มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้ได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
“…ภาพวาดของ ทวี นันทขว้าง นั้นคงเปรียบได้กับพระเบญจภาคี
ที่นักสะสมทั่วทุกสารทิศ
ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานพากันพลิกแผ่นดินหา”
ถ้าเปรียบเทียบผลงานศิลปะสมัยใหม่ของไทยกับพระเครื่อง ภาพวาดของ ทวี นันทขว้าง นั้นคงเปรียบได้กับพระเบญจภาคีที่นักสะสมทั่วทุกสารทิศตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานพากันพลิกแผ่นดินหา หลายปีที่แล้วตอนที่เราเพึ่งเริ่มสนใจสะสมงานศิลปะ เห็นภาพถ่ายสีเพี้ยนๆ ของผลงาน ทวี นันทขว้าง ในหนังสือเก่าๆ แล้วเคยหลงคิดไปว่าคนอื่นๆ จะพากันเห่ออะไรกันหนักหนากับแค่ภาพวิว ภาพดอกไม้ เนื้อหาง่ายๆ แสนธรรมด๊าธรรมดา แถมออกจะเชยหน่อยๆ ด้วยซ้ำ จนวันหนึ่งได้มีโอกาสไปยืนอยู่ตรงหน้าผลงานจริงในห้องรับแขกของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งถึงได้สัมผัสความพิเศษ เพราะผลงานของทวีให้ความรู้สึกราวกับประตูวิเศษของโดราเอมอน ยิ่งมองก็ยิ่งรู้สึกเหมือนกำลังถูกดูดไปในอีกมิติ ภาพบรรยากาศบึงน้ำสลัวๆ ที่เต็มไปด้วยดอกบัวสีชมพูสดตัดกับใบบัวที่มีทั้งใบอ่อนใบแก่สีเขียวสีน้ำตาล รอบๆ บึงมีต้นไผ่กำลังโน้มกิ่งสัมผัสปลายใบกับผิวน้ำอย่างแผ่วเบา เกิดเป็นริ้วคลื่นเล็กๆ ดันเอาใบไม้แห้งที่ลอยอยู่ให้ขยับไปกระทบกับกอผักบุ้งที่อยู่ใกล้ๆ บนใบบัวมีหยดน้ำเม็ดเล็กๆ ใสๆ กลิ้งเกลือกเปล่งประกายระยิบระยับให้ความรู้สึกชุ่มเย็น แสงและเงาในภาพนั้นเหมือนจะสมจริงแต่ก็ไม่จริง บอกไม่ได้ว่าเป็นเวลาเช้าสายบ่ายเย็น กลางวันหรือกลางคืน ตลอดเวลาที่เราติดอยู่ในมิติที่น่ารื่นรมย์นี้ รู้สึกได้เลยว่าจิตใจสงบนิ่งอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ณ วินาทีนั้นถึงได้เข้าใจเลยว่างานศิลปะชิ้นเยี่ยมนั้นสามารถกระทบความรู้สึกของคนดูได้มากจริงๆ
เดี๋ยวจะโม้เรื่องผลงานของ ทวี นันทขว้าง ให้อ่านต่อ แต่ก่อนอื่นขอเล่าประวัติความเป็นมาของท่านให้ได้รู้จักพอเป็นสังเขปก่อน ทวีเกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 เป็นคนอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เพราะชอบศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ พอจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนในละแวกบ้านเกิด ท่านจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง เรียนอยู่ 2 ปีจนอายุได้ 20 ก็ย้ายมาเรียนที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ตอนนั้นเพึ่งเปิดมาได้แค่สองสามปี โดยมี อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมการสอน ทวีเรียนจบจากศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2491 และไปทำงานเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างอยู่ 4 ปี หลังจากนั้นท่านก็ย้ายไปอยู่ที่กรมการข้าวอีก 2 ปี จนในที่สุดก็ลาออกมาเป็นศิลปินอิสระพร้อมๆ กับเป็นอาจารย์พิเศษช่วยอาจารย์ศิลป์สอนวิชาจิตรกรรมในมหาวิทยาลัยศิลปากร
ในปี พ.ศ. 2503 ทวีได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีให้ไปเรียนต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงโรม ปกติชาวบ้านชาวช่องเขาใช้เวลาเรียนสี่ปีถึงจะจบ แต่ทวีมีพื้นฐานแน่นปึ้กจากเพาะช่างและศิลปากร ท่านจึงใช้เวลาแค่ 2 ปีก็ได้ใบปริญญาเอามาแปะฝาบ้าน เมื่อกลับมาเมืองไทยทวียังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ควบคู่ไปกับการสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านสอนศิลปะจนเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2528 หลังเกษียณจึงมีเวลาสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่กับบ้านอย่างเต็มที่ ทวีทุ่มเททำงานศิลปะแม้กระทั่งเวลาที่ป่วยเป็นมะเร็งขั้นร้ายแรงจนทำให้เจ็บปวดทุกครั้งที่ขยับเขยื้อน แต่ท่านก็ยังฝืนวาดภาพที่ท่านรักเพื่อให้จิตใจสงบอิ่มเอม ทวี นันทขว้าง เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2534 ในวัย 66 ปี
เรื่องชีวิตส่วนตัว ทวีพบรักและแต่งงานครั้งแรกกับ สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดัง ทั้งคู่มีบุตรสาวและบุตรชายรวม 4 คน หนึ่งในนั้นคือ วงศ์เมือง นันทขว้าง หรือ ‘น้ำพุ’ ที่เสียชีวิตจากการใช้ยาเสพติด ด้วยความเสียใจและอยากให้เป็นอุทาหรณ์ สุวรรณีจึงเขียน เรื่องของน้ำพุ ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ตัวสุวรรณีเองก็มีชีวิตที่แสนเศร้าเพราะภายหลังเธอต้องเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมด้วยคมมีดของฆาตกรที่ต้องการเพียงจะชิงทรัพย์ ทวีแยกทางกับสุวรรณีก่อนจะเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านี้ มีรักใหม่อีกครั้งแต่ก็ไปไม่รอด ลองผิดลองถูกจนในที่สุดท่านก็สมรสกับ บุญรักษา จันทร์ส่องแสง และมีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน
ย้อนมาที่เรื่องผลงานศิลปะ รูปแบบผลงานในสมัยวัยสะรุ่นของทวีส่วนใหญ่จะเป็นแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ งานของท่านในช่วงแรกนั้นมีเอกลักษณ์ด้วยการป้ายสีฉุบฉับอย่างรวดเร็วแม่นยำด้วยทีแปรงกว้างๆ ก่อนจะจบงานด้วยการตัดเส้นรอบๆ รูปทรงต่างๆ เพื่อเน้นความหนักแน่น เนื้อหาของภาพในยุคแรกมักเป็นภาพวัด ภาพหุ่นนิ่ง และ ภาพเหมือนบุคคล หลังจากนั้นเมื่อทวีมีอายุมากขึ้นท่านจึงค่อยๆ เปลี่ยนสไตล์การวาดเป็นแบบเสมือนจริงยิ่งขึ้นด้วยการใช้พู่กันขนาดเล็กค่อยๆ บรรจงใส่รายละเอียดยุบยิบลงในภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพดอกบัว ภาพดอกกล้วยไม้ ภาพทิวทัศน์ขุนเขา และภาพป่าดงพงไพรที่ดูสบายตา ผลงานของทวีในยุคนี้มีเอกลักษณ์ที่ความลึกล้ำของภาพ ทวีไม่ได้พยายามเลียนแบบธรรมชาติ สิ่งที่ท่านทำคือเพิ่มเติมและตัดทอนสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ นำมาจัดองค์ประกอบใหม่ในบรรยากาศที่เหมือนจะอยู่ในฝันก่อให้เกิดความรู้สึกพิศวง ด้วยเหตุนี้นักวิจารณ์ศิลปะจึงมักจำแนกผลงานของทวีเป็นแนวเหนือจริง หรือเซอเรียลลิสต์ และยกให้เป็นศิลปินคนแรกๆ ของเมืองไทยที่ริเริ่มวาดภาพในสไตล์นี้
ต้องบอกเลยว่าฝีไม้ลายมือของ ทวี นันทขว้าง ฉายแววข้ามหน้าข้ามตาประชาชีมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรหรือที่ไหนๆ ในโลก นักเรียนที่ได้คะแนน 100 เต็มนี่นับว่าหรู แต่สำหรับทวี งานเรียนของท่านมักได้คะแนน 100+1 หรือ 100+3 อยู่เนืองๆ เรียกได้ว่าเก่งเกินจนต้องให้คะแนนแบบล้นๆ เป็นที่รู้ดีในมหาวิทยาลัยว่างานเรียนของทวีมักถูกอาจารย์เลือกมาติดบอร์ดโชว์ให้คนอื่นๆ อิจฉาเล่นอยู่เป็นประจำตั้งแต่สมัยเรียนจนกระทั่งกลายมาเป็นอาจารย์สอนศิลปะเสียเอง ภาพวาดชิ้นต่างๆ ของทวีได้กวาดรางวัลจากงานประกวดศิลปะระดับชาติ และระดับนานาชาติมาเป็นกุรุส ครั้งหนึ่งอาจารย์ศิลป์ถึงกับเอ่ยปากชมว่า ‘นายทวีเขาเกิดมาเพื่อเขียนรูป งานของนายทวีนี้ให้รางวัลที่ 1 ได้ทุกชิ้น ชิ้นไหนก็ได้’ อาจารย์ศิลป์อินกับผลงานของทวีแค่ไหนมีหลักฐานให้ไปดูกันได้ ทุกวันนี้ในห้องอาจารย์ศิลป์ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพเดิมและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ บนผนังข้างโต๊ะทำงานของอาจารย์ศิลป์มีภาพวาดของทวีหลายชิ้นติดอยู่พรึ่บ ด้วยความสามารถและรางวัลการันตีมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในปี พ.ศ. 2499 และได้เป็นศิลปินแห่งชาติในปี พ.ศ. 2533 เบิ้ลไปอีกตำแหน่ง
ในแง่ความนิยมชมชอบของสาธารณชนไทยกับผลงานศิลปะของ ทวี นันทขว้าง ที่จั่วหัวเรื่องว่าฮิตกันมาตั้งแต่สมัยก่อนยันปัจจุบันนั้นไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินจริงเลย ตั้งแต่ตอนที่ทวีมีชีวิตอยู่ ผลงานของท่านก็วาดไม่ทันขายแล้ว แกลเลอรีหรือนักสะสมถ้าอยากได้ก็ต้องรอคิวกันยาวเหยียด ในสมัยนั้นภาพเขียนขนาดปกติของท่านก็ซื้อขายกันในราคาหลักแสนซึ่งถือว่ามีราคาสูงมากในเมืองไทย แถมบางคนซื้อไปแล้วถูกใจถึงกับใจป้ำโอนเงินมาเพิ่มให้ก็มี ถึงผลงานจะขายดีได้ราคา แต่ทวีก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เพราะภาพแต่ละภาพใช้เวลาวาดเป็นเดือนกว่าจะเสร็จ อีกทั้งศิลปินไม่ใช่คนงานโรงงานนรกที่จะปั๊มผลงานออกมาได้ทุกวัน ถ้าอารมณ์ไม่ดี ฟีลลิ่งไม่มา จะให้ฝืนวาดยังไงก็วาดไม่ได้ ในแต่ละปีทวีเลยผลิตผลงานออกมาได้เพียงไม่กี่ชิ้น
หลังจากทวีถึงแก่กรรม ราคาผลงานของท่านก็เริ่มขยับจากหลักแสนไปเป็นหลักล้าน และแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ อย่างในช่วงปี พ.ศ. 2540 และหลังจากนั้นอีกปีสองปี มีการประมูลของ ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) ที่นำทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการมาขายทอดตลาด และ การประมูลของบริษัทประมูลระดับโลกอย่างคริสตีส์ที่มาจัดงานประมูลศิลปะในประเทศไทย ภาพวาดที่ขายได้ราคาสูงสุดในงานประมูลทั้งสองงานก็เป็นผลงานของทวี โดยขายได้ในราคาภาพละเกือบ 3 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูลในครั้งนั้นยังเป็นที่กล่าวขานถึงทุกวันนี้ เพราะท่านเล่นแต่งตัวแบบเซอร์ๆ พกเงินสดโหนรถเมล์มาประมูล พอชนะได้ภาพเขียนสมใจก็ไม่พูดพร่ำทำเพลง จ่ายเงินแล้วเดินหนีออกจากงานก่อนจะโบกรถเมล์กลับบ้านหน้าตาเฉย หลังจากนั้นเมื่อมีผลงานของทวีออกประมูลที่ไหนก็ยังรักษาสถิติราคาได้อย่างต่อเนื่อง กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานของทวียังคงมีแฟนคลับหน้าเก่าหน้าใหม่อย่างเหนียวแน่น เวลาจะเปลี่ยนมือกันแต่ละครั้งก็ยังมีคนไทยใจถึงซุ่มเงียบควักเงินจ่ายกันในราคาหลายล้านบาท หรือถ้าเป็นภาพใหญ่ๆ ไซส์พิเศษก็มีการซื้อขายกันไปหลายชิ้นในราคาหลักสิบล้านบาทขึ้นไป
เห็นความสำเร็จที่เป็นอมตะของ ทวี นันทขว้าง แล้วหันมามองศิลปะสมัยใหม่ในทุกวันนี้ที่ศิลปินมากมายพยายามดิ้นรนสร้างผลงานให้แหวกแนวหลุดโลกจนบางทีก็ดูไม่รู้เรื่อง ต้องพึ่งการแถไถอธิบายแนวคิดให้คนดูที่เริ่มจะปวดหัวได้เข้าใจ เลยทำให้รู้สึกว่างานศิลปะแบบที่เห็นแล้วสวยเลยไม่ต้องคิดเยอะ ดูง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง นั้นก็ดี เพราะสร้างความสุนทรีย์ให้ได้ทันทีและยังเป็นความสุนทรีย์ที่แท้จริง คงมีหลายคนคิดเช่นนี้ ความนิยมในผลงานของทวีเลยยังคง ‘ทวี’ ขึ้นเรื่อยๆ ไปกับกาลเวลา
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี