โลกทับซ้อนของคนสองแผ่นดิน
โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้
“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาทั้งหมด บางเรื่องเป็นแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้ คือสาระและบันเทิง
การได้อาศัยบนแผ่นดินอื่นถือเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง แต่จะเป็นโอกาสดีหรือโอกาสร้ายขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนมีชีวิตในเมืองไทยราวกับคุณหนูผู้ไม่เคยแตะต้องจับงานบ้านทั้งหลายแหล่ แต่พอมาอยู่อเมริกาเหมือนนางฟ้าตกสวรรค์ เพราะต้องทำงานบ้านทุกอย่างเอง จะจ้างคนมาทำก็แพงเหลือเกิน ด้วยความงกจึงต้องกัดฟันขัดส้วมถูพื้นจนหน้าเป็นมันฟันเป็นยาง
ไอ้ที่ไม่เคยทำต้องหัดทำ ทำไม่เป็นอย่างไรก็ต้องทำให้ได้ อยากรู้สูตรอาหารชนิดไหนเปิดคอมพิวเตอร์อ่านดูแล้วลองทำ แรกๆ หมาที่บ้านสำราญพุงที่สุด เพราะมีอาหารเหลือถูกโยนจากโต๊ะมาลงชามอาหารหมาเพียบ หัดทำไปเรื่อยๆ ฝีมือก็เข้าที่เอง
จะว่าไปการมาใช้ชีวิตภรรยาฝรั่งในอเมริกาเหมือนมาอยู่โรงเรียนดัดสันดานนั่นแหละ จากคนขี้เกียจสันหลังยาวกลายเป็นคนขยันและหนักเอาเบาสู้ทันตาเห็น คนที่ทำกับข้าวไม่เป็นกลายเป็นคนที่ขยันหาสูตรอาหารตามอินเทอร์เน็ต ลองหัดทำทุกวี่วันจนสามีบอกว่าพอได้แล้ว เพราะเบื่อที่จะกินขนมจีบติดๆ กันห้าวันรวด โดยขนมจีบก้อนแรกๆ นั้นลูกโตขนาดเท่าลูกปิงปองเห็นจะได้ พอหัดทำไปเรื่อยๆ ค่อยเริ่มดูเป็นขนมจีบขึ้นมาหน่อย
ปีแรกที่มาอยู่ที่นี่ คิดถึงแต่หาบแร่แผงลอยขายชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง หมูปิ้งแถวบ้านอย่างสุดใจขาดดิ้น ตอนอยู่เมืองไทย ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วหิวข้าว แค่เดินออกมาปากซอยก็มีของกินให้เลือกละลานตา ออกมาเวลาไหนก็มีให้เลือกกิน แต่ที่นี่กี่ร้านๆ อาหารแบบเดียวกันหมดคือ ไม่เบอร์เกอร์ก็ไก่ทอดน้ำมันเยิ้มๆ น่าขนลุกอย่างเคเอฟซี นานๆ กินทีก็ดีอยู่หรอก แต่กินทุกวันไม่ไหวเหมือนกัน เพราะรสเค็มกว่าเคเอฟซีที่เมืองไทยหลายเท่าตัว
ถ้ากระสันจะกินอาหารไทยต้องทำเอง เพราะฉะนั้นหากเพื่อนเก่าสมัยที่เคยเปรี้ยวเยี่ยวราดมาด้วยกันเห็นฉันยืนสงบเสงี่ยมนวดแป้งทำซาลาเปาจนนมเบี้ยวไปข้างหนึ่งล่ะก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะความอยากเป็นเหตุล้วนๆ ทำให้สองมือนี้ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้กินของที่ตัวเองชอบ
