มาแอ่วเจียงใหม่กับเรื่องง่ายๆ ตี้ควรฮู้

มาแอ่วเจียงใหม่กับเรื่องง่ายๆ ตี้ควรฮู้

โดย : ต้องแต้ม

Loading

“อ่านเอาเล่าเรื่อง” คอลัมน์ที่รวมบทความจากผู้เข้าอบรมในโครงการ อ่านเอาเล่าเรื่อง ที่จัดโดยเว็บไซต์อ่านเอา โดยโครงการนี้ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเรื่องราวที่ประทับใจของตัวเองมาถ่ายทอดในรูปแบบเรื่องเล่า และสานฝันสำหรับทุกคนที่อยากเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นนักเขียน

มาแอ่วเจียงใหม่ อย่างแรกกำเมืองตี้ควรฮู้  (หมายถึงว่า ‘มาเที่ยวเชียงใหม่ ภาษาเหนือที่ควรรู้’) คือประโยคง่ายๆ ที่คนทั่วไปเข้าใจเป็นอย่างดี ตอนนี้แม้แต่คนเหนือที่เรียกตัวเองว่า คนเมือง  ก็ไม่ค่อยรู้ความหมายของกำเมือง เพราะระยะหลังๆ มานี้ บางทีก็จะเรียกด้วยภาษากลางแต่ใช้สำเนียงเหนือแทน อย่างเช่น กรรไกร ก็จะเรียกเป็นกั๋นไก หรือตะไก (เขียนตามคำอ่าน) มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ที่จะเรียกว่า “มีดยับ” เด็กๆ ฉันยังทันคำนี้นะ หรือ บางทีก็จะได้ยินคำว่า สับปะรด แทนที่จะเรียกว่า “บะขนัด” เหมือนเมื่อก่อน

กำเมืองเริ่มจะหายไปเหลือแต่สำเนียงแทน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมือง แต่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจะพยายาม อู้กำเมือง แทน ฉันขอพูดถึงเฉพาะ กำเมือง ของคนเจียงใหม่นะคะ เพราะ กำเมือง  ของแต่ละจังหวัดในล้านนา ภูมิภาคนี้ก็จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง อย่าว่าแต่คำเรียกเลย สำเนียงยังแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นนั้นๆ

วันนี้เลยอยากจะมาพูดถึง กำเมือง สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงใหม่แล้วอยากจะ อู้กำเมือง กับพ่อค้าแม่ค้าคนเหนือ ลุยด่านแรกมาที่เรื่องอาหารก่อนเลย

“เรื่องอาหาร” คนเหนือจะเรียกว่า “เรื่องของกิ๋น” ตรงตัวก็หมายถึงเรื่องของกิน ที่นิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวที่มักจะซื้อกลับไปฝาก คือ จิ๊นปิ้ง ไส้อั่ว แคปหมู ฉันว่ารู้จักกันทุกคนแหละ จิ๊นปิ้ง ก็คือหมูทอด จิ๊น ภาษาเหนือ จะหมายถึงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู หรือ เนื้อ  “ติ่นนี้เต้าใด” ชิ้นนี้เท่าไหร่ เมื่อเราหยิบหมูทอดมายื่นให้แม่ค้าหนึ่งชิ้น แม่ค้าก็จะรับไปชั่ง

ติ่นนี้เต้าใด หรือ ชิ้นนี้เท่าไหร่ ก็สามารถนำไปถามราคาของอื่นๆ ได้ เปลี่ยนไปตามลักษณะนามของสิ่งของนั้นๆ ถ้าเป็นเสื้อผ้า ก็จะเรียก ตั๋วเต้าใด เป็นของก็ อันเต้าใด

หยังมาแปง (ทำไมแพง)

ปงล้ำ (แพงเกินไป)

แปงขนาด (แพงมาก)

ลดแห๋มหน้อยได้ก่อ (ลดอีกหน่อยได้ไหม)  ประโยคนี้น่าจะเป็นประโยคที่ใช้บ่อยมาก เมื่อเราจะต่อราคาของ

ลำก่อ  (อร่อยไหม)

ลำขนาด (อร่อยมาก)

ลำแต๊ๆ  (อร่อยจริงๆ)

ลักษณนามที่พบเห็นบ่อยๆ เช่น ตั๋ว (ตัว) มักจะใช้กับสัตว์ต่างๆ เสื้อ กางเกง หรือของใช้บางชนิดเช่น เก้าอี้ โต๊ะ  ส่วน แหว้น (แว่น) ใช้กับสิ่งกลมๆ ที่ตัดออกตามขวาง อย่างเช่นบะแตง 3 แหว้น (แตงกวา 3 แว่น  แก่น หรือ หน่วย ใช้กับผลไม้ต่างๆ หรือของที่มีลักษณะกลมๆ เช่น ไข่ 3 แก่น (ไข่ 3 ฟอง) หม้อแก่นนี้ราคาเต้าใด (หม้อใบนี้ราคาเท่าไหร่) ยกตัวอย่างมาพอให้เห็นภาพ

เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวจะสายกินเยอะ บรรดายูทูปเบอร์ หรือ อินฟลูเอ็นเซอร์ก็เยอะ ได้ฟังพูดภาษาเหนือก็จะน่ารักไปอีกแบบ

จากสายกินสายชอปปิ้ง มาเล่าถึงสายเดินทางกันบ้าง ถ้าจะเรียกรถสองแถว ซึ่งคนเชียงใหม่เรียกว่า รถสี่ล้อแดง เดี๋ยวนี้ราคาเริ่มต้นที่ 30 บาท อยากจะแนะนำว่าเดี๋ยวนี้มีกูเกิ้ลแมป จะไปไหนลองศึกษาเส้นทางไว้บ้างก็ดีค่ะ ถ้าไปไม่ไกลนักก็จะยังราคานี้ได้ แต่ถ้าไปไกลหน่อย เขาจะเรียก 40-50 บาท ขึ้นอยู่ว่าเป็นเส้นทางที่คนเรียกประจำไหม เพราะคนขับรถเขาก็จะหวังได้ลูกค้าเพิ่ม และควรถามราคาก่อนขึ้นรถจะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันถ้าเจอรถที่เรียกแพง ถ้าเรียกแพงก็เรียกรถแท็กซี่เลยค่ะ มีให้เลือกหลายบริษัท ราคาก็ยังพอรับได้

ถ้าเรียกรถสี่ล้อแดงก็ต้องเข้าใจคำที่คนท้องถิ่นเรียกด้วยนะคะ อย่างเช่นจะไปท่ารถขนส่งที่ขึ้นรถทัวร์ไปต่างจังหวัด ที่เชียงใหม่จะเรียกว่า “อาเขต” เพราะชื่อเต็มๆ เขาคือ เชียงใหม่อาเขต ต้องบอก “ไปอาเขต” ไม่ใช่ไป “ขนส่ง” ถ้าบอกไปขนส่ง รถจะไปส่งที่ขนส่งหนองหอย ซึ่งเป็นที่ต่อทะเบียนรถ ใบขับขี่ ตรวจสภาพรถ ฯลฯ มักจะมีคนพลาดประจำ เพราะไม่รู้เส้นทางด้วยว่ารถเขาพาไปที่ไหน

หรืออย่างเรียกไป แอร์พอร์ต คนเชียงใหม่จะหมายถึงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ต จะอยู่ไม่ไกลสนามบิน ถ้าจะไปสนามบิน ควรบอกเลยว่าไปสนามบิน ไม่ต้องทับศัพท์ แต่กรณีนี้ไม่เป็นปัญหานักเพราะอยู่ใกล้กัน ไม่เหมือนขนส่งกับอาเขตที่อยู่กันคนละมุมเมืองเลย ควรเช็กแผนที่กันให้ดีๆ เดี๋ยวนี้ยุคไฮเทคเช็กอะไรก็สะดวกขึ้น

กำเมือง เป็นภาษาพูดแม้ปัจจุบันจะพูดกันน้อยลง เพราะเชียงใหม่มีคนต่างถิ่นมาอาศัย มาเปิดกิจการกันมากขึ้น แต่คนที่พูดภาษาเหนือ หรือ กำเมืองได้ ก็จะมีส่วนได้เปรียบกว่านักท่องเที่ยวที่ อู้บ่จ้าง (พูดไม่เป็น) อยู่นิดหน่อย แต่กำเมืองแม้แต่คนเมืองด้วยกันเอง ยังมีแยกตามท้องถิ่นจังหวัดที่อยู่ หรือพื้นเพเป็นคนจังหวัดไหน เพราะสำเนียง หรือสไตล์การพูดก็จะแตกต่างกันคนเชียงใหม่จะพูดช้ากว่าจังหวัดทางเชียงราย แพร่ น่าน แต่ก็ไม่ได้ช้าเนิบนาบอย่างที่คนมักจะล้อเลียน พูดเล่นกัน จะฟังง่ายกว่า

มาแอ่วเจียงใหม่ อู้กำเมืองกั๋นเน้อเจ้า

Don`t copy text!