ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
“เมื่อนับวันผู้คนยิ่งมีการศึกษาที่ดี มีรายได้ที่สูงขึ้น
ก็ยิ่งเริ่มเห็นคุณค่าของสมบัติบ้าเหล่านี้
และอยากจะได้มาไว้ครอบครองชื่นชม
เมื่อ ‘อุปสงค์’ เพิ่ม แต่ ‘อุปทาน’ มีเท่าเดิม
ราคาก็ต้องขึ้นเป็นธรรมดา“
ยังจำได้แม่น ตอนนั้นเป็นช่วงต้นปี พ.ศ. 2556 ตื่นขึ้นมามองไปรอบๆ ห้องนอนแล้วอยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่ากำแพงข้างๆ ทีวีมันดูโล่งโจ้ง น่าจะหารูปภาพอะไรสักอย่างมาแขวนไว้ ตกเย็นเลยไปบ่นให้เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งฟัง เขาบอกให้ลองไปที่บ้านแฟนของเขาซึ่งเป็นนักสะสมศิลปะดู เผื่อจะได้คำแนะนำหรือได้ภาพอะไรติดไม้ติดมือมาบ้าง
หลังจากนั้นไม่กี่วันแฟนพี่เขาก็ยินยอมให้เราไปบุกบ้าน พี่เจ้าของบ้านเขาเมตตาพาเราเดินเข้าห้องนู้นผ่านห้องนี้แบบไม่มีกั๊ก โชว์ภาพวาดและรูปปั้นฝีมือศิลปินไทยที่พี่เขาบอกว่ามีชื่อเสียงหลายสิบชิ้น แต่ละชิ้นก็ดูสวยดี แต่ด้วยความไม่รู้ประสีประสา ศิลปินที่เขาพูดถึงเกือบทั้งหมดถึงจะเจ๋งยังไงเราก็แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาก่อนเลยสักคน เว้นแต่ ถวัลย์ ดัชนี กับ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่พอจะคุ้นๆ ชื่อหน่อยเพราะออกทีวีบ่อย
ก่อนกลับพี่เขาให้ดูภาพวาดที่หมกๆ ไว้ไม่มีที่แขวน เล็งไปเล็งมาเราดันไปถูกใจภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบภาพหนึ่ง เป็นภาพช้างสีดำวาดด้วยแปรงแบบเร็วๆ ฝีแปรงและรอยสีหยดที่ซ่านกระเซ็นให้ความรู้สึกเหมือนช้างตัวนั้นกำลังตกมันดิ้นพล่านอยู่อย่างคลุ้มคลั่งเพื่อที่จะหลุดออกจากกรอบรูปอันเป็นพันธนาการมากระทืบอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ตรงหน้าให้ราบเป็นหน้ากลอง ภาพนี้วาดโดย ถวัลย์ ดัชนี
เราเลียบๆ เคียงๆ ถามพี่เขาว่าพอจะแบ่งให้ได้ไหมและราคาประมาณเท่าไร สรุปว่าเขาก็ไม่ได้หวงอะไร และยังใจดีขายให้เท่าทุนซึ่งไอ้เท่าทุนนี่ไม่ใช่ห้าบาทสิบบาทแต่ราคาพอๆ กับรถอีโคคาร์คันเล็กๆ คันหนึ่ง ตอนนั้นก็คิดในใจว่าซวยละทีนี้ ภาพอื่นๆ ที่สบายกระเป๋ากว่ามีตั้งเยอะแยะทำไมไม่มอง ดันไปจิ้มเอาตัวท็อปซะงั้น วันนั้นถึงจะชอบยังไงก็ยังทำใจซื้อไม่ไหวเพราะตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ยังไม่เคยจ่ายเงินกองโตขนาดนี้สำหรับภาพวาดมาก่อน เราเลยเจรจาขอยืมเอาภาพนั้นมาลองแขวนกำแพงห้องนอนดู ถ้าสวย และมีขนาดพอดีถึงค่อยตัดสินใจ