แต่สำหรับบางคนแล้ว การมาอาศัยอยู่ในเมืองนอกถือเป็นโอกาสที่ดีกว่าชีวิตเดิมในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดย่อมถือเป็นทางเลือกในชีวิตของแต่ละคน เป็นไปตามวัฏฏะแห่งธรรมที่มีทั้งผิดหวังสมหวังคละเคล้าในทุกย่างก้าวของชีวิต คนเราย่อมมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ชีวิตทั้งนั้น
หน้าที่หลักของแม่บ้านคือตื่นเช้าต้มกาแฟเตรียมไว้ให้สามี ซึ่งสามีเองก็ทำงานที่บ้าน เพราะเป็นนักเขียน อเมริกันกินกาแฟแตกต่างจากคนไทย โดยมากแล้วคนไทยกินกาแฟช่วงเช้า 1 แก้ว บางทีดื่มตอนบ่ายอีก 1 แก้ว แต่อเมริกันนั้นชงดื่มแทนน้ำเลยทีเดียว
สมัยก่อนเคยคิดว่ากาแฟแบบอเมริกันจะต้องเข้มข้น แต่คนอเมริกันกินกาแฟรสชาติอ่อนจางกว่ากาแฟรสยอดนิยมบ้านเรา คนที่นี่จะชงอ่อนๆ คนที่ติดกาแฟขมๆ จะบ่นเสมอว่า “รสเหมือนน้ำล้างจาน” เพราะหาความเข้มไม่ได้เลย ไม่ว่าจะสั่งในร้านอาหารหรือไปบ้านเพื่อนอเมริกันก็แนวเดียวกันหมด
หลายคนคิดว่าการเป็นแม่บ้านไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่จริงๆ แล้วการเป็นแม่บ้านคืออาชีพหนึ่งที่ทั้งหนักและเหนื่อย แถมไม่มีเวลาหยุดพัก หากมีลูกต้องดูแล ยิ่งเหนื่อยหนักกว่าธรรมดาหลายเท่าตัว โดยส่วนตัวแล้วรักการเป็นแม่บ้านมาก เพราะเรียบง่ายแต่สุขใจ
ความสนุกอีกอย่างหนึ่งของการเป็นแม่บ้านในอเมริกาอยู่ที่การสะสมคูปองส่วนลด ที่นี่จะแจกคูปองส่วนลดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดร้านอาหารทั้งฟาสต์ฟู้ดและห้าดาว รวมไปถึงห้างร้านและซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ดังนั้น แม่บ้านอเมริกันแต่ละคนทั้งจนหรือรวยจะใช้ประโยชน์จากคูปองส่วนลดนี้อย่างเต็มที่ ที่เห็นตุงๆ ในกระเป๋านั่นไม่ใช้เงินหรอก แต่คือคูปองที่ตัดมาทั้งนั้น
คูปองพวกนี้มีประโยชน์มาก ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้เยอะทีเดียว ข้อดีอย่างหนึ่งของการอยู่อเมริกาคือ เวลาซื้อสินค้าแล้วสามารถนำไปคืนได้ ซึ่งเรื่องนี้แตกต่างจากตอนซื้อสินค้าในเมืองไทยที่บ้างร้านมีป้ายแปะไว้หน้าร้านเลยว่า ‘ซื้อแล้วไม่รับคืน’
สมัยทำงานข่าวแทบไม่มีเวลาทำอาหารกินเอง แต่พอมาอยู่อเมริกา ดูเหมือนว่าโลกหมุนช้าลง เพราะต้องทำเองหมดทุกอย่าง ชีวิตแม่บ้านต่างแดนนี่แหละที่ขัดเกลาความยโสโอหังและอัตตาลงไปทีละชั้นให้เบาบางลง จากมือบางๆ ที่ไม่เคยจับต้องงานหนักต้องมาทำงานทุกอย่าง มือที่เคยนุ่มนิ่มจับแต่ปากกากับเคาะแป้นคีย์บอร์ดเริ่มหยาบด้าน เพราะจับตะหลิวจับแปรงขัดห้องน้ำ แต่เชื่อไหมว่าฉันกลับค้นพบตัวเองในการทำงานหนัก มากกว่าการตั้งคำถามล่องลอยแบบปัญญาชนเสียอีกว่า “ชีวิตคืออะไร”
