาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่อไป เพราะตลอดชีวิตของท่านตั้งแต่ยังเล็กได้พบเจอความทุกข์ยากผ่านร้อนผ่านหนาวมามากจนมีจิตใจที่กล้าแกร่ง และถึงชีวิตจะยากลำบากแสนสาหัสอย่างไร ก็ยังมีครอบครัว พี่น้อง และเพื่อนศิลปินร่วมอุดมการณ์อย่าง จ่าง แซ่ตั้ง, กมล ทัศนาญชลี, สมเกียรติ ปานะสิริศิลป์, สมชัย หัตถกิจโกศล, สุชาติ วัจนดิลก คอยเป็นกำลังใจ และหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ตามกำลัง
บนเส้นทางศิลปะอันมืดมิดของประเทือง แสงสว่างแห่งความสำเร็จเริ่มจะมองเห็นอยู่รำไรเมื่อท่านส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2510 ผลงานที่ส่งไปเป็นภาพแนวนามธรรมที่มีชื่อว่า ‘เลือด ทอง คอนกรีต’ ปรากฏว่าสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินมาได้ พร้อมเงินรางวัลอีก 5,000 บาท ที่ถูกเอาไปใช้ปลดหนี้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นในปีต่อๆ ไปประเทืองก็ส่งผลงานเข้าประกวดอีกและได้รับรางวัลอีกหลายรางวัลจนสาธารณชนเริ่มรู้จัก ประเทืองค่อยๆ มีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่สนใจศิลปะแวะเวียนมาขอความรู้ที่บ้านเพิ่มขึ้น จนวันหนึ่งมีคณะครูมาดูงาน ประเทืองได้พบกับครูสาวนามว่า ‘บุญยิ่ง’ ทั้งคู่รักใคร่ชอบพอกัน จนตกลงปลงใจเป็นสามีภรรยา ครอบครัวที่ใหญ่อยู่แล้วของประเทืองจึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีกคน
ประเทืองเริ่มมีชื่อเสียงและค่อยๆ ขายผลงานศิลปะได้ จากภาพวาดสมัยอดมื้อกินมื้อที่ดูมืดๆ ทึมๆ ประเทืองพัฒนาผลงานชุดต่อๆ มาให้มีสีสันสว่างไสวยิ่งขึ้นโดยใช้ดวงอาทิตย์เป็นแรงบันดาลใจ ประเทืองตื่นแต่ไก่โห่เพื่อไปแหงนคอรอดูดวงอาทิตย์ตั้งแต่แสงแรกของรุ่งอรุณ พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของเฉดสีของแสงในแต่ละช่วงเวลาของวัน จนพระอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไป เพ่งดูแสงอาทิตย์จนตาแทบบอดแล้วจำเอามาวาดเป็นภาพนามธรรมของจักรวาล ดาวฤกษ์ และรูปทรงต่างๆ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดยุบยิบและสีสันจัดจ้านน่าประทับใจ
ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลออกมาปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนมีผู้เสียชีวิตมากมาย ประเทืองก็เริ่มสร้างผลงานที่สะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับการเมืองออกมาหลายชิ้น ภาพธงชาติ กะโหลก หยดเลือด ปืน รูกระสุน ถูกสร้างสรรค์ออกมาเพื่อเตือนสติผู้ชมให้ระลึกถึงวันมหาวิปโยคนั้นและช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก ภาพชุดนี้กลายเป็นภาพชุดประวัติศาสตร์ในวงการศิลปะไทยที่มักถูกหยิบยกมากล่าวถึงเสมอในเรื่องความสำนึกรับผิดชอบของศิลปินที่มีส่วนช่วยในการจรรโลงสังคม
เมื่อบ้านเมืองกลับมาสงบอีกครั้ง ประเทืองก็กลับไปค้นหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ก้มหน้าก้มตามองรายละเอียดของกรวด หิน ดิน ทราย หยดน้ำ ใบไม้ ใบหญ้า เดินทางไกลออกไปซึมซับความรู้สึกของป่าเขา ทุ่งนา แม่น้ำ และทะเล ถ่ายทอดความประทับใจจากสรรพสิ่งรอบตัวสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่สมบูรณ์แบบ ภาพวาดของประเทืองถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นแนวนามธรรม แต่ก็เป็นภาพที่ตีความได้ไม่ยาก องค์ประกอบ รายละเอียด สีสัน ดูสวยงามอย่างไม่ต้องลังเลใจ
ควบคู่ไปกับการวาดภาพ ประเทืองมักประพันธ์บทกวีพรรณนาความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่พรั่งพรูออกมา ท่านเคยเปรียบตนเองดั่งดอกไม้เล็กจิ๋วริมทาง ที่จะใช้กำลังทั้งหมดที่มีชูช่อผลิบานให้กว้างให้สวยที่สุด ก่อนที่วันหนึ่งดอกไม้นั้นจะหมดแรงเหี่ยวแห้งไป ไม่สนว่าใครจะเดินมาเจอะมาสนใจหรือไม่ แค่ได้ทำเต็มที่และดีที่สุดในวันที่ยังทำได้ก็ภูมิใจแล้ว
เหมือนว่าดอกไม้ดอกจิ๋วดอกนั้นวันนี้จะเติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่สูงตระหง่าน ชื่อเสียงของประเทืองโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ จนขึ้นชั้นเป็นศิลปินแถวหน้าของประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งผู้ที่ในอดีตเคยดูถูกเหยียดหยามก็ต้องยอมศิโรราบ จากความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบทุ่มหมดตัวให้กับศิลปะ ท่านได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2548
ปัจจุบันประเทืองในวัยทะลุ 80 ยังคงสร้างผลงานศิลปะอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ท่านย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่กาญจนบุรี และเปิด ‘หอศิลป์เอมเจริญ’ เอาไว้บนที่ดินริมแม่น้ำแม่กลองเพื่อใช้จัดแสดงผลงานศิลปะให้สาธารณชนได้มีโอกาสชื่นชมดื่มด่ำ
รับรู้เรื่องราวชีวิตอันสุดวิบากของ ประเทือง เอมเจริญ กันแล้ว บอกไว้ก่อนว่าทั้งหมดนี้เป็นความสามารถที่แสนพิเศษเฉพาะตัว ถ้าไม่ชัวร์อย่าลอกเลียนแบบ ที่เตือนนี่เพราะเป็นห่วง กลัวว่าอ่านเสร็จจะด่วนตัดสินใจไปลาออกจากงาน แล้วเดินตามความฝันอันแสนหวานกันหมด ใจเย็นๆ ก่อนนะจ๊ะ
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี