หนังสือของพ่อ

หนังสือของพ่อ

โดย : เด็กหญิงเจ้าสำราญ

Loading

“อ่านเอาเล่าเรื่อง” คอลัมน์ที่รวมบทความจากผู้เข้าอบรมในโครงการ อ่านเอาเล่าเรื่อง ที่จัดโดยเว็บไซต์อ่านเอา โดยโครงการนี้ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเรื่องราวที่ประทับใจของตัวเองมาถ่ายทอดในรูปแบบเรื่องเล่า และสานฝันสำหรับทุกคนที่อยากเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นนักเขียน

 

“การจากลา” คือหนึ่งในส่วนผสมของชีวิตที่เป็นเหมือนตอนจบของทุกความสัมพันธ์  ซึ่งหลายคนคงได้เคยผ่านพบ หรือได้เคยสัมผัสทำความรู้จักกับมันมาแล้วในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และอาจยังคงจำรสชาติของมันได้ดี โดยเฉพาะรสชาติที่ขมไปด้วยความเศร้า หรือความว่างเปล่าที่จู่ๆ ก็กระโดดเข้าใส่จนเหมือนชีวิตเว้าแหว่ง ไม่รู้ว่าจะปาดน้ำตา กอบเก็บหัวใจที่หล่นร่วงให้ลุกขึ้นยืนได้อย่างไร เพราะแต่ละวินาทีที่ผ่านไปช่างยาวนาน

และท้ายที่สุดของตอนจบไม่วันใดก็วันหนึ่ง รสขมแห่งความเศร้าที่ค่อยๆ บ่มผ่านคืนวัน ผ่านฤดูกาลที่หมุนเวียน ก็จะเริ่มเปลี่ยนรูปไปตามบริบทของชีวิต กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวใหม่ๆ และอาจเป็นแรงพลังให้เราลุกขึ้นก้าวเดินต่อได้อย่างเข้มแข็ง บ้างก็กลายเป็นบทเรียนให้ได้เติบโต และหลายคนอาจค้นพบว่ารสขมในวันวานค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความอุ่นหวานในหัวใจ ที่ตรึงอยู่ในความทรงจำและทำให้ตัวเองคลี่ยิ้มออกมาได้ด้วยความสุขเมื่อยามนึกถึง…

 

ปลายฤดูฝน… หญิงสาวคนหนึ่งเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อชื่นชอบการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ขณะที่แม่นั้นเหมือนขั้วตรงข้าม ยามที่เห็นหนังสือเหมือนเห็นสัตว์ประหลาดที่ต้องรีบวิ่งหนีให้ไกลห่าง  ญาติๆ หลายคนเคยแซวแม่ว่าถ้าเผาหนังสือได้แม่คงเผา “…ฉันไม่ชอบอ่านหนังสือ มันเสียเวลา ฉันเอาเวลาไปดูหนังดูละคร ฟังข่าวจะดีกว่า…”  นั่นคือคำสารภาพกึ่งบอกเล่าของแม่  ชั้นหนังสือของพ่อที่ไม่ค่อยถูกใจแม่กลายเป็นเพื่อนเล่นในโลกอีกใบ ที่ไม่ว่าจะหยิบจับเล่มไหนของพ่อขึ้นมาอ่านก็ดูสนุก น่าสนใจไปเสียหมด นานวันเข้าเธอก็ค่อยๆ ซึมซับและรักการอ่านไปโดยไม่รู้ตัว และฝันว่าสักวันเธอจะเขียนหนังสือให้พ่อได้อ่าน

ระหว่างทางแห่งการเติบโตมีความฝันมากมายผ่านเข้ามาให้ได้คิดอยากจะเป็น และอยากทำ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเรียนจบเธอก็ไม่ต่างจากเพื่อนๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมองหาโอกาสที่ดีให้กับตัวเอง โลกการทำงานพาเธอออกไปพบเจอกับผู้คนมากมาย เธอกลายเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานแบบเกินร้อย

20 กว่าปีผ่านไป ในวันที่ชีวิตเริ่มอิ่มตัวจากการทำงาน จู่ๆ ความฝันเล็กๆ ในวัยเด็กก็หวนกลับมาให้นึกถึง ไฟที่เริ่มมอดจากการทำงานถูกจุดขึ้นอีกครั้ง แทบไม่ต้องเสียเวลาถามตัวเองซ้ำ เธอเริ่มมองหาหนทางเพื่อไล่ตามความฝันของตัวเองในการเป็นนักเขียน แน่นอนว่าก้าวแรกนั้นมันยาก แต่โลกยุคดิจิทัลก็ไม่ได้ใจร้ายจนเกินไป เพราะมีเว็บไซต์สำหรับคนอยากเขียนมากมายที่เปิดกว้างให้มือใหม่อย่างเธอได้พางานเขียนของตัวเองไปอยู่ในสายตานักอ่าน

หลายเดือนผ่านไป… ท่ามกลางนวนิยายและเรื่องสั้นนับพันบนฟรีเว็บไซต์ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ นวนิยายเรื่องแรกที่เธอหัดขีดเขียนทำเงินได้ 30 บาท แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับ 1 ความคิดเห็นแรกที่ทักท้วงถึงตัวละคร ที่กลายเป็นเหมือนเชื้อเพลิงเติมไฟให้ความฝัน อย่างน้อยเรื่องที่เขียนไปก็มีคนสนใจอ่านมัน แค่นั้นก็มีค่ามากพอที่ทำให้เธอพาตัวเองเพื่อไปต่อ

 

ฤดูร้อนปี 2564… ประตูแห่งโอกาสของการเปิดนักเขียนเปิดออก เธอไม่ลังเลที่จะก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน โจทย์ที่ยากที่สุดไม่ใช่การเอาชนะหรือการเป็นที่ 1 แต่กลับเป็นเนื้อหาจากพล็อตที่เธอคิด และมันทำให้เธอคิดถึงพ่อ… ภาพพ่อในความทรงจำ คือพ่อในวัยหนุ่มที่เท่ห์ที่สุดในหมู่บ้านที่พูดภาษาปะกิตได้ ตอนเป็นเด็กเธอยังจำได้ดีถึงสีหน้าที่ทั้งอึ้งและทึ่งของชาวบ้าน เมื่อมีฝรั่งมาถามทางและพ่อสามารถพูดคุยโต้ตอบกับฝรั่งได้แบบไม่มีติดขัด (ความลับก็คือนั่นเพราะพ่อมีนายเป็นฝรั่ง) นอกจากการอ่านหนังสือแล้ว เวลาของพ่อหมดไปกับการทำงานขับรถพานายฝรั่งเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ และหากไม่ไกลจากบ้านมากนัก พ่อก็มักจะหอบหิ้วเธอไปด้วยเสมอๆ

ในวัย 75 ภาพจำของพ่อก็ยังชัดเจนและแม่นยำเมื่อถูกถามถึงรายละเอียดของสถานที่และเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตที่พ่อเคยเดินทางไป ซึ่งพ่อก็มักเล่ามันให้เธอฟังด้วยความสนุก เหมือนพ่อได้นั่งไทม์แมชชีนพาตัวเองกลับไปในวันวาน นี่คงเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่เธอกับพ่อได้ใช้เวลาพูดคุยกันบ่อยที่สุด ทุกครั้งที่ติดขัดในงานเขียนเธอจะยกหูโทรศัพท์หาพ่อ พ่อกลายเป็นคลังข้อมูลที่ทำให้นวนิยายที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในยุคก่อน ค่อยๆ ก่อรูปเป็นเรื่องราวอันสมบูรณ์ งานเขียนไม่ใช่แค่ความฝัน แต่มันกลายเป็นสะพานเชื่อมความผูกพันระหว่างเธอกับพ่อให้ใกล้กันได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปลายฤดูฝน… นวนิยายรักของเธอได้รับการคัดเลือกให้เป็นละคร แม้พ่อจะไม่มีคำชื่นชมยืดยาวให้ได้ยิน แต่สีหน้าและแววตาของพ่อมันบอกให้เธอรู้ว่าพ่อภูมิใจ เพราะแม้แต่แม่ผู้ไม่ปลื้มการอ่าน ก็ยังดีใจไปกับเธอ ที่เธอพาตัวเองไปก้าวเข้าไปใกล้ความฝัน

แต่… ต้นฤดูหนาวในปีเดียวกัน… พ่อก็จากไปโดยไม่มีคำร่ำลา กลายเป็นความสูญเสียที่ยากจะยอมรับ  รสขมของน้ำตาไม่ได้ไหลออกมาให้ใครได้เห็น แต่มันรินล้นอยู่ในใจ เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของพ่อที่ไม่เคยได้นึกถึง ค่อยๆ แจ่มชัดขึ้นในใจในทุกครั้งที่คิดถึง รูปภาพและข้อความสวัสดีวันจันทร์ที่พ่อชอบส่งในยามเช้าหายไปแล้วตลอดกาล ทุกวันจากนี้ไปมันคงยาก…

 

ฤดูร้อนปีถัดมา… แม่ผู้เกลียดการอ่านหนังสือเริ่มต้นอ่านหนังสือเล่มแรกของลูกสาว เธอไม่รู้หรอกว่าแม่จะอ่านมันจบเมื่อไหร่ บนชั้นหนังสือของพ่อยังได้รับการปัดกวาดดูแลอย่างดี พร้อมๆ กับมีนวนิยายเล่มสวยวางเคียงคู่กับหนังสือเล่มอื่นๆ บนชั้นของพ่อ หวังว่าวันนี้พ่อคงได้อ่านหนังสือของเธอจากที่ไหนสักแห่ง

 “…หนูสนุกมากที่ได้คุยกับพ่อ ถ้าพ่อยังอยู่คงได้อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความภาคภูมิใจ...”

หากคุณได้อ่านเจอประโยคสั้นๆ ประโยคนี้ ในคำนำนักเขียนของนวนิยายเรื่อง ‘เหมันต์ตะวันรอน’ นอกจากความรักของพระเอกกับนางเอกที่คุณจะได้เอาใจช่วยไปตลอดทางแล้ว เหตุการณ์ระหว่างบรรทัดในบางช่วงบางตอนของหนังสือเล่มนี้ยังมีความงดงามของความรักซุกซ่อนอยู่ และรอให้คุณได้เปิดอ่านมันด้วยความสุขด้วยเช่นกัน

 

ขอขอบคุณ : นวาภัส และเหมันต์ตะวันรอน นวนิยายแห่งการวิ่งตามความฝัน

ด้วยความระลึกถึง : คุณสวรรค์ เขียววิจารย์

 

Don`t copy text!