หากไม่ได้แต่งงานกับฝรั่งร่ำรวยขนาดนั่งกินนอนกินเป็นคุณนายแล้ว แม่บ้านทุกคนต้องทำงานบ้านเองทั้งนั้น เพราะค่าจ้างคนทำงานบ้านแพงมาก ไม่ว่าการศึกษาจะสูงส่งระดับดอกเตอร์ ก็ต้องถอดหัวโขนละอัตตาด้วยกันทั้งสิ้น เพื่อทำงานหนักเช่นเดียวกับกรรมกร ต่างกันอยู่นิดเดียวว่าเราทำงานเหล่านี้เพื่อประคองความเป็นครอบครัว แม้จะเป็นงานหนัก แต่เต็มไปด้วยความภูมิใจกับมือที่ไม่นุ่มเหมือนเก่า
ไม่ว่าอยู่บนแผ่นดินไหน ล้วนสะท้อนส่วนย่อยส่วนขยายให้เห็นภาพโลกทั้งใบชัดเจนขึ้น ควรเรียนรู้ในการ ‘อยู่เย็น’ ให้ได้ท่ามกลางสังคมร้อน
เมื่อรับรู้ความเป็นไปของโลกทั้งสองใบ ยิ้มให้โลกอย่างอ่อนโยนแล้วเพ่งภายในใจตนเอง เพราะไม่แน่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในฟันเฟืองนั้นก็ได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ความเป็นแม่บ้านสอนให้หยุดคิดทบทวน ไม่วิ่งตามวิถีชีวิตอย่างร้อนรนเหมือนสมัยทำงานข่าว
นอกจากนี้ชีวิตแม่บ้านยังสอนอะไรอีกมากมาย การมาอาศัยอยู่ในประเทศที่ฤดูกาลมีความแตกต่างทำให้มีโอกาสสังเกตความน่ามหัศจรรย์ของธรรมชาติมากขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ ฤดูหนาวที่หิมะตกหนักก็เรียนรู้ที่จะอดทนและรอคอย มีความสุขกับสิ่งรอบตัวที่ไม่ใช่ชีวิตกลางแจ้ง
พอย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม อากาศเริ่มอุ่นขึ้นเพราะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ คนอเมริกันเริ่มทำความสะอาดบ้านและทำสวนหลังจากฤดูหนาวอันยาวนาน ทุกคนพร้อมใจออกมาอยู่นอกบ้าน แม่บ้านอย่างฉันตระเตรียมพื้นที่ในสวนเพื่อปลูกผักไว้กินเอง อย่างพริก โหระพา มะเขือเทศ โดยเฉพาะพริกนั้นปลูกเพื่อเก็บไว้กินตลอดปี โดยเก็บพริกแช่ช่องฟรีเซอร์ไว้
บางเมืองมีตลาดขายสินค้าเอเชียก็ถือว่าโชคดีที่อาหารการกินบริบูรณ์ แต่เมืองเล็กๆ ในรัฐอินดีแอนาที่ฉันอาศัยอยู่ต้องปลูกพริกและเก็บไว้กินในหน้าหนาว มือที่เคยจับปากกาก็หันมาจับจอบเสียมขุดดินดายหญ้า พอย่างเข้าฤดูใบไม้ร่วงก็แจกจ่ายให้เพื่อนคนไทยและเก็บไว้ทำอาหารกินเอง
โลกใบเล็กและโลกใบใหญ่ต่างสะท้อนเงาแก่กันให้เรียนรู้ความเชื่อมโยงสอดประสานทั้งมวล ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเร่งฝีเท้าบนถนนชีวิต เดินช้าลงบ้างหรือแวะหยุดดูดอกไม้สองข้างทาง ไม่แน่ว่ารหัสนัยของชีวิตอาจจะอยู่ในการงานสามัญประจำวัน และสัมผัสชัดเจนกว่าหนังสือปรัชญาทั้งปวง