สิ้นเวร

สิ้นเวร

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

ตำนานพงไพร เรื่องสั้นชุดจบในตอน โดย มาลา คำจันทร์ เรื่องราววิถีชีวิตชาวล้านนาในอดีตที่ผูกพันกับความเชื่อ ผีสางและพุทธศาสนา ซึ่งนับวันจะจางหายไปตามเหตุปัจจัยและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป หากแต่อ่านเอาไม่อยากให้วันนั้นมาถึง จึงขอชวนนักอ่านทุกท่านมาร่วมกันซึมซับและส่งต่อเรื่องราวจากรุ่นสู่รุ่นในรูปแบบของการอ่านออนไลน์

***************************

– สิ้นเวร –

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

อยู่ในผ้าเหลืองมาได้สี่ปี คำพื้นเมืองว่าไคว่สี่แจ่งผ้าเหลือง คำไทยว่าครบสี่มุมผ้าเหลือง แม่มาขอให้สึก

“ไร่นาวัวควาย ทรัพย์สมบัติพ่อแม่ก็พอมีอยู่ สึกเถอะตุ๊ แม่ใคร่อุ้มหลาน”

“อี่น้องก็ได้ผัวแล้ว ไม่นานแม่ก็ได้อุ้มหลาน”

“อี่น้องเอาผัวได้ปีกว่า ไม่มีวี่แววลูกจะติดท้อง แม่กลัวฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเป็นหมัน สึกเถิดตุ๊ ไคว่สี่แจ่งผ้าเหลืองแล้ว โผดพ่อโผดแม่พ้นอบายนรกขุมใหญ่แล้ว สึกออกไปให้เป็นที่อบอุ่นหัวใจของพ่อกับแม่เมื่อยามแก่เฒ่าเถิด  เรื่องอันนั้น เรื่องอีแก้วนา ไม่มีใครถามหาแล้ว”

อีแก้วนา…สะดุดสะดุ้งในหัวใจ เหมือนเหยียบถูกหนาม เหมือนถูกไฟจี้ ไม่ใช่รัก ไม่ใช่แค้น ไม่ใช่หึงสาพยาบาท แต่มันเป็นหนามเหน็บเจ็บลึกในเนื้อ เป็นความอับอายอดสู…เมียหนีตามชู้ จะมีผู้ชายคนใดยอมรับได้บ้าง

 

“อภัยเถิดตุ๊  แล้วก็แล้วไปเสีย”

“อภัยบ่ได้ ครูบาเจ้า ใจข้าเจ้าบ่แม่นใจครูบา คนเอาตีนเหยียบขี้แล้วมาย่ำหน้า ข้าเจ้าอภัยบ่ได้”

“สวดอิติปิโสถอยหลังได้ละยัง”

“ยังบ่คล่อง ครูบาเจ้า”

“ตราบใดตุ๊อภัยไม่ได้ ตราบนั้นตุ๊จะท่องอิติปิโสถอยหลังไม่ได้ สึกออกไปก็สมควรอยู่ อยู่ในผ้าเหลืองต่อไป ก็บ่วุฒิก้าวหน้าทางใด”

เหมือนนักมวยเมาหมัด โดนหมัดจนเห็นดาวเห็นเดือนขึ้นหน้า ซ้ำยังโดนเหนี่ยวคอกระทุ้งเข่าอีกดอก มึนเลย กองแผละกับพื้นหามุมไม่พบ คำตำหนิของครูบาที่เคารพร้ายแรงนัก สึกออกไปหรือ ไม่อยากสึกเลย สี่ปีผ่านไปแต่ใจยังเจ็บ พ่อแม่อยากให้สึกออกไปมีลูกมีเมีย สองเฒ่าเสาะหาแม่ญ่าแม่ญิงที่จะมาเป็นลูกสะใภ้ไว้ให้แล้ว แต่พระหนุ่มเข็ดขยาดเสียแล้ว ใจมันหมดไปแล้วเรื่องผัวเรื่องเมีย

 

ออกแล้งแห้งไข่ปีนั้นดินแล้งแดดเหลือง หลังช่วงปีใหม่เมือง  หมดสิ้นพันธะทางจารีตประเพณี ท่านผู้เฒ่าปลีกตัวจากวัดมุ่งหน้าขึ้นเหนือ ครูแบกกลดนำหน้า ศิษย์แบกกลดตามหลังสะพายบาตรสองลูก สะพายย่ามสองใบ นึกไปถึงพุทธประวัติ ปางเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่มีพระอุปัฏฐากถาวร ออกแล้งหลังพรรษาหนหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จนำหน้า พระเมฆิยะตามหลัง เหมือนครูบานำหน้า ตนตามหลังในวันนี้ พระเมฆิยะละทิ้งพระพุทธเจ้ากลางทาง แต่ตนจะไม่มีวันละทิ้งครูบาเด็ดขาด ท่านแก่ชรามากแล้ว ไม่มีใครติดตามรับใช้ เกิดไปเป็นลมเป็นแล้งกลางทาง ผู้ใดจะช่วยท่านได้

