คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น

คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

‘C Rigoli 1913’

ซึ่งปี ค.ศ. 1913 นั้นตรงกับปี พ.ศ. 2456

นั่นหมายความว่าสาวงามทั้ง 6 นางนี้

ถึงใบหน้าจะยังดูละอ่อนแต่พวกเธอต่างมีอายุทะลุ 100 ปีแล้ว

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 ถึง พ.ศ. 2531 เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาใช้พื้นที่ภายในตำหนักของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ตำหนักแบบยุโรปหลังย่อมที่ตั้งอยู่ด้านหลังตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหมหลังนี้ถูกใช้เป็นสำนักงานของแบงค์ชาติมายาวนานจนอยู่ในสภาพผุพังยับเยินถึงคราวจะต้องทำอะไรสักอย่างก่อนที่จะพังครืนลงมา เคยมีผู้เสนอไอเดียให้รื้อตำหนักต่างๆ ของวังบางขุนพรหมทิ้งไปเสียแล้วสร้างตึกสไตล์โมเดิร์นสมัยใหม่ขึ้นมาแทนที่ เพราะคำนวณสรตะกันแล้วค่าซ่อมนั้นดันแพงกว่าค่าสร้าง โชคยังดีที่ผู้บริหารแบงก์ชาติในสมัยนั้นไม่ได้บ้าจี้สั่งทุบตำหนักสำคัญสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันประเมินค่าไม่ได้เหล่านี้ทิ้ง แต่เลือกที่จะควักตังค์กองโตมารีโนเวตให้กลับมาอยู่ในสภาพเช้งกระเด๊ะดังเดิมแทน

เมื่อผู้รับเหมาเข้ามาสำรวจตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าตำหนักสมเด็จ เพื่อจะวางแผนการบูรณะ ทีมสำรวจก็ไปเจอะเข้ากับผนังประหลาดบริเวณชั้น 2 เหนือห้องบรรทม ที่ว่าแปลกเพราะเมื่อลองเคาะดูกลับมีเสียงดังกังวานเหมือนข้างในจะกลวงๆ แตกต่างจากผนังอาคารส่วนอื่นๆ ที่เคาะแล้วไม่ได้ยินเสียงอะไรเพราะเป็นปูนทึบหนาตึ้บ ไหนๆ ก็จะต้องซ่อมผนังกันใหม่หมดอยู่แล้วผู้รับเหมาเลยจัดแจงเลาะผนังส่วนที่เคาะแล้วมีเสียงออกมา พอรื้อเสร็จทีมช่างก็ถึงกับงงเต้กเป็นไก่ตาแตกไม่เชื่อสายตาตนเอง เพราะภายใต้ผนังกลวงนั้นมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สุดแสนจะวิจิตรวิลิศมาหราซุกซ่อนอยู่ภายใต้ไม้อัดและปูนที่ฉาบทับไว้ ภาพที่ว่านี้เป็นภาพหญิงงาม 6 คนเดินหยอกล้อกันอยู่ในป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ดอกไม้ในโทนสีพาสเทลอ่อนๆ ดูสบายตา เมื่อส่องดูใกล้ๆ ก็พบว่าภาพถูกวาดลงบนผนังโดยตรงด้วยเทคนิคแบบเฟรสโก หรือที่เรียกแบบไทยๆ ว่าเทคนิคสีปูนเปียก วิธีการทำก็ตามชื่อเรียก คือวาดลงไปบนผนังปูนที่ยังไม่แห้งดี สีที่ระบายลงไปจะได้ซึมเข้าไปในเนื้อผนังทำให้คงทนไม่หลุดล่อนง่าย ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมภาพวาดที่สวยงามสมบูรณ์ขนาดนี้ถึงถูกซ่อนเร้นเอาไว้อย่างมิดชิดสุดๆ เลยเดากันไปเองว่าในปี พ.ศ. 2475 ตอนที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเจ้านายองค์อื่นๆ ที่เคยประทับอยู่ ณ วังบางขุนพรหมแห่งนี้ต่างเสด็จฯ ออกจากวังไปเป็นการถาวร เมื่อตำหนักน้อยใหญ่กำลังจะถูกเปลี่ยนมือ ใครสักคนที่หวงแหนภาพวาดนี้ดั่งไข่ในหิน คงจะสั่งให้จัดการปกปิดเอาไว้เพราะกลัวคนที่ไม่เห็นค่าจะมาทำให้ภาพที่งดงามเกิดความเสียหาย 

ภาพเฟรสโกที่ค้นพบในตำหนักสมเด็จ (ภาพจากหนังสือชาวอิตาเลียนในราชสำนักไทย)

คำถามต่อๆ ไปที่พรั่งพรูออกมาหลังจากการค้นพบภาพวาดเกิร์ลกรุ๊ปนี้แล้วคือ ใครวาด? วาดขึ้นมาเมื่อไหร่? และเขาผู้นั้นเจ๋งเป้งอย่างไรทำไมถึงได้รับความไว้วางใจให้ฝากฝีมือไว้เหนือห้องบรรทมในตำหนักของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เช่นนี้? โชคยังดีที่คำถามเหล่านี้ไม่ต้องมานั่งมโนหาคำตอบอีกให้ปวดเศียรเวียนกบาล เพราะบริเวณมุมขวาล่างของภาพศิลปินนั้นได้เซ็นชื่อและระบุปีที่สร้างไว้หราว่า ‘C Rigoli 1913’ ซึ่งปี ค.ศ. 1913 นั้นตรงกับปี พ.ศ. 2456 นั่นหมายความว่าสาวงามทั้ง 6 นางนี้ถึงใบหน้าจะยังดูละอ่อนแต่พวกเธอต่างมีอายุทะลุ 100 ปีแล้ว ส่วน C Rigoli นั้นเป็นชื่อย่อของ คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) หนึ่งในศิลปินฝรั่งคนสำคัญในยุคบุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ของสยามประเทศ

ย้อนเวลาไปที่เมืองเซสโต ฟิออเรนติโน เมืองชื่อไม่คุ้นหูที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับมหานครฟลอเรนซ์ ศูนย์กลางทางศิลปะที่โด่งดังของประเทศอิตาลี เซสโต ฟิออเรนติโน เป็นเมืองเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยโบสถ์ ปราสาทราชวังอายุหลายร้อยปี และเป็นแหล่งผลิตเครื่องกระเบื้องชั้นดีส่งไปขายทั่วยุโรป ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 ณ เมืองที่รุ่มรวยไปด้วยศิลปะวัฒนธรรมแห่งนี้เองที่ คาร์โล ริโกลี ได้ลืมตาดูโลก เด็กชายริโกลีเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับพี่น้องอีก 4 คนในครอบครัวที่มีอันจะกิน ริโกลีได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีโดยพ่อกับแม่ตั้งใจว่าเมื่อลูกชายนายนี้เติบใหญ่จะให้ไปบวชเป็นพระ แต่ริโกลีนั้นดันเป็นเด็กสายอาร์ต อยากจะเอาดีทางด้านศิลปะมากกว่า ไม่ใช่เด็กสายบุญอย่างที่ครอบครัวคาดหวัง

ริโกลีจึงเลือกเดินตามความฝันของตัวเองด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นจิตรกรให้ได้ จนโชคชะตานำพาให้ไปรู้จักมักจี่กับ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ศิลปินรุ่นอาวุโสกว่าที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการแสดงผลงานในอีเวนต์ต่างๆ ทั่วยุโรป ซึ่งก็รวมถึงงานใหญ่ระดับโลกอย่างเทศกาลศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 ในช่วงเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอยู่ระหว่างการเสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พอดิบพอดี จึงทรงเสด็จฯไ ปร่วมเทศกาลศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ ในครั้งนั้นด้วย ในหลวง รัชกาลที่ 5  โปรดผลงานของคินี จึงทรงมีพระราชดำริให้ทาบทามตัวมาช่วยวาดภาพประดับพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งกำลังมีแผนจะก่อสร้างกันอยู่ในขณะนั้น ราชสำนักสยามตามจีบคินีได้สำเร็จ แต่ด้วยงานสเกลใหญ่ยักษ์ขนาดนี้ คินีจึงต้องมองหาศิลปินฝีมือดีมาช่วยด้วย คินีจึงตัดสินใจชวนริโกลีให้มาร่วมงาน ในปี พ.ศ. 2453 จับพลัดจับผลูรู้ตัวอีกทีทั้งคู่ก็อยู่บนเรือเดินสมุทรตุปัดตุเป๋มุ่งหน้าข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศสยามแล้ว

คาร์โล ริโกลี ขณะวาดพระบรมสาทิศลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (ภาพจากหนังสือชาวอิตาเลียนในราชสำนักไทย)

ที่กรุงเทพฯ ริโกลีกลายเป็นศิลปินเต็มตัวสมใจ งานหลักของริโกลีคือวาดภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีขนาดใหญ่ยักษ์บนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมร่วมกับคินี ริโกลีกลายเป็นศิลปินที่มีงานชุก ทั้งวาดภาพตกแต่งตำหนัก พระที่นั่ง วัด และสถานที่อื่นๆ อีกเพียบ ยิ่งตอนหลังคินีต้องกลับประเทศอิตาลีไปก่อนเพื่อดูแลภรรยาที่ป่วย ริโกลีเลยยิ่งมีงานราษฎร์งานหลวงให้วาดเยอะขึ้นไปอีกจนมือแทบหงิก

ผลงานของริโกลีในช่วงแรกๆ ที่มาถึงสยามประเทศนั้นยังดูเป็นฝรั่งจ๋า จนได้มีโอกาสถวายงานกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ริโกลีถึงได้เริ่มวาดภาพแนวใหม่โดยการนำตัวละครในวรรณคดี พุทธประวัติ เทพยดา รวมถึงลวดลายแบบไทย มาวาดในสไตล์ตะวันตกที่ตัวเองถนัด ถ้าอยากเห็นว่าผสมผสานกันแล้วออกมาลงตัวแค่ไหนไปดูฝีไม้ลายมือริโกลีได้ที่วัดราชาธิวาสฯ เท่าที่รู้ที่นั่นน่าจะเป็นวัดเดียวในเมืองไทยที่ใช้ฝรั่งเป็นผู้วาดจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถเราจะไม่เห็นภาพวาดจิตรกรรมไทยประเพณีแบบ 2 มิติตัดเส้นสีดำกับสีทองอย่างที่เราคุ้นตาเหมือนตามผนังวัดอื่นๆ แต่เราจะได้เห็นภาพแบบสามมิติที่มีระยะใกล้ไกล เน้นแสงเงา และหลักกายวิภาค รูปแบบเดียวกับปราสาทราชวังในยุโรป ในขณะที่เรื่องราวในภาพที่เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดกนั้นดูแสนจะไท้ยไทย

มีสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่ริโกลีได้โชว์ฝีมือในการวาดจิตรกรรมฝาผนังเอาไว้อีก เช่น ภาพเหล่าเทพยดาในพระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งแบบตะวันตกในพระบรมมหาราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ หรืออีกแห่งที่นึกออกคือภาพเรื่องรามเกียรติ์ในบ้านพิบูลธรรม ที่เดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี แต่ตอนนี้กลายเป็นออฟฟิศของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 

“ออร์โซลินี” (ภรรยา คาร์โล ริโกลี) ประมาณ พ.ศ. 2464
เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 105 x 70 เซนติเมตร

ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 นอกเหนือจากจิตรกรรมฝาผนังแล้ว ผลงานศิลปะอีกประเภทที่เริ่มเป็นที่นิยมคือภาพเหมือนบุคคลที่วาดด้วยสีน้ำมันแบบยุโรป ศิลปินชาวไทยที่สามารถวาดภาพประเภทนี้ได้ดีนั้นมีจำนวนน้อยนิดจนแทบจะนับนิ้วได้ เท่าที่จำได้ก็มีแค่ท่านสองท่าน อย่างพระสรลักษณ์ลิขิต และพระยาอนุศาสน์จิตรกร ในขณะที่จิตรกรฝรั่งส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ รวมถึงริโกลีนั้นสามารถวาดภาพเหมือนบุคคลได้คล่องปรื๋อ ด้วยเหตุนี้ริโกลีจึงงานงอก ได้รับมอบหมายให้วาดพระบรมมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันของ ในหลวง รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6, และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงภาพเหมือนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อยู่เสมอๆ

ผลงานของริโกลีทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนัง และภาพเหมือนบุคคลนั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินมาก ริโกลีจึงกลายเป็นชาวต่างชาติเพียงไม่กี่ท่านที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก เหรียญตรา และเกียรติบัตรอื่นๆ อีกเพียบ ชีวิตของริโกลีที่กรุงเทพฯ ดูเหมือนจะสุขสบายดี ได้ทำงานที่ชอบ มีรายได้ มีเกียรติเป็นที่นับหน้าถือตา และก็ไม่น่าจะว้าเหว่อะไร เพราะมีออร์โซลินี ภรรยาสุดที่รักของริโกลี มาอยู่จู๋จี๋ดู๋ดี๋ด้วย 

มีเรื่องเล่ากันว่าช่วงที่ริโกลีพำนักอยู่ที่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาในซอยวัดสามพระยาร่วมกับศิลปินอิตาเลียนท่านอื่นๆ โดยมี หม่อมราชวงศ์แดง ทินกร เป็นผู้ดูแล วันหนึ่งขณะที่ริโกลีไปเดินทอดน่องแถวท่าน้ำ ก็บังเอิญจ๊ะเอ๋เข้ากับเด็กไทยตัวกระจ้อยร่อย หลานของหม่อมราชวงศ์แดงกำลังนั่งขีดๆ เขียนๆ วาดรูปเล่นอยู่ ริโกลีไปเล็งๆ ดูเห็นว่าเด็กคนนี้มีฝีมือไม่ธรรมดา จึงเอ็นดูถ่ายทอดเคล็ดวิชาวาดภาพให้ ด้วยพรสวรรค์บวกกับความรู้นอกห้องเรียนที่ได้รับจากศิลปินมือทองอย่างริโกลี หลานชายของหม่อมราชวงศ์แดงจึงเติบใหญ่กลายเป็นศิลปินชื่อดังของประเทศที่มีนามว่า เหม เวชกร 

ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อได้ทำงานทั้งหมดเสร็จสิ้นบรรลุตามเป้าหมาย ริโกลีก็ตัดสินใจพาครอบครัวเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่อิตาลี ที่นั่นริโกลียังคงทำในสิ่งที่ตัวเองรักโดยการวาดภาพจวบจนวาระสุดท้ายในชีวิตเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2507

ภาพคาร์โล ริโกลี และ ออร์โซลินี (ภรรยา) ถ่ายที่กรุงเทพฯ
(ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก)

ริโกลีลงหลักปักฐานรับใช้ราชสำนักสยามอยู่นานนับสิบปี ได้ฝากมรดกทางศิลปะไว้ให้เราชาวไทยมากมาย อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินไทยรุ่นต่อๆ มา ได้ใช้เป็นแบบอย่างพัฒนาผลงานจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติได้ 

เรื่องราวของริโกลี กับผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ กระตุ้นให้เราชักเริ่มจะสงสัยว่าไอ้กำแพงกลวงๆ ตรงมุมห้องนั่งเล่นของเรา จะมีใครมาวาดอะไรแอบเอาไว้หรือเปล่า เพราะพอเอามะเหงกเคาะดูเสียงมันดังกังวานพิลึก น่าจะลองแงะดูเผื่อว่าข้างในจะมีอะไรให้เซอร์ไพรส์ พอเปิดออกมาปุ๊บแทนที่จะได้เจอภาพวาดดรุณีสักสี่ห้าคน กลับเจอแม่ปลวกลูกปลวกนับพันนับหมื่น กำลังเคี้ยวกำแพงบ้านเราอย่างเอร็ดอร่อยตัวละหนุบตัวละหนับ ส่วนตัวเราก็ได้เซอร์ไพรส์สมใจหวัง

 

Don`t copy text!