ภาษามหาระทวย
โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้
“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาในบางแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้คือสาระและบันเทิง
แม้จะอาศัยอยู่เมืองนอกนานเท่าไหร่ หรือต่อให้พูดภาษาอังกฤษน้ำไหลไฟดับขนาดไหน ก็คงไม่สามารถพูดได้ชัดเท่าเจ้าของภาษาอย่างแน่นอน หากไม่ได้เกิดและคุ้นชินกับสำเนียงของประเทศนั้น อย่างไรเสียคงไม่สามารถกระดกลิ้นให้กลายเป็นสำเนียงชาวเมือง ‘นิ้วโยก’ หรือนิวยอร์กได้ทันตาเห็น ฉะนั้น เรื่องภาษาจึงมักกลายเป็นการสนทนาห้าแต้มเสมอช่วงปรับตัวการอยู่อาศัย เผลอๆ ปล่อยไก่ออกมาวิ่งทั้งเล้า ให้เป็นที่ขายหน้าฝรั่งมังฆ้องเนืองๆ
จำได้แม่นเลยว่าช่วงที่ไปอเมริกาใหม่ๆ มีอยู่วันหนึ่ง ขณะกำลังเดินซื้อของในห้างเล็กๆ แถวบ้านกับสามี พลันนึกได้ว่าต้องซื้อไม้แขวนเสื้อเพิ่ม แต่ดันลืมไปแล้วว่าไอ้เจ้าไม้แขวนเสื้อนี่น่ะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร นึกอยู่นานก็นึกไม่ออก เพราะภาษาอังกฤษที่มีอยู่ก็คืนครูไปหมดสิ้น แถมไม่ค่อยรู้ศัพท์สแลงอะไรนัก แต่ใจนั้นคิดว่าน่าจะเป็นคำนี้อย่างแน่นอน เพราะไม้แขวนเสื้อมีรูปร่างเหมือนตะขอไว้แขวน กระหยิ่มยิ้มย่องบอกสามีเสียงดังฟังชัดจนคนแถวนั้นหันมามองอย่างตื่นตะลึงว่า
“ที่รัก อย่าลืมซื้อฮุกเกอร์ (Hooker) นะ”
สามีหน้าตื่น หันมามองหน้าเมียอย่างงงๆ เพราะคำว่าฮุกเกอร์เป็นสแลงที่แปลว่า ‘โสเภณี’ แต่นางเมียไทยดันไม่รู้ แถมยังจำสลับกับคำว่า ‘แฮงเกอร์’ (Hanger) หลังจากยืนงงอยู่พักใหญ่ สามีก็ลากไปกระซิบถามว่า
“อะไรนะ… จะซื้ออะไร อธิบายรูปร่างหน่อย”
อะไรกัน… พูดไม่รู้ภาษารึไง ก็ฮุกเกอร์ไง… ฮุกเกอร์ที่ปลายเป็นตะขอๆไว้แขวนเสื้อ แหม… ทำเป็นไม่รู้จัก ว่าแล้วรี่เข้าไปหยิบไม้แขวนเสื้อมาให้ดูประกอบ สามีเห็นเข้าก็ร้องหาพระเจ้าทันใด
“โอ้มายก้อด… ไอ้นี่เรียกแฮงเกอร์นะเมียจ๋า ส่วนฮุกเกอร์นั่นหมายถึงโสเภณี จะให้ไอไปใช้บริการรึ”
หลังจากวันนั้นนางเมียไทยก็จำศัพท์คำนี้จนตาย อย่าว่าแต่ฉันเลย นักเรียนไทยมาเรียนปริญญาโทและเอกในอเมริกา ต่างเคยปล่อยไก่กันมาแล้วทั้งนั้น
ปลงเป็นอดีตมหาที่ได้ทุนมาเรียนปริญญาโทต่อในอเมริกา เพราะฉะนั้นเรื่องภาษาจึงกลายเป็นเรื่องสาหัสมากสำหรับอดีตมหาปลง มหาปลงเล่าว่านาฬิกาปลุกที่ห้องตาย เลยไปเข้าเรียนสาย พอไปถึงก็เห็นนักศึกษาในชั้นนั่งกันหน้าสลอนแล้ว มหาปลงนั้นรู้ว่าตัวเองมาสาย อยากจะแก้หน้าแทนมหาชนชาวสยาม เพราะกลัวฝรั่งจะเหมารวมหมดว่าคนไทยสันหลังยาวจนเข้าเรียนสาย เลยเดินเชิดหน้าไปบอกอาจารย์ฝรั่งว่า
“Sorry, my cock died”
อาจารย์ฝรั่งถอดแว่นวางบนโต๊ะ จ้องหน้ามหาปลงกึ่งยิ้มกึ่งบึ้ง ส่วนนักศึกษาคนอื่นหัวเราะลั่นห้อง ขณะที่มหาปลงยืนงงว่าฝรั่งพวกนี้หัวเราะอะไรกันนักหนากะอีแค่นาฬิกาตาย คำว่า ‘Cock’ เป็นสแลงอเมริกันหมายถึงจู๋น้อยกลอยใจนั่นเอง จริงๆ แล้วมหาปลงต้องออกเสียงควบกล้ำว่า ‘Clock’ แต่อารามรีบเลยลืมกระดกลิ้น จนกลายเป็นโจ๊กออฟเดอะเดย์ไปในวันนั้น
อย่าว่าแต่ท่านมหาเลย ฉันซึ่งเรียนจบปริญญาโท แถมทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษเสียด้วยยังงงงวยกับภาษา มีอยู่วันหนึ่งนั่งรถผ่านย่านไชน่าทาวน์ เห็นป้ายข้างผนังตึกเขียนตัวโตๆ อ่านแล้วได้ความว่า
“ห้ามทำเกี๊ยวที่ตึกนี้”
เอ๊ะ… ทำไมฝรั่งมันต้องห้ามทำเกี๊ยวกินวะ หรือว่าแถวนั้นคนจีนอยู่กันเยอะ คิดไปคิดมาก็คิดไม่ตกเลยสะกิดสามียิกๆ
“นี่เธอ… ทำไมถึงติดป้ายห้ามทำเกี๊ยวที่ตึกนั้นล่ะ กลัวไฟไหม้ หรือกลัวว่ากลิ่นอาหารจีนจะเหม็นเหรอ”
“เธอพูดเรื่องอะไร ไหนๆ ชี้ให้ดูป้ายหน่อย บ้า… ไม่มีหรอก กฎแบบนี้ เกี๊ยวอร่อยจะตายไป ไอชอบกิน”
“นี่ไงๆ เห็นมั้ยป้ายเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า NO…..DUMPING….IN THIS BUILDING”
สามีมองตามมือชี้แล้วถอนหายใจ คงนึกอยากไล่ภรรยากลับไปเรียนเอบีซีใหม่หมด ก่อนจะบอกว่า
“เค้าเขียนว่า DUMPING (ทิ้ง) ไม่ใช่ DUMPLING (เกี้ยว)”
ฝรั่งเองก็ไม่ต่างกันหรอก ตอนสามีอยู่เมืองไทยก็พยายามอย่างเหลือเกินที่จะพูดภาษาไทยทั้งที่ไม่เคยเรียนมาก่อน อาศัยจำแบบครูพักลักจำ จนจำคำง่ายๆ ได้พอสมควร มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่กำลังเดินซื้อของในตลาด เหลือบเห็นกล้วยหอมหวีงามๆ คงนึกอยากกินที่สุด เลยตะโกนบอกเมียลั่นตลาด
“I want khoui”
แต่ลองนึกภาพตามนะ ฝรั่งนี่ร้อยทั้งร้อยจะออกเสียงตัวก.ไก่ เป็นค.ควาย แก้อย่างไรก็ไม่หาย ส่วนนางเมียไทยได้ฟังก็ใจหายวาบรีบลากสามีออกไปห่างๆ เพิงกล้วย ค้อนกะเทยคนขายกล้วยทีหนึ่ง แล้วบอกว่า
“ทีหลังไม่ต้องออกเสียงคำนี้อีกแล้วนะ”
ครั้งหนึ่งฝรั่งอเมริกันนั่งเรือไปเที่ยวตลาดน้ำแล้วพลาดตกลงไปในคลอง ชาวบ้านแถวนั้นก็หวังดีก็รีบตะโกนบอกทันที
“เกาะกระได… เกาะกระได”
คนไทยหวังให้ให้ฝรั่งว่ายไปขึ้นที่บันไดท่าน้ำบ้านใดบ้านหนึ่งในละแวกนั้น แต่กลายเป็นว่าฝรั่งตกใจจนตาเหลือก เกือบหัวใจวาย เพราะนึกว่าคนไทยร้องบอกตนว่า
“Crocodiles” (จระเข้)
สามีเล่าให้ฟังว่า ชอบการเรียกชื่อแต่ละอำเภอในเมืองไทยมาก เพราะฟังดูเสียวซ่านชอบกล ฉันก็สงสัยว่าแค่การเรียกชื่อจะทำให้เสียวซ่านได้ยังไง สามีหัวเราะ
“เอาง่ายๆ เลยนะ ตอนอยู่เมืองไทย ไอขึ้นรถไฟใต้ดินต้นสายชื่อสถานี ‘Bang Sue’ (บางซื่อ) ฟังแล้วหวาดเสียวพิลึก”
ตอนแรกไม่ได้นึกลามกจกเปรตอะไรทั้งนั้น แต่พอมานึกได้ก็หัวเราะแทบขาดใจเหมือนกัน เพราะคำว่า Bang เป็นสแลงที่หมายถึงการมีอะไรกัน ส่วน Sue นั้นเป็นชื่อผู้หญิงที่ย่อมาจากซูซานนั่นเอง บางซื่อในความคิดของฝรั่งจึงออกแนวอีโรติกไม่ใช่น้อย
แม้ว่าภาษาจะเป็นสื่อกลางให้คนต่างวัฒนธรรมสื่อสารกัน แต่บางครั้งการสื่อสารอาจแฉลบกลายเป็นเสียงหัวเราะแทน ดีออกจะตายที่เราต่างสามารถหัวเราะเรื่องตลกระหว่างกัน ดีกว่าชี้หน้าด่าทอเกลียดชังเป็นไหนๆ
- READ โลกนี้ยังมีมนุษย์ถ้ำ
- READ อาณานิคมล่องหน
- READ ผู้ปรีชาชาญนั้นผลิตเบียร์
- READ ฤดูหนาวอันยาวนานในเทศกาลแห่งความสุข
- READ อุรังอุตังเฒ่า..เราจะคิดถึงเธอ
- READ มลรัฐวูล์ฟเวอรีน
- READ อินเดียนแดงที่โลกลืม
- READ ประโยชน์ของเบียร์ที่เมียไม่รู้
- READ โลกทับซ้อนของคนสองแผ่นดิน
- READ เมียบังเกิดเกล้า
- READ จับงูบูชาพระเจ้า
- READ ภาษามหาระทวย