“ครูบาจะไปไหนเจ้า แล้งนี้”

“ถ้ำตั๊บเตา”

“โห จากทุ่งรังแร้งนี่หรือ จะไปถ้ำตั๊บเตา”

“กลัวหรือ”

“บ่แม่น แต่มันไกล”

“ค่อยย่าง ค่อยเทียว ค่อยเดินค่อยไป ไกลก็เหมือนใกล้ ตุ๊แก้ว”

“ครูบาจะไปโผดไผผู้ใดจำเพาะเจาะจงหรือ”

“โผดตุ๊”

เท่าเปล่าของศิษย์หนุ่มชะงักเล็กน้อย โผดตุ๊…หมายถึงโปรดตัวเขาเอง ท่านไม่เปิดโอกาสให้ซักต่อ ท่านก้าวนำต่อไปเรื่อยๆ เลยเดือนเมษาเข้าสู่เดือนพฤษภาคมยังแห้งแล้ง แดดร้อน ฝนยังไม่ตก เนื้อดินในนาแตกระแหง คันเหมืองมีหญ้างวงช้างชูดอกม้วนงอเหมือนงวงช้าง เหงื่อเริ่มซึม ปลีกจากคันเหมือง แวะพักห้างนา ลมยามบ่ายตีตับตองที่มุงหลังคาพะเยิบพะยาบ ครูบานั่งหย่อนเท้าบนพื้นห้าง ศิษย์หนุ่มรินน้ำจากกระติกน้ำแบบทหารประเคนท่านแล้วยอบนั่งต่ำติดพื้น บีบฟั้นคั้นน่องสนองพระคุณที่ท่านเมตตาต่อตน

“ถ้ำตั๊บเตาเป็นถ้ำที่พระเจ้าเฮาฮากเป็นเลือด”

“รากเป็นเลือดเลยหรือ  ครูบา”

“อือ ออกแต่ตำนานอ่างสรงเชียงดาวว่าพระเจ้าไปกินชิ้นหมูที่บ้านนายจุนทะเมืองฝาง พระเจ้าเบื่อชิ้นหมูทั้งรุทั้งราก หมอโกมารภัจมาตกยาหื้อพระเจ้า พระเจ้ากินยาแล้วก็ซ้ำรากเป็นเลือด หมอโกมารภัจกลัวพระเจ้าตายก็บอกเจ้าภิกขุอันได้ฌานหื้อเหาะไปบอกครูมันอันอยู่ยังดอยด้วนเมืองพะเยา เจ้าภิกขุตนได้ฌานก็เหาะไปทันใจ…”

“เจ้าภิกขุตนนั้นได้ฌาน แล้วครูบาได้ฌานไหม”

“ครูบาเหาะบ่ได้ ดำดินบินบน บ่ได้สักอย่าง  ฟังต่อไปตุ๊แก้ว เจ้าภิกขุไปถึงดอยด้วนเมืองพะเยาก็บอกครูหมอยา ครูหมอยาก็เหาะมาโดยด่วน แต่มันตัวสูงตัวใหญ่ใหญ่เข้าในถ้ำบ่ได้ ก็คุกเข่าอยู่หน้าถ้ำ รอยหัวเข่ายังมีอยู่หน้าถ้ำตั๊บเตาบัดนี้”

“ข้าเจ้าคงมีบุญตา ได้หันหนนี้แล้วครูบา”

“อือ”

 

ค่อยเดินค่อยไป ไกลก็เหมือนใกล้…วันคืนล่วงเลยไปไม่รีบร้อน ยามแลงตะวันเหลืองก็หาที่พักสำนักนอน  ครูบาเมตตาสอนว่าให้หาที่อันเป็นสัมปายะ คือที่อันสบายแก่ตน ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นบ้านคน ต้องเป็นโคนไม้ ต้องเป็นถ้ำโทกโพรกโพรง  ครูบาเมตตาสอนว่าธุดงค์มาจากธุตังควัตร มีถึง๑๓ อย่าง ใช่มีแต่ท่องเที่ยวเทียวดงอย่างเดียว แต่แนวทางที่ท่านสืบมา ยึดเอาการออกป่า แสวงหาที่ปลอดที่เย็นเพื่อครุ่นคิดทางธรรม

“ครูบาเคยเจอเสือไหมขอรับ”

“เคย”

“เคยเจอจงอางไหม ขอรับ”

“เคย”

“ครูบาทำอย่างไร”

“ก็วิ่ง”

คืนที่สี่ นับแต่ออกจากทุ่งรังแร้ง ครูบากับศิษย์หนุ่มปักกลดใกล้ร่มเพิงผาใหญ่เหนือเขตอำเภอเชียงดาวขึ้นไป ไม่ได้แวะไหว้พระที่ถ้ำเชียงดาว คลับคล้ายครูบาท่านกริ่งเกรงว่าหากฉีกออกนอกทางไปถ้ำเชียงดาว กาลเวลาจะคลาดเคลื่อน วันเวลาที่เขาควรจะสิ้นเวรต้องยืดยาวไปอีก อาจหมดโอกาสไปเลย หรืออาจเคลื่อนไปข้างหน้าห้าปีเจ็ดปีก็สุดที่ญาณของท่านจะหยั่งรู้

ท่านมีญาณ เขาคิดอย่างนั้น

“อย่าเอาเรื่องนี้มาตั้งเป็นประเด็น” ท่านเคยปราม “ญาณเป็นเรื่องลึกซึ้งนัก ใช่ว่านั่งหลับตาภาวนาสิบปีซาวปีก็หยั่งถึงญาณได้ ถึงที่สุด ครูบาก็เป็นได้เพียงตุ๊ปู่ครูบาผู้เฒ่าคนหนึ่งเท่านั้น ปรารถนาจะทำความแจ้งแห่งทุกข์หื้อถึงที่สุดตามคำพระเจ้าสั่งสอนเท่านั้นเอง บ่มีอิทธิมันตา บ่มีปาฏิหาริยะ มีแต่แรงศีลแรงธรรมค้ำหนุนอุ่นช่วย วันใดหมดแรง ก็ล้มลง”

“ข้าเจ้าก็มีความปรารถนา แต่บ่แม่นปรารถนาทำความแจ้งแห่งทุกข์หื้อถึงที่สุดอย่างครูบา แต่ข้าเจ้าปรารถนาจะเป็นหื้อได้สักครึ่งของครูบา”

“สวดท่องอิติปิโสถอยหลังคล่องละยัง”

“ยัง”

“ทาน ศีล ภาวนา เป็นบุญกิริยาอันประเสริฐ ทานอันใดก็ไม่แรงเท่าอภัยทาน ตุ๊เอ๋ย”

ลมพัดแรงคืนนั้น ชายกลดที่เป็นผ้าเนื้ออ่อนคลุมลงมาถูกลมแรงพัดก็พะเยิบพะยาบ ยังหัวค่ำอยู่ เดือนลับอยู่ด้านหลังเพิงผาที่สูงล้ำงำเงาทางหลัง ไฟกองใหญ่ก่อไว้ทางด้านหน้าป้องกันเสือหมีผีป่าที่อาจผ่านทางมา ยามลมหยุดพัก ได้ยินเสียงน้ำไหลจอกแจก สุข สงบ สงัดนักคืนนั้น ยินเสียงนกอุกอูร้องอุกอู อุกอู…อยู่เบาบางห่างไกล  ไม่ได้ยินเสียงกวางเสียงฟานหรือเสียงเสือร้อง แมวป่ายังมีอยู่สมัยนั้น ตัวใหญ่กว่าแมวบ้าน เสียงร้องก็ก้องดังกังวานกว่า  ไม่ใช่เสียงที่น่ากลัวอย่างเสียงเสือ เข้าป่าดิบดงหงหลวงกับท่านหลายปี แทบไม่เคยเจอเสือเลย อาจเพราะป่าอุกดุกดงสมัยนั้นยังหนายังแน่น เก้งกวางละมั่งกระจงยังหลาย เสือโคร่งเสือเหลือง เสือลายเมฆฝ้ายังมีอาหารอุดม จึงไม่มีเสือที่เจาะจงจะกินคนโดยเฉพาะ เว้นแต่เสือผี เสือเย็น เสือสมิง

ครูบาอยู่ในร่มผ้า อาจนั่งตกหมากนับของท่านอยู่ ศิษย์หนุ่มผู้มีดวงหัวใจร้าวฉานก็นั่งอยู่ในร่มกลดอีกคัน ไม่ไกลกัน ห่างสักสามวา หลับตาลง มือตกหมากนับ ภาวนาว่าพุทโธ พุทโธตามที่ท่านสอน ยึดเอาหน้าพระประธานในพระวิหารบ้านเกิดเป็นจุดกำหนด สามสี่ปีฝึกฝนมา วอกแวกน้อยลง มั่นคงได้บ้างแต่ไม่ยาวนานอะไรมากนัก