แล้วก็เป็นดังคาด พอกลับมาบ้าน ภาพช้างนั้นยิ่งมองยิ่งสวยถูกใจ ขนาดเหมาะเหม็งกับกำแพงยังกับเกิดมาเพื่อกันและกัน แถมสีภาพและสีกรอบรูปยังเข้ากันได้ดีกับเฟอร์นิเจอร์ในห้องอีก อะไรมันจะพอดีขนาดนั้น วันรุ่งขึ้นเลยจำใจโทร.หาพี่เขาแต่เช้าบอกว่าจะขอรับอนุเคราะห์ช้างดำไว้แล้วจะรีบโอนเงินให้
บ่ายวันนั้นที่สยามพารากอนเรายืนอยู่หน้าตู้เอทีเอ็มสีเขียวด้วยความลังเลใจ พอวินาทีที่จะกดปุ่มสุดท้ายเพื่อโอนเงิน เราก็เปลี่ยนใจเดินไปกินไอติมถ้วยโตให้ใจร่มอยู่เกือบครึ่งชั่วโมงถึงกลับมาที่หน้าตู้เอทีเอ็มใหม่ พอกำลังจะกดปุ่มสุดท้ายอีกทีคราวนี้ก็เกิดปวดฉี่กะทันหัน ตัดสินใจไปเดินหาห้องน้ำก่อนอีก ฉี่เสร็จก็เดินวนไปมาเหมือนหนูติดจั่นอยู่พักใหญ่ จนในที่สุดก็กลั้นหายใจวิ่งไปที่ตู้เอทีเอ็มเป็นครั้งที่สามแล้วหลับหูหลับตาโอนค่าภาพวาดไป ภาพช้างดำเลยกลายเป็นงานศิลปะชิ้นแรกในชีวิตที่เรายอมลงทุนจริงๆ จังๆ จนเดือนนั้นต้องเน้นหม่ำมาม่าประทังชีวิต
ความรู้สึกตอนจ่ายค่าภาพนั้นคล้ายๆ กับโดนปล้น ทุกวันที่นอนมองภาพช้างดำก็จะพยายามดื่มด่ำกับศิลปะอย่างเดียวแล้วลืมๆ ไปไม่คิดถึงตัวเลขค่าเสียหาย วันเวลาคล้อยไปไม่กี่เดือนจู่ๆ ก็มีรุ่นพี่ที่ซื้อขายงานศิลปะโทร.มาขอแบ่งภาพช้างพร้อมเสนอราคาให้อย่างงาม จากราคาอีโคคาร์กลายเป็นมูลค่าเท่าซีดานหรู ถึงวันนั้นเราจะยังบ่ายเบี่ยงไม่ตัดสินใจปล่อยแต่ก็ช่วยเปลี่ยนความรู้สึกจากที่เหมือนโดนปล้นให้เป็นความรู้สึกเหมือนถูกหวยชุดใหญ่ในบัดดล
ว่ากันว่าการลงทุนในของสะสมนั้นเป็นการลงทุนที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงไม่แพ้การลงทุนประเภทอื่นๆ แถมดีไม่ดีอาจจะมีลูกฟลุกทำกำไรได้เป็นสิบเป็นร้อยเท่าก็เห็นกันอยู่บ่อยๆ ของสะสมที่จะเพิ่มมูลค่าได้ ต้องเป็นของที่มีคุณค่าทางใจ มีจำนวนจำกัด มีแฟนคลับเยอะ อย่างเช่นแสตมป์ เหรียญ ธนบัตร พระเครื่อง วัตถุโบราณ นาฬิกา รถยนต์ เพชร กระเป๋าถือ ไวน์ และงานศิลปะ เมื่อนับวันผู้คนยิ่งมีการศึกษาที่ดี มีรายได้ที่สูงขึ้น ก็ยิ่งเริ่มเห็นคุณค่าของสมบัติบ้าเหล่านี้และอยากจะได้มาไว้ครอบครองชื่นชม เมื่อ ‘อุปสงค์’ เพิ่ม แต่ ‘อุปทาน’ มีเท่าเดิม ราคาก็ต้องขึ้นเป็นธรรมดา
ราคาจะขยับแค่ไหน หลายองค์กรในเมืองนอกเขามีการเก็บสถิติมูลค่าของของสะสมทั่วโลกเพื่อจัดทำเป็นดัชนีชี้วัดความน่าสนใจในการลงทุน อย่างเช่นดัชนี Knight Frank’s Luxury Investment Index ที่เผยแพร่เป็นประจำทุกปี พบว่าในปี พ.ศ. 2560 ของสะสมที่มีมูลค่าเฉลี่ยเพิ่มมากที่สุดประจำปีคืองานศิลปะ ที่เพิ่มขึ้นถึง 21% ตามมาด้วยไวน์ 11% และนาฬิกา 5%
การลงทุนกับของสะสมนั้นสร้างความเพลิดเพลินมากกว่าการลงทุนแบบปกติเช่นการซื้อตราสารหรือตามดูหุ้นเป็นไหนๆ ของสะสมช่วยสร้างงานอดิเรก คลายความเครียด รู้สึกสนุกท้าทายเมื่อต้องออกไปตามหา พอได้มาก็เอามากอดจูบลูบคลำหนุนนอนได้ หลับฝันดีไม่ต้องกลัวตลาดผันผวนหรือเศรษฐกิจพังครืน เพราะของพวกนี้เป็นสมบัติจริงๆ ที่จับต้องได้ไม่ใช่เป็นแค่ตัวเลขในกระดาษ สามารถคงไว้ซึ่งมูลค่าตลอดชั่วกัลปาวสานถ้าไม่สูญหายหรือผุพังเป็นผุยผงไปเสียก่อน
หากใครคิดจะเริ่มลงทุนในของสะสม โดยเฉพาะงานศิลปะที่ดูเหมือนจะให้ผลตอบแทนสูงสุด ก็ควรเริ่มจากการศึกษาหาความรู้จากทุกทาง ทั้งอ่านตำรับตำรา ถามผู้รู้ เอาให้เชี่ยวชาญพอที่จะเล่าได้เป็นฉากๆเสียก่อน ไม่ใช่ตื่นมาเห็นกำแพงว่าง แล้วไปบุกบ้านแฟนรุ่นพี่ แบกภาพวาดช้างกลับมาเลยแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่
จะให้ดีพยายามหาโอกาสดูงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ผ่านตาให้มากๆ ทั้งจากภาพในหนังสือ ไปดูในแกลเลอรี ในพิพิธภัณฑ์ ให้รู้ว่าชอบงานแบบไหนและพยายามกำหนดธีมเอาไว้ ที่แนะให้มีธีมเพราะพวกเราไม่ใช่สุลต่านอาหรับที่มีเงินถุงเงินถังพอจะเก็บทุกอย่างในโลกตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบได้ คอลเล็กชันที่มีธีมให้โฟกัสนั้นยังน่าสนใจและสร้างให้เจ๋งสุดๆ ได้ไม่ยากโดยไม่ต้องถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว ธีมที่ว่านี้อาจจะเป็นเนื้อหาของผลงาน เช่น เก็บแต่ภาพวิว เก็บแต่ภาพหุ่นนิ่ง เก็บแต่ภาพเหมือนบุคคล เก็บแต่ภาพนู้ด อันนี้อาจจะดูหื่นหน่อยๆ แต่ถ้าอ้างเป็นศิลปะก็พอจะรับได้ หรือธีมตามสไตล์ของผลงาน เช่น เก็บแต่แนวอิมเพรสชันนิสม์ เก็บแต่แนวประเพณีไทย
ธีมอาจจะกำหนดด้วยตัวศิลปิน เช่น เก็บแต่ผลงานของศิลปินคนนั้นคนนี้ เก็บให้ลึกไปเลยตั้งแต่สมัยเด็ก สมัยค้นหาตัวเอง สมัยดังแล้ว สมัยแก่ การกำหนดช่วงเวลาก็เป็นอีกธีมได้ เช่น เก็บแต่งานศิลปะสมัยใหม่ของไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงยุคปัจจุบัน ลองพยายามรวบรวมของในคอลเล็กชันให้มีเนื้อหาสอดคล้องกันแบบที่ตามพิพิธภัณฑ์ระดับโลกเขาทำกัน คอยเติมเต็มแต่จิ๊กซอว์ที่ขาดหาย อย่าไปเที่ยวซื้อหามาอย่างสะเปะสะปะ
นักสะสมรุ่นเก๋าในวงการมักสอนว่าให้เลือกผลงานศิลปะชิ้นที่ดีที่สุดเท่าที่กำลังของเราจะซื้อไหว ถ้าวันนี้มีงบ 100 บาท อย่าซื้อ 10 บาท 10 ชิ้น แต่ให้ซื้อ 100 บาทชิ้นเดียว คอลเล็กชันที่ดีไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณภาพ พูดง่ายๆ คือมีน้อยๆ แต่เน้นๆ ดีกว่ามีเป็นกองพะเนินเทินทึกแต่มีแต่อะไรก็ไม่รู้ ยกตัวอย่างคอลเล็กชันของ ‘เพ็กกี้ กุกเกนไฮม์’ ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในบ้านของเธอที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เคยไปเดินนับๆ ดูผลงานศิลปะที่เห็นน่าจะมีโชว์อยู่ประมาณร้อยชิ้น แต่ทุกชิ้นเด็ดๆ ทั้งนั้น แถมยังอยู่ในธีมเดียวกันอีก ห้องไม่กี่ห้องในบ้านรวมถึงสวนและสนามหญ้าถูกนำมาใช้จัดวางผลงานศิลปะอย่างสวยงามลงตัว เราประทับใจที่นี่พอๆ กับตอนไปเดินดูงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในกรุงปารีสเลย ทั้งๆ ที่ในลูฟวร์มีของจัดแสดงอยู่เป็นจำนวนมากกว่านับหมื่นนับแสนเท่า
อีกทริกที่เขาแนะกันมาสำหรับผู้ที่ริจะสะสมงานศิลปะ ถ้าเน้นเอาให้ชัวร์และมีงบประมาณเหลือแหล่ จะเก็บแต่ศิลปินชื่อดังเปรี้ยงปร้างก็ตามใจ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องศึกษาผลงานของศิลปินท่านนั้นในแต่ละช่วงแต่ละสไตล์ให้ดีเสียก่อนจะได้เลือกจิ้มถูก เพราะถึงศิลปินจะเก่งแต่ผลงานก็ใช่ว่าจะเด่นทุกชิ้น
ในทางกลับกันถ้าไม่มุ่งเก็บแต่ผลงานของศิลปินแบรนด์เนม ก็ไม่ต้องใช้เงินเยอะแยะอะไร คอยตามดูและอุดหนุนศิลปินหน้าใหม่ ก็มีสิทธิ์ได้ของดีราคาไม่แพง ถ้าหวังจะให้การลงทุนมีมูลค่าเพิ่มพูนก็พิจารณาดูหน่วยก้านของศิลปินที่เราจะอุ้มชูเขาสักหน่อยว่าพอจะมีอนาคตไหม สืบประวัติดูว่าเคยแสดงผลงานที่ไหนมาบ้าง ได้รับรางวัลอะไร ผลงานดูน่าสนใจมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครไหม ที่สำคัญคือมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า ไม่ใช่ปีนี้เขียนภาพอยู่ดีๆ ปีหน้าหนีไปขายเต้าฮวย
มีตัวอย่างนักสะสมงานศิลปะที่ไม่ได้มีงบประมาณมากมายแต่ค่อยๆ เก็บรวบรวมด้วยความหลงใหลจนกลายเป็นตำนาน เช่น คู่สามีภรรยา ‘เฮอร์เบิร์ต โวเกล’ ที่ทำงานแยกจดหมายอยู่การไปรษณีย์ และ ‘โดโรธี โวเกล’ ที่รับจ๊อบเป็นบรรณารักษ์อยู่ในห้องสมุดสาธารณะ ด้วยเงินเดือนที่ไม่มาก ทั้งคู่เช่าอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ถูกๆ อยู่ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบครัวนี้อยู่อย่างประหยัด ไม่มีรถ ไม่ไปเที่ยว เน้นกินอาหารกล่องอยู่บ้าน
แต่ที่ไม่เหมือนใครคือทุกๆ เดือนจะเจียดเงินไปซื้อผลงานศิลปะจากศิลปินหน้าใหม่ที่มีแววมาเก็บไว้เรื่อยๆ ซื้อชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ไม่แพงและมีขนาดพอที่จะหิ้วขึ้นรถไฟใต้ดินกลับมาบ้านไหว ถ้าบางชิ้นราคาสูงหน่อยก็ขอผ่อนเอา ทำอย่างนี้มา 50 ปี จนมีผลงานศิลปะหมกไว้ใต้โต๊ะตู้เตียงทุกซอกทุกมุมในอพาร์ตเมนต์เกือบ 5,000 ชิ้น แถมมีผลงานของศิลปินหลายคนที่ตอนซื้อยังโนเนมแต่ตอนนี้กลายเป็นคนดังรวมอยู่ด้วยเพียบ ทำให้คอลเล็กชันของสองสามีภรรยาคู่นี้มีมูลค่าเพิ่มเป็นหลายล้านเหรียญ นับเป็นหนึ่งในคอลเล็กชันศิลปะหลังปี ค.ศ. 1960 ที่สำคัญที่สุดในอเมริกา
แต่แทนที่เฮอร์เบิร์ตและโดโรธีจะขายสมบัติ เอาเงินไปซื้อคฤหาสน์ รถหรู เรือยอชต์ หรือเที่ยวรอบโลก พวกเขาเลือกที่จะบริจาคผลงานศิลปะที่มีให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยเหตุผลว่าพิพิธภัณฑ์นี้มีนโยบายไม่ขายงานศิลปะที่ได้รับบริจาค และไม่เคยเก็บเงินค่าเข้าชม สาธารณชนจะได้มีโอกาสมาดูงานศิลปะที่เฮอร์เบิร์ตและโดโรธีรวบรวมมาทั้งชีวิตแบบฟรีๆ ต้องยอมใจเฮียกับเจ๊แกเลยจริงๆ ไอ้เราก็เป็นคนบ้าจี้ เห็นใครทำดีก็คันไม้คันมืออยากจะก๊อปเอาไปเป็นแบบอย่าง เลยปรึกษากับภรรยาว่าตอนเราแก่ตัวน่าจะทำแบบนี้บ้าง
ที่เล่ามาว่าการสะสมผลงานศิลปะนั้นเป็นการลงทุนที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เพื่อไม่ให้ถูกครหาเลยยังต้องลงท้ายแบบโฆษณาชี้ชวนการลงทุนว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน’ ความเสี่ยงที่ว่ามีอยู่หลายเรื่อง เช่น โดนหลอกขายของเก๊ จ่ายแพงผิดราคา ความนิยมลด ราคาตก จัดเก็บไม่ดีทำให้สีซีด ขึ้นรา ปลวกกิน จริงอยู่ที่ผลงานศิลปะชิ้นเด็ดๆ ราคาโดนใจนั้นหาคนซื้อได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้มีสภาพคล่องแบบปุ๊บปั๊บทันใจเหมือนขายทอง ขายหุ้น ที่จู่ๆ อยากแลกเป็นเงินสดแล้วสามารถเดินไปเยาวราช หรือโทร.หาโบรกเกอร์แล้วก็แลกได้เลย อีกทั้งถ้าจะขายผลงานศิลปะผ่านคนกลางอย่างแกลเลอรีหรือบริษัทประมูลต้องเตรียมใจไว้ก่อนเลยว่าค่าคอมมิชชันต้องมี 10-20 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย
สำหรับเราและเพื่อนๆ นักสะสมคนคอเดียวกันที่มีอาการของโรคลูกอีช่างเก็บกำเริบขั้นร้ายแรง การดั้นด้นไปเสาะแสวงหาผลงานศิลปะมาไว้รายล้อมรอบตัวแต่ละชิ้นนั้นจุดประสงค์ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อมาขายให้ได้กำไรอะไรหรอก ที่ทำเพราะชอบเพราะรักล้วนๆ พอรู้ว่าของที่เก็บมีราคาสูงขึ้นก็ใช้เป็นเหตุผลในการซื้อเพิ่ม ไม่ให้รู้สึกผิดเวลาจ่ายตังค์ เราว่านี่แหละคือความเสี่ยงสูงสุดในการลงทุนสะสมผลงานศิลปะ หวงนักหวงหนาปวารณาว่าชาตินี้ไม่คิดจะขาย แล้วกำไรมันจะไปงอกอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี