วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ

วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

ปลายเดือนเมษายน หลังจากที่เลิกออกไปตะแลดแต๊ดแต๋ หันมากักตัวอยู่ในเคหสถานเพื่อหนีโควิดมาร่วมเดือนกว่า แต่สารรูปกลับยับเยินเหมือนอยู่มาแรมปี ผมเผ้ายาวรุงรัง พุงงี้ปลิ้นเป็นชั้นๆ เพราะวันๆวนเวียนอยู่บนโซฟากับหน้าตู้เย็น ทีวงทีวี มือถงมือถือก็ไม่ค่อยอยากจะดู เพราะมีแต่ข่าวร้ายไม่เว้นแต่ละวัน ที่นี่ตายวันละพัน ที่นั่นตายวันละหมื่น ยังไม่เห็นทีท่าว่าโรคนี้จะหายไปไหน เศรษฐกิจทั่วทั้งดาวโลกก็ดูมีทีท่าว่าน่าจะป่นปี้ ในช่วงเวลาวิกฤตเยี่ยงนี้จะให้นอนก่ายหน้าผากจ้องเพดานโพลนๆ ก็มีหวังต้องวิปริตจิตตกเป็นแน่แท้

หันซ้ายหันขวากะว่าถ้าเบื่อจัดๆ จะเริ่มอัดคลิปตัวเองเต้นเพลงซูเปอร์วาเลนไทน์ ‘ลันลันลา หนูชื่อเจนมากับนุ่นและก็มากับโบว์ ‘ ให้รู้แล้วรู้รอด โชคยังดีที่ก่อนคลิปจะถูกเผยแพร่ให้เป็นที่ระคายเคืองสายตาธารกำนัน เราก็ได้ค้นพบว่าศิลปะนี่ล่ะน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยบำบัดจิตใจในสภาวะที่ทุกข์ระทมได้ดีที่สุด สองสามวันนี้เลยไม่รอช้า เริ่มด้วยการจัดแจงเอาผลงานศิลปะที่แต่ก่อนไม่มีเวลาจัดวาง พอได้มาก็หมกๆ ไว้ ขนออกมาแขวนออกมาตั้งรายล้อมให้รื่นรมย์ เมื่อจิตใจเริ่มเบิกบานก็เลยมีกะจิตกะใจขุดคุ้ยหาข้อมูลดูว่าวงการศิลปะเขามีผลกระทบกันอย่างไรเวลาที่ต้องมาเจอเหตุการณ์อะไรเทือกนี้ จะได้เอามาเล่าสู่กันฟังให้คลายคิดถึง

“ปาฏิหาริย์” พ.ศ. 2562 เทคนิคสีอะครีลิคบนผ้าใบขนาด 167 x 167 เซนติเมตร ศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ

เนื่องด้วยรัฐบาลเกือบทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ต่างคนต่างเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่กับบ้านคือหนทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไอ้โรคโควิดนี้ได้ พื้นที่จัดแสดงศิลปะถ้าไม่ถูกสั่งปิดก็มีคนไปดูโหรงเหรงจนต้องปิดกันไปเอง เริ่มจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะก็จุกเสียดไปตามๆ กัน เงินทุนที่เตรียมไว้ปรับปรุงเนรมิตพื้นที่จัดแสดงใหม่ๆ หรือเอาไว้ซื้อหาผลงานศิลปะชิ้นเด็ด ก็มลายหายเกลี้ยงกลับกลายเป็นเงินทุนในการต่อลมหายใจคัฟเวอร์ค่าใช้จ่ายไปจนกว่าจะได้เปิดใหม่อีกที

แต่คิดไปคิดมา สำหรับพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยช่วงที่ต้องปิดหนีโรคระบาดอาจจะประหยัดตังค์กว่าช่วงที่เปิดก็เป็นได้ เพราะค่าไฟ ค่าแอร์ ค่าน้ำ บวกกับค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ต้องมาคอยเฝ้าในแต่ละวันนั้นดีไม่ดีอาจจะมากกว่าเงินค่าตั๋วที่เก็บได้ด้วยซ้ำ จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องน่าเศร้าทำให้พิพิธภัณฑ์ในบ้านเราไม่เฟื่องฟูเหมือนในหลายๆ ประเทศที่ตั๋วเข้าชมขายได้ราคา แถมยังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะประชาชนเขาถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กว่าเดินพิพิธภัณฑ์นั้นสำคัญกว่าเดินห้าง

อยากกระซิบบอกหน่อยว่าในสถานการณ์เยี่ยงนี้ สำหรับเหล่าบรรดาแฟนพันธุ์แท้ของพิพิธภัณฑ์ที่กำลังจะลงแดงตายเพราะถ่อสังขารไปยังสถานที่จริงไม่ได้ นั้นยังพอมีวิธีบรรเทา เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เด็ดๆ หลายแห่งอย่าง ไรกส์มิวเซียม (Rijksmuseum), กุกเกนไฮม์มิวเซียม (Guggenheim Museum), มูว์เซดอร์แซ (Mus’ee d’Orsay), แวนโก๊ะ มิวเซียม (Van Gogh Museum), อุฟฟีซี แกลเลอรี (Uffizi Gallery) และที่อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยอย่างโมค่า (MOCA) เขาพากันเอาใจคนรักศิลปะโดยการจับมือกับกูเกิลเปิดให้สามารถชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงผ่านหน้าจอได้ โดยใช้นวัตกรรมกล้อง 360 องศาแบบเดียวกับที่กูเกิลใช้ถ่ายถนนหนทาง คราวนี้จะเดินไปเดินมา เหลียวซ้ายแลขวา หันหน้าหันหลัง ซูมเข้าซูมออก ก็สามารถบังคับผ่านทางหน้าจอได้เหมือนเราได้เดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนั้นจริงๆ

ผลงานศิลปะในงานอาร์ต บาเซิล 2020 ที่จัดแสดงผ่านทางออนไลน์ (ภาพจากเว็บไซต์ artnet news)

พื้นที่จัดแสดงศิลปะอีกประเภทที่ต้องปวดขมับกับมหันตภัยโควิดคือเหล่าแกลเลอรีที่อยู่ได้ด้วยการซื้อขายผลงานศิลปะ ชั่วโมงนี้ถ้าจะจัดงานแสดงแล้วเชิญลูกค้ามาดูก็ไม่น่าเวิร์ก คงไม่มีใครอยากจะมาหายใจรดต้นคอกันเป็นแน่ แม้แต่งานมหกรรมซื้อขายผลงานศิลปะนานาชาติระดับบิ๊กเบิ้มอย่างอาร์ต บาเซิล (Art Basel) ที่จัดขึ้นเป็นประจำ ณ เกาะฮ่องกงช่วงต้นปียังต้องพับเสื่อหนี แต่เพื่อที่จะเอาใจแกลเลอรีที่อุตส่าห์เตรียมของจองบูธเอาไว้ และลูกค้านับหมื่นที่ใจจดใจจ่ออยากมาดูแต่กลับต้องพากันรับประทานแห้ว ทางผู้จัดงานอาร์ต บาเซิล เลยจัดให้มีนิทรรศการในรูปแบบออนไลน์ขึ้นมาในช่วงเวลาที่จะต้องจัดงานจริงๆ  วนให้แกลเลอรีอัพโลดรูปภาพขึ้นไปบนเว็บไซต์ แล้วโปรโมตให้แฟนคลับนักช้อปแห่แหนมาดูกัน ผู้จัดเขาก็พยายามสร้างโลกออนไลน์ให้มีลูกเล่นมากมาย เช่น มีการจัดวันพรีวิวเสมือนกับการจัดงานจริงที่อนุญาตให้แต่เฉพาะลูกค้าวีไอพีเข้าเว็บไซต์ไปเลือกซื้อได้ก่อน มีการแสดงราคาผลงานศิลปะ และมีจัดหมวดหมู่ตามราคา ซึ่งไอ้เรื่องการโชว์ราคานี่เป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องใหญ่ในวงการซื้อขายศิลปะมาก เพราะที่ผ่านมาแกลเลอรีส่วนใหญ่มักเลือกที่จะไม่แปะราคาหราให้สาธารณชนเห็น แต่จะชอบให้ลูกค้ามาถามเซลล์ แล้วคุยกันแบบตัวต่อตัวมากกว่า เผื่อจะหว่านล้อมอะไรกันจะได้ถนัดถนี่

พอยกผลงานศิลปะทั้งหมดในงานที่มีมูลค่ารวมเกือบหมื่นล้านไปอยู่บนออนไลน์แล้ว ไปๆ มาๆผลลัพธ์ที่ออกมาถึงจะไม่ได้ดีเด่เหมือนได้จัดงานในสถานที่จริงแต่ก็ไม่ได้แย่ แกลเลอรีหลายๆ แห่งเขาก็ขายผลงานศิลปะกันได้ทั้งๆ ที่ลูกค้าเห็นแค่ภาพในจอ ยังไม่ได้มีโอกาสเห็นผลงานชิ้นจริงเลยด้วยซ้ำ แถมผลงานศิลปะที่ขายผ่านทางออนไลน์ไปได้ก็ไม่ใช่ถูกๆ มีตั้งแต่หลักหมื่นยันหลักล้าน เช่น ผลงานภาพวาดฝีมือ โรเบิร์ต โอเลน (Robert Oehlen) ที่ตั้งราคาไว้เหนาะๆ ที่ 200 ล้านบาท มีลูกค้าใจถึงสอยไปในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงหลังจากที่ภาพไปโผล่อยู่บนเว็บไซต์ หรือผลงานของ จอร์จ คอนโด (George Condo), และ โยชิโตโม นาระ (Yoshitomo Nara) ที่ราคาชิ้นละหลายสิบล้าน ก็หาคนซื้อไปได้อย่างไม่ยากเย็น ที่เป็นอย่างนี้ได้เพราะมีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่อายุอานามไม่มากต่างคุ้นเคยกับโลกอินเทอร์เน็ตและยินดีเปิดรับเทคโนโลยี อีกทั้งผู้จัดงานเองรวมถึงแกลเลอรีต่างก็กระหน่ำโปรโมตกันอย่างหนักหน่วงผ่านทุกช่องทางทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ งานอาร์ต บาเซิล ในปีนี้ก็เลยมีคนเข้ามาดูผ่านทางเว็บไซต์ราว 250,000 คน เทียบกับคนที่มางานจริงปีที่แล้ว 88,000 คน ก็นับว่าโอเคอยู่

การประมูลผลงานศิลปะออนไลน์ โดย บริษัท คริสตี้ส์

ว่ากันถึงการซื้อขายผลงานศิลปะกันแล้ว อีกกลุ่มธุรกิจที่นับได้ว่าเป็นแขนขาสำหรับวงการนี้คือบริษัทจัดการประมูล พอมีเหตุการณ์โควิดเกิดขึ้น บริษัทประมูลต่างก็เลื่อนตารางการประมูลแบบปกติออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น คงเหลือไว้แต่การประมูลแบบออนไลน์เพียวๆ ซึ่งบริษัทประมูลต่างๆ โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ๆ ของโลกอย่างคริสตีส์ (Christies), ซอเธอบีส์ (Sotheby’s), บอนแฮมส์ (Bonhams) และฟิลลิปส์ (Phillips) เขาริเริ่มให้มีการประมูลแบบนี้ แทรกๆ ไปกับการประมูลแบบปกติสักพักใหญ่ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสอยู่แล้ว ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาผลตอบรับของการประมูลแบบออนไลน์ก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องของจำนวนลูกค้าและยอดขาย แม้กระทั่งช่วงที่มีมาตรการโซเชียลดิสแทนซิ่งอย่างในตอนนี้ การประมูลออนไลน์ก็ยังคงขายคล่อง บรรดาอาร์ตเลิฟเวอร์ที่ต้องนอนแก้ผ้าเกาพุงอยู่กับบ้านก็ยังสามารถซื้อหางานศิลปะมาเพิ่มได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส คงจะถูกอกถูกใจกันดีนักแล

สูจิบัตรการประมูลงานศิลปกรรม ปรส.

ถ้ามองในแง่บวก จังหวะนี้น่าจะเป็นโอกาสอันเหมาะเจาะสำหรับวงการศิลปะที่จะทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับการดู ซื้อขาย และประมูลศิลปะผ่านทางออนไลน์ ซึ่งคิดไปคิดมาก็มีผลดีหลายอย่าง เช่น ถ้าซื้อ ถ้าขาย หรือประมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็ลดต้นทุนของทุกฝ่ายไปได้มาก ประหยัดทั้งค่าเช่าที่ ค่าจัดนิทรรศการ ค่าส่งของ ค่าประกัน ค่าเดินทาง ค่าพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจิปาถะ มิหนำซ้ำยังสะดวกสบาย จะเข้ามาดูจากที่ไหนในโลกก็ได้เวลาใดก็ได้ ดึกดื่นเที่ยงคืนไม่มีใครว่า

เอ๊ะ นู่นก็ออนไลน์ นี่ก็เวอร์ชวล อ่านไปอ่านมาเหมือนกับว่าโลกศิลปะในอนาคตจะกระโดดไปอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตกันซะหมด อย่าเพิ่งตระหนกตกใจกลัวจะปรับตัวไม่ทัน เพราะถึงยังไงเราว่ามนต์เสน่ห์ของการที่ได้เห็นผลงานศิลปะชิ้นจริงในสถานที่จริงคงไม่มีอะไรมาทดแทนได้หรอก เทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นมาช่วยเสริมให้อะไรๆ มันสะดวกสบายง่ายขึ้นเท่านั้น

ผลงานจิตรกรรมของ ทวี นันทขว้าง ที่เข้าประมูลในงานศิลปกรรม ปรส.

เห็นกันแล้วว่าถึงจะอยู่ในภาวะที่โรคร้ายทำลายเศรษฐกิจซะย่อยยับ ผลงานศิลปะก็มีคนซื้อคนขายอยู่ดี แต่ระยะนี้แน่นอนว่าจะฝืดๆ หน่อย ส่วนจะฝืดนานแค่ไหนก็ต้องอยู่ที่ว่าวิกฤตครั้งนี้จะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่ เพราะในช่วงเวลานี้ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ จะยากดีมีจน คงเลือกเก็บเงินเก็บทองเอาไว้ก่อน ถ้าจะใช้จ่ายก็เน้นที่จำเป็นอย่างปัจจัยสี่ ไอ้พวกปัจจัยห้า หก เจ็ด อย่างอาร์ตนี่ก็คงต้องเอาไว้ว่ากันทีหลัง คนในวงการศิลปะจงอย่าท้อรักษาเนื้อรักษาตัวกัดฟันรอ เพราะเมื่อไหร่ที่ฟ้าเปิด ตลาดศิลปะจะกลับมาระเบิดระเบ้ออีกครั้ง ที่กล้าให้ความหวังเช่นนี้เพราะถ้าหากลองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เคยเกิดขึ้นในโลกทั้งโรคระบาด สงคราม ภัยพิบัติ วิกฤตเศรษฐกิจ วงการศิลปะถึงจะได้รับผลกระทบหนักหน่วงเพียงไร แต่ทุกครั้งก็สามารถกลับมาฟื้นคืนตัวได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วอย่างน่าแปลกใจ ยกตัวอย่างเอาที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ อย่างวิกฤตการณ์ซับไพรม์ในปี ค.ศ. 2008 ที่เกิดขึ้นในอเมริกาและแผ่ขยายไปจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นวงกว้าง ในช่วงปีเดียวกันก่อนจะมีปัญหา ธุรกิจซื้อขายผลงานศิลปะนั้นมีมูลค่าธุรกรรมสูงถึง 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2009 จึงเจ๊งกะบ๊งหล่นลงไปเกือบครึ่งเหลือเพียง 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี แต่ที่พิลึกพิลั่นคือในปีถัดมาขนาดว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวดี มูลค่าของธุรกิจการซื้อขายผลงานศิลปะกลับกระเด้งดึ๋งดั๋งกลับไปเกือบจะเท่าตอนก่อนมีวิกฤตที่ 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีในปี ค.ศ. 2010 และ เติบโตต่อเนื่องไปแตะที่ 64,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในปี ค.ศ. 2011 อย่างหน้าตาเฉย

คำถามถัดไปที่หลายๆ คนคงสงสัย ว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจราคาผลงานศิลปะจะร่วงเละเทะเหมือนหุ้นหรืออะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างไหม? ถ้าว่ากันถึงผลงานศิลปะแบบทั่วๆ ไปอันนี้ก็ไม่แน่ เพราะถ้าศิลปินไม่มีจะกิน หรือแกลเลอรีไม่มีปัญญาจ่ายค่าเช่า เขาอาจจะเอาออกมาขายในราคาถูกๆ แต่ถ้าว่ากันถึงผลงานศิลปะประเภทรุ่นใหญ่ไฟกะพริบประเภทที่ผ่านร้อนผ่านหนาวหมักบ่มจนตกผลึกได้ที่จนโลกให้การยอมรับแล้ว นึกๆ ดูตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้นไล่เรียงมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานชิ้นเยี่ยมโดยศิลปินชั้นยอดก็เห็นยังแพงอยู่วันยังค่ำ ไม่เห็นจะถูกลงเลยซักกะนิด แถมนับวันจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่กี่ปีมานี้ก็เพิ่งเห็นประติมากรรมตุ๊กตากระต่ายของ เจฟ คูน (Jeff Koon) ขายไปสองพันกว่าล้าน ภาพวาดฝีมือ คลอด โมเนต์ (Claode Monet) ขายไปสามพันกว่าล้านบาท และภาพวาดที่บางคนบอกว่าวาดโดย ลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo Davinci) บางคนบอกว่าไม่ใช่ แต่ขายไปได้ในราคาหมื่นห้าพันล้านบาท ของดีๆ มีแต่ราคาจะขึ้น ทุกวันนี้ผลงานศิลปะชิ้นเด็ดๆ จึงไม่ได้ถูกมองเป็นแค่ของตกแตงฟุ่มเฟือย แต่ถูกยกให้เป็นทรัพย์สินที่คงมูลค่า ซื้อแล้วเงินลงทุนไม่หายไปไหน แถมเวลาขายอาจจะได้กำไรมากมายทำให้อยู่สบายไปทั้งชาติ ทั้งคนที่อินและไม่อินกับอาร์ตเลยกระโดดมาร่วมวงแย่งกันซื้อยกใหญ่ ราคาเลยพุ่งไปไกลแบบไร้เพดาน

ลองย้อนๆ ดูสิ ถึงแม้เศรษฐกิจจะดิ่งเหวอย่างไร แต่เราก็ไม่ยักกะเคยเห็นใครเอาปีกัสโซ แวนโก๊ะ โมเนต์ หรือแม้แต่ ทวี ถวัลย์ เฟื้อ ออกมาเร่ขายในราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดิน สาเหตุหนึ่งก็เพราะผลงานศิลปะชั้นยอดเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่างอยู่ในมือคนมีกะตังค์ประเภทไม่ขายก็ไม่อดตาย ถ้าช่วงตลาดฝืดๆ รู้ว่างัดออกมาขายแล้วจะได้ราคาถูก เจ้าของเขาก็แค่นอนกอดเอาไว้ก่อน ดูลาดเลาดีๆ แล้วค่อยขายตอนที่เศรษฐกิจกระเตื้องไม่เห็นต้องรีบ เป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทานเป๊ะ เพราะพออุปสงค์หรือดีมานด์น้อยลง แต่อุปทานหรือซัพพลายยิ่งน้อยกว่า ราคาก็เลยไม่ตก

ผลงานจิตรกรรมของ ประเทือง เอมเจริญ ที่เข้าประมูลในงานศิลปกรรม ปรส.

แต่ก็มีตัวอย่างอยู่เหมือนกันที่เจ้าของจำใจต้องปล่อยผลงานศิลปะออกในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาเพราะไปต่อไม่ไหวจริงๆ อย่างเช่นเมื่อ พ.ศ. 2540 ตอนที่สถาบันการเงินในเมืองไทยกว่าครึ่งร้อยถูกระงับกิจการ องค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ต้องมาจัดการขายทรัพย์สินของสถาบันเหล่านี้เพื่อเอาเงินมาใช้คืนเจ้าหนี้ ในบรรดาทรัพย์สินที่ว่าก็มีผลงานศิลปะระดับบรมครูรวมอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาเลยมีการจัดงานประมูลกัน ทุกคนที่มาร่วมงานในครั้งนั้นต่างหวังจะได้ของดีราคาถูก ปรากฏว่าชิ้นเด็ดๆ ที่เฮียๆ แต่ละท่านประมูลกันได้ไป ต่อให้เริ่มการประมูลที่ราคานิดเดียว แต่ในที่สุดก็แข่งกันจนไปจบที่ราคาตลาด รูปภาพหลักแสนก็ยังขายได้ในราคาหลักแสน ส่วนรูปภาพหลักล้านก็ยังขายได้ในราคาหลักล้าน หาเจ้าของใหม่ใจป้ำได้ไม่ยาก ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจในตอนนั้นจะล้มแหล่ไม่ล้มแหล่อยู่แล้ว เรื่องนี้สอนให้รู่ว่าอาร์ตดีๆ มีคนรอสอยอยู่เสมอ

ก่อนจะเคลิ้มหนักไปกว่านี้ ขอเบรกไว้หน่อยว่าไม่ใช่ผลงานศิลปะทุกชิ้นจะคงราคาและสร้างกำไรให้เจ้าของได้เหมือนๆ กันหมด ในเมืองนอกเขามีการรวบรวมสถิติข้อมูลการซื้อขาย เพื่อศึกษาดูว่าผลงานศิลปะประเภทไหนถึงจะเหมาะกับการลงทุน จนได้ข้อสรุปออกมาว่าผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงยุคโมเดิร์นอาร์ต ซึ่งในความหมายของเขาคือผลงานศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1860-1970 นั้นคงมูลค่าได้ดีที่สุด ราคาไม่ค่อยตกกลับแต่จะขึ้นเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็ประมาณเดียวกับหุ้นบลูชิพ ในขณะที่ผลงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงยุคคอนเท็มโพรารีอาร์ต ที่นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นั้นราคาขึ้นๆ ลงๆ ผันผวนมากกว่า ถ้ากระแสมาดีๆ บางทีราคาก็ขึ้นหลายๆ เท่า แต่พอกระแสซบเซาราคาก็พุ่งลงเร็วพอๆ กับตอนขึ้น ไม่ต่างอะไรกับหุ้นปั่นอย่างไรอย่างงั้น ใครถนัดแบบไหน อยากจะลุ้นมากลุ้นน้อยก็เลือกกันเองตามอัธยาศัย

ณ ช่วงเวลานี้ ขอให้ทุกๆ ท่านอยู่บ้านอย่างปลอดภัย ห่างไกลเชื้อโรค และเมื่อรักษาสุขภาพกายดีแล้ว ก็อย่าลืมรักษาสุขภาพใจควบคู่กันไปด้วย ศิลปะถึงจะไม่ได้ช่วยให้ไวรัสตาย แต่ก็มีพลังวิเศษที่สามารถปลอบประโลมจิตใจไม่ให้เซ็งตายได้นะ ลองดูสิ

Don`t copy text!