ค่าวอะหยัง เจี้ยจะได ซอม่วนๆ เจ้า

ค่าวอะหยัง เจี้ยจะได ซอม่วนๆ เจ้า

โดย : ต้องแต้ม

Loading

“อ่านเอาเล่าเรื่อง” คอลัมน์ที่รวมบทความจากผู้เข้าอบรมในโครงการ อ่านเอาเล่าเรื่อง ที่จัดโดยเว็บไซต์อ่านเอา โดยโครงการนี้ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเรื่องราวที่ประทับใจของตัวเองมาถ่ายทอดในรูปแบบเรื่องเล่า และสานฝันสำหรับทุกคนที่อยากเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นนักเขียน

หลายคนที่ชื่นชอบในสายวรรณศิลป์ อาจจะเคยเห็นวรรณกรรมของทางล้านนา ไม่ว่าจะเป็นบทกวี ที่คนเหนือเรียกว่า “ค่าว” นิทานพื้นบ้านตลกปนทะลึ่งหน่อยๆ คนโบราณเรียก “เจี้ย” และบทขับร้องซอ โดยชายหนุ่ม หญิงสาว มีวงดนตรีล้านนาบรรเลง มาภาคเหนือเวลาไปงานบุญ หรืองานฉลองตำแหน่งของพระชั้นผู้ใหญ่ที่จัดงานรื่นเริงในวัด แต่ถ้าเป็นคนเหนือไม่เคยได้ยินมาก่อน คงจะอุทาน “ค่าวอะหยัง เจี้ยจะใด” แต่ ซอม่วนๆ หรือบทขับร้องซออันไพเราะน่าจะรู้จักกันบ้างแล้ว จึงอยากจะนำมาให้ได้รู้จักกันบ้าง

ตั้งแต่เด็กมาเคยได้ยินแค่ ซอ จำได้ว่ายังเคยร้องซอเล่นกับเพื่อนๆ แถวบ้าน เลยพอจำทำนองได้ แต่ค่าว คืออะไร เจี้ยยิ่งร้ายเข้าไปใหญ่ไม่เคยได้ยิน เสียงป้อครูแว่วเข้ามาในหัว

“คิงไปลาออกจากก๋านเป๋นคนเมืองเลย”

“คนเมือง” เป็นคำที่คนล้านนาเรียกตัวเอง ‘เป๋นคนเมือง ควรฮู้เรื่องราวที่มีมาแต่เก่าแก่บ้าง’ ทำให้ต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม เพราะไปอยู่เมืองกรุงซะนาน กลับมาอยู่บ้าน เรื่องราวหลายอย่างทำให้อยากเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้น และนำมาเล่าแบ่งปันให้คนได้รู้จักกันบ้าง เชื่อว่าหลายๆ คนก็ไม่เคยได้ยินแน่นอน วันนี้จะมาเล่าให้ฟังในส่วนของบทกวี บทขับร้อง ของทางล้านนาค่ะ

‘ค่าว’ (คร่าว) ตามพจนานุกรมล้านนา ฉบับแม่ฟ้าหลวง ให้ความหมายว่า เป็นกวีนิพนธ์แบบหนึ่งมักใช้ในการแต่งธรรมชาดก ให้เป็นวรรณกรรมสำหรับอ่าน หรือขับสู่กันฟังทั่วไป ภาษาชาวบ้านก็จะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นโคลงกลอนของทางเหนือ มีการกำหนดสัมผัส มีวรรคนอก วรรคใน คล้ายกลอนแปด

หากเขียนเป็นภาษาล้านนาจะนิยมเขียน “คร่าว” หรือ “ค่าว” ประเภทของเรื่องที่จะนำมาแต่งเป็นค่าว แบ่งเป็นสองชนิดใหญ่ๆ คือ ค่าวธรรม และค่าวซอ

หากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาดก หรือพระธรรมต่างๆ หรือพิธีการทางศาสนา ก็จะเรียกว่า “ค่าวธรรม”

รูปแบบค่าว (คร่าว)

ส่วน “ค่าวซอ” ก็จะเป็นเรื่องราวต่างๆ นำมาขับร้องเป็นทำนอง เช่น ค่าวซอหงส์เหิน ถ้าแต่งเป็นจดหมายรัก หรือเพลงยาว ก็จะเรียกว่า “ค่าวไช้” หรือออกเสียงว่า “ค่าวไจ๊” ตามท้องถิ่น มักเป็นค่าวหรือเพลงยาวที่หนุ่มสาวรำพันความรัก ความคิดถึง หรือใช้จีบกันของคนในยุคนั้น คนสมัยก่อน

พระยาพรหมโวหาร

นักประพันธ์คำค่าวของล้านนา ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ไม่มีใครเทียบเท่า พระยาพรหมโวหารผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีเอกแห่งล้านนา ในช่วง จ.ศ. 1164 (พ.ศ.2345-2430) อยู่ในยุคเดียวกับพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ (พ.ศ.2329-2398) กวีเอกแห่งสยาม พระยาพรหมโวหารมีชื่อเสียงในด้านการเขียนค่าวสี่บท มีต้นเรื่องมาจากท่านเขียนค่าวใช้ หรือเพลงยาวถึงนางชมที่ลับแล แต่นางอ่านหนังสือไม่ออก จึงขอให้ผู้รู้อ่านให้ฟัง ผู้รู้เห็นว่าไพเราะจึงขอคัดลอกต่อ และมีการคัดลอกต่อๆ มาหลายฉบับ เป็นที่แพร่หลาย ปัจจุบันมักจะมีการจัดประกวดแต่งค่าวแบบพระยาพรหมโวหารเป็นประจำทุกปี

ค่าว จากสองประเภทหลักใหญ่ๆ นั้น จะแบ่งย่อยได้เป็นหลายแบบ เป็นต้นว่า

ค่าวก้อม (คร่าวก้อม) จะหมายถึงบทกวีสั้นๆ มักมีโวหารที่กินใจ ก้อม ในภาษาล้านนาจะหมายถึงสั้นๆ อย่างเช่น ตอนพระยาพรหมไปกับเพื่อนๆ ที่ริมแม่น้ำ เพื่อน เห็นท่อนไม้ผุไหลมาตามแม่น้ำถึงถาม พระยาพรหมว่า “อะหยังไหลมาหั้น พรหม” (อะไรไหลมานั่น พรหม) พระยาพรหมตอบไปเป็นค่าวก้อมว่า  “ ไม้พรัวะพรั้ง น้ำทั่งขอนไหล  ซ่องใช้ดังไฟ แปลงหลัวหนึ้งเข้า” (ไม้ผุ น้ำพัดไหลมา ใช้ทำเป็นฟืนนึ่งข้าว)

ค่าวร่ำ (คร่าวร่ำ) ค่าวฮ่ำ คนเมืองจะออกเสียง “ร” เป็น “ฮ” เป็นคำประพันธ์เพื่อพรรณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ค่าวร่ำครูบาสีวิชัย

ตัวอย่างบางส่วนค่าวสี่บทของพระยาพรหมโวหาร

บทที่ 3 ดวงสลิด (1)

3.1 ดวงสลิด  จักติดต่อร้อย                      สูนดอกส้อย มะลิจีขาว

คันว่าน้อง  แม่แพรจีนจาว                        ไต่ตามทางยาว  พลิกคืนสู่ห้อง

ส่วนว่าตัว   พี่ไพถามถ้อง                         ที่เขายืมเงินค้างไว้

(ดวงจิตของพี่คิดจะบรรยายเรื่องของเราต่อไปซึ่งผสมด้วยความพยายามอันบริสุทธิ์  เมื่อน้องผู้งามดุจยอดของแพรจากเมืองจีนเดินทางกลับบ้านไปแล้ว พี่ก็ไปทวงเงินที่มีผู้กู้ยืมไว้ก่อนหน้านั้น)

จำง่ายๆ ว่า ค่าวธรรม คือค่าวที่แต่งขึ้นโดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระธรรมหรือพิธีการในพุทธศาสนา ถ้าแต่งเป็นจดหมายรักเรียกว่าค่าวใช้ ถ้านำไปอ่านเป็นทำนองเสนาะเรียกว่าค่าวซอ หรือ เล่าค่าว และหากเป็นการขับตอนไปแอ่วสาวเรียกว่าจ๊อย ค่าวเป็นร้อยกรองชนิดหนึ่งของล้านนา เป็นวรรณกรรมของชาวล้านนาในสมัยโบราณ โดยเฉพาะหนุ่มสาวนิยมพูดจาหยอกล้อ โต้ตอบหรือจีบกันด้วยค่าวฮ่ำหรือกำค่าว กำเครือ เป็นที่ชื่นชอบของสาวๆ ถือว่าเก่งมีความรู้ เจ้าบทเจ้ากลอน ผู้ที่มีชื่อเสียงในการแต่งค่าวในสมัยนั้นได้แก่พระยาพรหมโวหาร มีผลงานเป็นที่รู้จักคือ ค่าวสี่บาทพระยาพรหม

ค่าว 4 บท ของพระยาพรหมโวหาร

จ๊อย เป็นการขับลำนำอย่างหนึ่งของคนล้านนาในยุคก่อน มีสัมผัสคล้องจองกันเป็นคำเมือง ชายหนุ่มจะนิยมขับร้องเป็นทำนอง เป็นเพื่อนขณะเดินทางไปหาสาวในเวลากลางคืน การจ๊อยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีประกอบเหมือนอย่างซอ แต่บางครั้งบ่าวอาจจะมีเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะดีดซึงคลอไปเบาๆ เพื่อความสุนทรีก็เพียงพอแล้ว

ส่วนคำประพันธ์อีกประเภทที่ชอบมากคือ “เจี้ย” จะเป็นการเขียนความเรียงที่ไม่ใช่ร้อยกรอง ในรูปแบบนิทานพื้นบ้าน นิยาย เรื่องเล่า เรื่องราวก็จะเป็นเรื่องชาวบ้าน มีมุกตลกบ้างหรือทะลึ่งบ้าง แสดงให้เห็นถึงวิถีชาวบ้านในอีกรุปแบบ เจี้ยก้อม นิทานขนาดสั้น ค่อนข้างสัปดน อ่านเพื่อความบันเทิงของคนรุ่นเก่า ฉันได้มีโอกาสเรียนรู้ ได้อ่านแต่เป็นภาษาล้านนา เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไป ได้ศึกษาเรียนรู้วรรณกรรมพื้นบ้านของคนล้านนา เจี้ย ค่อนข้างจะหาอ่านได้ยาก ที่ฉันมีและพยายามรวบรวมไว้ก็มาจากป้อครูที่คัดลอกมาสอนให้ลูกศิษย์ได้ฝึกอ่าน

เจี้ยขึด 7 ประการ ภาษาล้านนา

เจี้ยแม่ขึด 7 ประการ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระญาพิสสนุกัมม์ถามนางธรณีว่า ขึด (สิ่งไม่ดีไม่ควรทำ) 7 ประการมีอะไรบ้าง นางธรณีตอบไปว่า ขึตใหญ่ 7 ประการ คือ ถมสมุทท์  ขุดกระแส แหม่รูทวาร  รานสรี  มล้างตีอก ปกคะโดงทุง เก่าถมใหม่ บ่ดีแล ถมสมุทท์คือถมน้ำบ่อเก่า ขุดคลองแล้วถมสร้างบ้านเรือน  ขุดกระแส คือขุดน้ำลัดเสียแตวเก่า  แหม่รูทวารคือ ทางหลวงมีมาไปปิดสร้างใหม่ รานสรีคือได้ตัดไม้เสื้อบ้านเสื้อเมือง ไม้อารักษ์ มล้างตีอกคือมล้างค้องและคีม ทั่ง 3 ประการนี้ไม่ดี ล้างคร่ำไม้เอาตุงขึ้นแขวนเรือกปกกะโดงกางตุงบ่ดีแล เก่าถมใหม่ก็รั้วคุ้ม รั้วเวียง ทำทางใหม่ปิดทางเก่าบ่ดีแล (2)

ส่วนการขับร้อง “ซอ” ฉันเคยได้ยินแต่การขับซอตั้งแต่เด็ก บางทีเขาก็เรียกจ๊อยซอ ที่ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการขับร้องซอตามงานทำบุญต่างๆ อยู่บ้าง แต่คำอื่นๆ ฉันก็เพิ่งเคยได้ยินตอนมาเรียนภาษาล้านนา หรือ ตัวเมืองนี่แหละ เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว อย่างน้อยก็ได้นำมาเล่าให้ทุกคนได้ฟัง ได้พอรู้จัก เผื่อได้ยินที่ไหนจะได้ไม่งงแบบฉันในตอนแรก สิ่งเหล่านี้เป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของชาวล้านนาเชียวแหละ

 

เชิงอรรถ :

(1) จากหนังสือคร่าสี่บท ฉบับสอบทานและคำจ่มของพระญาพรหมโวหาร, หน้า 105 เอกสารวิชาการชุดล้านนาคดีศึกษา  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(2) จากเอกสารประกอบการเรียนอักษรธรรมล้านนา ชั้นพิเศษ สอนโดยป้อครูเกริก อัครชิโนเรศ

 

ขอขอบพระคุณข้อมูล

  • หนังสือคร่าสี่บท ฉบับสอบทานและคำจ่มของพระญาพรหมโวหาร, เอกสารวิชาการชุดล้านนาคดีศึกษา  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ตำราเรียนอักขระล้านนาไทย โดยสิงฆะ วรรณสัย
  • เอกสารประกอบการเรียนจากป้อครูเกริก อัครชิโนเรศ

Don`t copy text!