ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 5 : คลื่นใต้น้ำ (1)

ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 5 : คลื่นใต้น้ำ (1)

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

ซ่อนรักในรอยกาล โดย พิมพ์อักษรา กับผลงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์อ่านง่าย ว่าด้วยทฤษฎีหนึ่งในตำนานประวัติพระนางจามเทวีกับพระสวามีที่แทบไร้หลักฐาน ผ่านเกมการเมืองในอาณาจักรทวารวดี อันมีชายปริศนาแฝงตัวเข้ามาอยู่เบื้องหลังเกมชิงบัลลังก์ครั้งใหญ่นี้ ติดตามได้ในเพจ อ่านเอา และ anowl.co

แม้จักทรงแสดงออกว่ามิได้ปริวิตกอันใดกับวันประกาศคู่อภิเษกที่กำลังมาถึง หากสุดท้ายชวาลาก็พบว่าโล่งพระทัยอย่างยิ่งที่วันสำคัญนั้นผ่านไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีเหตุการณ์มิคาดฝันให้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีกบฏ ไม่มีฝ่ายใดทำเล่ห์กลอุบาย หรือลุกขึ้นมาคัดค้านออกโรงว่าพระนางไม่เหมาะสม

มิทรงคาดหวังให้ทุกฝ่ายแสดงความยินดีปรีดาจากใจ เท่าที่ไม่ลุกขึ้นมาทำลายก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นแม้เจ้าหญิงแทบทุกพระองค์ที่ถูกวางองค์ให้ลงสนามจักวางพักตร์เย็นชา ดวงเนตรเกรี้ยวโกรธาราวจักเผาให้เป็นจุณอย่างไร ชวาลาก็มิทรงถือสาทั้งสิ้น ยังเห็นพระทัยและเสียดายด้วยซ้ำที่กลการเมืองในราชสำนัก ทำให้พระญาติพระวงศ์ต้องผิดใจห่างเหินกัน

“ยังทรงมีแก่ใจห่วงใยถึงพระญาติ ทั้งที่พวกนั้นจ้องหาโอกาสทำลายองค์หญิงแท้ๆ” คุณท้าวเกษวดีบ่นกระปอดกระแปดให้เจ้าหญิงได้ยิน “ยิ่งใกล้วันอภิเษกเท่าไรยิ่งวางใจมิได้ ตำหนักใดทูลเชิญรับรองหรือเข้าเฝ้า อย่าได้เสด็จไปโดยเด็ดขาดเชียวเพคะ”

“ข้าถึงว่าน่าเสียดายอย่างไรเล่า พี่น้องเครือญาติกันต้องมานั่งระแวงคิดร้ายชิงดีชิงเด่นกัน”

“องค์หญิงทรงนับพวกเขาเป็นพี่น้อง แต่พวกเขาเห็นองค์หญิงเป็นศัตรู เป็นคนนอก เข้ามาแย่งชิงสิทธิ์ในราชบัลลังก์ของพวกเขาไป อย่าได้เปิดโอกาสแม้เพียงน้อยนิด พวกเขาจักลงมือแทงข้างหลังทันที”

ชวาลาถอนพระทัย หากยังตรัสติดอารมณ์ขัน

“ข้ารู้…รู้ดีเชียวว่าหาไว้ใจเครือญาติพวกนั้นได้ไม่ ข้าถึงไม่ปฏิเสธการอารักขาแน่นหนาจนแทบหายใจไม่ออกเช่นนี้อย่างไรเล่า”

เจ้าหญิงชวาลายังคงเสด็จไปปฏิบัติราชกรณียกิจต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ออกสู่ธารกำนัลให้พสกนิกรชมพระบารมีอย่างที่ทรงเคยทำเป็นประจำ แลเป็นพระราชโองการแห่งพระเจ้าจักวัติวิราชอีกนั้นแลที่ให้อภิสิทธิ์พระนางเหนือเจ้าหญิงทุกพระองค์ในราชสำนัก เทียบเท่าราชบุตรพระองค์หนึ่งก็มิปาน

มักมีรับสั่งต่อข้าราชบริพารเสมอว่า

“ตั้งแต่เจ้าหญิงชวาลาถือกำเนิดมา ละโว้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก บ้านเมืองสงบร่มเย็น พืชพันธุ์ธัญญาหารที่แล้งไปนานก็กลับอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ชะรอยเบื้องบนจักประทานพระนางมาชดเชยที่เราไม่มีโอรสเป็นรัชทายาทของตนเองกระมัง…” และตรัสต่อพระบรมวงศานุวงศ์อย่างตรงไปตรงมา