ตราบใดตุ๊อภัยไม่ได้ ตราบนั้นตุ๊จะท่องอิติปิโสถอยหลังไม่ได้

อิติปิโสถอยหลังเป็นคำชาวบ้าน คำในใบลานว่าอิติปิโสภาคปฏิโลม สวดท่องย้อนหลังสู่หน้า กางหนังสือท่องพอท่องได้ แต่ปิดหนังสือแล้วท่องมักจะสับสนติดขัดเพราะใจยังยึดติดกับอิติปิโสเดินหน้า ครูบาบอกว่าหากท่องอิติปิโสถอยหลังได้ ไม่ว่าดงดิบลิบเร้นปานใด อาเพศอาถรรพณ์ใดๆ จะรังควานไม่ได้เลย

ทาน ศีล ภาวนา เป็นบุญกิริยาอันประเสริฐ ทานอันใดก็ไม่แรงเท่าอภัยทาน ตุ๊เอ๋ย

อีกถ้อยคำของท่านแวบขึ้นมาในใจ อภัยทานเป็นทานอันล้ำเลิศ อภัยทานคือการให้ในสิ่งที่ไม่เป็นภัย คือการให้โสตถีสวัสดีอันเป็นสุข อันพ้นไปจากทุกข์แก่ผู้อื่น คือเมตตาอันใหญ่ คือความคิดจิตใจที่หวังให้ผู้อื่นอยู่เย็นเป็นสุข

นั่งอยู่นิ่งๆ ไม่เร่งรีบบีบรัด ไม่หวังไปถึงเมืองฟ้ามหาเนรพานแต่ในชาตินี้ วอกแวก วอบแวบไปเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง รู้สึกตัว ได้สติก็ดึงใจมาสู่พระวรพักตร์สูงส่งสงบรำงับของพระประธานในพระวิหาร นั่งนึกไป มือนับไป บางทีโงกง่วงมือตก เหนื่อยล้านัก อิดอ่อนรอมแรม ฝืนต่อไปไม่ไหวก็เอาหมากนับใส่คอ กราบนบพระเจ้าในใจแล้วนอนลง

“อ้ายแก้ว อ้ายแก้วเหย ออกมาหาข้า”

“ ไผ ผู้ใดมาเรียกข้า”

“ข้า…แก้วนา”

“แก้วนา ! อีแก้วนามึงหนีตามชู้ มึงกลับมาทำไม”

 

อยู่ในผ้าเหลืองมาได้สี่ปีแล้วปีนั้น ครบสี่มุมผ้าเหลือง โปรดพ่อแม่ให้พ้นนรกขุมใหญ่ได้ พื้นบ้านเชื่อกันมาอย่างนั้น แม่รบเร้าให้สึกแต่ไม่อยากสึก ไม่พร้อมจะออกไปมองหน้าสบตาคนอื่นโดยไม่หวาดระแวง ในใจยังมีหนามเหน็บเจ็บจำเรื่องเมียหนีตามชู้ ในใจไม่มีความอาฆาตพยาบาทแบบว่าต้องตายกันไปข้างหนึ่งถึงจะยุติ จะว่ากันให้ถึงที่สุด เขาใจเสาะ ใจไม่สู้ ไม่ใช่ลูกผู้ชายในความหมายว่าใจดุใจเดือด เลือดตกยางออก ในความเจ็บไม่ใช่ปวดร้าว ไม่ใช่เศร้าโศก แต่เป็นความอดสูอับอาย ไม่กล้าสู้หน้าใคร

หลบเข้ามาอยู่ในผ้าเหลือง อย่างน้อยผ้าเหลืองก็เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ใครเยาะเย้ยถากถางด้วยหางตาหรือวาจาถ้อยคำ  ครูบาท่านเมตตา เหมือนท่านมีญาณแทงทะลุ  ท่านอดทน ท่านพร่ำสอน ท่านเมตตาให้ติดตามไปสำรวจใจในป่าอุกดุกดง ปีนั้นเอง ปีที่สี่ เป็นปีที่สิ้นเวร

แก้วนามาหา เหมือนจะมาจริงๆ ไม่ใช่มาในความฝัน แหวกชายกลดออกไปหา เดือนลับหลังผาไปแล้วแต่ไฟยังลุกอยู่ แก้วนาหน้าเลอะเกรอะกรังคราบเลือด มีดยังเสียบคาอก เห็นแล้วชวนเวทนา

“ข้ามาขอขมาต่อพี่ ขอให้พี่อโหสิกรรม อภัยแก่ข้า”

“ใครฆ่าเอ็ง แก้วนา”

“ชู้ข้า พี่อภัยแก่ข้าเถิด พี่ไม่อภัย ข้าไปเกิดไม่ได้”

“สิ้นเวรแก่กันเถิด พี่อโหสิ พี่อภัย ไปเถิดแก้วนา ไปเอากำเนิดใหม่ ตั้งใจเป็นกุศล อย่าได้ผิดพลาดเหมือนชาตินี้เลย”

“ข้าไหว้สา ข้าขอลา พบกันชาติใด ข้าขอเกิดใหม่เป็นงัวเป็นควายชดใช้แก่พี่”



Don`t copy text!