โหงลำโขง บทที่ 2 : เจ้าคือใคร (1)

โหงลำโขง บทที่ 2 : เจ้าคือใคร (1)

โดย : ทศพล

Loading

โหงลำโขง โดย ทศพล เรื่องราวของจำปาและจำปีฝาแฝดที่งดงาม อ่อนหวาน เป็นที่รักใคร่ของทุกคนแต่สิ่งที่เห็นจะใช่ความจริงหรือเปล่า มีเพียงคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะสัมผัสและรับรู้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในสายน้ำโขง มีเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต เธอคนนั้นคือใครกันแน่ นวนิยายคุณภาพที่อ่านเอานำมาให้คุณอ่านใน anowl.co

https://www.groovebooks.com/blog/นิยายใหม่จาก-groove-next-anowl-ลูกองุ่น-เปิดให้สั่งจอง-25-มี-ค-67/62

ปีพุทธศักราช 2335

ณ ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ วัฒนธรรมและธรรมะ ผู้ใดมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ย่อมไม่อยากจากไปอยู่แห่งหนอื่นตลอดชั่วชีวิต

ชาวบ้านพานเป็นชาวแสก (1) หรือไทแสก เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ในตอนกลางของเวียดนาม ชายแถบเมืองรอง เมืองเว้ ต่อมาเวียดนามได้เข้ามาครอบครองให้อยู่ภายใต้การปกครอง ทำให้พี่น้องชาวไทแสกบางกลุ่มรวมพรรคพวกอพยพลงมาทางตอนใต้ของลาว โดยมีท้าวกายซุและท้าวกายซาเป็นหัวหน้า ครั้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา คนกลุ่มนี้ได้พากันลัดเลาะป่าเขาที่กันดารข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณป่าหายโศก (จังหวัดนครพนม ประเทศไทย) ซึ่งผู้คนที่นี่มีภาษาพูดเป็นของตนเองที่เรียกกันว่า ‘ภาษาแสก’

การอพยพของชาวแสกแต่ละครั้งไม่ได้ถูกบังคับหรือถูกข่มเหงแต่อย่างใด เมื่อชาวแสกเห็นว่าบริเวณป่าหายโศกเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรต่างๆ จึงได้อพยพกันมาประกอบอาชีพอยู่แห่งนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนที่นี่นิยมเลี้ยงปลากระชังน้ำจืดที่แม่น้ำโขงและประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่ ทำนา ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งาน เช่น วัว ควาย และม้า

การแต่งกายของพ่อชายไม่นิยมสวมเสื้อ ถ้าสวมเสื้อจะมีลักษณะเป็นเสื้อสีดำแขนสั้นที่ย้อมด้วยหม้อสีครามหรือผ้าฝ้ายด้านดิบสีขาวธรรมชาติ เป็นเสื้อคอกลมติดกระดุมหน้า ท่อนล่างนิยมใช้ผ้าขาวม้ามานุ่งเป็นผ้ากะเตียว บ้างก็นุ่งกางเกงขาก๊วย บ้างก็นุ่งกางเกงครึ่งท่อนหรือโสร่ง จากนั้นก็ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว พาดบ่าไหล่และใส่เครื่องประดับเงิน

ส่วนการแต่งกายของแม่หญิง นิยมสวมเสื้อทั้งแขนสั้นและแขนยาว มักเป็นผ้าย้อมหม้อสีครามหรือผ้าฝ้ายด้ายดิบสีขาวธรรมชาติเช่นกัน นิยมสวมเสื้อมะขามโค้งและเสื้อคอกลมทรงผ่าอกติดกระดุม ก่อนใช้ผ้าแพรหรือผ้าขาวม้าพาดเบี่ยงไปหาไหล่ขวา ส่วนผ้าถุงนิยมสวมผ้าถุงที่เป็นผ้าฝ้ายที่มีเชิงผ้าถุงหรือที่เรียกกันว่า ‘ตีนซิ่น’ ในบางครั้งก็สวมเสื้อแขนสั้นหมากกะแหล่งและสวมใส่เครื่องประดับตามความเหมาะสม

ชาวไทแสกมีความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมที่ทำสืบทอดกันมา คือ ‘พิธีกินเตดเดน’ ซึ่งเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อ ‘โองมู้’ ผู้เป็นบรรพบุรุษและเป็นผู้มีพระคุณต่อลูกหลานชาวไทแสก

โองมู้ เปรียบได้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีหน้าที่คุ้มครองภัยอันตรายที่อาจเกิดในชนเผ่า รวมถึงยังดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามที่ได้บนบานศาลกล่าวไว้ โดยมี ‘กวนจ้ำ’ เป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรม หากลูกหลานประพฤติมิชอบ ไม่เหมาะสม หรือทำพิธีบนบานแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกต้องดีงามหรือไม่ทำพิธีกรรมแก้คำบนบาน อาจจะเกิดเหตุเภทภัยขึ้นในครอบครัวได้

 

สามสัปดาห์ก่อนถึงวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 (เดือนกุมภาพันธ์)

ชาวบ้านต่างพร้อมใจกันออกมาทำขนมเกาโคบ (2) ที่ศาลากลางบ้าน เพื่อใช้ในงานพิธีบวงสรวงโองมู้ งานนี้ถือว่าเป็นงานใหญ่ที่ชาวเผ่าร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานให้ออกมาดีที่สุด

เช้าอันแสนสดใส บรรยากาศชุ่มฉ่ำไปด้วยไอหมอกที่ไหลโอบขึ้นมาถึงศาลากลางบ้านขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงสามเหลี่ยมแบบกระโจมที่มุงหลังคาแฝกจากใบตองตึง ไม่มีฝาผนังกั้น จึงทำให้เปิดรับแสงและลมธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ศาลากลางบ้านนี้ใช้เป็นสถานที่สำหรับนัดประชุม เตรียมงานบุญประจำปี และเป็นที่นัดหมายพบปะผู้คนได้

บนศาลาขณะนี้มีแม่หญิงวัย 13 ขวบนางหนึ่งนั่งพับเพียบฉีกใบตองกับบรรดาคุณยายด้วยใบหน้าบึ้งตึงราวกับถูกบังคับให้ทำ กิริยาท่าทางและการวางตัวดูห้าวหาญราวกับพ่อชายหลงมาเกิดในร่างของแม่หญิงรูปงาม ดูแล้วช่างผิดแผกแตกต่างจากแม่หญิงรุ่นราวคราวเดียวกันเสียจริง ผมเผ้ามัดมวยตรงกลางหัวแบบหลวมๆ เหมือนไม่ใด้ใส่ใจว่าจะต้องทำให้งามเหมือนคนอื่น แต่ก็ยังดีที่ผ้าซิ่นยังมัดแน่นหนาไม่รุ่มร่ามหลุดลุ่ย

“จำปาคนงาม” เสียงของยายที่นั่งข้างกันพูดขึ้น

“มีหยังจ๊ะยาย” จำปาเหลือบหันไปพูดด้วย ในขณะที่มือยังคงฉีกใบตองแบบไม่ได้ขนาด เพราะอยากทำให้มันเสร็จเร็วๆ เพื่อที่ตนจะได้ไปทำอย่างอื่นที่ชอบ

“ใบตองที่เจ้าฉีก มันบ่เท่ากันแล้วลูก” ยายนำใบตองอีกแผ่นมาวางทับบนใบตองที่ยังไม่ผ่านการฉีกเพื่อทำให้จำปาดูเป็นตัวอย่าง “สิเฮ็ดหยังต้องมีสติ ค่อยๆ ฉีกทีละแผ่น ใบตองมันถึงสิกว้างเท่ากัน เวลาเอาไปกลัดห่อขนมมันถึงสิงามเด้อ”

คำพูดของยายท่านนี้ทำเอาบรรดายายท่านอื่นๆ ต่างพยักหน้าและอมยิ้มออกมาแสดงให้เห็นว่าเห็นพ้องต้องกัน

“กะข่อยบ่มักเฮ็ดแบบนี้นี่จ๊ะยาย เป็นหยังแม่ต้องบังคับให้ข่อยเก่งเหมือนเอื้อยจำปีด้วยล่ะจ๊ะ ถึงสิเป็นฝาแฝด แต่กะบ่แม่นว่าสิเฮ็ดได้เก่งเหมือนกันนี่จ๊ะ”

จำปาถอนลมหายใจออกมาเบาๆ ด้วยความเบื่อหน่ายที่ต้องมาทำอะไรแบบนี้ ก่อนหันไปมองจำปี ฝาแฝดผู้เป็นพี่สาวและแม่ที่กำลังง่วนอยู่กับการคั่วขนมข้าวโคบบนกระทะด้วยไม้พายสองด้าม

“คนเฮาบ่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิดหรอก เจ้ากะเป็นแม่ย่าแม่หญิง เรียนรู้เอาไว้เรื่องงานบ้านงานเฮือน พอเติบใหญ่ออกไปเอาผัว แม่ย่าทางผัวก็สิชื่นชอบเฮาหลายกว่าเก่า”

“งั้นข่อยคงต้องหาผัวที่พ่อปู่แม่ย่าตายไปหมดแล้ว ถึงสิได้บ่ต้องมีใครมาคอยบังคับข่อย” จำปีพูดไปพร้อมกับวางใบตองแผ่นสุดท้ายลงไปกองกับพวก “เสร็จแล้วจ้ะยาย ข่อยไปก่อนเด้อ”

ยายได้แต่อมยิ้มออกมาด้วยความเข้าใจ ทุกคนรู้ดีว่าจำปาไม่ใช่คนที่จะทนทำอะไรแบบนี้ได้เหมือนจำปี แม้สองคนนี้จะเป็นฝาแฝดที่เหมือนกันราวกับส่องกระจก แต่นิสัยใจคอนั้นช่างห่างกันอย่างลิบลับ

จำปีนั้นเป็นคนเรียบร้อยอ่อนหวาน ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จา เก่งทั้งงานบ้านงานเฮือนและเย็บปักถักร้อย เป็นแม่หญิงที่มีความพร้อมจะออกเฮือนได้ทุกเมื่อ ซึ่งต่างกับจำปาที่ชื่นชอบการขี่ม้า ฟันดาบ ปีนป่ายต้นไม้และยังชอบเล่นกับเพื่อนผู้ชายอีกด้วย

ด้วยความแตกต่างเช่นนี้ ส่งผลให้ฝาแฝดคู่นี้มักมีปากเสียงกันบ่อยครั้ง พอหันหน้าคุยทีไรก็มักจะทะเลาะกันทุกที คนละแวกนั้นมักจะได้ยินเสมอว่าทั้งสองคนทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องอะไร แต่ก็ไม่มีใครสนใจนัก เนื่องด้วยจำปีและจำปาเป็นถึงลูกสาวฝาแฝดของท้าวคำมั่นและแม่จำปูน ผู้มีอำนาจสูงสุดที่ปกครองชาวบ้านเผ่านี้มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ การไปยุ่งเรื่องครอบครัวของผู้นำ ย่อมไม่ใช่เรื่องดีต่อตนเองและครอบครัวเป็นแน่

 

เชิงอรรถ : 

(1) แสก หมายความว่า แจ้งหรือสว่าง เป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ-เขมร

(2) ขนมเกาโคบ (ข้าวพอง) เป็นภาษาแสก เกาโคบ เป็นขนมโบราณของชาวไทแสก เพื่อใช้ในงานบุญและงานมงคล ทำขึ้นมาจากข้าวแห้ง (ข้าวเหนียวที่นำไปตากแดด)



Don`t copy text!