“แทนที่จักตีโพยตีพายว่าเรารักลูกไม่เท่ากัน ให้ท้ายสตรีเป็นใหญ่ หรือเจ้าวาใช้เล่ห์เพทุบายให้กลายเป็นคนโปรด พวกเจ้าควรยอมรับเสียเถิดว่าพวกเจ้าหาเทียบเทียมเจ้าวาได้สักน้อยไม่ เจ้าวาปรีชาสามารถปราดเปรื่อง ช่วยราชการงานเมืองได้มิบกพร่อง ให้ร่ำเรียนสรรพศาสตร์ใดก็มิเคยเกี่ยงงอน ทั้งยังใส่ใจทุกข์สุขประชาราษฎร์มากกว่าความสะดวกสบายส่วนตน เช่นนี้จักมิให้ข้าวางใจส่งเสริมนางได้อย่างไร”

ขุนนางจำนวนมากจากหลายฝ่ายจึงสนับสนุนข้างรักตมปุระ ด้วยเห็นแล้วว่ามีอิทธิพลต่อราชบัลลังก์มากเพียงใด ยิ่งเมื่ออภิเษกเป็นพระชายาอุปราชรามราชด้วยแล้ว ตำแหน่งอัครเทวีกษัตริย์ละโว้ในภายหน้าย่อมตกเป็นของพระนางโดยมิต้องสงสัย…ดังนั้นเมื่อเจ้าหญิงมฤติกาเริ่มคัดเลือกคนที่จะไปอยู่เมืองราม จึงมีคนเทียวเข้าเทียวออกตำหนักเพื่อเฝ้าผูกมิตรเสนอตัวมิเว้นแต่ละวัน

“อันรามนครได้ชื่อเป็นเมืองลูกหลวงของลวปุระก็จริง หากแท้จริงเป็นเมืองเล็ก มิได้มีความเจริญเท่าไร กระนั้นด้วยระยะทางมิไกลกันมาก เดินทางสะดวก แลมีชัยภูมิดี ล้อมรอบด้วยน้ำ ส่งผลให้เป็นเอกเทศไปโดยปริยาย เมื่อไรที่ลูกกับเจ้าอุปราชได้ขึ้นครอง เมืองรามจักมิใช่นครเล็กๆ อีกแล้ว แต่จักเป็นเสมือนตัวแทนอำนาจของลูกและเจ้าชายรามราช นอกจากละโว้จะเฝ้ามองว่าเราทำนุบำรุงเมืองรามให้รุ่งเรืองอย่างไรแล้ว ยังถือเป็นโอกาสดีที่เราจักได้เริ่มจัดวางระเบียบราชสำนักให้เป็นอย่างที่เราปรารถนา การคัดเลือกคนจึงสำคัญยิ่งนัก กระทั่งนักบวชนิกายเล็กนิกายน้อยก็ต้องนับมาพิจารณา มิเช่นนั้นจักมีอำนาจศาสนาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชี้นำมากเกินไป”

“พระอาจารย์วาสุเทพก็กล่าวเช่นนี้” พระธิดาพยักพักตร์ “กระทั่งตัวท่านเองก็ไม่ต้องการให้คนมองว่าท่านสนับสนุนเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้วยจักเป็นภัยให้คนนำมากล่าวหาเล่นงานได้ ลูกเองก็เห็นเช่นนั้น จึงใคร่ให้บ้านเมืองอยู่ใต้ร่มเงาพุทธธรรมเป็นพื้นฐาน ลดทอนอำนาจโหรพราหมณ์ ปุโรหิตทั้งหลายมิให้ควบคุมชักจูงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ง่ายดาย”

“หากก็จงทำอย่างระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนหักหาญน้ำใจเกินไปนัก” พระนางมฤติกาตรัส

“แม่เห็นด้วยกับเจ้าและวาสุเทพฤๅษีทุกประการ”

“พูดถึงฤๅษี ลูกยังเคลือบแคลงอยู่ข้อหนึ่งเพคะ” เจ้าหญิงชวาลาขมวดขนงครุ่นคิด “จำเรื่องข้ารับใช้ดาบสที่ปิดหน้าที่ลูกเคยเล่าให้ฟังได้หรือไม่”

“เจ้าว่าสุดท้ายมิใช่ผู้ต้องสงสัยมิใช่หรือ”

“แต่ลูกยังติดใจนัก เขาอาจหาญจ้องมองเจ้าพี่เขนและลูกโดยมิกลัวเกรง จักว่าเป็นไพร่มิมีคนสั่งสอนก็มิน่าไร้มรรยาทถึงเพียงนั้น แต่ประการสำคัญ สายตาของเขาทำให้ลูกระลึกถึงความรู้สึกบางประการ…ในวัยเยาว์”

“โอ…” ปทุมวดีคราง “ที่องค์หญิงเคยเล่าว่ารู้สึกเหมือนถูกจ้องมองน่ะหรือเพคะ”

“พี่ปทุมวดีจำแม่นนัก” เจ้าหญิงชวาลาพยักพักตร์ “ถูกแล้ว หลายคราที่ข้าออกไปเที่ยวเล่นหรือร่ำเรียนกับเจ้าพี่เขนนอกตำหนัก ข้ามักรู้สึกว่ามีคนจ้องมองอยู่ไกลๆ โดยที่ข้าไม่รู้ว่าเป็นผู้ใด แต่รังสีนั้นช่างแรงกล้ายิ่งนัก ชวนให้อึดอัด หดหู่ และเศร้าสร้อยอย่างประหลาด แต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็มิค่อยได้สัมผัสความรู้สึกเช่นนั้นอีก แลก็มิได้เกิดเรื่องปองร้ายอันใดข้าก็แทบลืมเลือนไป กระทั่งครั้งนี้แล”

“ลูกจักบอกว่าเด็กรับใช้นักพรตพวกนั้นแอบมองลูกมานานแล้วกระนั้นหรือ” พระมารดาเคลือบแคลง “เช่นนั้นก็น่ากลัวนัก เรามิรู้ว่าเป็นคนของฝ่ายใด หรืออาจเป็นเพียงทาสที่หมายอาจเอื้อมดอกฟ้าเท่านั้น”

“ก็…มิน่าเป็นไปได้นักหรอกเพคะ เพราะลูกก็มิได้เห็นกับตาว่ามีใครจ้องมองอยู่ เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น แต่ลูกก็มิทราบเหมือนกันว่าเหตุใดจึงรู้สึกกวนใจเช่นนี้”

“กวนใจก็มิควรมองข้ามเพคะ” เกษวดีสนับสนุน “ลางสังหรณ์ขององค์หญิงมักมิผิดเท่าไร”

“แต่ลางสังหรณ์ข้าก็มิได้เกิดขึ้นทุกเรื่องทุกครานะพี่เกษ” เจ้าหญิงสรวลเบาๆ “ถ้าข้าเกิดลางได้ทุกหนก็คงดี”

“ถึงอย่างไรแม่ก็เห็นด้วย จับตาดูไว้ก็มิเสียหลาย…แลสำรวจให้แน่ใจว่ามันรับใช้กลุ่มใด ก็มิต้องให้ดาบสกลุ่มนั้นไปเมืองราม” เจ้าหญิงมฤติการับสั่งแข็งขัน “ข้าจักมิปล่อยให้มีช่องวางใดมาเป็นบ่อนทำลายพวกเราเป็นอันขาด พวกเจ้าหญิงนางในทั้งหลายก็เช่นกัน เราต้องอย่าวางใจเด็ดขาด โดยเฉพาะเจ้าหญิงบุณฑรา เจ้าหญิงวิมุทรา เจ้าหญิงทิพกฤตา พวกนี้ถือตนเป็นวงศ์เวหะ เย่อหยิ่งว่าเป็นทวารวดี คู่ควรกว่าคนนอกอย่างพวกเรา แม่มิคิดว่าพวกเขาจักรามือง่ายดายนัก เกษวดีแน่ะ สืบมาได้ความอย่างไร”

“ไม่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติเท่าไรเพคะ นอกเสียจากเสด็จอารามรอบนครกันเท่านั้น คงจักไหว้พระขอพรให้ฝ่ายตนมีชัยกระมัง”

“ข้าว่ายิ่งผิดปกติ…จับตาดูต่อไปแล้วกัน”

 



Don`t copy text!